All Blog
สศก.หนุนเลี้ยงแพะเสริมรายได้ มีตลาดรองรับ
นางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการส่งเสริมให้เกษตรกรทำอาชีพเสริมในสวนยางพาราเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่ง “การเลี้ยงแพะ” เป็นสินค้าทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร

เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศมาเลเซีย ดังนั้น สศก. โดย สศท.8 ได้ศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนสินค้าเกษตรที่สำคัญระดับจังหวัดและสินค้าทางเลือกเพื่อเสริมรายได้เกษตรกร ภายใต้โครงการการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map)




 




 
สำหรับสถานการณ์การผลิตแพะเนื้อในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า ปี 2563 เกษตรกรมีการเลี้ยงแพะเนื้อ ในหลายอำเภอ เช่น อ.กาญจนดิษฐ์ อ.พระแสง อ.เมืองสุราษฎร์ธานี เป็นต้น มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ 525 ราย จำนวน 11,720 ตัว นิยมเลี้ยงสายพันธุ์พื้นเมือง เนื่องจากขยายพันธุ์ได้เร็ว มีความทนทานต่อทุกสภาพแวดล้อม ใช้พื้นที่เลี้ยงต่อตัวน้อย

เลี้ยงง่าย กินอาหารพวกพืชได้หลายชนิด ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,717 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 375 บาท ค่าแรงงาน 701 บาท ค่าอาหาร 1,332 บาท และส่วนที่เหลือ 309 บาท เป็นค่ายาป้องกันโรค ค่าเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ โดยแม่แพะ 1 ตัว ให้ผลผลิตลูกแพะประมาณ 1-2 ตัว/รุ่น



 





 
สำหรับแพะเพศเมียจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 8 เดือนไปจนถึงอายุประมาณ 7 ปี ซึ่งแพะจะมีอายุขัยเฉลี่ย 15 ปี เกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้ออายุเฉลี่ย 6-8 เดือน (น้ำหนักประมาณ 31.2 กก.) ราคา 5,023 บาท/ตัว (161 บาท/นน.ตัว 1 กก.) คิดเป็นรายได้สุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 2,306 บาท/ตัว

เกษตรกรยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มด้วยการนำมูลแพะมาทำเป็นปุ๋ยขายในราคากิโลกรัมละ 3 บาท เนื่องจากปุ๋ยมูลแพะมีธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืช และมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ช่วยให้ดินร่วนซุยอีกด้วย




 




 
ด้านสถานการณ์ตลาด ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าฟาร์มเพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้รวบรวมในจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มแพะแปลงใหญ่ในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มแพะแปลงใหญ่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการจัดหาแพะเนื้อเพื่อส่งออกไปประเทศมาเลเซียประมาณ 2,000 – 3,000 ตัว/เดือน

ตลาดแพะเนื้อของภาคใต้ในปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพ อาหารข้นมีราคาสูง และขาดแคลนอาหารหยาบในบางช่วง หรือกรณีการนำเข้าแพะพ่อแม่พันธุ์จากต่างถิ่นก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อ และที่สำคัญผู้บริโภคในประเทศมีเฉพาะกลุ่ม และส่วนใหญ่ยังไม่นิยมบริโภคเนื้อแพะเท่าที่ควร




 




 
ทั้งนี้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้มีแผนงานโครงการส่งเสริม การเลี้ยงแพะตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ และพัฒนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยส่งเสริมการผลิตแพะคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค และได้มาตรฐานฟาร์ม สนับสนุนการผลิตพืชอาหารสัตว์

รวมถึงจัดหาแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคเพื่อกระตุ้นการบริโภคเนื้อแพะเพิ่มขึ้น หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดแพะเนื้อจังหวัดสุราษฎร์ธานี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th

 



Create Date : 28 ตุลาคม 2563
Last Update : 28 ตุลาคม 2563 14:41:26 น.
Counter : 809 Pageviews.

0 comment
"ปศุสัตว์"ย้ำเนื้อสัตว์ปลอดภัย แนะซื้อมีสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK"
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกระแสความสนใจด้านการบริโภคอาหารปลอดภัยของผู้บริโภคในปัจจุบัน มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

จึงผลักดันให้ผู้ประกอบการด้านปศุสัตว์มีการพัฒนากระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่จนถึงการจัดจำหน่าย ให้มีมาตรฐานและร่วมกันยกระดับความปลอดภัยในอาหารสู่ผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว และไข่ไก่ที่ผลิตภายใต้มาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์มีความปลอดภัยอย่างยิ่ง




 




 
โดยเฉพาะเมื่อเลือกซื้อจากร้านจำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและมาตรฐานการจัดจำหน่าย ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ว่า มาจากการเลี้ยงในฟาร์มเลี้ยงมาตรฐาน ผ่านโรงฆ่าสัตว์และแปรรูปเนื้อสัตว์ที่มีใบอนุญาต และผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากพนักงานตรวจโรคสัตว์แล้ว

ผู้บริโภคควรใส่ใจเลือกสินค้าเนื้อสัตว์ จากสถานที่จำหน่ายที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ภายใต้สัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งมีการจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่สะอาดถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค




 




 
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร่วมโครงการนี้ทั้งในตลาดสด ร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ ร้านค้าโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า ถือเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์ม โรงฆ่าสัตว์ จนถึงสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะนำวิธีการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ดีว่า เนื้อหมูต้องมีสีชมพูสดถึงแดง แต่ต้องไม่แดงมาก เนื้อละเอียดไม่หยาบ กลิ่นต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อใช้นิ้วกดเนื้อต้องคืนตัวได้ดีไม่เกิดรอยบุ๋มตามแรงกด ไม่ควรซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นรุนแรง หรือมีเมือกลื่น มีสีคล้ำ หรือเนื้อหมูที่สีซีดเกินไปและมีน้ำซึมไหลออกมาแสดงว่าเป็นเนื้อที่เสื่อมคุณภาพ




 




 
ส่วนเนื้อไก่ที่สดต้องมีเนื้อสีชมพูเรื่อๆ ไม่มีสีแดงมาก หรือไม่ซีดเกินไปจนเป็นสีขาว เนื้อต้องไม่แฟบแบน หนังมีสีขาวอมเหลือง เต่งตึงไม่เหี่ยวย่น และสังเกตที่ภาชนะบรรจุต้องไม่มีน้ำนองออกมาซึ่งแสดงว่าไก่ยังมีความสดอยู่

ที่สำคัญผู้บริโภคควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น ซึ่งจะสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์ได้เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็จะได้บริโภคเนื้อสัตว์ปลอดภัยอย่างแน่นอน






 



Create Date : 27 ตุลาคม 2563
Last Update : 27 ตุลาคม 2563 16:46:52 น.
Counter : 730 Pageviews.

0 comment
กษ.จับมือตลาดทิพย์นิมิตร จำหน่ายสินค้าเกษตรตรงถึงผู้ซื้อและผู้บริโภค
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตลาดทิพย์นิมิตร เพื่อหารือแนวทางสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางตลาดทิพย์นิมิตร

โดยบอกว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด - 19 ที่ส่งผลกระทบกับภาคเกษตรโดยตรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้มีนโยบายการเปิดตลาดในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ




 




 
เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ผลิต ผู้ประกอบการ รวมถึงพี่น้องเกษตรกร ซึ่งทางตลาดทิพย์นิมิตรเองก็มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ และจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้สินค้าเกษตรเข้าถึงผู้ซื้อและผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
    
ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันผลักดัน ขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งตรงตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องของตลาดนำการผลิต และในส่วนของแผนงานต่าง ๆ ที่จะดำเนินการต่อไป




 




 
ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม กรมประมง กรมการข้าว และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เริ่มดำเนินการส่งรายชื่อเกษตรกรที่จะเข้าร่วมให้กับทางตลาดทิพย์นิมิตร ภายในวันที่ 28 - 30 ตุลาคมนี้

เพื่อให้สามารถเริ่มโครงการได้ในวันที่ 13 -17 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งได้เน้นย้ำกับทั้ง 6 หน่วยงาน ในเรื่องของการคัดสรรและตรวจสอบคุณภาพของสินค้าที่กลุ่มเกษตรกรจะนำมาจำหน่ายภายในงานต้องได้มาตรฐาน" ดร.ทองเปลว กล่าว




 
    



 
ได้หารือมาตราการช่วยเหลือผู้เข้าร่วมโครงการ โดยในระยะแรก โดยทางตลาดทิพย์นิมิตรจะฟรีในส่วนของกิจกรรมประชาสัมพันธ์ และคิดค่าน้ำและค่าไฟในราคาเหมาจ่าย วันละ 50 บาท ระหว่างวันที่ 13 - 17 พฤศจิกายน 2563 และหากผู้จำหน่ายสินค้ามีความสนใจขายสินค้าต่อจากระยะเวลากิจกรรม

ทางตลาดจะไม่เก็บค่าเช่าเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 - 20 กุมภาพันธ์ 2564 และในระยะสุดทาย ทางตลาดจะลดค่าเช่าแผง 50% เป็นระยะเวลา 10 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 31 ธันวาคม 2564  

สำหรับกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ที่มีความสนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม กรมประมง กรมการข้าว และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึง 28 ตุลาคม 2563








 



Create Date : 26 ตุลาคม 2563
Last Update : 26 ตุลาคม 2563 19:02:34 น.
Counter : 562 Pageviews.

0 comment
"กรมส่งเสริมการเกษตร"หนุนใช้กล้วยไม้สร้างรายได้เกษตรกร
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เนื่องในวันที่ระลึกคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตร ครบรอบ 53 ปี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้กล้วยไม้ไทยในโอกาสพิเศษนี้ โดยการสั่งพวงมาลากล้วยไม้จากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสมุทรสาคร



 




 
เพื่อกระจายและส่งต่อไปยังเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ของสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด ร้านมานะออร์คิด และร้านกล้วยไม้สาย 4 ทั้งแบบที่ใช้กล้วยไม้ตัดดอกและกล้วยไม้ต้น รวมทั้งใช้กล้วยไม้ตกแต่งสถานที่และจัดทำเป็นของชำร่วยสำหรับผู้มาร่วมงาน ซึ่งสามารถนำต้นกล้วยไม้ไปใช้ปลูกเลี้ยงและประดับอาคารบ้านเรือนต่อไปได้

อีกทั้งช่วยลดปัญหาการทิ้งขยะจากเศษวัสดุเหลือใช้ ถือเป็นการช่วยขยายตลาดกล้วยไม้ไทยในประเทศและส่งเสริมเกษตรกรให้เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป พร้อมใช้ประโยชน์เพิ่มจากเดิมที่เคยนิยมจำหน่ายในรูปแบบตัดดอก ร้อยมาลัย และกระเช้ากล้วยไม้เท่านั้น




 




 
ประกอบกับช่วงเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายนของทุกปี เป็นช่วงที่ดอกกล้วยไม้ออกมามากตามฤดูกาล และเป็นช่วงที่ตลาดต่างประเทศมีงานเทศกาลน้อย จึงมีความต้องการใช้กล้วยไม้ไทยน้อยกว่าช่วงปลายปี – ต้นปี และในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ที่มีหลายเทศกาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งทำให้สถานการณ์การส่งออกกล้วยไม้ของไทยยังไม่อยู่ในภาวะปกติ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานในสังกัด และนอกสังกัด รวมทั้งประชาชนทั่วไปใช้กล้วยไม้ไทยในโอกาสต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการใช้ไม้ดอกไม้ประดับของไทย ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ






 



Create Date : 26 ตุลาคม 2563
Last Update : 26 ตุลาคม 2563 17:26:07 น.
Counter : 803 Pageviews.

0 comment
เกษตรฯเตรียมแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 5.12 ล้านไร่
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ได้พิจารณาวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ศักยภาพน้ำ ความเหมาะสมของพื้นที่ พันธุ์ข้าว แนวโน้มการตลาด และโครงการต่างๆของรัฐบาล ที่จะดำเนินการในช่วงฤดูแล้ง

ทั้งนี้ได้มีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 ทั้งประเทศ จำนวน 5.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 2.61 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 1.12 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.49 ล้านไร่) พืชไร่ พืชผัก จำนวน 2.51 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.97 ล้านไร่) สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีแผนการเพาะปลูก จำนวน 1.04 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กอง 7 จังหวัด มีแผนการเพาะปลูก 0.30 ล้านไร่




 




 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประภัตร โพธสุธน) ได้มีการหารือร่วมกับส่วนราชการ พิจารณาโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 เพื่อขอจัดสรรงบกลางในการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7 โครงการ

ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว) 2) โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพประมงในบ่อดิน (ปลาดุก, ปลาตะเพียนขาว) 3) โครงการเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกรามและปลากินพืชในแหล่งน้ำชุมชน 4) โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก (ไก่พื้นเมือง, เป็ดไข่, เป็ดเทศ)

5) โครงการส่งเสริมปลูกพืชอาหารสัตว์ 6) โครงการสร้างรายได้และพัฒนาอาชีพการเกษตรให้แก่สมาชิกสถาบันเกษตรกร และ 7) โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป




 




 
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ จัดเตรียมรถแบคโฮล รถบรรทุก กระสอบทราย และเครื่องฉีดน้ำปูน (Grout) นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้จัดเตรียมเสบียงอาหารสัตว์ ถุงยังชีพสำหรับสัตว์ คอกสัตว์สำหรับตั้งจุดอพยพสัตว์ และทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่

ได้ดำเนินการอพยพสัตว์แล้ว 4,062 ตัว และแจกจ่ายเสบียงอาหารสัตว์พระราชทาน 39.2 ตัน รวมถึงได้สนับสนุนเรือตรวจประมงน้ำจืดพร้อมเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างไรก็ตาม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนและประเมินความเสียหายหลังน้ำลดต่อไป





 


 



Create Date : 26 ตุลาคม 2563
Last Update : 26 ตุลาคม 2563 16:25:59 น.
Counter : 591 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments