All Blog
ชป.จัดนิทรรศการ"โขง เลย ชี มูล"เพื่อความสมบูรณ์ของคนอีสาน





 
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เข้าร่วมในงานสัมมนาในหัวข้อ “การบริหารงบประมาณน้ำโขง เลย ชี มูล เพื่อความสมบูรณ์ของคนอีสาน” โดยมี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน

สำหรับการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ร่วมจัดนิทรรศการในหัวข้อ “โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ตลอดจนวิธีการจัดทำ ติดตาม และการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ณ โรงแรมณัฐพงษ์ แกรด์ อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู 



 



 
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาความสามารถในการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล

เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กว่า 30 ล้านไร่ หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนชาวอีสานใต้ได้ดียิ่งขึ้น



 



 
ทั้งนี้ ภาครัฐได้คำนึงถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเปิดให้มีการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกี่ยวกับรายละเอียดโครงการฯให้กับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมและให้ข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวางต่อไป





 



Create Date : 01 ตุลาคม 2563
Last Update : 1 ตุลาคม 2563 18:48:26 น.
Counter : 571 Pageviews.

0 comment
กอนช.เร่งแผนคุมน้ำ-ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงวิกฤต
น้ำลุ่มเจ้าพระยายังน่าห่วง อิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทย เติมน้ำในอ่างฯได้ไม่มากนัก กนช.เร่งจัดทำแผนจัดสรรคุมวิกฤตแล้ง คาดน้ำต้นทุนไม่เพียงพอสนับสนุนนาปรัง เฝ้าระวังอ่างฯขนาดใหญ่-กลางทั่วประเทศ ปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% วอนประชาชนใช้น้ำประหยัด

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในเรื่องสถานการณ์น้ำโดยรวมของประเทศ

เนื่องจากขณะนี้ยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางถึง 105 แห่ง จะต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 โดยเฉพาะน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 24 เท่านั้น




 



 
ได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนตุลาคม 2563 เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นำไปใช้บริหารจัดการน้ำ กำหนดมาตรการก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ต่อไป

รวมถึงได้เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่แท้จริงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัดรู้ คุณค่า ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศ 141,489 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 42,961 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของปริมาณการกักเก็บ โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% รวม 105 แห่ง

เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 13 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันตก 2 แห่ง ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 92 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 31 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 38 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันตก 10 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง




 



 
กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ในช่วงต้นฤดูแล้ง ปี 2563/2564 (วันที่ 1 พ.ย. 63) จะมีปริมาณน้ำรวม 42,019 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่าง โดยภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำคาดการณ์ 17,954 ล้าน ลบ.ม. ภาคเหนือ 13,062 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,013 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ 4,205 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 1,031 ล้าน ลบ.ม. และภาคกลาง 754 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ

แม้ว่าอิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วงที่่ผ่านมา ประกอบด้วย พายุซินลากูน ร่องมรสุม และพายุโนอึล จะช่วยเติมน้ำให้กับ 4 เขื่อนหลักรวม 2,600 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพล 654 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 1,669 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 159 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 118 ล้าน ลบ.ม. แต่เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในระดับกักเก็บของแต่ละเขื่อนแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ

ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 จะยังคงมีร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกและมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์ว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 4 แห่งดังกล่าว จะปริมาณน้ำต้นทุนรวมประมาณ 6,270 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับปริมาณในปีที่ผ่านมา

ซึ่งจะไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวในฤดูแล้งหรือทำนาปรัง ดังนั้น จำเป็นจะต้องวางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 อย่างรอบครอบ โดยจะสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเกษตรกรต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งจะมีความต้องการใช้น้ำขั้นต่ำวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ยังจะต้องสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้เพื่อการเตรียมแปลงปลูกพืชช่วงต้นฤดูฝน และใช้ในกรณีฝนทิ้งช่วงในปี 2564 อีกด้วย




 



 
จากมติที่ประชุม กนช. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ กอนช. จัดทำแผนและมาตรการในการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563/64 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งให้ทันต่อสถานการณ์

พร้อมทั้งให้หน่วยงานแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชน เกษตรกร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา สทนช.ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งปี 2563/64  และให้ส่งกลับมายัง สทนช.ภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2563

เพื่อสรุปนำเสนอต่อคณะทำงานอำนวยการภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม





 



Create Date : 30 กันยายน 2563
Last Update : 30 กันยายน 2563 15:48:44 น.
Counter : 685 Pageviews.

0 comment
เน้นเก็บกักน้ำเดือนสุดท้าย
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 28 – 29 ก.ย. 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่แนวร่องมรสุมปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบน





 




 
สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(28ก.ย.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 40, 041 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 15,988 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)

มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,190 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 4,494 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (28 ก.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 11,322 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,480 ล้าน ลบ.ม. เกินแผนไปแล้วร้อยละ 7





 




 
ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พร้อมจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำที่มั่นคง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ เน้นการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด

รวมทั้งพิจารณาการใช้น้ำท่าจากแม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด แทนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ พร้อมกันนี้ ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้ใช้น้ำงดทำนาต่อเนื่อง สนับสนุนปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน และขอให้เก็บกักน้ำฝนช่วงเดือนสุดท้ายไว้ในภาชนะ หรือพื้นที่แก้มลิง ภายในพื้นที่ตนเอง เพื่อสำรองใช้ในฤดูแล้งถัดไป





 



Create Date : 28 กันยายน 2563
Last Update : 28 กันยายน 2563 18:09:17 น.
Counter : 548 Pageviews.

0 comment
"กรมชลฯ"รณรงค์ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะกรรมการและเลขาธิการคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย( Thai National Committee on Irrigation and Drainage ) หรือ THAICID เป็นประธานเปิดงานเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “อนาคตชาวนากับการทำนาแบบใช้น้ำน้อย Chapter 3” จัดโดยคณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศของนาข้าว (INWEPF)

นายเฉลิมเกียรติ กล่าวในฐานะเลขาธิการ Thaicid ว่า คณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิวเศของนาข้าว ได้ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมหาแนวทางในการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความผันผวนเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำต้นทุน





 




 
โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร วิธีการจัดการน้ำชลประทานเพื่อการปลูกข้าวในแปลงนาแบบวิธีใช้น้ำน้อย หรือวิธีแบบเปียกสลับแห้ง จึงเป็นหนึ่งในเทคนิคการชลประทาน เพื่อการประหยัดน้ำที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาสำหรับการปลูกข้าวในทวีปเอเซีย และเป็นวิธีการจัดการน้ำชลประทานที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

รวมทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมช่วยลดการเกิดก๊าชมีเทนในนาข้าวได้เป็นอย่างมาก โดยไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตข้าว อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวได้อีกด้วย ปัจจุบันเทคนิคการชลประทานแบบเปียกสลับแห้ง เป็นที่ยอมรับและเผยแพรในกลุ่มเกษตรกรหลายๆประเทศ ได้แก่ ประทศจีน เวียดนาม บังกลาเทศ และอินเดีย เป็นต้น





 




 
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การลดการใช้น้ำชลประทานในนาข้าว ขณะที่ยังรักษาผลผลิตข้าวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการผลิตข้าวแบบยั่งยืน เทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) ได้รับการพัฒนและแนะนำสำหรับเกษตรกรในประเทศแถบทวีปเอเซียรวมทั้งในประเทศไทย ในระยะเวลา 10-20 ปี ที่ผ่านมา

แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากเกษตรกรไทย โดยเกษตรกรบางกลุ่มทราบถึงข้อดีของการทำนาด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง แต่ยังขาดความเชื่อมั่นในการปล่อยน้ำเข้าหรือออกจากแปลงนา ทำให้เกษตรกรยังคงใช้วิธีการทำนาในรูปแบบเดิม ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำ

การทำนาแบบใช้น้ำน้อย เปียกสลับแห้ง มี 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ภาคเกษตรกรที่จะต้องเปิดใจให้เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องทั้งในหลักการและปฏิบัติ อีกส่วนสำคัญคือภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะรู้จักพื้นที่และความต้องการของเกษตรกรเป็นอย่างดี สามารถพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม  และสุดท้ายคือภาควิชาการที่จะต้องถอดองค์ความรู้ทางวิชาการให้ออกมาเป็นการปฏิบัติที่สามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ





 




 
พันจ่าโทเฉลียว น้อยแสง เกษตรกรปลูกข้าวในพื้นที่จังหวัดชัยนาท หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวถึงประเด็นการปลูกข้าวใช้น้ำน้อย โดยวิธีเปียกสลับแห้ง ว่า “จากประสบการณ์ส่วนตัวการทำนาเปียกสลับแห้งค่อนข้างได้ผลในแง่ของการเพิ่มผลผลิตของนาข้าวให้เกษตรกรและยังสามารถลดต้นทุนได้อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยให้ประหยัดน้ำและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า และอยากให้มีการจัดการระบบการส่งน้ำของชลประทานให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่จะใช้การทำนาแบบเปียกสลับแห้งในอนาคตด้วย”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการด้านน้ำและระบบนิเวศของนาข้าว ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้ในด้านการทำนาในรูปแบบเปียกสลับแห้งมาโดยตลอด ทั้งการให้ความรู้ในรูปแบบโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การจัดประชุม เพื่อเผยแพร่ความรู้และขยายผลสู่การปฏิบัติในเขตพื้นที่ชลประทานผ่านโครงการชลประทานและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาของกรมชลประทานทุกโครงการทั่วประเทศ  








 



Create Date : 28 กันยายน 2563
Last Update : 28 กันยายน 2563 18:03:40 น.
Counter : 704 Pageviews.

0 comment
"โนอึล"เติมน้ำเขื่อนอีสานกลางแล้วกว่า 150 ล้าน ลบ.ม.
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ “โนอึล” ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ภาคอีสานกลางเพิ่มมากขึ้น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง มีน้ำไหลเข้าสะสม

ทั้งนี้ดังนี้ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ 24 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ 28 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น 27 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง มีปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมรวมกันประมาณ 75 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯขนาดใหญ่และขนาดกลางประมาณ 154 ล้าน ลบ.ม.คาดการณ์ว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 200-300 ล้าน ลบ.ม.




 



 
สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น คาดการณ์ว่าพายุ “โนอึล” จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯประมาณ 100-150 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำไหลลงอ่างฯสะสมประมาณ 27 ล้าน ลบ.ม. และยังมีน้ำที่ล้นตลิ่งอยู่บริเวณต้นลำน้ำพองที่บ้านผานกเค้า อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ไหลลงมาเพิ่มอีก คาดว่าจะใช้เวลา 3-7 วันน้ำจะเดินทางมาถึงเขื่อนอุบลรัตน์จะส่งผลให้น้ำใช้การของเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มขึ้นด้วย

ในส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ นั้น พบว่าพายุ โนอึล ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดชัยภูมิ บริเวณลุ่มน้ำชีตอนบน ลุ่มน้ำลำปะทาว และท้ายอ่างเก็บน้ำลำคันฉู พื้นที่ลุ่มต่ำลำน้ำเชิญ ในเขตอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ลุ่มต่ำลำน้ำยัง ในเขตอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ

ทำให้พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังรวมประมาณ 13,400 ไร่ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้เร่งให้ความช่วยเหลือ โดยการนำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำเข้าไปติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ต่างๆแล้ว




 



 
นอกจากนี้ ยังได้บริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานเพื่อกักเก็บและระบายน้ำผันเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 3-4 วันนี้

กรมชลประทน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้วางระบบการบริหารจัดการลุ่มน้ำชี-มูล แบบอัจฉริยะ แจ้งเตือนภัยทันทีที่เกิดวิกฤต รวมถึงได้บูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที






 

 



Create Date : 22 กันยายน 2563
Last Update : 22 กันยายน 2563 15:34:29 น.
Counter : 761 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments