All Blog
ผุด“โครงการตู้เย็นข้างบ้านต้านภัย COVID-19”
กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับอีสท์ เวสท์ ซีด ผุด “โครงการตู้เย็นข้างบ้านต้านภัย COVID-19” สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 


 
กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด จัดทำโครงการ “ตู้เย็นข้างบ้านต้านภัย COVID-19” สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวโตเร็วอายุสั้นถึงอายุปานกลางให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจทำการเกษตรในการปลูกพืชผักสวนครัวและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมส่งมอบให้เกษตรกรและผู้สนใจภายในเดือน พฤษภาคมนี้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการช่วยเหลือดูแลและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรและทำให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน


ตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรของเกษตรกร จึงได้จัดทำโครงการ “ตู้เย็นข้างบ้านต้านภัย COVID-19” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรกับบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด

โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวที่มีลักษณะเติบโตเร็วอายุสั้นถึงอายุปานกลางให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจทำการเกษตรในการปลูกพืชผักสวนครัวและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)


ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในภาวะวิกฤตดังกล่าวในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ในระยะเวลาอันรวดเร็ว มีพืชอาหารบริโภคในภาวะวิกฤตดังกล่าวในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ในระยะเวลาอันรวดเร็ว มีพืชอาหารบริโภคสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง

 


 
โครงการตู้เย็นข้างบ้านต้านภัย COVID-19 มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่สนใจทำการเกษตรปลูกพืชผักสวนครัวและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) มีพืชอาหารเพาะปลูกในช่วงการแพร่ระบาดของโรคฯ

สำหรับบริโภค โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวที่จำเป็นภายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจทำการเกษตรปลูกพืชผักสวนครัว รวมทั้งสิ้นจำนวน 10,000 ชุด ใน 1 ชุดประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ผักบุ้ง โหระพา แตงกวา พริกขี้หนู และมะเขือพวง

เกษตรกรและผู้สนใจสามารถสมัครลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านทางเว็บไซต์หรือช่องทางการสื่อสารของกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ 1 ครัวเรือน (ทะเบียนบ้าน)/1สิทธิ์/เมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว 1 ชุด


สามารถศึกษาเรียนรู้องค์ความรู้และข้อมูลทางด้านการเกษตร เช่น เรื่องการดำรงชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การปลูก การดูแลรักษา การผลิตและขยายพันธุ์พืชผักตามชนิดพืชในโครงการฯ ผ่านทางเว็บไซต์หรือช่องทางการสื่อสารของ กรมส่งเสริมการเกษตร

นอกจากนี้บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด จะมีการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะวิชาการด้านการเกษตร ให้แก่กำลังคนภาคการเกษตร เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer และ Smart Farmer องค์กรเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน


 


 
โดยสนับสนุนทรัพยากร บุคลากร และงบประมาณในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้สามารถนำไปถ่ายทอดในการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เกษตรกรและผู้สนใจสามารถสมัครลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ภายในเดือน พฤษภาคม 2563





 




 



Create Date : 29 เมษายน 2563
Last Update : 29 เมษายน 2563 17:36:55 น.
Counter : 640 Pageviews.

0 comment
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤษภาคม 2563
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนพฤษภาคม 2563 ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น มีเพียงยางพาราแผ่นดิบที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยส่วนมากมีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 9,525-10,412 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.10-10.52 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก อาทิ ประเทศอินเดียและเวียดนามมีมาตรการ ล็อคดาวน์และชะลอการส่งออกข้าว ประกอบกับประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลกอนุมัติงบประมาณ


 



 
เพิ่มเติมเพื่อนำเข้าข้าว จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกข้าว ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,496-14,579 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.88-1.46 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวจากประเทศฮ่องกง เป็นผลจากความกังวลจากนโยบายปิดประเทศของเวียดนาม ส่งผลให้ประชาชนชาวฮ่องกงมีการกักตุนข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 15,774 -15,912 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.85-2.73 เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิต ข้าวเหนียวนาปรังออกสู่ตลาดลดลง
 

อีกทั้งประเทศเวียดนามจำกัดโควต้าในการส่งออกข้าวเหนียวเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.54-7.60 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.30 -1.00 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น จากปัญหาด้านการขนส่งจากมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ผู้ประกอบการมีอุปสรรคในการนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาผลิตอาหารสัตว์


 


 
 
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 10.24-10.73 เซนต์/ปอนด์ (7.35-7.70 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.00 - 10.00 เนื่องจากความกังวลต่อปริมาณผลผลิตอ้อยทั่วโลกที่ลดลง จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในประเทศผู้ผลิตสำคัญ จึงมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลจะลดลง ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อเพิ่มขึ้น มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.75 – 1.80 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.57 – 3.45 
 

เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มมีการเปิดเมืองและผ่อนปรนด้านการขนส่งระหว่างประเทศ จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลาย ส่งผลให้การส่งออกมันสำปะหลังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 3.09 – 3.14 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.32 – 2.27 เนื่องจากคาดว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้กิจการบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้


 



 
จึงเป็นโอกาสให้ความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น สุกร ราคาอยู่ที่ 68.89 - 69.09 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.79 - 3.09 เนื่องจากสภาพอากาศของไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ส่งผลให้สุกรเติบโตช้า ทำให้ผลผลิตสุกรออกสู่ตลาดน้อยลง
 
ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นจากแผนการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งคาดว่าธุรกิจบางประเภทจะกลับมาเปิดให้บริการหลังสิ้นสุดมาตรการดังกล่าว และกุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 127.00 – 129.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.60 – 3.20 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและการเฝ้าระวังโรคระบาด ทำให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่และชะลอการลงลูกกุ้ง รวมถึงชะลอการจับกุ้งออกจำหน่าย ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง


 



 
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลงมีเพียงยางพาราแผ่นดิบ ซึ่งคาดว่าราคาจะอยู่ที่ 31.50 – 32.95 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 - 4.98 เนื่องจากในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมจะมีการเปิดหน้ากรีดยางพาราทั่วประเทศ

ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติลดลงจากราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อีกทั้งประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ยังใช้มาตรการล็อคดาวน์ จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอรับซื้อน้ำยางสดในประเทศ









 





 
 



Create Date : 29 เมษายน 2563
Last Update : 29 เมษายน 2563 17:41:20 น.
Counter : 613 Pageviews.

0 comment
สุดยอดความสำเร็จ"เขาหินซ้อน"ขยายผลศึกษาวิจัยสู่ราษฎร
พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลางได้กล่าวในระหว่างติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ว่าเมื่อช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ได้เดินทางมายังศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา 

จากวันนั้นถึงวันนี้พบว่าพื้นที่ยังคงความเขียวขจี มีแหล่งน้ำ และจากการดูงานโดยรอบภายในศูนย์ครั้งนี้ มีความคืบหน้าในการพัฒนาเพื่อเป็นแม่แบบให้กับราษฎรนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่มีความคืบหน้าอย่างมาก นับเป็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ที่พระองค์ได้ประยุกต์จากพื้นที่ต่างๆ  มาดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ทำให้พื้นที่มีน้ำ มีป่า และปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินงานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องมีการศึกษาวิจัยและนำผลสำเร็จเหล่านั้นขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฏรอย่างต่อเนื่อง 


 


 
วันนี้ได้รับฟังจากประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากศูนย์ฯ ในด้านต่างๆ  ตั้งแต่การเพาะปลูก  การแปรรูป จากผลผลิตที่ผลิตได้ ทำให้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี  และผลงานก็ออกมาดีเหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ของผู้คนทั่วไป  การดำเนินงานของศูนย์ฯ นับว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดถึงโครงการตามพระราชประสงค์ พระองค์ท่านทรงสนพระทัยโครงการต่างๆ ที่อยู่ทั่วประเทศพระองค์ทรงให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปติดตามและดำเนินการให้เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเต็มที่


สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคม จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงาน กปร. กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยว ได้สนองพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาตั้งแต่ 2522 ในลักษณะพิพิธภัฑณ์ธรรมชาติที่มีชีวิต

ซึ่งได้รวบรวมสรรพวิชาการด้านต่าง ๆ ทั้ง ดิน น้ำ ป่าไม้ และการประกอบอาชีพ  จาก 40 ปี ของการดำเนินงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ที่เคยเป็นดินทราย กลับมีความสมบูรณ์สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิดรวมถึงให้ผลผลิตที่ดีขึ้น โดยด้านการศึกษาวิจัย ทดลอง ได้มีการศึกษาวิจัย ทดลอง จำนวน 132 เรื่อง นำไปขยายผลสู่เกษตรกรได้ถึง 52 เรื่อง 


 


 
อาทิ เช่น ด้านการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินที่มีมากถึง 40 เรื่อง แต่ละเรื่องเอื้อต่อการใช้ประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง ด้วยจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียงจะมีปัญหาเกี่ยวคุณภาพของดินที่เป็นดินเค็มและดินร่วนปนทรายเพราะผ่านการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และใช้สารเคมีมากมาก่อน ขั้นตอนในการพัฒนาคุณภาพดินที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่ผ่านการศึกษาวิจัยและประสบความสำเร็จแล้วจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการทำกินของราษฎร

ทั้งนี้เช่นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยหญ้าแฝกในรูปแบบต่างๆ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ไม้ผล เช่น มะม่วงผลไม้เอกลักษณ์และคุณภาพส่งออกของจังหวัดฉะเชิงเทรา และการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือรากหญ้าแฝกที่ค้างอยู่ในดินร่วมกับปุ๋ยหมักในการปรับปรุงดินทรายจัดเพื่อปลูกข้าวโพดหวาน เป็นต้น  

รวมทั้งได้นำมาจัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพที่โดดเด่นได้ถึง 13 หลักสูตร  อาทิ การเพาะเห็ดเศรษฐกิจครบวงจร เกษตรทฤษฎีใหม่ การเลี้ยงไก่ไข่เขาหินซ้อน การปลูกและแปรรูปสมุนไพรว่านสาวหลง ฯลฯ สำหรับด้านการขยายผล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้นำผลสำเร็จไปขยายผลสู่เกษตรกรพื้นที่รอบศูนย์ฯ จำนวน 43 หมู่บ้าน 12,403 ครัวเรือน โดยเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งได้สร้างความเป็นอยู่และความมั่นคงให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี 


 


 
ทั้งนี้ในแต่ละปีมีผู้เข้ารับการอบรมและศึกษาดูงาน รวมทั้งขอรับบริการด้านต่างๆ เช่น ปุ๋ยน้ำชีวภาพ การทำอาหารแปรรูป การถนอมอาหาร โดยระหว่างเดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 136,414 คน และคณะศึกษาดูงานต่างชาติ จำนวน 783 คนการนี้องคมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมการดำเนินงานภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ  

อาทิ แปลงทฤษฎีใหม่ การส่งเสริมอาชีพ ได้แก่การจักสาน และการตีเหล็กบริเวณหน่วยพัฒนาชุมชน และกิจกรรมต่างๆ  ทั้งการปลูกหญ้าแฝก ปศุสัตว์ ประมง โครงการส่วนพระองค์ การพัฒนาแหล่งน้ำ  ที่ส่งผลให้การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาคุณภาพของประชาชนบังเกิดความมั่นคงและมีความยั่งยืนตลอดไป 




 




 



Create Date : 29 เมษายน 2563
Last Update : 29 เมษายน 2563 15:26:03 น.
Counter : 670 Pageviews.

0 comment
"มนัญญา"เสนอกำหนด ISOโรงงานสารเคมี
มนัญญา ชี้ กรมวิชาการเกษตรส่งข้อมูลให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว พร้อมเสนอการกำหนดมาตรฐาน ISO สำหรับโรงงานที่ผลิต นำเข้า จำหน่าย สารเคมีการเกษตร ขึ้นมาเป็นเรื่องวาระเพื่อพิจารณา

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับคณะที่ปรึกษา อธิบดี และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากกรณีที่มีสื่อรายงานว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ได้ส่งข้อมูลตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมอบหมายนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะได้เรียกอธิบดีกรมวิชาการเกษตรมาสอบถามแล้ว

 


 
ทราบว่าได้จัดส่งข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย มาตรการรองรับในการหาสารทดแทนวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอดและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 โดยส่งถึงอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเกี่ยวกับการพิจารณากำหนดมาตรฐาน ISO สำหรับโรงงานที่ผลิต นำเข้า จำหน่าย สารเคมีการเกษตร ขึ้นมาเป็นเรื่องวาระเพื่อพิจารณาในวันที่ 30 เมษายนนี้ เนื่องจากได้ส่งเรื่องไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เพื่อกำหนดให้โรงงานผลิตและบรรจุต้องมีมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ แต่เพิ่งทราบว่าเรื่องดังกล่าวถูกบรรจุเป็นวาระเพื่อทราบเท่านั้น ไม่ใช่วาระเพื่อพิจารณาเห็นชอบด้วย



 




 

 



Create Date : 29 เมษายน 2563
Last Update : 29 เมษายน 2563 13:29:59 น.
Counter : 672 Pageviews.

0 comment
สุดทึ่ง“ธนาคารน้ำใต้ดิน”ภูมิปัญญาสู่การแก้ปัญหาภัยแล้งยั่งยืน
นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย จำนวน 23,817 ไร่ ส่วนใหญ่พบในอำเภอวัดโบสถ์ ชาติตระการ และเนินมะปราง (ข้อมูล ณ 23 เมษายน 2563 จากรายงานผลกระทบต่อภาคการเกษตรของเชื้อไวรัส COVID-19 และปัญหาภัยแล้งของสำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก)

สินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ ได้แก่ มันสำปะหลัง และไม้ผล (ทุเรียน มะม่วง) ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการขาดแคลนน้ำทำการเกษตร เกษตรกรจึงควรมีการบริหารจัดการน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งที่มุ่งเน้นรักษาแปลงไม้ผลให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ภัยแล้งปีนี้ให้ได้ โดยเร่งสร้างแหล่งน้ำเพื่อใช้สำหรับดูแลรักษาต้นพืชให้เพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นแนวทางการลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งได้ในระยะยาวและยั่งยืน


 


 
จากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร พบว่า ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีเกษตรกรที่นำหลักการสร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน”  หรือเรียกว่า “แก้มลิงที่มองไม่เห็น” มาประยุกต์สร้างแหล่งน้ำในไร่นาของตนเอง โดยจากการสัมภาษณ์นายทองปาน เผ่าโสภา ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หมู่ที่ 14 ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก บอกเล่าว่า ตนได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากข้อมูลข่าวสารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

โดยใช้วิธีการสังเกตบ่อบาดาล ที่ขุดเจาะไว้ ในช่วงฤดูแล้ง พบว่า เมื่อสูบน้ำไปได้ระยะหนึ่งน้ำก็จะแห้ง ไม่สามารถสูบได้อีก และช่วงฤดูฝนน้ำที่ท่วมขังบริเวณบ่อ  จะแห้งเร็วกว่าบริเวณอื่นๆ ซึ่งจากการสังเกตดังกล่าวจึงได้ทดลองขุดบ่อเพิ่มอีกหนึ่งบ่อเพื่อเติมน้ำลงใต้ดิน ผลพบว่า สามารถเติมน้ำในบ่อได้จำนวนมากโดยไม่เต็ม และในขณะที่ฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขังบริเวณบ่อ น้ำจะไหลลงไปใต้ดินได้เร็วขึ้นทำให้พืชที่เพาะปลูกในบริเวณดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง


 


 
นายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ของนายทองปาน ทำได้ง่ายและใช้เงินทุนไม่มาก โดยหาจุดที่มีน้ำท่วมขัง ทำการขุดบ่อให้ได้ขนาดที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ระดับน้ำที่ท่วมขัง สภาพชั้นดิน และชั้นหิน ขุดบ่อให้ลึกประมาณ 1-3 เมตร ให้ทะลุชั้นดินเหนียว จากนั้นให้ใส่ท่อพีวีซี ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ไว้ตรงกลางบ่อให้พ้นจากพื้นดินเพื่อเป็นท่อระบายอากาศ นำเศษวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ในชุมชนใส่ลงไปในบ่อ เช่น กรวด หิน ขวดน้ำ ยางรถยนต์ เป็นต้น

โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างแหล่งน้ำใต้ดินประมาณ 4,000 – 5,000 บาท/บ่อ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 2 บ่อ สำหรับใช้ ในฟาร์มบนเนื้อที่ปลูก 16.75 ไร่ ทำการผลิตแบบอินทรีย์ แบ่งตามสัดส่วนเป็นข้าวพันธุ์หอมปทุมและพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ 4 ไร่ ไม้ผล 5 ไร่ พืชผัก/สมุนไพร 6 ไร่ ไม้สัก 0.5 ไร่ และสระน้ำเพื่อการเกษตร 1.25 ไร่ สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี


 


 
ทั้งนี้ ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรหลายรายที่ให้ความสนใจ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนองค์ความรู้ หรือเงินทุนให้แก่เกษตรกรที่มีความพร้อมเพื่อใช้สำหรับสร้างแหล่งน้ำกักเก็บน้ำฝนให้มีปริมาณเพียงพอต่อพื้นที่การเกษตรของตนเอง หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายทองปาน เผ่าโสภา ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หมู่ที่ 14 ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก โทร. 08 6206 3680


 
 



 



Create Date : 28 เมษายน 2563
Last Update : 28 เมษายน 2563 16:11:48 น.
Counter : 661 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments