Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
6 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
7 วิธีฝึกเด็กให้คลายเครียด

7 วิธีฝึกเด็กให้คลายเครียด

ความเครียดเกิดขึ้นกับผู้คนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก
...เพียงแต่เด็กไม่รู้ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับเขาเรียกว่า ความเครียด

ยกตัวอย่าง กรณีหนูน้อยวัยซนที่เคยเป็นลูกคนเดียวที่พ่อแม่อยู่กับเขาตลอด เวลา วันดีคืนดีมีน้องเกิดขึ้นมา
พ่อแม่ก็ต้องหันไปใส่ใจกับน้องคนเล็ก ก็ทำให้เจ้าคนโตเกิดอาการไม่เข้าใจ ยอมรับไม่ได้
เพราะรู้สึกเหมือนถูกแย่งความรักไป อาการที่แสดงออกมา ประมาณว่าจากที่เคยบอกเรื่องฉี่เรื่องอึได้แล้ว
ก็ไม่ยอมบอก หรือมีอาการปวดท้อง ปวดหัว ไม่สบายบ่อย งอแงตลอด หรือก้าวร้าว
เพราะต้องการให้พ่อแม่กลับมาสนใจตน

อาการเหล่านี้เรียกว่าพฤติกรรมถดถอย เพราะความเครียดนั่นเอง

เด็กไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้
ฉะนั้นถ้าพ่อแม่ปล่อยผ่าน โดยไม่สนใจลูกคนโต หรือไม่ทันสังเกตล่ะก็ อาจทำให้ลูกคนโตกลายเป็นปัญหา
มีอาการอิจฉาน้อง ก้าวร้าว จนท้ายที่สุด อาจส่งผลร้ายต่อเด็กก็เป็นได้

กรณีที่เป็นเด็กโตก็จะมีความเครียดในรูปแบบอื่นๆ เช่น มีปัญหาเรื่องการเรียน ทะเลาะกับเพื่อน
การแข่งขันที่แพ้ไม่ได้ หรือไม่สามารถเข้ากับเพื่อนได้
ถ้าเด็กไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ก็อาจกลายเป็นผลร้าย ดั่งหลายกรณีที่เป็นข่าวคราวตามสื่อต่างๆ

ฉะนั้น ความรักและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ จะเป็นเกราะคุ้มภัยจากสรรพสิ่งรอบนอกตัวเด็กได้ดีที่สุด

สภาวะจิตใจเป็นเรื่องที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน และอยู่ลึกลงไปภายในใจ ควรได้รับภูมิคุ้มกัน
และเด็กต้องเป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ดูแลให้การสนับสนุนอย่างใกล้ชิด

การสอนให้เด็กรู้จักจัดการกับความเครียดจึงเป็นเรื่องสำคัญ และก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ
มีเทคนิคง่ายๆ 7 วิธี ดังนี้

1. ฝึกให้เด็กระบายออกมา
ไม่ว่าเด็กจะกังวลเรื่องใด ต่อให้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ผู้ใหญ่ควรรับฟัง
และฝึกให้เด็กได้ระบายความรู้สึกออกมา อาจจะลองใช้วิธีเขียนก็ได้
โดยบอกรายละเอียดของอาการและความรู้สึก เช่น ปวดหัว ตื่นเต้น นอนไม่หลับ
รวมทั้งพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การกัดเล็บ การดึงผม

เมื่อเด็กได้ระบายความรู้สึก คุณควรจะรับฟังอย่างตั้งใจ
อย่าตัดบทว่าเรื่องที่เด็กกำลังประสบปัญหาเป็นเรื่องไร้สาระ หรือเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่า
ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ควรจะให้เด็กรู้สึกไว้วางใจอยากจะพูดคุยกับเราทุกเรื่อง

2. ฝึกให้เด็กรู้จักวางแผน
คุณควรจะบอกเด็กว่าเขาไม่จำเป็นต้องจัดการกับเรื่องราวต่างๆ ลำพังผู้เดียว
สามารถขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างได้เสมอ
โดยเฉพาะพ่อแม่ ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังทุกเรื่องราว และให้คำปรึกษาช่วยเหลือเขาได้ทุกเมื่อ
และเมื่อรู้ว่าปัญหาคืออะไร ทำไมจึงเกิดความเครียด ก็ฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะวางแผนเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง ทีละขั้นตอน เมื่อมองเห็นหนทางแก้ไข ความเครียดก็จะค่อยๆ บรรเทาลง

3. ฝึกให้เด็กรู้จักผ่อนคลาย
โดยปกติเด็กจะมีกิจกรรมที่ชื่นชอบเป็นของตัวเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของแต่ละคน
เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ เขียนบันทึก วาดรูป ฯลฯ

ฉะนั้นคุณต้องพยายามให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายกับสิ่งที่ตัวเองชอบ ชวนให้ลูกทำกิจกรรมอื่นๆ
โดยร่วมทำกับลูกด้วยก็จะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกว่า ยามมีปัญหาก็ยังมีคนที่เข้าใจและยอมรับเขาอยู่เสมอ

4. ฝึกให้เด็กวิเคราะห์ความผิดพลาดอย่างสร้างสรรค์
กรณีที่ลูกได้ทำในสิ่งผิดพลาดไปแล้ว ก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่ก็ไม่ควรโทษตัวเอง ตำหนิติเตียนให้ตัวเองรู้สึกแย่ลงไปอีก
การเอาแต่นั่งโทษตัวเองว่าทำไมถึงแย่นัก ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาหรอก ลองปลุกปลอบและสร้างกำลังใจ
เช่น เด็กผลการเรียนแย่ลง ก็อาจจะบอกเด็กว่า คราวนี้หนูเตรียมตัวไม่ดีพอ
ครั้งต่อไปจะต้องอ่านหนังสือทำความเข้าใจแต่เนิ่นๆ ส่วนไหนไม่เข้าใจก็รีบถามครู
เมื่อหนูมีความพร้อม คะแนนสอบย่อมดีขึ้นเอง

5. ฝึกให้เด็กกินอิ่มนอนหลับ
เมื่อเด็กต้องเผชิญกับเรื่องใด หรือกำลังเครียดกับเรื่องใด คุณจำเป็นต้องย้ำกับเด็กเสมอว่า
ลูกต้องนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อจะได้มีแรงมีพลังในการต่อสู้กับปัญหานั้นๆ

6. จัดลำดับความสำคัญ
เรื่องบางเรื่องผู้ใหญ่อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
แต่สำหรับเด็กบางคนอาจยังไม่สามารถจัดการกับเรื่องทั้งหมดได้ ในคราวเดียว ผู้ใหญ่จึงควรช่วยชี้แนะว่า
เรื่องใดที่ควรทำก่อนและหลัง เรื่องใดมีความสำคัญที่สุดในขณะนั้น
ถ้าเป็นไปได้ ก็ให้เด็กบันทึกรายละเอียดของสิ่งที่ต้องทำออกมาเป็นข้อๆ จะช่วยให้เด็กสับสนน้อยลง
และเรียนรู้ว่าทุกอย่างไม่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในคราวเดียวกัน เพียงแต่ต้องลำดับความสำคัญให้ได้

7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ส่วนใหญ่ผู้คนมักละเลยก็คือ การออกกำลังกาย
ถ้าเราส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากจะทำให้ลูกมีสุขภาพดีแล้ว ยังช่วยคลายเครียดได้อีกด้วย


ทุกวันนี้สภาวะแวดล้อมรอบตัวมีแต่เรื่องที่สุ่มเสี่ยง ทำให้ผู้คนเครียดได้ง่าย
และความเครียดก็นำไปสู่ผลร้ายอีกมากมาย ฉะนั้น ถ้าเราดูแลหัวใจและใกล้ชิดกับคนในครอบครัวกันตลอดเวลา
ก็เท่ากับเราได้สร้างภูมิคุ้มกันใจ หรือวัคซีนใจระดับหนึ่งแล้ว จากนั้นก็อยู่ที่วิธีจัดการกับปัญหาที่มาเยือน
แล้วผู้ที่จะสร้างวัคซีนใจให้กับลูก ก็คือพ่อแม่นั่นเอง


ที่มา : //www.dmh.go.th
ภาพจาก : https://www.a-dsafety.com


สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ




Create Date : 06 เมษายน 2553
Last Update : 6 เมษายน 2553 20:22:13 น. 0 comments
Counter : 1301 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.