All Blog
ติวเข้ม "Smart Farmer" ยกระดับผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้เข้ารับการอบรมโครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ (Agri BIZ Idol Development Project) จำนวน 78 ราย แบ่งเป็นกลุ่ม จำนวน 5 กลุ่ม

ได้แก่ 1) เกษตรแปรรูป เพิ่มมูลค่า จำนวน 21 ราย 2) เกษตรท่องเที่ยว จำนวน 20 ราย 3) วิสาหกิจชุมชน และบริการการเกษตร จำนวน 11 ราย 4) เกษตรวิถีอินทรีย์ จำนวน 16 ราย และ 5) เกษตรไฮเทคและอุตสาหกรรม จำนวน 10 ราย




 



 
โดยบอกว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรมีความรอบรู้ในการประกอบชีพด้านการเกษตร สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาด ยึดรูปแบบตลาดนำการผลิต

มีทักษะในการบริหารจัดการ พร้อมปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมุ่งมั่นพัฒนาเกษตรกรต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ ต้องเน้นการปรับวิธีการทำการเกษตรจากรูปแบบเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการผลิตสินค้าเกษตรด้วยการบริหารจัดการ




 



 
ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนด้านแรงงานและลดต้นทุนการผลิต มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ตลอดจนสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร รวมทั้งพัฒนาจนเข้าสู่มาตรฐานการรับรองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ยกระดับสู่การส่งออก สร้างผู้นำด้านเกษตรที่เป็นเกษตรชั้นนำ เพื่อเป็นกำลังของภาคเกษตรในอนาคต รวมทั้งยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน




 



 
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดโครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ (Agri BIZ Idol Development Project) ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการเกษตร

สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรต้นแบบ สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการเกษตรต้นแบบ เพื่อสร้างพื้นฐานในการพัฒนาการประกอบการเกษตรสมัยใหม่ โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 80 ราย




 



 
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงาน Smart Farmer และ Young Smart Farmer ทั้งส่วนกลางและเขต ซึ่งเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้ มาจากทั่วประเทศ โดยเป็นเกษตรกรที่มาจากกลุ่ม Smart Farmer, Young Smart Farmer วิสาหกิจชุมชน แปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไป

จะได้รับการอบรมการเพิ่มพูนองค์ความรู้จากวิทยากรและจากพี่เลี้ยงมากด้วยประสบการณ์ จำนวน 5 กลุ่มผู้ประกอบการเกษตร ทั้งเกษตรวิถีอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชนและบริการ เกษตรแปรรูปเพิ่มมูลค่า เกษตรท่องเที่ยว และเกษตรไฮเทค ที่จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมได้นำไปต่อยอดองค์ความรู้ได้ต่อไป

 





 



Create Date : 20 กันยายน 2563
Last Update : 20 กันยายน 2563 17:17:37 น.
Counter : 518 Pageviews.

0 comment
"กษ."ขยายผลเกษตรแปลงใหญ่จับมือบิ๊กซีพัฒนาผู้ผลิต
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตร สู่ตลาดนำการเกษตร ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งมั่นให้ภาคเกษตรมีความมั่นคง เกษตรกรมั่งคั่ง ทรัพยากรยั่งยืน

จึงมุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน จึงเกิดนโยบายตลาดนำการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 6,926 แปลง ให้เกษตรกรเกิดความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม




 



 
รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ เพื่อความสมดุลทั้งการผลิตและการตลาด โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถผลิตได้ตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตเป็น ตลอดจนการผลิตสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และสินค้าหัตถกรรมต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและปลอดภัย

ยกระดับเป็นสินค้าพรีเมี่ยม พร้อมเข้าสู่ทุกช่องทางการตลาดที่มีศักยภาพ ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิตอล ตอบโจทย์ตรงใจต่อความต้องการของผู้บริโภค นำไปสู่การเป็นภาคการเกษตรแบบครบวงจรที่เกษตรกรสามารถสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน







 
จากนโยบายตลาดนำการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) มีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายร่วมกัน มีความพร้อมสนับสนุน ช่วยเหลือพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมของเกษตรกรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายปลาย ทั้งการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่ม

การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต และในด้านการตลาดที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีแหล่งรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนเกษตรกรทราบความต้องการของตลาด สามารถนำมาวางแผนการผลิตให้สอดคล้องทั้งคุณภาพและปริมาณ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาผลผลิต มีรายได้และสร้างความมั่นคงทางอาชีพแก่เกษตรกร

ตลอดจนผู้บริโภคได้เข้าถึงผลผลิตทางการเกษตร ทั้งผักและผลไม้ปลอดภัยจากกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ผ่านบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้กระจายสินค้าคุณภาพไปทั่วประเทศไทย




 



 
นอกจากการให้ความสำคัญกับเกษตรแปลงใหญ่แล้ว กระทรวงเกษตรฯ ยังให้ความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรรายย่อยด้วย ซึ่งจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะได้รับการดูแลจากภาครัฐเหมือนกัน มีการให้คำแนะนำและช่วยปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรให้มีความยังยืนมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก โดยมุ่งหวังที่จะสร้างพื้นฐานให้กับความมั่นคงให้กับอาชีพเกษตรกรรม เพื่อนำไปสู่การทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังตั้งเป้าให้ภาคการเกษตรของไทยสามารถเป็นครัวของโลก จึงต้องมีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน

เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก เราจึงต้องร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ซึ่งการลงนามในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นพันธมิตรที่จะช่วยกันพัฒนาภาคเกษตรกรรมต่อไป




 



 
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานในระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 413,697 ครัวเรือน พื้นที่ 6,777,454 ไร่ จำนวนแปลงใหญ่ 6,926 แปลง สินค้าเกษตรประมาณ 90 รายการ

โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการกลุ่ม และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพ วางแผนการผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ มีการเชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตกับตลาด ตามนโยบาย “การตลาดนำการเกษตร” ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน และสร้างความมั่นคงในอาชีพการเกษตร




 



 
กรมส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนความร่วมมือในการเชื่อมโยงการทำงานด้านการผลิตและการตลาดกับบิ๊กซี ซึ่งได้มีการวางแผนดำเนินการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยบิ๊กซีได้รับซื้อแตงโม จากกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่แตงโม ต.แร่ อ.พังโคน จ.สกลนคร จำนวน 1,800 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 20 ล้านบาทต่อปี

สับปะรดบ้านคา จากแปลงใหญ่สับปะรดผลสด ต.บ้านบึง อ.บ้านคา จ.ราชบุรี จำนวน 439 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 7 ล้านบาทต่อปี และมีแผนจะดำเนินการรับซื้ออโวคาโด จากแปลงใหญ่อโวคาโด หมู่ 4 ต.รวมไทย อ.พบพระ จ.ตาก ในฤดูกาลถัดไปด้วย ซึ่งเป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และจะขยายผลต่อไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป







 



Create Date : 17 กันยายน 2563
Last Update : 17 กันยายน 2563 19:01:16 น.
Counter : 556 Pageviews.

0 comment
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชตรังโชว์พันธุ์พืชพันธุ์ดี-การันตีผลผลิต-ลดต้นทุน
นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า พันธุ์พืชที่มีคุณภาพ เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเกษตรกรในการผลิตพืช เพื่อให้มีผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง เนื่องจากการใช้พันธุ์พืชที่มีคุณภาพดีจะลดปริมาณการใช้พันธุ์พืชต่อไร่

ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาการผลิตพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เกษตรกรยังไม่สามารถเข้าถึงพืชพันธุ์ดีได้ โดยเฉพาะพันธุ์พืชที่ได้มาจากการวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานราชการ รวมทั้งยังไม่มีหน่วยงานราชการใดมีภารกิจรับผิดชอบโดยตรงในการผลิตและขยายพันธุ์พืชในชั้นพันธุ์ขยายและพันธุ์จำหน่ายไปสู่เกษตรกร




 



 
ทำให้พืชพันธุ์ดีเหล่านี้ยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ เกษตรกรจึงต้องใช้พันธุ์พืชที่ไม่มีคุณภาพหรือต้องซื้อหาจากภาคเอกชน ซึ่งมีราคาแพง ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชของเกษตรกรไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ผลผลิตพืชเศรษฐกิจบางชนิดของประเทศไทยผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ

ต้องมีการนำเข้าผลผลิตหรือวัตถุดิบอื่นทดแทนจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยแนวทางในการแก้ปัญหาการขาดแคลนพันธุ์พืชที่มีคุณภาพและราคาแพง คือการเพิ่มปริมาณการผลิตพันธุ์พืชพันธุ์ดี โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ปรับปรุงศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) จำนวน 10 ศูนย์


 
 
 



 
เป็นศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 – 10 ซึ่งมีบทบาทและภารกิจหลักในการขยายพันธุ์พืช ใน 4 สายการผลิต คือ ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดหาแม่พันธุ์พืชพันธุ์ดี และจัดสร้างเกษตรกรเครือข่ายการผลิตขยายพันธุ์พืช รวมทั้งการจัดทำสื่อเรียนรู้ประชาสัมพันธ์และจัดงานสถานีถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตและขยายพันธุ์พืชเพื่อให้เกษตรกรได้รับรู้ถึงการดำเนินงานผลิตขยายพันธุ์พืชของศูนย์ขยายพันธุ์พืชดังกล่าวและเข้าถึงพืชพันธุ์ดีได้ต่อไป

ดังนั้น เพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การผลิตและขยายพันธุ์พืชพันธุ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ หน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน เอกชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ในพื้นที่ภาคใต้ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดงานวันถ่ายทอดความรู้การผลิตขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดีขึ้น ในวันพุธที่ 16 กันยายน 2563 ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง หมู่ที่ 9 ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง


 
ทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
 
 



 
นายเสนอ รัตนสำเนียง ผู้อำนวยการศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภายในงานวันถ่ายทอดความรู้การผลิตขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดี ประกอบด้วย 1) นิทรรศการแสดงผลงานและการสาธิต การขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดี 4 สายการผลิต ได้แก่ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การผลิตท่อนพันธุ์ ต้นพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์ สมุนไพรและการแปรรูป



 



 
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง และการแสดงและจำหน่ายสินค้าของเครือข่ายเกษตรกร, Smart Farmer, Young Smart Farmer วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรของจังหวัดตรัง โดยในการจัดงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย หน่วยงานราชการ เอกชน สื่อมวลชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป จำนวน 300 คน

ทั้งนี้ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง มีพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา สตูล นราธิวาส ยะลา และจังหวัดปัตตานี โดยมีบทบาท ภารกิจ และหน้าที่รับผิดชอบ ในการศึกษา พัฒนา วิจัย ทดสอบ ประยุกต์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชพันธุ์ดี วางแผนการผลิตพืชพันธุ์ดีให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร




 



 
ผลิตพืชพันธุ์ดีให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและขยายกระจายพันธุ์พืช เพื่อใช้ในงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ฝึกอาชีพด้านการผลิตและขยายพันธุ์พืชแก่เกษตรกรทั่วไปและผู้สนใจ ให้บริการข้อมูลข่าวสารวิชาการด้านการผลิตขยายพันธุ์พืช และสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น รวมทั้งให้บริการทางการเกษตรอื่นๆ
 
ปัจจุบัน ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ดำเนินการจัดแปลงแม่พันธุ์พืชพันธุ์ดี ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ จำนวน 13 แปลง เช่น มะละกอ มังคุด จำปาดะ สะตอ โกสน และแปลงสาธิต เช่น พืชสมุนไพร ไม้ป่า ไม้ยืนต้น พืชท้องถิ่น แปลงอนุรักษ์พันธุกรรมพืช



 



 
พืชเด่น 4 สายการผลิตของศูนย์ ประกอบด้วย

1. พืชที่ใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ได้แก่ กล้วย (กล้วยหิน กล้วยน้ำว้า หอมทอง) และกล้วยไม้ป่า จำนวน 20 สายพันธุ์ (สนับสนุนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)

2. พืชที่ใช้วิธีการผลิตต้นพันธุ์ ได้แก่ พริกขี้หนูพันธุ์เดือยไก่ มะเขือเปราะพันธุ์คางกบ มะละกอฮอลแลนด์ และพริกไทย (พันธุ์ซาราวัค ซีลอน และพันธุ์ปะเหลียน)

3. พืชที่ใช้วิธีการผลิตท่อนพันธุ์ ได้แก่ อ้อยคั้นน้ำ (พันธุ์สิงคโปร์)

4. พืชที่ใช้วิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ ได้แก่ พริกขี้หนูเดือยไก่ ถั่วพุ่ม มะเขือเทศ และกระเจี๊ยบเขียว

เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่สนใจพันธุ์พืชพันธุ์ดี หรือหลักสูตรฝึกอาชีพต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 075-582312-3ในวันและเวลาราชการ หรือเข้าชมเว็ปไซต์ของทางศูนย์ฯ ได้ที่  https://www.aopdt08.doae.go.th








 



Create Date : 16 กันยายน 2563
Last Update : 16 กันยายน 2563 17:29:32 น.
Counter : 741 Pageviews.

0 comment
เดินหน้ายกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้า GI ร้อยเอ็ด
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นหนึ่งในสินค้าข้าวที่ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) เมื่อปี 2549 ซึ่งการผลิตสินค้าข้าว GI ในแหล่งภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียน

เป็นการสร้างสินค้าข้าวที่มีเอกลักษณ์ต่างจากแหล่งผลิตอื่น จึงนับว่าเป็นโอกาสทางการค้า การตลาด รวมถึงเป็นการยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าข้าวคุณภาพที่ได้มาตรฐานการผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในด้านคุณภาพและความปลอดภัย




 



 
เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการท้องถิ่น และที่สำคัญเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิม และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

ปัจจุบัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร (ข้อมูลจากสํานักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ด) มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันประมาณ 2,707,390 ไร่




 



 
โดยในปี 2562 จังหวัดร้อยเอ็ดมีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุดประมาณ 826,724 ไร่ ให้ผลผลิตรวม276,953 ตัน มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ หนองฮี ปทุมรัตน์ และโพนทราย

สศก. โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กรณีศึกษาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,449 บาท/ไร่ช่วงการเพาะปลูกระหว่างเดือน เมษายน - สิงหาคม ระยะเวลาเก็บเกี่ยวระหว่างเดือน ตุลาคม – ธันวาคม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 360 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทน 5,125 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 676 บาท/ไร่

เกษตรกรส่งขายข้าวเปลือกให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 14.23 บาท/กิโลกรัม และในส่วนของการแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุง (ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม)ราคาเฉลี่ย 40 - 45 บาท/ถุง และข้าวกล้องบรรจุถุงสุญญากาศ ราคาเฉลี่ย 60 - 75 บาท/ถุง

สำหรับสถานการณ์ด้านตลาด พบว่า เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิ GI มีตลาดรองรับผลผลิตที่ชัดเจนรวมถึงยังมีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ ตลาด modern trade การออกบูธงานแสดงสินค้าและงานสำคัญของจังหวัด กลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพ




 



 
ผู้ประกอบการหรือกลุ่มเกษตรกรสามารถขายสินค้าเกรดพรีเมี่ยมได้ในราคาที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากมีการขายในลักษณะของฝากของที่ระลึกขณะเดียวกันผู้บริโภคยังสามารถมั่นใจในเรื่องการผลิตของข้าวหอมมะลิ GI ได้อย่างแน่นอนเพราะในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีการดูแลจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะปลูกเป็นอย่างดี ตั้งแต่กระบวนการคัดเมล็ดพันธุ์ที่ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ การดูแลรักษา ไปจนถึงการแปรรูป

นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวว่า สำหรับผลศึกษาดังกล่าว สศท.4 ได้มีการจัด focus group เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะมีการนำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการพิจารณาโครงการวิจัยและประเมินผล ภายในวันที่ 16 – 17 กันยายนนี้




 



 
ผลการศึกษาดังกล่าว นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายมาตรการสนับสนุนการผลิตสินค้า GI แล้ว ยังสามารถนำไปช่วยเกษตรกรในการบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสม เกษตรกรมีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

รวมถึงผู้ประกอบการ/โรงสี ยังได้รับเมล็ดข้าวที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน GI มีช่องทางการจำหน่าย และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปแล้ว (ข้าวสาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ) ได้ราคาสูงกว่าข้าวที่ไม่ได้ตรารับรอง GI ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สศท.4 โทร. 043 261 513 ต่อ 17 หรืออีเมล zone4@oae.go.th








 

 



Create Date : 15 กันยายน 2563
Last Update : 15 กันยายน 2563 18:07:53 น.
Counter : 681 Pageviews.

0 comment
สุดยอดแอปพลิเคชัน“รู้จริง พืช ดิน ปุ๋ย”แนะนำสูตรปุ๋ย-ดินเหมาะกับพืช
นายอนันต์  สุวรรณรัตน์  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 149 ล้านไร่  แต่พื้นที่ปลูกพืชส่วนใหญ่ธาตุอาหารในดินถูกพืชดึงไปใช้ประโยชน์และขาดการปรับปรุงบำรุงดิน  ทำให้ผลผลิตพืชลดน้อยลง  เกษตรกรจึงต้องพึ่งพาการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต

โดยมีความเชื่อว่าหากใส่ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากจะทำให้พืชให้ผลผลิตมากหรือบางรายใส่ตามความเคยชินเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยที่สูงขึ้นซึ่งหลักการใส่ปุ๋ยเพื่อให้พืชได้รับประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการเกษตรกรต้องรู้จักศักยภาพของดินในพื้นที่ต้องการปลูกพืชก่อนว่ามีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด    

เนื่องจากการใส่ปุ๋ยจำเป็นต้องพิจารณาความต้องการธาตุอาหารของพืชร่วมกับคุณลักษณะของดิน  ซึ่งนอกจากจะช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารตรงตามความต้องการแล้วยังช่วยประหยัดต้นทุนการใช้ปุ๋ยให้เกษตรกรได้อย่างมากอีกด้วย  




 



 
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ดังนั้นจึงมีแนวคิดให้กรมวิชาการเกษตรซึ่งมีองค์ความรู้ทางวิชาการความต้องการธาตุอาหารเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดและแต่ละช่วงเวลาการเจริญเติบโต

ขณะที่กรมพัฒนาที่ดินมีฐานข้อมูลชุดดินอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 300 ชนิด  โดยให้ทั้ง 2 หน่วยงานนำองค์ความรู้ทั้งด้านพืชและดินมาผนวกกันจัดทำเป็นฐานข้อมูลให้คำแนะนำการใส่ปุ๋ยที่ถูกชนิดและในอัตราที่เหมาะสมต่อความต้องการของพืชและตรงกับศักยภาพของดิน  




 



มีหลักคิดที่สำคัญว่าต้องเป็นเทคโนโลยีที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทั้งด้านพืช ดิน และปุ๋ย ได้อย่างครบถ้วน สะดวก  รวดเร็ว มีความแม่นยำ ใช้งานง่าย ที่สำคัญต้องประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้เกษตรกร

จากการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลความต้องการธาตุอาหารพืชจากกรมวิชาการเกษตรและฐานข้อมูลชุดดินจากกรมพัฒนาที่ดินทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมกันจัดทำแอปพลิเคชัน “รู้จริง พืช ดิน ปุ๋ย” เป็นเครื่องมือให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช  

แอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถที่จะวิเคราะห์คุณลักษณะเบื้องต้นของดินให้ทราบผลภายในระยะเวลาที่รวดเร็วแบบเรียลไทม์ พร้อมให้คำแนะนำสูตรปุ๋ยและปริมาณการใช้ที่เหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการของพืชจำนวน 3 สูตรเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรเลือกใช้ตามความต้องการ  ผลผลิตขั้นต่ำและราคาต้นทุนปุ๋ยที่ลดลง  




 



รวมทั้งยังให้คำแนะนำการปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดินด้วยปูนทางการเกษตรเพื่อปรับสภาพของดินให้เหมาะสมต่อการใช้ปุ๋ยเคมีให้มากขึ้น  ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพให้แก่ผลผลิต

เกษตรกรไม่ต้องเก็บตัวอย่างดินเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารหรือใช้ชุดตรวจสอบและรอผลการวิเคราะห์ มีกระบวนการหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลานานในการรอผลวิเคราะห์ โดยแอปพลิเคชัน “รู้จริง พืช ดิน ปุ๋ย” มีฐานข้อมูลพืชและดินให้บริการแล้วจำนวน 63 ชนิดพืช ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ  




 



 
พืชแต่ละชนิดและแต่ละช่วงของการเจริญเติบโตมีความต้องการธาตุอาหารในปริมาณที่แตกต่างกัน ถ้าใช้ปุ๋ยสูตรที่ไม่ตรงกับความต้องการของพืชและไม่ถูกต้องกับสภาพของดิน ปุ๋ยก็จะไม่ช่วยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามที่ต้องการ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนจากการซื้อปุ๋ยที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน  ซึ่งแอปพลิเคชัน“รู้จริง พืช ดิน ปุ๋ย”

จะเป็นตัวช่วยให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่ถูกต้องและปริมาณการใช้ที่เหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการของพืชและตรงตามศักยภาพของดิน ช่วยลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยให้เกษตรกร จุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้อยู่ที่ความสะดวกและรู้ผลทันที เพียงดาวน์โหลดแอปฯ ลงในสมาร์ทโฟน  ลงทะเบียน  กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน

เพื่อเข้าสู่ระบบขอรับคำแนะนำการใช้ปุ๋ย ซึ่งแอฟฯ จะแจ้งคำแนะนำสูตรปุ๋ยและอัตราการใช้ให้ทราบทันที  ถือเป็นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีแอปพลิเคชันเดียวในประเทศไทยที่ให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการพืชและตรงตามสภาพดินที่ครบถ้วน  แม่นยำ รู้ผลไว ใช้งานง่าย  ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยให้แก่เกษตรกรได้อย่างแท้จริง





 



Create Date : 14 กันยายน 2563
Last Update : 14 กันยายน 2563 17:14:56 น.
Counter : 769 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments