Group Blog
 
<<
มีนาคม 2552
 
15 มีนาคม 2552
 
All Blogs
 
ตั้งครรภ์พึงระวัง !?! ภาวะเสี่ยงใกล้คลอด



สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ขณะที่โรคร้ายหลากหลายนำมาซึ่งความเจ็บป่วยการสูญเสีย
การมีความรู้ความเข้าใจรู้หลักปฏิบัติเตรียมความพร้อมก่อนต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย
จึงมีความสำคัญความจำเป็นที่ไม่อาจมองข้ามละเลย เช่นเดียวกับว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งต้องรับภาระเพิ่ม
ทั้งการดูแลตนเอง ดูแลลูกน้อยในครรภ์ ตลอดระยะเวลาการอุ้มท้อง
ทุกช่วงเวลาจากนี้จวบจนถึงการคลอดพบหน้าสมาชิกใหม่ของครอบครัว จึงมีความหมาย

การดูแลครรภ์ ดูแลสุขภาพเพื่อหลีกไกลจากภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ จิตต์เจริญ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้แนะนำว่า ก่อนการตั้งครรภ์ควรเตรียมตัววางแผนไว้แต่เนิ่น ๆ
อีกทั้งการตรวจสุขภาพเตรียมความพร้อมทั้งสามีและภรรยา มีข้อดีหลายด้าน ช่วยคัดกรองไม่ให้เกิดผลเสียไปยัง
ลูกน้อย ทั้งเรื่องของการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะเลือดจางจากโรคธาลัสซีเมีย ฯลฯ

การเตรียมความพร้อมที่ดีก่อนการตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญ นอกจากนี้ ถ้าเกิดการตั้งครรภ์
หากทราบถึงการมาของประจำเดือนครั้งสุดท้ายก็เป็นสิ่งที่ดีมีความจำเป็น
ทั้งนี้เพราะประจำเดือนในครั้งสุดท้ายจะถูกนำมาคาดคะเนวันคลอดคร่าว ๆ ทำให้ทราบถึงอายุครรภ์

“การที่ไม่ทราบประจำเดือนครั้งสุดท้ายจะเป็นปัญหาทำให้ไม่อาจทราบการตั้งครรภ์ว่า เกิดขึ้นนานเท่าใด
ซึ่งสิ่งนี้จะมีผลเสียตามมา ทั้งในเรื่องการคลอดก่อนกำหนดโดยไม่จำเป็นหรือการคลอดเกินกำหนดไป
อีกทั้งยังส่งผลต่อการวางแผนการดูแลการตั้งครรภ์ อย่างการคลอดเกินกำหนดจะส่งผลต่อเด็ก
เด็กจะขาดออกซิเจนในท้อง คลอดออกมาอาจทำให้ตัวเล็ก อาจมีการเสียชีวิตในครรภ์ได้ ฯลฯ”

การดูแลอย่างแรก หลังจากทราบว่าตั้งครรภ์
ควรรีบฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพราะการฝากครรภ์แต่เริ่มแรกไม่เพียงทำให้ทราบอายุครรภ์อย่างแน่นอน
แต่ยังทำให้ทราบถึงภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ จากการตั้งครรภ์ได้ร่วมด้วย

เมื่อมีการตั้งครรภ์ถือว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้วและไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ปกติหรือไม่ปกติก็ตาม
ในครรภ์ที่ปกติถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนถือว่ามีความเสี่ยงสูง
ในความเสี่ยงที่อาจพบเจอมีทั้งในเรื่อง การแท้งบุตร การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์เป็นพิษ ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนต่างเป็นความเสี่ยงที่ต้องใกล้ชิดดูแล

การดูแลครรภ์แต่ละช่วงแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็ต้องใกล้ชิดรู้หลักปฏิบัติสังเกตความผิดปกติ
โดยทั่วไปแบ่งเป็น สามไตรมาส อย่างสามเดือนแรกที่กล่าวมาคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์
เนื่องด้วยช่วงเวลานี้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นหลายด้าน เมื่อมาฝากครรภ์แพทย์จะซักประวัติความเสี่ยงต่าง ๆ
อย่างโรคทางกรรมพันธุ์ การตั้งครรภ์ที่ผ่านมามีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร ในกรณีมารดาที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีหรือ
มีอายุมากกว่า 35 ปีถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง

ช่วงการฝากครรภ์อย่างที่กล่าวจะมีการตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือดหาหมู่เลือดดูภาวะต่าง ๆ
ทั้งโลหิตจาง ตับอักเสบ ฯลฯ เมื่อมีการตรวจดังกล่าวก็จะดูว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือไม่
กรณีที่มีความเสี่ยงสูงแพทย์จะมีการตรวจเฉพาะ มีการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องไป

พอเข้าสู่ ไตรมาสสอง ภาวะแทรกซ้อนจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกกับไตรมาสสาม ในไตรมาสนี้
ภาวะแทรกซ้อนอย่างที่กล่าวมาอาจมีไม่มาก
ถ้าจะมีก็จะเป็นเรื่องของความดันโลหิตสูงอาจจะเริ่มมีบ้างในกรณีที่ครรภ์เป็นพิษ แต่โดยทั่วไปจะพบน้อย
และในไตรมาสนี้ช่วงอายุครรภ์ประมาณ 18-22 สัปดาห์จะมีการอัลตราซาวด์ดูความปกติของเด็ก

จากนั้นพอมาถึง ไตรมาสสาม ภาวะแทรกซ้อนอาจมีเพิ่มขึ้นในภาวะแทรกซ้อนใกล้คลอดที่มักพบจะมีทั้ง
ครรภ์เป็นพิษ ซึ่งมีความอันตรายทั้งแม่และลูก ภาวะครรภ์เป็นพิษในช่วงตั้งครรภ์ หากมีอาการปวดศีรษะมาก
ตาพร่ามัวจุกแน่นหน้าอกต้องรีบพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนยังมีในเรื่อง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด ทารกเติบโตช้า
การตั้งครรภ์เกินกำหนดหรือการตกเลือดก่อนคลอด จากภาวะรกเกาะต่ำ
ส่วนสัญญาณการคลอด นอกจากการบีบตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอแล้ว การเปิดของปากมดลูกเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่
บอกได้ในการบีบตัวของมดลูกผู้ที่กำลังตั้งครรภ์สังเกตถึงสิ่งนี้ แต่หากมดลูกบีบตัวนานอาจทำให้เกิดการเจ็บปวด
ทำให้แม่ต้องทรมานและถ้ากรณีที่เด็กเติบโตช้าน้ำหนักตัวน้อย การบีบตัวนานอาจทำให้เกิดผลเสียต่อเด็กในครรภ์
เสียชีวิตได้ในกรณีที่ทารกขาดออกซิเจนหรือมีภาวะทารกเติบโตช้า ฯลฯ ตลอดช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์
การสังเกตดูแลตนเองอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญและแม้ว่าแพทย์จะดูแลอย่างเต็มที่
แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์ก็ต้องไม่ละเลยสังเกตดูแลตนเองด้วยเช่นกัน อย่างการขยับการดิ้นของทารกในครรภ์ต้องสม่ำเสมอ
สังเกตได้โดยปกติทารกจะดิ้นไม่น้อยกว่า 10 ครั้งในช่วง 12 ชั่วโมง
หากน้อยกว่านี้ควรพบแพทย์ เพราะสิ่งนี้เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกถึงความผิดปกติ

นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ต้องพึงระวังเรื่อง น้ำหนัก ซึ่งหากมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินไป น้อยไป ก็ไม่เป็นผลดี
อย่างน้ำหนักเพิ่มน้อยไป อาจทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็ก ส่วนน้ำหนักแม่เพิ่มมากเกินก็อาจทำให้ครรภ์เป็นพิษ
เกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรืออาจทำให้เด็กตัวโตเกินทำให้เกิดการคลอดยากคลอดลำบาก ฯลฯ
โดยทั่วไปน้ำหนักไม่ควรเพิ่มเกิน 2-3 กิโลกรัมต่อเดือน

การพักผ่อนที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารมีครบ 5 หมู่
จิตใจแจ่มใส ไม่เครียดวิตกกังวลและหากพบสิ่งผิดปกติช่วงใกล้คลอดหรือในขณะตั้งครรภ์ ทั้งภาวะปวดศีรษะบวม
ตาพร่ามัว จุกแน่นหน้าอก มีเลือดออกหรือมีความผิดปกติสิ่งใดก็ตามต้องไม่มองข้าม อย่ารอช้าควรรีบพบแพทย์
เพื่อลดความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งยังช่วยกำจัดความเครียดความวิตกกังวลใจมีความหมายถึงการสร้าง
ความปลอดภัยให้กับคุณแม่และลูกน้อย สุขภาพดีสิ่งที่ทุกคนปรารถนาไม่ว่าจะเป็นด้านใด หากเคร่งครัดปฏิบัติ
ศึกษาดูแลถูกวิธีสิ่งนี้ย่อมเกิดได้

ที่มา เดลินิวส์


Create Date : 15 มีนาคม 2552
Last Update : 5 เมษายน 2555 22:26:32 น. 2 comments
Counter : 1689 Pageviews.

 
ขอบคูณข้อมูลมากค่ะ
เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่มือใหม่คนนี้มาก


โดย: ท้อง20สัปดาห์แล้วค่ะ IP: 222.123.161.78 วันที่: 10 มิถุนายน 2552 เวลา:14:35:45 น.  

 
สวัสดีค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์ค่ะ


โดย: กิ่งลีลาวดี วันที่: 5 สิงหาคม 2552 เวลา:11:32:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.