All Blog
"นฤมล"กำชับ"กรมชลประทาน"จัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ


"นฤมล"กำชับ"กรมชลประทาน"จัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ รับมือฤดูฝน พร้อมเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง ย้ำ"ประชาชนและเกษตรกร"ต้องได้ผลกระทบน้อยที่สุด


ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ตนจึงได้กำชับกรมชลประทานให้เตรียมความพร้อมในการรับมือฤดูฝน ปี 2568 อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการรองรับสถานการณ์น้ำอย่างรอบด้าน ติดตามสภาพอากาศ การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง จัดเตรียมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ และการตรวจสอบอาคารชลประทาน





 





รวมถึงให้เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำ และประสิทธิภาพการระบายน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่อาจเพิ่มขึ้น


“กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง และลดผลกระทบที่จะเกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรให้ได้มากที่สุด “ศ.ดร.นฤมล กล่าว





 





ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า ปีนี้ฝนตกมาตั้งแต่เดือน พ.ค.ซึ่งถือว่า มาไวกว่าปกติ และมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม สถานการณ์น้ำในปัจจุบันนั้น ประเทศไทยมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งสิ้น 43,220 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 57% ของความจุรวม ยังเพียงพอที่จะรับน้ำได้อีก 43% หรือ 33,270 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เราก็จะไม่ประมาท และได้กำชับเรื่องการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ


รวมถึงพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณน้ำ และตรวจตราประตูระบายน้ำ และคันกั้นน้ำต่างๆ ให้พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ สิ่งสำคัญ คือ การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย



 




 

 



Create Date : 16 มิถุนายน 2568
Last Update : 16 มิถุนายน 2568 16:18:07 น.
Counter : 85 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 
ตรวจความมั่นคงแข็งแรงเขื่อนรับหน้าฝน
 

“รองนายกฯ ประเสริฐ” เรียกประชุม กนช. กำชับทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2568 ป้องกันผลกระทบจากอุทกภัยและดินโคลนถล่ม สั่งตรวจความมั่นคงแข็งแรงเขื่อนและอาคารบังคับน้ำทุกแห่ง


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2568


โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้มีการเตรียมมาตรการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม สำหรับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

  




 






วันนี้จึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการกันทำงานเชิงรุกภายใต้ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 และเน้นย้ำให้มีการติดตามตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารบังคับน้ำ พนังกั้นน้ำ และเขื่อนทุกแห่งอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ หากพบปัญหาให้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน


พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการภายใต้แผนบูรณาการการแจ้งเตือนอุทกภัยทั้งระบบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมรับมือสถานการณ์ได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย แผนฯ ระยะสั้น (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568) และระยะยาว (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2571) โดยให้หน่วยงานเร่งดำเนินการตามแผนระยะสั้น ใน 4 กิจกรรมหลัก


ทั้งนี้ได้แก่ (1) ปรับปรุงความถูกต้องและความแม่นยำของระบบตรวจและการคาดการณ์ (2) บูรณาการข้อมูลและการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน (3) เสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ และ (4) พัฒนาแผนประชาสัมพันธ์และการแจ้งเตือนภัย เพื่อให้ทันฤดูฝนที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคมนี้






 






นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ด้านทรัพยากรน้ำในสภาวะวิกฤต โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนฯ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยในสถานการณ์วิกฤตด้านน้ำให้ทันสถานการณ์และสามารถลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนได้มากที่สุด


ในขณะที่การรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ยังคงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง หากพบพื้นที่ที่มีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ให้รายงาน สทนช. เพื่อบูรณาการหน่วยงานเข้าแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว


รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้เกิดความยั่งยืน ทั้งน้ำประปาและน้ำบาดาลที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค รวมถึงน้ำในภาคอุตสาหกรรม






 






ที่ประชุมวันนี้จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการที่อยู่ในแผนปฏิบัติการด้านน้ำ ให้สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ เพื่อประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยเร็วและทันต่อสถานการณ์


โดยมอบหมาย สทนช. กำกับ ติดตามความก้าวหน้า และรายงานให้ กนช. ทราบอย่างต่อเนื่อง และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ ซึ่งเป็นการจัดทำแผนตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


มีเป้าหมาย “นิเวศทรัพยากรน้ำได้รับการฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมความมั่นคงน้ำด้านอุปโภคบริโภค ความมั่นคงน้ำภาคการผลิตในพื้นที่เกษตรน้ำฝน และบรรเทาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ” รวม 6 แผนงาน ครอบคลุมการแก้ปัญหาในทุกมิติอย่างเป็นระบบ รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ






 





รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนเมื่อแล้วเสร็จตามแผนทั้งหมดจะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ ได้แก่ ทุกครัวเรือนเข้าถึงระบบประปา และมีน้ำสะอาดใช้เพิ่มขึ้น 4.30 ล้านครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทานที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง 22.36 ล้านไร่ จะได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่การเกษตรที่มีแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ จำนวน 7.88 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 35.24 ของพื้นที่ดังกล่าว


สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดเป็นประจำเกือบทุกปี (จากข้อมูลกรมพัฒนาที่ดิน ปี พ.ศ. 2561 จำนวน 13.25 ล้านไร่) จะได้รับการแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วมจำนวน 1.69 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.75 ของพื้นที่ดังกล่าว


นอกจากนั้น พื้นที่สีเขียวตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี 2562 จะได้รับการฟื้นฟูเพิ่มขึ้นอีก 0.70 ล้านไร่ และเกิดการจ้างแรงงานกว่า 750,000 คน รวมทั้งครัวเรือนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ 6.11 ล้านครัวเรือนอีกด้วย โดยให้ สทนช. เสนอคณะรัฐมนตรีและให้หน่วยงานเตรียมความพร้อมเพื่อเร่งดำเนินงานเมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณต่อไป






 





เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบผังน้ำเพิ่มเติมอีก จำนวน 3 ผังน้ำ ได้แก่ ผังน้ำลุ่มน้ำมูล ผังน้ำลุ่มน้ำป่าสัก และผังน้ำลุ่มน้ำปิง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้หน่วยงานนำผังน้ำในลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกับผังเมืองด้วย


พร้อมทั้งได้รับทราบรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ตามที่ สทนช. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงทบทวนกฎหมายตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561


โดยให้เร่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองในระยะแรก อีกทั้งได้เห็นชอบให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการลุ่มน้ำและหน่วยงานอื่น โดยมอบหมาย สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป




 



Create Date : 09 เมษายน 2568
Last Update : 9 เมษายน 2568 16:21:50 น.
Counter : 250 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 
สทนช.ระดมผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบอาคาร ยืนยันแข็งแรง ปลอดภัย


สทนช.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงการก่อสร้างอาคาร ยืนยันแข็งแรง ปลอดภัย ไม่พบรอยร้าว เสียหาย เร่งประสานผู้มีใบอนุญาตตรวจสอบอาคารอย่างละเอียด ขีดเส้นแล้วเสร็จภายใน 15 วัน ย้ำใช้จ่ายงบประมาณมีประสิทธิภาพตามกฎหมาย

 
นายไพฑูรย์  เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. และประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ (อาคาร สทนช.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงของการก่อสร้างอาคารที่ทำการถาวรหลังจากการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อสร้างความมั่นใจและปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงานก่อสร้างและการใช้งานอาคารในอนาคต ณ อาคารที่ทำการ สทนช. ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี




 
 





 
โดยกล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา สทนช. มีอาคารที่ทำการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง จึงได้เร่งตรวจสอบผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว


สทนช. พร้อมด้วย ผู้ออกแบบอาคารที่ทำการ สทนช. ที่ปรึกษาควบคุมงาน และผู้รับจ้าง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงของการก่อสร้างอาคาร ตลอดจนได้ประชุมหารือร่วมกับทีมงานที่ปรึกษาและกิจการร่วมการค้าเอ็นซีอาร์อีซี ที่ดำเนินการก่อสร้าง


จากการตรวจสอบสภาพอาคารที่ทำการ สทนช. ด้วยการประเมินตามหลักการตรวจสอบภายนอก visual check ไม่พบว่าอาคารมีรอยร้าวหรือส่วนประกอบอื่นเกิดความเสียหายแต่อย่างใด





 
 




 
ในการลงพื้นที่ประเมินความเสียหายอีกครั้ง เพื่อวางแผนในการตรวจสอบความมั่นคงและปลอดภัยของอาคารอย่างละเอียด ทั้งนี้ ในการออกแบบของอาคารที่ทำการ สทนช. เป็นไปตามมาตรฐานของการก่อสร้างอาคารสูงทุกประการ


โดยตระหนักถึงความถูกต้อง มั่นคงและปลอดภัยในทุกขั้นตอนการก่อสร้าง ที่ยึดหลักกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ


ในช่วงระหว่างการก่อสร้างที่ผ่านมา สทนช. ได้มีการติดตามตรวจสอบการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานและขอบเขตข้อกำหนดของงานอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เพื่อให้สามารถใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน สร้างขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ สทนช. ในการปฏิบัติหน้าที่บูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561





 





 
เพื่อยืนยันความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้างอาคาร สทนช. ได้มีการสั่งหยุดงานชั่วคราว และได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงาน ประสานผู้มีใบอนุญาตตรวจสอบอาคารอีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568


โดยหลังจากการตรวจสอบจากผู้มีใบอนุญาตตรวจสอบยันยันถึงความปลอดภัยแล้ว จึงจะอนุญาตให้คนงานเข้าดำเนินการก่อสร้าง พร้อมทั้งได้เร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป


สำหรับอาคารที่ทำการ สทนช. ดำเนินการก่อสร้างโดย กิจการร่วมการค้า เอ็นซีอาร์อีซี ซึ่งประกอบด้วย บริษัทเนาวรัตน์ พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR ถือหุ้น 51% และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CREC ถือหุ้น 49% ซึ่งชนะการประกวดราคาโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) ด้วยราคา 716.45 ล้านบาท





 





เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 16 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น เริ่มก่อสร้างในเดือนสิงหาคม 2562 มีระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน (540 วัน) แต่ได้มีการขยายระยะเวลาก่อสร้าง เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้วประมาณ 99% คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2569

 
อาคารที่ทำการ สทนช. สร้างบนเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน ในพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่บางส่วนของกรมชลประทาน โดย สทนช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง



ออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่เลือกใช้กระจกชนิดที่มีค่าการส่งผ่านความร้อนต่ำ (U-value) เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดเข้าสู่ตัวอาคาร ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับระบบปรับอากาศได้เป็นจำนวนมาก





 





 
อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของกระจกยังไม่ทำให้เกิดการสะท้อนความร้อนไปรบกวนพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย พร้อมกับจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


สทนช. ยังได้พิจารณาคัดเลือกโครงการนี้เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ของกรมบัญชีกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และเป็นอาคารเขียวตามมาตรฐาน Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability for New Construction (TREE-NC) ของสถาบันอาคารเขียวไทย


เป็นอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้องค์ประกอบ สถานที่ยั่งยืน ระบบคมนาคมขนส่งสะดวก และมีประสิทธิภาพการใช้น้ำของอาคาร เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรอีกด้วย







 






 



Create Date : 01 เมษายน 2568
Last Update : 1 เมษายน 2568 16:04:24 น.
Counter : 199 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 
ไทย - เกาหลีใต้ หารือทวิภาคีขับเคลื่อนMOUด้านทรัพยากรน้ำ  


ไทย - เกาหลีใต้ หารือทวิภาคีขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้ MOU ด้านทรัพยากรน้ำ

 

ในระหว่างการประชุม The 3rd Mekong-Korea International Water Forum ณ เมืองแทจอน สาธารณรัฐเกาหลี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย   ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. ได้ประชุมหารือทวิภาคีกับ Ms. Hyo-jung Kim อธิบดีกรมนโยบายการใช้น้ำ (Water Use Policy Bureau) กระทรวงสิ่งแวดล้อมสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสองหน่วยงาน 




 
 





สทนช. และกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีขอบเขตความร่วมมือเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ




 





อาทิ การพัฒนาระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านน้ำ และการจัดการคุณภาพน้ำ ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ

การประชุมทวิภาคีในครั้งนี้ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเน้นย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ โดยเสนอจัดการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานร่วม (Joint Steering Committee) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ระยะ 5 ปี





 



 
โดยจะเป็นกรอบแผนงานสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของทั้งสองประเทศภายใต้ MOU รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาเทคโนโลยีเสมือนจริง (Digital Twin) เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ ประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และทันท่วงที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ดียิ่งขึ้น       
 
"ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไทย โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น"
เลขาธิการ สทนช. กล่าว







 




 


 



Create Date : 26 มีนาคม 2568
Last Update : 26 มีนาคม 2568 15:21:04 น.
Counter : 127 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 
"กระทรวงเกษตรฯ"ยืนยันน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ


"กระทรวงเกษตรฯ"เดินหน้าบริหารจัดการน้ำเหนือเร่งรัดการระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยพร้อมวางมาตรการแนวทางการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย


นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (9 ต.ค.67) ว่า ขณะนี้ปริมาณฝนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ลดน้อยลงแล้ว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่สถานีวัดน้ำ P.1 (สะพานนวรัฐ)  อำเภอเมืองเชียงใหม่ ลดต่ำกว่าตลิ่งแล้วประมาณ 93 เซนติเมตร แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดการณ์ว่าภายใน 1-2 วัน สถานการณ์น้ำท่วมขังในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ





 




ส่วนพื้นที่รอบนอกคาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 สัปดาห์ เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดลำพูน ล่าสุดระดับในแม่น้ำปิงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการชลประทานลำพูน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้งตามประตูระบายน้ำ (ปตร.) ต่างๆ ในตัวเมืองลำพูน


อาทิ ปตร.ปิงห่าง ปตร.ร่องกาศ ปตร.ปลายเหมือง ฝายชลขันธ์พินิจ (แม่ปิงเก่า) และ ปตร.ล้องพระปวน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ ปตร.สบทา เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำปิงให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และลำพูนหากไม่มีฝนตกหนักและไม่มีน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลลงมาเพิ่ม คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ สถานการณ์น้ำท่วมเมืองลำพูนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ


ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันยังคงมีปริมาณน้ำสะสมจากทางตอนบนไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างอย่างต่อเนื่อง ทำให้วันนี้(9 ต.ค. 67) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,318 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง แต่ยังคงทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้น





 





กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่  พร้อมคงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต่อเนื่องอยู่ในอัตรา 2,199 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้มากที่สุด ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าวติดต่อกันมา 4 วันแล้ว ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทรงตัว


ในขณะที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่สถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,791 ลบ.ม/วินาที ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำ ในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง


ทางด้านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้วางแผนปรับลดการระบายน้ำลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือในอัตรา 10 ลบ.ม./วินาที ภายในวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค.67) เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ทางตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยจะเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯในช่วงปลายฤดูฝนเดือนสุดท้ายให้ได้มากที่สุดต่อไป




 





สถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่าปัจจุบันวันที่(9 ต.ค. 67) ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสถานี C.2 นครสวรรค์ที่2,326 ลบ.ม./วินาที สมทบกับปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำสะแกกรัง ct.19 อุทัยธานี 41 ลบ.ม./วินาที ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่อัตรา 2,199 ลบ.ม./วิ ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +16.40 ม.รทก. ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน


จึงได้ขอให้โครงการฯ ปรับลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในวันที่ 10 ตุลาคม 2567ทยอยจากอัตรา 2,199 ลบ.ม/วินาที เหลืออัตรา 2,150 ลบ.ม/วินาที และคงอัตราต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างการรับและประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนรับทราบถึงสถานการณ์น้ำ


สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ ปัจจุบัน (9 ต.ค. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 60,444 ล้าน ลบ.ม. (79% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 15,924 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 20,017 ล้าน ลบ.ม. (80% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)  พร้อมทั้งสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 4,854 ล้าน ลบ.ม.





 





 
กระทรวงเกษตรฯ ขอยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ หรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำ ในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ พร้อมปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับน้ำเหนือและฝนตกในพื้นที่ต่อไป


นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการดำเนินงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนระยะเร่งด่วน 3 มาตรการ ได้แก่ 1) การฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด 6 โครงการ 2) การปรับพื้นที่และฟื้นฟูพื้นที่เกษตร 2 โครงการ และ 3) มาตรการลดภารหนี้สินให้สมาชิกสถาบันเกษตรกร 2 โครงการ อีกทั้ง กระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเร่งรัดเพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย พร้อมปรับเกณฑ์ย่นระยะเวลาในการช่วยเหลือ จาก 90 วัน ให้เหลือ 65 วัน อีกด้วย



 




 



Create Date : 10 ตุลาคม 2567
Last Update : 10 ตุลาคม 2567 16:09:03 น.
Counter : 466 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments