All Blog
ครม.ไฟเขียวงบกลางกว่า 500 ล้านบาท รับมือน้ำหลาก
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (8 กรกฎาคม 2563) ได้เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลางในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 506.67 ล้านบาท

เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝนปีนี้ และการแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ตลอดจนใช้ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามแผนงานที่ สทนช. เสนอ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แล้ว



 



 
สำหรับแผนงานที่จะใช้งบกลางดังกล่าวในการดำเนินงาน ประกอบด้วย แผนการกำจัดวัชพืชเพื่อเตรียมความพร้อมการเร่งระบายน้ำหลากในช่วงฤดูฝนในพื้นที่กว่า 30 จังหวัด จำนวน 215 แห่ง ดำเนินการโดยกรมชลประทาน และแผนการขุดลอกคูคลองในพื้นที่เขตหนองจอก รวม 63 คลอง

ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร 60 คลอง และกรมชลประทาน 3 คลอง ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับปริมาณน้ำในฤดูฝน และการรับมือน้ำหลากปี 2563 รวมทั้งรองรับความต้องการใช้น้ำของภาคการเกษตรในพื้นที่ เนื่องจากในปัจจุบันคลองมีสภาพตื้นเขิน และระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม

โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2563 ตามที่ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ว่า จากนี้ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ฝนจะทิ้งช่วง จากนั้นฝนจะเริ่มตกมากขึ้นและมีพายุพัดผ่านประเทศไทยประมาณ 1-2 ลูก อาจจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลันได้



 



 
นอกจากนั้น ในส่วนของอาคารชลประทานและระบบชลประทานต่าง ๆ ในความรับผิดชอบของกรมชลประทานต้องเร่งดำเนินการซ่อมแซมให้มีสภาพพร้อมใช้งานเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในช่วงฝนตกชุกต่อไปด้วย

ทั้งนี้ งบกลางดังกล่าว ยังจะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างประแสร์ ของกรมชลประทาน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2563

จากเดิมจะต้องที่กำหนดแล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อุปโภคบริโภค ตลอดจนบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการเร่งการสูบน้ำกลับเข้าอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด



 



 
อีกทั้ง สทนช. มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับงบประมาณสนับสนุนเร่งด่วน เพื่อนำมาใช้ในแผนงานทำแบบจำลองกายภาพลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ สำหรับใช้ในการสร้างความเข้าใจในเรื่องแผนแม่บทและการบริหารจัดการน้ำได้ง่ายขึ้น ตามที่ พลเอก ประวิตร ได้สั่งการ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สทนช. ได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 5 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำมูล

“การประชุม ครม. ในครั้งนี้ ยังได้เห็นชอบงบกลางให้ สทนช. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะทำงานในพื้นที่ 76 จังหวัด ซึ่งเป็นภารกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ในปี 2563 เพื่อเตรียมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับจังหวัดช่วงฤดูฝน ปี 2563 ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำได้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” เลขาธิการ สทนช. กล่าว



Create Date : 08 กรกฎาคม 2563
Last Update : 8 กรกฎาคม 2563 16:33:05 น.
Counter : 773 Pageviews.

1 comment
"กรมชลฯ"ย้ำจัดสรรน้ำเป็นธรรมให้ทุกภาคส่วนใช้อย่างเพียงพอ
กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า "หวั่นเกิดสงครามแย่งน้ำที่พิษณุโลก หลังประสบปัญหาภัยแล้ง แม้จะมีเขื่อนนเรศวร เป็นเขื่อนคอนกรีตทดน้ำขนาดใหญ่สร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน ทั้งนี้ ระดับน้ำไม่มีปัญหา แต่ชลประทานไม่ระบายน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ แม้จะอยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน" 


 



 
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนการส่งน้ำในช่วงฤดูนาปี 2563 ให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ โดยมีพื้นที่เป้าหมายประมาณ 265,000 ไร่ อยู่ในเขตอำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 106,914 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันต้นข้าวมีอายุประมาณ 2-3 เดือนแล้ว และมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการของต้นข้าว 

สำหรับพื้นที่นอกเป้าหมายการส่งน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ นั้น ภายหลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่กว่า 30,581 ไร่ ปัจจุบันข้าวมีอายุประมาณ 1-2 เดือน และเป็นช่วงที่ข้าวต้องการใช้น้ำในการเจริญเติบโตเป็นจำนวนมากนั้น



 



 
สำนักงานชลประทานที่ 3 ได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกร โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 11 เครื่อง พร้อมเดินเครื่อง สูบน้ำประมาณ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยรับน้ำจากแม่น้ำน่านเข้ามาช่วยส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว เพื่อลดความเสียหายแล้ว 

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 3 ได้ทำการรักษาระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนนเรศวรไว้ที่ +46.30 ม.รทก. เพื่อส่งน้ำให้กับคลองส่งน้ำสายใหญ่ YN1 ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ ยังทำการระบายน้ำผ่านเขื่อนนเรศวร เพื่อส่งให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งจำเป็นต้องควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบในกิจกรรมการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอีกด้วย





 

 



Create Date : 04 กรกฎาคม 2563
Last Update : 4 กรกฎาคม 2563 13:34:56 น.
Counter : 874 Pageviews.

1 comment
"พล.อ.ประวิตร"ห่วงน้ำอนาคต เร่งแผนพัฒนาแหล่งน้ำ EEC
"ประวิตร"ห่วงความต้องการใช้น้ำในอนาคต ที่สวนทางปริมาณน้ำต้นทุน สั่ง สทนช. เร่งรัดแผนงานก่อสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่อีอีซี 17 โครงการ ใน 7 กลุ่มโครงการ เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกัก สร้างโครงข่ายเชื่อมโยงการผันน้ำ เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ตอบสนองความต้องการใช้น้ำในอนาคต

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ เพื่อรับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ และร่วมกันพิจารณาทบทวนเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการสำคัญ



 



 
รวมถึงการปรับปรุงเร่งรัดแผนงานก่อสร้างภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก่อนให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้

พลเอก ประวิตร ว กล่าวว่า ความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี เนื่องจากการขยายตัวทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่มีแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในทุกด้าน

ทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ สทนช. จัดทำแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 38 โครงการ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ถึง 872 ล้าน ลบ.ม.



 



 
โดยได้รับจัดสรรงบประมาณขับเคลื่อนแล้ว 16 โครงการ เมื่อเสร็จตามแผนงานก่อสร้าง ปี 65 จะมีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 253.6 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการระบบสูบกลับคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง (ปี 60-65) ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา แ

ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 64 ในส่วนอีก 22 โครงการ มีแผนงานตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป โดยการประชุมในวันนี้ มีโครงการสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อน 17 โครงการ ใน 7 กลุ่มโครงการ

ได้แก่ 1.โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 65-66 ซึ่ง สทนช. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เร่งขับเคลื่อนโครงการ โดยมอบหมาย ปตท. และ อีสท์ วอเตอร์รวบรวมข้อมูลด้านเทคโนโลยีและวิเคราะห์ราคาค่าน้ำที่เหมาะสมคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อกำหนดหน่วยงานของรัฐขับเคลื่อนโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมภายในปี 64



 




 
2.โครงการพัฒนากลุ่มบ่อน้ำบาดาลสำหรับอุตสาหกรรม 12 ล้าน ลบ.ม. ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นการพัฒนาน้ำบาดาลระดับลึก ใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำบาดาล ปี 63 ศึกษาสำรวจและประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC เมื่อศึกษาแล้วเสร็จ ให้เสนอผลการศึกษาต่อ สทนช. เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมภายในปี 64 และให้ทำแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึกครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดในระยะต่อไป

3.กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำบางปะกง 2 โครงการ ของกรมชลประทาน ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 15 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 65-68 และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 27.5 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 66-68

4.กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง 2 โครงการ ของกรมชลประทาน ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง ความจุ 40 ล้าน ลบ.ม. แผนงานก่อสร้าง ปี 66-68 ซึ่งเป็นโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนิน และโครงการเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพล้-ประแสร์ จ.ระยอง ความจุ 20 ล้าน ลบ.ม. แผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 69-70 ที่ประชุมเร่งรัดให้ดำเนินการภายได้ในปี 66 เพื่อสามารถผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้เร็วขึ้น 3 ปี



 



 
5.กลุ่มโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำเดิม 4 โครงการ ของกรมชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำเดิมในเขตพื้นที่ EEC ประกอบด้วย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำมาบประชัน จ.ชลบุรี ได้น้ำ 0.6 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 64

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี ได้น้ำ 19.74 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 64 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำบ้านบึง จ.ชลบุรี ได้น้ำ 2.4 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 65 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว ได้น้ำ 17.5 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างปี 65

6.กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา 2 โครงการ ของกรมชลประทาน ประกอบด้วย โครงการอุโมงค์ส่งน้ำอ่างเก็บน้ำพระสะทึง-คลองสียัด ความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีแผนงานก่อสร้างใน ปี 71-75 ที่ประชุมเสนอให้เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมโครงการใน ปี 65



 



 
เพื่อปรับแผนก่อสร้างให้เร็วขึ้นอีก 2 ปี และโครงการระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ความจุ 6 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 71-73 เสนอปรับแผนก่อสร้างให้เร็วขึ้นในปี 66-68 

7.กลุ่มโครงการเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และปรับปรุงขยายเขตการประปาส่วนภูมิภาค จ.ชลบุรี 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม. แผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 65-70 โครงการเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ ผันน้ำได้ 70 ล้าน ลบ.ม.

กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 65-66 โครงการเครือข่ายน้ำคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 ผันน้ำได้ 55 ล้าน ลบ.ม. กำหนดแผนงานเริ่มก่อสร้าง ปี 69-72 แผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาพัทยา-แหลมฉบัง–ศรีราชา (เพิ่มเติม)



 



 
กำหนดแผนเริ่มก่อสร้างปี 65-67 และแผนงานก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาชลบุรี-พนัสนิคม-(พานทอง)-(ท่าบุญมี) ระยะที่ 2 (เพิ่มเติม) กำหนดแผนเริ่มก่อสร้างปี 65-67 ซึ่งการพัฒนาโครงการในกลุ่มที่ 7 นี้ จะต้องพิจารณาทบทวนตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดด้วย

แผนงานก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อีอีซี หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำให้กับทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่จะมีใช้น้ำได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม พร้อมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ที่ประชุมในวันนี้ได้ตั้งคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ทางวิชาการเฉพาะด้าน มาเสริมทัพร่วมกันทำงาน เพื่อสนับสนุนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง และยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำได้อีกด้วย








 
 



Create Date : 03 กรกฎาคม 2563
Last Update : 3 กรกฎาคม 2563 16:39:17 น.
Counter : 833 Pageviews.

2 comment
ชป.แจงระบบนิเวศบึงวังน้ำเย็นดีขึ้นหลังกำจัดวัชพืช
กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีปัญหาน้ำในบึงวังน้ำเย็น บริเวณหน้าวัดวังน้ำเย็น ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เกิดการเน่าเสีย เพราะปริมาณน้ำน้อยและไม่ไหลเวียน 

นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์น้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทาน จึงได้กำหนดมาตรการในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563



 



 
โดยจะจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลตามความจำเป็น ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งในช่วงวันที่ 11-20 มิถุนายน 2563 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร ได้บริหารจัดการน้ำ

เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรไม้ผล (มะม่วง) ในเขตอำเภอสามโก้ และอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ทำให้มีน้ำไหลเวียนในคลองส่งน้ำ 1 ขวาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีน้ำนอนคลองสำหรับรักษาระบบนิเวศได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อภารกิจการให้ความช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรไม้ผล และสวนมะม่วงคลี่คลายไปในทางที่ดีแล้ว  สำนักงานชลประทานที่ 12 จึงได้ปรับลดปริมาณน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำ 1 ขวาตามความเหมาะสม ทำให้มีปริมาณน้ำของคลองส่งน้ำ 1 ขวาลดลงอย่างต่อเนื่อง



 



 
ส่งผลให้การไหลเวียนของน้ำมีอยู่เป็นบางช่วง โดยเฉพาะบริเวณที่มีความลาดชันของท้องน้ำ ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้น้ำจากแปลงนาไหลลงคลองส่งน้ำ 1 ขวา อีกทั้งยังมีเศษซากวัชพืชต่างๆ ที่ทับถม

จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำเน่าเสียบริเวณสะพานยางห้าร้อย กม.36+500 ของคลองส่งน้ำ 1 ขวา ที่มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำบริเวณบึงวังน้ำเย็นก่อนถึงวัดวังน้ำเย็น ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร ได้ประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการเครื่องจักกลที่ 5 เพื่อดำเนินการกำจัดวัชพืชบริเวณบึงสีบัวทอง บึงวังน้ำเย็น เพื่อลดผลกระทบของการทับถมของเศษชากวัชพืช ซึ่งเป็นแผนงานปีงบประมาณ 2563 ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน



 



 
เนื่องจากสภาพคลองส่งน้ำที่มีขนาดกว้าง ทำให้ต้องรอปริมาณน้ำในคลองส่งน้ำ 1 ขวาเพิ่มขึ้น จึงจะนำโป๊ะเรือพร้อมเครื่องจักรเข้าเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ได้

ปัจจุบันสภาพน้ำบริเวณบึงสีบัวทองและบึงวังน้ำเย็น บริเวณสะพานยางห้าร้อย กม.36+500 มีสภาพน้ำที่ดีขึ้นแล้ว เหลือเพียงตะกอนดินและเศษซากวัชพืชบางส่วนที่ต้องเร่งกำจัดออกไป และบริเวณหน้าวัดวังน้ำเย็นก็มีสภาพน้ำที่ดีขึ้นเช่นกัน อีกทั้งยังมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำและรักษาระบบนิเวศด้วย




 




 



 



Create Date : 03 กรกฎาคม 2563
Last Update : 3 กรกฎาคม 2563 15:03:29 น.
Counter : 979 Pageviews.

2 comment
กอนช.จัดชุดปฏิบัติการประเมินสถานการณ์ 24 ชั่วโมง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจัดชุดปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ฝน-น้ำท่า-น้ำในเขื่อนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเคาะพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมรายเดือน ส่งข้อมูลเสี่ยงรายตำบลเสนอ มท. คณะอนุกรรมการน้ำจังหวัด พิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติป้องกันระดับพื้นที่

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามประเมินสภาพอากาศ สถานการณ์ฝน



 



 
ในภาพรวมถือว่าช่วงนี้ปริมาณฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงกลางเดือนกันยายน ที่ถือว่าระยะเวลา 2 เดือนกว่า ๆ จากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่ยังถือว่ายังมีปริมาณน้ำน้อยให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังพบว่าเขื่อนขนาดใหญ่มีการระบายน้ำออกมากกว่าน้ำไหลเข้า

เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ที่ยังไม่สามารถระบายน้ำลงมาในพื้นที่ตอนล่างทุ่งเจ้าพระยาได้ ขณะที่คาดการณ์ฝนระยะนี้จะกระจุกตัวบริเวณภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ รวมถึงภาคตะวันออก ที่ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ที่อาจจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้

ขณะที่การติดตามปริมาณน้ำในลำน้ำต่าง ๆ ในภาคเหนือและอีสานมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังอยู่ในลำน้ำยังไม่น่ากังวลมากนักในเรื่องของน้ำล้นตลิ่ง สำหรับในช่วงวันที่ 7-9 ก.ค. ฝนจะเพิ่มขึ้นบริเวณตอนบนของประเทศ จากนั้นในช่วงวันที่ 8 – 13 ก.ค. ฝนจะลดลงประมาณ 3-4 วัน โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างส่วนแนวโน้มการก่อตัวของพายุในช่วงนี้ยังไม่มีแต่อย่างใด



 



 
ที่ประชุมคณะทำงานฯ กอนช.ยังได้คาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมรายเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม โดยจะมีการส่งข้อมูลพื้นที่เสี่ยงถึงระดับตำบลให้แก่หน่วยเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เตรียมแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันผลกระทบในเชิงพื้นที่ แต่จะมีปรับปรุง ทบทวน

ข้อมูลคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง จะมีการทบทวนทุกเดือนอีกครั้ง โดยใช้ข้อมูลฝนตกจริงของแต่ละเดือนมาวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงในเดือนถัดไป เพื่อความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งในเดือนกรกฎาคมพบว่า มีพื้นที่เสี่ยง รวม 499 ตำบล 163 อำเภอ ใน 37 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การติดตามสถานการณ์ฝน น้ำท่าในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมถึงการเฝ้าระวังแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำหลาก ดินโคลนถล่มเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ฤดูฝน ซึ่งมีพื้นที่บางแห่งประสบอุทกภัยแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ กอนช.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานที่ กอนช.ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามประเมินพายุที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากการประเมินสถานการณ์น้ำแล้ว ที่ประชุมยังได้มีการติดตามมาตรการในการติดตามเฝ้าระวังนอกจากการเชื่อมโยงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดของหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ให้ทุกหน่วยงานอัพเดตข้อมูลสถานการณ์พร้อมใช้งานแล้ว ยังมอบหมายให้มีการประเมินสถานีหลักที่อยู่ในจุดเสี่ยง และประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก



 



 
โดยเฉพาะการเชื่อมโยงสถานีหลักแห่งชาติ 51 สถานี ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบแล้ว 42 สถานี คงเหลือ 9 สถานี ให้แล้วเสร็จทั้งหมด 51 สถานี ภายในเดือนก.ค. เพื่อคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ให้มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

รวมถึงหารือแผนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในการปรับปรุงประสิทธิภาพคลองระบายน้ำ สถานีสูบน้ำต่าง ๆ การขุดลอกบึงในการรถไฟ 15 ไร่ เพื่อรองรับน้ำ 52,000 ลบ.ม. เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 15 มิ.ย. จะแล้วเสร็จ 15 ก.ค. และกำหนดแผนระยะต่อไปจะมีการหารือร่วมกับ 5 จังหวัดปริมณฑลเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน

เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมในแต่ละจังหวัด ซึ่งพบว่า  1.สมุทรปราการ จุดเสี่ยง 7 จุด  2.สมุทรสาคร 11 จุด 3.ปทุมธานี 24 จุด แบ่งเป็น จุดเสี่ยงจากฝนที่ตกในพื้นที่ 4 จุด จากน้ำเหนือ 20 จุด 4.นนทบุรี 26 จุด และ 5.นครปฐม 38 จุด รวมถึงติดตามความก้าวหน้ามาตรการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว



 



 
อาทิ การกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ซึ่งยังเหลืออีกประมาณ 20 % คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า การเตรียมพื้นที่รับน้ำ 13 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งบางระกำ และทุ่งเจ้าพระยา 12 ทุ่งนั้น เบื้องต้นพบว่ามี 6 ทุ่งที่สามารถเป็นพื้นที่รับน้ำได้ ได้แก่ ทุ่งบางระกำ ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งพระยาบันลือ ทุ่งรังสิตใต้ รวมประมาณน้ำ 810 ล้าน ลบ.ม.  

ขณะเดียวกัน ยังได้ติดตามความก้าวหน้าความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ที่ใกล้จะแล้วเสร็จตามแผนแล้ว โดยมีผลดำเนินการ 1,430 แห่ง คิดเป็น 87.94 % ส่วนโครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี’63 และแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ (เพิ่มเติม) ที่ยังพบว่ามีความล่าช้ากว่าแผนงานจะมีการเสนอขอผ่อนผันในการขยายระยะเวลาดำเนินการไปถึงเดือนสิงหาคมต่อไป






 



Create Date : 02 กรกฎาคม 2563
Last Update : 2 กรกฎาคม 2563 19:58:47 น.
Counter : 626 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments