Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 
22 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
พูดเก่ง บุคลิกดี

พูดเก่ง บุคลิกดี

ปากเป็นเอก เลขเป็นโท
คารมเป็นต่อรูปหล่อเป็นรอง
พูดดีเป็นศรีแก่ตัว
ปลาหมอตายเพราะปาก
สำนวนเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า
การพูดเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญ ที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตของคนเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

มายุคนี้ ทักษะการพูดยิ่งสำคัญ ดูไปแล้วเรียกได้ว่าการทำงานทุกอย่างล้วนอาศัยการพูดเป็นเครื่องมือ
ทำให้งานประสบความสำเร็จ แม้แต่คนที่ทำงานฝีมือ เช่น
จิตรกร ก็ยังต้องรู้จักพูดอธิบายคอนเซ็ปต์งานของตัวเอง เพื่อให้งานมีความหมายประทับใจผู้ชม

แต่การพูด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะการพูดต่อหน้าคนหมู่มาก
และการพูดเก่งก็ไม่ใช่การพูดมากเสียจนเพ้อเจ้อเกินงาม การพูดอย่างมีศิลปะนับเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึก

ดร. จิตรา ดุษฎีเมธา จากสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ John Robert Powers ได้แนะนำว่า
การฝึกทักษะการพูดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น
ควรเริ่มตั้งแต่วัยประถม เพราะเด็กเริ่มต้องเข้าสังคมมากขึ้นแล้วนั่นเอง

เปิดใจ ก่อนเปิดปาก
สิ่งสำคัญที่จะทำให้พูดได้ดีคือ ต้องกล้าที่จะพูด และออกเสียงเสียก่อน โดยในขั้นตอนการฝึกนั้น
อาจารย์จิตราจะให้เด็กๆ ลองพูดให้ฟังในเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวก่อน
เพื่อดูพื้นฐานและปัญหาการพูดของเด็กแต่ละคน เพื่อจะปรับให้ถูกทาง
"ในเด็กขี้อาย ไม่กล้าพูด บางทีเขาพูดเบาไม่กล้าเปิดปาก ก็ใช้มุกว่า เราหูตึงนะ พูดดังนิดนึงนะ
เหมือนกับว่าไม่ใช่ความผิดของเขา ให้เขากล้าที่จะออกเสียง ให้ตะโกนเรียกความมั่นใจ
หรือให้อ่านแล้วพูดแสดงความเห็นในกลุ่ม บางคนไม่พูดเพราะไม่มีเรื่องจะเล่า
พ่อแม่ต้องให้เขามีประสบการณ์จากการทำกิจกรรม ไปสถานที่ต่างๆ เยอะๆ เขาจะได้มีเรื่องที่อยากมาเล่าต่อ
บางคนไม่กล้าพูดเพราะกลัวผิด ก็ต้องปรับทัศนคติเด็กด้วยว่า พูดผิดไม่ใช่สิ่งน่าอาย หรือน่ากลัว

"สำหรับเด็กที่กล้าพูด พูดมากอยู่แล้ว ต้องให้เขาหัดฟังคนอื่นบ้าง ฟังให้เป็น จับประเด็นให้ได้
ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับมา ทำให้เขาพูดได้ดี และตรงประเด็นได้น่าสนใจขึ้นค่ะ”


อยากพูดเก่ง ต้องฝึก
เมื่อกล้าแล้ว ก็ก้าวสู่การพูดที่ถูกต้อง โดยเริ่มตั้งแต่การฝึกลมหายใจ
"การหายใจ มีผลกับการเปล่งเสียง เพื่อคุมจังหวะการเว้นวรรคได้ ให้รู้จักการเปิดคอ เปล่งเสียงออกมาอย่างมั่นใจ
สังเกต ถ้าหายใจสั้นจะดูเหมือนคนขี้กลัวได้ ซึ่งการหายใจที่ถูกต้องคือ หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องแฟบ
ถ้าเราหายใจช่วงระดับอก พูดนานๆ จะเจ็บคอ เสียงแห้ง ออกเสียงเหมือนตะเบ็ง
บางคนพูดเร็วจะหายใจระดับอก เป็นห้วงๆ สั้นๆ ทำให้เสียบุคลิกภาพ เมื่อฝึกหายใจได้ถูกต้องแล้ว
จึงค่อยไปสู่การฝึกออกเสียง การพูดให้ฉะฉาน การปรับคำพูดให้เหมาะสม

"วัยรุ่นปัจจุบัน มีปัญหาเรื่องการพูดเร็ว ไม่มีหางเสียง ติดใช้คำที่พูดกับกลุ่มเพื่อน
ก็แบบ...เอ่อ...ก็คือ ...แบบว่า... ในการเชื่อมประโยค
ต้องลองให้เขาอัดเทปแล้วมาฟัง จะทำให้เขาเห็นตัวเองมากขึ้น และยอมปรับ

"เด็กที่พูดเร็ว จะปรับโดยให้อ่านออกเสียง เพื่อฝึกควบคุมระดับและจังหวะของเสียงให้ดีขึ้น
คนที่พูดเร็วอาจเกิดจากประหม่า พอคุมได้จะดีขึ้น
จากนั้นมาดูเรื่องระดับเสียง ถ้าเสียงดังพูดแล้วฟังเชื่อมั่น
แต่บางคนก็พูดดังแต่ไม่มีหางเสียง ทั้งๆ ที่การลงท้ายของประโยคทุกคำก็มี ''ครับ'' มี ''ค่ะ''
แต่ฟังแล้วยังห้วนอยู่ ก็ต้องปรับ แล้วจึงไปพัฒนาต่อในเนื้อหาวิธีการเรียงลำดับ มีขึ้นต้น ลงท้าย
การพูดที่ถูกกาลเทศะ ใช้อักขระถูกต้อง มีอารมณ์ร่วมในสิ่งที่พูด
ที่สำคัญต้องให้เกิดความรู้สึกดีกับการพูดของเขาด้วยค่ะ”

เมื่อปรับกระบวนการพูดได้แล้ว ก็ต้องมาดูที่ท่าทาง ที่นี่เขาจะบันทึกการพูดใส่วิดีโอไว้ แล้วมาเปิดให้ดู
พร้อมกับฟังคำแนะนำจากครูไปพร้อมๆ กัน ช่วยให้เด็กเห็นภาพชัดขึ้น
โดยต้องยอมรับว่า เด็กแต่ละคนมีบุคลิกการพูดที่ต่างกัน ต้องหาเวที และโอกาสให้เขาได้พูดบ่อยๆ
และฝึกฟังด้วย เพื่อค้นหาสไตล์ที่เหมาะสมกับตนเอง


พูดอย่างไรให้มีเสน่ห์
เมื่อฝึกจนพูดได้ถูกต้อง ไพเราะเหมาะสมแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องคิดเสริมเสน่ห์ให้คนฟังสนใจฟังเราโดยตลอด
และถ้าจะให้ดี ดึงคนดูมามีส่วนร่วมในเรื่องที่เราพูดด้วยก็จะเยี่ยมมาก
ทั้งนี้ต้องอาศัยศิลปะการแสดง เข้ามาช่วยสื่อภาษากายให้สอดคล้องกับเรื่องที่พูด

"เสน่ห์ในการพูด ที่ทำง่ายที่สุดคือ การแสดงอารมณ์ให้สอดคล้องกับเรื่องที่พูด
หากเป็นเรื่องจริงจัง ก็ต้องสำรวม น่าเชื่อถือ
หรือถ้าเล่าเรื่องความประทับใจด้วยใบหน้าตึงๆ เสียงเนือยๆ ก็ไม่มีใครอยากจะฟัง
เพราะไม่แน่ใจว่าเราประทับใจกับเรื่องที่เล่านั้นจริงๆ เหรอ
หรือมีรอยยิ้มเวลาพูด ก็ช่วยสร้างบรรยากาศ ให้คนที่พูดด้วยรู้สึกสบายๆ
ทำให้การสร้างมนุษยสัมพันธ์ดีขึ้น

มีการให้น้ำหนักของการขึ้นลงของเสียง เช่น ตรงไหนสำคัญต้องการเน้น
ก็เว้นจังหวะให้คนฟังรวบรวมสมาธิ
หรือให้เกิดสงสัยว่าสิ่งที่เราจะพูดต่อคืออะไร ทำให้การพูดของเรามีสีสัน น่าสนใจ

"การฝึกพูด ไม่ใช่ว่าจะทำให้คนพูดน้อย กลายเป็นนักพูดที่เก่งนะ
เขาอาจจะพูดน้อยเหมือนเดิมแต่ เขาจะพูดได้อย่างมั่นใจ และน่าฟังมากขึ้น
เพราะเราเน้นฝึกในเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นด้วย”


ทำอย่างไรไม่ตื่นเวที
เมื่อฝึกพูดได้คล่องจนพูดหน้าห้องได้อย่างสบายแล้ว ลองหาโอกาสขึ้นมาพูดบนเวทีบ้าง
งานนี้จะยากแค่ครั้งแรก พอผ่านได้ ครั้งที่สอง สาม ก็หมูๆ แล้ว

"เมื่อต้องพูดต่อคนหมู่มาก ต้องมีการเตรียมตัว คุณอาจชวนลูกเขาคุย
แล้วช่วยเขาลำดับเรื่องราวที่เขาอยากนำเสนอให้น่าสนใจ ไม่กระโดดไปกระโดดมา
โน้ตหัวข้อไว้ จากนั้นจึงฝึกซ้อมท่องบทหน้ากระจก ฝึกบ่อยๆ จนเปลี่ยนจากการท่อง เป็นการเล่าได้
อาการตื่นเต้นจะผ่อนคลาย พูดได้คล่อง และเป็นธรรมชาติมากขึ้น

"ก่อนขึ้นเวทีให้ทำสมาธิ วอร์มร่างกาย วอร์มเสียง เพื่อผ่อนคลาย ลดอาการตื่นเต้น
ซึ่งเป็นต้นเหตุของการประหม่า ทำให้พูดตะกุกตะกัก
เพราะเมื่อตื่นเต้น ลิ้นจะแข็ง ร่างกายเกร็ง ทำให้นึกเรื่องไม่ออก
แล้วพอพยายามนึก ตาก็เหลือกไปข้างบน เสียบุคลิกภาพ”

อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะพูดดีเพียงใด
บางครั้งการพูดต่อหน้าสาธารณชนก็ต้องมีคนที่ไม่สนใจฟังบ้าง หรือขนาดลุกออกไปเลยก็มี
สิ่งนี้จะบั่นทอนกำลังใจของผู้พูดอย่างมาก ทั้งๆ ที่บางทีผู้ฟังอาจชื่นชอบ ในสิ่งที่เขาพูด
แต่มีธุระด่วนต้องลุกไปก่อนก็ได้ ตรงนี้ต้องฝึกให้ลูกจัดการกับอารมณ์ตนเอง แม้จะวอกแวกไปบ้าง
แต่ต้องกู้ความมั่นใจกลับมา ดึงสมาธิให้มาอยู่กับสิ่งที่กำลังพูดให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ การสะกดให้ผู้ฟังมีความสนใจอย่างต่อเนื่อง มีเทคนิคที่สายตา

"การใช้สายตาสะกดผู้ฟังมีหลายวิธี แต่มีหลักคือ ไม่มองจ้องมากเกินไป หรือหลวมเกินไปสายตาส่ายไปมา
เราควรเริ่มเคลื่อนสายตาจากตรงกลาง เช่น หากมองทางซ้าย ก็กลับมาตรงกลางก่อนแล้วค่อยย้ายไปทางขวา
แล้วสลับคนมองไปเรื่อยๆ ผู้ฟังจะได้ไม่อึดอัด หรือคนที่เราไม่มองเลย เขาจะรู้สึกว่าเราไม่ใส่ใจ
เราต้องกระจายความสนใจให้ทั่วถึง แล้วต้องมองแบบมีโฟกัสด้วย
ส่วนท่าทางก็เคลื่อนไหวแต่พองาม ให้สัมพันธ์กับเรื่องที่พูด"

นอกจากนี้อาจารย์จิตรายังย้ำถึงประโยชน์ของการพูดว่า
"การพูด ทำให้เกิดความมั่นใจ ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น แล้วได้พัฒนาสมอง
พัฒนาในเรื่องของระบบวิธีคิด การวางแผน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ยิ่งเปิดโอกาสให้ได้ฝึกพูดมากเท่าไหร่ เด็กจะยิ่งพูดได้คล่องขึ้น
ไม่จำเป็นต้องฝึกพูดต่อหน้าคนเยอะๆ เท่านั้น แต่พูดกับคนรอบข้างก็ได้ค่ะ”

สรุปแล้วการพูดเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
และในที่สุดการพูดดีมีศิลปะนี่เอง จะเสริมให้ผู้พูดมีบุคลิกดีตามไปด้วยนะคะ

ที่มา kids & family ปีที่ 10 ฉบับที่ 112



สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ




Create Date : 22 มิถุนายน 2552
Last Update : 22 มิถุนายน 2552 20:12:55 น. 1 comments
Counter : 3407 Pageviews.

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: ิำิำิำิbeau IP: 117.47.72.44 วันที่: 6 มกราคม 2553 เวลา:19:38:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.