All Blog
"กรมชลฯ"ย้ำน้ำต้นทุนใช้บริโภคเป็นหลัก
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติในฤดูฝนปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปี 2562 มีปริมาณน้ำใช้การได้ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 รวมกันเพียง 5,377 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย สามารถส่งน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและพืชต่อเนื่อง เท่านั้น



 




 
เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และต่อเนื่องมาจนถึงฤดูฝนปี 2563 ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,936 ล้าน ลบ.ม. วางแผนจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตรพืชต่อเนื่อง และรักษาระบบนิเวศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ประมาณวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. รวมประมาณ 1,656 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียง 280 ล้าน ลบ.ม.



 




 
จากข้อจำกัดของปริมาณน้ำต้นทุนนี้ สามารถส่งน้ำให้ได้เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำเท่านั้น เนื่องจากจังหวัดสุโขทัยในช่วงฤดูฝนประสบมักจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว จึงใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก โดยการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ 0.265 ล้านไร่ ใช้น้ำประมาณ 245 ล้าน ลบ.ม.  



 




 
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง 12 ทุ่ง จำนวน 1.15 ล้านไร่ และพื้นที่ดอนอีก 6.568 ล้านไร่ ขอให้เพาะปลูกเมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำในพื้นที่เพียงพอ โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้การเพาะปลูกข้าวนาปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วเสร็จเช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆมา



 
    



 
ทั้งนี้ โครงการชลประทานอ่างทองและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร ได้ลงพื้นที่ไปพบปะกลุ่มเกษตรกร พร้อมด้วยปลัดอำเภอสามโก้ และกำนันตำบลอบทม เพื่อร่วมประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน รวมถึงแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่

ภายหลังการชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น เกษตรกรต่างมีความเข้าใจที่ต้องใช้น้ำฝนเป็นหลัก และใช้น้ำชลประทานเสริม อีกทั้งยังมีความพึงพอใจในแนวทางการให้ความช่วยเหลือสวนมะม่วง ของอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทองด้วย




 




 



Create Date : 04 มิถุนายน 2563
Last Update : 4 มิถุนายน 2563 17:16:51 น.
Counter : 693 Pageviews.

0 comment
“บิ๊กป้อม”ตั้งคณะทำงานผลิตน้ำจืดสร้างความมั่นคงEEC
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยมี รองเลขาธิการ สทนช. เป็นประธานคณะทำงาน และรองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ เป็นรองประธานคณะทำงาน และมีคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)



 




 
โดยมีภารกิจหลักในการพิจารณา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สัดส่วนการใช้น้ำ การกำหนดราคาค่าน้ำ เพื่อกำหนดประเภทของเทคโนโลยี พื้นที่นำร่อง และปริมาณการผลิตน้ำต่อวัน ที่เหมาะสมของโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ก่อนนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ และ กนช. ตามลำดับ

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลมีเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว จำเป็นจะต้องมีระบบสาธารณูปโภคพื้นที่ฐานที่พร้อมรองรับการลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องน้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการผลิต




 




 
จากการประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC พบว่า ในปี 2569 จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเป็น 2,888 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากปัจจุบันที่มีความต้องการใช้น้ำประมาณ 2,419 ล้าน ลบ.ม. และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นจะต้องจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นให้ได้อีกไม่น้อยกว่า 500 ล้าน ลบ.ม. ภายใน 20 ปีข้างหน้า

จากปัจจุบันที่มีปริมาณน้ำต้นทุนประมาณ 2,539 ล้าน ลบ.ม.  สทนช.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำแผนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 - 2580) ขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่



 




 
โดยแผนดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ประกอบด้วย 1.แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน ปี 2563-2570 รวมทั้งสิ้น 38 โครงการ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 872.19 ล้าน ลบ.ม.

2.แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ ปี 2563-2580 จำนวน 9 โครงการ/มาตรการ 3.แผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ปี 2563–2580 จำนวน 25 โครงการ 4.แผนการจัดการคุณภาพน้ำ ปี 2563–2580 จำนวน 33 โครงการ และ 5.มาตรการอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ปี 2563-2580 จำนวน 3 โครงการ

“การพัฒนาแหล่งน้ำจากเทคโนโลยีการกรองน้ำทะเลเป็นน้ำจืดเป็น 1 ใน 38 โครงการของแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนปี 2563-2570 ซึ่งในขณะนี้เทคโนโลยีด้านนี้ประเทศไทยยังไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้ครอบคลุมทุกด้าน คณะทำงานชุดนี้จะเข้ามาศึกษาเพื่อหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ ซึ่งหากสามารถจัดหาน้ำตามที่ประเมินไว้จะช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ EEC อย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว 




 

 



Create Date : 01 มิถุนายน 2563
Last Update : 1 มิถุนายน 2563 17:26:16 น.
Counter : 756 Pageviews.

1 comment
กรมชลฯพร้อมรับมือน้ำหลาก
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ประชุมและติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์เรียนรู้และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา  , ประตูระบายน้ำบรมธาตุ และ ประตูระบายน้ำมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 33,289 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 9,632 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุน้ำใช้การ



 



 
ในส่วนของสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,059 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,363 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 8 ของความจุน้ำใช้การ 

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 2562/63 ทั้งประเทศ มีแผนการจัดสรรน้ำ 11,975 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 2,388 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 20 ของแผน ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนการจัดสรรน้ำ 3,250 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 793 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของแผน



 



 
สำหรับแผน-ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 ในเขตชลประทาน ทั้งประเทศ มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 1.47 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.78 ของแผน ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปี 8.1 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.85 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 10.55 ของแผน

โดยพื้นที่ทุ่งบางระกำ แผนเพาะปลูก 265,000 ไร่ เพาะปลูกแล้ว 253,605 ไร่ คิดเป็นเป็นร้อยละ 96 ของแผน ส่วนในพื้นที่ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ทำการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกอย่างสม่ำเสมอ และมีปริมาณน้ำเพียงพอ 



 



 
กรมชลประทาน ได้กำหนดมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.) กำหนดพื้นที่ เพื่อทำการวิเคราหะ์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซาก ควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่าง ดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ

2.) กำหนดคน โดยกำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด 3.) จัดสรรทรัพยากร อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถขุด รถแทร็คเตอร์ และเครื่องมือต่างๆ ในพื้นที่ให้เพียงพอ และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา  



 



 
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำใกล้เคียง ได้ดำเนินการตามมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยเรียบร้อยแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังคน ที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย

จากนั้นได้ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการน้ำหลาก พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ ประตูระบายน้ำบรมธาตุ และประตูระบายน้ำมโรมย์ จังหวัดชัยนาท




 

 
 



Create Date : 29 พฤษภาคม 2563
Last Update : 29 พฤษภาคม 2563 17:37:46 น.
Counter : 987 Pageviews.

0 comment
ฝนหลวงปรับแผนปฏิบัติการหลังเข้าฤดูฝน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้กระแสลมซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำฝนหลวงได้เปลี่ยนทิศทางจากในฤดูร้อน

โดยขณะนี้เป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้นจึงต้องกำหนดที่ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงให้สามารถบินทำงานได้สอดรับกับทิศทางของลม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจะเปิดเพิ่มเติมเป็น 12 หน่วยได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดแพร่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี อุดรธานี ขอนแก่น สุรินทร์ นครราชสีมา ระยอง ชุมพร สุราษฏร์ธานี และสงขลา และเปิดฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 4 ฐาน ที่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ และบุรีรัมย์ 

ทั้งนี้จะปรับย้ายหน่วยมาตั้งในจังหวัดต้นลมเพราะการทำฝนต้องทำที่ต้นลม จะทำให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่พื้นที่ต้นลมจนถึงท้ายลม โดยในภาคเหนือหน่วยซึ่งตั้งอยู่ที่เชียงใหม่จะมาตั้งที่ตาก ซึ่งจะสามารถทำฝนครอบคลุมทั้งฝั่งตะวันตกของประเทศและภาคเหนือตอนบนทั้งหมด


 




 
ภาคเหนือตอนล่างมีหน่วยที่พิษณุโลกจะย้ายไปแพร่ ซึ่งจะสามารถทำฝนครอบคลุมไปถึงภาคเหนือฝั่งตะวันออก ในภาคกลางเพิ่มหน่วยที่ราชบุรีและลพบุรีไว้ ส่วนภาคใต้เพิ่มหน่วยที่ชุมพรและสุราษฎร์ธานีซึ่งต้องเร่งทำฝนช่วยสวนผลไม้ซึ่งประสบภัยแล้ง

ส่วนหน่วยสงขลานั้นจะเน้นสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าพรุที่สำคัญได้แก่ ป่าพรุโต๊ะแดงและป่าพรุบาเจาะที่นรารธิวาสเพื่อป้องกันไฟป่า การที่ภาคใต้มีหลายหน่วยเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่ยาวจึงต้องตั้งหน่วยปฏิบัติการให้ครอบคลุม สำหรับใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่ประจำทุกหน่วยมีรวม 21 ลำ

ทั้งนี้ได้แก่ ชนิด CN 1 ลำ CASA 9 ลำ CARAVAN 9 ลำ Super King Air 2 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ 5 ลำ ได้แก่ ชนิด BT 3 ลำ และ AU 2 ลำ
กอนช.เกาะติดฝนหลายพื้นที่ฝนยังกระจายตัวเฉลี่ยไม่เกิน 80 มม. คาดว่าช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิ.ย.ฝนจะมากขึ้น ย้ำทุกหน่วยเร่งกำจัดขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำโดยเฉพาะกทม.เขตเมืองพร้อมรับน้ำ ก่อนตกชุกหลัง ก.ค.- ก.ย.โอกาสทองเก็บน้ำเข้าอ่างฯ พร้อมชี้โครงการแก้แล้งคืบแล้วกว่า 70% คาดปิดจ็อบตามเป้า




 



Create Date : 28 พฤษภาคม 2563
Last Update : 28 พฤษภาคม 2563 19:14:12 น.
Counter : 690 Pageviews.

1 comment
กอนช.ประเมินฝนยังกระจาย-ปริมาณน้อยคาดหนาแน่นก.ค.- ก.ย.
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามประเมินสภาพอากาศ

รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝน เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงติดตามผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน และการเตรียมการรับมือในฤดูฝน



 



 
เนื่องจากขณะนี้ปริมาณฝนยังมีการตกแบบกระจายตัวเฉลี่ยอยู่ประมาณ 40- 80 มม.ไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม และคาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 4 – 11 มิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือก่อนที่ปริมาณฝนจะตกมากขึ้น

ที่ประชุมได้เร่งรัดทุกหน่วยงานดำเนินการตาม 8 มาตรการรับมือน้ำหลากให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมขัง น้ำหลาก อาทิ การแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืช การระบายน้ำคลองรอยต่อจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยและสั่งการให้เร่งดำเนินการขุดลอก รวมถึงวางแผนการระบายน้ำจุดเชื่อมต่อต่าง ๆไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ การจัดทำระบบคาดการณ์น้ำล่วงหน้าสถานีหลักแห่งชาติ จำนวน 51 แห่ง เพื่อการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ


 


 
โดยการเชื่อมโยงระบบคาดการณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 63 เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวิเคราะห์ วางแผนบริหารจัดการน้ำของ กอนช. โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำสำคัญที่เกิดอุทกภัยน้ำหลากเป็นประจำ รวมทั้งพิจารณาสถานีโทรมาตรของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีแผนติดตั้งใหม่ไม่ให้ซ้ำซ้อนกันด้วย

"กรมอุตุนิยมวิทยา และสสน. ได้คาดการณ์สอดคล้องกันว่าขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มการเกิดพายุในช่วงนี้ แต่ยังมีแนวโน้มในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน อาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่น อาจเกิดน้ำท่วมฉันพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช.ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตาม 8 มาตรการรับมือฤดูฝนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ให้สอดคล้องกับพื้นที่และช่วงเวลาของปริมาณฝนคาดการณ์" 

โดยได้แจ้งข้อมูลพื้นที่คาดการณ์เฝ้าระวังน้ำท่วมไปยังกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดร่วมบริหารจัดการน้ำ เก็บกักน้ำ ติดตาม เฝ้าระวัง และทำงานในระดับพื้นที่ เช่น ในเดือนมิถุนายนฝนส่วนใหญ่อยู่บริเวณเหนือ ภาคกลาง



 



 
ด้านตะวันออกของภาคอีสาน และภาคตะวันออก และลดลงในช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อกรกฎาคม ก่อนฝนจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมปริมาณฝนจะเยอะมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีในการเก็บกักน้ำต้นทุนสำรองไว้ใช้ในอนาคตทดแทนช่วงฝนน้อยในปีที่ผ่านมาได้  

แต่ก็ต้องเฝ้าระวังที่บางพื้นที่อาจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้โดยเฉพาะบริเวณภาคกลาง และกทม. จากนั้นในเดือนกันยายนภาคอีสานจะเริ่มมีฝนต่ำกว่าค่าปกติ และจะไปเพิ่มขึ้นที่ทางภาคใต้ในเดือนตุลาคมตามลำดับ

สำหรับความก้าวหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปี 2562/63 ล่าสุดขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการเพิ่มแหล่งน้ำสนับสนุนการอุปโภค-บริโภคในพื้นที่เป้าหมายแล้ว 1,149 แห่ง จากโครงการที่ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 1,626 แห่ง คิดเห็น 71% แบ่งเป็น อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1,033 แห่ง


 


 
ดำเนินการแล้วเสร็จสามารถสนับสนุนน้ำได้แล้ว 116 แห่ง ประกอบด้วย ขุดเจาะบ่อบาดาล 84 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 22 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 50 แห่ง ภาคกลาง 12 แห่ง จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 7 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง

ซ่อมแซมระบบประปา 24 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 10 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 แห่ง และ วางท่อน้ำดินในภาคเหนือ 1 แห่ง รวมปริมาณน้ำบาดาล 4.2 ล้านลูกบาศม์เมตร /ปี น้ำประปาสำรอง 5 แสนลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำดิบผลิตประปา 1.97 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ประชาชนได้รับประโยชน์ 12,752 ครัวเรือน ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้

ขณะที่โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ และโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 พบว่า มีการดำเนินการแล้ว 137 แห่ง แบ่งเป็น อยู่ระหว่างการดำเนินการ 129 แห่ง แล้วเสร็จจำนวน 8 แห่ง



 



 
ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิมให้พร้อมเก็บกักน้ำได้มากขึ้นแบ่งเป็น ภาคกลาง 6 แห่ง ตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง และภาคตะวันออก 1 แห่ง ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 9 หมื่นลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 6 แสนไร่ ประชาชนรับประโยชน์ 435 ครัวเรือน มีการจ้างงานท้องถิ่น 43 คน

โดยในวันที่ 10 มิถุนายนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขุดเจาะบ่อบาดาลตามที่รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในจังหวัดเลย และในวันที่ 11 มิถุนายนจะเป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อติดตามความก้าวหน้ามาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากด้วย





 



Create Date : 28 พฤษภาคม 2563
Last Update : 28 พฤษภาคม 2563 18:10:53 น.
Counter : 697 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments