Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
 
27 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
สอนลูก รู้คิด



ท่ามกลางกระแสสื่อโฆษณาชวนเชื่อ ทำอย่างไรให้ลูกไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ
ปาน ขาดความมั่นใจ เพียงเพราะเกิดมาตัวดำ
อ้อม เฉียดตายจากการดูดไขมัน เพราะอยากผอมเพรียว
กอล์ฟ ตัดสินใจส่งยาบ้า เพราะอยากได้มือถือรุ่นใหม่


นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปกับวัยรุ่นยุคนี้ และอาจจะเกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา
เชื่อว่า ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกของตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้แน่ แต่จะโทษใครดีล่ะ…

ยังไม่ต้องตอบก็ได้ค่ะ แต่อยากให้ลองอ่านข้อมูลนี้ดูก่อน

* รายงานการทบทวนองค์ความรู้เรื่องเด็ก เยาวชน และครอบครัวของ พ.ญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ
จากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า
เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่จะรับข่าวสารจากโทรทัศน์ วิทยุ และนิตยสารเป็นหลัก
และจะให้ความสำคัญกับ 'เพื่อน' มาก มักมีพฤติกรรมเลียนแบบกัน
โดยเฉพาะในเรื่องการทดลองสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เสพยาเสพติด และพฤติกรรมทางเพศ

* ผลการวิจัยไลฟ์สไตล์เด็กในเอเชีย 'นิว เจเนเรเชียนส์' ของการ์ตูนเน็ตเวิร์ก ทำการสำรวจเด็กอายุ 7-18 ปี
ใน 14 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า 89% ของเยาวชนไทยดูทีวีทุกวัน

* ข้อมูลการสำรวจเรื่อง อิทธิพลของสื่อที่มีผลต่อพฤติกรรมเด็ก โดยสำนักวิจัยพบว่า
เด็กไทย 77% บริโภคอาหารตามโฆษณาทางโทรทัศน์
64% จะเลียนแบบพฤติกรรมของตัวการ์ตูน และ 45% มีกิริยาท่าทางก้าวร้าวเพราะเลียนแบบจากตัวละคร

ข้อเท็จจริงที่นำมาบอกเล่ากันนี้ คงพอทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นบ้างนะคะ
ว่าด้วยช่วงวัยที่กำลังแสวงหาตัวตน ความเปิดตัวของตัวเองยังไม่เข้มแข็งพอ และวิถีชีวิตในสังคมทุกวันนี้
เด็กๆ ลูกหลานของเราเสี่ยงต่อการถูกครอบงำ โดยเฉพาะจากสื่อโทรทัศน์และโฆษณาอย่างมาก

นึกไปถึงคำพูดของคนในแวดวงของสื่อเอง รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์จากคณะนิเทศฯ จุฬาฯ
เคยพูดไว้ว่าภายใต้กระแสทุนนิยมเสรีที่เน้นการแข่งขันทางการตลาด พลังของการสื่อสารสมัยใหม่
ถูกนำมาบริหารจัดการและถ่ายทอดค่านิยม 'สังคมบริโภค' กระตุ้นให้เกิดการบริโภคเกินความจำเป็น
หรือบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย มีการลงทุนศึกษากระบวนการเอาชนะจิตใจ ส่งเสริมกิเลสตัณหาในตัวมนุษย์
สร้างภาพการสื่อสารที่น่าสนใจ ให้ความเพลิดเพลิน โดยเฉพาะในผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน

นักโฆษณารู้ดีว่านิยมดูรายการโฆษณาทางโทรทัศน์ ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากการดูรายการบันเทิง
การโฆษณาจึงสนองตอบอารมณ์ความอยากได้ มากกว่าสื่อสารด้วยเหตุผล
นำเสนอเฉพาะข้อดีของสินค้า และบริการต่างๆ (เว้นไม่พูดส่วนที่ไม่ดี)
ความถี่ของการโฆษณายิ่งตอกย้ำจนเกือบเป็นการสะกดจิตคนดู
ดังนั้น โอกาสที่จะรับและเชื่อข่าวสารค่านิยม ที่ปรากฏในโฆษณาหรือตกอยู่ในอิทธิพลของการโฆษณาจึงมีมาก
ยากเกินกว่าที่เด็กและเยาวชนจะใช้ความสามารถ หรือวิจารณญาณในการยับยั้งชั่งใจตนเอง
ไม่ให้ตกเข้าไปสู่วังวนของการบริโภคได้

ฟังข้อมูลเจาะลึกอย่างนี้ อย่าเพิ่งหมดหวังนะคะว่าเด็กๆ จะอยู่ในสังคมนี้กันอย่างไรต่อไป
เรามาช่วยกันดูดีกว่าว่า จะสร้างภูมิต้านทานอย่างไรให้ลูกรู้เท่าทันสังคมบริโภค


สอนลูกให้คิดเป็น
หลายคนอาจจะถอนใจ ร้อง เฮ้อ!…จะเรียกร้องพ่อแม่อะไรกันนักหนา
แค่ทำมาหากินทุกวันนี้ก็จะเอาตัวไม่รอดแล้ว จะมาให้สอนลูกอย่างนั้นอย่างนี้อีก… ค่ะ
ได้ยินพ่อแม่หลายคนบ่นว่า ไล้ลี่ ชอบบอกให้พ่อแม่ทำสิ่งที่ยาก แบบสวนกระแสสังคมเสียด้วย

ไม่เลยค่ะ เราเพียงแต่แนะวิธีให้ครอบครัวไทยยืนอยู่ในสังคมแบบนี้ได้ โดยไม่ถูกกระแสสาดซัดซวนเซจนถึงล้ม
มันอาจจะยากกว่าการปล่อยตัวปล่อยใจไปตามแต่ใครจะพาไป
แต่ผลที่ได้คุ้มค่ากว่าการตามไปเยียวยาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว

ดังเช่นหลายๆ เรื่องที่ผู้รู้แนะว่าต้องสอนลูกให้คิดเป็น เป็นด่านแรกที่จะป้องกันลูกจากภัยทุกๆ ด้าน
เพราะลูกอาจจะถูกหลอก ครอบงำได้ง่ายๆ หากไม่รู้จักที่จะหาข้อเท็จจริงของสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
ไม่พยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่ควรสงสัย ไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดเปรียบเทียบผลดี ผลเสียอย่างรอบคอบ


วิธีฝึกลูกให้รู้คิด ทำได้โดย 'เปิด' 3 อย่าง แบบนี้ค่ะ

เปิดใจฟังลูก
ขั้นแรกนี่อาจจะยากหน่อยสำหรับพ่อแม่ที่คุ้นเคยกับวิถีปิตา-มาตาธิปไตย (พ่อแม่เป็นใหญ่)
ลองเปิดใจกว้างกับลูกวัยนี้ เปลี่ยนจากการสอน สั่ง มาให้ลูกเป็นฝ่ายแสดงความคิดเห็น จะถูกหรือผิดไม่ว่ากัน
นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องค่อยๆ คุยกัน แต่การเริ่มต้นเปิดใจฟัง ก็เหมือนเราได้เริ่มต้นเพาะเมล็ดพันธุ์ให้ลูกรู้จักคิด
เพราะการที่เขาจะพูดจะแสดงความเห็นออกมาได้ เขาต้องคิดก่อน
แล้วขั้นต่อไปจึงค่อยกระตุ้นให้เขาได้คิดกับเรื่องต่างๆ รอบตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม

เปิดประเด็น กระตุ้นให้คิด
ช่วงเวลาที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ในการกระตุ้นให้ลูกเราได้ฝึกทักษะการคิด ก็คือ
ช่วงเวลาที่เขาอยู่หน้าจอทีวีนั่นละค่ะ ไม่ใช่พอรู้ว่าสื่อมีอิทธิพลกับลูกก็เลยปิดทีวี ปิดหูปิดตาลูกเสียเลย
ในเมื่อเรายังใช้ชีวิตอยู่กับสังคม ก็ยากที่จะปิดกั้นสิ่งเหล่านี้ ใช้วิกฤติเป็นโอกาสดีกว่าค่ะ
นั่งดูหนังดูละครดูโฆษณากับลูก ดูไม่ดูเปล่านะคะ ตั้งประเด็นพูดคุยกับลูกจากสิ่งที่เห็นในทีวีด้วย เช่น
" ลูกคิดยังไงกับความขาว คนไม่ขาวไม่สวยจริงๆ หรือ"
" ถ้าเพื่อนของตัวดำแต่นิสัยดี กับเพื่อนที่ขาวแต่เห็นแก่ตัวลูกจะเลือกคบใคร"
" ถ้าลูกอยากได้มือถือสักเครื่อง ลูกคิดว่าลูกจะทำยังไงให้ได้มันมา"
" ลูกคิดยังไงกับข่าวเด็กกระโดดตึกเพราะเอ็นฯ ไม่ติด"
" ลูกรู้สึกยังไงกับโฆษณานี้ มันเป็นจริงได้มั้ย"

เปิดทางเลือก
ค่อยๆ ชี้ให้ลูกรู้จักวิเคราะห์แยกแยะข่าวสารที่ได้รับมาว่า เขาควรจะเชื่อหรือไม่เพราะอะไร
แม้แต่สิ่งที่ลูกอยากจะได้ อยากได้เพราะอะไร จำเป็นไหม ข้อดีข้อเสียคืออะไร ผลที่ตามมาคืออะไร
ถ้าไม่ได้เป็นอย่างอื่นแทนได้ไหม
ช่วยกันหาทางเลือกหลายๆ ทาง เพื่อให้ลูกเห็นตัวอย่างของการคิดที่หลายมุมมอง และคิดอย่างรอบคอบ
แล้วก็หมั่นตั้งประเด็นขึ้นมาถกเถียงกันเล่นๆ อยู่เสมอๆ จะช่วยให้ลูกมีทักษะการคิดที่ดีขึ้นได้ค่ะ

การคิดเป็น ก็เหมือนการเรียงหินที่กระจัดกระจาย ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เคยเปรียบเทียบไว้อย่างนั้นค่ะ
การเรียงหินเป็นเหมือนการจัดระบบข้อมูล ที่เราได้ใช้การคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบ ลึกซึ้ง
มีการแบ่งความคิดหลายๆ แบบ ลองอ่านดูด้านล่าง แล้วนำไปใช้กับลูกนะคะ


ความสามารถในการคิด 10 มิติ

* การคิดเชิงวิพากษ์
หมายถึง การที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่เห็นคล้อยตามข้อเสนอง่ายๆ
แต่จะตั้งคำถามท้าทายสิ่งนั้น และพยายามเปิดแนวทางความคิดออกสู่ทางต่างๆ ที่แตกต่างจากข้อเสนอนั้น
เพื่อให้สามารถได้คำตอบที่สมเหตุสมผล

* การคิดเชิงวิเคราะห์
หมายถึง การจำแนกแจกแจงเรื่องใดเรื่องหนึ่งและหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น
เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น

* การคิดเชิงสังเคราะห์
หมายถึง ความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่างๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน
เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

* การคิดเชิงเปรียบเทียบ
หมายถึง การพิจารณาเทียบเคียงความเหมือน และ/หรือ ความแตกต่าง ระหว่างสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สามารถอธิบายเรื่องนั้นได้อย่างชัดเจน
เพื่อประโยชน์ในการคิด การแก้ปัญหา หรือการหาทางเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

* การคิดเชิงมโนทัศน์
หมายถึง ความสามารถในการประสานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใด ได้อย่างไม่ขัดแย้ง
แล้วนำมาสร้างเป็นความคิดรวบยอดหรือกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น

* การคิดเชิงสร้างสรรค์
หมายถึง การขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ สู่ความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน
เพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น

* การคิดเชิงประยุกต์
หมายถึง ความสามารถในการนำเอาสิ่งที่มีอยู่เดิม ไปปรับใช้ประโยชน์ในบริบทใหม่ได้อย่างเหมาะสม
โดยยังคงหลักการของสิ่งเดิมไว้

* การคิดเชิงกลยุทธ์
หมายถึง ความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุด ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เข้าหาแก่นหลักได้อย่างเหมาะสม เพื่ออธิบายหรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

* การคิดเชิงบูรณาการ
หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิดหรือองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เข้าหาแกนหลักได้อย่างเหมาะสมเพื่ออธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

* การคิดเชิงอนาคต
หมายถึง ความสามารถในการคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม


พ่อแม่ลูกอ่านแล้ว ลองนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการคิดในชีวิตประจำวันดูนะคะ

พอลูกรู้คิดซะอย่าง ที่นี้ก็เท่ากับว่าพ่อแม่สร้างเกราะกันภัยให้เขาชั้นหนึ่งแล้ว
ไม่ว่าอิทธิพลจากสื่อ หรือเพื่อน หรืออะไรก็ตามแต่ ยากที่จะประชิดเข้าถึงตัวลูกทันที
ทีนี้พ่อแม่จะไปทำมาหากินที่ไหน ก็คลายอาการห่วงหน้าพะวงหลังไปได้มากทีเดียวค่ะ


ที่มา //www.elib-online.com/doctors46/child_think001.html


สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ



Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2552 19:38:39 น. 0 comments
Counter : 875 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.