All Blog
"สศก.-FAO" ประยุกต์ข้อมูลอากาศสร้างภูมิคุ้มเกษตร
นางสาวทัศนีย์  เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “Strengthening inter-agency collaborative climate  services for resilient agri-food systems in Thailand” หรือ การสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานเรื่องการให้บริการด้านภูมิอากาศ อันเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง FAO และรัฐบาลไทยในการประยุกต์ใช้ข้อมูลทางด้านสภาพภูมิอากาศกับภาคเกษตรและความมั่นคงอาหาร  


 



 
รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันต่อระบบเกษตรและความมั่นคงอาหารของไทย ซึ่งจัดโดยกรมอุตุนิยมวิทยาและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) สศก. ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานด้านภูมิอากาศจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง อาทิ การนำข้อมูลทางด้านสภาพภูมิอากาศมาประยุกต์ใช้เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน การจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าด้านการเกษตร การพยากรณ์ทางการเกษตร  การจัดระบบโซนนิ่งและแบบจำลองทางเกษตรหรือ Modeling System for Agricultural Impacts of Climate Change (MOSAICC) การให้บริการข้อมูลสภาพภูมิอากาศทางด้านการเกษตร หรือ อุตุนิยมวิทยาเพื่อการเกษตร

รวมทั้งการพยากรณ์อากาศเพื่อพืชและสัตว์เศรษฐกิจและสถานการณ์ภัยแล้ง การใช้ดาวเทียมในการติดตามภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงสาเหตุหลักของภัยพิบัติด้านการเกษตรของประเทศไทย เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง และการนำเสนอแนวทางการวางแผนและบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การให้บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำเพื่อใช้ในการเกษตร รวมทั้ง ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



 



 
โอกาสนี้ สศก. ได้นำเสนอการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อรับมือจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการเตรียมความพร้อม การรับมือและการช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น การจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติ

การจัดเตรียมเสบียงสัตว์และอพยพสัตว์ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร นอกจากนี้ ข้อมูลด้านภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับการผลิตทางการเกษตร ทั้งพืช สัตว์ ประมง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มอบหมาย สศก. เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดทำ Big Data พร้อมกับดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center) หรือ NABC  ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 ซึ่งปัจจุบัน สศก. ได้บูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล



 



 
เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ พยากรณ์ สนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการพยากรณ์และเตือนภัยด้านการเกษตร โดยนำข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร และความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ในอดีต เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพยากรณ์และเตือนภัยทางการเกษตร เพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร และเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารได้เป็นอย่างดี


 



Create Date : 31 สิงหาคม 2563
Last Update : 31 สิงหาคม 2563 16:24:52 น.
Counter : 609 Pageviews.

3 comment
“อลงกรณ์”นำทีมลุยภาคใต้ ขับเคลื่อนAIC
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม​  เปิดเผยว่าตนพร้อมด้วยนายอรุณชัย พุทธเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวง  รศ.ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด และรศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation center : A.I.C.) จังหวัดนครศรีธรรมราช


 



 
นายสุวัฒน์ นวลขาว ประธานศูนย์ A.I.C. จังระนอง ส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชนในพื้นที่ ร่วมประชุมขับเคลื่อน A.I.C นครศรีธรรมราช และระนอง ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานของAICและแผนปฏิบัติการ Action planและการแสดงเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมใหม่ๆจำนวนมาก  เพื่อพัฒนาเกษตรแบบจังหวัดจัดการตนเอง ตามนโยบายการขับเคลื่อนปฎิรูปเกษตร4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์







 
สำหรับศูนย์ AIC นครศรีธรรมราช(มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์)ซึ่งเป็น 1 ใน12มหาวิทยาลัยวิจัยของประเทศนำเสนอศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรดังนี้
 
1.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านพืช 
2.ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านปศุสัตว์
3.ศูนย์ความเป็นเลิศการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
4.ศูนย์ความเป็นเลิศระบบฟาร์มอัจฉริยะ AI
5. ศูนย์ความเป็นเลิศการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตร
6. ศูนย์ความเป็นเลิศวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกรและความปลอดภัยในการทำงาน
7. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร
8. ศูนย์ความเป็นเลิศสารสนเทศการเกษตร
9. ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านพืชอนาคต
ทางด้านศูนย์ AIC จังหวัดระนอง
 
 

 



 
ส่วนการขับเคลื่อน และนวัตกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
1.ระบบน้ำอัจฉริยะ
2.การยกระดับมาตรฐานการผลิตภัณฑ์การเกษตร เช่น แปลงใหญ่มังคุดอำเภอกระบุรี เพื่อนำไปสู่การรับรองมาตรฐานและเชื่อมโยงตลาด การแปรรูปในโรงงานชุมชนต้นแบบ ผลิตภัณฑ์ข้าวลูกหวาย กาแฟโรบัสต้า และมะม่วงหิมะพานต์ 

นายอลงกรณ์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ได้มอบนโยบาย 17 ข้อสำหรับการขับเคลื่อน AIC ในเฟสที่ 2 ช่วงเดือน กันยายน - พฤศจิกายน 2563 และมอบแนวทางในการปฏิบัติงานโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ ในการใช้ศาสตร์พระราชา ที่เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนด้วย






 



Create Date : 30 สิงหาคม 2563
Last Update : 30 สิงหาคม 2563 16:21:59 น.
Counter : 1025 Pageviews.

4 comment
นักวิจัยไทยเฉียบโชว์นวัตกรรมแช่ผลมะม่วงในน้ำร้อนพิฆาตแมลงวันผลไม้ เปิดตลาดอียูฉลุย
กรมวิชาการเกษตรใช้งานวิจัยทลายกำแพงส่งออกมะม่วงไปสหภาพยุโรปสำเร็จ  เป็นครั้งแรกของไทยใช้น้ำร้อนปราบแมลงวันผลไม้อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส  นาน 10 นาที สยบแมลงวันผลไม้ได้ผลไม่กระทบคุณภาพผลผลิต  ใช้ต้นทุนต่ำ ระยะเวลาสั้น ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ผู้ประกอบการรายเล็กทำเองได้  สหภาพยุโรปจัดหนักอ้าแขนรับมะม่วงไทยแล้วกว่า 167 ตัน สวิตเซอร์แลนด์แฟนพันธุ์แท้นำเข้าอันดับ 1
 
นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  มะม่วงเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ  แต่การผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกยังมีปัญหาในด้านคุณภาพ  เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อคุณภาพผลผลิต  โดยเฉพาะปัญหาของแมลงวันผลไม้ชนิด Bactrocera dorsalis (Hendel) ซึ่งเป็นแมลงศัตรูสำคัญทางด้านกักกันพืช   มีพืชอาหารกว้างจึงสามารถเพิ่มปริมาณและแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตลอดทั้งปี  



 


 

จัดเป็นแมลงศัตรูที่ทำให้เกิดปัญหาในการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้สด เช่น มะม่วง  ชมพู่  และฝรั่ง  เนื่องจากประเทศคู่ค้ากลัวแมลงวันผลไม้ติดไประบาดภายในประเทศ  ดังนั้นจึงได้กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าโดยให้กำจัดแมลงวันผลไม้ตามมาตรการที่แต่ละประเทศกำหนด  ซึ่งกลุ่มสหภาพยุโรปกำหนดให้ประเทศไทยเสนอวิธีการกำจัดแมลงวันผลไม้ในมะม่วงให้พิจารณาก่อนที่จะอนุญาตให้มีการนำเข้าไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิธีการแช่น้ำร้อนมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวเพื่อหาอุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ชนิด B. dorsalis  ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย



 



 
เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแช่น้ำร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ จากผลการทดลองพบว่าการนำมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้แช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส จนอุณหภูมิภายในผลถึง 46 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที สามารถกำจัดแมลงวันผลไม้ระยะไข่และหนอนวัยที่ 1 ซึ่งเป็นระยะที่ทนต่อความร้อนมากที่สุด และไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของมะม่วง

ภายหลังการทดลองเสร็จสิ้นกรมวิชาการเกษตรได้เสนอวิธีการแช่น้ำร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ชนิด B. dorsalis ในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกให้กลุ่มสหภาพยุโรปพิจารณา  ผลปรากฏว่าวิธีการกำจัดแมลงวันผลไม้ดังกล่าวได้รับการยอมรับ  ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงที่ผ่านการแช่น้ำร้อนไปกลุ่มสหภาพยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์ได้รวม 13 ประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 เป็นต้นมา

จนถึงเดือนสิงหาคม 2563 ไทยได้ส่งออกมะม่วงไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปแล้วรวมปริมาณทั้งสิ้น  167,574 กิโลกรัม  คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 8,617,591 บาท โดยประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีการนำเข้ามะม่วงจากไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สวิตเซอร์แลนด์  ออสเตรีย  และเยอรมนี 



 
 


 
วิธีการแช่น้ำร้อนเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ดังกล่าวประเทศไทยได้ทำการศึกษาวิจัยเป็นครั้งแรก  เป็นวิธีการที่ง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาน้อย และใช้ต้นทุนการผลิตน้อยมาก เมื่อเทียบกับวิธีการกำจัดแมลงวันผลไม้ด้วยการอบไอน้ำ   โดยตู้อบไอน้ำขนาดเล็กขนาด 2.5 ตัน   ราคาประมาณ 15 ล้านบาท  

ในขณะที่อ่างแช่น้ำร้อนขนาดกลาง 350 กิโลกรัม  ราคาประมาณ 480,000 บาท  ทำให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สดขนาดเล็กสามารถลงทุนทำได้เอง   ทำให้มะม่วงผลสดจากประเทศไทยมีต้นทุนในการผลิตไม่สูงสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้  ปัจจุบันมีโรงงานแช่น้ำร้อนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรแล้วรวมจำนวน 11 โรงงาน



 



 
การแช่น้ำร้อนเป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงวันผลไม้ในมะม่วง  สามารถใช้ได้กับไม้ผลหลายชนิดในเชิงอุตสาหกรรม  ใช้ระยะเวลาสั้นในการดำเนินการ  รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่น้อยมากคุ้มค่ากับการลงทุน  หากไม่มีปัญหาเรื่องสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

คาดว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกมะม่วงไทยที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปต้องสูงกว่า 10 ล้านบาทแน่นอน  เนื่องจากมะม่วงไทยเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวยุโรปด้วยรสชาติที่มีความหวาน  กลมกล่อม และมีกลิ่นหอมซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างจากมะม่วงที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากอินเดีย  และบังกลาเทศ   ผู้ประกอบการรายใดที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร โทร 02-579-5583




 

 



Create Date : 29 สิงหาคม 2563
Last Update : 29 สิงหาคม 2563 16:29:12 น.
Counter : 657 Pageviews.

1 comment
สหกรณ์พิจิตรจับมือเอกชนหนุนปลูกกะหล่ำหน้าฝน 1 ไร่กำไรกว่า 7 หมื่น
นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่เยี่ยมสมาชิกสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด จังหวัดพิจิตร ซึ่งได้จับมือกับภาคเอกชนในโครงการส่งเสริมสมาชิกปลูกกระหล่ำปลีในฤดูฝน เพื่อติดตามผลผลิตว่าได้ผลเป็นอย่างไรและสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้มากน้อยเพียงใด  

เบื้องต้นสมาชิกสหกรณ์พอใจกับผลผลิตและราคาที่รับซื้อ เนื่องจากได้มีการวางแผนให้เกษตรกรปลูกนอกฤดู ทำให้ราคารับซื้อสูงกว่ากระหล่ำปลีในฤดูหนาว ซึ่งจะเป็นช่วงที่ผลผลิตจากภูทับเบิกแหล่งผลิตรายใหญ่ออกสู่ตลาด



 



 
ทั้งนี้  โครงส่งเสริมปลูกพืชหลากหลาย ในฤดูการผลิต 2562/63 ซึ่งสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด ร่วมมือกับบริษัทเอกชนส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นสมาชิกปลูกพริกซอสและกระหล่ำปลี และยังมีความร่วมมือกับสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรอีกหลายแห่ง ต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 3 ปี

โดยเอกชนจะแจ้งปริมาณความต้องการผลผลิตเพื่อให้สหกรณ์ใช้ตลาด เป็นตัวนำ และมาวางแผนเพื่อส่งเสริมการผลิตให้กับสมาชิก ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิกสหกรณ์พอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับทำโครงการลักษณะนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของกรมที่ต้องการให้สหกรณ์หาอาชีพเสริมหรือปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่

โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด 19  อย่างไรก็ตามได้กำชับให้สหกรณ์ประสานร่วมมือกับเอกชนที่เป็นคู่ค้า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงการผลิตของสมาชิก เพื่อให้ผลผลิตได้คุณภาพตามที่ตลาดและผู้บริโภคต้องการ



 



 
นายวินัย จันทร์เชื้อ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลวัดขวาง อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จากเดิมเคยปลูกพริกซอสก็ได้ผลผลิตราคาดี  เมื่อทางสหกรณ์และเอกชนได้มาแนะนำให้ทดลองปลูกกะหล่ำปลี ก็ลองทำครั้งแรก บนพื้นที่  มี 1 ไร่ 1 งาน เริ่มปลูกตั้งแต่ 15 มิ.ย. 63  ถึงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนก.ย. 63 คาดว่าจะได้ผลผลิตจำนวน 7 ตัน ราคารับซื้อประมาณตันละ 18,000 บาท

คาดว่าจะมีรายได้ 126,000 บาท เมื่อหักต้นทุน การผลิต 50,000 บาท จะทำให้มีกำไรเหลือ 76,000 บาท ซึ่งขณะนี้แปลงกะหล่ำปลีของเพื่อนสมาชิกบางรายได้ทยอยเก็บผลผลิตแล้ว เพราะมีการวางแผนในการปลูกเพื่อให้ผลผลิตออกมาไม่พร้อมกัน ซึ่งจะช่วยคุมปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีรายได้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้

นายสมศักดิ์ สีอุดทา ประธานสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด  กล่าวว่า สหกรณ์ได้จับมือเอกชนคือบริษัท ศราวุฒิการเกษตร จำกัด  ส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกมาเป็นเวลา 3 ปี โดยจะเน้นปลูกพืชอายุสั้น ให้ผลผลิตเร็ว ตลาดมีความต้องการและรับซื้อในราคาที่เกษตรกรพอใจ โดยก่อนหน้าได้ทำโครงการปลูกพริกซอส ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเชื่อมั่นร่วมกันจากการส่งเสริมต่อเนื่องหลายฤดูกาลผลิต



 



 
ต่อมาสหกรณ์ได้ตกลงกับทางบริษัทส่งเสริมปลูกกะหล่ำปลีเพื่อนำไปส่งที่ตลาดไท  ซึ่งสหกรณ์มีโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิก โดยจัดสรรเงินกู้ให้รายละ 2 หมื่นบาท เมื่อเกษตรกรนำผลผลิตมาขายกับสหกรณ์ ทางสหกรณ์จะหักรายได้จากการขายผลผลิตไว้  50 เปอร์เซ็นต์เพื่อเป็นชำระหนี้คืนสหกรณ์  ซึ่งเงินกู้ 1 งวดสามารถใช้เป็นทุนการผลิตได้สองรอบการผลิต

ทำให้ขณะนี้สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโพทะเล จำกัด เริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถนำเงินมาส่งชำระหนี้ที่เคยค้างกับสหกรณ์ได้  ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะทำให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจกับสหกรณ์มากขึ้นแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคงและส่งเสริมอาชีพการทำเกษตรให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป



 



Create Date : 27 สิงหาคม 2563
Last Update : 27 สิงหาคม 2563 14:54:53 น.
Counter : 715 Pageviews.

3 comment
สภาเกษตรฯติดอาวุธเกษตรกรฐานรากสู่ตลาดวิถีใหม่
นายภาสันต์ นุพาสันต์​ ผู้ช่วย​เลขาธิการ​สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวหลังเปิดงานและบรรยาย​พิเศษ เรื่อง "ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์" ภายใต้โครงการอบรม "เพิ่มทักษะการประกอบการแก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกรเศรษฐกิจฐานรากสู่การตลาดวิถีใหม่( New Normal)"ว่า  จากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศเกิดการชะลอตัว โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้สินค้าเกษตรล้นตลาดจากการถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ การชะลอการส่งออกสินค้า ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง ช่องทางการกระจายสินค้ามีน้อย พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากการซื้อสินค้าตามตลาดท้องถิ่น หรือศูนย์การค้า มาเป็นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และการขนส่งสินค้าใช้ระยะเวลานาน จนทำให้สินค้าทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ผลิต และผู้ประกอบการสินค้าเกษตร 




 



 
พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 มาตรา 11 (8) บัญญัติให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติได้มอบให้สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กำหนดแนวทางพัฒนาเกษตรกร และองค์กรเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกร ด้านการประกอบการ ด้านการผลิต แปรรูป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการตลาด  ซึ่งเกษตรกร และองค์กรเกษตรกรประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาการเกษตรของรัฐบาลปัจจุบันที่มีนโยบายพัฒนาองค์กรเกษตรกร โดยเพิ่มทักษะการประกอบการ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรและพัฒนาความเชื่อมโยงของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการตลาด การค้าออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ




 



 
จึงมอบให้สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเกษตร(สสส.) ดำเนินการจัดโครงการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้พัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสื่อสารในการสร้างช่องทางการตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์มให้แก่เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าเกษตร  เพื่อให้เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรผู้ผลิต และผู้ประกอบการสินค้าเกษตรสามารถกระจายสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านระบบตลาดออนไลน์ได้เยี่ยงมืออาชีพ  

นายเดชา บุญโต ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเกษตร(สสส.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเกษตร(สสส.)​ ดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อเพิ่มความรู้และพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคดิจิทัลในการสร้างช่องทางการตลาด และจำหน่ายสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์มให้แก่เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรให้สามารถปรับตัวขายสินค้า

รวมถึงการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ (Marketplaces) เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นและยังเป็นการพัฒนาภาคการเกษตรได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต จึงได้จัดทำ “โครงการอบรมเพิ่มทักษะการประกอบการแก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกรเศรษฐกิจฐานรากสู่การตลาดวิถีใหม่ (New Normal)” ขึ้นเกษตรกร/องค์กรเกษตรกรเข้าร่วมรับการอบรม เรื่อง "มิติใหม่การค้า e-Commerce ยุคใหม่ รับ New Normal "




 



 
โดย นายเจษฎา บำเพ็ญอยู่ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ , เทคนิคและศิลปะการจัดทำและนำเสนอภาพประกอบการจำหน่ายสินค้า , การเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม , เทคนิคการเขียน story นำเสนอสินค้า บรรยายและแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ โดย นายธนเวช เดชอดุลย์พงค์  นางสาวกำไลทิพย์ ปิยะพิทยานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิโซไซตี้ จำกัด  

“เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้และทักษะการขายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ไปใช้ในการเพิ่มช่องทางการตลาด กระจายสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค และบริหารจัดการการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต  เมื่อผ่านการอบรมเกษตรกร/องค์กรเกษตรกรสามารถเข้าสู่แพลตฟอร์ม shopee และ lazada อย่างน้อย 20 กว่าผลิตภัณฑ์ บริหารจัดการด้านตลาดให้สอดคล้องกับการตลาดวิถีใหม่ (New Normal) สร้างรายได้ให้เกษตรกร/องค์กรเกษตรกรฐานรากได้อย่างยั่งยืนและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มตลาดสินค้าเกษตรของประเทศได้เป็นลำดับต่อไป” นายเดชา กล่าว






 

                                                                   



Create Date : 26 สิงหาคม 2563
Last Update : 26 สิงหาคม 2563 18:50:10 น.
Counter : 710 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments