All Blog
ศูนย์วิจัยธ.ก.ส.คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนกันยายน
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ รวมถึงความต้องการของประเทศคู่ค้า ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนกันยายน 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ สุกร และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกันยายน 2564โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,075 - 10,465 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.42 - 5.35 เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ  มีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดจากสต็อกข้าวของผู้ประกอบการที่ลดลง ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 49.00 - 52.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.31 – 6.45





 





 
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณยางพาราในประเทศที่ออกสู่ตลาดลดลง การขาดแคลนแรงงานกรีดยางพารา และภาวะฝนตกชุกในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ ประกอบกับความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และความต้องการในประเทศคู่ค้าที่เติบโตตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน อย่างไรก็ตาม สต็อกยางพาราโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยกดดันราคายางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้าได้  มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.01 – 2.05 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 – 2.50 เนื่องจากปริมาณผลผลิตปรับตัวลดลงเพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสูงขึ้น และความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีอย่างต่อเนื่อง  

ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.78 - 7.37 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.04 - 9.80 เนื่องจากนโยบายภาครัฐขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 และราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มดิบของตลาดประเทศมาเลเซียสูงขึ้น และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 126 - 127 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.80 - 1.50

เนื่องจากคาดว่าจะเริ่มมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดได้ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 ทำให้ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการและสามารถเดินทางได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณกุ้งลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้เกษตรกรลดจำนวนและเลื่อนเวลาการปล่อยลูกกุ้ง

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,211 - 7,405 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.36 - 4.01 เนื่องจากการปรับลดราคาส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่

อาทิ ประเทศอินเดีย และประเทศเวียดนาม เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลก และส่งผลกดดันให้ราคาส่งออกข้าวลดลง  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 9,114 - 9,311 บาท/ตันลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.69 - 3.77 เนื่องจากมีการคาดการณ์ผลผลิตข้าวเหนียวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีจะมีปริมาณมากกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก

ขณะที่ความต้องการบริโภคมีเท่าเดิม  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.60 - 7.69 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.40 - 1.50 เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว คาดว่าปริมาณผลผลิตในเดือนนี้จะออกสู่ตลาดประมาณร้อยละ 17.53 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นไม่มากจากการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสัญญาส่งมอบถั่วเหลืองปรับตัวลดลง  




 






 
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 19.49 - 19.69 เซนต์/ปอนด์ (14.11 - 14.25 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 - 1.50 เนื่องจากมีความชัดเจนว่าประเทศอินเดียจะดำเนินนโยบายอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลซึ่งส่งผลกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลก

ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันในเดือนกันยายนที่คาดว่าจะลดลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการเอทานอลปรับลดลง อาจกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลของประเทศบราซิลเพิ่มการผลิตน้ำตาลมากกว่าเอทานอล ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สุกร ราคาอยู่ที่ 67.26 - 67.98 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.32 - 3.31

เนื่องจากโรงฆ่าสุกรบางพื้นที่ถูกระงับ  การดำเนินงานชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีสุกรเหลือสะสมในฟาร์มสุกรจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนความต้องการบริโภค

ส่งผลให้ราคาสุกรปรับตัวเพิ่มขึ้น  และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 94.50 - 95.10 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.05 – 0.58 เนื่องจากจำนวนโคเนื้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ  ความต้องการบริโภคที่ลดลง ส่งผลกดดันราคาซื้อขายโคเนื้อภายในประเทศปรับตัวลดลง





 



Create Date : 01 กันยายน 2564
Last Update : 1 กันยายน 2564 15:23:23 น.
Counter : 408 Pageviews.

0 comment
"กรมปศุสัตว์"ยกระดับ คุณธรรม ความโปร่งใส ได้คะแนน ITA ระดับ A
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการแถลงข่าวและประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยกรมปศุสัตว์ ได้ผลการประเมิน 91.81 คะแนน ผ่านเกณฑ์การประเมินและได้รับการจัดให้อยู่ในระดับ A   เปรียบเทียบกับผลการประเมินปี 2563 กรมปศุสัตว์ ได้คะแนน 83.9 อยู่ในระดับ B ดีขึ้นกว่าปีก่อน 7.91 คะแนน โดยรายตัวชี้วัดตัวชี้วัด การเปิดเผยข้อมูล และ การป้องกันการทุจริต ได้ 100% เต็ม  





 
 




 
การประเมิน ITA ดำเนินการโดยสำนักงาน ป.ป.ช. มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศได้รับทราบถึงสถานะและปัญหาการดำเนินงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กร โดยผลการประเมินที่ได้จะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การให้บริการ สามารถอำนวยความสะดวก และตอบสนองต่อประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยการประเมินมี 3 รูปแบบได้แก่  
 
1. การตอบแบบประเมินของผู้มีส่วนได้เสียภายใน มี5 ตัวชี้วัด  

ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ ได้ 90.41 % 
ตัวชี้วัดที่ 2 การใช้งบประมาณ ได้ 81.69% 
ตัวชี้วัดที่ 3 การใช้อำนาจ ได้ 85.16% 
ตัวชี้วัดที่ 4 การใช้ทรัพย์สินของราชการ ได้ 81.02 % 
ตัวชี้วัดที่ 5 การแก้ไขปัญหาการทุจริต ได้ 81.69% 
 
2. การตอบแบบประเมินของผู้มีส่วนได้เสียภายนอก มี 3 ตัวชี้วัด  

ตัวชี้วัดที่ 6 คุณภาพการดำเนินงาน ได้ 89.74 % 
ตัวชี้วัดที่ 7 ประสิทธิภาพการสื่อสาร ได้ 90.05% 
ตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงระบบการทำงาน ได้ 86.28 % 
 
3. การตรวจแบบการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ มี 2 ตัวชี้วัด 

ตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล ได้ 100% 
ตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต ได้ 100 % 
 
ในปี พ.ศ. 2564 มีหน่วยงานของรัฐเข้าร่วมประเมินจำนวน 8,300 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานของรัฐที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน 4,146 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 49.95 ของหน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564




 



Create Date : 29 สิงหาคม 2564
Last Update : 29 สิงหาคม 2564 16:17:41 น.
Counter : 446 Pageviews.

0 comment
หนุนส่งเสริมแปลงใหญ่ผลผลิตการเกษตรสร้างรายได้
นายทินกร อ่อนปทุม ทีมงานที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่าได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อนน รมว.เกษตร ฯให้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมและเกษตรกร ที่ผลิตสินค้าแปลงใหญ่ ในพื้นที่ ต.คำพะอุง อ.โพธิ์ชัย ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรรวมตัวเป็นเกษตรแปลงใหญ่ และจดทะเบียนในรูปวิสาหกิจชุมชนปลูกผัก วิสาหกิจฯข้าว วิสาหกิจฯมัน

โดยการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่จัดทำโครงการ Smart Thumbol ต่อยอด จากโครงการ "มหาวิทยาลัยตำบล" และเป็นที่น่ายินดี ที่ บ.เบทาโกร เลือกเป็นตำบลเป้าหมาย ในการทำ CSR ในการส่งเสริมเกษตรกรด้วยในขณะที่กระทรวงเกษตรฯโดยเกษตรอำเภอได้เข้าเป็นพี่เลี้ยงด้านการส่งเสริมการผลิตด้วย





 










 
นายทินกร กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มีการส่งมอบครุภัณ์และเครื่องจักรกลการเกษตร "โครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรทันสมัยและเชื่อมโยงตลาด" เป็น โรงสี รถแทรกเตอร์ เครื่องอัดฟาง รถเกี่ยวข้าว ด้วย

ขณะเดียวกันยังได้มีการนำเสนอแนวทางนโยบายตลาดนำการผลิต และเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญ ที่จะมีการส่งเสริมเรื่องการขายสินค้าเกษตรที่เป็นผลผลิตผ่านระบบออนไลน์ ของกระทรวงให้เกษตรกรได้รับทราบ ขณเกียวกันยังได้แจกพันธุ์ฟ้าทลายโจรให้เกษตรกรผู้มาร่วมงานทุกคนไปปลูกเพื่อเป็นสมุนไพรประจำบ้านด้วย





 





 



 



Create Date : 27 สิงหาคม 2564
Last Update : 27 สิงหาคม 2564 15:32:12 น.
Counter : 534 Pageviews.

0 comment
"เกษตรฯ"เปิดตัว 3 ชุมชนต้นแบบภาคใต้ปลูกพืชสมุนไพรต้านโควิด
"กรมวิชาการเกษตร" เปิดตัว 3 ชุมชนต้นแบบปลูกพืชสมุนไพรต้านโควิด 19 จ.สงขลา หนุนชุมชนเกษตรผลิตพืชสมุนไพรต้านโควิดเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชสมุนไพรและพัฒนาคุณภาพระบบการผลิตให้ได้มาตรฐาน เสริมชุมชนเข้มแข็งพัฒนาสู่การเข้าถึงตลาดดิจิทัลพร้อมสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนอย่างยั่งยืน

นายอนันต์ อักษรศรี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้พืชสมุนไพรโดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร กระชาย และขิง เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น แต่พบว่าเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่นิยมปลูกพืชสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดนี้

เนื่องจากไม่สามารถพัฒนาการผลิตให้เกิดรายได้แก่ชุมชนได้ ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา จึงได้จัดทำโครงการ “ชุมชนต้นแบบ พืชสมุนไพรต้านโควิด 19” ซึ่งสนับสนุนให้ชุมชนผลิตพืชสมุนไพร 3 ชนิด คือ ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว และขิง





 





 
เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองด้านสมุนไพรใช้เป็นยารักษาโรค ปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน เป็นแหล่งกระจายพันธุ์ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้จากการจำหน่ายผลผลิต ต้นพันธุ์ และแปรรูปเป็นยาสมุนไพรบรรจุแคปซูลต่อไป

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการจัดทำแปลงต้นแบบสมุนไพรชุมชนต้านโควิด19 จังหวัดสงขลา ภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ กิจกรรมการพัฒนาการผลิต 9 พืชผสมผสานพอเพียง (พืชสมุนไพร) โดยได้ดำเนินการใน 3 ชุมชนต้นแบบ คือ ตำบลรำแดง ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร  และตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 30 ราย

โดยเปิดตัวโครงการ “ชุมชนต้นแบบ พืชสมุนไพรต้านโควิด 19” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประธานชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกรต้นแบบในการทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การปลูกฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์ป่าขาด กระชายสายพันธุ์นครปฐม และขิงสายพันธุ์ทางการค้า รวมถึงการมอบหัวพันธุ์กระชายขาวที่เป็นพืชพันธุ์หายากในท้องถิ่นให้เกษตรกรนำไปปลูกขยายพันธุ์ในพื้นที่ต่อไป




 





 
การปลูกฟ้าทะลายโจร สามารถปลูกได้ในสภาพแปลงปลูกแบบยกร่องกว้าง 1.5-2.0 เมตร หรือปลูกในกระสอบปลูกพืชขนาด 20 นิ้ว หรือปลูกใช้วิธีหว่าน อัตราเมล็ดพันธุ์ 1.0-1.5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือปลูกแบบย้ายกล้า ระยะปลูก 30x40 เซนติเมตร รองหลุมด้วยปุ๋ยคอกและปูนขาว

เมื่ออายุ 1 เดือนให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย เมื่ออายุ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่ และเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 77 วัน หรือดอกบานประมาณ 50% ให้ตัดยอดยาว 25 เซนติเมตร จะทำให้ได้สารสำคัญสูง ผลผลิตน้ำหนักสด 3-5 ตันต่อไร่ น้ำหนักแห้ง 777 กิโลกรัมต่อไร่ หรือขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น

การปลูกกระชาย เตรียมแปลงปลูกแบบยกร่องกว้าง 1.5-2.0 เมตร สูง 15-20 เซนติเมตร หรือปลูกในกระสอบปลูกพืชขนาด 20 นิ้ว ไถเตรียมดินปลูกให้ลึก 20 เซนติเมตร เพื่อให้เหมาะกับการผลิตหัว





 





 
ส่วนในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคเน่า ควรอบดินเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยปุ๋ยยูเรียผสมปูนขาว อัตราส่วน 1:10 คลุกให้เข้ากับดินรดน้ำ และตบดินให้แน่น ทิ้งไว้ 7 วัน ใช้ระยะปลูก 10x15 เซนติเมตร จะได้ผลผลิตสูง หรือ 25x15 เซนติเมตร จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี เมื่ออายุ 2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เมื่ออายุ 4 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ และเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 8-9 เดือน จะให้สารสำคัญสูงสุด

การปลูกขิง เตรียมแปลงปลูกแบบยกร่องกว้าง 1.5-2.0 เมตร สูง 15-20 เซนติเมตร หรือปลูกในกระสอบปลูกพืชขนาด 20 นิ้ว ไถเตรียมดินปลูกให้ลึก 20 เซนติเมตร เพื่อให้เหมาะกับการผลิตหัว

ส่วนในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคเน่า ควรอบดินเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยปุ๋ยยูเรียผสมปูนขาว อัตราส่วน 1:10 คลุกให้เข้ากับดินรดน้ำ และตบดินให้แน่น ทิ้งไว้ 7 วัน ใช้ระยะปลูก 20x50 เซนติเมตร เมื่ออายุ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เมื่ออายุ 4 เดือนใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เก็บเกี่ยวขิงอ่อนช่วงอายุ 4-5 เดือน และเก็บเกี่ยวขิงแก่ช่วงอายุ 8-12 เดือน




 




 
ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กรมวิชาการเกษตรมีการปลูกสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสตูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส

เพื่อเป็นแหล่งบริการพันธุ์และความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.จังหวัด) และสำนักวิจัยและพัฒนา การเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 0-7444-5905




 



 



Create Date : 26 สิงหาคม 2564
Last Update : 26 สิงหาคม 2564 16:19:32 น.
Counter : 915 Pageviews.

0 comment
"กรมข้าว"จัดซื้อเครื่องปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ตั้งเป้าผลิต 120,000 ตัน/ปี 
"กรมข้าว"เสริมประสิทธิภาพการผลิตข้าวไทยจัดซื้อเครื่องปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ ตั้งเป้าการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพให้ได้ 120,000 ตัน/ปี 

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่าขณะนี้ความต้องการเมล็ดพันธุ์ที่ยังคงไม่เพียงพอ ต่อความต้ิงการของเกษครกรเพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งประเทศเป็นจำนวนถึง 1,373,000 ตัน โดยแบ่งเป็น เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรเก็บไว้ใช้เองปีละ 686,400 ตัน และเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรต้องการใช้/ซื้อนอกเหนือจากที่เก็บไว้ใช้เองปีละ 686,600 ตัน 





 





 
เพื่อให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามเป้าหมายกรมการข้าวในการเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อยกระดับรายได้และฟื้นฟูผู้ที่ได้รับให้กับเกษตรกรจึงได้มีโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้น เพื่อยกระดับการผลิตเมล็ดพันธุ์จากเดิม กรมการข้าวสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ 86,000 – 96,000 ตัน ให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 34,000 ตัน รวมได้เป้าหมายการผลิตใหม่เป็น 120,000 ตันกรมข้าวจึงมีการดำเนินงาน




 


 


 





 
โดยโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นประกอบด้วย 1. ชุดเครื่องชั่งบรรจุ พร้อมระบบจัดเรียงแบบอัตโนมัติ ประจำโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โรงงานเพิ่มศักยภาพ จำนวน 20 ศูนย์ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ลำปาง ลพบุรี พัทลุง เชียงใหม่ พะเยา กำแพงเพชร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด อุดรธานี กาฬสินธุ์ แพร่ นครสวรรค์ สุรินทร์ ขอนแก่น สกลนคร ชลบุรี  ราชบุรี สุโขทัย และสุราษฎร์ธานี

2. ปรับปรุงระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักร พร้อมอุปกรณ์ ประจำโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โรงงานเพิ่มศักยภาพ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ลำปาง พัทลุง เชียงใหม่ พะเยา กำแพงเพชร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด อุดรธานี กาฬสินธุ์ แพร่ นครสวรรค์ สุรินทร์ ขอนแก่น สกลนคร ราชบุรี สุโขทัย และสุราษฎร์ธานี




 










 
3. ปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ประจำโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์โรงงาน OECE จำนวน 5 ชุด ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวกำแพงเพชร ร้อยเอ็ด แพร่ นครสวรรค์ และราชบุรี

4.จ้างก่อสร้างอาคารปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โรงงานใหม่ จำนวน 4 แห่ง  ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก นครราชสีมา ชัยนาท และสุโขทัยจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โรงงานใหม่ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก นครราชสีมา ชัยนาท และสุโขทัย

ทั้งนี้โครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จะเข้ามามีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ ผ่านเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ที่จะทำให้กรมการข้าวบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid 19) ให้สามารถประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ต่อไปในอนาคต 




 




 



Create Date : 25 สิงหาคม 2564
Last Update : 25 สิงหาคม 2564 17:19:50 น.
Counter : 663 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments