All Blog
เก็บกักน้ำต่อเนื่อง หลังฝนเริ่มลดลง
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น รวมไปถึงสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ

ดร.ทวีศักดิ์  เปิดเผยภายหลังการประชุมฯว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 48,350 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 24,420 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,688 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,992 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน




 



 

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายุโซนร้อน “เอตาว” ซึ่งจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ และคาดว่าจะสลายตัวบริเวณประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก

ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งบริหารจัดการน้ำโดยเน้นเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด ในส่วนของภาคใต้ขอให้เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วงเดือน พ.ย. 63 – ม.ค. 64 นี้ รวมทั้งเตรียมพร้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยต่างๆ ในพื้นที่ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจในเขตจัวหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด




 




 
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาขาดแคลนน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมวอนพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยต้องช่วยกันประหยัดน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่อย่างจำกัด สามารถสนับสนุนการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลักเท่านั้น

ด้วยปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้เกษตรกรหันมาทำการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิต สำหรับข้าวนาปี 2563 ที่มีบางส่วนปลูกล่าช้านั้น กรมชลประทาน จะช่วยเหลือพื้นที่เหล่านี้ด้วยการใช้น้ำท่าในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ให้ข้าวที่กำลังออกรวงได้รับความเสียหาย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้




 




 
กรมชลประทาน ยังได้สนองนโยบายรัฐบาล ตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ โดยก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง จะเร่งเก็บกักน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูฝนปี 2563 ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับวางแผนสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการประปาส่วนภูมิสาขาต่างๆ และประปาท้องถิ่นด้วย พร้อมติดตามและกำกับการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
    
สำหรับการเตรียมพร้อมด้านอื่นๆ กรมชลประทานได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้ง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วน 1460

 



Create Date : 10 พฤศจิกายน 2563
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2563 17:11:58 น.
Counter : 669 Pageviews.

0 comment
"กรมชลฯ"คิกออฟแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ล่าสุกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 (ระหว่าง 1 พ.ย. 63 – 30 เม.ย. 64) ทั่วทั้งประเทศ วางแผนการจัดสรรน้ำไว้ 15,701 ล้าน ลบ.ม.

แยกเป็นน้ำอุปโภคบริโภค 2,578 ล้าน ลบ.ม. (16%) รักษาระบบนิเวศ 7,615 ล้าน ลบ.ม.(49%) เกษตรกรรม 5,120  ล้าน ลบ.ม.(33%) อุตสาหกรรม 388 ล้าน ลบ.ม. (2%) และสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2564 (พ.ค. - ก.ค.)อีกประมาณ 10,156 ล้าน ลบ.ม.




 




 
เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ไว้ประมาณ 5,771 ล้าน ลบ.ม. เน้นสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้เกษตรกรหันมาทำการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิต

สำหรับข้าวนาปี 2563 ที่มีบางส่วนปลูกล่าช้านั้น กรมชลประทาน จะช่วยเหลือพื้นที่เหล่านี้ด้วยการใช้น้ำท่าในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ให้ข้าวที่กำลังออกรวงได้รับความเสียหาย
สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(5 พ.ย. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ




 




 
มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 47,907 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 23,977 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวมกัน 12,525 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,829 ล้าน ลบ.ม.

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ในแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 (ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2563 - 30 เม.ย. 2564) และมาตรการรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง




 




 
ประกอบด้วย เร่งเก็บกักน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูฝนปี 2563 สนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค กปภ.สาขาต่าง ๆ และวางแผนรองรับในพื้นที่เสี่ยงขาคแคลนน้ำ วางแผนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง โครงการชลประทานขนาดใหญ่ และแหล่งน้ำธรรมขาติขนาดใหญ่ ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน พร้อมติดตามและกำกับให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
 
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อให้มีปริมาณน้ำอุปโภค บริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้งปี 2563/64 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2564 การเฝ้าระวังคุณภาพในลำน้ำสายหลัก และสายรอง เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง เป็นต้น








 
การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกจัดการน้ำเสียตามหลัก 3R การติดตาม ประเมินผล เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 เป็นไปตามแผน รวมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน

ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้ง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา




 




 
สำหรับมาตรการการจ้างแรงงานชลประทาน นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 นี้ ได้กำหนดเป้าหมายการจ้างแรงงานไว้ประมาณ 94,248 คน โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้

เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือเกษตรกรในพื้นที่ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ ประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่ และหากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอให้พิจารณาจ้างเกษตรกร หรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ    





 



Create Date : 06 พฤศจิกายน 2563
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2563 15:49:17 น.
Counter : 782 Pageviews.

0 comment
"องคมนตรี"ติดตามขับโครงการพระราชดำริชุมพร-สุราษฎ์ธานี
พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี  ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  และ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี    รองประธานอนุกรรมการฯ  ลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพร และสุราษฎ์ธานี

สำหรับโครงการอาคารอัดน้ำคลองดินแดงพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2555 ก่อสร้างแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2556 เดิมสามารถกักเก็บน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำช่วยเหลือราษฎร ในการอุปโภคบริโภคจำนวน 140 ครัวเรือน 425 คน และในพื้นที่การเกษตร จำนวน 900 ไร่




 




 
ปัจจุบันมีความสามารถในการกักเก็บลดลง กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการขุดลอกตะกอนดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำดังเดิม แต่ด้วยความต้องการพื้นที่การชลประทานที่มีมากขึ้น แต่มีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ กรมชลประทานโดยสำนักงานชลประทานที่ 14 จึงมีแผนการดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณความจุเก็บกักต่อไป ขณะนี้อยู่ในกระบวนการศึกษา สำรวจและออกแบบ  เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ต่อไป

คณะองคมนตรี ได้เดินทางไปยังโครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำบ้านหัวเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสุราษฎร์ธานี  สำหรับโครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำบ้านหัวเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2553 ก่อสร้างแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2554




 




 
ประกอบด้วยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 2 แห่ง คือสถานีสูบน้ำบ้านหัวเขา 1 และบ้านหัวเขา 2 พร้อมท่อส่งน้ำและคลองส่งน้ำ นับเป็นโครงการที่ช่วยลดปัญหาการสูญเสียน้ำ ให้มีการใช้น้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการชลประทาน โดยสามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตร ได้แก่ มะพร้าว นาข้าว แตงโม ยางพารา พืชล้มลุก และสวนปาล์ม ประมาณ 4,320 ไร่

สำหรับโครงการอาคารอัดน้ำคลองดินแดงพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ​  และ โครงการสถานีสูบน้ำและระบบส่งน้ำบ้านหัวเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ​ เป็นโครงการที่กรมชลประทานรับสนองพระราชดำริจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9​  




 




 
นายสุชาติ​  เจริญศรี​ ​รองอธิบดีกรมชลประทาน  กล่าวว่ากรมชลประทานมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการ "สืบสาน รักษา ต่อยอด"  โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น​




 

 



Create Date : 06 พฤศจิกายน 2563
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2563 14:45:52 น.
Counter : 503 Pageviews.

0 comment
เตือน ! ลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้ำต้นทุนมีน้อยใช้น้ำอย่างประหยัด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวหลังประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 47,097 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 23,977 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,525 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,829 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน




 




 
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายุโซนร้อน “โคนี” (พายุระดับ3 ) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งเมืองดานัง ประเทศเวียดนามในคืนพรุ่งนี้ (5 พ.ย. 63) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในระหว่างวันที่ 6 – 7 พ.ย. 63 บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก



 




 
ได้สั่งการให้โครงการชลประทานที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเดิมโดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที ในส่วนทางภาคใต้ขอให้เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. 63 นี้

รวมทั้งเตรียมพร้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยต่างๆ ในพื้นที่ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจในเขต จ.สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร และสุราษฏร์ธานี เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน จะทำการเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด ซึ่งในส่วนของนาปีที่ปลูกล่าช้า กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาข้าวไม่ให้ขาดแคลนน้ำ จนกว่าจะทำการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ จึงขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก และงดทำนาต่อเนื่องหลังจากเก็บเกี่ยวไปแล้ว




 




 
พร้อมย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ เก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน ร่วมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรให้มากที่สุด และสั่งการให้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ อย่างทั่วถึง 

พร้อมทั้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่เคยถูกน้ำท่วม การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับช่วยเหลือประชาชนหากเกิดวิกฤติ รวมไปถึงการประสานแจ้งเตือนประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้






 



Create Date : 05 พฤศจิกายน 2563
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2563 17:02:40 น.
Counter : 639 Pageviews.

0 comment
ชป.ลุยช่วยพื้นที่ประสบอุทกภัย จากพายุ “โมลาเบ”
กรมชลประทาน เร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุ “โมลาเบ” ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำอย่างเต็มศักยภาพ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายให้ กรมชลประทานบริหารจัดการพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากอิทธิพลพายุ “โมลาเบ” ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล นำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 6 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี




 




 
โดยที่จังหวัดอุบลราชธานี ฝนที่ตกหนัก ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี บริเวณชุมชนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง) น้ำท่วมสูงประมาณ 60-70 เซนติเมตร และชุมชนบูรพา 2 น้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้นำกระสอบทราย 500 ใบ วางเป็นแนวกั้นน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง บริเวณโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง) และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร 50 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำในแม่น้ำมูลให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด

ที่จังหวัดนครราชสีมา สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 172 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 111% ของความจุอ่างฯ แนวโน้มปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่ด้านท้ายอ่างฯ เริ่มลดลง ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 44 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง (สำรองไว้ 13 เครื่อง) พร้อมสนับสนุนรถแบคโฮ 4 คัน เข้ากำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ




 




 
ส่วนที่เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 351 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 111% ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำรวม 2.16 ล้าน ลบ.ม./วัน และยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ ชุมชนบ้านลำเชิงไกร ต.โคกสูง และชุมชนหมื่นไวย ต.หมื่นไวย ทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำบริบูรณ์ บริเวณประตูระบายน้ำ(ปตร.)  จอหอ และ ปตร.ข่อยงาม รวม 9 เครื่อง พร้อมนำรถแบคโฮ 5 คัน เข้าไปขุดลอกคลองสายใหญ่ฝั่งขวา-ปตร.โพธิ์เตี้ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์ให้เร็วขึ้น



 




 
ด้านแม่น้ำมูล มีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในเขต ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย เนื่องจากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงลงแม่น้ำมูล ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 6 ตัว เพื่อเร่งระบายน้ำท้ายเขื่อนพิมาย พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำมูลและลำจักราช

ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีน้ำท่วมขัง 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.สามชุก อ.สองพี่น้อง อ.บางปลาม้า และ อ.อู่ทอง โครงการชลประทานจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 10 เครื่อง บริเวณ ปตร.บางแม่หม้าย ปตร.บ้านกุ่ม ปตร.บางสะแก ปตร.บางหัวบ้าน และ ปตร.สองพี่น้อง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 32 เครื่อง




 




 
ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก 20 เครื่อง บริเวณ ปตร.เภาทะลาย และ ปตร.สองพี่น้อง พร้อมกับนำรถแบคโฮกำจัดวัชพืชในคลองระบายน้ำ 4 คัน ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ได้เร่งระบายน้ำบริเวณ ปตร.ริมแม่น้ำท่าจีน ระบายน้ำจากคลองระบาย 5 ขวา สามชุก 1 ลงคลองระบายใหญ่สามชุก 1 และเร่งระบายน้ำในคลองระบาย 4 ซ้ายสุพรรณ 2 เพื่อรองรับน้ำที่สูบออก นครปฐม ในเขตพื้นที่ ต.ทุ่งบัว และ ต.รางพิกุล อ.กำแพงแสน มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ ส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 13 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 7 เครื่อง เร่งระบายน้ำท่วมขัง



 




 
ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระดับน้ำในแม่น้ำตาปีตอนล่างเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำตาปี รวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เคียนซา อ.บ้านนาสาร อ.บ้านนาเดิม และอ.พุนพิน เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนและมีน้ำจากตอนบนไหลลงมาเติมอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันระดับน้ำลดลง โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งเตือนให้กับหน่วยงานในพื้นที่และจังหวัดทราบ

หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม คาดว่าจะสถานการณ์น้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ต่างๆ จะคลี่คลายดีขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ ซึ่งกรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดตามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน ได้ตลอดเวลา





 



Create Date : 03 พฤศจิกายน 2563
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2563 14:17:39 น.
Counter : 844 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments