All Blog
ชลประทานปรับเพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา
ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เร่งระบายน้ำเพื่อรอรับน้ำเหนือ พร้อมขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (28 ก.ย.64) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,521 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 1.88 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อนไหลไปรวมกับน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง และไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาตามลำดับ







 







 

กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง รวม 306 ลบ.ม./วินาที และปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 2,631 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อบริเวณที่อยู่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่นอกคั้นกันน้ำ เพิ่มสูงขึ้น

 



 







 


ได้แก่ บ้านท่าทราย และตำบลโพนางดำ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท, วัดเสือข้าม วัดสิงห์ ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี อำเภอพรหมบุรี และอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี, คลองโผงเผง วัดไชโย ตำบลเทวราช อำเภอไชโย และอำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง, คลองบางบาล ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ (แม่น้ำน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจะแจ้งให้ทราบต่อไป
 
กรมชลประทาน ได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่กำลังจะมาถึง รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา


 
 
 






 
 



Create Date : 28 กันยายน 2564
Last Update : 28 กันยายน 2564 18:20:28 น.
Counter : 642 Pageviews.

0 comment
"กรมชลประทาน"เร่งระบายน้ำมูลสูงต่อเนื่อง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” ที่อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันที่ 24 – 25 กันยายน 2564 ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสายสำคัญในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นทาง กรมชลประทาน ได้ประสานจังหวัดเพื่อแจ้งเตือนประชาชนริมแม่น้ำมูลเตรียมรับมือแล้ว





 







 
อย่างไรก็ตามขณะนี้น้ำจากพื้นที่ตอนบนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนล่าง บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำท่า M.7 (สะพานเสรีประชาธิปไตย) อำเภอเมืองอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,174 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง (ฝั่งอำเภอวารินชำราบ) ประมาณ 21 เซนติเมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในพื้นที่ตอนบน แม่น้ำชี ที่อำเภอเขื่องใน ลำเซบก ที่อำเภอตระการพืชผล ลำโดมใหญ่ ที่อำเภอเดชอุดม ลำเซบาย ที่อำเภอเขื่องใน ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับระดับน้ำที่สูงขึ้นและอาจจะเกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำเซบาย ลำเซบก และลำโดมใหญ่ รวมไปถึงลำน้ำสาขาต่างๆ กรมชลประทาน ได้ประสานแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัดอุบลราชธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดังกล่าว ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเตรียมเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำต่อไปด้วย




 

 



Create Date : 27 กันยายน 2564
Last Update : 27 กันยายน 2564 16:03:06 น.
Counter : 677 Pageviews.

0 comment
"บิ๊กป้อม"ลงพื้นที่อยุธยาติดตามสถานการณ์น้ำ
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)  ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

โดยมี นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน  นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่10 ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล และโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร  อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
 
ทั้งนี้นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 20 -24 ก.ย. 64 จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น






 






ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าจากทางตอนบน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มตามไปด้วย นั้น ปัจจุบัน(22 ก.ย.64 เวลา 06.00 น.) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์  จ.นครสรรค์ มีระดับน้ำในอัตรา 1,937 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 3.77 เมตร

กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรารวม 477 ลบ.ม./วินาที ทำให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,610 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำน้อยและคลองโผงเผง ซึ่งเป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา

ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย โดยได้ทำการแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องแล้ว หากมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้น จะประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบต่อไป

 
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง (ฝั่งตะวันออก ลงคลองชัยนาท-ป่าสัก , คลองชัยนาท-อยุธยา และฝั่งตะวันตก ลงคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน และเเม่น้ำน้อย) ในอัตรารวม 425-500 ลบ.ม./วินาที  พร้อม ควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ไม่เกิน +16.50 ม.(รทก.)






 






 
ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จะผันน้ำเข้าสู่แม่น้ำป่าสัก ผ่านทางประตูระบายน้ำปากแม่น้ำลพบุรี และประตูระบายน้ำปากคลองบางแก้ว ในอัตรารวม 60-80 ลบ.ม./วินาที  เพื่อลดปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา พร้อมทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนทุกภาคส่วนให้รับรู้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำและผลกระทบที่จะเกิดต่อพื้นที่ท้ายน้ำอย่างต่อเนื่อง
 
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง 10 ทุ่ง พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ สามารถหน่วงน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นทุ่งฝั่งตะวันออก สามารถรับน้ำได้ 437 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน(22 ก.ย.64) เริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่งแล้วรวม 22.49 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งฝั่งตะวันตก สามารถรับน้ำได้ 1,017 ล้าน ลบ.ม. เริ่มรับน้ำเข้าทุ่งแล้ว 2.68 ล้าน ลบ.ม.

หลังจากนี้ จะทยอยรับน้ำเข้าทุ่งให้ครบตามเป้าหมาย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่ภาคกลางให้ได้มากที่สุด และยังเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงนี้อีกด้วย

 
ด้านปัญหาอุทกภัยพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจ.พระนครศรีอยุธยา มีลักษณะเป็นคอขวด ทำให้สามารถระบายน้ำได้เพียง 1,200 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับการรับน้ำเข้าคลองโผงเผงและคลองบางบาลไปลงแม่น้ำน้อยทำได้เพียง 530 ลบ.ม./วินาที






 






ทำให้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มักจะประสบปัญหาอุทกภัยอยู่เป็นประจำ กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี(2562-2566) เพื่อบรรเทาอุทกภัยบริเวณตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านแหล่งน้ำสำหรับพื้นที่การเกษตร ปัจจุบัน(22 ก.ย. 64) มีผลดำเนินโครงการฯคืบหน้าไปแแล้วประมาณร้อยละ 20 ของแผนฯ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในแก่พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้เป็นอย่างมาก
 
ในการประชุมร่วมกันในพื้นที่รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน เร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนสุดท้ายให้ได้มากที่สุด พร้อมเตรียมรับมือน้ำหลากโดยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในการหน่วงน้ำ ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด รวมทั้งเร่งดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนหลักของการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ให้แล้วเสร็จตามเป้า พร้อมทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน




 







 



Create Date : 22 กันยายน 2564
Last Update : 22 กันยายน 2564 18:02:57 น.
Counter : 605 Pageviews.

0 comment
"กรมชลฯ"เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ-พื้นที่เสี่ยง 24 ชั่วโมง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ส่งผลให้ระดับน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง ซึ่งได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งดำเนินการตามแผนป้องกันอุทกภัยที่ได้วางไว้ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย และช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด





 






สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ปัจจุบันกรมชลประทาน ได้ให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ อาทิ ที่จังหวัดสุโขทัย ส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่หมู่ 1 ต.คลองยาง อ.สวรรคโลก เพื่อเตรียมสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่หากเกิดสถานการณ์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเสี่ยงเกิดอุทกภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา 







 







 
โดยที่ จ.พิษณุโลก สำนักงานชลประทานที่ 3 ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำอยู่เป็นจำนวนมากตลอดแนวคลองระบายน้ำ DL.1-7R อ.พรหมพิราม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำรองรับฤดูน้ำหลาก และเป็นไปตามแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 นี้
 
ที่ จ.ลพบุรี สำนักงานชลประทานที่ 10 เข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 2 เครื่อง บริเวณหมู่ 5 ต.หัวสำโรง อ.ท่าวุ้ง เพื่อสูบระบายน้ำออกจากนาข้าวที่เกิดน้ำท่วมขัง รวมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ นอกจากนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช ทำการกำจัดวัชพืชบริเวณประตูระบายน้ำปลายแม่น้ำลพบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากนี้อีกด้วย 







 







ส่วนที่ จ.ฉะเชิงเทรา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ได้นำเรือนวัตกรรมขนาดเล็ก เข้าเก็บวัชพืชบริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำบางขนาก และ สถานีสูบน้ำบางขนาก 2 ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำส่วนเกินในพื้นที่ออกสู่แม่น้ำบางปะกงให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน จะดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนหรือหน่วยงานต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา






 





 



Create Date : 16 กันยายน 2564
Last Update : 16 กันยายน 2564 16:41:55 น.
Counter : 578 Pageviews.

0 comment
"ชลประทาน"เร่งช่วยพื้นที่น้ำท่วม-รับสถานการณ์ 24 ชั่วโมง
"กรมชลประทาน"เร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม พร้อมเตรียมรับสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมงนะดมคิดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือเข้าประจำจุดเสี่ยงพร้อมปฏิบัติงาน
 
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายพื้นที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสายหลักเพิ่มมากขึ้น จนไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่ง โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา มีน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(บน-ล่าง) ที่อำเภอด่านขุนทด อำเภอเมือง อำเภอโนนไทย และอำเภอโนนสูง โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่






 






 
ขณะที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่น้ำท่วมบริเวณอำเภอหล่มสัก เนื่องจากเกิดน้ำล้นตลิ่งของแม่น้ำป่าสักที่สถานี S.3 อ.หล่มสัก โครงการชลประทานเพชรบูรณ์ ได้ประสานเทศบาลเมืองหล่มสัก ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง ไว้ในพื้นที่เสี่ยงแล้ว

ส่วนจังหวัดชัยนาท มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร อ.สรรคบุรี บริเวณ ต.บางขุด และต.ดอนกำ จำนวน 3,130 ไร่ โครงการชลประทานชัยนาท  ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 7 เครื่อง พร้อมกับใช้ระบบชลประทานในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ปัจจุบันช่วยเหลือพื้นที่ได้แล้วกว่า 1,180 ไร่ และจะเร่งช่วยเหลือพื้นที่ที่เหลือให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ด้านจังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.สามชุก บริเวณ ต.หนองผักนาก ต.บ้านสระ และที่อ.เมือง บริเวณ ต.สระแก้ว โครงการชลประทานสุพรรณบุรี  ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง พร้อมนำรถแบคโฮ 2 คัน เข้ากำจัดวัชพืชในคลองระบาย เพื่อเร่งการระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น

จังหวัดสมุทรปราการ มีน้ำท่วมขังบริเวณอำเภอบางบ่อ โครงการชลประทานสมุทรปราการ ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีกจำนวน 16 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสถานการณ์น้ำที่อำเภอบางบ่อ กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว






 











 

ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา มีน้ำล้นตลิ่งริมคลองหกวาสายล่าง(ช่วงที่ระดับคันคลองต่ำ) ม.1 ต.ดอนฉิมพลี และ ม.14 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา สูงประมาณ 0.15 เมตร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ได้เร่งระบายน้ำออกทางสถานีสูบน้ำสมบูรณ์ ประตูระบายน้ำปลายคลอง 18-21 ไปลงแม่น้ำนครนายก และประตูระบายน้ำปลายคลอง14-17 ไปลงคลองบางขนาก ก่อนระบายน้ำไปลงแม่น้ำบางปะกง แนวโน้มระดับน้ำเริ่มลดลง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ในช่วง 2-3 วัน หากไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่มเติม
 
อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมควบคุมและบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพเสมอ

รวมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และรถแบคโฮ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงสามารถปฏิบัติงานได้ทันที ที่สำคัญได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานระดับจังหวัด ในการให้ความช่วยเหลือและแจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทาน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา




 



 



Create Date : 14 กันยายน 2564
Last Update : 14 กันยายน 2564 19:04:35 น.
Counter : 511 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments