Group Blog
 
<<
มีนาคม 2552
 
14 มีนาคม 2552
 
All Blogs
 
เลี้ยงลูกให้ถูกทางในต่างแดน



การเลี้ยงลูกในต่างแดนนั้นเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย กว่าเราจะเลี้ยง ให้ความรัก ทะนุทะถนอมบ่มสอนให้ลูกโต
เป็นเด็กดีที่เพียบพร้อมได้ คุณพ่อคุณแม่มีชีวิตเป็นของตัวเอง ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ต่างแดน ผจญความยากลำบาก
ไกลพี่น้องครอบครัว เหงาเดียวดายแต่ก็ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเองและลูกรัก
บางครั้งความสัมพันธ์กับคู่สมรสก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เคยหวังไว้ เหงากลัวโดดเดี่ยวไม่มีที่พึ่งพา
ความกังวลเรื่องการงานอาชีพและปากท้อง ความเครียดที่สะสม กลัวว่าลูกจะไม่มีความพร้อมนั้น
อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามสู้ทนชีวิตหนักขึ้นไปอีก พยายามปรับตัวเองและปรับการเลี้ยงลูกให้เข้ากับสังคม
ในต่างแดน เสมือนสุภาษิตไทย “เข้าเมืองตาหลิ่วก็หลิ่วตาตาม” เลี้ยงลูกไทย ลูกของเราในเมืองฝรั่งก็ต้องเลี้ยง
ตามวิธีของฝรั่งลูกจะได้เป็นเหมือนเพื่อนๆฝรั่งเก่งเหมือนเขา นอกจากเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงตามแบบเขาแล้ว
คุณพ่อคุณแม่บางท่านยังไม่คุยภาษาไทยกับลูกเพราะอาจกลัวว่าลูกจะพูดภาษาต่างชาติไม่ได้ เราทำถูกแล้วหรือ
แล้วจะทำอย่างไรดี ก่ออยากขอฝากเรื่องน่าคิดให้เป็นคติในการเลี้ยงลูก

เข้าเมืองตาหลิ่ว ก็หลิ่วตาตาม เลี้ยงลูกเราตามฝรั่งถูกแล้วหรือ
การหลิ่วตาตามต้องทำให้ถูกไม่เช่นนั้นตาจะบอดได้ คุณพ่อคุณแม่เองถูกเลี้ยงดูมาแบบไทยๆ
ถ้าหากต้องทำใจเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกโดยสิ้นเชิงตามพวกฝรั่งคงลำบากใจน่าดู

การเลี้ยงลูกไทยในต่างแดนนั้นควรเป็นแบบผสมผสาน เอาความอ่อนโอน ความรัก และความเมตตาอ่อนหวาน
และสัมมาคารวะของไทย มาผสมผสานกับความมีระเบียบวินัยและความเป็นตัวของตัวเองของฝรั่ง
ลูกไทยและลูกผสมของเราจะเป็นศูนย์รวมของข้อได้เปรียบของทั้งสองวัฒนธรรม


เลี้ยงลูกแบบผสมผสานนั้นทำอย่างไร
การเลี้ยงลูกแบบผสมผสานนั้นจะเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่สามารถเขียนได้จบ
การเลี้ยงลูกวิธีนี้เริ่มต้นจากการพูดภาษาไทยกับลูก การที่คุณพ่อคุณแม่สื่อสารกับลูกโดยใช้ภาษาแม่ของตนนั้น
จะทำให้คุณแม่ได้สื่อความรู้สึกที่แท้จริงของตนให้ลูกอย่างชัดเจน เพิ่มความใกล้ชิดและเป็นสื่อสายใยรักระหว่าง
แม่กับลูก การที่แม่บอกรักลูก “ลูกจ๋า แม่รักลูกนะ เจ้าตัวเล็กของแม่”
ย่อมให้ความรู้สึกรักที่แน่นแฟ้นและกินใจกว่า “my sweetie baby I love you”
หรือ “ Mijn schatje, Ik hou van jou” แน่นอน

การพูดภาษาไทยกับลูกนั้นทำให้เพิ่มความสนิท แม่รู้สึกคลายเหงาในแดนไกล มีลูกคู่ใจอยู่คู่ตัวพูดภาษาเดียวกัน
คุณแม่สามารถร้องเพลงเด็กๆภาษาไทยให้ลูกฟังได้ อ่านนิทานก่อนนอนได้ ฝึกให้ลูกพูดภาษาได้อย่างถูกต้อง
โดยไม่ต้องกังวลและคอยเปิดดิคชันนารีหาศัพท์เลย

คุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีไทยและมารยาทไทยได้ ซึ่งมีคุณแม่ที่น่ารักหลายคนเขียน
จดหมายมาถามอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรดีลูกก้าวร้าว ไม่อ่อนโยนเหมือนเด็กไทย
ถ้าหากคุณแม่ไม่พูดภาษาไทยกับลูกแล้ว แล้วแม่จะอธิบายให้ลูกฟังได้อย่างไรว่าอย่าเล่นหัวผู้ใหญ่นะคะ
อย่าเดินข้ามหัว ไม่ตะโกนหรือตะคอกใส่พ่อแม่ เป็นต้น ถ้าคุณแม่จะบอกกล่าวลูกเป็นภาษาต่างชาติแล้ว
ก็ยากที่จะให้ลูกยอมรับและเข้าใจได้เพราะว่าฝรั่งเขาไม่มีวัฒนธรรมประเพณีกันอย่างไทยเรา
หากภาษาไทยคุณแม่เองยังไม่ยอมรับไว้คุยกับลูกแล้ว ปะสาอะไรกับวัฒนธรรมและมารยาทไทยที่ลูกจะต้องยอมรับ

คุณแม่รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้สอนให้ลูกพูดคำไทยๆได้ เวลาที่ไปเยี่ยมเพื่อนคนไทยอื่นๆก็ภาคภูมิใจว่า
ลูกรู้จักสัมมาคารวะและพูดไทยได้ ยิ่งเมื่อกลับไปเที่ยวเมืองไทยลูกของเราก็สามารถพูดคุยกับตายายได้
เล่นและสื่อสารกับพี่น้องและญาติที่เมืองไทยได้ นอกจากนั้นคุณแม่ยังรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย
เกิดที่เมืองไทย อาศัยในต่างแดน เราเป็นชาวเอเซียเหมือนคนอื่นแต่มีจุดเด่นคือเราพูดภาษาไทย
ไม่ลืมเอกลักษณ์ไทย ไม่ลืมสิ่งที่ตนเคยเป็นและเป็นอยู่ ความรู้สึกที่มีคุณค่าเหล่านี้จะส่งเสริมให้คุณแม่เข้มแข็ง
และยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคชีวิตในต่างแดนได้ดี ช่วยลดความโดดเดี่ยวอ้างว้างอีกด้วยเพราะมีลูกเป็นเพื่อนใกล้ตัว


ผลพลอยได้ที่ตามมาลูกของเราจะเป็นเด็กฉลาดกว่าเด็กอื่น
และเปิดกว้างในการเรียนรู้วัฒณธรรมและสิ่งรอบตัวอื่นๆได้ง่ายกว่าเด็กที่พูดภาษาเดียว
การพูดภาษาแม่และภาษาพ่อได้ทั้งสองภาษานั้นยังเป็นโอกาสการศึกษาและการทำงานให้เด็กในอนาคตอีกด้วย

นอกจากนั้นการมีขอบเขตและความมีระเบียบวินัยในการเลี้ยงลูกเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน
ลูกควรมีกิจวัตรประจำวันเป็นเวลาที่ชัดเจน ฝึกให้ลูกมีระเบียบวินัยตั้งแต่ทารก
เช่น นอนและกินให้เป็นที่และเป็นเวลา เก็บของเล่นทุกครั้ง อ่านหนังสือและแปรงฟันก่อนนอนทุกวัน เป็นต้น
เด็กทุกคนทุกวัยต้องการความชัดเจนมีขอบเขตเพื่อความรู้สึกปลอดภัยและความมั่นคงทางจิตใจ
นอกจากนั้นการฝึกให้ลูกมีระเบียบวินัยยังช่วยทุ่นแรงในการเลี้ยงลูกให้กับคุณแม่อีกด้วย
ไม่ต้องไล่ตามป้อนข้าว วิ่งไล่จับลูกกันอีกต่อไป

เมื่อคุณแม่ได้ใช้ภาษาไทยสื่อทอดสายใยความรักและฝึกวินัยให้กับลูกแล้ว ยังมีเรื่องพื้นฐานที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ
บางครั้งความเครียดในการปรับตัว ความโดดเดี่ยวอ้างว้าง การงาน การเลี้ยงลูกและชีวิตสมรสอาจทำให้คุณแม่ลืม
คิดถึงสุขภาพจิตของตนเอง ความเครียดที่สะสมอาจเป็นคลื่นกวนความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก
ทำให้แม่มีความอดทนในการเลี้ยงลูกลดลง แม่ไม่รู้ใจหรือรู้สึกถึงลูกลดลง แม่มีเวลาให้ลูกน้อยลงและไม่ได้ใส่ใจ
เท่าที่ควร รวมถึงการลืมที่จะกอดลูก หอมแก้ม และบอกชมเชยว่าเราภาคภูมิใจและรักเขามากก่อนนอนทุกคืน
เด็กตั้งแต่แรกเกิดนั้นสามารถรับรู้สภาพจิตของแม่ได้เป็นอย่างดีจากกระแสจิตความผูกพันที่สื่อระหว่างแม่และลูก
จากน้ำเสียง สายตาและกิริยา ดังนั้นคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ว่าถ้าคุณแม่เครียดมากๆ วันนั้นลูกน้อยก็อาจจะงอแง
และเลี้ยงยากเป็นพิเศษ บางครั้งแม่อาจเผลออารมณ์ด่าว่า หรือทำโทษลูกได้
เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าเครียดมากและมีปัญหาทางด้านอารมณ์ควรหาที่ปรึกษาปรับทุกข์
นอกจากนั้นแล้วการเล่นกีฬาและการสวดมนต์นั่งสมาธิเป็นการช่วยลดความเครียดในทางสร้างสรรค์ได้อย่างดีค่ะ

สุดท้ายนี้ ขอให้คุณแม่มีความเข้มแข็งก้าวไปสู่วันใหม่ที่สดใสกับลูกรักอย่างมีความสุขนะคะ

โดย กมลลักษณ์ มโนกุลอนันต์


Create Date : 14 มีนาคม 2552
Last Update : 14 มีนาคม 2552 14:46:55 น. 1 comments
Counter : 1390 Pageviews.

 
เป็นบทความที่ดีมากเลย เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ


โดย: ผ า ย ล มใต้เงาจันทร์ IP: 59.167.63.128 วันที่: 15 มีนาคม 2552 เวลา:20:06:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.