All Blog
หนุนเกษตรกรปลูก‘ถั่วเหลือง’พืชเศรษฐกิจสร้างความมั่นคงทางอาหาร
นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ถั่วเหลือง” นับเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง ได้จัดทำยุทธศาสตร์ถั่วเหลืองและความมั่นคงทางด้านอาหาร ระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2561-2579) โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองเป็น 2.5 ล้านไร่ ในปี 2579

มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพในรูปแบบการเกษตรแปลงใหญ่และพื้นที่ปลูกหลังนา เพื่อการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อหน่วยการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด





 






 
ปัจจุบัน สถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองในพื้นที่ภาคเหนือ รวม 17 จังหวัด มีประมาณ 88,563 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 85 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ (พื้นที่ปลูกทั้งประเทศ 104,193 ไร่ ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2564) แบ่งเป็นถั่วเหลืองรุ่น 1ปลูกช่วงพฤษภาคม – ตุลาคม พื้นที่ปลูกประมาณ 46,960 ไร่

ถั่วเหลืองรุ่น 2 เริ่มปลูกช่วงพฤศจิกายน – เมษายนของปีถัดไป พื้นที่ปลูกประมาณ 41,603 ไร่ ซึ่งแหล่งปลูกสำคัญอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขียงรายกำแพงเพชร สุโขทัย แพร่ และเชียงใหม่


ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตในลักษณะแปลงใหญ่ โดยดำเนินการผ่านสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิตและการตลาด





 






 
สศท.1 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองรุ่น 2 ปีเพาะปลูก 2562/63 ของสหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองขนาดใหญ่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2517

ปัจจุบันมีสมาชิก 400 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 1,000 ไร่ เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์เชียงใหม่ 60 มีต้นทุนการผลิตรวมจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 4,452 บาท/ไร่/รอบการผลิต ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 120 วัน ผลผลิตรวมประมาณ 245 ตัน/รอบการผลิต ผลผลิตเฉลี่ย 245 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลตอบแทน 4,532 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้เมล็ดความชื้น 13% อยู่ที่ 18.50 บาท/กิโลกรัม (ราคา ณ มีนาคม 2564)

ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 45 เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตให้กับสหกรณ์ โดยเกษตรกรเก็บเกี่ยวและตากเองก่อนส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์ รองลงมาร้อยละ 32 ส่งจำหน่ายพ่อค้ารายย่อยลักษณะเช่นเดียวกับจำหน่ายให้กับสหกรณ์ คือ เก็บเกี่ยวและตากเองก่อนส่งจำหน่าย ส่วนร้อยละ 23 ส่งจำหน่ายพ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดที่มารับซื้อถึงไร่นาเท่านั้น โดยพ่อค้าจะต้องมีเครื่องนวดเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเอง





 






 
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาส่งเสริม อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและตามความต้องการของพืช เพื่อให้ใช้ในปริมาณและในระยะเวลาที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานคนผ่านกลุ่มแปลงใหญ่หรือสหกรณ์การเกษตร รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวแก่เกษตรกร เช่น การลดความชื้นผลผลิตและมีการคัดเกรดผลผลิตเพื่อให้มีการขายผลผลิตที่มีคุณภาพ

ขอเชิญชวนเกษตรกรหันมาปลูกถั่วเหลือง เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ปลูกเพียง 4 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ให้ผลผลิตสูง รวมถึงตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง นอกจากนี้ ถั่วเหลืองยังเป็นพืชที่ช่วยบำรุงคุณภาพดินอีกด้วย หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตถั่วเหลืองภาคเหนือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.1 โทร.0 5312 1318 อีเมล zone1@oae.go.th




 

 



Create Date : 26 มีนาคม 2564
Last Update : 26 มีนาคม 2564 19:10:43 น.
Counter : 414 Pageviews.

0 comment
รับสมัครเกษตรกรเข้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่
เกษตรฯ เปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มเติม ตั้งแต่วันนี้ – 31 มีนาคม 64 พร้อมขับเคลื่อนโครงการฯ ต่ออีกหลังจัดจ้างแรงงานแล้วกว่า 13,000 ราย

นายสําราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ แก่เจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาค  ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการ1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และฟื้นฟูภาคเกษตรภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น

ขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม 64) มีเกษตรกรผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแล้ว 28,265 ราย จากเป้าหมาย 32,000 ราย และมีการจ้างงานเกษตรทฤษฎีใหม่ระดับตำบลไปแล้วประมาณ 13,000 ราย จากเป้าหมาย 16,000 ราย 






 







 
สำหรับโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดรับสมัครเพิ่มเติม (รอบที่ 5) ตั้งแต่วันนี้ – 31 มีนาคม 64 โดยจะเริ่มพิจารณาจากเกษตร 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบลฯ และได้ลาออกไป จำนวนกว่า 5,300 ราย โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปให้ข้อมูลกับเกษตรกรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะกลับเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง

2. ให้กรมพัฒนาที่ดินพิจารณาเกษตรกรจากกลุ่มที่สมัครเข้าร่วมโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน (บ่อจิ๋ว) หากมีคุณสมบัติครบถ้วน และยินดีเข้าร่วมกับโครงการ 1 ตำบลฯ สามารถส่งรายชื่อมาให้ทางคณะกรรมการฯ พิจารณาการเข้าร่วมโครงการฯได้

3. ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) พิจารณาเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนด สามารถส่งรายชื่อมาให้ทางคณะกรรมการฯ พิจารณาเข้าร่วมกับโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ได้เช่นกัน และ 4. กลุ่มเกษตรกรใหม่ ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถขอรายละเอียดโครงการ และสมัครเข้าร่วมโครงการได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาค ให้ความสำคัญในเรื่องของการสื่อสารทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้ว และยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ในขั้นตอนต่าง ๆ และรายละเอียดโครงการ 1 ตำบลฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และสามารถขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบลฯ ไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ

หากเกษตรกรท่านใด มีความประสงค์จะสมัครเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบลฯ หรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อยื่นใบสมัคร หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้ภูมิลำเนาของท่าน สำหรับท่านที่สมัครแล้ว สามารถตรวจสอบผลการคัดเลือกได้ที่ https://ntag.moac.go.th/?p=publish






 

 



Create Date : 26 มีนาคม 2564
Last Update : 26 มีนาคม 2564 19:02:41 น.
Counter : 297 Pageviews.

0 comment
ชู"อีสาน Agri Challenge Model”ขับเคลื่อนงานเกษตร 5 กลุ่มจังหวัด
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมอบแนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมนำเสนอแนวคิด “อีสาน Agri Challenge Model” ว่า การประชุมในวันนี้ มุ่งเน้นมอบแนวทางการขับเคลื่อนและติดตามงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้แก่เกษตรและสหกรณ์จังหวัด 5 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสิ้น 20 จังหวัด

โดยเชื่อมโยงกับ 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมในพื้นที่โดยมีการนำเสนอ “อีสาน Agri Challenge Model” โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน ดังนี้ 1. “ตลาดนำการผลิต” โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการ start up และส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญา 2. เทคโนโลยีเกษตร 4.0 

โดยการพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านเกษตร 3. ยุทธศาสตร์ 3’S โดยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย 4. บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” โดยพัฒนาฐานข้อมูล Big Data และการประกันรายได้เกษตรกร






 







 
5. เกษตรกรรมยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม การส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การประกันภัยพืชผลให้ความคุ้มครองความเสียหายหรือความสูญเสียต่อพืชผล และการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน
 
อย่างไรก็ตามวันนี้ได้เน้นย้ำแนวทางการดำเนินงานให้แก่เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานเร่งด่วนทั้งสิ้น

รวมทั้งสามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรได้อย่างถูกต้อง ได้แก่ 1) โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด 3) การปฏิรูปการเกษตรมูลค่าสูง 4) โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 5) การบริหารจัดการช่องทางการตลาดของผลไม้ในพื้นที่

6) การขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และ 7) การขับเคลื่อน ศพก. อย่างเข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นส่งเสริม Young smart Farmer  ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนในการติดตามผลการดำเนินงานในภาคอีสาน รวมทั้งการรับฟังและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระดับพื้นที่ ควบคู่ไปกับผู้ตรวจราชการของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานโครงการสำคัญต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ






 







 
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบด้านการส่งออกสินค้าเกษตรเพียงเล็กน้อย ซึ่งมาจากอุปสรรคด้านการขนส่งและแรงงาน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย

เนื่องจากทั่วโลกให้ความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบความปลอดภัย การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร และคุณภาพของสินค้าเกษตร ซึ่งขณะนี้ มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา ส่วนสถานการณ์น้ำในภาคอีสาน ได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำตามแผนฯ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะมีน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคเพียงพอแน่นอน

นอกจากนั้นปลัดเกษตรฯ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พร้อมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด 5 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ศพก.บ้านเนินตอ ตำบลบัวใหญ่ และศพก.หนองหารจาง ตำบลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นด้วย.





 



Create Date : 26 มีนาคม 2564
Last Update : 26 มีนาคม 2564 18:49:25 น.
Counter : 329 Pageviews.

0 comment
ปล่อยขบวนสารวัตรข้าวตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว
กรมการข้าว Kick Off ปล่อยขบวนสารวัตรข้าวปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อตรวจสอบสถานประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวของประเทศ

นายอาชว์ชัยชาญ  เลี้ยงประยูร ​อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานพิธีมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านสารวัตรข้าวของกรมการข้าว เพื่อ Kick Off ปล่อยขบวนสารวัตรข้าว ออกตรวจติดตาม ควบคุม กำกับ สถานประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ควบคุมข้าวเปลือกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด 

ด้วยกรมการข้าวตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวของผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม





 





 
โดยจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ของกรมการข้าว หรือสารวัตรข้าว ทำหน้าที่ในการตรวจติดตาม ควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๑๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อธิบดีกรมการข้าวได้มอบแนวทางการดำเนินงานด้านสารวัตรข้าวให้กับผู้ปฏิบัติงาน ว่า เพื่อคุ้มครองให้เกษตรกรชาวนาได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี มีคุณภาพ และควบคุม กำกับ ดูแล ผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ควบคุมข้าวเปลือก

ทั้งผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า และผู้รับใบอนุญาตขายเมล็ดพันธ์ควบคุม ให้ปฏิบัติและดำเนินกิจการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม





 






 
พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืชฯ สารวัตรข้าวของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวในพื้นที่ทั้ง 56 ศูนย์ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ และสารวัตรข้าวจากส่วนกลาง ต้องปฏิบัติหน้าที่ตรวจติดตามผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติพันธุ์พืชฯ

ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นเตือนให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ใส่ใจและระมัดระวังในการประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อผลิตและขายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และภารกิจของสารวัตรข้าว และสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  





 





 
ทั้งนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในด้านมาตรฐาน คุณภาพและความปลอดภัยของกระบวนการผลิตและการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวในตลาดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งการปล่อยขบวนสารวัตรข้าว ออกตรวจติดตาม ควบคุม กำกับ สถานประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ควบคุมข้าวเปลือกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดร้อยเอ็ด

ในครั้งนี้ เห็นว่าจะมีประโยชน์ในการกระตุ้นเตือนให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ใส่ใจและระมัดระวังในการประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อผลิตและขายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และเป็นการประชาสัมพันธ์ บทบาท หน้าที่ และภารกิจของสารวัตรข้าว ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างในภาคการเกษตร ส่วนราชการ และสื่อมวลชน ต่อไป



หากพี่น้องชาวนาผู้ใช้เมล็ดพันธุ์พบสถานที่รวบรวมหรือขายเมล็ดพันธุ์ข้าว
- ไม่มีใบอนุญาต รวบรวมหรือขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม
- ขาย เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน (ปลอมปนหรือเสื่อมคุณภาพ)
- แสดงฉลากไม่ครบถ้วนหรือเป็นเท็จ รวมถึงไม่มีเลขประจำพันธุ์ข้าวที่รวบรวม (เลขที่ พ.พ.)
- อวดอ้าง คุณภาพเกินจริง
- ขายในราคาสูง กว่าท้องตลาด

พบเห็นการขายเร่ตามหมู่บ้าน หรือนอกสถานที่ตั้งตามที่ระบุในใบอนุญาตขาย

สามารถร้องเรียนได้ที่
กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว
โทร 0 2561 2174
และที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์วิจัยข้าว สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ใกล้บ้านท่าน

หรือที่สายด่วน กรมการข้าว โทร 1170 กด 4








 



Create Date : 26 มีนาคม 2564
Last Update : 26 มีนาคม 2564 19:31:01 น.
Counter : 351 Pageviews.

0 comment
"เกษตรฯ"แก้ปัญหาสมัชชาเกษตรกรอีสาน-ตั้งทีมตรวจสอบข้อเท็จจริง
นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้รับมอบหมายจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มเกษตรกร “กลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน” ได้แก่ 1) กรณีผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ 2) กรณีผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และโครงการอ่างเก็บนาอำปึล จังหวัดสุรินทร์ และ 3) กรณีผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดือนห้า จังหวัดอุบลราชธานี

เพื่อให้ปัญหาของกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบ จากกรณีต่าง ๆ ได้มีการพิจารณาให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหา เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบร่างคำสั่ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์













 
โดยแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง 3 คณะ ได้แก่ 1) แต่งตั้งคณะทํางานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีราษฎรขอรับสิทธิการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนราษีไศล จังหวัดร้อยเอ็ด 2) แต่งตั้งคณะทํางานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และโครงการอ่างเก็บนาอำปึล จังหวัดสุรินทร์

3) แต่งตั้งคณะทํางานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเดือนห้า จังหวัดอุบลราชธานี อย่างไรก็ตาม ให้ตรวจสอบองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุม และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามคำสั่งต่อไป

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมมานาน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรที่รับความช่วยเหลือ จึงมีการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนเกษตรกร ตามประเด็นข้อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ

สำหรับกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานโครงการของรัฐ (เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำโดย นายศักดา กาญจนเสน และนายไพโรจน์ จงหาญ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา และมีความพอใจในการประชุมครั้งนี้





 

 



Create Date : 26 มีนาคม 2564
Last Update : 26 มีนาคม 2564 17:16:54 น.
Counter : 293 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments