All Blog
"ทุเรียนนอกฤดูแปลงใหญ่นครฯ"สร้างมูลค่ากว่าปีละ 280 ล้าน
นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ทุเรียนนอกฤดูของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มผลิตทุเรียนนอกฤดูตำบลตลิ่งชัน”

ภายใต้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตำบลตลิ่งชัน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ความสำเร็จอย่างมาก สามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ยกระดับคุณภาพผลผลิต โดยมีผลผลิตคุณภาพระดับ A ได้รับรางวัลที่ 2 จากการประกวดแปลงใหญ่ ปี 2559 และ 2560 จึงเป็นเครื่องการันตี และสร้างความมั่นใจกับผู้ค้าและผู้บริโภคได้ว่าผลผลิตได้มาตรฐานและมีคุณภาพ

กลุ่มผลิตทุเรียนนอกฤดูตำบลตลิ่งชัน มีการดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2559 ซึ่งเป็นแปลงต้นแบบ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 1,100 ไร่ มีสมาชิกเกษตรกร 119 ราย โดยมีนายพงพัฒน์ เทพทอง เป็นประธานกลุ่ม ด้านสถานการณ์การผลิตทุเรียนนอกฤดูของกลุ่ม เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ยอดนิยมที่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศชื่นชอบ

อีกทั้งตอบสนองต่อการทำนอกฤดูได้ดี ติดผลดก ระยะเวลาสุกแก่ปานกลาง เนื้อหนา รสชาติหวานมัน และเป็นที่ต้องการของตลาดสูง ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 50,157 บาท/ไร่/รอบการผลิต (29.27 บาท/กิโลกรัม)

ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีผลทุเรียนในฤดูกาล และเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ คริสมาสต์ และตรุษจีน ผลผลิตรวมทุเรียนนอกฤดูของทั้งแปลงใหญ่ประมาณ 1,883 ตัน/รอบการผลิต ผลผลิตเฉลี่ย 1.712 ตัน/ไร่/รอบการผลิตผลตอบแทนเฉลี่ย 256,818 บาท/ไร่/รอบการผลิต




 




 
ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 206,661 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 150 บาท/กิโลกรัม การทำทุเรียนนอกฤดูต้องคัดเลือกทุเรียนที่มีสภาพต้นสมบูรณ์เต็มที่ ใบเขียวเข้ม หนาแน่น ควรมีอายุอย่างน้อย 5-15 ปี ทรงพุ่มสูง 8-12 เมตร โดยมีระยะเวลากระบวนการผลิต ตั้งแต่การเตรียมต้น การบังคับออกดอก การช่วยผสมเกสร ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวรวมใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี

สำหรับผลผลิตล่าสุดในรอบการผลิตเดือนตุลาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มสามารถผลิตและส่งออกทุเรียนนอกฤดูคุณภาพทั้งหมดไปยังประเทศจีนไม่น้อยกว่า 1,800 ตัน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรสมาชิกกลุ่มมีมูลค่ารวมกว่า 280 ล้านบาท

การส่งออกทุเรียนนอกฤดูจะแบ่งเป็นเกรดส่งออก ราคาประมาณ 150 – 185 บาท/กิโลกรัม (น้ำหนักประมาณ 1.8 – 6 กิโลกรัม/ลูก) เกรดคละ ราคาประมาณ 140 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรแปลงใหญ่มีการแบ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มย่อย กลุ่มละ 5 -10 ราย

เพื่อวางแผนการผลิตและการตลาดเพื่อกระจายผลผลิตทุเรียนให้มีปริมาณและคุณภาพผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และแต่ละกลุ่มย่อยจำหน่ายผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาประมูลผลผลิต ทำให้ได้ราคาสูงกว่าการจำหน่ายแบบทั่วไปกิโลกรัมละ 5-10 บาท

ผลสำเร็จของกลุ่มทุเรียนนอกฤดูตลิ่งชัน เกษตรกรได้หันมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้น้ำหมักชีวภาพ และตัดหญ้าแทนการใช้ยาฆ่าหญ้า ส่งผลให้สภาพดินดีขึ้น ช่วยให้ต้นทุนลดลงและผลผลิตเพิ่มขึ้น




 





​​​​​​​
การรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนแบบแปลงใหญ่ที่มีการร่วมกันซื้อปัจจัยการผลิต วางแผนการผลิต และรวบรวมผลผลิตจำหน่าย และผลิตทุเรียนคุณภาพ ไม่ตัดทุเรียนอ่อน เน้นตลาดนำการผลิต ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

สามารถสร้างรายได้ให้เกษตกรอย่างมั่นคง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานและมหาวิทยาลัยเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้การผลิตทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ และมีเกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานกิจกรรมของกลุ่มไม่น้อยกว่า 2,000 ราย/ปี

ภาครัฐยังมีนโยบายการประกันภัยพืชผล ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกร ในการจัดระบบการเงิน เพื่อคุ้มครองต้นทุนการผลิตเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ คุ้มครองปริมาณผลผลิตที่ลดต่ำลง และคุ้มครองราคาผลผลิตที่ผันผวน

ช่วยสร้างเสถียรภาพทางรายได้และความมั่นคงในอาชีพให้แก่เกษตรกร หากเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตทุเรียนนอกฤดู สามารถขอคำปรึกษา นายพงพัฒน์ เทพทอง กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผลิตทุเรียนนอกฤดูตำบลตลิ่งชัน ตำบลตลิ่งชัน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือโทร 08 4851 5842 ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรและผู้สนใจทุกท่าน





 



Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2564
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2564 16:45:29 น.
Counter : 450 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments