Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 
16 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
"คลอดก่อนกำหนด" เรื่องที่ต้องระวัง...แต่ไม่ต้องกังวล

ปัจจุบันภาวะเด็กคลอดก่อนกำหนด เป็นปัญหาที่น่าห่วงสำหรับสตรีมีครรภ์ ดูได้จากสถิติในระยะ 3-4 ปี ที่ผ่านมา
มีเด็กทารกแรกเกิดในกรุงเทพฯ ประมาณปีละ 110,000 คน ซึ่ง 1,100 คนหรือคิดเป็น 11%
มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานคือต่ำกว่า 2,500 กรัม และส่วนใหญ่เป็นทารกคลอดก่อน 37 สัปดาห์
หรือที่เรียกว่า “เด็กคลอดก่อนกำหนด” ที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ
เปอร์เซ็นต์ของสตรีตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อ การคลอดทารกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์นั้นมีตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น


รศ.นพ.ประชา นันท์นฤมิต

“รศ.นพ.ประชา นันท์นฤมิต” หัวหน้าหน่วยทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
ให้ข้อมูลถึงถึงปัจจัยเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดว่ามีหลายปัจจัย คือ
เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของตัวคุณแม่เองขณะตั้งครรภ์ เช่น มีครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง
หรือมดลูกมีความผิดปกติ หรือมีการใช้เทคนิคช่วยเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว
เพราะต้องใส่ตัวอ่อนเข้าในมดลูกเผื่อไว้ 3 ตัวอ่อน จากปกติตามธรรมชาติจะมีแค่ 1 ตัวอ่อน
ดังนั้นโอกาสที่ทำให้แม่มีลูกแฝดสูงขึ้น มีผลให้มดลูกของคุณแม่บางคนรับไม่ไหว สุดท้ายต้องคลอดก่อนกำหนด

ทั้งนี้ สถิติของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดโดยน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม
มีอยู่ประมาณ 10% ของจำนวนเด็กที่เกิดในประเทศไทย เด็กเหล่านี้จะมีร่างกายที่ไม่สมบูรณ์
และมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เรื่องปอด เด็กหายใจเองไม่ได้ จะต้องใช้เครื่องออกซิเจน

ปัญหาต่อมาคือ การดูด การกลืนหรือการรับนมต้องผ่านทางท่อเพราะเด็กดูดเองไม่ได้
จุดที่สามคือ เด็กตัวเย็นง่าย เพราะผิวบาง และไขมันน้อย
ดังนั้น เครื่องอบจึงเป็นเสมือนโพรงมดลูกให้เด็ก ช่วยให้ความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม นอกจากการดูแลโดยแพทย์แล้ว คุณแม่หรือคุณพ่อต้องเข้ามามีส่วนร่วมในโรงพยาบาลด้วย
ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงลูก เทคนิคการให้นม การเรอ
การให้ข้าว ท่านอน หรือความผิดปกติด้านอื่นของลูก เพราะเมื่อกลับบ้านจะต้องทำแบบเดียวกันกับที่โรงพยาบาล

และจากที่สอบถาม การอยู่ที่บ้านเป็นภาวะที่คุณแม่กังวลและเครียดมากที่สุด ซึ่งเมื่อเกิดภาวะเช่นนี้
น้ำนมจากตัวแม่จะผลิตได้น้อยลงหรือหยุดไหล เด็กก็จะขาดนม
ดังนั้นก่อนออกจากโรงพยาบาล คุณแม่ต้องพร้อม เด็กต้องพร้อม สภาพแวดล้อมในครอบครัวต้องพร้อมด้วย

“หลังจากกลับบ้าน คุณแม่ และคุณพ่อต้องดู 3 สิ่งคือ
ตัวเด็ก อย่างน้อยเด็กต้องควบคุมอุณหภูมิได้ดี หายใจได้โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน รวมถึงมีน้ำหนักตัวที่ปกติ
จากนั้น ต้องวางแผน การดูแลลูก
และสามคือ สภาพแวดล้อมต้องเหมาะสม เช่น คนในบ้านต้องไม่สูบบุหรี่ สิ่งของในบ้านต้องไม่มีฝุ่น
หรือถ้าลูกมีภาวะปอดเรื้อรัง ไม่ควรพาไปห้องสรรพสินค้า สนามเด็กเล่น หรือสวนสัตว์
เพราะจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้” รศ.นพ.ประชาให้คำแนะนำ

อย่าง ไรก็ดี รศ.นพ.ประชาได้ยำเตือนด้วยว่า น้ำนมแม่เป็นแหล่งอุดมสารอาหารสำคัญ
อย่างน้อยเด็กต้องกินนมแม่ให้ได้ประมาณ 4-6 เดือน
เพราะจะช่วยบำรุงสายตา หลังจากได้รับพิษจากการใช้ออกซิเจน ช่วยบำรุงสมอง
และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อยได้ดีที่สุด


สำหรับความพร้อมของตัวคุณแม่เองนั้น มีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของเด็กหลังคลอดมาก
ถ้าคุณแม่อยู่ในวัยที่เหมาะสม ร่างกายสมบูรณ์ จะทำให้ลูกที่เกิดมามีสุขภาพแข็งแรง
แต่เท่าที่สังเกตเห็นในปัจจุบัน พบว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กวัยรุ่นหรือวัยเรียน
ทำให้ภาวะที่จะตั้งครรภ์ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ส่งให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ง่ายกว่าปกติ

ดังนั้น ทางที่ดี ก่อนจะมีลูกต้องวางแผนให้ชัดเจน ไม่ใช่ตามมีตามกรรม
เพราะถ้าชีวิตเด็กเกิดมาแล้ว มีความพิการ หรือบกพร่องทางร่างกาย หรือระบบสมอง ซึ่งมันไม่คุ้ม
ฉะนั้นการจะมีลูก ภาวะครรภ์ต้องพร้อมและสมบูรณ์
รวมถึงมีการฝากครรภ์ที่ดีและสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยให้ทราบภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้
ที่สำคัญต้องเลือกโรงพยาบาลที่มีความพร้อม โอกาสรอดของเด็กจะสูงขึ้น

รศ.นพ.ประชา ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า
สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะที่จะคลอดก่อนกำหนด ไม่ควรวิตก หรือเครียดจนเกินไป
เพราะระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ สามารถช่วยให้เด็กมีโอกาสคลอด และรอดสูงขึ้น
โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด (ต่ำกว่า 2,500 กรัม)
ในรพ.รามาฯ เอง เด็กประมาณ 85-90% มีโอกาสรอดสูงมาก


“คุณแม่นัท”กับ “ลูกกัญจน์”

ด้าน“คุณแม่นัท” หรือ “กาญจนสรณ์ แสงบัว” อายุ 40 ปี คุณแม่ลูก 2 ผู้เข้ามาร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์ครอบครัว
ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดโดยหน่วยทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และงานสังคมสงเคราะห์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นคุณแม่ตัวอย่างในการเลี้ยงดูลูกที่คลอดก่อนกำหนด เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า
ตอนอายุประมาณ 29 ปีอยากมีลูกมาก แต่ด้วยความเป็นคนมีลูกยาก จึงตัดสินใจผสมเทียม แต่ไม่สำเร็จ
จึงปล่อยให้ท้องว่างไป 6 ปี จนกระทั่งอายุ 35 ปีจึงประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์
และเข้าฝากครรภ์ให้หมอดูแลทุกเดือน ซึ่งกาญจนสรณ์ก็รู้อยู่ก่อนแล้วว่าต้องคลอดก่อนกำหนด
เพราะหมอบอกว่าโพรงมดลูกหนา ทำให้มดลูกบีบตัวเร็ว หลายเดือนผ่านไป จนน้ำคร่ำแตก ปากมดลูกเปิดปกติ
แต่เด็กที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวเพียง 700 กรัม ตอนนั้นคุณหมอบอกว่า ลูกไม่รอดแน่นอน

“ตอนแรกคิดว่าลูกไม่รอดแล้ว เพราะมีน้ำหนักตัวเพียง 700 กรัม ผนวกกับมีเส้นเลือดในสมองตีบตัน
ต้องเจาะเส้นเลือด นอกจากนี้ยังมีอาการท้องอืด ลำไส้เน่า ต้องตัดออกไป 13 ซ.ม. จากนั้นต้องเข้าตู้อบ
และให้ออกซิเจนอยู่นานถึง 6 เดือน 12 วัน อยากอุ้มใจจะขาด แต่ก็อุ้มไม่ได้” คุณแม่นัทเล่าด้วยสีหน้าไม่สบายใจ

แต่ด้วยความรัก และการดูแลเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู ที่เน้นเรื่องความสะอาด
ขณะนี้ “น้องกัญจน์” มีอายุได้ 4 ปีเต็มแล้ว สุขภาพ ร่างกายแข็งแรงดีทุกอย่าง แถมซนอีกต่างหาก
แต่เพราะพิษการใช้ออกซิเจนเพื่อช่วยหายใจเพื่อแลกกับชีวิตลูก
ทำให้สายตาของน้องกัญจน์มีความบกพร่องจนไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ถึงแม้ว่าลูกจะเสียสายตาไป
ผู้หญิงที่เธอเรียกตัวเองว่าแม่คนนี้บอกว่า เธอพร้อมที่จะเป็นสายตาให้กับลูกได้เสมอ
และหลังจากคลอดลูกคนแรก ปีต่อมาเธอก็เกิดตั้งท้อง และคลอดน้องสาวอีกคนออกมา

ก่อนที่เธอจะพาลูกไปกินข้าวเที่ยง เธอฝากทิ้งท้ายว่า
วันนี้มีความสุขมาก ที่ได้พบปะกับครอบครัวที่มีลูกอยู่ในกลุ่มเดียวกับเธอ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างกัน
และอยากจะบอกไปยังคุณพ่อ คุณแม่ที่มีลูกคลอดก่อนกำหนดว่า
อย่าท้อใจ เพียงขอให้ใช้ความรัก และความเป็นครอบครัว ในการเลี้ยง และบำบัดลูกให้ดีที่สุด
เพราะคุณหมอบอกเสมอว่า ลูกเราจะหายได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับครอบครัวเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ หากคุณพ่อ คุณแม่ท่านใด มีปัญหา หรือข้อสงสัยเกี่ยวกับลูกที่คลอดก่อนกำหนด
ปรึกษาได้ที่ หน่วยทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร.02-201-1816


ที่มา : //www.manager.co.th





Create Date : 16 มกราคม 2553
Last Update : 16 มกราคม 2553 12:03:13 น. 0 comments
Counter : 1902 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.