Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 
7 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
มารยาทในการพูดของเด็ก



ผู้ใหญ่หลายท่านคงจะบ่นกันไม่น้อยทีเดียวว่า เด็กเดี๋ยวนี้มีปัญหาเรื่องการพูด ค่อนข้างมากทีเดียว
ตั้งแต่เรื่องการพูดไม่ชัด ซึ่งถือว่าเป็นค่านิยมอย่างหนึ่ง แต่นี่ก็ยังคงไม่เท่ากับ สิ่งหนึ่งที่หลายคนกังวลใจก็คือ
เด็กไทยจำนวนไม่น้อยไม่กล่าวคำขอบคุณหรือพูดคำว่า ขอบคุณไม่เป็น
หรือไม่รู้ว่าเมื่อไรควรจะกล่าวคำว่า ขอบคุณหรือขอโทษ

หลายท่านอาจจะบอกว่าการกล่าวขอบคุณหรือขอโทษนี่เป็นมารยาทตะวันตก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในมารยาทของไทยเรา เราก็สอนถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน
เราคงต้องมาช่วยดูกันว่า เราจะสอนให้เด็กรุ่นใหม่ยุคใหม่ มีความเข้าใจเรื่องอย่างนี้ได้อย่างไร

การขอบคุณขอบใจต่อผู้ที่มีไมตรีเอื้อเฟื้อต่อเรา จริงๆ แล้วทำให้ตัวเด็กเองดูเป็นคนน่ารักด้วย
เพราะถ้าเด็กทำสิ่งเหล่านี้ได้ ใครพบใครเห็นก็มีแต่ความชื่นชมมีความรู้สึกว่า
เด็กเป็นคนที่น่ารัก มีมารยาทที่ดี มีลักษณะของการเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรม มีคุณสมบัติของผู้ดีอย่างที่เราว่ากัน

หลายท่านอาจจะบอกว่าคุณสมบัติผู้ดีเป็นเรื่องของคนมีเงิน
แต่ในความเป็นจริง แล้วเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความร่ำรวย ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้มีเงินถึงจะมีมารยาทดี
หรือถ้าเราไม่มีเงินจะมีมารยาทดีไม่ได้

การที่เด็กมีมารยาทที่ดี ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร
ก็จะทำให้ตัวเด็กเองเป็นคนที่มีความน่ารัก ใครพบใครเห็นก็คงจะชื่นชม

การฝึกสอนมารยาทนั้นก็ควรจะฝึกตั้งแต่ในเด็กเล็ก
เบื้องต้นของการที่เด็ก จะกล่าวคำขอบคุณหรือคำขอโทษได้ เด็กจะต้องเรียนรู้ถึงความรู้สึกก่อน
เขาต้องรู้สึกได้ว่า เวลาที่คนอื่นทำอะไรให้กับเขา เขามีความรู้สึกและมีความพอใจอย่างไร เมื่อเขาทำอะไร
เช่น ให้กับคนอื่น คนอื่นก็มีความรู้สึกอย่างนั้นกับเขาเช่นกัน

ในขณะที่ลูกของเรายังอยู่ในวัยเด็กเล็ก เวลาที่มีใครทำอะไรให้กับเขา เราควรจะให้เขาได้เกิดความรู้สึกว่า
เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่เราให้อะไรกับคนอื่นได้ ฉะนั้นผู้ที่เป็นฝ่ายได้รับ ก็ควรจะต้องมีคำกล่าว
เพื่อแสดงความรู้สึกที่เราชื่นชมเขา
คำกล่าวที่แสดงความชื่นชม อันนี้ก็คือคำว่าขอบคุณ กับการที่คนอื่นมีความเอื้อเฟื้อหรือมีความเมตตาให้กับเรา

หลายครั้งเขาอาจจะเผลอไม่ได้พูดคำนี้ เราก็ควรเตือน
โดยที่การเตือนนั้นต้องระวัง ให้ไม่เป็นไปในลักษณะของการตำหนิต่อว่า
แต่เราจะเตือนโดยให้เขารู้สึกว่าเขาเผลอเรอ หรือลืมไปเท่านั้นเอง และถ้าเด็กทำด้วยตัวของเขาเอง

คุณพ่อคุณแม่ก็ควรแสดงความชื่นชมทันที ให้เขาเห็นว่า เวลาที่เขาทำตัวได้อย่างนี้
ทุกคนรู้สึกว่าเขาเป็นเด็กที่น่ารักและรู้สึกชื่นชมในตัวเขา

การยกมือไหว้หรือการกล่าวสวัสดีผู้ใหญ่ที่พบเห็น
ก็คงเป็นมารยาทในเรื่องการพูดอีกอย่างหนึ่ง ที่เราควรจะฝึกให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ
เราพบว่า เด็กบางคนไม่ชอบที่จะยกมือไหว้คนอื่น ถึงสอนแล้ว ถึงพยายามแล้ว บางทีเด็กก็ไม่ยอม
ก็อาจจะต้องไปดูว่าเป็นปัญหาบางอย่างหรือไม่ เคยพบว่าเด็กจะไม่ยกมือไหว้เฉพาะคุณป้าบางคน
แต่กับคนอื่นๆ เด็กก็ยกมือไหว้ได้
นี่อาจเป็นลักษณะเฉพาะบางอย่าง ที่ทำให้เด็กเวลาอยู่กับคุณป้าคนนี้รู้สึกไม่ชอบใจ หรือรู้สึกไม่สบายใจ
เขาก็เลยไม่อยากจะทำ ซึ่งเราคงกดดันเขาไม่ได้
ถ้าเด็กยังสามารถยกมือไหว้คนอื่นได้ กล่าวคำสวัสดีได้ ก็ถือว่าใช้ได้

แต่ถ้าเขาไม่ยอมทำเลย เพราะว่าเขารู้สึกอาย ทุกครั้งที่เห็นคนอื่นเขาก็จะแอบไปอยู่หลังคุณแม่
ไม่ยอมพูดคุยกับใคร ไม่ยอมสวัสดี ตรงนี้คุณแม่ก็ต้องบอกทุกครั้ง อาจจะต้องสอนและก็พูดให้เขาเข้าใจว่า
มารยาทเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรจะทำ คุณแม่อาจจะช่วยจับมือเขา แล้วก็สอนเขาในการพูด

นอกจากเรื่องการกล่าวคำสวัสดี คำขอบคุณแล้ว ก็ยังมีอีกหลายๆ อย่างที่น่าเป็นห่วงในเด็กบางคน เช่น
การพูดที่ไม่มีหางเสียง ตรงนี้จะเห็นได้ว่าในภาษาไทยเรา มีลักษณะเด่นประการหนึ่ง คือ
เราสามารถใช้หางเสียงมาช่วยให้คำพูดมีความสุภาพขึ้นมาก แม้ไม่ลงคำว่าคะ ขา ก็ตามที
แต่เราอาจจะเลือกใช้หางเสียงบางอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องมีคำต่อท้ายก็ได้
หรือถ้าจะให้ดูน่ารักขึ้นไปอีก ก็อาจพูดมีหางเสียง ร่วมกับการใช้คำว่าครับหรือคะ ตามหลัง

การฝึกตรงนี้ก็คงขึ้นอยู่กับแบบอย่างที่เด็กได้เห็นด้วย ถ้าคุณพ่อคุณแม่เอง เวลาพูดจากัน มีถ้อยคำที่ไพเราะ
มีหางเสียงของการพูดจาต่อกัน มีลักษณะของการให้เกียรติกันในครอบครัว เด็กก็จะได้แบบอย่างที่ดี

ถ้าในครอบครัวมีลักษณะของการไม่ให้เกียรติต่อกัน เช่น
เวลาคุณพ่อพูดกับคุณแม่ หรือคุณแม่พูดกับคุณพ่อใช้ถ้อยคำที่ไม่ไพเราะ หรือนึกอยากจะพูด อย่างไรก็ได้
แต่เรากลับไปพยายามสอนเด็กว่าเขาต้องพูดให้มีหางเสียงกับคนอื่น ก็คงเป็นเรื่องที่ยาก ที่จะให้เด็กทำตาม

เพราะฉะนั้นเรื่องของแบบอย่างเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องทำให้เด็กได้เห็น
ให้เขาได้รู้ว่า เวลาที่เขาพูดอย่างนี้เรามีความพอใจ
หรือบางทีเราอาจจะพูดให้เขาพูดใหม่ ถ้าเขาพูดโดยไม่มีหางเสียง เราอาจจะบอกว่าลองพูดใหม่อีกทีสิคะลูก
ถ้อยคำที่ไพเราะของเราก็จะทำให้เด็กเลียนแบบ และพูดใหม่ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะขึ้น
แล้วเราก็จะทำอะไรให้ตามที่เขาร้องขอ นี่ก็จะเป็นการสอนที่ดีสำหรับเด็ก

ปัญหาอีกประการหนึ่งในเรื่องการพูดในเด็กที่อาจจะพบได้ คือการพูดคำไม่สุภาพ หรือคำหยาบนั่นเอง
ซึ่งอาจเกิดจากเด็กไปได้ยินมาแล้วเอามาใช้โดยไม่เหมาะสม
โดยเฉพาะท่านที่ให้ลูกดูทีวีก็อาจเคยพบแบบนี้มาบ้าง จะเห็นว่าละครในปัจจุบัน ตัวละครใช้คำพูดที่ไม่ไพเราะ
มีหางเสียงที่ค่อนข้างสูง ตะเบ็งแข่งกันพูด ใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ หรือด่าทอกัน
มีละครบางเรื่องที่ฉายในช่วงเย็นซึ่งเป็นเวลาที่เด็กๆ มักได้ดูกัน
แต่ตัวละครในเรื่อง ซึ่งเป็นเด็กเหมือนกันกลับใช้คำพูดที่ไม่สุภาพเลย

น่าเสียดายที่ในระยะหลังๆ ทางรัฐบาลไม่ค่อยได้เข้มงวดกวดขันในเรื่องการแสดงออกของละครมากนัก
น่าเสียดายที่ผู้จัดละครกลับไม่พยายามดูแล หรือปกป้องสิ่งเหล่านี้กันเอง
เห็นทีอาจจะต้องมาคุยกันว่า เราจะกลับไปควบคุมเรื่องนี้กันอีกหรือไม่

เมื่อเด็กได้ยินได้ฟังจากสื่อต่างๆ เขาก็อาจจะหยิบออกมาพูดโดยไม่ได้ตั้งใจ ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจ
ในเด็กเล็ก 6 – 7 ขวบ คำบางคำเด็กได้ยินแต่ไม่เข้าใจ ความหมายว่าหมายถึงอะไร
แต่เคยได้ยินเคยรู้ว่ามีใครบางคนพูดคำเหล่านี้ เขาก็จะไปคิดเอาเองว่าคงพูดได้ เขาก็เลือกมาพูดบ้าง
ซึ่งบางครั้งก็ไม่เหมาะสม ถ้าเราไปแสดงท่าทีบางอย่าง เช่น อายมากเวลาที่ได้ยินลูกพูดอย่างนี้
ลูกก็จะเก็บมาพูดทุกครั้ง เวลาที่อยากให้เราได้อาย
หรือเราอาจแสดงท่าทีไม่พอใจอย่างมากเมื่อเด็กพูดคำเหล่านี้ออกมา
โดยลืมไปว่าจริงๆ แล้วเด็กไม่ได้หมายความตามที่พูดออกมา

ขอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรมีท่าทีที่เป็นปกติ พูดกับลูกด้วยถ้อยคำที่ธรรมดาว่า
พ่อหรือแม่ไม่อยากได้ยินลูกพูดอย่างนี้อีก หรือ ในบ้านเราไม่มีใครพูดอย่างนี้ และแม่คิดว่า หนูคงไม่พูดอีก

จุดสำคัญ คือ เด็กต้องรู้ว่าถ้อยคำเหล่านี้เราไม่พูดกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา
ถ้าเด็กได้ยินมาจากสื่อมาจากโทรทัศน์ ก็ควรจะสอนให้ลูกเข้าใจว่าอันนี้คือการแสดง
และก็เป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ซึ่งคนปกติโดยทั่วไปไม่มีใครพูดกัน ลูกจะได้เข้าใจชัดเจน
มีการแยกแยะเรื่องที่ได้ยินมาจากโทรทัศน์กับชีวิตจริง

การห้ามควรมีความชัดเจนเพื่อให้ลูกได้รู้ว่า เรามีความตั้งใจอย่างนั้นจริงๆ ถ้าเด็กยังพูดคำหยาบซ้ำๆ อีก
ตรงนี้อาจจะต้องเริ่มมีมาตรการข้อกำหนดว่า หากลูกไม่พยายามควบคุมตัวเอง ยังใช้คำพูดเหล่านี้
แม่ก็อาจจะจำเป็นต้องตัดสิทธิบางอย่าง อาจจะต้องมีการลงโทษ ซึ่งเราจะไม่ใช้วิธีการรุนแรง
แต่เพียงเพื่อสอนให้เขารู้ว่า เราไม่อนุญาตให้พูดคำหยาบ เพราะจะติดเป็นนิสัยได้

นอกจากการพูดคำหยาบ ยังมีมารยาทอีกอย่างหนึ่งในเด็กที่อาจมีปัญหา เช่น
เวลาที่เราพูดกันอยู่เด็กก็อาจจะตะโกนหรือพูดแทรกเข้ามา
อันนี้จริงๆ แล้วก็คือว่า บางทีเขาอาจจะอยากให้เราหันมาสนใจ บางท่านอาจจะมีประสบการณ์ว่า
มีเพื่อนมาเยี่ยมที่บ้าน กำลังคุยกันอยู่ ลูกก็ตะโกนแข่งกับเราทีเดียว โดยเขาอาจจะกำลังเล่น แล้วทำอะไรได้สำเร็จ
เขาอาจจะอยากให้เราหันไปสนใจบ้าง จริงๆ แล้วที่สำคัญก็คือ เราควรแสดงความสนใจช่วงสั้นๆ แล้วหันกลับมา
อย่าตำหนิต่อว่าเขารุนแรง เพราะว่าที่จริงแล้วเขาเพียงแต่อยากให้เราหันไปสนใจ

ถ้าเราหันไปสนใจ ลูกก็จะยุติพฤติกรรมเช่นนี้ลง และเราค่อยมาสอนเขาทีหลังว่า
หากอยู่ในสถานการณ์อย่างเมื่อสักครู่ และเขาอยากให้เราหันไปสนใจ เขาจะมีวิธีการบอกเราได้อย่างไร
โดยอาจจะหันมาเรียกหรือหันมาบอก แล้วถ้าลูกทำได้อย่างนั้น คุณก็ควรหันไปสนใจลูกบ้าง
ไม่ใช่เอาแต่คุยกับเพื่อนที่มาเยี่ยม จนไม่สนใจลูก
ในที่สุดเด็กก็ต้องกลับไปใช้วิธีเดิมคือ ตะโกนหรือสอดแทรกเข้ามาอีก

การที่เราตักเตือน ควรจะโดยดูความเหมาะสม เรื่องบางอย่างที่เป็นเรื่องของมารยาท จำเป็นต้องสอนและบอก
ก็ต้องบอกเตือนในบางครั้งที่ลูกไม่ได้ปฏิบัติ แต่ทั้งหมดนั้น ก็ควรจะเข้าใจด้วยว่า
เด็กเองอาจจะยังทำไม่ได้ดีทุกอย่าง เราอาจจะต้องค่อยๆ แนะนำ สอนเขาทีละอย่าง

เด็กบางคนอาจมีการพูดบางอย่างที่เรารู้สึกว่า ไม่เหมาะสมและเป็นปัญหา เช่น
ลูกไม่พูด ไม่บอกเราอย่างตรงไปตรงมา คุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้าใจว่าตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของมารยาทการพูดแล้ว
แต่ว่ามันเป็นปัญหาที่เด็กไม่กล้าพูดในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเขา คุณพ่อคุณแม่ก็คงต้องลงไป หาดูว่า
ทำไมลูกไม่กล้าบอกเวลาเขาทำอะไรผิดพลาด อาจจะเป็นเพราะว่าเราดุเกินไป หรือเราไม่เคยมีเวลาจะรับฟังเขา
ไม่เคยเปิดโอกาสให้เขาเวลาที่เขาอยากจะเล่าให้ฟังก็ได้

ถ้าเราแก้ปัญหาตรงต้นเหตุเหล่านี้ได้ โดยให้ความสนใจในเรื่องการพูดของลูก
ให้คำแนะนำกับเขาว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด และสิ่งที่ไม่ควรพูดเราก็จะห้ามทุกครั้งที่ได้ยิน
ไม่ใช่ว่าบางทีห้าม บางทีก็ปล่อยให้พูด หรือที่มากไปกว่านั้น เราเองก็พูดในคำที่เราห้าม
ตรงนี้จะยากมากที่จะห้ามให้เด็กไม่พูดในคำที่เขาได้ยินจากเราเอง

ถ้าตัวเราเองก็ไม่เคยกล่าวคำขอบคุณหรือคำขอโทษเลย ลูก ๆ ก็คงไม่สามารถทำได้
หลายคนอาจจะสงสัยว่า เราต้องขอบคุณลูกด้วยหรือ จะต้องขอโทษลูกด้วยไหม เวลาที่เราทำอะไร ผิดพลาดไป
จริงๆ แล้วตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เราเองก็ยอมรับเขาในฐานะที่เขา เป็นสมาชิกคนหนึ่งในบ้าน
แล้วยังเป็นมารยาทที่เราสอนโดยแสดงเป็นตัวอย่างแก่เขา

เพราะฉะนั้น ถ้าลูกทำอะไรให้กับเรา การกล่าวคำขอบคุณ ขอบใจ ให้ลูกได้เห็นว่า สิ่งนี้เป็นมารยาทที่ดี
ลูกเองก็จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง เวลามีคนขอบคุณเขา เขารู้สึกปลื้มใจและภูมิใจมากขนาดไหน
เมื่อเขาพูดคำนี้กับคนอื่น คนอื่นก็จะรู้สึกเช่นเดียวกัน

คำว่าขอโทษก็สำคัญ ถ้าหากเราทำอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดไปกับลูก พ่อแม่ก็ควรจะขอโทษลูกได้
การเป็นพ่อแม่ไม่ได้หมายความว่าจะขอโทษลูกไม่ได้ ถ้าสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่เราทำผิดจริงก็น่าจะขอโทษ
แต่ไม่ใช่ทำทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่เหมาะ แล้วมาคอยขอโทษทีหลังอยู่ร่ำไป เช่น บางคนไม่รักษาสัญญาที่ให้กับลูก
สัญญาอะไรเอาไว้ก็ผิดสัญญาทุกครั้ง ผิดสัญญาทีไรก็กล่าวคำขอโทษ ถ้าอย่างนี้ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร
เด็กๆ ก็คงไม่หวังที่จะรอฟังคำขอโทษจากเรา เขาคงอยากให้เรารักษาสัญญามากกว่า

ถ้าเป็นเรื่องที่เราทำโดยไม่ตั้งใจ และอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับเขา เมื่อเรามารู้ในภายหลังว่า
เป็นเพราะเราไม่เข้าใจ ไม่รู้มาก่อน แล้วไปทำให้เกิดความผิดพลาด เกิดปัญหากับเขา เราก็ต้องยอมรับได้ว่า
ผู้ใหญ่เองก็ผิดเป็น และเราก็ขอโทษคนอื่นได้ ลูกจะได้รู้ว่าคนเรานั้นก็ผิดพลาดกันได้
ถ้าหากสิ่งนั้น เกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจจริง ๆ และมีผลต่อผู้อื่น เราก็ต้องกล่าวคำขอโทษคนอื่นได้เหมือนกัน

ท้ายที่สุดนี้ อยากจะขอเน้นกับคุณพ่อคุณแม่ว่า มารยาทในการพูดเป็นเรื่องที่สำคัญ
เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ ที่จะทำให้เด็กโตขึ้นเป็นคนที่มีลักษณะน่าชื่นชม เป็นคนที่น่ารัก
ทำให้คนรอบข้างมีความพึงพอใจที่ได้อยู่ใกล้ชิด ก็มีความรู้สึกว่าเด็กคนนี้ได้รับการอบรม
ช่วยให้เขากลายเป็นคนที่เมื่ออยู่ในสังคมวันข้างหน้า เป็นคนที่ได้รับความชื่นชมจากคนรอบข้าง


ที่มา ://www.elib-online.com/doctors3/child_speak02.html


สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ



Create Date : 07 ธันวาคม 2552
Last Update : 7 ธันวาคม 2552 21:06:23 น. 0 comments
Counter : 882 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.