Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
11 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 

โต๊ะอาหาร…สู่การเรียนรู้แสนสนุก



หนูรู้หรอกน่าว่าพอถึงวัยรู้มากแบบนี้
จากที่คุณแม่เคยภาคภูมิใจว่าทำอะไรมา ลูกก็หม่ำได้หมดทุกอย่าง กลายเป็นเริ่มหมดความมั่นใจ
เพราะหนูจะส่ายหัวปฏิเสธ หรือไม่ก็กินบ้างเล่นบ้าง จนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด

ก็ช่วงนี้หนูเริ่มเป็นตัวของตัวเองแล้วนี่จ๊ะ มีความคิดเป็นของหนูแล้วนะ
ที่สำคัญช่างเลือกมากขึ้น หิวน้อยลง (เพราะมัวแต่เล่น) ประจวบเหมาะกับพัฒนาการทางร่างกายของหนู
ที่หยิบช้อนเองได้ รู้จักเลียนแบบ รู้จักป้อนอาหารเอง (แม้จะหกเลอะเทอะไม่น่าดู) ได้แล้ว
แม่จึงเห็นว่า เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ไม่ชอบให้แม่อุ้มนั่งบนตัก แล้วป้อนข้าวให้เหมือนเคย

แต่ถ้าแม่ลองเปลี่ยนความหงุดหงิดน้อยใจ มาเป็นการหาเทคนิคใหม่ๆ ให้หนูสนุกกับมื้ออาหาร
และพาหนูท่องโลกแห่งการกินแบบสนุกๆ ได้สาระ จะดีกว่าเลยล่ะจ้ะ


โต๊ะอาหาร…ตำราบทใหม่

พอหนูเริ่มเติบโตพ้นขวบปีแรกไปแล้ว พ่อและแม่ควรให้ความสำคัญกับมื้ออาหารของหนู
ไม่ใช่แค่ชนิดของอาหาร แต่ต้องเป็นกิจกรรมและรูปแบบในการกินอาหารด้วย
ที่สำคัญคือ ควรให้หนูนั่งกินอาหารร่วมโต๊ะกับพ่อแม่ได้แล้ว
อย่าคิดว่าหนูยังเด็กหรือมองว่า หนูทำให้พ่อแม่เสียเวลาแล้ว
เลยตัดปัญหาด้วยการจับหนูนั่งตักแล้วป้อนอาหารม้วนเดียวจบ
แบบนี้ออกจะใจร้ายไปหน่อยนะ เพราะการกินอาหารร่วมโต๊ะพร้อมสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว
นับว่าเป็นตำราบทใหม่ที่น่าสนใจของหนูเลยล่ะจะบอกให้

ที่สำคัญ ผศ.จงจิต อังคทะวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาอาหารและเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เคยให้สัมภาษณ์สนับสนุนหลักการนี้ไว้ว่า
" การหัดให้ลูกนั่งกินอาหารร่วมโต๊ะกับพ่อแม่ เป็นการเน้นเรื่องความรับผิดชอบตัวของเขาเอง
ไม่ใช่ต้องให้ใครอ้อนวอนให้กิน หรือเดิมตามป้อนไปทั่วบ้าน กว่าจะกินข้าวเสร็จชามหนึ่งยากเย็นแสนเข็ญ
เด็กจะรู้สึกว่าเขาจะเป็นฝ่ายที่ได้รับความสนใจ และสามารถเรียกร้องทุกอย่างได้ตลอดเวลา "

อ้าว พ่อแม่คนไหนเข้าข่ายวิ่งตามป้อนข้าวลูกไปทั่วบ้าน พิจารณาตัวเองด่วนจ้า…


บทเรียนสำคัญๆ ที่หนูจะได้จากโต๊ะอาหาร พอจะสรุปได้ดังนี้ค่ะ

* โต๊ะอาหาร…ช่วยให้หนูรู้จักช่วยเหลือตัวเอง
* โต๊ะอาหาร…ช่วยให้หนูได้พัฒนาความแข็งแรงของนิ้ว
* โต๊ะอาหาร…ช่วยให้หนูได้เห็นและทำความรู้จักกับอาหารที่หลากหลายชนิด
* โต๊ะอาหาร…ช่วยให้หนูได้รู้จักตัดสินใจเลือกว่าชอบหรือไม่ชอบอาหารอะไร ด้วยตัวของตัวเอง
* โต๊ะอาหาร…ช่วยให้หนูรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
ถึงมื้ออาหารก็จะได้กินอาหารเหมือนๆ กับคนอื่น ได้พัฒนาสังคม ระหว่างตัวเองกับสมาชิกในครอบครัว
และเป็นพื้นฐานทักษะทางสังคม ไปสู่สังคมภายนอกด้วย

* โต๊ะอาหาร…ช่วยให้หนูรู้สึกสนุกและมีทัศนคติที่ดีต่อการกินอาหาร
* โต๊ะอาหาร…ช่วยให้หนูค่อยๆ เรียนรู้กฎกติกามารยาทบนโต๊ะอาหาร ได้ตั้งแต่ตัวน้อยๆ
* โต๊ะอาหาร…ช่วยให้หนูได้เห็นวิธีการกินของคนอื่นๆ ทำให้หนูรู้จักที่จะเลียนแบบได้


เทคนิคจูงใจ…ร่วมมื้ออร่อย

* อย่าให้โต๊ะอาหารมีบรรยากาศที่เคร่งเครียด จริงจัง มีระเบียบวินัยที่เคร่งครัดเกินไป
แต่ก็อย่าให้อึกทึกครึกโครม สนุกสนานจนเกินเหตุ บรรยากาศโต๊ะอาหารควรสงบสักนิดอบอุ่นสักหน่อย

* ผ้าปูโต๊ะสีสวยๆ ดอกไม้งามกลางโต๊ะ รวมทั้งอาหารสีสันชวนหม่ำ คงทำให้หนูตื่นตาตื่นใจมากขึ้น

* ให้หนูมีที่นั่งเป็นสัดส่วนของตัวเอง (ไม่ใช่จับหนูไปนั่งอยู่บนตักแม่ตลอดเวลา) มีจาน
มีช้อนและแก้วน้ำเป็นสัดส่วนของตัวเองเช่นกัน (ชามของเด็กไม่จำเป็นต้องใบเล็กเสมอไป
เพราะชามใบใหญ่อาจช่วยทำให้อาหารหกเลอะเปรอะเปื้อนน้อยลงก็ได้นะ)

* อนุญาตให้หนูเอื้อมตักอาหารที่อยากลองชิมด้วยตัวเองบ้าง (แม้จะหกเลอะเทอะ)
* อนุญาตให้หนูใช้มือหยิบจับของกินได้บ้าง เพราะจะทำให้หนูอร่อยขึ้นอีกเยอะเลย
* วางอาหารที่หนูชอบเป็นพิเศษไว้ใกล้มือหนูสักหน่อย จะได้หยิบคว้าได้ง่ายๆ

* พ่อแม่อย่าลืมเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกด้วย อยากปลูกฝังการกินเรื่องอะไร เวทีนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดเลย
เช่น ถ้าอยากให้หนูกินผัก แม่กับพ่ออาจจัดเมนูผัก ร่วมโต๊ะทุกมื้อ
ให้หนูคุ้นชินกับบรรยากาศแบบผักๆ อีกหน่อยหนูก็คุ้นเคย และนึกสนุกอยากชิม อยากลองบ้าง

* รสชาติของอาหารควรหลากหลาย และไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง ควรมีรสชาติกลางๆ กลมกล่อม
* อาหารควรมีความหลากหลาย นิ่มบ้าง แข็งบ้าง ดิบบ้าง (ผัก) สุกบ้าง ยุ่ยบ้าง หนึบเหนียวบ้าง ฯลฯ
* อาหารสำหรับหนูวัยขวบปีขึ้นไป ควรมีลักษณะคล้ายอาหารผู้ใหญ่ได้แล้ว เพียงแต่นิ่มมากกว่าสักหน่อย
* สำหรับหนูอย่าให้อาหารมื้อนั้นยาวนานเกินไป ไม่เช่นนั้นหนูจะเบื่อได้ง่าย (แต่ต้องไม่ใช่การยัดเยียดให้กินเร็วๆ กินมากๆ นะ)
* พ่อกับแม่ต้องยึดหลักการไว้ 2 ข้อและท่องให้ขึ้นในคือ
อยากให้ลูกกินอาหาร ด้วยความชอบที่จะกิน และอยากให้ลูกกินอาหารอย่างมีอิสระ




อย่าลืมว่า

* ไม่ควรคะยั้นคะยอหรือบีบบังคับให้ลูกกินอาหารที่ไม่ต้องการ ทางที่ดีต้องหาเทคนิคจูงใจใหม่ๆ
หรือถ้าลูกไม่หิว แต่ถึงเวลานั่งโต๊ะอาหารแล้ว ก็ต้องยอมให้แกกินบ้าง เขี่ยอาหารเล่นบ้าง

* ยอมให้ลูกกินอาหารด้วยตัวเอง เปรอะเปื้อน เลอะเทอะบ้างก็ต้องยอมล่ะค่ะ
แต่ก็ป้องกันได้ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เอี๊ยมสำหรับเด็ก ผ้าปูโต๊ะพลาสติก เก้าอี้สำหรับเด็ก (HIGHCHAIR)
จานและช้อนของเด็ก
(ถ้าเป็นจานสุญญากาศก็จะยิ่งดีใหญ่ เพราะลูกจะไม่สามารถเคลื่อนย้ายจานไปซนที่ไหนได้เลย)

* ถ้าเป็นไปได้ เมื่อถึงมื้ออาหาร (หลัก) ของลูก อนุญาตให้ลูกร่วมโต๊ะอาหารทุกครั้ง
และสมาชิกในครอบครัวก็ควรร่วมกินอาหารไปพร้อมกับลูกด้วย

* ถึงแม้จะมีอาหารที่หลากหลายบนโต๊ะ
แต่ก็ต้องกันหรือวางอาหารที่ไม่เหมาะกับเด็ก ไว้ให้ห่างจากมือลูกสักหน่อย

* และแม้ลูกจะกินอาหารหลัก 3 มื้อ แบบผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังคงต้องให้นม เป็นอาหารเสริมที่สำคัญอยู่เช่นเดิม
แต่อาจลดปริมาณลงตามสัดส่วนที่เหมาะสม


และวันนี้…บ้านไหนที่ยังไม่เคยพาเจ้าตัวน้อยนั่งโต๊ะอาหารร่วมกันในครอบครัว
ลองนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปใช้ แล้วจะรู้ว่าหนูๆ ของคุณพ่อคุณแม่สนุกสนาน มีความสุข ความภูมิใจแค่ไหน
ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ที่สำคัญพ่อกับแม่ก็จะได้กินข้าว พร้อมหน้ากันสักที ไม่ต้องผลัดเวรกันเลี้ยงลูก
อาหารมื้อนี้ก็จะไม่วุ่นวาย หรือดูหงอยเหงาอีกต่อไปแล้วล่ะค่ะ


ข้อมูลโดย นิตยสารดวงใจพ่อแม่ ปีที่ 6 ฉบับที่ 65
ที่มา : //www.elib-online.com

ภาพจาก :
//247moms.blogspot.com
//www.steadyhealth.com


สารบัญแม่และเด็ก




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2553
0 comments
Last Update : 11 กรกฎาคม 2553 10:42:49 น.
Counter : 1182 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.