Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 
24 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 

ลูกจาก "เด็กหลอดแก้ว" รู้ว่าได้มายาก แต่อย่าเลี้ยงแบบเอาใจมากเกิน

ลูกจาก "เด็กหลอดแก้ว" รู้ว่าได้มายาก แต่อย่าเลี้ยงแบบเอาใจมากเกิน

ลักษณะรูปกายภายนอกของเด็กหลอดแก้ว ดูแล้วไม่มีอะไรแตกต่างจากเด็กธรรมดาทั่วๆไป
แต่ความรู้สึกนึกคิดและจิตใจย่อมไม่มีใครเหมือนใครแน่นอน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูเป็นสำคัญ
เช่นเดียวกันทั้งเด็กหลอดแก้วและเด็กปกติธรรมทั่วไป
ใช่ว่าจะมีคู่มือเฉพาะสำหรับพ่อแม่ ที่ให้กำเนิดลูกจากเทคโนโลยีการแพทย์ เพื่อทำเด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้ว มักเป็นทางเลือกหนึ่งของครอบครัวที่ภรรยาประสบปัญหาในการตั้งครรภ์
หลายคนทำแล้วประสบผลสำเร็จ ตั้งครรภ์ได้และคลอดบุตรในที่สุด แน่นนอนว่าความตื่นเต้นตื้นตันใจ
ย่อมบังเกิดขึ้นกับทุกคนในครอบครัวที่ต่อไป ต้องให้การเลี้ยงดูทารกน้อยนี้จนเติบใหญ่
หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า เด็กหลอดแก้วต้องได้รับการดูแลอย่างดีเป็นพิเศษ กว่าเด็กที่เกิดจากวิธีธรรมชาติ
และการเลี้ยงดูที่ดีเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเด็ก ซึ่งไม่ต่างอะไรกับปัญหาที่เด็กถูกพ่อแม่ตามใจมากเกินไป

ลูกจาก "เด็กหลอดแก้ว" รู้ว่าได้มายาก แต่อย่าเลี้ยงแบบเอาใจมากเกิน

รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ได้ให้คำแนะนำในการเลี้ยงดูบุตรต่อครอบครัวที่มีลูก โดยการทำเด็กหลอดแก้ว ระหว่างการเสวนาเรื่อง
"พัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ที่กำเนิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์"
ในงาน "20 ปี เด็กหลอดแก้วไทย" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2550 ณ ตึกนวมินทราชินี-ตึกคัคณางค์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่เป็นการรวมพบปะสังสรรค์กันของเด็กหลอดแก้วกว่า 200 ครอบครัว ทั่วประเทศ

"เด็กหลอดแก้วจะมีความพิเศษกว่าเด็กทั่วไปตรงที่ พ่อแม่และครอบครัวของเด็กจะเลี้ยงดูเป็นอย่างดี
เพราะเห็นว่ายากลำบากแค่ไหนกว่าจะได้ลูกคนนี้มา
ทำให้พ่อแม่รวมทั้งปู่ย่าตายายและญาติๆ ต่างก็ให้ความสำคัญและดูแลเอาใจใส่อย่างดี
เด็กจึงเติบโตมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล"
รศ.พญ.จันท์ฑิตา ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวช กล่าว


"แต่ในทางกลับกัน เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีมากเกินไป อาจส่งผลให้เป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ซน ก้าวร้าว
และไม่ยอมเชื่อฟัง เพราะฉะนั้นต้องเลี้ยงลูกแบบทางสายกลาง" รศ.พญ.จันท์ฑิตา ให้คำแนะนำและเน้นว่า
หากเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่จะต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย และให้สิ่งที่เหมาะสมแก่เด็ก
ให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ไม่ควรตามใจทุกเรื่อง ต้องตอบสนองอย่างพอเหมาะพอควร

ทั้งนี้ รศ.พญ.จันท์ฑิตา กล่าวว่า เด็กจะมีความฉลาดอยู่ในตัว เด็กจะรู้ว่าถ้าเขาอยากได้อะไร
เขาควรจะขอจากใครจึงจะเป็นผล ซึ่งหากพ่อแม่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันก็ไม่ควรถกเถียงกันต่อหน้าลูก
ควรคล้อยตามกันไปก่อนแล้วหาเวลาปรึกษากันภายหลังจะเป็นการดีกว่า
เพื่อที่เด็กจะได้เข้าใจเหตุผล มากกว่าในเวลาที่เห็นความขัดแย้งของพ่อและแม่

เด็กอาจร้องไห้งอแงเป็นการใหญ่เมื่อถูกขัดใจ และเชื่อว่าพ่อแม่หลายคนเคยเจอกรณีแบบนี้
รศ.พญ.จันท์ฑิตา จึงแนะว่า
หากลูกเริ่มร้องไห้งอแงซึ่งเด็กบางคนอาจอาจถึงขั้นลงไปดิ้นเร่าๆ กับพื้นเลยก็มีไม่น้อย
เมื่อเจอปัญหาแบบนี้พ่อแม่หลายคนใจอ่อน ไม่อยากให้ลูกร้องไห้เลยต้องโอนอ่อนในที่สุด
อย่างนี้จะทำให้เด็กเคยตัวและเอาแต่ใจ ซึ่งอาจส่งผลกับพัฒนาการของเด็ก
ดังนั้นผู้เป็นพ่อเป็นแม่ต้องใจแข็งเข้าไว้ เมื่อผ่านไปสัก 3-4 วัน เด็กก็จะเลิกงอแงไปเอง
และจะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ดังคำที่ว่า "เมื่อน้ำตาหยาดสุดท้ายแห้งสลาย เด็กจะพัฒนา"


อีกประการหนึ่ง พ่อแม่ควรปลูกฝังระเบียบวินัยให้ลูก ตั้งแต่เมื่อเริ่มพูดคุยรู้เรื่อง รศ.พญ.จันท์ฑิตา ให้คำแนะนำว่า
เมื่อลูกทำดีก็มีรางวัลให้ ซึ่งอาจเป็นของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ให้ดาวกระดาษเป็นรางวัล
แต่เมื่อเด็กทำผิดก็ให้ลงโทษ เช่น ไม่ให้ขี่จักรยาน หรือไม่ให้ดูโทรทัศน์ เป็นต้น
และไม่แนะนำให้ลงโทษลูกโดยการตีเด็ดขาด ขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย
และหากจำเป็นต้องตีก็ไม่อยากให้ใช้อุปกรณ์ ให้ใช้มือตีฝ่ามือพร้อมทั้งอธิบายเหตุผลให้ลูกฟังด้วยว่า
เพราะอะไรเขาจึงถูก ตี ที่สำคัญต้องไม่ตีด้วยอารมณ์

"พ่อแม่ควรมีการวางกฎกติกา ให้ลูกปฏิบัติ มีกรอบชัดเจน ทำดีมีรางวัลให้ ทำผิดก็ต้องลงโทษ
ควรปลูกฝังระเบียบวินัยตั้งแต่เล็ก และเมื่อลูกโตประมาณวัยประถมปลายก็ให้เขามีส่วนร่วมในการวางกฎด้วย
เพื่อเด็กจะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับเขาเกินไป ลูกจะได้ไม่ต่อต้านและเต็มใจที่จะปฏิบัติตามกฎนั้น"
รศ.พญ.จันท์ฑิตา แนะนำ ซึ่งพ่อแม่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้กับลูกของตนเอง
ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ช่วยในการตั้งครรภ์หรือเด็กหลอดแก้วเท่านั้น

ลูกจาก "เด็กหลอดแก้ว" รู้ว่าได้มายาก แต่อย่าเลี้ยงแบบเอาใจมากเกิน


ด้านนายเชวงศักดิ์และนางไขนภา ศรีสหบุรี เปิดเผยเคล็ดลับการเลี้ยงดูลูกชายคือ
นายปวรวิทย์ ศรีสหบุรี หรือ มิ้ง เด็กหลอดแก้วคนแรกของประเทศไทย ปัจจุบันมีอายุ 20 ปี
และกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางไขนภา เล่าว่า ได้เลี้ยงดูเอาใจใส่ลูกเป็นอย่างดี ให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำและเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี
สิ่งไหนไม่ดี ไม่ถูกต้องก็ห้ามปราม ทั้งนี้ มิ้งยังมีน้องชายอีก 1 คน ซึ่งเกิดด้วยวิธีธรรมชาติ
ซึ่งครอบครัวศรีสหบุรีเลี้ยงดูทั้ง 2 คนอย่างดีไม่แตกต่างกัน

"เราเคยถูกเลี้ยงมาดีอย่างไร เราก็เลี้ยงเขาดีอย่างนั้น ไม่ได้มีความพิเศษอะไรเลย
เราให้ความรักและเอาใจใส่เขาเป็นอย่างดี อบรมสั่งสอนโดยเน้นให้เขาเป็นคนดีของสังคม
ส่วนรูปแบบการดำเนินชีวิตหรือทำกิจกรรมก็แล้วแต่เขา ให้เขาได้เลือกเอง
อะไรก็ได้แต่ขอให้เป็นคนดีเท่านั้นพอ โชคดีที่เขาเป็นเด็กดีและขยัน เลี้ยงไม่ยากเลย" นายเชวงศักดิ์ กล่าว

สุดท้าย รศ.นพ.อัมพล สูอำพัน อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็ก แนะเคล็ด (ไม่) ลับให้แก่พ่อแม่ทุกคนว่า
"เลี้ยงลูกให้ได้เหมือนอย่างที่คนขายส้มตำและยายเป็นคนเลี้ยง" เป็นการเลี้ยงลูกแบบไม่ประคบประหงม
จะช่วยฝึกให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรงและแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็เป็นผู้มีจิตใจงอกงามดี


ข้อมูลโดย :
//www.thairath.co.th
//www.manager.co.th

ที่มา :
//www.vibhavadi.com
//women.sanook.com


สารบัญแม่และเด็ก




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2553
0 comments
Last Update : 24 พฤษภาคม 2553 21:44:55 น.
Counter : 1589 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.