Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
4 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
4 เหตุบั่นทอนจิตใจเด็ก



ความคาดหวังของพ่อแม่ที่หวังให้ลูกเรียนเก่ง เรียนดี และมีความสุขในการเรียน
เป็นอุปสรรค์สำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน

โดยเฉพาะเมื่อตอนที่เด็กยังเล็ก อาจจะดูมีพัฒนาการที่ดี ฉลาดเฉลียวสมวัย
เมื่อเข้าสู่โรงเรียนผู้ปกครอง จึงคาดหวังให้ลูกทำได้ไม่น้อยกว่าเพื่อน
แต่เมื่อไหร่ที่เด็กทำไม่ได้ตามความคาดหวัง เช่น อ่านหนังสือไม่ได้สักที เขียนพยัญชนะก็ผิดซ้ำๆ
จนกระทั่งครู พ่อแม่ ก็ทุกข์ใจคิดไปว่าเด็กไม่พยายาม หรือ"โง่"......

ปัญหาเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง จะบั่นทอนความเข้มแข็งทางจิตใจ ทำให้เด็กรู้สึกเก็บกด ทุกข์ใจ
ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ไม่เคารพผู้ใหญ่ ไม่สนใจคนรอบข้าง
ไม่สนใจการเรียน ผลการเรียนตกต่ำ หันเข้าหาอบายมุขและสิ่งเสพติด และไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข...!!!

จากการติดตามสถานการณ์ความเข้มแข็งด้านจิตใจเด็กไทยวัยเรียน อายุระหว่าง 6-11 ปี
ที่กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้แบบประเมินจุดแข็ง
และจุดอ่อน(SPQ) ในเด็กจำนวน 1,732 คน ดำเนินงานผ่าน 16 ศูนย์เรียนรู้
พบ 4 ปัญหาด้านอารมณ์ และจิตใจที่เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน
อันดับ 1 ร้อยละ 73.9 คือ ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน
อันดับ 2 ร้อยละ 29.6 คือ ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว
อันดับ 3 ร้อยละ 27.8 คือ ปัญหาสมาธิสั้นอยู่ไม่นิ่ง
และสุดท้ายอันดับ 4 ร้อยละ 13.9 คือ ปัญหาด้านอารมณ์


ทั้งที่ความจริงแล้วเด็กทุกคนต่างมีจุดเด่นของตัวเอง การค้นหาความสามารถของตัวเองให้เจอ
จึงเป็นสิ่งที่เด็กควรได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่
เพื่อช่วยให้เขาเรียนรู้ ที่จะใช้ความสามารถที่มีอยู่ในตัวเองได้อย่างสร้างสรรค์
เด็กบางคนอาจไม่เก่ง คณิตศาสตร์ แต่อาจเก่ง ดนตรี กีฬา ศิลปะ งานฝีมือ หรือการเลี้ยงสัตว์ ดูแลต้นไม้
พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรส่งเสริมให้เขาได้ทำในสิ่งที่ถนัด เพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจในตนเอง


ขณะเดียวกัน เด็กที่เรียนไม่เก่งมักจะแสดงออกเพื่อให้คนสนใจ
หากให้ความสนใจกับพวกเขามากขึ้น ก็จะทำให้เขามีกำลังใจมีความพยายามมากขึ้น
คนที่ดูแย่ก็จะกลับตัวเป็นคนดี และจะเป็นคนดีแบบน่าใจหาย และจะมี EQ สูง


นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า
กรมสุขภาพจิต ได้ร่วมกับ สสส. พัฒนาเครื่องมือวัดต้นทุนชีวิตเด็กวัยเรียน
และสำรวจปัจจัยที่ส่งผลต่อความเข้มแข็งทางจิตใจเด็กวัยเรียน 1,080 คน ใน 4 ภาค
ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้รวม 9 จังหวัด
เพื่อหาแนวทางพัฒนาไอคิว และอีคิวของเด็กได้อย่างตรงจุด
พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กไทยมีความเข้มแข็งทางจิตใจในระดับมาก คือ ร้อยละ 59.1
เกิดจากความสามารถในตัวเองการเห็นคุณค่าในตัวเอง และการมีความมุ่งมั่น

ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่ช่วยเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจของเด็ก ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับปานกลาง คือ ร้อยละ 52.8
เกิดจากประสบการณ์ที่ดีจากครอบครัว จากเพื่อน จากโรงเรียน และจากชุมชน


"ต้นทุนชีวิต"
เป็นต้นทุนขั้นพื้นฐานมีผลต่อการพัฒนาด้านจิตใจ สังคม สติปัญญาให้คนๆ หนึ่ง
สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง

ต้นทุนชีวิตเป็นปัจจัยสร้าง หรือปัจจัยเชิงบวกทางด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม
ที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเจริญเติบโต และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้
ถ้าพิจารณาจากมุมมองของเด็ก ที่มีต่อปัจจัยเสริมความเข้มแข็งด้านจิตใจ ที่มาจากภายในตนเองในแต่ละด้าน
พบว่า ด้านคุณค่าของตน ร้อยละ 92.0 และด้านสติปัญญาการเรียนรู้ ร้อยละ 67.8

ส่วนปัจจัยเสริมจากภายนอกหรือจากสิ่งแวดล้อม เด็กประเมินว่า
ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ร้อยละ 61.5
จากเพื่อนและจากโรงเรียน ร้อยละ 58.6 ในขณะที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนเพียงร้อยละ 54.5
โดยเด็กประเมินว่าปัจจัยเสริมความเข้มแข็งด้านจิตใจ ที่เขาได้มากที่สุดมี 5 อันดับได้แก่
1. การสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัว
2. การถูกสอนเรื่องความซื่อสัตย์
3. การถูกสอนให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง มีจุดยืนที่ชัดเจน
4. การถูกสอนเรื่องความรับผิดชอบ
และ 5.การมีเป้าหมายชีวิตและมองโลกในแง่ดี

ผลการประเมินชี้ ว่า ต้นทุนชีวิตของเด็ก ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมความเข้มแข็งด้านจิตใจและอารมณ์
ที่เด็กได้รับจากภายนอกหรือจากสิ่งแวดล้อมอยู่แค่ระดับกลางๆ เท่านั้น
จึงสะท้อนได้ว่า เด็กไทยควรได้รับการสนับสนุนให้มากกว่านี้
ซึ่งเด็กประเมินว่าตนเองมีน้อย และต้องการได้รับมากขึ้น ได้แก่
1. การได้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทั้งที่บ้านและในชุมชน
2. การมีกิจกรรมสันทนาการนอกหลักสูตรมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ชั่วโมง/สัปดาห์
3. การมีส่วนร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาหรือสาธารณบำเพ็ญตั้งแต่ 1 ครั้ง/สัปดาห์
4. การมีส่วนร่วมทำกิจกรรมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนมากกว่าหรือเท่ากับ2 ชั่วโมง/สัปดาห์
และ 5. ครอบครัวควรมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน มีเหตุผล และมีการติดตามจากครอบครัว



พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผอ.สถาบันราชานุกูล บอกว่า
ในส่วนของครอบครัว การดูแลเด็กยุคปัจจุบันยังค่อนข้างเป็นมรสุมสำหรับผู้ปกครองพอสมควร
เพราะบางครอบครัวอาจยังไม่มีทักษะ หรือไม่รู้ว่าจะทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็ก
ไม่รู้ว่าการทำกิจกรรมอะไร ที่จะเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ดีๆ และช่วยพัฒนาเด็ก
ผู้ปกครองจึงควรมีกิจกรรมหรือวิธีการสอนการอบรมดูแลลูกในด้านต่างๆ เพื่อให้เขาเข้มแข็งขึ้น

ขณะที่ปัจจัยจากชุมชน พบว่า เป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ แม้ว่าชุมชนจะได้ให้ความสำคัญในเรื่องเด็ก
แต่ไม่มีทิศทางในการดำเนินการ เพื่อจะทำอะไรที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญ และเน้นไปในเชิงวัตถุ โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการทางด้านจิตใจของเด็ก
เช่น การสร้างลานกีฬา แต่ต้องไม่ใช่เพียงแค่เทปูนซีเมนต์ลงไป

"ชุมชนมักจะลงทุนในรูปของวัตถุก่อน ซึ่งก็ดีในระดับหนึ่ง
แต่สิ่งที่เด็กต้องการมากที่สุดก็คือ กิจกรรมสำหรับเด็กที่เป็นประโยชน์และจัดอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อเด็กมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ในชุมชน จะช่วยดึงเด็กออกจากร้านเกมหรือแหล่งมั่วสุมต่างๆ ได้
ตรงจุดนี้ชุมชนจะช่วยครอบครัวได้มาก
ในชุมชนต้องมองว่าเด็กคือลูกหลานของเรา จึงควรมีการส่งเสริมให้เด็กได้รวมกลุ่มเล่นกัน
เพราะความสัมพันธ์กับเพื่อน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็ก
ไม่ใช่ให้เด็กใช้ชีวิตตามลำพัง แต่ต้องได้ใช้ชีวิตทางสังคมด้วย" พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณ พิมล กล่าวอีกว่า การเรียนในหนังสือเพียงอย่างเดียว จะไม่สอนประสบการณ์ชีวิตให้แก่เด็กได้ทั้งหมด
เด็กต้องการกิจกรรมการเรียนรู้ตามที่เด็กสนใจ ในปัจจุบันการเน้นกิจกรรมในเด็กกำลังจะหายไป
ทั้งนี้เด็กบางคนอาจไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนตามหลักสูตร
แต่เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านตัวกิจกรรมได้ การเรียนจึงเป็นแค่พลังด้านเดียว

ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ทั้ง 3 ปัจจัย จะเป็นพลังในการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับเด็ก...
เชื่อว่าเด็กทุกคนมีความมหัศจรรย์ในตัวอยู่แล้ว
โจทย์สำคัญของ คุณพ่อ คุณแม่ โรงเรียน และชุมชน จะต้องช่วยผลักดันสิ่งมหัศจรรย์ในตัวเขาออกมา
โดยให้เด็กได้มีโอกาสคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง

ด.ญ.อุษา ศรบุญทอง ตัวแทนเยาวชนจาก รร.พิบูลประชาสรรค์ กล่าวว่า
การที่เด็กจะสามารถเห็นคุณค่าในตนเอง มีความศรัทธาและเชื่อมั่นในตนเองได้นั้น
จะต้องได้รับการสนับสนุนจาก คุณพ่อ คุณแม่ สังคม และชุมชนรอบด้าน ที่คอยช่วยเหลือให้กำลังใจ
และรับฟังความคิดเห็นของเด็ก
และเด็กจะเป็นคนดีได้ ต้องได้เห็นได้สัมผัสความรักความเอื้ออาทร และความซื่อสัตย์
ทุกวันนี้อยากให้ทุกคนรักกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และไม่แบ่งชนชั้น ทุกคนจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข

ในความเป็นจริงสังคมไทย ยังมีเด็กที่มีความสามารถอยู่อีกมากที่ไม่ได้รับโอกาส
และการส่งเสริมให้ได้แสดงศักยภาพ หรือความมหัศจรรย์ที่มีอยู่ในตัวของเขาออกมา
ขอเพียงแต่ครอบครัว โรงเรียนและชุมชน ได้ช่วยกันเติมเต็มต้นทุนชีวิตให้กับเด็ก
สนับสนุนและให้โอกาส หรือสร้างพื้นที่ให้เขาได้แสดงพลังความสามารถไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมศักยภาพ
เด็กก็จะมองเห็นและยอมรับในคุณค่าที่มีอยู่ในตัวเอง มีความเข้มแข็งทางจิตใจและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
และเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต


ข้อมูลโดย : //www.naewna.com
ที่มา : //www.thaihealth.or.th
ภาพจาก : //www.wta.org


สารบัญแม่และเด็ก




Create Date : 04 กรกฎาคม 2553
Last Update : 4 กรกฎาคม 2553 20:31:50 น. 0 comments
Counter : 1133 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.