All Blog
เตือนเรือประมงพื้นบ้านจดทะเบียนภายใน 27 ธ.ค.
1 ธันวาคม 2562 กรมประมงได้ออกประกาศขอให้พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่มีเรือต่ำกว่าสิบตันกรอส ทั้งที่มีทะเบียนเรือไทย และไม่มีทะเบียนเรือ ไปแจ้งต่อหน่วยงานกรมเจ่าท่า  ทั้งนี้ ณ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา พื้นที่จังหวัดชายทะเลที่เรือจอดอยู่เพื่อทำการตรวจวัดขนาด และจัดทำอัตลักษณ์เรือ ภายในวันที่ 16 ธันวาคม 62  

ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของเรือและยังไม่ได้จดทะเบียนเรือไทยให้ยื่นขอหนังสือรับรอง จากกรมประมง เพื่อนำไปประกอบการจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพื้นบ้านกับกรมเจ้าท่า ภายหลังการตรวจวัดขนาดและจัดทำอัตลักษณ์เรือ

โดยให้ยื่นขอหนังสือรับรองกับกรมประมงได้ที่ สำนักงานประมงพื้นที่ประมงกรุงเทพมหานคร กรมประมง ในต่างจังหวัดให้ยื่นที่ สำนักงานประมงจังหวัด หรือสำนักงานประมงอำเภอท้องที่ติดทะเล ตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 27 ธันวาคม 2562 โดยนำบัตร ประชาชน พร้อม รูปถ่ายเรือ เต็มลำ ด้านซ้าย และด้านขวา อย่างละ 1 ภาพ

กรมประมงได้ขอเน้นย้ำว่าเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ ให้เจ้าเรือประมงพื้นบ้านทุกลำต้องไปแจ้งขอตรวจวัดเรือกับหน่วยงานกรมเจ้าท่า ภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ส่วนเรือที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเรือต้องมายื่นขอหนังสือรับรองจากกรมประมง ภายใน 27 ธันวาคม 2562 นี้เท่านั้น



 







 

 



 

 
 



Create Date : 01 ธันวาคม 2562
Last Update : 1 ธันวาคม 2562 18:55:37 น.
Counter : 1145 Pageviews.

0 comment
สทนช.รุกแผนปฏิบัติการป้องกันภัยแล้ง
สทนช. ถก 25 หน่วยงานบูรณาการแผนปฏิบัติการรับแล้งระยะ 3 – 4 เดือนข้างหน้า มอบเจ้าภาพรับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภค-บริโภค พร้อมประสาน สธ.ชี้เป้าโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงแล้ง 38 จังหวัด เร่งวางมาตรการรองรับหวั่นกระทบประชาชน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 25 หน่วยงานเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) มีข้อสรุปที่สำคัญ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจัดสรรน้ำและระบายน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นรายสัปดาห์

 



 
สทนช.ได้ติดตามแผนการจัดสรรน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ พบว่ามีการจัดสรรน้ำเกินแผนแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนกระเสียว ซึ่งเป็น 1 ใน 5  แห่งของเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร

ปัจจุบันพบว่า แผนการจัดสรรน้ำ 13 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการจัดสรรน้ำแล้ว 17.62 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 135% ที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำกรมชลประทาน (ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ ตามปริมาณน้ำที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยขอให้จังหวัด กำกับ ดูแลพร้อมสร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาการสูบน้ำไว้ใช้ระหว่างการส่งน้ำ

ทั้งนี้ หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องมีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผน ต้องมีการรายงานให้ สทนช.ทราบก่อนด้วย เพื่อพิจารณาความเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ในการจัดสรรน้ำตลอดฤดูแล้งนี้และต้นฤดูฝนปี’63



 



 
ประเด็นที่ 2.การกำหนดเจ้าภาพหลักในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่เป้าหมายเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายให้การประปานครหลวง (กปน.) พิจารณาการใช้น้ำจากฝั่งตะวันตก มาทดแทนการใช้น้ำจากฝั่งตะวันออกให้มากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อสำรองน้ำเพิ่มเติม  

ขณะที่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในเขตการประปาภูมิภาค (กปภ.) 48 สาขา 64 อำเภอ 26 จังหวัด ที่มีการสำรวจไว้เดิม และอีก 13 แห่งของ กปภ.ริมแม่น้ำโขง ใน 7 จังหวัด 19 อำเภอ ได้มอบหมายกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพิจารณาสนับสนุนการดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล 13 แห่ง รวมถึงมอบกรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม 19 แห่ง ส่วนอีก 29 แห่งที่เหลือให้ กปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรอง

 



 
สำหรับนอกพื้นที่บริการ กปภ. ที่มีความเสี่ยง 38 จังหวัด โดยเฉพาะประปาชุมชนและประปาหมู่บ้านซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะสำรวจสถานภาพแหล่งน้ำที่มีอยู่ หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงขาดน้ำต้องประสานกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดลจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

รวมถึงพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่การเกษตรที่เป็นไม้ผล พืชต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน สทนช.ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขสำรวจพื้นที่ให้บริการต่างๆ โดยประสานกับหน่วยบริการจ่ายน้ำ เพื่อให้ได้ข้อมูลโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีความเสี่ยงขาดน้ำในฤดูแล้ง 38 จังหวัด เพื่อวางมาตรการป้องกันโดยเร่งด่วนด้วย



 



 
ประเด็นสุดท้าย ที่ประชุมได้มีการพิจารณาพื้นที่นำร่องในการกำหนดเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับหน่วงและเก็บกักน้ำหลากเพื่อดำเนินการในระยะแล้งนี้ เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนหน้า  โดยที่ประชุมมอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง และทุ่งบางระกำ โดยเพิ่มเติมโครงการนำร่องพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี

พร้อมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางการจ่ายค่าชดเชยตามมติ ครม. 3 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สทนช.ได้สรุปผลการประชุมเพื่อนำเสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทำหนังสือถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องรับทราบมติที่ประชุมข้างต้น เพื่อให้เกิดผลที่ชัดเจนในทางปฏิบัติในการดำเนินการเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.- พ.ค.63 เนื่องจากแนวโน้มปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศลดลงต่อเนื่องด้วย


 



 



 











 


 
 



Create Date : 22 พฤศจิกายน 2562
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2562 10:49:21 น.
Counter : 691 Pageviews.

0 comment
ไอทีเชื่อมซื้อขายออนไลน์ ออฟไลน์ เพิ่มช่องทางตลาดสินค้าเกษตรไทย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เยี่ยมชมรูปแบบร้านค้าปลีกแนวใหม่ “HEMA” (เหอหม่า) ซูเปอร์มาร์เก็ตระบบ “ดิจิทัล”เต็มรูปแบบที่ผสมผสานการซื้อขายออนไลน์ และออฟไลน์เป็นหนึ่งเดียว


 



 
โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าขนาดย่อมจัดส่งอาหารสดที่จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ “ทีมอลล์” ไปยังผู้บริโภคชาวจีนในรัศมี 3 กิโลเมตร ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลของอาลีบาบาทั้งหมด

จุดเด่นของ “เหอหม่า” มีหลายอย่างเช่น ระบบ Cashless Supermarket ไม่ต้องพกเงินสดมา แต่จ่ายผ่านโมบายล์แอปพลิเคชั่น “เถาเป่า” หรืออาลีเพย์ได้ทันที รวมทั้งระบบจ่ายเงินแบบสแกนใบหน้า (Face recognition


 


 
สินค้าทุกชิ้นจะมีคิวอาร์โค้ดเพื่อระบุรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ วันผลิต วันหมดอายุ ที่มาของสินค้า การนำไปทำอาหาร การเก็บรักษา เป็นต้น 

สำหรับสินค้าเกษตรไทยที่เป็นที่นิยมมากในซูเปอร์มาร์เก็ตนี้ได้แก่ ข้าว ผลไม้ชนิดๆ โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมซึ่งมียอดจำหน่าย 40,000 ลูกต่อวัน ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีน 22 ชนิดซึ่งผลไม้ที่ได้ชาวจีนชื่นชอบนั้น นอกจากมะพร้าวแล้ว ยังมีทุเรียน มังคุด และลำไย จีนมีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปี 2561 มากกว่า 100 % โดยทุเรียนนำเข้ากว่า 430,000 ตัน มะพร้าว 160,000 ตัน มังคุด 150,000 ตัน รวมมูลค่ากว่า 1,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ


 


 
 "จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปปรับใช้เพื่อช่วยให้เกษตรกรไทยมีช่องทางในการตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งรักษาและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรไทยให้ได้มาตรฐานเพื่อให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้บริโภคสินค้าเกษตรคุณภาพสูงจากไทย" นายเฉลิมชัยกล่าว


 




 








 



Create Date : 22 พฤศจิกายน 2562
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2562 10:30:12 น.
Counter : 699 Pageviews.

0 comment
ส่อแล้ง...เตือนประหยัดน้ำ

ส่อแล้ง..เตือนประหยัดน้ำ

กรมชลฯห่วงปีนี้น้ำน้อย ระบุฝนทั่วประเทศ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ40 ชี้ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้ได้ 2.5หมื่นล้านลบ.ม.หรือ มีน้ำเพียง 50% เร่งทุกพื้นที่ชี้แจงข้อเท็จจริงมีน้ำเหลือไม่มากต้องใช้ถึงฤดูฝนหน้า สำรองฝนทิ้งช่วงถึงเดือนก.ค. 63วอนช่วยประหยัดน้ำ  

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมประชุมทางไกลไปยังสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ สรุปสถานการณ์น้ำล่าสุด สภาพฝน ภาคใต้มีฝนปานกลางในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าปกติ จะน้อยกว่าในบางช่วง ส่วนปริมาณฝนรวมบริเวณ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 40


 


 
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(19 พ.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 49,787 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,889 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณน้ำใช้การได้ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 11,847 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 5,151 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำในอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย จึงต้องบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม ซึ่งจะใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก

สภาพน้ำท่าทางตอนบนของประเทศไทย ปัจจุบัน(19 ต.ค. 62) ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ วัดได้ 250 ลบ.ม./วินาที(เมื่อวาน 240 ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิ่ง 8.69 เมตร และคงปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 70 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร เฉลี่ย 96 ลบ.ม./วินาที(เมื่อวาน 97 ลบ.ม./วินาที) สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ส่วนทางภาคใต้อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง - มาก 


 


 
ด้านแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2562 ทั้งประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำรวม 17,699 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (19 พ.ย. 62) ได้จัดสรรน้ำตามความต้องการไปแล้ว  1,738 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10 เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้ง รวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (19 พ.ย. 62) ได้จัดสรรน้ำตามความต้องการไปแล้ว 514 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 13 

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศรวม 6.85 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 34 ของแผนฯ) , พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 7 ของแผนฯ) และพืชอื่นๆ 4.01 ล้านไร่ (คิดเป็นร้อยละ 59 ของแผนฯ) เฉพาะลุ่มน้ำแม่กลอง มีแผนเพาะปลูกรวม 2.07 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 0.84 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนฯ) , พืชไร่-พืชผัก 0.69 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 8 ของแผนฯ) และพืชอื่นๆ 1.06 ล้านไร่ (คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ) ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จึงมีแผนเพาะปลูกเพียงพืชอื่นๆ เช่น อ้อย ที่ต้องใช้การเพาะปลูกแบบต่อเนื่องเท่านั้น รวมจำนวน 0.99 ล้านไร่


 


 
จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าสายหลักต่างๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้อย การสนันสนุนน้ำเพื่อการเกษตรและการประมง จึงมีแผนการจัดสรรอย่างจำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน อีกทั้ง กรมชลประทาน จะต้องดำเนินการตามแผนจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด จัดหาแหล่งน้ำสำรอง ให้ความรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ

ในขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ไม่มากนัก ที่ต้องใช้ถึงหน้าฝนปีหน้า และสำรองน้ำไว้หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เดือนมิ.ย.ก.ค.63 จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนประหยัด พร้อมทั้งสร้างกระบวนการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงของปริมาณน้ำ รวมทั้ง ตรวจสอบคุณภาพของน้ำ ค่าความเค็ม อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ไว้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสามารถสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มความสามารถ



 
 








 



Create Date : 20 พฤศจิกายน 2562
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2562 8:59:15 น.
Counter : 681 Pageviews.

0 comment
เดินหน้าโรงเรียนสหกรณ์ต้นแบบนำร่องกทม. ปริมณฑล
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.)  ณ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ

 


 
แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนจากชุมนุมสหกรณ์ต่างๆ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 

การประชุมครั้งนี้ ได้มีการแสดงความคิดเห็นต่อร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ…. และร่างประกาศกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่องการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ พ.ศ…. และมีการนำเสนอความคืบหน้าการจัดทำโครงการโรงเรียนสหกรณ์ต้นแบบ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการสหกรณ์แบบ Actives Learning โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล 


 


 
พร้อมทั้งได้กำหนดการส่งเสริมการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ 2 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์การเกษตร โดยมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนกับครูหรือโรงเรียนเพื่อนำฝากไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในจังหวัดที่มีครูในโรงเรียนเป็นสมาชิก ส่งเสริมให้นักเรียนรวมทุน เพื่อเป็นทุนของสหกรณ์ทดลอง และส่งเสริมการวางแผนการเพาะปลูกทางการเกษตร

โดยครูหรือโรงเรียนนำผลผลิตออกจำหน่าย ซึ่งสันนิบาตสหกรณ์ฯ จะดำเนินการประสานสหกรณ์ออมทรัพย์ในพื้นที่เสนอรายชื่อโรงเรียนให้สันนิบาตสหกรณ์ฯ พิจารณาคัดเลือกต่อไป รวมทั้งมีการพิจารณาและให้คำวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ ของสหกรณ์ ในการกำกับและส่งเสริมสหกรณ์อีกด้วย





 




 





 



Create Date : 09 พฤศจิกายน 2562
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2562 20:28:45 น.
Counter : 557 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments