Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
24 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
ลูกจ๋า อย่ากลัว



" คุณแม่ครับ โฆษณานรกมาอีกแล้ว ผมไม่ชอบเลย"
" ถ้าหากหนูเดินหลงกับแม่ จะโดนจับไปฆ่าตัดหัวเหมือนในข่าวไหมคะ"
" แม่คะ คุณป้าขายกล้วยหน้าโรงเรียน หน้าเหมือนผีปอบในหนังเลย
วันนี้คุณแม่มารับหนูเร็วๆ นะคะ"
" ถ้าเราหลับกันหมด ใครจะมาปล้นบ้านเรา เหมือนลุงสมปองที่ลงหนังสือพิมพ์ไหมครับ"

คำถามเหล่านี้สะท้อนถึงความกลัวของลูกๆ แม้ว่าไม่มีคำว่า กลัว เลยซักคำ และนี่เป็นตัวอย่าง
ความกลัวที่เกิดจากสิ่งเร้าคือสื่อเท่านั้น ยังมีแหล่งให้เกิดความกลัวได้รอบตัวไม่ว่าจะเป็นหนังสือ
เรื่องเล่าชวนขนลุกจากเพื่อนๆ แม้แต่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด
ก็เป็นต้นแบบความกลัวของลูกๆ ได้

ความกลัว ส่งผลกระทบทำให้เด็กขาดความมั่นใจ วิตกกังวล หวาดระแวง หนักๆเข้าอาจ
พานไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าได้ จริงๆ ก็มีส่วนดีทำให้ลูกระวังภัย
แต่ถ้ามากไปอาจกลายเป็นขลาดสังคมได้ ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เป็นอย่างนั้น
แล้วคุณจะมีวิธีจัดการอย่างไร ลองพิจารณาจากคุณแม่ 3 แบบนี้ หากคุณเป็น...

คุณแม่เบาสมอง
จะหัวเราะทันทีโดยไม่มียั้ง กับความคิดที่ผู้ใหญ่อย่างคุณเห็นว่าไร้สาระ และไม่มีทางเป็นไปได้
เชื่อเถอะคุณจะไม่ได้ยินคำถามแบบนี้จากลูกอีก ไม่ใช่เพราะเขาหายกลัว แต่เพราะเขาอายที่จะ
บอกว่ากลัว ต่อไปจะเก็บงำเอาไว้ จากความกลัวเท่าขี้เล็บจะกลายเป็นเท่าช้างยังได้

คุณแม่สุดโต่ง
ยิ่งถ้าเห็นสีหน้าหม่นหมองของลูกเวลาพูดด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความวิตก รีบปิดโทรทัศน์
และสื่อทุกชนิดที่คุณคิดว่าจะมีส่วนเสริมจินตนาการด้านมืดของลูก แม้จะติดว่าจัดการได้
แต่ในความจริงจินตนาการของลูกจะยิ่งบรรเจิด ไปไกลกว่าภาพที่เห็นจากสื่อซะอีก
เพราะวัยนี้คิดปะติดปะต่อเรื่องราวได้อย่างเป็นตุเป็นตะ แล้วการยิ่งห้ามทำให้ยิ่งอยากรู้
แล้วความกลัวก็ยังมาพัวพันอยู่ร่ำไป

คุณแม่สายกลาง
จะฉวยโอกาสนี้ นั่งดูข่าวทีวี ดูหนังผีและเปิดดูโฆษณานั้นไปพร้อมกับลูก อธิบายให้ลูกฟังว่า
เกิดจากการแสดง การแต่งหน้าแต่งตัว และเทคนิคมุมกล้อง แถมหยอดอีกนิด
“ถ้าลูกไม่อยากอยู่ในนรกก็ต้องทำความดีไงจ๊ะ” ที่หลายคนบอกว่าพูดง่ายแต่ทำยาก เพราะ
คุณไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะให้มานั่งติดกับลูกทุกฝีก้าว คงไม่ใช่วิสัยของ
พ่อแม่ยุคนี้ แต่อย่าลืมว่าเด็กเขาสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ หากได้รับวัคซีนใจทันเวลา

ตอนนี้คุณเป็นคุณแม่แบบไหนไม่สำคัญเท่ากับว่า ต่อจากนี้ไปจะเลือกแบบไหนต่างหาก
ยังไม่สายไปหรอกค่ะ ลองตามมาดูกัน

'ความกลัว' เป็นเรื่องธรรมชาติ
ลูกคุณอาจชอบนั่งดูหนังผีในห้องที่ปิดไฟมืด เพราะว่ามันได้บรรยากาศที่ชวนขนลุกสนุกตามวัย
ของเขา เช่นเดียวกับพวกชอบฟังเรื่องผีๆ แล้วก็เก็บมาฝันต่อ แม้จะกลัวทุกครั้ง
แต่ก็ยังอยากรู้เรื่องราวลึกลับนี้อยู่ดี อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่บางคนก็ยังเป็น

ความกลัว เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย จะต่างกันก็ตรงสิ่งที่กลัว
นั่นละค่ะ เมื่อลูกยังเล็กคุณเคยได้ผลกับการหลอกว่า ถ้าไม่กินข้าวเดี๋ยวตุ๊กแกจะมากินตับ
แต่เมื่อเขาเข้าโรงเรียน และได้สัมผัสกับโลกแห่งความจริง
เขาจึงเริ่มกลัวจากสิ่งที่จินตนาการต่อเนื่องจากความจริง และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ใกล้ตัวมากขึ้น
แทนการเป็นเหยื่อของจินตนาการตัวเองเมื่อตอนเป็นเด็กเล็ก

เมื่อเห็นเงาตะคุ่มๆ ในความมืด ถ้าเป็นเด็กเล็กก็คงจะนึกถึงผีหรือไม่ก็สัตว์ประหลาด
แต่เด็กวัยนี้จะคิดไปถึงสิ่งที่มีจริงว่าอาจเป็นขโมย หรือคนลอบวางเพลิงไล่ที่ สะท้อนว่าเขาเริ่ม
กลัวในอันตรายที่อาจเกิดในบ้าน(ส่วนหนึ่งก็มาจากภาพข่าวที่เขาเห็น ผนวกกับความเชื่อของเขา
ที่ว่าหากเรื่องน่ากลัวเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนอื่นได้ มันก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นกับเขาได้เหมือนกัน)
พอโตอีกนิดเขาจะกังวลถึงอันตรายนอกบ้าน เช่น โดนลักพาตัว ความกลัวที่เกิดจากความไม่รู้
กลัวความตาย การจากไปของคนที่รัก กลัวการเรียนตกต่ำ และกลัวตอบคำถามครูไม่ได้...

ความกลัว เกิดขึ้นกับใคร เมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ แต่ความกลัวนี้จะไม่น่ากลัวอีกต่อไปหากเรารู้วิธีจัดการกับมันค่ะ


ความกลัว จัดการได้ ง่ายนิดเดียว
เด็กบางคนอาจบอกได้ว่าเขากลัวอะไร แต่บางคนก็ไม่กล้า
เพราะกลัวแม้แต่จะแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา ตรงนี้คุณพ่อต้องสังเกตพฤติกรรมของลูก
อาจให้เขาวาดรูปแสดงถึงสิ่งที่เขากลัว และควรเปิดใจกับลูก รับฟังถึงสิ่งที่ลูกกลัว
อย่ามองความกลัวของลูกเป็นเรื่องตลก เช่นเดียวกันก็อย่าย้ำคิดย้ำทำถึงสิ่งที่ลูกกลัว
ควรเลือกใช้เส้นทางเบี่ยงหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเจอกับสิ่งเร้า ที่จะทำให้รู้สึกกลัวก็จะช่วยได้

พ่อแม่หลายคนให้ลูกมานั่งดูข่าวด้วย บางข่าวก็มีภาพที่รุนแรง สยดสยอง ชวนให้ติดตา
ลูกอาจเก็บไปฝันร้ายหรือแสดงออกมาทางรูปวาด
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่จะต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า
“สงครามเกิดขึ้นที่ตะวันออกกลาง ห่างจากบ้านเรามาก ลูกไม่ต้องกลัวนะจ๊ะ”

หากลูกไม่ยอมไปหาหมอฟัน บางคนอาจหวังดีโอ๋ลูกโดยเลื่อนนัดหมอหรือบอกว่าแม่ก็กลัว
เหมือนกัน หวังให้ลูกอุ่นใจว่ามีพวก แต่กลับยิ่งทำให้ความกลัวของลูกติดแน่นอยู่ในใจ
เพราะเท่ากับว่า คุณยืนยันความน่ากลัวของหมอฟัน
ทางที่ดีควรอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงสาเหตุที่ต้องไปหาหมอฟันว่า
“หนูฟันผุก็ต้องรักษา หากหนูไม่ไปจะรู้ความจริงได้อย่างไรว่า คุณหมอดุหรือใจดีกันแน่”

สิ่งสำคัญ คือให้โอกาสลูกเผชิญหน้ากับความกลัวนั่นเองค่ะ
แล้วเขาจะได้เรียนรู้ว่า มันไม่น่ากลัวอย่างที่คิด


บันได 5 ขั้น ช่วยลูกข้ามกำแพงแห่งความกลัว
ความกลัวเป็นสิ่งดีที่เข้ามาทดสอบให้ลูกข้ามผ่าน เพื่อไปคว้าความมั่นใจมาเป็นรางวัล
แต่เส้นทางแห่งการผจญภัยของจินตนาการด้านมืดในโลกเสมือน หรือโลกแห่งความจริงนี้
พ่อแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นตัวช่วยสำคัญของลูกค่ะ ด้วยบันได 4 ขั้นนี้ ได้แก่

ขั้นที่ 1
เปิดใจรับฟังถึงสิ่งที่ลูกกลัว และให้ข้อมูลความจริงในสิ่งที่กลัวว่าคืออะไร
โดยตอบข้อสงสัยเท่าที่ลูกอยากรู้ ไม่ต้องให้รายละเอียดมากและควรตอบสนองความกลัวของลูก
ด้วยการพูดปลอบใจ โอบกอด ให้ลูกรู้สึกปลอดภัยเสมอในอ้อมแขนแม่ อย่างไรก็ตามควรแสดง
ให้ลูกเห็นว่า คุณเข้าใจถึงความกลัวของลูกจริงๆ แต่ไม่ต้องบอกว่าคุณก็กลัวเหมือนกัน
เพราะมันจะยิ่งสร้างความกลัวให้ลูกหากรู้ว่าพ่อแม่ก็กลัวเหมือนกัน

ขั้นที่ 2
สนับสนุนให้ลูกเอาชนะความกลัว อาจพาลูกเดินไปซื้อกล้วยคุณยาย
จะได้เห็นว่าคุณยายแค่มีผิวหนังเหี่ยวย่นตามวัยเท่านั้นไม่ใช่ปอบ
หรือหากลูกกลัวสุนัข เพราะเคยเห็นมันกัดเพื่อนข้างบ้าน อาจเริ่มให้ดูรูปสุนัขก่อน
แล้วเพิ่มมาเป็นรูปลูกสุนัขตัวเล็กๆ เป็นลำดับ
อย่ากดดันให้ไปประจันหน้ากับความกลัวโดยตรงทันทีหากเขายังไม่พร้อม
ต้องค่อยเป็นค่อยไปแล้วใช้เวลา และอย่าลืมบอกว่าคุณภูมิใจแค่ไหนที่ลูกชนะความกลัวได้

ขั้นที่ 3
ควบคุมสถานการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่จะมาทำให้ลูกกลัว เช่น ลูกกลัวขโมยขึ้นบ้าน
ก็ชวนลูกสำรวจประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย ให้แน่ใจว่าเขาจะปลอดภัยหรืออาจถามความเห็นกับลูก
ว่าจะทำอย่างไรได้บ้างลูกถึงจะไม่กลัว และให้คำแนะนำเพิ่มเติมเป็นทางเลือกให้ลูก เช่น
หากอยากดูหนังผีแต่กลัว ก็มาเดินครึ่งทางว่าให้ดูได้แต่ห้ามดูก่อนนอน และต้องให้แม่ดูด้วย
จะได้ไม่เอาไปฝันร้าย เป็นต้น(แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใจกล้าซักหน่อย อย่าคลุมโปงซะเองล่ะ)

ขั้นที่ 4
หาโอกาสพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจของลูก
ทำได้โดยปล่อยให้ลูกได้ลองสิ่งต่างๆ ที่เขาทำได้และให้การสนับสนุนเขาอย่างเหมาะสม
ชวนมาอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับความกล้าหาญของเด็กขี้กลัว มาให้เป็นตัวอย่างของลูก
และอย่าลืมบอกว่าความกลัวจะมีโอกาสกลับมาได้เสมอ ให้ลูกเตรียมพร้อมรับมือกับมัน


พ่อแม่ต้นแบบความกลัว ใกล้ตัวลูก
พ่อแม่เป็นต้นแบบความกลัวของลูกได้ จึงต้องเชื่อให้ได้ก่อนว่าความกลัวนั้นจัดการได้
อย่ากลัวเกินเหตุกับความกลัวของลูก สอนให้ลูกเผชิญความกลัวบนพื้นฐานความจริง
การที่ลูกกลัวไม่ได้แสดงว่าเขาผิดแปลกจากเพื่อนๆ ให้ความมั่นใจว่าชนะความกลัวได้
และคุณอย่าเผลอทำให้เด็กกลัวโดยไม่จำเป็นเช่นที่ว่า ถ้าเป็นเด็กดื้อเดี๋ยวให้ตำรวจมาจับ
หรือได้ยินเสียงดังตอนกลางคืนอย่าทักเดี๋ยวผีจะเข้าสิง เป็นต้น
นอกจากนี้ควรพูดและมองในแง่บวกเพื่อป้องกันความกลัว เช่น
หากกลัวความมืดให้ท่องไว้ว่ามันก็แค่ความมืด ไม่มีอะไรจะมาทำร้ายเราได้
หรือถ้ากลัวผีหลอก “อย่าลืมว่าผีนะกลัวพระนะ ก่อนนอนก็สวดมนต์ซิจ๊ะ จะได้ฝันดี”

อย่างไรก็ตาม ความกลัวในบางเรื่อง หากรู้จักนำไปใช้ให้ถูกทางก็เป็นสิ่งดีได้นะคะ เช่น
กลัวถูกรถชนก็มองซ้ายขวาดีๆ เวลาข้ามถนน กลัวตกนรกก็ต้องทำความดี
กลัวสอบตกก็ต้องขยันอ่านหนังสือ เป็นต้น

ขอย้ำชัดๆอีกซักทีว่า ความกลัวน่ะ เป็นเรื่องธรรมชาติและจัดการได้
ด้วยวิธีที่สำนวนฝรั่งเขาว่า face your fear หรืออย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า
ทางออกของปัญหา คือ การเผชิญหน้ากับมันนั่นละค่ะ

ที่มา.. life&family (kids&family) ปีที่ 9 ฉบับที่ 102



Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 6 เมษายน 2555 23:59:15 น. 0 comments
Counter : 691 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.