All Blog
"ซินเจนทา"จัด Corn Expoโชว์นวัตกรรมข้าวโพดสายพันธุ์ใหม่สู้ภัยแล้ง
ซินเจนทา จัด Corn Expoโชว์นวัตกรรมข้าวโพดสายพันธุ์ใหม่สู้ภัยแล้ง และนวัตกรรมผลิตอย่างยั่งยืน ประเทศไทยส่งออกข้าวโพดหวานเป็นอันดับ 1 ของโลก มูลค่าการส่งออกมากกว่า 7.9 พันล้านบาทต่อปี ไปยังตลาดหลักอย่างประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มสหภาพยุโรป

เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวโพดหวานรวม 7.5 ล้านไร่ เพื่อรักษาอันดับการส่งออกสินค้าเกษตรคุณภาพ และต่อสู้ปัญหาภัยแล้งที่กระทบภาคการเกษตร ซินเจนทา จึงได้จัดงานแสดงนวัตกรรมผลิตข้าวโพด หรือ Corn Expo ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการผลิตให้แก่เกษตรกรด้วยนวัตกรรม พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรสู้ภัยแล้ง และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
 
นายพิชญา รุจิรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ซินเจนทา ซีดส์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม (Seed P&S (production and supplier) lead Thailand and Vietnam) เปิดเผยว่า พันธุ์ข้าวโพดนวัตกรรม NK6848





 







 
เป็นพันธุ์ใหม่ล่าสุดของซินเจนทาที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถทนกับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งอย่างประเทศไทย เมล็ดพันธุ์มีความแข็งแรงเติบโตได้ดี ปัญหาเรื่องความแห้งแล้งจะไม่กระทบต่อผลผลิต โดยการปลูกในแปลงวิจัยสามารถให้ผลผลิตสูงประมาณ 1,500-1,800 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการใช้เมล็ดพันธุ์ปกติ 3-5% 

นอกจากเมล็ดพันธุ์ทนแล้งแล้ว ซินเจนทายังพัฒนาสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ฤดูกาล และพฤติกรรมการปลูกของเกษตรกรในแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

อาทิ ข้าวโพดนวัตกรรม NK6253 ระบบรากลำต้นแข็งแรง ฝักยาว กาบหุ้มฝักมิดชิด ทนทานต่อโรค เก็บช้าไม่เป็นราดำ สามารถใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ข้าวโพดนวัตกรรม NK7328 ฝักใหญ่ ได้น้ำหนัก สามารถปรับตัวได้กับดินที่หลากหลาย ทั้งดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย ปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่  หัวใจหลักของซินเจนทาคือให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่มาช่วยเหลือเกษตรกร และภาคการเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน







 







 
นางสาววัชรีภรณ์  พันธ์ภูมิพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนทางธุรกิจ กล่าวว่า ซินเจนทา ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการอารักขาพืชและเมล็ดพันธุ์ตามแผนงาน Good Growth Plan หรือแผนการเติบโตเชิงบวก เพื่อช่วยเกษตรกรต่อสู้กับสภาวะอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลง และช่วยให้เกษตรกรมีวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในระบบการผลิต

การจัดงาน Corn Expo ในครั้งนี้นอกจากซินเจนทาจะมีข้าวโพดสายพันธุ์ใหม่มาให้เกษตรกรสู้ภัยแล้งแล้ว ซินเจนทายังมีเทคโนโลยีเกษตรแบบแม่นยำสูง (precision agriculture technology) ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเครื่องหยอดเมล็ดแม่นยำสูงแบบลมดูด เพราะการหยอดเมล็ด เป็นจุดเริ่มต้นและหัวใจสำคัญที่มีผลต่อจำนวนต้นต่อไร่และคุณภาพของผลผลิตที่ได้

รวมถึงการใช้โดรนเพื่อความแม่นยำในการพ่นปัจจัยการผลิตให้เหมาะสมกับขนาดต้น และจุดที่ศัตรูพืชทำลาย ควบคุมการใช้น้ำ ลดการใช้แรงงานคน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพการป้องกันพืช ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ สิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อม โดยมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมงานกว่า 500 ราย ณ แปลงข้าวโพดบ้านหนองหญ้าอ่อน ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา





 



Create Date : 01 เมษายน 2564
Last Update : 1 เมษายน 2564 17:46:18 น.
Counter : 503 Pageviews.

0 comment
แนะท่องเที่ยวเชิงเกษตรตราดชิมทุเรียนคุณภาพดี
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการสนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องตามความต้องการของตลาด หรือนโยบายตลาดนำการผลิต

ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้ โดยพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานตลอดจน การต่อยอดพัฒนาแหล่งผลิตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นอีกนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เพื่อเพิ่มทางเลือกและบริการที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นการสร้างงานสร้างรายได้และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกร โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 จะเป็นช่วงที่ทุเรียนภาคตะวันออกเริ่มทยอยให้ผลผลิต และจะให้ผลผลิตสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564





 






 
จังหวัดตราด เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและทะเล เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อน เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และสละ

รวมถึงมีขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีเกษตรที่เป็นเอกลักษณ์เหมาะแก่การเรียนรู้และการท่องเที่ยว ซึ่งฤดูกาลทุเรียนที่จะเริ่มในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดได้ส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสวนผลไม้ต่าง ๆ ภายในจังหวัดให้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของ จังหวัดตราด

โดยมีสวนผลไม้คุณภาพที่น่าสนใจภายในจังหวัด 3 จุด ได้แก่ จุดแรก คือ สวนสมโภชน์เกาะช้าง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เป็นสวนทุเรียนบนเกาะกลางทะเล มีความโดดเด่นในเรื่องของความหลากหลายของสายพันธุ์ทุเรียน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการปลูกทุเรียน เก็บข้อมูลการผลิตผ่านระบบคอมพิวเตอร์


โดยการ scan QR code ส่งข้อมูลไปประเมินผลเพื่อคำนวณวันเก็บเกี่ยวทุเรียนได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถผลิตทุเรียนคุณภาพส่งตรงไปยังลูกค้า ผ่านระบบตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักท่องเที่ยว  สามารถเยี่ยมชมต้นทุเรียนดื้อ ทุเรียนแฟนซี และยังมีบริการที่พักนักท่องเที่ยว

สำหรับฤดูกาลทุเรียนนี้จะเปิดสวนให้เยี่ยมชมได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม - มิถุนายน 2564 หากมาเป็นหมู่คณะหรือมาศึกษาดูงาน สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่คุณเฉลิมพล ทัศมากร โทร.086-022-6346

จุดที่ 2 สวนคุณไพฑูรย์ วานิชศรี ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งนนทรี อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เป็นสวนทุเรียนสวนแรกของจังหวัดตราดที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสวนและร่วมกิจกรรมบุฟเฟต์ผลไม้ทุเรียนเกรดคุณภาพ ในราคาคนละ 250 บาท ช่วงประมาณวันที่ 10 เมษายน - มิถุนายน 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. ทุกวัน





 







 
กรณีมาเป็นหมู่คณะต้องติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ที่คุณไพฑูรย์ วานิชศรี โทร. 086-006-0132 และจุดที่ 3 สวนผลอำไพ- Organic fruit ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 8 อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด เป็นสวนผลไม้ที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ จะเปิดให้เที่ยวชมสวนพร้อมบริการบุฟเฟต์ทุเรียนและผลไม้อินทรีย์นานาชนิด ในราคาคนละ 350 บาท ช่วงวันที่ 20 พฤษภาคม – กรกฎาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 16.00 น. ทุกวัน

หากจะมาเป็นหมู่คณะต้องแจ้งล่วงหน้าประมาณ 5 วัน ที่คุณชัยวัฒน์ ปริ่มผล โทร. 081-656-3841 “ขอเรียนว่า แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกำหนดให้แจ้งล่วงหน้า กรณีเดินทางมาเป็นหมู่คณะ เนื่องจากต้องจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในการเยี่ยมชมสวนของแต่ละวันเพื่อความปลอดภัย ตามมาตรการป้องการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด โดยจะมีจุดคัดกรอง การรักษาระยะห่าง และอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ กรมส่งเสริมการเกษตร

จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเที่ยวชมศึกษาเรียนรู้การทำการเกษตรในแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรพร้อมกับรับประทานทุเรียนคุณภาพของจังหวัดตราด รวมทั้งขอเชิญเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศที่พร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดปี ท่านใดต้องการสอบถามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด โทร. 039 511008




 



Create Date : 01 เมษายน 2564
Last Update : 1 เมษายน 2564 17:13:11 น.
Counter : 449 Pageviews.

0 comment
เผยตัวเลขไม้ผลตะวันออก ปี 64 ผลผลิตรวมกว่า 9 แสนตัน
นายชัฐพล สายะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสำรวจข้อมูลเอกภาพของไม้ผลตะวันออก (จันทบุรี ระยอง ตราด) ปี 2564 (ข้อมูล ณ 26 มีนาคม 2564)

โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก พบว่า ไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง มีผลผลิตรวม 900,126 ตัน ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 995,501 ตัน (ลดลง 95,375 ตัน หรือร้อยละ 10)

เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย หนาวเย็นนาน สลับกับมีฝนตกในช่วงปลายปี 2563 จนถึงถึงต้นปี 2564 ทำให้ออกดอกได้น้อย ไม่เต็มต้น โดย ทุเรียน ให้ผลผลิต 575,542 ตัน (เพิ่มขึ้น 25,507 ตัน หรือร้อยละ 5)






 







 
มังคุด 106,796 ตัน (ลดลง 105,549 ตัน หรือร้อยละ 50)เงาะ 197,708 ตัน (ลดลง 12,929 หรือร้อยละ 6) และลองกอง 20,080 ตัน (ลดลง 2,404 ตัน หรือร้อยละ 11) ทั้งนี้ ผลผลิตทั้ง 4 ชนิดจะออกมากช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมไม้ผลทั้ง 4 ชนิด พบว่า ทุเรียน ขณะนี้ ออกดอกแล้วทั้งหมด ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในช่วงแรกเป็นทุเรียนพันธุ์เบา และทุเรียนที่ใช้สารกระตุ้นการออกดอกจะเป็นพันธุ์กระดุมและหมอนทอง ซึ่งเกษตรกรทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมเป็นต้นมาและสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวกลางเดือนกรกฎาคม 2564

โดยผลผลิตจะออกชุกช่วงปลายเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 มังคุด ปีนี้ออกดอกล่าช้าเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้ออกดอกเพียงร้อยละ 50 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะดอกบาน และเป็นผลเล็ก กลาง ใหญ่มังคุดมีหลายรุ่น เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เล็กน้อยตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะเก็บเกี่ยวได้มากที่สุดช่วงเดือนมิถุนายน 2564  





 






 
ด้านลองกอง ขณะนี้ ออกดอกแล้วร้อยละ 60 สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปีหากสภาพต้นลองกองใบเหลืองสลด ขาดแคลนน้ำ ปีนี้การพัฒนาช่อดอกยืดยาวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาและคาดว่าความแห้งแล้งของอากาศ

หลังจากนี้จะส่งผลให้ลองกองออกดอกชุดหลังอีกรอบในช่วงปลายเมษายนถึงพฤษภาคม 2564 เมื่อมีฝนตกกระตุ้นช่วงดังกล่าว ซึ่งเกษตรกรจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงตุลาคม 2564 และจะเก็บเกี่ยวได้มากที่สุดช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ส่วน เงาะ ออกดอกแล้วทั้งหมด

ขณะนี้อยู่ในระยะพัฒนาการขึ้นลูกและเติบโตทางผลเริ่มเข้าเนื้อ และเก็บเกี่ยวได้เล็กน้อย ซึ่งในปีนี้เงาะพันธุ์สีทองและเงาะพันธุ์โรงเรียนการออกดอกและเก็บเกี่ยวจะอยู่ในช่วงระยะเดียวกันอาจจะมีปัญหาการกระจุกตัวของเงาะได้ ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวได้มากช่วงกลางเดือนพฤษภาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิถุนายน 2564





 















 
ปีนี้การเตรียมความพร้อมจัดหาแหล่งน้ำของเกษตรกร และปริมาณน้ำในแหล่งชลประทานต่าง ๆ มีมากกว่าปี 2563 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทำการบินทำฝนเทียมช่วยเหลือเกษตรกรไปบ้างแล้ว สำหรับด้านระบบโลจิสติกส์ที่จะต้องนำสินค้าเข้าสู่ประเทศจีน

คาดว่าจะคล่องตัวมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากผู้ประกอบการด้านการส่งออกของประเทศไทยและจีน ได้มีการประชุมหารือแนวทางร่วมกันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาแล้ว ส่วนแนวทางการรับซื้อทุเรียนในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ล้งและพ่อค้าผู้ส่งออกตั้งราคารับซื้อแบบเหมาสวน ซึ่งมีการจัดแบ่งตามเกรดส่งออกตามมาตรฐาน GAP และ GMP ที่ประเทศจีนกำหนด ราคาอยู่ระหว่างกิโลกรัม 130 – 190 บาท

ราคารับซื้อแบบเหมาสวนล่วงหน้าระหว่างวันที่ 1 – 10 เมษายน 2564 ทุเรียนเกรดมาตรฐานส่งออกเกรด AB ล้งรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 160 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูง เกษตรกรพึงพอใจมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรและผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับคุณภาพ ของทุเรียน และอย่าตัดทุเรียนอ่อนหรือด้อยคุณภาพออกจำหน่าย ซึ่งหากมีการลักลอบตัดทุเรียนอ่อน จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย อย่างเคร่งครัด รวมถึงการยึดใบ GAP ของเกษตรกร และใบ GMP ของผู้ประกอบการ สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจข้อมูล ไม้ผลภาคตะวันออก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 โทร. 0 3835 2435 หรืออีเมล zone6@oae.go.th





 


 



Create Date : 01 เมษายน 2564
Last Update : 1 เมษายน 2564 16:53:23 น.
Counter : 494 Pageviews.

0 comment
"แม็คโคร"หนุนชาวสวนแตงโม"บ้านบุโบย"รับซื้อเข้าทุกสาขา
บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) จัด “งานกินแตงโมร่วมใจ เพื่อเกษตรกรไทยสู่มาตรฐานอย่างยั่งยืน” สนับสนุนเกษตรกรจังหวัดสตูล ดันผลไม้ขึ้นชื่อ “แตงโมบ้านบุโบย” เข้าสาขา หลังบูรณาการความร่วมมือเกษตรอำเภอ พัฒนาองค์ความรู้ “การตลาดนำการผลิต” เน้นย้ำคุณภาพปลอดภัย เนื้อกรอบ หวานฉ่ำ ยอดขายโตต่อเนื่อง ปีนี้รับซื้อแล้ว 50 ตัน ชาวสวนปลื้มมาถูกทาง

นางสาวนฤมล ชุติปัญญาภรณ์  ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้ออาหารสด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน เป็นช่วงที่แตงโมออกผลผลิตมาก โดยเฉพาะแตงโมบ้าน   บุโบย อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่มีความโดดเด่น เนื่องจากมีแหล่งเพาะปลูกใกล้ชายทะเล ซึ่งใต้ผิวดินมีเปลือกหอย ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ แคลเซียม




 







 
ทำให้แตงโมที่มาจากบริเวณนี้มีเนื้อกรอบแดง หวานฉ่ำ โดยแม็คโครได้บูรณาการความร่วมมือกับเกษตรอำเภอ  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร  ในการพัฒนาองค์ความรู้ ภายใต้หลัก การตลาดนำการผลิต คุณภาพปลอดภัย มาอย่างต่อเนื่องหลายปี จนเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวมีความเข้มแข็ง สร้างรายได้จากแตงโมบ้านบุโบย อย่างมั่นคง

แตงโมบ้านบุโบย เป็นผลผลิตของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรยั่งยืน หมู่ 3  ตำบลแหลมสน อำเภอละงู บนพื้นที่มากกว่า 800  ไร่ และมีเกษตรในพื้นที่กว่า 200 ครัวเรือน สามารถผลิตแตงโมในขนาดต่าง ๆ ได้กว่า 1,800    ตัน / ปี  สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งปกติยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ซึ่งในปีนี้แม็คโครสามารถรับซื้อแตงโมบ้านบุโบยจากเกษตรกรโดยตรง (Direct Sourcing) ได้ประมาณ 50 ตัน และยังมีแผนการรับซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 100-150  ตันในปีต่อ ๆ ไป





 






 
“ในช่วงหน้าร้อนอย่างนี้ แตงโม เป็นผลไม้ไทยที่คนนิยมรับประทานกันมาก  จึงอยากเชิญชวนผู้บริโภคมาร่วมกันอุดหนุนเกษตรกรไทย ซึ่งแตงโมบุโบย มีวางจำหน่ายในหลายสาขาแล้ว  นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมในพื้นที่ ณ แม็คโคร สาขาสตูลด้วยการจัดงานกินแตงโมร่วมใจ เพื่อเกษตรกรไทยสู่มาตรฐานอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่    2 - 4 เมษายนนี้ พร้อมปล่อยรถคาราวาน กระจายไปยังสาขาอื่น ๆ  ที่นอกจากจะสร้างความคึกคัก  กระตุ้นการบริโภคแล้ว ยังช่วยสนับสนุนเกษตรกรในช่วงวิกฤตโควิด-19 ด้วย”

นางสาวนฤมล กล่าวว่าในช่วงที่ภาคท่องเที่ยวยังไม่กลับมา แม็คโครภาคภูมิใจที่ทำให้เกษตรกรในตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีช่องทางจำหน่ายผลผลิตการเกษตรที่มั่นคง มีรายได้เลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าในพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม






 



Create Date : 01 เมษายน 2564
Last Update : 1 เมษายน 2564 16:38:02 น.
Counter : 469 Pageviews.

0 comment
"มกอช."ติดอาวุธการใช้-แสดงเครื่องหมายมาตรฐานสินค้าเกษตรผู้ผลิต
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2564

เพื่อให้ผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ได้รับความรู้ความเข้าใจในการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง โดยมีผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทั่วไป จำนวน 3 มาตรฐาน






 






 
ประกอบด้วย มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ. 9001-2556)  มาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (มกษ. 9000 เล่ม 1) หลักเกณฑ์การปฏิบัติ : หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร (มกษ. 9023-2550) และมาตรฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดีด้านสุขลักษณะอื่นๆ เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้น 45 คน ณ โรงแรมคุ้มภูคํา จังหวัดเชียงใหม่

นายพิศาล กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร และเกษตรอินทรีย์ ความรู้เกี่ยวกับการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ความรู้เกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ (DGT-Farm) และระบบการตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (QR Trace)





 






 
นอกจากนี้ ยังได้มอบป้าย หรือสติกเกอร์เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร เกษตรอินทรีย์ และ GMP

ทั้งนี้ ได้เลือกแปลงเกษตรอินทรีย์ บริษัท รินคำ กรุ๊ป จำกัด และแปลงปลูกผักอินทรีย์ ฟาร์มแม่ปิงเกษตรธรรมชาติ ของนายสุจิตร โนคำ ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้นแบบในการปฏิบัติมาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000 เล่ม 1-2552) สำหรับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย และแปลงเกษตรอินทรีย์ต้นแบบภายใต้โครงการได้รับการสนับสนุนการตรวจสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตร











 
มกอช. จัดจ้างบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานที่ มกอช. ให้การรับรองระบบงานให้เป็นหน่วยรับรองเอกชน (CB) และมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 เป็นผู้ดำเนินการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างให้กับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมีผลตรวจสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรปลอดภัยตามที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งสามารถแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด 





 






 
เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายของโครงการ รวมถึงแปลงอินทรีย์ต้นแบบดังกล่าวได้รับใบรับรองมาตรฐานอินทรีย์จากสถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็น CB ที่ มกอช. ให้การรับรองระบบงานให้เป็นหน่วยรับรองเอกชนและดำเนินการยื่นขอรหัสรับรองให้กับเกษตรกรผ่านระบบศูนย์ควบคุมและตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (Thai TRACES) และระบบกำหนดรหัสรับรอง https://tascode.acfs.go.th (e-Coding)




 



Create Date : 01 เมษายน 2564
Last Update : 1 เมษายน 2564 15:06:55 น.
Counter : 670 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments