All Blog
เปิดวอร์รูมรับวิกฤติน้ำหลาก !
"สทนช."เตรียมเปิดวอร์รูมน้ำรับมือวิกฤติน้ำหลากฤดูฝนนี้ เชื่อมข้อมูลหน่วยน้ำเฝ้าระวังภัยน้ำ 5 ระดับ ระวังติดตามแจ้งเตือนสถานการณ์ทั่วประเทศ 
   
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช. ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนปีนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม รวมถึงแนวทาง เงื่อนไข การแจ้งเตือน โดยเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานด้านน้ำของประเทศร่วมกัน และกำหนดเกณฑ์การปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนตามระดับความรุนแรง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยระดับภัยจะเป็นเกณฑ์กำหนดการทำงานของศูนย์

ซึ่งมีทั้งหมด 3 ศูนย์ปฎิบัติการ ได้แก่ 1.) ระดับที่ 1-2 ระดับสีเขียว เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ศูนย์อำนวยการน้ำของ สทนช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสาน ติดตาม ข้อมูลจากหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ประจำวัน 2.) ระดับที่ 2-3 หรือ ระดับสีเหลือง เมื่อมีพายุก่อตัวและคาดว่าจะมีผลกระทบต่อประเทศไทย หรือความกดอากาศต่ำพาดผ่าน มีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมหลายจังหวัด คิดเป็นปริมาณฝนสะสม 3 วัน มากกว่า 200 มม. ปริมาณน้ำในลำน้ำมากกว่า 60% ของความจุลำน้ำ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


 

 
 


รวมถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 60% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือสูงกว่าเส้นควบคุมบน ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติจะเริ่มปฏิบัติงานทันทีคาดว่ากลางเดือนกรกฏาคมนี้ โดยทาง สทนช. ได้ขอให้มีการส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่จากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประจำการที่ศูนย์ โดยมี นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. เป็นประธานศูนย์ฯ เพื่อเชื่อมต่อการทำงานของทุกหน่วยให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยอาศัยความร่วมมือบูรณาการการปฏิบัติงานจากทุกหน่วย ทั้งการเชื่อมโยงฐานข้อมูล การรวบรวมข้อมูลทั้งหมดในรูปแบบเดียวกัน การกำหนดกลไกสื่อสาร และขั้นตอนในทางปฏิบัติ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้นจากปีที่ผ่านมา

3.) ระดับ 3-4 (ระดับสีแดง) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด มีสถานการณ์รุนแรงในระดับประเทศ  มีผลกระทบในวงกว้าง จะยกระดับเป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการศูนย์ฯ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยทุกหน่วยงานรายงานข้อมูลต่อ สทนช. ทุกๆ 3 ชั่วโมง และในพื้นที่วิกฤติรายงานทุกชั่วโมง การประชุมวันละ 3 ครั้ง เวลา 08.00 น. 14.00 น. และ 20.00 น. โดยข้อมูลดังกล่าวจะส่งต่อไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเร่งด่วนต่อไป

“สทนช. ได้เร่งหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยในการจัดตั้ง ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ และ ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ เพื่อเตรียมรับมือจัดการกับทั้ง “มวลน้ำ” และ “มวลชน” ในภาวะวิกฤติ เพิ่มเติมจากศูนย์อำนวยการน้ำ ซึ่งทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำประจำวัน โดยการเริ่มปฏิบัติงานของแต่ละศูนย์ฯ จะอยู่ภายใต้เกณฑ์สถานการณ์เพื่อการจัดการออกเป็น 5 ระดับข้างต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติในการป้องกัน เฝ้าระวัง และลดความเสียหายทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน” นายสมเกียรติ กล่าว


 

 
 


ขณะเดียวกัน สทนช. ยังได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพิ่มประสิทธิภาพกลไก 4 ด้าน ในการรับมือสาธารณภัยจากวิกฤติน้ำตามหลักสากลการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ได้แก่ 1.ด้านป้องกันและลดผลกระทบ การบริหารจัดการและจัดสรรน้ำตามเกณฑ์อย่างเหมาะสม ในภาวะปกติ จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม/น้ำแล้ง ในแต่ละลุ่มน้ำ พร้อมบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และจัดทำเกณฑ์เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ณ สถานีควบคุม

2. ด้านเตรียมความพร้อม การกำหนดเขตภาวะน้ำแล้งล่วงหน้า และแผนเตรียมกรณีน้ำท่วมฉุกเฉิน ติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ประเมินพื้นที่เสี่ยง และแจ้งเตือนประชาชน รวมถึงหน่วยปฏิบัติเพื่อรับมือ 3. ด้านรับมือ/เผชิญเหตุ การประกาศเขตภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรงและมาตรการ การผันน้ำข้ามลุ่มเพื่อบรรเทาภาวะน้ำแล้ง รวมทั้งบัญชาการและอำนวยการแก้ไขปัญหาจนกว่าวิกฤติจะผ่านพ้นไป 4. ด้านฟื้นฟูเยียวยา ชดเชยเยียวยา รวบรวมข้อมูลความเสียหาย พื้นที่วิกฤติน้ำ วางแผนการป้องกันและแก้ไขระยะยาว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน รับทราบถึงมาตรการเตรียมการต่างๆ


 




 



Create Date : 03 มิถุนายน 2562
Last Update : 3 มิถุนายน 2562 7:32:09 น.
Counter : 868 Pageviews.

2 comment
"กรมชลฯ"เดินแผนป้องกันน้ำท่วมอีสานกลาง
"กรมชลฯ"เดินแผนป้องกันน้ำท่วม 5 จังหวัด อีสานกลาง เตรียมใช้เส้นปฏิบัติการกักเก็บน้ำใหม่ที่ระดับ 80% ของเขื่อน


นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เป็นประธานในการประชุมเตรียมความพร้อมแผนรับสถานการณ์น้ำท่วม ปี พ.ศ.2562 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในฤดูฝน ในพื้นที่ภาคอีสานกลาง ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธ์ ซึ่งอาจทำให้บางพื้นที่ในเขตรับผิดชอบเกิดน้ำท่วมฉับพลัน หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงพิจารณาการตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ปี พ.ศ.2562 ณ ห้องประชุมศูนย์ฝึกอบรมชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 6


ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 62 และเตือนว่าในช่วงนี้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนัก กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้ศูนย์เครือข่ายปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 1-17 ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้เชิญโครงการชลประทานที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้ง 5 จังหวัด มาหารือ

 


 

 





 
ทุกโครงการฯ ได้เตรียมแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ประจำตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้นได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังติดตาม ตรวจสอบอาคารชลประทาน สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้อยู่ในเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) อย่างเคร่งครัด รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ ด้วย
 

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำกักเก็บ 588 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้จริงประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯวันละประมาณ 1.55 ล้าน ลบ.ม. และมการระบายน้ำวันละ 500,000 ลบ.ม. จนถึงขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ มีการนำน้ำก้นอ่างฯขึ้นมาใช้เพียงประมาณ 9 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น จากที่คาดการณ์ไว้ถึง 120 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าหากยังมีฝนตกในพื้นที่ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างฯ อย่างต่อเนื่อง อาจจะไม่ได้นำน้ำก้นอ่างฯขึ้นมาใช้อีก


ส่วนเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำประมาณ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัดอีสานกลาง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 129 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯรวมกัน ซึ่งพบว่าอ่างฯ ขนาดกลางมีแนวโน้มสถานการณ์น้ำที่ดีขึ้น เนื่องจากฝนที่ตกในพื้นที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าช่วงนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อาจจะมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ขอให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเพาะปลูกพืชตามแผนที่ทางราชการได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

 



 
 



Create Date : 30 พฤษภาคม 2562
Last Update : 30 พฤษภาคม 2562 22:25:07 น.
Counter : 658 Pageviews.

0 comment
เร่งสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ย
"ชลประทาน"เร่งสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ย-ระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร.9 พร้อมสร้างฝายต้นลำใย จ.ลำปาง แล้วเสร็จธ.ค.นี้ ช่วยราษฏรได้เร็วขึ้นมีน้ำกินใช้ตลอดทั้งปี

Photobucketนายพีรยุทธ์ เหมาะพิชัย ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้าง สำนักงานชลประทานที่ 2 กรมชลประทาน พร้อมด้วย นายศราวุธ โลหะโชติ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม และนายสุทัศน์ สุวัจนพรพงศ์ หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างที่ 3 ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ยพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลนิคมพัฒนา และฝายต้นลำใยพร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
 
 

 
 
Photobucketสำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ยตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 6 บ้านวังทอง ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นโครงการพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ ความจุประมาณ 392,000 ลูกบาศก์เมตร ความยาวสันเขื่อนประมาณ 197เมตร สูงประมาณ 20 เมตร พร้อมระบบท่อส่งน้ำ ยาว 5,240 เมตร ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานด้านก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 20 ของแผนฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน เดือนธันวาคม 2562 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับราษฎรในพื้นที่ได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี รวมทั้งมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ประมาณ 1,500 ไร่
 
 

 
 
Photobucketส่วนฝายต้นลำใยพร้อมระบบส่งน้ำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 4 บ้านทุ่งไผ่ ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง เป็นฝายที่ได้รับการร้องขอจากราษฎรในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2551 มีลักษณะเป็นฝายคอนกรีต ยาวประมาณ 38 เมตร สูงประมาณ 2.5เมตร พร้อมระบบส่งน้ำระยะทางประมาณ 1,870 เมตร ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 38 ของแผนฯคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน เดือนกันยายน 2562 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับราษฎรในพื้นที่ได้มีน้ำ,กินน้ำใช้ตลอดทั้งปี รวมทั้งมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ประมาณ 2,000 ไร่


 




 



Create Date : 30 พฤษภาคม 2562
Last Update : 30 พฤษภาคม 2562 22:48:38 น.
Counter : 955 Pageviews.

0 comment
แล้งอีก 2 เดือนยังมีน้ำใช้
"กรมชลฯ"แจงภัยแล้งยาวไปอีก 2 เดือน ยืนยันน้ำในเขตชลประทานเพียงพอ 


นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าขอชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า จากสัญญาณภัยแล้งปีนี้ ที่มีผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจยาวนานขึ้นอีก 2 เดือน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท หากภัยแล้งลากยาวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมประมาณ 17,300 ล้านบาท นั้น กรมชลประทาน ได้จัดลำดับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานทุกกิจกรรมตลอดช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ การอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองน้ำสำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม การเกษตร และการอุตสาหกรรม

สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(ณ 17 พ.ค. 62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 40,808 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 16,800 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำไปจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน ถึงแม้ว่าในช่วงสิ้นสุดฤดูฝนในปี 2561 ที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำบางแห่งจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างและปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในฤดูแล้งปี 2561/62 ในปริมาณที่จำกัด แต่กรมชลประทาน ได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด โดยการกำหนดมาตรการบริหารจัดการแบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2561/62 ได้ และมีปริมาณน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ อย่างเพียงพอใช้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 ส่วนอีกพื้นที่ จะเป็นพื้นที่ที่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเฉพาะพืชใช้น้ำน้อย(พืชไร่-พืชผัก)เท่านั้น ซึ่งก็มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 เช่นกัน


 

 


อนึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศการเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงของฤดูฝนปีนี้ โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะมีการกระจายของฝนไม่สม่ำและมีปริมาณน้อย อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งขอให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น กล่าวว่า ในปีนี้ตลอดช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้หลายพื้นที่เผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ทั้งนี้กรมชลประทาน โดย สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ให้ความช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภค สำหรับผลิตน้ำประปา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ในพื้นที่ดังต่อไปนี้


 

 


โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ทำการสูบน้ำเพื่อส่งน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุวรรณภูมิ สำหรับใช้ผลิตน้ำประปาส่งให้พื้นที่ในเขตเทศบาลเกษตรวิสัย และเทศบาลเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เริ่มทำการสูบน้ำมาตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.61 โดยดำเนินการสูบน้ำไปยังบริเวณจุดสูบน้ำประปาบ้านเมืองบัว สูบทอยน้ำจากลำน้ำเสียวใหญ่ และลำเตา มาเติมให้กับฝายยางลำเตา

โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ เข้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่ดังกล่าวใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยมะโน เป็นแหล่งน้ำหลักสำหรับใช้ผลิตน้ำประปา โดยดำเนินการขุดร่องชักน้ำเพื่อให้น้ำไหลเข้าไปยังด้านหน้าโรงสูบประปานาคูได้สะดวกขึ้น และทำการสูบน้ำเติมลงในร่องชักน้ำ เพื่อเพิ่มระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยมะโนโครงการชลประทานมหาสารคาม บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือน้ำอุปโภคบริโภค สำหรับผลิตประปาท้องถิ่น ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ แจกจ่ายน้ำให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว


 

 


โครงการชลประทานขอนแก่น ให้ความช่วยเหลือน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ดำเนินการขุดลอกลำห้วยซัน บริเวณด้านหน้าและด้านท้ายที่ตื้นเขิน พร้อมทั้งชักน้ำมาเติมบริเวณหนองโง้ง เพื่อสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกผักปลอดสารพิษ จำนวน 150 ไร่ และสูบทอยเติมสระผลิตน้ำประปาหมู่บ้านโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง ซึ่งขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค

แม้ปัจจุบันจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับผลิตประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือเพียงพอต่อความต้องการแล้วก็ตาม แต่กรมชลประทานยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องทั้งนี้กรมชลประทาน ขอความร่วมประชาชนทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อลดความเสี่ยงเกิด ปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคตด้วย

 







 



Create Date : 19 พฤษภาคม 2562
Last Update : 19 พฤษภาคม 2562 11:53:41 น.
Counter : 728 Pageviews.

0 comment
เปิดแก้มลิงทุ่งบางพลวงโมเดลรับน้ำหลาก
กรมชลฯเตรียมเปิดแก้มลิงทุ่งบางพลวงโมเดลรับน้ำหลากจากลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกง แก้อุทกภัยซ้ำซาก ลดความขัดแย้งชาวนากับชุมชนย่านเศรษฐกิจ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าวางแนวทางขยายผลบางระกำโมเดล แก้น้ำท่วม จ.พิษณุโลก -สุโขทัย ลุ่มน้ำยม สู่บางพลวงโมเดล จ.ฉะเชิงเทรา -ปราจีนบุรี ลุ่มน้ำปราจีนบุรี บางปะกง โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มของหน่วยงานฝ่ายปกครอง และกลุ่มหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่มีความต้องการให้นำแนวทางของโครงการบางระกำโมเดลมาต่อยอดขยายผลให้เกิด โครงการบริหารจัดการน้ำทุ่งบางพลวง เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย หรือ "บางพลวงโมเดล" จะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรในทุ่งบางพลวงกับประชาชนในชุมชนต่างๆ ที่อยู่นอกคันกันน้ำได้

“เกษตรกร ยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ที่สำคัญบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมซ้ำซากต่อชุมชนริมแม่น้ำในหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรีด้วย”นายทองเปลว กล่าว


 

 
สำหรับ “ทุ่งบางพลวง” เป็นพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทาน ตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำปราจีนบุรีต่อเนื่องถึงแม่น้ำบางปะกง เนื้อที่ประมาณ 499,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอศรีมหาโพธิ์ อำเภอศรีมโหสถ และอำเภอบ้านสร้าง รวมถึง 3 อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ อำเภอบางคล้า อำเภอราชสาส์น และอำเภอพนมสารคาม ในอดีตพื้นที่ทุ่งบางพลวงจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย กรมชลประทานได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงพื้นที่โครงการ ก่อสร้างคันกั้นน้ำริมแม่น้ำปราจีนบุรีต่อเนื่องแม่น้ำบางปะกง และก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณคลองสายหลักที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถทำกิจกรรมการเกษตรในทุ่งบางพลวงได้

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พบว่าในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน ของทุกปีเป็นช่วงใกล้เก็บเกี่ยวข้าว เมื่อมีการปิดประตูระบายน้ำ ปริมาณน้ำจะไม่สามารถไหลบ่าเข้าทุ่งได้ จึงไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ รวมไปถึงชุมชนริมแม่น้ำในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ์ อำเภอบ้านสร้าง และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรี ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี


 

 

นายทองเปลว กล่าวว่าเริ่มดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำทุ่งบางพลวง เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ในลักษณะที่คล้ายกับโครงการบางระกำโมเดล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก หลังจากนั้นจะใช้เป็นทุ่งรับน้ำหลาก โดยมีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชใหม่ จากเดิมเกษตรกรจะเริ่มเตรียมแปลงเพาะปลูกประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เนื่องจากต้องรอน้ำฝนและเก็บเกี่ยวกลางเดือนกันยายน ปรับเป็นเริ่มเตรียมแปลงภายในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นภายในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ก่อนฤดูน้ำหลากจะมา

“ช่วยให้เกษตรกรและชุมชนไม่เกิดความเสียหายทั้งสองกลุ่ม พร้อมกับลดความขัดแย้ง ลดความเสียหายต่อผลผลิตรวมทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดปราจีนบุรีอีกด้วย ซึ่งจะขยายผลไปดำเนินโครงการในพื้นที่อื่นๆ ของทุ่งบางพลวง ซึ่งพบว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการได้อีก 200,000 ไร่ ”นายทองเปลวกล่าว

 










 



Create Date : 19 พฤษภาคม 2562
Last Update : 19 พฤษภาคม 2562 9:21:54 น.
Counter : 998 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments