'ขุนหอคำ' นิยายอิงประว้ติศาสตร์ล้านนา โดย "กฤษณา อโศกสิน"
|

ขุนหอคำ ผู้แต่ง: กฤษณา อโศกสิน สนพ.เพื่อนดี (พิมพ์ครั้งที่ ๑ /ธ.ค. ๒๕๔๗)
จากเว็บเพิ่อนดี:
'ขุนหอคำ' นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ล้านนาที่สืบเนื่องจาก 'เวียงแว่นฟ้า' และ 'หนึ่งฟ้าดินเดียว' ซึ่งผู้เขียนผสานเหตุการณ์จริงกับจินตนาการอย่างกลมกลืน บอกเล่าเรื่องอย่างมีวรรณศิลป์ ให้ทั้งสาระความรู้ ความเพลิดเพลิน ประเทืองทั้งสติปัญญา และอารมณ์ มีคุณค่าแก่อ่านอย่างยิ่ง
บางส่วนจากคำนำ
เรื่องราวของขุนหอคำ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ล้านนาบอกเล่าวิถีชีวิต และการปกครองแว่นแคว้นใหญ่น้อยของล้านนา ในช่วงพ.ศ. ๒๔๓๑ ๒๔๓๓
.......
ภูเออหรือเจ้ามาวฟ้าลูกชายของเจ้าม่อนฟ้ากับบัวบุรี(จากเวียงแว่นฟ้า) อาบองค์ บุตรีของพญาเมืองรามรักษาเขตกับเจ้าระยับเนตร(จาก หนึ่งฟ้าดินเดียว) คือผู้สานต่อเหตุการณ์สำคัญที่ทั้งตับขันและรื่นรมย์ใจใน ขุนหอคำ
ชะตากรรมนำพาให้คนทั้งสองได้พบกัน ได้พึงใจซึ่งกันและกัน ดุจประวัติศาสตร์จะย้อนรอย ด้วยเหตุที่... เฮาเป็นครึ่งเจ้า ครึ่งไพร่เหมือนกัน...

เรื่องย่อ(ย่อเอง)
ภูเออหรือเจ้ามาวฟ้ากับญาติผู้พี่คือเจ้าส่องฟ้า พร้อมด้วยบ่าวอีกหนึ่งคน ปลอมตัวเข้าไปดูลาดเลาเกี่ยวกับการรุกคืบเข้ามายังดินแดนไตโดยพม่าและอังกฤษ เมื่อไปถึงยองห้วยก็ได้พบกับเจ้านางแห่งยองห้วยกับหลานสาว (ธิดาเลี้ยง)สองคน...เจ้านางอี่กับเจ้านางอาม...ในขณะที่เจ้าส่องฟ้าพึงใจในเจ้านางคนพี่ ภูเออก็รู้สึกถูกชะตากับคนน้อง... ถึงขั้นผูกสมัครรักใคร่ และเอ่ยปากหมั้นหมายด้วยวาจา
..........
แต่เมื่อพวกเขาเดินทางกลับเวียงนาย...ก็พบว่าเวียงนายกำลังระส่ำระสาย ด้วยถูกพม่าบุกเข้ารุกรานโดยความร่วมมือของยองห้วย... กระทั่งพ่อและแม่ของภูเออก็ต้องหนีภัยไปอยู่เจียงตุง
...........
ภูเออกับพวกสมัครเข้าทำงานกับชาวอังกฤษที่มาสำรวจป่าไม้ในทางตอนเหนือของล้านนา เป็นจังหวะเดียวกันกับที่เมืองรามก็เดินทางไปสำรวจชายแดนร่วมกับสยาม โดยในการเดินทางครั้งนั้น พญาเมืองรามฯ ได้พาอาบองค์ ธิดาสาววัย ๑๓ ปี ซึ่งให้ปลอมตัวเป็นเด็กหนุ่มติดตามไปด้วย
ภูเออรู้ได้ในเวลาไม่นานนักว่าอาบองค์...ที่เขาเรียกอย่างยกย่องว่าไอ่นายนั้นเป็นเด็กหญิง...
จากการได้พบปะ พูดคุยกัน เขาก็รู้สึกผูกพันกับไอ่นายอย่างประหลาด... โดยเฉพาะ เมื่อไอ่นายเล่าให้เขาฟังถึงความขมขื่นใจเมื่อเธอเห็นผู้เป็นพ่อได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรติ และไม่ได้รับการยอมรับจากญาติฝั่งมารดา...ซึ่งมีเชื้อเจ้า..
เพราะนั่นมันช่างพ้องกันกับชีวิตของเขา เพราะเขาเองก็เป็น... ครึ่งเจ้า ครึ่งไพร่เช่นเดียวกัน
.................
แต่ภูเออจะทำอย่างไรกับความรักที่แทรกซึมเข้ามาในครั้งหลังนี้ ในเมื่อเขาได้ให้คำสัจจ์ไว้กับผู้หญิงอีกคนไว้แล้ว...เขาถูกสั่งสอนมาแต่เล็กแต่น้อยว่า... ขุนอยู่ด้วยสัจจา ข้าอยู่ด้วยคติ
ถึงกระนั้น...หากเขาสามารถปลดเปลื้องพันธะอันนั้นได้ โดยอาจอ้างการที่ยองห้วยร่วมมือกับพม่ารุกรานเวียงนายของเขา...เขาก็ไม่รู้เลยว่าพญาเมืองรามรักษาเขต บิดาของไอ่นายจะยอมให้เขาคบหากับเจ้าหล่อนหรือไม่...เพราะความแค้นที่ฝังอยู่ในใจของผู้ใหญ่นั้น ยากนักจะถ่ายถอนได้

หลังอ่าน...
เศร้าค่ะ... อ่านจบน้ำตาซึม...แต่ซาบซึ้งและประทับใจมากกกกก...
นิยายอิงประวัติศาสตร์เล่มนี้ เป็นนิยายที่อ่านแล้วอิ่มมาก สมดังคำนิยมที่สนพ.โปรยไว้ว่า นวนิยายเรื่องนี้... ให้ทั้งสาระความรู้ ความเพลิดเพลิน ประเทืองทั้งสติปัญญา และอารมณ์ มีคุณค่าแก่อ่านอย่างยิ่ง
หนังสือความหนา ๗๐๐ กว่าหน้า ย่อได้ไม่กี่ย่อหน้าข้างบนนี้... ดูเหมือนตัวเองบั่นทอนเนื้อหาสาระที่ล้นเหลือของนิยายอย่างไรชอบกล เพราะจริง ๆ แล้ว เรื่องราวไม่ได้เน้นเฉพาะความรักความใคร่ของหนุ่ม ๆ สาว ๆ หรอกค่ะ มันมีสาระทางประวัติศาสตร์ที่น่ารู้อยู่ในนั้นมากมาย
นับถือท่านผู้ประพันธ์สุดใจ กับการร้อยเรียงเรื่องราวที่อิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานกว่าร้อยปี ให้เป็นนิยายที่มีทั้งรัก โรแมนติก เศร้าซึ้ง สะท้อนใจ สะเทือนอารมณ์ แถมเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์ได้เช่นนี้
ก่อนหน้านี้เคยอ่านนิยายในชุดนี้ สองเรื่องก่อนคือ เวียงแว่นฟ้า กับ หนึ่งฟ้าดินเดียว ส่วนเรื่องขุนหอคำนี้ อ่านที่ลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารสกุลไทยเมื่อหลายปีก่อน แบบไม่ปะติดปะต่อ... แถมด้วยความงง ๆ ในเรื่องของภาษา ทำให้อ่านข้าม ๆ ไปเสียบ้าง
เมื่อได้หนังสือมา ด้วยความหนาของหนังสือจึงได้แต่ดองไว้ระยะหนึ่ง เพิ่งได้ฤกษ์หยิบมาอ่านจริง ๆ จัง ๆ ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา... (ด้วยแอบคิดว่า...ช่วง ปีใหม่เมืองอย่างนี้ ได้อ่านอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับทางเหนือ ๆ อย่างนี้ มันช่างได้บรรยากาศ เข้ากั๊น-เข้ากัน ...)
แล้วก็พบว่า...ในเล่มนี้ค่อนข้างแตกต่างจากสองเรื่องแรกพอสมควร...แม้เนื้อหาและตัวละครจะต่อเนื่อง เชื่อมโยงกัน... ใน'เวียงแว่นฟ้า'กับ'หนึ่งฟ้าดินเดียว'นั้น เป็นเรื่องราวของหัวเมืองล้านนาอย่างเชียงใหม่ ซึ่งกำลังจะถูกควบรวมให้เข้ากับสยาม...ในขณะอีกด้านก็ถูกอังกฤษรุกประชิด ด้วยหวังยึดครองป่าไม้สักอันยิ่งใหญ่
ฉากและภาษาจึงเป็นอะไรที่คุ้นเคย สำหรับคนอ่านชาวเหนือ (แม้จะเคยแอบบ่นว่าภาษาเหนือของผู้เขียนไม่เป็นธรรมชาติ จนเรา-คนอ่านที่เป็นชาวเหนือแต๊ ๆ รู้สึกตงิด ๆ อยู่ไม่น้อย ก็ตามที) อ่านแล้วรู้สึกคล้อยตาม นึกภาพออก ...
แต่มาถึงเล่มนี้ เรื่องราวในตอนแรก ๆ เป็นเรื่องของผู้คนในอาณาจักรไต ซึ่งอยู่เหนืออาณาจักรล้านนาขึ้นไป...อย่างที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำเรื่องว่า...
เมืองไตเรานี้เป็นเมืองอันอุตุราสีดี ที่อยู่ที่เซาสบาย....... รัศมีจากแก้วแสงลายคำพลันเปล่งระเรื่อขึ้นเหนือฟากภู ที่เมื่อครู่ยังมืดมิดเข้มคราม ชมพูก่ำแกมทอง ส่องผ่านช่องไม้ ทอเป็นสายทาบยาว อาบทะเลสาบอินเลยามฟ้าสาง แลดูขาวกระจ่างราวเนื้อเงิน ยามเมื่อลมพัดเหิน แลยามเรือล่องออกไป แพรเงินอันวาบไวก็กระเพื่อมระลอก กระฉอกละลิ่ว ริ้วเล็กเลื่อนไกลเป็นลูกเป็นลอนไหว ๆ แล้วหายลับ
สำนวนภาษาที่ใช้ในการบรรยายก็ดี หรือที่เป็นบทสนทนาก็ดี ล้วนแต่เป็นภาษาโบราณของไต ซึ่งมีศัพท์แสงที่แปลกแปร่ง แตกต่างจากล้านนาอยู่มิใช่น้อย ทำให้เมื่อเริ่มอ่านต้น ๆ เรื่องจะรู้สึกไม่คุ้นเคย และไม่เข้าใจนัก หากเมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ เริ่มทำความเข้าใจ และรู้สึกคุ้นเคยมากเข้า... จากที่รู้สึกแปลกแยกในตอนแรก กลับกลายเป็นว่าชอบ ชอบมาก ๆ ด้วย จนตอนปลาย ๆ เรื่อง ก็บอกตัวเองว่า...ชอบมากกว่าสองเรื่องแรกนั่นเสียอีก (ในแง่ของสำนวนภาษานะคะ ส่วนในเรื่องของเนื้อในนิยายยังคงชอบ หนึ่งฟ้าดินเดียวมากที่สุดอยู่ดี)
อาจจะเป็นด้วยในเรื่องนี้ใช้ภาษาที่เราไม่รู้จัก แต่รู้สึกคุ้น ๆ อยู่เพราะใกล้เคียงกับภาษาถิ่นของเรา เราจึงไม่ได้คาดหวังในความเป็นธรรมชาติของการพูดจาสักเท่าไหร่ และยิ่งอ่าน ๆ ไป ก็กลับกลายเป็นว่าเราได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมโบราณที่แตกต่าง เพิ่มเติมจากที่เคยเรียนรู้มาอีกต่างหาก
..
ลองอ่านตัวอย่าง ตอนที่ภูเออครุ่นคิดคำนึงถึงนางที่เขาหมายปอง แล้วตั้งใจเขียนเพลงยาวถึงเจ้าหล่อนดูนะคะ (ตอนนี้ชอบมาก...)
...ขุนเขางามสง่า ดอยสามสิบ ไตสามสิบ อันคืออาณาจักรของไตทั้งผอง ประดับประดาด้วยมวลเมฆฟ่องฟ้า บุหงาลดาวัลย์ ตามทุ่งหญ้าชูช่อ เชิดดอกบานไสว ทั้งราก ดอก แลใบล้วนเปี่ยมความหมายในชีวิต แลที่ยิ่งใหญ่ยามนี้ก็คือถ้วนถ้อยอันวิจิตรรจนาที่เขาปรารถนา จะเสกสรรปั้นปลูก จนจรวยจรุงฟุ้งหอม นำมากล่อมนางให้เคลิ้มฝัน...
นอกจากนี้ ยังมีถ้อยสำนวน ที่คนเหนือเรียกกันว่า คำบ่ะเก่า อันเป็นประหนึ่งสุภาษิต คติความคิดความเชื่อ และคำสอนที่คนโบราณกล่าวไว้เพื่อเตือนใจลูกหลาน ที่มีความหมายดี ๆ แทรกแซมอยู่แทบทุกบททุกตอน
ยกตัวอย่างสักเล็กน้อย...
มึนต๋าแอ่วหลายเมือง เตไล้เฮิงวันนึ่ง - เปิดตาเที่ยวหลายเมือง จักรุ่งเรืองในวันหนึ่ง
โต๋หลุ จื้ออ่ำหาย โต๋ต๋าย ลายอ่ำเน่า ร่างสูญชื่อไม่หาย ตัวตายลายไม่เน่า
งาเม็ดหนึ่งอ่ำเป๋นมัน พันเม็ดหนึ่งอ่ำเป๋นสวน งาหนึ่งเมล็ดกลั่นเป็นน้ำมันไม่ได้ เมล็ดพันธ์หนึ่งเม็ด ไม่อาจปลูกให้เป็นสวนได้
คนฮ้ายฮ้ายกว่าผี คนดีผีลงไหว้ - คนเลว น่ากลัวกว่าผี คนดีแม้แต่ผียังนับถือ
ฯลฯ
ให้พูดถึงนิยายเรื่องนี้ พูดยาวเท่าไหร่ก็ไม่จุใจในความอิ่มเอมใจที่ได้รับจากการอ่านค่ะ
แนะนำและชวนอ่านอย่างแรงค่ะ!

|
Create Date : 28 เมษายน 2554 |
Last Update : 4 กันยายน 2556 12:51:36 น. |
|
22 comments
|
Counter : 6913 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: กุลธิดา (kdunagin ) วันที่: 28 เมษายน 2554 เวลา:23:39:32 น. |
|
|
|
โดย: จั๊กกะจุ่น วันที่: 29 เมษายน 2554 เวลา:9:25:59 น. |
|
|
|
โดย: เอิงเอย IP: 101.109.13.56 วันที่: 29 เมษายน 2554 เวลา:23:10:04 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 2 พฤษภาคม 2554 เวลา:5:29:59 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 3 พฤษภาคม 2554 เวลา:6:21:53 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 5 พฤษภาคม 2554 เวลา:6:46:43 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 6 พฤษภาคม 2554 เวลา:5:55:19 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 7 พฤษภาคม 2554 เวลา:6:31:00 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 8 พฤษภาคม 2554 เวลา:5:35:21 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 9 พฤษภาคม 2554 เวลา:6:22:11 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 9 พฤษภาคม 2554 เวลา:21:43:31 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 10 พฤษภาคม 2554 เวลา:6:01:02 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 11 พฤษภาคม 2554 เวลา:5:56:35 น. |
|
|
|
โดย: กะว่าก๋า วันที่: 12 พฤษภาคม 2554 เวลา:11:37:21 น. |
|
|
|
โดย: สตางค์ IP: 124.121.56.47 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2554 เวลา:22:46:10 น. |
|
|
|
โดย: pompom IP: 182.53.42.78 วันที่: 5 มีนาคม 2555 เวลา:19:04:22 น. |
|
|
|
โดย: pa IP: 183.89.80.92 วันที่: 23 สิงหาคม 2555 เวลา:19:07:17 น. |
|
|
|
โดย: แม่ไก่ วันที่: 23 สิงหาคม 2555 เวลา:22:27:44 น. |
|
|
|
โดย: Pair IP: 183.89.82.86 วันที่: 31 สิงหาคม 2555 เวลา:12:44:08 น. |
|
|
|
โดย: ควายน้อย IP: 180.183.173.165 วันที่: 22 ธันวาคม 2556 เวลา:19:02:18 น. |
|
|
|
| |
|
|