All Blog
ทยอยลดระบายน้ำเขื่อนลำปาวก่อนหยุดส่ง 23 เมษายนนี้
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์มาตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน จากนั้นปิดการส่งน้ำเข้าคลองชลประทานในวันที่ 23 เมษายนเนื่องจากเป็นช่วงที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง

จากนั้นจะซ่อมแซม บำรุงรักษา ปรับปรุงคลอง และอาคารชลประทานเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพในฤดูช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยจะเริ่มส่งน้ำในได้ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมได้แน่นอนหากฝนทิ้งช่วงตามที่กรมอุตินิยมวิทยาคาดการณ์ไว้

สำหรับเขื่อนลำปาวนั้นได้รับประโยชน์จากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” ที่พาดผ่านเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสานฝั่งตะวันออกในช่วงเดือนกันยายน 2562 ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นถึง 1,742 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของความจุอ่างฯ


 


 
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวสามารถวางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการทำนาปรังของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน โดยเน้นย้ำให้คงบริหารจัดการน้ำด้วยมาตรการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าเพื่อให้มีปริมาณสำรองไว้ใช้กรณีฝนทิ้งช่วง 

นายทองเปลว กล่าวต่อว่า โครงการชลประทานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำที่เกษตรกรระบายออกมาจากแปลงนาเพื่อรอการเก็บเกี่ยวข้าว ด้วยการนำไปเก็บกักไว้บริเวณด้านเหนือของเขื่อนทดน้ำที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำชีตอนล่างได้แก่ เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย

ส่งผลให้เขื่อนทั้ง 3 แห่งมีปริมาตรน้ำเก็บกักบริเวณเหนือเขื่อนเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการใช้น้ำทำการเกษตรแบบหมุนเวียนโดยการเหลื่อมเวลาเพาะปลูก ส่งผลให้มีความมั่นคงด้านน้ำในการอุปโภคบริโภคไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้เกษตรกรทั้ง 2 ฝั่งของลำน้ำชีตอนล่าง มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง


 


 
นายศักดิ์ศิริ  อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวว่า ปัจจุบัน (20 เมษายน) มีน้ำ 705 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ (ความจุอ่างฯสูงสุด 1,980 ล้าน ลบ.ม.) มีน้ำใช้การได้ประมาณ 605 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำวันละประมาณ 2.7 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการทำนาปรัง ทั้งยังมีน้ำเพียงพอที่จะสูบน้ำย้อนกลับไปเติมหน้าเขื่อนวังยาง จังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อการผลิตน้ำประปา 39 แห่งในจังหวัดมหาสารคาม รวมถึงช่วยเหลือการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานีอีกด้วย

ทั้งนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาววางแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยการบริหารจัดการน้ำสำหรับทุกกิจกรรมอย่างทั่วถึง ส่งผลให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ชลประทานที่รับน้ำจากเขื่อนลำปาวสามารถเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ทั้งนาข้าว พืชผัก และการประมงกว่า 300,000 ไร่


 


 
ขณะนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังกว่า 250,000 ไร่ ทยอยเก็บเกี่ยวข้าว ปีนี้ราคาข้าวค่อนข้างดีทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายข้าวไปใช้จ่ายในครอบครัว บางส่วนเริ่มไถเตรียมแปลงเพื่อเตรียมทำนาปีในฤดูฝนที่จะถึงนี้

ทางกรมชลประทานกำหนดให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก รอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ส่วนน้ำในเขื่อนลำปาวนั้นสำรองไว้เพื่อส่งให้กรณีฝนทิ้งช่วงเพื่อให้เพียงพอเลี้ยงนาข้าวจนกระทั่งถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต 


 



 



Create Date : 20 เมษายน 2563
Last Update : 20 เมษายน 2563 15:37:54 น.
Counter : 931 Pageviews.

0 comment
ลำปางแล้งมาก ! ห้ามสูบน้ำตลอดริมตลิ่งแม่น้ำวัง
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้อธิบดีกรมชลประทานประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางปรับระบบการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำวังเนื่องจากขณะนี้ประสบภัยแล้งเป็นวงกว้าง

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางออกประกาศจังหวัด เรื่อง การบริหารจัดการลุ่มน้ำวังเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ห้ามสูบน้ำในลำน้ำวังตลอดเส้นทางน้ำ ยกเว้นสูบน้ำเพื่อการประปาตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนเป็นต้นไปจนกว่าจะตรวจสอบยืนยันได้ว่า น้ำไหลถึงปลายทางที่ตำบลพระบาทวังตวง อำเภอแม่พริก จึงจะออกประกาศให้สูบน้ำได้ ระหว่างนี้ให้ชลประทานในพื้นที่ปิดประตูน้ำทุกแห่ง 

ทั้งนี้อธิบดีกรมชลประทานรายงานว่า พื้นที่ลุ่มน้ำวังใช้น้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำกิ่วลมและอ่างเก็บน้ำแม่ฟ้า จึงปรับเพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำวังวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 21 เมษายน เพื่อให้น้ำเติมลงเขื่อนสามารถช่วยราษฎรท้ายเขื่อนได้ 30 ตำบลของอำเภอเมืองลำปาง เกาะคา สบปราบ เถิน และแม่พริก

ซึ่งฝ่ายปกครองจะร่วมควบคุมดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศจังหวัดลำปางอย่างเคร่งครัดเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีอยู่จำกัด ต้องสำรองน้ำไว้ให้เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้าที่กำลังจะมาถึงประมาณสัปดาห์ที่ 3 หรือ 4 ของเดือนพฤษภาคมตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้

“เน้นย้ำในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำทั้งเพื่อป้องกันบรรเทาภัยแล้งและน้ำท่วมยย้ำให้กรมชลประทานจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ” นายเฉลิมชัยกล่าว

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัย (ภัยแล้ง) ในพื้นที่ของสำนักงานชลประทานที่ 14 ที่หมู่ 1 - 12 ตำบลชัยเกษม อำเภอบางสะพานและหมู่ 9 ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์

โดยได้เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน สำหรับสำนักงานชลประทานที่ 14 ดูแลจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ปริมาตรน้ำรวม 446 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 363 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 แห่ง ปริมาตรน้ำรวม 72 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 24 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 107 แห่ง ปริมาตรน้ำรวม 21 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 21 ล้าน ลบ.ม. 

สำหรับแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2562/2563 มีน้ำทั้งสิ้น 852 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำแล้ว 621 ล้าน ลบ.ม. หรือ 73% โดยสนับสนุนเพื่ออุปโภค-บริโภค 194 ล้าน ลบ.ม. ภาคอุตสาหกรรม 12 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 140 ล้าน ลบ.ม. และภาคการเกษตร 506 ล้าน ลบ.ม. สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวฤดูแล้ง 2562/2563 แผนกำหนดไว้ 140,000 ไร่
เพาะปลูกข้าวไปแล้ว 70,000 ไร่คิดเป็น 50% ของแผน 

นอกจากนี้ได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่รับผิดชอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ รวมทั้งสิ้น 1,120 เที่ยว ปริมาณน้ำ 8,588,000 ลิตร อีกทั้งดำเนินโครงการจ้างแรงงานเกษตรกรให้มาทำงานซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบชลประทาน

โดยเป็นไปตามมาตรการของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ เพื่อช่วยเหลือที่ขาดรายได้จากภัยแล้ง รวมทั้งมีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซ้ำเติม ขณะนี้จ้างแรงงานไปแล้ว 1,455 คน จำนวนเงิน 3,701,706 บาท




 




 



Create Date : 20 เมษายน 2563
Last Update : 20 เมษายน 2563 15:21:11 น.
Counter : 609 Pageviews.

0 comment
"กรมชลฯ"ทุ่มเกือบห้าพันล้านจ้างงานสู้ภัยแล้ง-โควิด
กรมชลประทาน เดินหน้าจ้างแรงงานชลประทาน ตามนโยบายการช่วยเหลือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สร้างรายได้ทดแทนทางการเกษตร หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งและสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ว่า  กรมชลประทานได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทาน ประจำปีงบปะมาณ 2563 และงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ตามมาตรการด้านการงบประมาณ

 


 
เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง รวมทั้งสิ้น 4,247.59 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานทั่วประเทศรวม 88,838 คน  สำหรับปฏิบัติงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ ในพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศทั้ง 17 แห่ง  
 


 
โดยมีระยะเวลาในการจ้างงาน 3-7 เดือน ซึ่งเกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานประมาณเดือนละ 8,000 บาท รายได้ตลอดระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-56,000 บาท/คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานและระยะเวลาที่ทำ  เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ทดแทนจากการเสียรายได้ทางการเกษตรไป  โดยได้เริ่มดำเนินการจ้างแรงงานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
 


 
ปัจจุบันสามารถจ้างแรงงานทั่วประเทศไปแล้วกว่า 17,760 คน  และจะเร่งดำเนินโครงการฯให้เป็นไปตามแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนรายได้ของพี่น้องเกษตรกรให้ได้มากที่สุด  หากเกษตรกรหรือประชาชนท่านใดที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถสอบถามไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้านท่าน หรือติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน หมายเลข 1460  




 



 
 



Create Date : 18 เมษายน 2563
Last Update : 18 เมษายน 2563 20:07:09 น.
Counter : 651 Pageviews.

1 comment
เฮ ! ฝนเติมน้ำในเขื่อน-ผ่อนดีกรีแล้ง
กอนช.เผยปริมาณฝนช่วงฤดูแล้ง ส่งผลเติมน้ำในเขื่อนแล้วเกือบ 600 ล้าน ลบ.ม. เร่งแผนเก็บกักช่วงผ่อนคลายสถานการณ์แล้ง  พร้อมติดตามค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ระบุ ชป. กปน.เร่งแก้ไขปัญหาผนึกป้องกันกระทบการผลิตน้ำประปาสำเร็จตามแผน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช.ได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์ฝนที่ตกมาในขณะนี้ส่งผลดี เนื่องจากช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ

โดยพบว่า ตั้งแต่ 1 มี.ค.- 14 เม.ย. 63 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศรวมแล้วกว่า 583 ล้านลูกบาศก์เมตร สูงสุดที่ภาคใต้ปริมาณน้ำ 241 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคเหนือ 132 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันตก 98 ล้านลูกบาศก์เมตร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 82 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ

ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างฯขนาดใหญ่ต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิ เขื่อนภูมิพลมีน้ำไหลลงอ่างฯ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ 87 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนอุบลรัตน์ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้น


 


 
ขณะเดียวกัน กอนช.ยังได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างฯ ในช่วง 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 63 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯประมาณ 4,269 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่ง กอนช.ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำทุกแห่ง เร่งแผนเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำรองไว้สำหรับฤดูแล้งหน้า และเกิดความมั่นคงน้ำในอนาคต

ขณะเดียวกัน กอนช.ยังได้ติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานีซึ่งพบว่าน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติมากกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแลจ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง และเกินมาตรฐานน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในบางช่วงเวลา ซึ่ง กอนช. ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ

โดยกรมชลประทาน (ชป.) ได้เพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก 70 ลูกบาศก์เมตร /วินาที เป็น 80 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เมื่อวันที่ 4-6 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อช่วยผลักดันความเค็มในช่วงที่น้ำทะเลหนุน 9-12 เม.ย. และปัจจุบันได้เพิ่มการระบายจากเขื่อนพระรามหกเป็น 10 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินการร่วมกับการประปานครหลวง (กปน.) ในการกระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา (water hammer ) เพื่อลดการรุกล้ำของน้ำเค็มที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำดิบของ กปน. ส่งผลทำให้ไม่กระทบต่อคุณภาพน้ำประปา และประชาชน


 


 
ทั้งนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การมหาชน (สสน.) คาดการณ์ในช่วงวันที่ 17 - 18 เม.ย. 63 ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง คือในช่วง 0.25–0.5 กรัม/ลิตร และอาจมีค่าความเค็มเกินมาตรฐานน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปามากกว่า 0.50 กรัม/ลิตร ได้ในบางช่วงเวลา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช.จะปฏิบัติการต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาด้วย


 




 



Create Date : 18 เมษายน 2563
Last Update : 18 เมษายน 2563 19:01:47 น.
Counter : 637 Pageviews.

0 comment
กอนช.เตรียมแผนแก้แล้ง-กำหนดพื้นที่เพาะปลูก

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กองทัพบก หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมทรัพยากรน้ำ การประปาภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น

พลเอก ประวิตร กล่าวว่า การประชุมวันนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและความคืบหน้าในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์น้ำแล้ง อาทิ ลุ่มเจ้าพระยา และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC 

รวมถึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลน้ำปี 2562/63 และโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 ในส่วนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วโดยเร่งด่วนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบมาซ้ำเติมกับพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้

ขณะเดียวกัน ยังได้หารือถึงแผนบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติในส่วนภาคตะวันออก ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดพบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ได้ประสานความร่วมมือเร่งรัดดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายน้ำตามมติที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่ได้มีการกำหนดมาตรการรับมือล่วงหน้า เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ที่ประสบปัญหาน้ำในอ่างฯ น้อย

ซึ่งจะช่วยทำให้สถานการณ์น้ำจังหวัดระยองและ EEC ดีขึ้น แต่เพื่อความไม่ประมาทได้เน้นย้ำให้กรมชลประทานและบริษัทอีสวอเตอร์ การประปาภูมิภาค ประเมินปริมาณน้ำต้นทุน พร้อมเตรียมมาตราการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มขึ้นด้วย รองรับภาวะเสี่ยงขาดแคลน้ำกรณีไม่มีฝนตกถึงเดือน มิ.ย.63 โดยเร็ว รวมถึงให้การนิคมอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลักในติดตามการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการปฏิบัติงานทุกวันพุธให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติเพื่อใช้ในการติดตามการบริหารจัดการน้ำ

พลเอก ประวิตร กล่าวต่ออีกว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูฝน ปี 2563 แล้วส่งให้กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดทำแผนการจัดสรรน้ำฤดูฝนให้สอดคล้องกัน

ขณะเดียวกัน มอบหมายให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์น้ำเพื่อส่งให้ สทนช.รวบรวมสรุปแผนเสนอต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบภายใน 20 เมษายนนี้ พร้อมแจ้งกระทรวงมหาดไทยรับทราบและแจ้งผู้ราชการจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนรับทราบต่อไป

ทั้งนี้ นอกจากการเร่งดำเนินการบรรเทาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากน้ำแล้งแล้ว ที่ประชุมยังหารือถึงแผนเตรียมการรับมือฤดูฝนที่จะถึงนี้ไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบายน้ำและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาท่วมขังได้นั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ใช้ดาวเทียมติดตามสำรวจลำน้ำที่มีวัชพืชและผักตบชวาในลำน้ำต่าง ๆ และรายงานให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติทราบเพื่อใช้สำหรับวางแผน และแจ้งให้กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำจัดวัชพืชให้ทันฤดูน้ำหลาก ปี 2563

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบและซ่อมแซมสภาพอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งานในฤดูฝนนี้


ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ซึ่งปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เริ่มดำเนินการแล้ว 348 แห่ง จากแผนงาน 704 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 49.43 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เสนอขอ และได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 550 แห่ง อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ จากแผนงาน 888 แห่ง

กองทัพบก เริ่มดำเนินการแล้ว 168 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 83.16 จากแผนงาน 209 แห่ง หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ 181 แห่ง จากแผนงาน 190 แห่ง และไม่สามารถดำเนินการได้ 9 แห่ง การประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 50 ตามแผนงานคิดเป็น 100%

โครงการที่แล้วเสร็จดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ได้ปริมาณน้ำบาดาล 113 ล้าน ลบ.ม.ประชาชนได้รับประโยชน์จากน้ำบาดาล 96,153 ครัวเรือน ผู้ใช้น้ำประปารับประโยชน์ 183,192 ราย มีน้ำสำรองประปา 700,000 ลบ.ม. ซึ่ง กอนช. จะมีการติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนที่ฝนจะมาด้วย




 




 

 




Create Date : 13 เมษายน 2563
Last Update : 13 เมษายน 2563 15:24:58 น.
Counter : 495 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments