All Blog
ชาวสวนปาล์มจี้รัฐแก้ปัญหา
นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานสภาเกษตรกร​จังหวัด​กระบี่  และประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์​การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ตอนนี้ส่งผลสินค้าเกษตรทุกกลุ่มแย่หมด ในพื้นที่ของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนปาล์มเองก็เช่นกัน ปาล์มน้ำมันราคาตกมาที่ 2.50 บาท ณ ลานเท ขณะที่เกษตรกรก็กำลังมีผลผลิตออกมาแต่ราคากลับตกต่ำ รายได้น้อยลงการจับจ่ายใช้สอยมีปัญหา

ระหว่างนี้ขอให้อดทนเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤต และขอให้มองวิกฤตเป็นโอกาส การทำสวนเกษตรบางกลุ่มอาจทำแค่ประมาณ 30-50% ตอนนี้สามารถทำได้เป็น 100%  เพราะรัฐบาลสนับสนุนให้ทำงานที่บ้าน เกษตรกรเข้าสวนทำไร่ ทำนาในพื้นที่ของตัวเองเติมเต็มให้ดีที่สุด ในภายภาคหน้าเชื่อแน่ว่าโรคต้องสลายหายไปสิ่งที่เกษตรกรได้ทุ่มเททำจริงจัง 100% ในขณะนี้ผลผลิตที่จะออกมาต้องดีในช่วงปลายทางข้างหน้าแน่นอน


 


 
นายพันศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ภายใต้การจัดการเรื่องปาล์ม 8 ปีเต็ม ปัญหา​หลักๆ คือ เกษตรกรนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขไปยังหน่วยงานภาครัฐ​ที่เกี่ยวข้อง รับทุกเรื่องแต่ทำไม่ตรงตามห้วงเวลาที่เหมาะสม เช่น การเสนอเรื่องโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม รัฐพยายามประชุมแล้วประชุมอีกแต่ไม่สามารถนำข้อมูลการปรับโครงสร้างราคามาใช้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้ การประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาจึงล้มเหลว การติดมิเตอร์แบบเรียลไทม์​

โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้กำหนดประกาศให้โรงสกัดหรือผู้ซื้อน้ำมัน ผู้ค้าน้ำมันต้องมีมิเตอร์ด้วยตนเอง  แต่หน่วยงานรัฐบอกว่าสามารถจะบังคับซื้อให้ติดตั้งได้ สุดท้ายเสนอเข้าครม.พิจารณาอนุมัติแต่กระทรวงการคลังไม่สามารถอนุมัติได้เพราะจะเอาเงินของราชการไปติดตั้งให้บริษัทไม่ได้ ต้องบังคับให้บริษัทติดตั้งเอง แต่ระบบส่วนกลางต้องเป็นของราชการทำให้เป็นปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการได้  


 


 
เรื่องสต๊อกน้ำมันปาล์มสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า จ.กระบี่ ไม่สามารถดำเนินการได้ต้องใช้โรงไฟฟ้าที่บางปะกงผลิตกระแสไฟฟ้าแทน ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น การบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันปาล์มสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า 130,000 ตัน  การบริหารสต๊อกน้ำมันภายในประเทศเพื่อให้อยู่ในระดับเซฟตี้สต๊อกควรอยู่ประมาณ 250,000 ตัน  สำคัญที่สุดคือหน่วยงานของรัฐ ทำงานไม่ตรงกับห้วงเวลา สร้างความแคลงใจว่ามีผลประโยชน์แอบแฝง และสุดท้ายใช้วิธีการเอาเงินของรัฐเพื่อมาประกันราคาและจ่ายชดเชยให้เกษตรกร ทั้งนี้และทั้งนั้นหน่วยงานของรัฐควรจะต้องมีแผนบริหารจัดการที่ชัดเจนและทำให้ถูกต้องตามห้วงเวลาด้วย

อย่างไรก็ตาม ได้ทำการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด​เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้มาตรการบังคับใช้ข้อกฎหมาย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศกฎกระทรวง เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดปาล์มน้ำมัน ของโรงงานเพื่อให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นโดยอาศัยตามหลักความตามมาตรา 32(2) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2553 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ประกาศให้โรงสกัด A ต้องสกัดไม่ต่ำกว่า 18%  โรงสกัด B ต้องสกัดไม่ต่ำกว่า 30% คือ หากเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงจะทำให้ราคาดี


 


 
หมายถึงการนำปาล์มที่ดีมีคุณภาพเข้าไปสกัดแล้วได้น้ำมันเยอะขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้โรงสกัดบางโรงสกัดได้แค่ประมาณ 14-15% เท่านั้น ด้วยเพราะโรงงานซื้อปาล์มไม่ค่อยมีคุณภาพ แล้วแยกลูกร่วงทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ ราคา cpo ซึ่งต่ำอยู่แล้วฉุดให้ราคาผลผลิตของปาล์มตกต่ำไปด้วย ซึ่งการบังคับใช้ข้อกฎหมาย​นี้สามารถจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ    ส่วนการเสนอไปทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็คือ ข้อกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542  สินค้าต่างๆ ที่อยู่ในพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยการบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับราคาสินค้าในท้องตลาดและเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานสร้างความยุติธรรม

"หากระบบการทำงานหน่วยงานของรัฐไม่ทำงานด้วยระบบความยุติธรรม ก็จะเกิดปัญหากับประเทศต่อไปในภายภาคหน้ามากขึ้นๆ จนอาจทำให้เกิดปัญหาที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ อยากมองเห็นการทำงานของหน่วยงานภาครัฐสามารถประสานทุกฝ่ายสร้างความเป็นธรรมและเป็นกลางให้แก่ทุกกลุ่มอาชีพ  ช่วยกันพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า" นายพันศักดิ์ กล่าว 




 



 



Create Date : 28 เมษายน 2563
Last Update : 28 เมษายน 2563 15:21:34 น.
Counter : 735 Pageviews.

0 comment
มะม่วงแทนความห่วงใยสู่ชายแดนใต้ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์สู้ภัย COVID-19
กรมส่งเสริมการเกษตรจัดกิจกรรมส่งมะม่วงแทนความห่วงใยจากใจกรมส่งเสริมการเกษตรมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโครงการสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยสู้ภัย COVID-19 ภายใต้แคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” จับมือสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ส่งมอบมะม่วงและกำลังใจให้หมอ รวมทั้งช่วยเหลือชาวสวนที่ได้รับผลกระทบรวม 3 ตัน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ริเริ่มจัดทำโครงการสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยสู้ภัย COVID-19 เพื่อรณรงค์ส่งเสริมสินค้าเกษตรไทยและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ภายใต้แคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด”

โดยเชิญชวนให้ส่วนราชการ และประชาชนช่วยกันอุดหนุนซื้อสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ระดมทุนส่งมอบผลผลิตมะม่วงคุณภาพดีจากพี่น้องเกษตรกร พร้อมทั้งทยอยส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ เป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวแล้วนั้น


 


 
ล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานในสังกัด ได้ร่วมระดมทุนซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคุณภาพส่งออกจากเกษตรกรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงส่งออก ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน 2 ตัน และนายมนตรี ศรีนิล นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ในนามของสมาคมชาวสวนมะม่วงไทยได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินการกิจกรรมดังกล่าว มอบมะม่วง จำนวน 1 ตัน รวมทั้งสิ้น 3 ตัน
 
ขนส่งโดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งคิดค่าบริการขนส่งในอัตราพิเศษ กก.ละ 2.50 บาท พร้อมบริการรับที่สวน โรงแพ็ก และส่งถึงปลายทางไปยังเป้าหมาย 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต สตูล ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา รอบแรก เริ่มออกเดินทางจากต้นทาง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ไปยังปลายทาง 5 จังหวัด จำนวน 450 กล่อง ๆ ละ 5 กก. รวม 2,250 กก. ดังนี้ 1) ภูเก็ต จำนวน 120 กล่อง

ส่งมอบโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต, โรงพยาบาลป่าตอง, โรงพยาบาลถลาง,โรงพยาบาลฉลอง, โรงพยาบาล อบจ., โรงพยาบาลสนาม จำนวน 2 จุด (ศาลากลางใหม่ และมอ.วิทยาเขตภูเก็ต), จุดคัดกรองท่าฉัตรไชย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 2) สตูล จำนวน 100 กล่อง ส่งมอบโรงพยาบาลสตูล, โรงพยาบาลสนาม ม.ราชภัฎสงขลา วิทยาเขตสตูล, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด , ด่านคัดกรองทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง และด่านคัดกรอง อ.ทุ่งหว้า 3) ปัตตานี จำนวน 60 กล่อง ส่งมอบโรงพยาบาลปัตตานี


 


โรงพยาบาลยะรัง, โรงพยาบาลหนองจิก, โรงพยาบาลโคกโพธิ์ และจุดคัดกรองอำเภอ (สนามกีฬา อบจ.) 4) ยะลา จำนวน 70 กล่อง ส่งมอบโรงพยาบาลยะลา , โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อ.ยะหา, โรงพยาบาลบันนังสตา,โรงพยาบาลรามัน, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, อาสาสมัครรักษาดินแดน 5) นราธิวาส จำนวน 100 กล่อง ส่งมอบ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์, โรงพยาบาลกัลยานิวัฒนาการุณย์ (ม.นร), โรงพยาบาลสุไหงโกลก, ด่านกักกัน สุไหงโกลก, ศูนย์กักกันกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดน
 
ศูนย์กักกันเทศบาลเมืองนราธิวาส, ศูนย์บริหารฯ โควิด- 19 จ.นราธิวาส (ศบค.) และ รอบที่ 2 ออกเดินทางวันที่ 27 เมษายน 2563 จาก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน 150 กล่อง ๆ ละ 5 กก. รวม 750 กก. ไปยังจังหวัดสุดท้าย คือ 6) สงขลา จำนวน 150 กล่อง ส่งมอบโรงพยาบาลสงขลา, จุดคัดกรองประจำจังหวัด, โรงพยาบาลสนาม (สวนป๋าเปรม)

โดยมีนายกังสดาล สวัสดิ์ชัย เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รับซื้อผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคุณภาพส่งออกและจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในราคาทุน เป็นจังหวัดต้นทางก่อนส่งต่อไปยังจังหวัดปลายทางภาคใต้ เพื่อกระจายผลผลิตภายในประเทศ โดยมีนายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา เป็นผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในการส่งมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ  


 

 

 



 
 



Create Date : 27 เมษายน 2563
Last Update : 27 เมษายน 2563 10:40:51 น.
Counter : 605 Pageviews.

0 comment
ตลาดไทช่วยเกษตรกรสู้ภัยโควิดเปิดพื้นที่ขายผักฟรี !! 3 เดือน
นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับตลาดไท จัด Campaign เปิดพื้นที่พิเศษสำหรับกลุ่มเกษตรกร/เกษตรกร ขายผักฟรี!!! 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร โดยได้จัดให้มีพื้นที่จำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตร (พืชผัก) ในลักษณะเปิดท้ายขายส่งรอบพิเศษ เวลา 12.00 – 21.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน – 10 กรกฎาคม 2563


 


 
ภายใต้ชื่อโครงการผักร่วมใจ ผักปลอดภัย และโครงการจำหน่ายผักท้ายรถ ณ บริเวณลานจอดรถ ตลาดไท เป็นเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่สนใจจะนำสินค้า (พืชผัก) มาจำหน่ายในโครงการฯ ดังกล่าวจะต้องเป็นเกษตรกรตัวจริง

โดยสมัครผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ โทร.0-2579-3619 ต่อ 423 ได้ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ณ สำนักงานเกษตรจังหวัด/สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือประสานงานโดยตรงกับผู้รับผิดชอบของตลาดไท โทร.0-2264-6264


 


 
ขั้นตอนการสมัครแจ้งชื่อ – นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขทะเบียนรถ ตามแบบฟอร์มที่กำหนด ซึ่งเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับบัตรสมาชิก หรือคูปองเพื่อยกเว้นค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย

สำหรับประเภทของผักที่จะนำเข้ามาร่วมจำหน่ายในโครงการ ไม่ควรเกินคันละ 5 ชนิด ได้แก่ ขิง ต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย ใบกะเพรา ยี่หร่า ใบโหระพา ใบแมงลัก สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว พริกขี้หนูสวน พริกชี้ฟ้า พริกไทยอ่อน ผักสลัด กะหล่ำ ผักกระเฉด ผักโขมจีน


 


 
ผักบุ้ง ฟักเขียว มะเขือ มะเขือพวง มะระจีน มะละกอดิบ ยอดมะพร้าว น้ำเต้าอ่อน บัว หน่อไม้ กล้วย (ฝัก) มะกอก กระถิน ส้มป่อย ยอดมะขาม กระเจี๊ยบแดง แค ขี้เหล็ก มะรุม ผักกาดสร้อย ผักก้านจอง ผักโขม ผักขะแยง ผักติ้ว ผักปลัง ทองหลาง ยอ กวางตุ้ง

ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักโสภณเขียวปลี คะน้าฮ่องกง ดอกหอม ฟักแม้ว หัวไชเท้า กระเจี๊ยบเขียว กุยช่าย ข้าวโพดอ่อน คะน้า ชะอม แตงกวา แตงร้าน ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ถั่วพู บวบ หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด เห็ดพื้นบ้าน ย่านาง ตำลึง ผักหวาน ผักกูด สะเดา ผักแพว


 


 
ผักไผ่ สลิด/ขจร โสน ชะพลู เตย บัวบก เพกา มะระขี้นก กระเจียว ยอดกระชาย งิ้ว ลูกกำจัด (มะแขว่น) บอระเพ็ด กระโดน ผักกระทือ ผักพาย ผักแว่น ผักหนาม ยอดฟักทอง ฟักข้าว น้ำเต้า แตงโม (อ่อน) แตงไทย (อ่อน) ทั้งนี้ พืชผักที่นอกเหนือจากรายการดังกล่าวต้องจำหน่ายผ่านแผงค้า

ล่าสุด (19 เม.ย. 2563) หน่อไม้ฝรั่งของเกษตรกรจากเพชรบูรณ์ จำนวน 280 กิโลกรัม ได้มีลูกค้าซื้อไปแล้ว 200 กิโลกรัม ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคต้องการสินค้าผักปริมาณมาก-น้อย หรือหลากหลายชนิด ขอเชิญไปสนับสนุนเกษตรกรกันได้ที่พื้นที่พิเศษโครงการผักรวมใจ และเปิดท้ายขายของ บริเวณอาคารตลาดผัก ตลาดไทได้ทุกวัน #ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด


 



 




 



Create Date : 20 เมษายน 2563
Last Update : 20 เมษายน 2563 17:17:16 น.
Counter : 1076 Pageviews.

0 comment
ดันโคราชแหล่งผลิตอาหารสัตว์ TMR ใหญ่สุดในไทย
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อโคราชวากิวขามทะเลสอ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา  ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมปศุสัตว์ กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
 
โดยในแต่ละจังหวัดได้มีการดำเนินการ อาทิ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ การประชาสัมพันธ์ และรับรองคุณสมบัติเบื้องต้นของกลุ่มเกษตรกรเพื่อขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ไปแล้วนั้น
 


 
เพื่อให้โครงการฯ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง ในวันนี้จึงได้ลงพื้นที่เพื่อดูแหล่งผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ หรือ feed center ในแต่ละจังหวัด เพื่อผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ รองรับการขยายตัวของการเลี้ยงสัตว์ในโครงการฯ และลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด

โดยเบื้องต้นได้เลือก จ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดนำร่อง เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ มีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้น 8,931,032 ไร่ มีพืชเศรษฐกิจ 3 อันดับแรก คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้ง เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งเสริมด้านปศุสัตว์ โดยเน้นย้ำกรมปศุสัตว์สนับสนุนให้เกษตรกรที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ได้มีอาชีพอื่นที่เกี่ยวเนื่อง โดยการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว




 
สำหรับวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อโคราชวากิวขามทะเลสอ ก่อตั้งเมื่อเดือน มีนาคม 2560 วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อลูกผสมให้มีคุณภาพมาตรฐานและครบวงจร รวมทั้งผลิตอาหารสัตว์จำหน่าย และถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร

ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยที่มีอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 37  ราย มีแม่โคพื้นฐานจำนวน 412 ตัว โคขุนจำนวน 198 ตัว รวม 600 ตัว โดยเกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ รองรับการขยายตัวของการเลี้ยงสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด


 


 
ซึ่งพืชอาหารสัตว์ที่ใช้ผลิต คือ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ซึ่งเป็นพืชอาหารสัตว์ที่มีศักยภาพให้ผลผลิตและมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยมีพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 จำนวนกว่าพันไร่ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ จึงมีแผนจะขยายเพิ่มขึ้นอีก 500 ไร่

จากการสอบถามเกษตรกร ทราบว่า แปลงหญ้าดังกล่าวได้รับประโยชน์จากโรงงานแป้งมันที่ตั้งอยู่ข้างเคียงสนับสนุนในการจัดทำระบบส่งน้ำเสียจากโรงงานซึ่งกลายเป็น "ปุ๋ยน้ำชั้นยอด" สำหรับการผลิตหญ้าของเกษตรกร โดยไม่คิดมูลค่า


 


 
ทำให้โรงงานไม่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนอันเนื่องมาจากน้ำเสียเช่นในอดีตอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นช่องทางในการสร้างงาน/อาชีพใหม่ที่มั่นคงของคนในชุมชน ซึ่งนับว่าเป็นต้นแบบที่ดีในการอยู่ร่วมกันของทุกภาคส่วน เป็นต้นแบบในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการผลักดันของกรมปศุสัตว์ ภายใต้ชื่อ "DLD Model"

"กระทรวงเกษตรฯ จะร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายสนับสนุนแนวทางเช่นนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะนี่คือโอกาสของประเทศ เราจะใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนปัญหาให้เป็นอาชีพ ปรับความขัดแย้งสู่ความร่วมมือ เพื่อความมั่นคงของชุมชน ของชาติต่อไป" นายประภัตร กล่าว



 




 





 



Create Date : 18 เมษายน 2563
Last Update : 18 เมษายน 2563 19:29:27 น.
Counter : 1028 Pageviews.

0 comment
"ประพัฒน์"ชงมาตรการสร้างชนบทเข้มแข็งฝ่าวิกฤตโควิด-19
NB98นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคการเกษตรเป็นภาคที่มีความสำคัญมากในด้านการผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงของชาติ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ของชาติทุกครั้งภาคการเกษตรเป็นเบาะรองรับ ณ วันนี้ภายใต้วิกฤตโควิด-19 ภาคการเกษตรไทยยังคงทำหน้าที่ได้อยู่แต่ก็อ่อนแอมาก พึ่งตนเองไม่ได้ ล้มละลายทางเศรษฐกิจ การผลิตไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ หนี้สินรุงรังมาก

อยากเห็นการแก้ปัญหาจากภาครัฐเพื่อให้ภาคเกษตรเป็นที่พี่งในระยะยาวได้ และสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคชนบท โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติได้เสนอมาตรการเยียวยาภาคการเกษตร คือ มาตรการระยะสั้น เงินสดที่จะส่งตรงถึงมือเกษตรกร ซึ่งเห็นด้วยกับมาตรการเยียวยานี้จากรัฐบาลเพราะจะมีผลให้กำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น เกิดกระแสเงินหมุนเวียน มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ความเดือดร้อนน้อยลงหากได้ถึงระยะเวลา 6 เดือนจะยิ่งดี


NB98ด้วยภัยแล้งที่เป็นปัญหาถมทับและซ้ำเติมจึงมีมาตรการเพิ่มเติม คือ ขอให้รัฐบาลพักหนี้ทั้งระบบ ไม่จ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ย แต่ให้คงสภาพหนี้ไว้ระยะเวลา 6 เดือนเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤต โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในระหว่างพักหนี้ รวมทั้งขอให้ผ่อนปรนกรณีเช่า/ซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรไม่ให้เกิดการยึดคืนในระหว่างนี้  
 


 
ทั้งนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนให้การเกษตรในภาคชนบทปรับโครงสร้างให้มีความมั่นคง ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งโครงสร้างการผลิตภาคครัวเรือนต้องมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อจะลดแรงปะทะจากความเสี่ยงรอบด้าน สนับสนุนให้เกษตรกรได้มีความรู้ให้มากขึ้น ขอให้มีมาตรการ/นโยบายในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น

NB98ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) มีองค์ความรู้และงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยอะมากอยู่แล้วสามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่เชื่อมประสาน สภาเกษตรกรแห่งชาติพร้อมทำหน้าที่ประสานให้

ขอเพียงรัฐบาลมีคำสั่งที่ชัดเจน ไม่งั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต่างคนต่างทำงานกันเหมือนเดิม ท้ายสุดเมื่อผ่านพ้นวิกฤตทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม อยากให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้กลับไปเริ่มต้นใหม่ (Set Zero) โดยภาครัฐจัดตั้งกองทุนประเดิมภายใต้ ธ.ก.ส.เป็นพี่เลี้ยงและเจ้าภาพให้ รัฐอุดหนุนดอกเบี้ยให้ธกส.


NB98อย่างไรก็ตาม ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า ส่วน มาตรการระยะยาว ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต รัฐบาลอาจสนับสนุนงบประมาณ 50,000 ล้านบาท ให้เกษตรกรทำเรื่องเสนอภายใต้กรอบที่มีให้ คือ ไม่มีดอกเบี้ย 5 ปี โดยต้องไม่รับเงินชดเชยจากภาครัฐอีกต่อไป เกษตรกรไทยต้องยืนบนลำแข้งตัวเองให้ได้ เกษตรกรเองต้องตัดสินใจไม่เช่นนั้นต้องเลิกอาชีพนี้



 




 



Create Date : 14 เมษายน 2563
Last Update : 14 เมษายน 2563 20:15:38 น.
Counter : 543 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments