All Blog
ปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงรับมือฝนทิ้งช่วง
นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าประเทศไทยได้เริ่มต้นฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยปีนี้ในระยะแรกของการเข้าสู่ฤดูฝนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนไม่สม่ำเสมอ แต่จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป  

ส่วนในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง อาจก่อให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในบางแห่งและเกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้มีการเตรียมพร้อมรับมือโดยการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานและติดตามสภาพอากาศ

เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนที่ประสบปัญหาความต้องการน้ำ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การไม่เพียงพอโดยเร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามข้อมูลที่มีการติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน จากข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง ตลอดจนการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

โดยมีการปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งหมด 12 หน่วย แบ่งเป็นภาคเหนือ ได้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตากและแพร่ โดยปรับให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลก เป็นฐานเติมสารฝนหลวงไม่มีอากาศยานประจำ

 

 
อากาศยานที่ขึ้นบินจากหน่วยปฏิบัติการที่จังหวัดตากและแพร่ เมื่อขึ้นปฏิบัติการแล้วเสร็จอาจลงจอดเติมสารฝนหลวงที่เชียงใหม่หรือพิษณุโลกแล้วขึ้นทำงานต่อเนื่องได้ สำหรับภาคกลางมีหน่วยปฏิบัติการที่จังหวัดลพบุรีและราชบุรี โดยมีหน่วยฯ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นฐานเติมสารฝนหลวงด้วยเช่นกัน  

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหน่วยปฏิบัติการที่จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น สุรินทร์และนครราชสีมา  โดยมีจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นฐานเติมสารฝนหลวงซึ่งสามารถดูแลได้ทั้งภาคอีสานตอนบนและตอนล่าง  ในส่วนของภาคตะวันออกมีหน่วยปฏิบัติการที่จังหวัดระยอง  และหน่วยปฏิบัติการภาคใต้มีจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานีและสงขลา

สำหรับจังหวัดสงขลานั้น มีความจำเป็นต้องไปตั้งหน่วยปฏิบัติการเป็นอย่างมากเนื่องจากบริเวณป่าพรุโต๊ะแดงและป่าพรุบาเจาะ มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อยและมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ป่าค่อนข้างสูง แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนหน่วยปฏิบัติการตามความเหมาะสมได้ในอนาคต

สำหรับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมเป็นจำนวน ๑๒๒ วัน รวม 3,018 เที่ยวบิน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงรวม ๑๒๐ วัน คิดเป็น  ร้อยละ 98.3๖ ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 180.45 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 180 แห่ง  (เขื่อนขนาดใหญ่ 32 แห่ง ขนาดกลาง 148 แห่ง) สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 415.094  ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น

 

 
ภาคเหนือตอนบน ขึ้นปฏิบัติการรวม ๕๙ วัน ๑๘๒ เที่ยวบิน ฝนตกจากการปฏิบัติการคิดเป็นร้อยละ ๙๓.๒๒ นอกจากนี้ยังมีภารกิจป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 18.69 ล้านไร่ ภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าช่วยเหลือทั้งสิ้น 7 จังหวัด

ได้แก่ ลำปาง ลำพูน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ.–31 พ.ค. 2563 จำนวน 13 เขื่อน แผน 21 ล้าน ลบ.ม.  ผล 5.06 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.–14 มิ.ย. 2563 จำนวน 7 เขื่อน แผน 589 ล้าน ลบ.ม. ผล 4.354 ล้าน ลบ.ม.

ภาคเหนือตอนล่าง ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 81 วัน วันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 90.12 ขึ้นปฏิบัติการ รวม 256 เที่ยวบิน ปฏิบัติภารกิจป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 26.50 ล้านไร่ ภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าช่วยเหลือทั้งสิ้น 5 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบูรณ์ น่าน กำแพงเพชร ตาก ภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บช่วยเหลือทั้งสิ้น 21 จังหวัด

ได้แก่ แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ น่าน พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ลำปาง เลย ขอนแก่น นครราชสีมา ยโสธร ชัยภูมิ  มุกดาหาร ลพบุรี ตาก หนองบัวลำภู  นครสวรรค์ พะเยา อุดรธานี กาฬสินธุ์ ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ จำนวน 11 เขื่อน แผน 60 ล้าน ลบ.ม.  ผล 38.657 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.–14 มิ.ย. 2563 จำนวน 6 เขื่อน แผน 589 ล้าน ลบ.ม. ผล 26.882 ล้าน ลบ.ม.


 
ภาคกลาง ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 9๖ วัน ฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 97.8๙ ขึ้นปฏิบัติการ รวม 84๗ เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 29.75 ล้านไร่ ภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าช่วยเหลือทั้งสิ้น 1 จังหวัด

ได้แก่ กาญจนบุรี ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ.–31 พ.ค. 2563 จำนวน 23 เขื่อน แผน 105.50 ล้าน ลบ.ม.  ผล 131.225 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.–14 มิ.ย. 2563 จำนวน 21 เขื่อน แผน 589 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าสะสม 25.559 ล้าน ลบ.ม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงรวม 8๔ วัน ฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 96.๔๓ ขึ้นปฏิบัติการ รวม 47๖ เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 16.69 ล้านไร่ ภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บช่วยเหลือทั้งสิ้น 7 จังหวัด

ได้แก่ เลย สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ. – 31 พ.ค. 2563 จำนวน 6 เขื่อน แผน 42.80 ล้าน ลบ.ม.  ผล 51.495 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.–14 มิ.ย. 2563 จำนวน 5 เขื่อน แผน 589 ล้าน ลบ.ม. ผล 8.750 ล้าน ลบ.ม.

 

 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 8๙ วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 88.๗๖ ขึ้นปฏิบัติการรวม 46๙ เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 42.63 ล้านไร่

ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ.–31 พ.ค. 2563 จำนวน 62 เขื่อน แผน 8.70 ล้าน ลบ.ม.  ผล 8.321 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.–14 มิ.ย. 2563 จำนวน 36 เขื่อน แผน 589 ล้าน ลบ.ม. ผล 3.793 ล้าน ลบ.ม.

ภาคตะวันออก ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 93 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง คิดเป็น ร้อยละ 94.62 ขึ้นปฏิบัติการ รวม 448 เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 18.44 ล้านไร่ ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ.–31 พ.ค. 2563 จำนวน 28 เขื่อน แผน 16.00 ล้าน ลบ.ม.  ผล 17.134 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.–14 มิ.ย. 2563 จำนวน 11 เขื่อน แผน 589 ล้าน ลบ.ม. ผล 5.367 ล้าน ลบ.ม.

ภาคใต้ ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 10๗ วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง   คิดเป็นร้อยละ  93.๔๐ ขึ้นปฏิบัติการ รวม 3๔๐ เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 27.75 ล้านไร่

 
ภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าช่วยเหลือทั้งสิ้น 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ.–31 พ.ค. 2563 จำนวน 14 เขื่อน แผน 86.00 ล้าน ลบ.ม.  ผล 76.054 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.–14 มิ.ย. 2563 จำนวน 4 เขื่อน แผน 589 ล้าน ลบ.ม. ผล 11.154 ล้าน ลบ.ม.

โดยมีรายงานจังหวัดที่ฝนตกรวม ๖๗ จังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 180.45 ล้านไร่  มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 180 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 32 แห่ง ขนาดกลาง 148 แห่ง) สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 413.755 ล้าน ลบ.ม. 

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีการปรับแผนปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ ประจำปี 2563 ตามสถานการณ์และความเหมาะสมทั้ง 12 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดแพร่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี อุดรธานี ขอนแก่น สุรินทร์ นครราชสีมา ระยอง ชุมพร สุราษฏร์ธานี และสงขลา โดยได้จัดเตรึยมความพร้อมการใช้อากาศยาน รวม 27 ลำ ประกอบด้วย อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 21 ลำ อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 5 ลำ อากาศยานของกองทัพบก จำนวน 1 ลำ  





 



 



Create Date : 18 มิถุนายน 2563
Last Update : 18 มิถุนายน 2563 18:11:17 น.
Counter : 752 Pageviews.

3 comment
คาด“NURI” เติมน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่กว่า 400 ล้าน ลบ.ม.
คาดการณ์พายุโซนร้อน “NURI” เพิ่มฝนเติมน้ำลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ช่วง 12 – 21 มิ.ย.กว่า 400 ล้าน ลบ.ม. กอนช.ชี้สัปดาห์นี้ภาคอีสาน ตะวันออก และตะวันตกมีฝนเพิ่ม สั่งเฝ้าระวังเสี่ยงท่วมเร่งตรวจสอบปริมาณน้ำเหนือปตร.ทุกแห่ง ทั้งยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำต่อเนื่อง โดยรองนายกฯ เตรียมลงพื้นที่ติดตามภัยแล้ง จ.ลำปาง 18 มิ.ย. นี้

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาพรวมของประเทศในช่วงฤดูฝนขณะนี้ว่า สถานการณ์ฝนที่ตกในหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “NURI”



 



 
ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง สะสมตั้งแต่ 12 – 15 มิถุนายนที่ผ่านมารวมประมาณ 116 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 16 – 21 มิถุนายนนี้ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเพิ่มอีกประมาณ 290 ล้าน ลบ.ม.

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 12 – 21 มิถุนายนนี้อิทธิพลของพายุดังกล่าวจะเพิ่มปริมาณน้ำไหลลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่รวมกว่า 400 ล้าน ลบ.ม. สูงสุดที่ภาคเหนือประมาณ 134 ล้าน อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ 95 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนภูมิพล 18 ล้าน ลบ.ม. รองมาที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 107 ล้าน ลบ.ม. อาทิ เขื่อนลำปาว 25 ล้าน ลบ.ม. หนองหาร 24 ล้าน ลบ.ม.


ภาคตะวันตกประมาณ 78 ล้าน ลบ.ม. อาทิ เขื่อนรัชชะประภา 29 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำในภาคตะวันออกมีปริมาณ 22.6 ล้านลบ.ม. และภาคกลางปริมาณน้ำไหลลงแหล่งน้ำประมาณ 7.18 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ฝนและอิทธิพลของพายุจะช่วยเติมปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อเก็บกักไว้ใช้ตลอดฤดูฝนนี้ต่อเนื่องถึงแล้งหน้าแล้ว แต่ยังคงมีหลายพื้นที่ที่มีฝนตกท้ายอ่าง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ  (กอนช.) ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ ติดตามปริมาณฝน น้ำท่า


โดยเฉพาะเหนือประตูระบายน้ำของแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ป้องกันผลกระทบน้ำหลากในช่วงฤดูฝน และแจ้งเตือนพื้นที่ท้ายน้ำหากมีแนวโน้มปริมาณน้ำที่สูงขึ้นและอาจะได้รับผลกระทบ

รวมถึงเตือนภัยดินโคลนถล่มซึ่งวันนี้ (16 มิ.ย.63) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งเตือนภัยพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ได้แก่ 5 หมู่บ้าน ใน จ.เชียงราย 2 หมู่บ้านใน จ. น่าน และ 4 หมู่บ้าน ใน จ.อุตรดิตถ์ และพื้นที่เตรียมพร้อม (สีเหลือง) ได้แก่ 1 หมู่บ้าน ใน จ.พิษณุโลก 10 หมู่บ้าน ใน จ.น่าน และ 1 หมู่บ้าน ใน จ.พังงา ขณะที่สถานการณ์น้ำหลาก บ้านหนองหญ้ารังกา จ.ชัยภูมิ ปัจจุบันได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว


สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและรอยต่อพื้นที่ปริมณฑลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงานด้านบูรณาการและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งตั้งโดย กอนช.ขณะนี้ได้มีการวางแผนกำหนดมาตรการป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว

อาทิ การขุดลอกร่องระบายน้ำสองฝั่งถนนวิภาวดีรังสิตและคลองเชื่อม ลงสู่คลองเปรมประชากร ครอบคลุม 4 เขตดินแดง พญาไท ดอนเมือง และหลักสี่ แล้วเสร็จเมื่อ 3 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำพื้นที่น้ำท่วมขังซ้ำซาก 10 จุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับและระบายน้ำ ปรับปรุงพื้นที่แก้มลิงสวนรถไฟ


รองรับน้ำจากแนวถนนวิภาวดีรังสิตผันลงคลองเปรมประชากร รวมถึงติดตั้งเครื่องสำรองไฟฟ้าบริเวณสถานีสูบน้ำของกรุงเทพฯ เพื่อให้สูบน้ำได้อย่างต่อเนื่องกรณีไฟฟ้าดับ และจะมีการซักซ้อมแผนโดยจำลองสถานการณ์จริงโดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากปริมาณน้ำท่วมขังและน้ำรอการระบายให้เหลือเวลาน้อยที่สุด

ไม่เพียงการติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม แต่กอนช.ยังคงติดตาม ให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคงเหลือพื้นที่ประกาศภัยแล้งรวม 14 จังหวัด 93 อำเภอ 507 ตำบล 3 เทศบาล 4,678 หมู่บ้าน ซึ่งหน่วยงานให้ความช่วยเหลือสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค


รวมถึงปฏิบัติการฝนหลวง ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยโดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพิ่มพื้นที่ความชุ่มชื้น และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ในพื้นที่รับน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำทับเสลา ลำตะคอง ศรีนครินทร์ และอ่างฯ ประแสร์

นอกจากนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ได้มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยแล้ง
ณ จ.ลำปาง ในวันที่ 18 มิถุนายน นี้ด้วย




 
 



 



Create Date : 16 มิถุนายน 2563
Last Update : 16 มิถุนายน 2563 15:34:51 น.
Counter : 548 Pageviews.

0 comment
"กรมชล"เดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ ช่วยภัยแล้ง
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ เป็นโครงการที่ราษฎรในพื้นที่ ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ได้เสนอขอมายังกรมชลประทาน ผ่านทางอำเภอพร้าว เมื่อปี 2542 เนื่องจากประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝน และในช่วงฤดูแล้งยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรอีกด้วย


 



 
นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวภายหลังจากเข้าร่วมประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ ณ วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.6 บ.หลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เก็บกักน้ำได้ประมาณ 20.19 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถส่งน้ำ ครอบคลุม 7 หมู่บ้าน ของตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่


 



 
โดยแบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานของฝายเดิมในปัจจุบัน ประมาณ 3,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่เพิ่มอีกประมาณ 3,000 ไร่ รวมทั้งหมดประมาณ 6,000 ครอบคลุมทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศให้กับลำน้ำในพื้นที่อีกด้วย ผลจากการประชุมราษฎรในพื้นที่ต่างเห็นชอบให้ดำเนินโครงการฯโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี


 
 


 
กรมชลประทาน ได้ให้ความสำคัญทุกมิติทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลโหล่งขอด ได้เสนอขอรับการสนับสนุนโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรให้แก่ราษฎร
 
เนื่องจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เกินกว่า 500 ไร่ และอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จึงเป็นโครงการที่เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)



 



 
เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงาน รวมทั้งเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติฯ ประกอบการพิจารณาอนุญาตเพิกถอนพื้นที่ก่อสร้างตามขั้นตอนต่อไป ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ พร้อมเดินตามกระบวนการตามกฏระเบียบทางกฏหมายต่อไป 



 




 



Create Date : 09 มิถุนายน 2563
Last Update : 9 มิถุนายน 2563 21:11:30 น.
Counter : 737 Pageviews.

0 comment
เร่งกำจัดผักตบลุ่มน้ำภาคกลางก่อนน้ำหลาก
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ตรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืชในลุ่มน้ำภาคกลาง (แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย คลองรังสิตประยูรศักดิ์)

โดยรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืช ในลุ่มน้ำภาคกลาง พร้อมทั้งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสำรวจเส้นทางการไหลของผักตบชวา 


 
 


 
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำของประเทศ เป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง และได้ติดตามผลการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางน้ำในการคมนาคม ขนส่ง เป็นประจำ

พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ซึ่งจากการประชุมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมโรงเรียนวัดทรงคนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่ที่มีการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำเชื่อมโยง  
 
ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยใช้รายงานการสำรวจผักตบชวาของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อให้ทุกหน่วยงาน ที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาเห็นภาพปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และได้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้

วันนี้จึงได้ใช้เฮลิคอปเตอร์บินสํารวจสถานการณ์ผักตบชวา ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ คลองหกวา คลองสอง คลองสาม คลองรังสิตประยูรศักดิ์ และได้บินไปสํารวจในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย บริเวณประตูระบายน้ำผักไห่และแม่น้ำท่าจีน บริเวณประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่อยมาจนถึงบริเวณหน้าวัดบางช้างเหนือ จังหวัดนครปฐม จากการบินสำรวจพบว่ายังมีหลายจุดที่มีผักตบชวาสะสมอยู่ปริมาณมาก

"ได้กําชับให้ทุกหน่วยเร่งดําเนินการกําจัดผักตบชวาให้ทันก่อนที่น้ำเหนือจะไหลหลากลงมาในช่วงเดือนกรกฎาคม การกำจัดผักตบชวาให้สิ้นซากนั้นแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมมือกันอย่างจริงจัง ประชาชนที่อยู่ริมน้ำทุกหลังคาเรือนช่วยกันดูแลความสะอาดหน้าบ้านของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าปัญหาผักตบชวาก็จะหมดไปจากแม่น้ำ ลำคลองและเกิดความยั่งยืนต่อไป"




 




 
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำหลายหลักและจุดเชื่อมต่อโดย 4 หน่วยงานมีความก้าวหน้ามากกว่า 90% ซึ่งจากนี้จะมีการเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะคลองซอยที่ท้องถิ่นจะเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงพิจารณามาตรการเสริมเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เกิดผักตบชวาเติบโตได้เร็วขึ้นและเกิดความยั่งยืน อาทิ การตั้งจุดจัดเก็บถาวร กำหนดอัตราค่าจัดเก็บ เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกำจัดผักตบชวาตามระเบียบของสำนักงบประมาณ

มอบเรือท้องแบนให้กับชุมชนริมคลองเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จัดหาแล้วจำนวน 790 ลำ การใช้สารเคมีในการควบคุมการเจริญเติบโตของผักตบ โดยมีผลงานวิจัยที่ชัดเจนว่าไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำ รวมถึงควบคุมการทิ้งขยะและน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลอง  

เพื่อให้ผักตบชวาเข้าสู่แม่น้ำสายหลักน้อยสุด ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก ซึ่งคาดว่าจะมีฝนมากขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่จะส่งผลให้กระแสน้ำเชี่ยวและกำจัดได้ยากขึ้น โดย สทนช. จะนำเสนอ 8 มาตรการในการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (9 มิ.ย. 63) เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการเชิงป้องกันโดยหน่วยงานราชการต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพ

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจติดตามสถานการณ์ผักตบชวาและวัชพืชของรองนายกในวันนี้ สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บผักตบชวาบริเวณวัดทรงคนอง แม่น้ำท่าจีน จังหวัดนครปฐม และตรวจติดตามผลการจัดเก็บผักตบชวา

โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA สํารวจ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ซึ่งได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานหลักดําเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรองนายกได้แจ้งในที่ประชุมให้มีการบินสํารวจด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อสํารวจพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตอนล่าง ซึ่งจะทำให้มองเห็นเส้นทางและปริมาณการไหลของผักตบชวาที่สะสมอยู่ในพื้นที่ต่างๆได้อย่างชัดเจน

จึงได้เชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบดําเนินการจัดเก็บผักตบชวาร่วมทําการบินสํารวจในครั้งนี้ และได้มีการถ่ายภาพเพิ่มในลุ่มน้ำภาคกลาง และภาคตะวันออก ของ GISTDA เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 พบว่ามีการสะสมของผักตบชวา จํานวน 128 จุด 19 จังหวัด สะสมเป็นจำนวนมากในแม่น้ำสายหลัก จํานวน 47 จุด ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา 2 จุด แม่น้ำน้อย 15 จุด แม่น้ำท่าจีน 23 จุด แม่น้ำปาสัก 1 จุด แม่น้ำลพบุรี 6 จุด รวมปริมาณผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักทั้งสิ้น 165,360 ตัน                                                                         

จากผลสํารวจข้างต้น ได้มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบไว้ดังนี้

- กรมชลประทาน รับผิดชอบ 1.แม่น้ำท่าจีน (ประตูระบายน้ำพลเทพ ถึงประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา ระยะทาง 120 กม.) มีปริมาณผักตบชวา 13,680 ตัน 2.แม่น้ำน้อย (ประตูระบายน้ำบรมธาตุถึงประตูระบายน้ำผักไห่ระยะทาง 97 กม.) มีปริมาณผักตบชวา 16,320 ตัน 3. คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองสอง คลองสาม และคลองหกวา มีปริมาณผักตบชวา 15,600 ตัน

- กรมเจ้าท่า รับผิดชอบ 1.แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 160 กม. มีปริมาณผักตบชวา 20,880 ตัน 2.แม่น้ำน้อย (ใต้ประตูระบายน้ำผักไห่ถึงจุดเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยาที่อําเภอบางไทร ระยะทาง 42 เมตร) มีปริมาณผักตบชวา 50,640 ตัน

- กรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบ 1.แม่น้ำท่าจีน (ใต้ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาถึงอ่าวไทยระยะทาง 200 กม.) มีปริมาณผักตบชวา 55,600 ตัน



 



 
สําหรับการบินสํารวจในวันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาให้กับพี่น้องประชาชน และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำหลากได้เป็นอย่างดี ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาเพื่อให้แม่น้ำปลอดผักตบชวา การคมนาคม ขนส่งสะดวกสบาย แก้ไขปัญหาน้ำท่วม และประชาชนริมน้ำมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีต่อไป



 

 
 



Create Date : 08 มิถุนายน 2563
Last Update : 8 มิถุนายน 2563 16:03:42 น.
Counter : 876 Pageviews.

0 comment
เตรียมพบกับนิทรรศการเสมือนจริงบนโลกออนไลน์ ครบรอบ 118 ปีกรมชลประทาน
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การจัดงานวันสถานปนากรมชลประทานครบ 118 ปี ในปีนี้ ได้กำหนดให้มีการจัดนิทรรศการเสมือนจริง (Virtual exhibition) ภายใต้ชื่องาน “RID CREATIVITY & INNOVATION 2020” ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อการชลประทาน 2563

เป็นการจัดงานบนโลกออนไลน์เป็นครั้งแรกของกรมชลประทาน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งได้กำหนดให้มีการถ่ายทอดสดพิธีเปิดนิทรรศการในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 พร้อมด้วยการถ่ายทอดสดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การเสวนา การเผยแพร่นวัตกรรมและผลงานการจัดการความรู้ของสำนัก/กอง




 




 
ตลอดทั้ง 3 วัน ที่จะจัดให้ทุกท่านเข้ามารับชมได้ ตั้งแต่วันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2563 นี้  โดยในนิทรรศการมีการจัดบูธ มากมายกว่า 42 บูธ จัดแสดงโปสเตอร์กว่า 274 แผ่น คลิปวิดีโอ 42 เรื่อง และมีกิจกรรมย่อยแจกของรางวัลในบูธจำนวน 15 บูธ 

สำหรับบูธภายในงาน จะแบ่งตามลักษณะงาน ประกอบด้วย 1.) บูธภาพรวมผลงานกรมชลประทาน นำเสนอเนื้อหาเรื่อง ประวัติกรมชลประทาน แผนงาน RID No.1Express 2020 แผนบริหารความต่อเนื่อง(BCP) และศูนย์ประสานงานการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)กรมชลประทาน

2.) ด้านบริหารองค์กร นำเสนอเรื่อง หน่วยงานราชการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด  ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำนักทรัพยากรบุคคล อาสาสมัครชลประทานกลไกการมีส่วนร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ



 



 
3.) ด้านศึกษาความเหมาะสม นำเสนอเรื่อง โครงการที่ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIMP) โครงการพัฒนาทุ่นยางพาราดักผักตบชวา อากาศยานไร้คนขับบินสำรวจถ่ายภาพ เพื่อการทำแผนที่ นวัตกรรมเครื่องอัดฉีดของผสมแรงดันสูง และระบบวิทยุสื่อสารแบบบูรณาการ  

4.) ด้านพัฒนาแหล่งน้ำ นำเสนอเรื่อง งานก่อสร้างภายใต้สภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี-อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุตรดิตถ์

5.) ด้านบริหารจัดการน้ำ นำเสนอเรื่อง การบริหารจัดการน้ำด้วย Big Data ชลประทานล้านนากับการพัฒนาลุ่มน้ำน้ำปิง การแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้งในลุ่มน้ำอิงจังหวัดพะเยา จัดการน้ำยุคใหม่ แค่ปลายนิ้ว งานชลประทานกับการสร้างความยั่งยืนของภาคประชาชน โครงการชลประทานเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์   


 



 
จะมีการถ่ายทอดสดการเสวนา ในหัวข้อต่างๆที่น่าสนใจ อาทิ เรื่อง New Normal วิถีชีวิตใหม่กรมชลประทานหลัง COVID19  โดย พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต มีของที่ระลึกแจกให้กับผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานวันละ 5,000 ชิ้น รวมไปถึงกิจกรรมร่วมสนุกกับการเล่นเกมเพื่อรับของรางวัลอีกมากมาย

ขอเชิญชมนิทรรศการเสมือนจริงผ่านเว็บไซต์ exhibition.rid.go.th “ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อการชลประทาน 2563” ในระหว่างวันที่ 12 – 14 มิถุนายน 2563 ลุ้นรับของรางวัลมากมายส่งถึงบ้านคุณ




 



 



Create Date : 05 มิถุนายน 2563
Last Update : 5 มิถุนายน 2563 15:58:01 น.
Counter : 760 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments