All Blog
"กรมชลฯ"พบชาวบ้านเขาชะเมาเดินหน้าอ่างเก็บน้ำคลองโพล้
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง โดยมี นายปกครอง สุดใจนาค ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 6 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล องค์กรภาคประชาชน ผู้นำชุมชน

ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยสนับสนุนให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำฯ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์โดยเร็วที่สุด ณ หอประชุมอบต.เขาชะเมา จังหวัดระยอง




 



 
นายประพิศ เปิดเผยการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ ว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดระยองได้ทวีความรุนแรงมาตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชาวบ้านและเกษตรกร โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ของ อำเภอแกลง อำเภอเขาชะเมา และ อำเภอวังจันทร์ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ทำให้น้ำในห้อยคลองบึงต่างๆ ที่เป็นน้ำ

ต้นทุนเพื่อเกษตรแห้งขอด ส่งผลถึงการผลิตน้ำเพื่อใช้ในการบริโภค ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าชาวบ้านเรียกร้องให้กรมชลประทานช่วยดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองโพล้อย่างเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำให้กับราษฎรในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ ไว้ใช้งานในด้านต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที




 



 
การประชุมร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ครั้งนี้นั้น จะช่วยสร้างเสริมสร้างการมีส่วนร่วมแก่ทุกภาคส่วน เพื่อให้ราษฎรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและทุกภาคส่วนรับทราบรายละเอียด ผลประโยชน์ของโครงการ

มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ต้น และถือเป็นสร้างความมั่นใจในการจัดการเรื่องค่าชดเชยที่ดิน ซึ่งจะต้องเป็นธรรมให้แก่พี่น้องประชาชนมากที่สุด เพื่อให้อ่างเก็บน้ำคลองโพล้เป็นอ่างเก็บน้ำของประชาชน เพื่อประชาชน และสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างสูงที่สุด




 



 
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง มีลักษณะเป็นเขื่อนดินประเภทแบ่งโซน (Zone Type Dam) มีความยาว 1,680 เมตร สูง 17 เมตร และเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ 2 แห่ง มีความจุของอ่างเก็บน้ำ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 30,000 ไร่ ใน 5 ตำบลของอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง

เป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงน้ำหลาก เป็นแหล่งประมง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งกรมชลประทานมีแผนที่จะเตรียมความพร้อมในปี 2563-2564 และเริ่มก่อสร้างในปี 2565 แล้วเสร็จในปี 2567



Create Date : 22 กันยายน 2563
Last Update : 22 กันยายน 2563 14:25:51 น.
Counter : 509 Pageviews.

0 comment
"กรมชลฯ"เร่งบริหารจัดการน้ำหลัง"โนอึล"เติมน้ำในเขื่อน
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุ “โนอึล” ว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) “โนอึล” เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 63 เวลา 13.00 น. ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณจังหวัดพิษณุโลก
 
ส่งผลให้ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องหลายพื้นที่ กรมชลประทาน เฝ้าติดตามสถานการณ์พายุในพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยพบว่ามีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ ซึ่งระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นบริเวณแม่น้ำป่าสัก อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลำสนธิ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี  และลำน้ำยัง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด



 



 
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (20 ก.ย. 63) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 37,208 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 13,383 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 35 แห่ง (1 พ.ค. 63 - ปัจจุบัน)

มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างประมาณ 11,575 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,300ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้รวมกัน 3,614 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำประมาณ 44.56 ล้าน ลบ.ม.




 



 
แนวโน้มสถานการณ์น้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก 9 แห่ง (แม่น้ำชี มูล โขง น่าน ยม วัง ปิง เจ้าพระยา ป่าสัก) มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนสถานการณ์อุทกภัย มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 1 จังหวัด คือ จังหวัดอุบลราชธาณี ตั้งแต่คืนวันที่ 17 - 18 ก.ย. 63 วัดปริมาณน้ำฝนได้ 58.4 มม. ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังหลายจุดในเขตเทศบาลอำเภอเดชอุดม และอำเภอวารินชำราบ

โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เครื่องสูบน้ำขนาด 4 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง รถบรรทุกน้ำติดเครนขนาด 6 ตัน จำนวน 1 คัน รถบรรทุกขนาด 4 ตัน จำนวน 1 คัน รถบรรทุกขนาด 2 ตัน จำนวน 1 คัน และรถบรรทุกน้ำ จำนวน 1 คัน เดินเครื่องสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววัน




 



 
ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน พร้อมปฏิบัติตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลาก ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดคนผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ วิเคราะห์ ติดตาม สถานการณ์น้ำ

รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ รถขุด รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำ พร้อมใช้งานเข้าประจำจุดเสี่ยงทั่วประเทศ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้คอยติดตาม ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ อาคารชลประทาน ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน




 



 
ตลอดจนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ ยังเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำปี 2563/64 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านจัดสรรน้ำให้เป็นระบบ เพื่อลดการสูญเสียน้ำให้น้อยที่สุด พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำอย่างสูงสุด และให้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน รวมถึงสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต



 




 



Create Date : 20 กันยายน 2563
Last Update : 20 กันยายน 2563 17:08:58 น.
Counter : 478 Pageviews.

0 comment
กอนช.คาด“โนอึล”ส่งน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มพันล้านลบ.ม.
กอนช. ติดตามสถานการณ์พายุ “โนอึล” หลังลดระดับเป็นดีเปรสชั่น ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ประเมินน้ำไหลเข้าเขื่อนใหญ่ 1,140 ล้าน ลบ.ม. ย้ำแผนเฝ้าระวังอ่างฯขนาดกลางเสี่ยงน้ำล้น 50 แห่ง พร้อมมอบหมายหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือเต็มกำลัง 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งได้มีการติดตามและประเมินสภาพอากาศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงาน



 



 
โดยพบว่า ขณะนี้พายุโซนร้อน “โนอึล” ปัจจุบันได้เคลื่อนเข้าสู่พื้นที่จังหวัดมุกดาหารแล้ว ซึ่งได้ลดระดับลงจากพายุโซนร้อนเป็นพายุดีเปรสชั่น ก่อนจะกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในโซนภาคกลางของประเทศบ จากนั้นจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือเข้าสู่ประเทศเมียนมาในระยะต่อไปตามลำดับ

ประกอบกับปัจจัยจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะทวีกำลังแรงขึ้น จึงส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงในเกือบทุกภาคของประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย. 63 ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออก และภาคใต้



 



 
โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นภาคแรกที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เบื้องต้นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติคาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก รวม 33 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ภาคตะวันตก 1 จังหวัด ภาคใต้ 5 จังหวัด จังหวัดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่งในลำน้ำหลายหลักใน 24 จังหวัด 94 อำเภอ 194 ตำบล

แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด และภาคเหนือ 9 จังหวัด ซึ่งในช่วงวันนี้ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในแม่น้ำสาขา ก่อนที่ลำน้ำสายหลักจะเพิ่มระดับสูงขึ้นในวันถัดไป ประกอบด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำสงคราม แม่น้ำมูล แม่น้ำห้วยหลวง
แม่น้ำชี แม่น้ำห้วยโมง ลำน้ำพุง ลำน้ำเซบาย ลำน้ำเซบก ลำน้ำยัง



 



 
ในภาคเหนือ 3 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก และสำหรับสถานการณ์ในแม่น้ำโขงนั้น ยืนยันว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากพายุ โดยระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 50 ซม. นอกจากในแง่ของผลกระทบแล้ว กอนช.ยังประเมินถึงผลดีจากอิทธิพลของพายุโนอึลที่จะช่วยให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากขึ้น โดยคาดการณ์น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ทั่วประเทศจากพายุโนอึล ในช่วงวันที่ 18-21 ก.ย. 63

รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,140 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ภาคเหนือ 273 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 35 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 378 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 98 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 185 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 171 ล้าน ลบ.ม. โดยมีอ่างเก็บน้ำจำนวนหลายแห่งที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเป็นจำนวนมาก



 



 
อาทิ เขื่อนสิรินธร คาดน้ำไหลเข้า 171 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนรัชชประภา 136 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 123 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ 91 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล 73 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนศรีนครินทร์ 71 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 58 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น ในขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อย คาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้นเพียง 29 ล้าน ลบ.ม.

กอนช.ยังเน้นย้ำหน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำขนาดกลางติดตามประเมินปริมาณฝนตกที่อาจจะเสี่ยงน้ำล้นเพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างฯให้เหมาะสมไม่กระทบกับพื้นที่ท้ายอ่างฯ ซึ่งพบว่ามีทั้งสิ้น 50 แห่ง ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25 แห่ง ภาคเหนือ 13 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันตก 1 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง



 



 
ในช่วง 2-3 วันนี้ที่คาดว่าหลายพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลจากพายุโนอึล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจะมีการติดตามประเมินสภาพอากาศและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางมาตรการเชิงป้องกัน

โดยประเมินปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนต่าง ๆ และเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ และบุคลากร ล่วงหน้าอย่างเต็มกำลังในการเฝ้าระวัง ป้องกันผลกระทบ และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจเสี่ยงได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ รวมถึงได้มอบหมายให้มีการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแหล่งน้ำที่คาดว่าพายุจะเคลื่อนผ่าน





 



Create Date : 19 กันยายน 2563
Last Update : 19 กันยายน 2563 19:48:45 น.
Counter : 871 Pageviews.

0 comment
กอนช.ยกระดับติดตาม 24 ชม.เส้นทางพายุ“โนอึล”-เหนือ-อีสานเสี่ยง
กอนช.ยกระดับติดตามสถานการณ์ 24 ชั่วโมง เกาะติดเส้นทางพายุโซนร้อน “โนอึล” ประเมินปริมาณฝน น้ำท่าเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง 24 จังหวัดเหนือ-อีสาน พร้อมประสาน 4 กระทรวงหลักหนุนช่วยเหลือระดับพื้นที่ ย้ำหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบเขื่อนจัดการน้ำตามแนวเส้นทางพายุให้สอดคล้องกับสถานการณ์

นายสำเริง  แสงภู่วงค์  รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โนอึล” คาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคอื่น ๆ ตามลำดับ ในวันที่ 18-20 ก.ย.63 นั้น

ขณะนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประเมินสถานการณ์และวางมาตรการเชิงป้องกันไว้แล้วทั้งบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่คาดว่าพายุจะเคลื่อนผ่าน ซึ่งนอกจากการป้องกันในเชิงผลกระทบที่อาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังแล้ว ยังมีการวิเคราะห์ ประเมินปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนต่าง ๆ




 



 
ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไม่มีแหล่งน้ำใดที่น่าเป็นห่วงสามารถรองรับปริมาณฝนได้อีกมาก เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้วมีปริมาณน้ำประมาณ 50% จึงเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำเพื่อให้ลำน้ำ และระบบชลประทานสามารถรองรับน้ำหลากได้เต็มศักยภาพ ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% จะต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างฯให้เหมาะสมกับปริมาณฝนคาดการณ์เช่นเดียวกัน

เบื้องต้นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังจากแนวพายุเคลื่อนผ่าน ที่อาจจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักมากกว่า 150 – 250 มิลลิเมตร โดยประเมินร่วมกับความชื้นในดิน ความจุลำน้ำแล้วอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำสงคราม แม่น้ำห้วยหลวง แม่น้ำห้วยโมง

แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำน้ำพุง ลำน้ำเซบก ลำน้ำเซบาย และลำน้ำยัง พบพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันใน  24 จังหวัด 94 อำเภอ 194 ตำบล แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม

ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภูอำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี และภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ แพร่ นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง และอุตรดิตถ์




 



 
เบื้องต้นกอนช. ได้มีหนังสือด่วนถึง 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทั้ง 4 ภาคเป็นหน่วยงานกลางในการประสานแจ้งจังหวัดที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ เพื่อเตรียมการความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ล่วงหน้า รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้รับทราบล่วงหน้าด้วย

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจะมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ณ ห้องปฏิบัติการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติชั้น 4 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการรายงานข้อมูลทุก ๆ 3 ชั่วโมงกรณีที่เกิดวิกฤติในพื้นที่

โดยเชื่อมต่อข้อมูลในจังหวัดที่ประสบเหตุอย่างทันท่วงที ซึ่งล่าสุดขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เตรียมความพร้อมรับมือล่วงหน้าแล้ว อาทิ กรมชลประทาน เตรียมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ติดตาม ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ อาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งาน

กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงพร่องน้ำจากเขื่อนชนบท จ.ขอนแก่น เขื่อนมหาสารคาม จ.มหาสารคาม เขื่อนวังยาง จ.กาฬสินธุ์ และเขื่อนร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด  และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่การเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยไม่ให้กระทบต่อด้านท้ายอ่างฯ รวมถึงสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)




 



 
ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และกองทัพภาคที่ 2 ได้ร่วมกันหารือในการสนับสนุนการเตรียมการเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือ ป้องกันผลกระทบ โดยตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือประชาชนล่วงหน้าที่ จ.ร้อยเอ็ด

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานแจ้งจังหวัดและ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงได้บูรณาการหน่วยงาน เครือข่าย จิตอาสา ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมพร้อมทรัพยากรเครื่องจักรเครื่องมือด้านรับมือสาธารณภัย แผนเผชิญเหตุ รวมทั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก และช่วยเหลือประชาชน 

วันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.63) คณะทำงานด้านอำนวยการน้ำ ซึ่งมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์แนวโน้มพายุอีกครั้ง ซึ่งอาจจะต้องมีการทบทวนมาตรการในการรับมืออย่างใกล้ชิดต่อไป







 

 



Create Date : 17 กันยายน 2563
Last Update : 17 กันยายน 2563 19:42:16 น.
Counter : 511 Pageviews.

0 comment
"ประพัฒน์"ห่วงเกษตรกรผจญพายุ“โนอึล”
นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวด้วยความห่วงใยเกษตรกรถึงพายุที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยจากการประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ทราบจากการประกาศเตือนภัยว่าพายุลูกใหม่ “โนอึล” ที่บริเวณทะเลจีนใต้ เคลื่อนตัวมาจากแถบทะเลของประเทศฟิลิปปินส์จะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม



 



 
ถือว่ามีความรุนแรงกว่าทุกลูกที่ผ่านมาในปีนี้ นั่นหมายความว่าจะส่งผลให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกมากขึ้น ปริมาณน้ำมากขึ้น ด้านหนึ่งถือเป็นด้านดีเพราะเราเผชิญภัยแล้งมาช้านาน น้ำในเขื่อนเหลือน้อยเต็มที ก็จะมีโอกาสหนึ่งที่จะเติมน้ำในเขื่อนให้มากขึ้น เพิ่มต้นทุนน้ำ 

พี่น้องเกษตรกรที่เพาะปลูกอยู่ในพื้นที่น้ำฝนที่อยู่นอกเขตชลประทานก็จะเป็นหลักประกันได้ว่าพืชผลที่ปลูกไว้ก็จะมีน้ำฝนมาหล่อเลี้ยงทำให้ผลผลิตเจริญงอกงามและสามารถเก็บเกี่ยวได้เป็นลำดับต่อไป แต่อีกด้านหนึ่งคืออาจจะเกิดภัยธรรมชาติได้ เช่น พื้นที่เสี่ยงภัยอาจจะเกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลาก อาจจะเกิดปัญหาดินถล่ม




 



อาจจะมีผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรในชุมชนพื้นที่ต่างๆ จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกร ประชาชนทุกท่านหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงตามประกาศของทางราชการควรเฝ้าระมัดระวัง จัดเวรยาม อาสาสมัครคอยดูแลเรื่องน้ำและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเผื่อหลายชั่วโมงเพื่อการหลบหนีได้ทัน และเก็บข้าวของ/สิ่งของมีค่าขึ้นสู่ชั้นบน , ที่สูง หรือฝากเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องที่อยู่พื้นที่ดอน หากน้ำป่าหลากมาอาจจะทำให้เสียทรัพย์สินได้หรือแม้กระทั่งอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงขอให้เกษตรกร ประชาชนได้เฝ้าระวังด้วยความตื่นตัวสูงและเตรียมการให้พร้อมต่อไป

อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรฯได้สื่อสารถึงเกษตรกรด้วยการแจ้งให้ทุกสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดติดตามและส่งข้อมูลสถานการณ์พายุให้เครือข่ายสภาเกษตรกรที่เป็นตัวแทนเกษตรกรในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ทั้งประเทศทางกลุ่มไลน์อันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ข้อมูลถึงตัวเกษตรกร และเกษตรกรรับรู้ข้อมูลได้ตลอด  24  ชั่วโมง


       




 
        



Create Date : 16 กันยายน 2563
Last Update : 16 กันยายน 2563 18:53:20 น.
Counter : 674 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments