All Blog
"ประภัตร’ดัน 7 โครงการเสริมสร้างรายได้
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด โดยตรวจเยี่ยมศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด ณ ที่ทำการกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านร่องคำ ต.ป่าสังข์ อ.จตุรพักตรพิมาน

จากนั้นเดินทางไปยังกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน บ้านโนนสวรรค์ ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ ว่า จ.ร้อยเอ็ด เป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพที่สำคัญ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 3,019,700 ไร่ เป็นข้าวเหนียว 545,300 ไร่ ข้าวจ้าว 4,100 ไร่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 2,440,400 ไร่ และข้าวตลาดเฉพาะ 29,900 ไร่




 




 
โดยเฉพาะข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่ 986,807 ไร่ เป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยในปี 2563/64 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ดมีเป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุ์ 3,500 ตัน แยกเป็น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 3,300 ตัน ข้าว กข6 จำนวน 200 ตัน มีกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ จำนวน 54 กลุ่ม เกษตรกร 912 ราย พื้นที่ 14,043 ไร่ คาดการณ์ผลผลิตได้ตามเป้าหมาย
 
นายประภัตร กล่าวว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนายกฯ มีความเป็นห่วงและเน้นย้ำให้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ เร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอ คุณภาพต้องดี เนื่องจากขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมและสามารถลดต้นทุน ตลอดจนเร่งศึกษาวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105

เนื่องจากที่ผ่านมาไทยเสียแชมป์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ให้กับเวียดนาม จึงต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไทย ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมามีหลายจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ประชุมร่วมกันกับหน่วยงานในสังกัดเพื่อพิจารณาโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/2564




 




 
อาทิ การปลูกพืชใช้น้ำน้อย (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว) การสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตร การส่งเสริมการเลี้ยงปลาดุก (ปลาตะเพียนขาว) การปลูกพืชอาหารสัตว์  และการเลี้ยงไก่พื้นเมือง (ไก่พื้นเมือง, เป็ดไข่, เป็ดเทศ) เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตามกรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ได้กำหนดรับซื้อข้าวขาวดอกมะลิ 105 จากสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน ในราคา 20 บาท/กก. จากเดิม 15 บาท/กก. ที่ความชื้น 14% นอกรมช.เกษตรฯ ยังได้ชี้แจงทำความเข้าใจในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่อง (โคขุนกู้วิกฤติ โควิด19)  เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ โดยใน จ.ร้อยเอ็ด มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการดังกล่าว  และได้รับการอนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 6 กลุ่ม เป็นจำนวนเงิน 16,300,000 บาท
 
สำหรับ เกษตรกรกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านร่องคำ ต.ป่าสังข์ ทำหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง ในฤดูฝน ปี 2563 มีพื้นที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 515 ไร่ เป้าหมายการผลิต 200 ตัน โดยสามารถผลิตเมล็พันธุ์ข้าวได้คุณภาพตามมาตรฐานของกรมการข้าว และตามเป้าหมายการผลิต




 




 
ในส่วนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน บ้านโนนสวรรค์ เป็นกลุ่มนาแปลงใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง มีพื้นที่ 3,000 ไร่ สมาชิก 182 ราย ดำเนินการโครงการต่างๆ อาทิ  โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 ทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โครงการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด นอกจากนี้กลุ่มยังได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวหอมมะลิไทยอีกด้วย
 





 



Create Date : 31 ตุลาคม 2563
Last Update : 31 ตุลาคม 2563 16:53:31 น.
Counter : 752 Pageviews.

0 comment
"ประภัตร"แจงโคขุนกู้วิกฤติ โควิด19 ปล่อยสินเชื่อแล้ว 16 ล้านบาท
"ประภัตร"ตรวจเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ โคแม่พันธุ์อำเภอศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด ชี้แจงโครงการโคขุนกู้วิกฤติ โควิด19 ปล่อยสินเชื่อแล้ว 16 ล้านบาท

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสตรวจเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรแปลงใหญ่โคแม่พันธุ์อำเภอศรีสมเด็จ บ้านเหล่าดอนไฮ หมู่ 8 ตำบลเมืองเปลือย อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด ว่า กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่โคแม่พันธุ์อำเภอศรีสมเด็จได้รับสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)ในการดำเนินงานตามหลักของเกษตรแปลงใหญ่โคแม่พันธุ์อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด คือการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต การตลาด และการจัดการ




 




 
โดยการเลี้ยงโคแม่พันธุ์เพื่อการผลิตลูกจำหน่าย (โคต้นน้ำ) ตามหลักตลาดนำการผลิต เช่น พันธุ์บราห์มัน ชาร์โรเล่ห์  และแองกัส โดยมีการเชื่อมโยงตลาด กับกลุ่มผู้ผลิตโคขุนในพื้นที่ จึงสามารถดำเนินงานได้เป็นอย่างดี มีสมาชิก จำนวน 46 ราย  มีแม่โคภายในกลุ่ม 468 ตัว  เป็นการเลี้ยงโคแม่พันธุ์ต้นน้ำเพื่อผลิตลูกโคตามสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการ เชื่อมโยงกับกลุ่มที่รับซื้อลูกโคไปเลี้ยงขุนระยะสั้น และมีการเชื่อมโยงกับตลาดอย่างครบวงจร

นอกจากนั้นยังได้นำเสนอโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่อง (โคเนื้อสร้างชาติ)  แก่ประชาชนที่มาร่วมงาน เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ ในจังหวัดร้อยเอ็ด มีกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการดังกล่าว  และได้รับการอนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 6 กลุ่ม เป็นจำนวนเงิน 16,300,000 บาท




 




 
ตลอดจนโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/2564 ที่ทางกระทรวงเกษตรฯ เตรียมนำเสนอ ครม.  อาทิ การปลูกพืชใช้น้ำน้อย (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว) การสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตร การส่งเสริมการเลี้ยงปลาดุก (ปลาตะเพียนขาว) การปลูกพืชอาหารสัตว์  และการเลี้ยงไก่พื้นเมือง (ไก่พื้นเมือง, เป็ดไข่, เป็ดเทศ) เป็นต้น

ทั้งนี้ จ.ร้อยเอ็ด มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จำนวน 100,335 ราย  ชนิดสัตว์ โคเนื้อ 259,162 ตัว โคนม 608 ตัว กระบือ 60,919 ตัว สุกร 100,074 ตัว และ ไก่ จำนวน 4,108,902 ตัว  พื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ 9,145 ไร่  







 



Create Date : 30 ตุลาคม 2563
Last Update : 30 ตุลาคม 2563 17:51:23 น.
Counter : 550 Pageviews.

0 comment
สศก.โชว์ผล Zoning by Agri-Map หลังเกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตช่วยเพิ่มรายได้จริง
นางอัญชนา  ตราโช  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก  (Zoning by Agri-Map) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิต โดยเฉพาะสินค้าข้าวและยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตามแผนที่เกษตรช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

โดยกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จัดทำแผนที่แสดงชั้นข้อมูลความเหมาะสมพืชเศรษฐกิจเพื่อเป็นทางเลือก มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานในพื้นที่ ทั้งการถ่ายทอดความรู้ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วนสำหรับการปรับเปลี่ยนการผลิต



 





 
สศก. ได้ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 24 จังหวัด  พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม จำนวน 138,595 ไร่ เป็นการทำประมง หญ้าเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจอื่น เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง รวมถึงปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และเกษตรผสมผสาน

ในฤดูการผลิตปี 2562/63 เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นกิจกรรมอื่นข้างต้น ร้อยละ 42 ได้รับผลผลิต เช่น อ้อยโรงงาน หญ้าเลี้ยงสัตว์ ทั้งหมดแล้ว ร้อยละ 21 ได้ผลผลิตบางส่วน  อีกร้อยละ 37 ยังไม่ได้รับผลผลิต เนื่องจากอยู่ในระหว่าง รอการเก็บเกี่ยว และเป็นไม้ผลไม้ยืนต้น ซึ่งให้ผลตอบแทนในระยะยาว เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 89 ยังคงผลิตสินค้าที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรร้อยละ 28 ต้องการขยายพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 5 ไร่




 




 
ด้านการประเมินผลทางเศรษฐกิจ พบว่า ทุกชนิดสินค้าที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าว โดยผลตอบแทนสุทธิการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สูงกว่า 2,696 บาท/ไร่/ปี อ้อยโรงงาน สูงกว่า 1,408 บาท/ไร่/ปี เกษตรผสมผสาน สูงกว่า 643 บาท/ไร่/ปี  ประมง สูงกว่า 286 บาท/ไร่/ปี  และหญ้าเลี้ยงสัตว์  สูงกว่า 285 บาท/ไร่/ปี  

"ในภาพรวมเกษตรกร พึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด เนื่องจากได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วน ไม่ต้องลงทุนปรับเปลี่ยนด้วยตนเองมากนัก หลังจากได้รับผลผลิตแล้วช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรที่ทำประมงและเกษตรผสมผสานสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือนได้"




 




 
การดำเนินโครงการในระยะต่อไปควรดำเนินกิจกรรมสนับสนุนปัจจัยการผลิต ถ่ายทอดความรู้สำหรับการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

รวมทั้งผลักดันให้สหกรณ์เข้ามามีบทบาท ในการจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มอีกทางหนึ่ง โดยเกษตรกรที่สนใจปรับเปลี่ยนการผลิตตามพื้นที่ Agri-Map สามารถขอคำแนะนำได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดในพื้นที่

 

ผลตอบแทนเกษตรกร หลังปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map ปีงบประมาณ 2562

 






 
 



Create Date : 30 ตุลาคม 2563
Last Update : 30 ตุลาคม 2563 15:15:34 น.
Counter : 1082 Pageviews.

0 comment
พบถั่วเขียวต้องสงสัยโรคใบด่าง
กรมวิชาการเกษตร  ลุยตรวจแปลงถั่วเขียวเมืองชาละวันและมะขามหวาน  หลังพบอาการใบด่างเหลืองแปลงถั่วเขียวจังหวัดชัยนาทและนครสวรรค์ 6,000 ไร่   ดึงกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นแนวร่วมปูพรมสำรวจพื้นที่ปลูกถั่วเขียวทั่วประเทศ  ชี้ความรุนแรงโรคขั้นสุดเก็บผลผลิตไม่ได้  เตือนเกษตรกรตื่นตัวหากพบอาการต้องสงสัยใบด่างแจ้งสายด่วนทันที

นายพิเชษฐ์   วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท  ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์  และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่สำรวจแปลงปลูกถั่วเขียวของเกษตรกรที่จังหวัดชัยนาทและนครสวรรค์  เนื่องจากได้รับรายงานพบถั่วเขียวมีลักษณะใบด่างเหลือง




 




 
จึงได้เก็บตัวอย่างใบ ยอด ของถั่วเขียวที่แสดงอาการใบด่างคล้ายไวรัสนำกลับมาตรวจวินิจฉัยภายในห้องปฏิบัติการของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  ซึ่งผลการตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส 2 วงศ์ คือ  Geminiviridae : Begomovirus และ Potyviridae : Potyvirus

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจำแนกชนิดของเชื้อสาเหตุเพื่อให้ทราบชื่อและชนิด  เพื่อยืนยันลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อทั้งทางด้านชีววิทยา การถ่ายทอดโรค สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผลกระทบ และมาตรการในการป้องกันกำจัดโรค




 




 
สถานการณ์การระบาดในขณะนี้พบถั่วเขียวแสดงอาการคล้ายไวรัสที่ อ.ตากฟ้า และ อ.ไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ประมาณ 4,000 ไร่  อ.ลานสัก และ อ.บ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี พบประมาณ 2,000 ไร่  โดยลักษณะอาการที่พบคือใบมีลักษณะด่างเหลือง การออกดอกและติดฝักน้อย

อาการนี้จะพบในทุกระยะการเจริญเติบโต กรณีติดฝัก ฝักจะมีลักษณะโค้งงอ  เล็กลีบ  ดังนั้นจึงต้องมีการสำรวจและเก็บตัวอย่างลักษณะอาการใบด่างของถั่วเขียวในแหล่งปลูกถั่วเขียวในประเทศไทย  และกำหนดมาตรการในการป้องกันกำจัด เพื่อเป็นการจำกัดขอบเขตของโรคนี้ไม่ให้ลุกลามไปยังแหล่งปลูกถั่วเขียวอื่น ๆ ที่ยังไม่มีการระบาดของโรค 

ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้เร่งสำรวจพื้นที่ปลูกถั่วเขียวเพิ่มเติมที่อ.บึงนาราง จังหวัดพิจิตร  ซึ่งมีพื้นที่ปลูกถั่วเขียวทั้งหมดจำนวนประมาณ 26,000 ไร่  อ.วิเชียรบุรี และ อ.เมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่ปลูกทั้งหมดจำนวนประมาณ 155,000 ไร่   โดยขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานการระบาดในเขตพื้นที่ปลูกถั่วเขียวภาคเหนือตอนบน




 




 
เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไม่ให้แพร่กระจายจนส่งผลกระทบในวงกว้าง กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนปฏิบัติงานฉุกเฉินกรณีตรวจพบโรคใบด่างถั่วเขียวในประเทศไทยโดยจัดประชุมชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร และผู้ประกอบการที่รับซื้อ  

รวมทั้งยังได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการสำรวจโรคใบด่างถั่วเขียวพื้นที่ปลูกถั่วเขียวในประเทศไทย โดยแบ่งพื้นที่สำรวจเป็น 2 ระยะ คือ ระยะต้นกล้า (15-20 วันหลังปลูก) และระยะออกดอกติดฝัก (35-45 วันหลังปลูก)  พร้อมกับวางแผนการสำรวจตามคู่มือของกรมวิชาการเกษตรโดยให้กระจายทั่วพื้นที่ปลูกในแต่ละอำเภอ




 




 
ในระยะนี้ขอแจ้งเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังและหมั่นสำรวจแปลงปลูกถั่วเขียวอย่างสม่ำเสมอ  เนื่องจากหากเกิดการระบาดของโรคจะทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์หรือไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย สำหรับแปลงที่พบโรคยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนการไถกลบได้  แต่ต้องไม่เก็บเมล็ดจากแปลงที่เป็นโรคไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์  

ควรปลูกพืชหมุนเวียน ใช้เมล็ดพันธุ์สะอาดและควรทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกครั้ง  หากพบแปลงปลูกใดมีใบลักษณะด่างเหลือง ออกดอกและติดฝักน้อย  ฝักมีลักษณะโค้งงอเล็ก ลีบ  ขอให้แจ้งสายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างถั่วเขียว 06 1415 2517  หรือ กลุ่มวิจัยการกักกันพืช กรมวิชาการเกษตร  โทรศัพท์ 0-2561-2145 ต่อ101





 



Create Date : 30 ตุลาคม 2563
Last Update : 30 ตุลาคม 2563 14:45:53 น.
Counter : 1062 Pageviews.

0 comment
ปลูกพืชอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีรายได้เพิ่มกว่าแสน
กรมวิชาการเกษตร  เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ผลิตพืชอินทรีย์นำร่องนครพนมและกาฬสินธุ์  ทดสอบเทคโนโลยีใส่ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินพร้อมใช้ชีวภัณฑ์กำจัดโรคและแมลงเปรียบเทียบวิธีของเกษตรกร  ชี้ผลผลิตเพิ่มถึง 20 เปอร์เซ็นต์  ชูชีวภัณฑ์คุมโรคและศัตรูพืชได้ผล  ผุดแปลงต้นแบบตามเทคโนโลยี 16 แปลง  สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 1 แสนบาท / ไร่

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ จำนวน 570,409  ไร่   ส่วนใหญ่เป็นข้าวอินทรีย์ร้อยละ 59 พืชไร่ร้อยละ 15 และพืชผักผลไม้ผสมผสาน ร้อยละ 13  ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรทั้งหมดของไทยถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก  




 




 
โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังมีค่อนข้างน้อย  และส่วนใหญ่ยังไม่เข้าสู่มาตรฐาน  ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์และนครพนมถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาและส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งสภาพพื้นที่และนโยบายของจังหวัดที่ต้องการให้การผลิตภาคเกษตรเปลี่ยนเป็นระบบการผลิตแบบอินทรีย์ 

ปัจจุบันมีการผลิตข้าวอินทรีย์เป็นหลักในขณะที่พืชชนิดอื่นยังมีน้อย  เนื่องจากกระบวนการผลิตค่อนข้างยุ่งยาก  และผู้ผลิตยังขาดความรู้ด้านการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ   และขาดวิธีการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม

ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มแหล่งผลิตและผลผลิตพืชอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และนครพนมตามยุทธศาสตร์จังหวัดและความต้องการของเกษตรกร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม  และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น 

เป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินการพัฒนาการผลิตผักอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์และนครพนมโดยคัดเลือกเกษตรกรจังหวัดละ 5 รายที่มีความพร้อมเข้าร่วมการทดสอบเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารสำหรับการผลิตผักอินทรีย์และการจัดการศัตรูพืช




 




 
โดยใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชซึ่งเป็นเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรเปรียบเทียบกับวิธีของเกษตรกร โดยเลือกพืชทดสอบที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 3 ชนิด ได้แก่ กวางตุ้ง กะหล่ำปลี และคะน้า  ส่วนจังหวัดนครพนมเลือกพืชทดสอบ 2 ชนิด ได้แก่ กวางตุ้ง และหอมแบ่ง  ซึ่งเป็นพืชเดิมที่เกษตรกรปลูกเป็นที่ต้องการของตลาดและมีปัญหาด้านโรคและแมลงศัตรูพืช    

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  ผลจากการทดสอบเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรพบว่าเทคการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินและปุ๋ย การควบคุมการระบาดของด้วงหมัดผักและหนอนกินใบโดยใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงสายพันธุ์ไทย  การควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าและต้นกล้าเน่าโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมปุ๋ยหมักคลุกดิน หรือรองก้นหลุมพร้อมปลูก การควบคุมโรคใบไหม้ของหอมแบ่งและโรคราน้ำค้างของคะน้าโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมน้ำพ่น  

สามารถควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดีทำให้ได้ผลผลิตผัก 3 ชนิดที่ทดสอบในจังหวัดกาฬสินธุ์เพิ่มขึ้นมากกว่าวิธีการของเกษตรกรถึง 20 เปอร์เซ็นต์   โดยกะหล่ำปลีได้ผลผลิต 3,218 กิโลกรัม/ไร่ คะน้า ได้ผลผลิต 1,090 กิโลกรัม/ไร่  และกวางตุ้งได้ผลผลิต 1,567 กิโลกรัม/ไร่  ส่วนที่จังหวัดนครพนมได้ผลผลิตกวางตุ้ง 1,713 กิโลกรัม/ไร่  และหอมแบ่งได้ผลผลิต 1,671 กิโลกรัมต่อไร่  ซึ่งมากกว่าวิธีเกษตรกร 17 เปอร์เซ็นต์  

ทั้งนี้จากผลการทดสอบใน 2 จังหวัดจะเห็นได้ว่าวิธีการจัดการปุ๋ยและศัตรูพืชโดยใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีปฏิบัติของเกษตรกร  รวมทั้งยังช่วยควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดีกว่าอย่างเห็นผลชัดเจน   แม้จะพบแมลงศัตรูพืชอยู่บ้างแต่ในปริมาณน้อยเนื่องจากบางส่วนแพร่กระจายมาจากวิธีเกษตรกร




 




 
ศูนย์วิจัยทั้ง 2 แห่งได้ขยายผลงานวิจัยดังกล่าวสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันมีแปลงต้นแบบการผลิตผักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรที่จังหวัดนครพนม 12 แปลง   และจังหวัดกาฬสินธุ์ 4 แปลง  ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรถึง 115,935 บาท / ไร่ 

โดยแปลงต้นแบบดังกล่าวได้เป็นจุดสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชอินทรีย์ให้เกษตรกรรายอื่นๆ ซึ่งมีเกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้มีแปลงของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและเกษตรกรเครือข่ายได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการผลิตพืชอินทรีย์ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 33 แปลง พื้นที่ 336 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 572 ตัน จังหวัดนครพนม 18 แปลง พื้นที่ 67 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 101 ตัน  

นอกจากนี้เกษตรกรยังได้นำวิธีการจัดการศัตรูพืชตามเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรไปประยุกต์ใช้กับพืชอื่นอีกหลายชนิดทั้งในกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์  เกษตรปลอดภัยจากสารพิษ  และเกษตรกรทั่วไปด้วย 





 
 



Create Date : 28 ตุลาคม 2563
Last Update : 28 ตุลาคม 2563 15:16:38 น.
Counter : 549 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments