'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

~ ธรรมะอึดใจเดียว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (๔-จบ) ~



ธรรมะอึดใจเดียว
(จากหนังสือ "การเห็นตัวเอง: รำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ")

(๔-จบ)





ฝึกกิเลส ฝึกตัวนึกตัวคิด ไม่ต้องฝึกจิตใจ


ดังนั้น จิตใจที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้ ท่านว่าอย่างนั้น จิตใจไม่ต้องฝึกมัน ฝึกกิเลส ฝึกตัวนึกตัวคิดนี่แหละ มันเทียวมาน่ะ เราเห็นเรารู้ ถ้าเราไม่เห็นเราไม่รู้ ก็แสดงว่า เราไม่ได้ฝึกกิเลส แต่จิตใจนั่นมันดีแล้ว ไม่ต้องไปฝึกมัน จะไปฝึกมันทำไมจิตใจ มันเป็นปกติอย่างนั้น เกิดมาแล้วมันก็มีปกติอยู่อย่างนั้น

อันปกตินี่แหละ ท่านว่า มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมดา มันเป็นอยู่อย่างนั้น จะทำการทำงานพูดคิด ความปกตินั้นก็มี หรือเปรียบอุปมา(ได้)หลายอย่าง

ที่(เคย)นำมาเล่าให้ฟัง หลายครั้งหลายหน สมมติเอาอย่าง(เช่น)ดวงอาทิตย์ หรือพระอาทิตย์ หรือตะเว็น เราสมมติขึ้นมา บางคนว่าตะเว็นบด หรือว่าฟ้าบด(ท้องฟ้ามืดครึ้ม) ดวงอาทิตย์บด นี่ เราว่าอย่างนั้น แต่ความจริงตะเว็นไม่บด ดวงอาทิตย์ไม่บดนะ ฟ้าไม่บด มีเมฆ เมฆมันลอยไปตามลม มันก็ไปบังเอาดวงอาทิตย์นั่น
แต่ดวงอาทิตย์(หรือ)ตะเว็นมัน(ก็ยัง)ทำความสว่าง(ของ)มันเต็มดวง แต่เมื่อมีอะไรไปปกคลุมมันไว้ มันก็เลยทำความสว่างอยู่ใกล้ๆ แต่มันทำเอาไปไกลๆ

อันตัวปกติของเรามันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น แต่คนไม่เคยรู้ ไม่เคยดู ไม่เคยเห็น ไม่เคยเข้าใจปกติอันนี้ เมื่อไม่เข้าใจปกติอันนี้ ก็เลยไป(แสวง)หาธรรมะ ก็เลยว่า...ธรรมะคืออะไร อยู่ที่ไหน ไม่รู้เลย
แสดงว่าศึกษาธรรมะไม่เข้าหลัก ไม่ว่าคนอื่นแหละ ตัวเองก็เคยทำอย่างนั้น จึงว่ามันศึกษาไม่ถูกไม่ตรง






ดังนั้น การเลือกหาครูบาอาจารย์นั้น ต้องเลือกหาครูบาอาจารย์ผู้สอนของจริง คนมีดีแล้วเอามาพูดให้เราฟัง เอาของดีนั่นแหละ มีในตัวคนนั่นแหละ มาพูดให้คนฟัง

ดังนั้น เมื่อเรารู้ตัวเรา เห็นตัวเรา เข้าใจตัวเรา รู้จิตรู้ใจ รู้ชีวิตของเราจริงๆ แล้ว ยกมือไหว้ตัวเองก็ยังได้ เพราะเราไม่นึกไม่ฝันว่าเรามีดีขนาดนี้ เมื่อเรามาเห็นของดี มีในตัวเราแล้ว ก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ การยกมือไหว้คนอื่นนั้นร้อยครั้งพันหน สู้ยกมือไหว้ตัวเองครั้งเดียวไม่ได้ นี่...มันเป็นอย่างนี้

ทำไม(การ)ยกมือไหว้ตัวเองนี้มันจึงมีค่ามีคุณมาก?
เมื่อไหว้ตัวเอง(ได้)แล้ว ก็เป็นการไหว้คนอื่นได้ เพราะเราทำดี เราพูดดี เราคิดดี คนอื่น...ทุกคนไป ต้องการทำดี ต้องการพูดดี ต้องการคิดดี
ดังนั้นคนใดยกมือไหว้ตัวเองแล้ว นั่นแหละเรียกว่าเป็นคนดี
ไม่ใช่ว่ายกมือไหว้คนอื่น...เราเห็นตัวเรากำลังยกมือไหว้ เราเห็นจิตเห็นใจกำลังอ่อนน้อมถ่อมตนยกมือไหว้คนนั้นคนนี้ อันนั้นแหละท่านว่าเป็นคนดี

(แต่)อันนี้เราไม่เคยเห็นจิตเห็นใจ เห็นเขายกมือไหว้ก็ยกมือไหว้ไปตามเขา ไม่เห็นจิตเห็นใจ(ตนเอง) บางทีคนยกมือไหว้คนอื่น(แต่)จิตใจคิดจะไปทำร้ายเขาก็มีนะ...มันเป็นอย่างนั้น
อันนี้แสดงว่ามันมีการขัดแย้งอยู่ในตัวมันเอง เมื่อมันมีการขัดแย้งอยู่ในตัวมันเอง ก็มีความสับสนวุ่นวาย เมื่อมีความสับสนวุ่นวายปัญหาก็เกิดขึ้นที่ตรงนั้น จึง(ว่า)คนมันไม่รู้จักหน้าที่ของคน

ดังนั้น คนเราต้องศึกษาให้รู้จักความเป็นคน ให้รู้จักว่า - หน้าที่ของคน ให้รู้จักว่า -ปฏิบัติหน้าที่ของคน







**เชิญอ่านประวัติโดยสังเขปของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภได้ที่ บล็อกนี้ค่ะ












 

Create Date : 16 มีนาคม 2554    
Last Update : 16 มีนาคม 2554 12:04:49 น.
Counter : 1668 Pageviews.  

~ ธรรมะอึดใจเดียว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (๓) ~



ธรรมะอึดใจเดียว
(จากหนังสือ "การเห็นตัวเอง: รำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ")

(๓)







การทวนกระแสน้ำคือการทวนกระแสความคิด


ความคิดนี่เหมือนกับกระแสน้ำ...เหมือนกับกระแสน้ำ
เราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว พระพุทธเจ้าก่อนที่จะได้ตรัสรู้ จับเอาถาดหรือขัน(ของ)นางสุชาดา(ที่)เอาข้าวไปถวายพระพุทธเจ้า นึกว่าเป็นเทวดา
พระพุทธเจ้าได้กินข้าวในขันของนางสุชาดาแล้ว ถามนางสุชาดาว่าจะถวายแต่ข้าวหรือจะถวายทั้งหมด...ถามนางสุชาดา
นางสุชาดาก็ว่าถวายทั้งหมด ไม่เอาอะไรกลับคืนเลย
พระองค์ก็จับถาดหรือขันอันนั้นแหละลงไปริมแม่น้ำ ก็ไปนั่งอธิษฐานว่า ถ้าหากข้าพเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ฆ่ากิเลสตาย คายกิเลสหลุด เอาชนะทุกข์ได้ วางถาดหรือขันใบนี้แหละ ลงบนผิวน้ำนี่ ให้ถาดและขันใบนี้แหละทวนกระแสของน้ำขึ้นไปถึงต้นน้ำโน่น...ว่าอย่างนี้

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากจะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ฆ่ากิเลสไม่ตา ย คายกิเลสไม่หลุด เอาชนะทุกข์ไม่ได้ วางถาดและขันใบนี้ลงไปบนผิวน้ำนี่ ให้มันไหลไปตามกระแสของน้ำ ว่าอย่างนั้น

พอดีพูดจบแล้วก็เลยวางถาดขันอันนั้นลงไป ถาดขันอันนั้นก็เลยทวนกระแสของน้ำ ขึ้นไปถึงต้นน้ำ ก็ไปจมลงที่ตรงกาละนาค(พญานาค)นอนหลับอยู่ ไปซ้อนเข้า เป็นหมอนให้กาละนาคนอน

อันนั้นมันเป็นปุคคลาธิษฐาน ให้เข้าใจ ให้เข้าใจ
จึงว่าธรรมาธิษฐาน(และ)ปุคคลาธิษฐาน
ธรรมาธิษฐานท่านเว้าเรื่องธรรมะ เราไปตี(ความ)เป็นบุคคลขึ้นมา

อันกาละนาคนอนหลับนั้น คือว่า เหมือนเรานี่แหละ(ที่)นอนหลับทับสิทธิ์หลงตนลืมตัว ไม่คิดถึงจิตถึงใจ เรียกว่านอนหลับทับสิทธิ์

ดังนั้น ทวนกระแสของน้ำ คือ ทวนกระแสของความคิด มันคิดอยากไป เราไม่ต้องไป มันคิดอยากขับรำทำเพลง เราก็ไม่ต้องขับรำทำเพลง มันอยากดื่มสุรา เราก็ต้องไม่ดื่มสุรา มันอยากใช้สิ่งของอะไรต่างๆ แปลกๆ ทันสมัย(กับ)เขา ก็ไม่ต้องใช้อย่างนั้น ให้ใช้ชีวิตเป็นธรรมดาเป็นธรรมดา...ใช้ชีวิตเป็นธรรมดา เป็นธรรมดา ธรรมะ จึงว่า เป็นธรรมดา ผิดธรรมดาไปแล้วไม่ใช่ธรรมะ มันเป็นอธรรม ท่านว่าอย่างนั้น






ดังนั้น การพูด การสอน และผู้ฟังกับผู้สอนให้เข้าใจกัน หรือจะเรียนพระไตรปิฎกจนแตกฉานก็ตาม ถ้าหากไม่ทำ(ความรู้สึกตัว)จะไม่รู้เรื่องนี้ ไม่ได้เรียนหนังสือ เขียนไม่ได้อ่านไม่เป็น แต่ทำ(หรือรู้สึกตัว) ก็ต้องรู้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นคนโบราณท่านจึงสอนเอาไว้ การพูดนั้นดีแล้ว พูดร้อยคำ พันคำ หมื่นคำ แสนคำ ล้านคำก็ตาม สู้การกระทำครั้งเดียวไม่ได้

การกระทำนั้นทำอย่างไร? ทำให้รู้สึกตัว ตื่นตัว ทำให้รู้สึกใจ ตื่นใจ คนโบราณท่านจึงสอนเอาไว้ว่า อย่าหลงตน อย่าลืมตัว อย่าหลงกาย อย่าลืมใจ นี่ท่านสอนเอาไว้

แต่เรามันหลงตนลืมตัว หลงกายลืมใจ ไม่รู้เท่าทันของความคิด มันเป็นกลเป็นไก...ความคิดนี้

คนโบราณท่านจึงสอนเอาไว้ว่า ความคิดคนนี้เหมือนกับลิง ท่านว่าอย่างนั้น ความคิดมันกลอกกลับได้ไว ความคิด(ของ)คน...เหมือนกับลิง ลิงนี่มันอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ (เมื่อ)เราเอาไม้ไปแหย่มัน มันก็กระโดดโลดเต้น จับโน่นจับนี่ มันเป็นอย่างนั้น ความคิดก็เหมือนกัน ท่านว่าอย่างนั้น

จิตคนนี้กลอกกลับได้ไว ดุจมีลานไขในตน เราท่านควรบังคับกล ให้จิต(ของตน)หมุนมาแต่ในทางข้างดี หากปล่อยให้มันหมุนไปในทางข้างกีย์(กิเลส,โลกีย์) ธรรมที่มีก็จักหนีจักหน่ายหายสูญ อธรรมเข้าครอบงำ ความระยำสัมบูรณ์ ก็ปลิ้นปลอกหลอกตน นี่...มันหลอกเรา






ดังนั้นพวกกรรมฐาน ไปนั่งภาวนา แล้วเห็นเลข เห็นบัตร เห็นเบอร์ เพราะไม่เห็นจิตใจนี่เอง เพราะไปฝึกกรรมฐาน มันไม่ได้ฝึกตัวเอง มันไปฝึกนั่งหลับตา ไปฝึกอะไรต่างๆ นั่นน่ะ มันเลยผิดธรรมชาติ ผิดธรรมดา

เมื่อผิดธรรมชาติ ผิดธรรมดา ก็แสดงว่า ไม่รู้ธรรมชาติ ไม่รู้ธรรมดา มันก็หลอกเราเอาเสีย นี่...มันเป็นอย่างนี่

ดังนั้น จึงศึกษากับธรรมชาติ ศึกษากับธรรมดา ไม่ให้(จิต)มันหลอกเรา เรารู้เท่าทันกลไก หรือมายาของจิตใจ แน่ะ...มันเป็นอย่างนี้ ธรรมที่มีก็จักหนีจักหน่ายหายสูญ ก็(เพราะ)เราไม่รู้นี่เอง

อันความไม่รู้นั้น ภาษาธรรมะ เรียกว่า โมหะภาษาพื้นบ้านเรียกว่า หลงตน ลืมตัว หลงกายลืมใจ ไม่รู้ตัว ไม่รู้กาย ไม่รู้ใจ ท่านว่าอย่างนั้น

ดังนั้นจึงศึกษาหาของจริง(ว่า)จริงไหม มองเห็นต้นไม้ มองเห็นคนเดินไป มองเห็นคนนั่ง มองเห็นคนนอน...แน่ะ อันนี้จริงไม๊... นั่นแหละ
ตา(ทำ)หน้าที่ของดู หูจึงเป็นหน้าที่ของฟัง
ตาดูแต่ตามันไม่รู้ หูฟัง(แต่)หูมันไม่รู้ คือตัวใจมันรู้ มันเป็นทาง...มันเป็นทางเดิน ของจิตของใจ มันเป็นทางเดินของกิเลส มันเป็นทางเดินของอวิชชา คือความไม่รู้ มันเทียวเข้าเทียวออก เดินไปเดินมา(แต่)เราไม่รู้

บัดนี้เรามาศึกษากับธรรมชาติ เราไปไหนมาไหน มันนึกมันคิด เราเห็นเรารู้ เราเข้าใจ พอดี มันถูกเห็น ความคิดมันถูกหยุดทันที

อุปมาให้ฟังเหมือนเราขุดบ่อน้ำ เราขุดหาน้ำ หรือจะขุดบนที่สูงๆ ก็ตาม แล้วขุดที่ลุ่ม ที่ดอน ขุดที่ไหนก็ตาม แต่พื้นดินนี้ต้องมีน้ำ ทุกหนทุกแห่ง ขุดลงไปลึกๆ ไปเจอน้ำแล้ว น้ำกับตมกับเลนน่ะ มันอยู่ด้วยกัน เราก็เป็นหน้าที่ตักตมตักเลนออกทิ้ง น้ำ(ที่)อยู่ข้างใน มันจะไล่ตะกอนออกมา มันจะไล่ออกมาให้หมดเลย เราก็เป็นหน้าที่ตักตมตักเลนออกให้หมด ตักออก ตักออก วิดออก วิดออก... ตักกับวิดเป็นอันเดียวกันนะ...ตมเลนออกหมดแล้ว น้ำมันจะไล่ตะกอนออกมา แต่มันยังขุ่น ยังมัวยังสกปรก น้ำนั้นยังใช้ไม่ได้ (ให้)กวนปากบ่อเข้าให้มันล้างตมล้างเลนล้างตะกอนเหล่านั้นออก ตักออก ตักออก เมื่อตักออกหลายครั้งหลายหน ล้างหลายครั้งหลายหน น้ำก็สะอาดขึ้นมา เมื่อน้ำสะอาดแล้ว เอาไปใช้อะไรก็ได้
















 

Create Date : 15 มีนาคม 2554    
Last Update : 15 มีนาคม 2554 12:13:46 น.
Counter : 823 Pageviews.  

~ ธรรมะอึดใจเดียว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (๒) ~




ธรรมะอึดใจเดียว
(จากหนังสือ "การเห็นตัวเอง: รำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ")

(๒)






(โลกียธรรม - โลกุตรธรรม)


สวรรค์กับนิพพานมันไปสายเดียวกัน สวรรค์คือเรายังไกล ห่างไกลจากนิพพาน แต่มันจะไปนิพพาน เราไปติดวิธีนั้น ไปติดวิธีนี้ เราไม่ตั้งใจเดินไปหานิพพาน

เอ้า...สมมติกันใกล้ๆ เราอยู่บ้านเรา เราจะเดินทางไปจังหวัดไหนก็ตาม เราไม่ตั้งใจ เราไปแวะที่นั่น ไปแวะที่นี่ ผลที่สุดไม่ถึงจังหวัดนั้น เขาเรียกว่า โลกียธรรม ตั้งใจไปแต่ไปไม่ถึงเขาเอิ้น(เรียกว่า) โลกียธรรม
คือตั้งใจทำการทำงานอะไรก็ตามแหละ ตั้งใจว่าจะทำให้มันเสร็จ แต่มันทำไม่เสร็จ นั่นเขาเรียกว่า โลกียธรรม

บัดนี้ คนหนึ่งตั้งใจว่าจะไปอำเภอนั้น ตำบลนี้ หรือจังหวัดนั้น จังหวัดนี้ ตั้งใจลงเฮือน(ออกจากเรือน)เราไป ไปให้ถึงจังหวัดนั้น อำเภอนี้ ตำบลนั้น ตำบลนี้ เห็นผู้คน ลักษณะกิจการงานของตำบลนั้น อำเภอนั้น จังหวัดนั้น อันนั้นเขาเรียกว่าไปถึงจุดหมายปลายทาง เรียกว่าโลกุตรธรรม หรือจะว่านิพพานก็ได้ มันเป็นอย่างนั้น

แต่เราไม่เข้าใจในคำพูดคำสอนเหล่านั้น เพราะมันเป็นศัพท์เป็นแสง(เป็น)คำพูดของคนอินเดีย มันไม่ได้เป็นคำพูดของคนไทย

แต่คนไทยแท้ๆ อย่างที่ผมหรือหลวงพ่อพูดนี้ก็ยังไม่เข้าใจ...บางคน พูดให้ฟังมาหลายครั้งหลายหนแล้ว อย่างที่เราเคยทำบุญ เคยอุทิศอะไรต่างๆ เราว่า "สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ ข้าพเจ้าทั้งหลายยินดีในทาน การถวายของข้าพเจ้านี้ จงถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกองกิเลสนี่ (กองกิเลสนี่สำคัญ - เครื่องดองสันดาน] ท่านกล่าวว่า พระนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ"

แต่เราไม่ยอมเสียสละ ไม่ละกิเลส ที่มันปกคลุมหรือห่อหุ้มดวงใจ หรือดวงสติดวงปัญญาของเรา เราไม่ยอมเบิกยอมถาง(สิ่ง)เหล่านี้ เรียกว่าเป็น โลกียธรรม เรียกว่าธรรมประกอบด้วยโลก ทำอยู่กับโลก แม้จะทำดีเท่าใดก็ทำอยู่กับโลก มันไปนิพพานไม่ได้ มันไปโลกุตรธรรมไม่ได้








(อย่าติดคำพูด คำสอน ศัพท์แสง)



ดังนั้น คำพูดคำสอนนี้มันจึงสำคัญ ให้เราเข้าใจ ถ้าเราไม่เข้าใจแล้ว เราจะไปติดคำพูดคำสอน ศัพท์แสงเหล่านั้น
ดังนั้นคำว่า สวรรค์...สวรรค์นี่นะ ถ้าเราอยู่ดี กินดี นอนดี ไปดี สบายดี (นั่นแหละสวรรค์) แต่(ต้อง)ไปให้มันถึงที่สุด

คำว่า ไปให้มันถึงที่สุด นี่ ไปที่ไหน เราก็ดูใจเรา จิตใจเรามันคิดสับสนวุ่นวาย อดไม่ได้(หยุดไม่ได้) ผิดปกติแล้วนี่ เราก็ทิ้ง

เฉยๆ ลักษณะเฉยๆ นี่ไม่ต้องไปทำอะไรมัน ไม่ต้องไปทำให้มันยุ่งขึ้นมา มันมีอยู่แล้ว เรียกว่าเฉยๆ (เมื่อ)มันคิดขึ้นมา เราก็ทำความรู้สึกตัว รู้สึกใจ ความคิดมันถูกหยุดไปเอง มันก็เฉยๆ ลักษณะเฉยๆ นั่นท่านก็ว่า เป็น ปกติ

ปกติ มันมีอยู่อย่างนั้นทุกคน อันเฉยๆ นี่ ผู้หญิงก็มีเฉยๆ ผู้ชายก็มีเฉยๆ พระสงฆ์องค์เจ้าก็มีเฉยๆ คนเฒ่าคนแก่ก็มีเฉยๆ คนหนุ่มคนสาวก็มีเฉยๆ


ลักษณะเฉยๆ นั้น ท่านเรียกว่า ถ้าพูดเป็นศัพท์แสงธรรมะแล้ว ท่านว่าเรียกว่าอุเบกขา วางเฉยก็เรียก สงบก็เอิ้น (เรียกว่าอุเบกขาก็ได้ วางเฉยก็ได้ สงบก็ได้)

ท่านจึงว่า สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี ความสงบนั่นแหละท่านเรียกว่านิพพาน อันเฉยๆ นั่นแหละท่านเรียกว่าสงบ (แต่)ไม่ใช่ไปนั่งสงบ มันเฉยๆ มันสงบ ทำการทำงานด้วยความสงบ (ถึงจะ)ตากแดด ตากฝน ตากลม (ก็)ทำการทำงานด้วยความสงบ นั่นแหละท่านเรียกว่า สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี







(ถ้าผิดธรรมชาติ ก็ผิดปกติ)


แต่ (ถ้า)เราต้องไปนั่งให้มันสงบ อันนั้นมันก็ดี แต่มันไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจนั่นแหละ ท่านว่าเป็นโทษอย่างหนัก เป็นโทษอย่างมหันต์ ท่านว่าอย่างนั้น
แต่ในทางตรงกันข้าม ความเข้าใจ ความรู้ ความเห็น ฟังแล้วเข้าอกเข้าใจ ประพฤติปฏิบัติตาม นั่นแหละท่านว่า เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นมหาศาล หาอะไรจะเปรียบปานหรือเท่าเทียมไม่ได้ เพราะความรู้สึก(ตัว)อันนี้นี่เอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องทำอะไร ศึกษากับธรรมชาติ ถ้าผิดธรรมชาติก็ผิดปกติ ถ้าผิดปกติก็ผิดธรรมชาติ

ดังนั้น ศึกษาธรรมะศึกษากับธรรมชาติ ให้รู้ธรรมชาติมันจริงๆ คนเราต้องมีการกิน มีการนอน มีการไป มีการมา มีการอาบน้ำ มีการล้างหน้า แปรงฟัน มีการเข้าห้องน้ำห้องส้วม มีการเข้าไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะ มันเป็นไปตามหน้าที่ของมัน จึง(ควร)ศึกษาให้รู้

พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ สอนคนให้รู้จักเรื่องทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นเพราะ(อะไร) ที่ไหน
ไม่ใช่ทุกข์ ไม่มีเงินไม่มีทอง หรือเจ็บหัวปวดท้อง ไม่ได้หมายถึงพวกเหล่านี้
ทุกข์ที่หลวงพ่อหรืออาตมาพูดนี่ ทุกข์ หมายถึง ความคิดมันถูกปรุงแต่ง มันคิดสับสนวุ่นวาย คิดมาแล้วหยุดไม่ได้ คน นักเรียน นักศึกษา เรียนมากๆ คิด...คิด...คิด หยุดไม่เป็น เป็นบ้าไปก็มี แน่ะ...มันเป็นอย่างนั้น

อันนี้แหละ จึงว่าความคิดนี่มันสำคัญที่สุด เราต้องศึกษาต้องปฏิบัติ ให้รู้ ให้เข้าใจ มันคิดแล้วต้องทิ้ง อย่าเข้าไปในความคิด













 

Create Date : 12 มีนาคม 2554    
Last Update : 12 มีนาคม 2554 11:29:16 น.
Counter : 798 Pageviews.  

~ ธรรมะอึดใจเดียว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (๑) ~



ธรรมะอึดใจเดียว
(จากหนังสือ "การเห็นตัวเอง: รำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ")






ทุกท่านทุกคนตั้งใจฟัง ถ้าหากไม่ตั้งใจฟังแล้วจะไม่เข้าใจ หรือจดจำไม่ได้ เมื่อไม่เข้าใจจดจำไม่ได้ การฟังมันก็ไม่ได้มีประโยชน์ มันไม่มีค่า มันไม่มีคุณอะไร

ดังนั้นวิธีปฏิบัติธรรมะที่ผมหรืออาตมาจะนำมาเล่าสู่ฟังในวันนี้ มันเป็นธรรมะอึดใจเดียว มันเป็นธรรมะที่จะเอาไปใช้กับชีวิตของเราได้ มันจึงไม่ขึ้นอยู่กับใครทั้งหมด มันไม่ขึ้นอยู่กับตำรับตำรา มันไม่ขึ้นอยู่กับครูอาจารย์ มันขึ้นอยู่กับตัวการกระทำหรือวิธีทำเท่านั้นเอง

การกระทำ(หรือ)วิธีทำนั้น ไม่เหมือนกับที่เราเคยเข้าใจว่าต้องไปทำกรรมฐาน ไปนั่งสมาธิแบบนั้น ไปนั่งสมาธิแบบนี้ มันไม่เป็นอย่างนั้น อันนั้นดีแล้ว ที่ตัวของผม ตัวของอาตมาเคยทำมาแล้วสิ่งเหล่านั้น (เช่น)นั่งหลับตาขัดสมาธิเพชร ภาวนาพุทโธ หายใจเข้า หายใจออก ทำมาแล้ว มันก็ดี แต่มันไม่ดี เพราะว่าเรามองไม่เห็นอะไร

โดยมากคนไปนั่งสมาธิต้องไปหลับตา หาว่ามันยังลืมตา มันยังวอกแวก มันจึงไม่สงบ...อย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้น เราก็ไปเจาะเอาลูกตาเราออกเสีย ไม่ต้องให้มันมีลูกตา มันจะดีกว่ามันจะไม่ได้มองเห็นอะไร แต่จิตใจนั้นมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับลูกตา มันนึกมันคิดขึ้นมาเป็นธรรมชาติของมัน






ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนเอาไว้ว่า ให้มีสติกำหนดรู้ ในอิริยาบถทั้งสี่ ยืนก็ให้มีสติรู้ เดินก็ให้มีสติรู้ นั่งก็ให้มีสติรู้ นอนก็ให้มีสติรู้ นี่ท่านสอนอย่างนั้น

แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ ท่านยังสอนให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้ในอิริยาบถย่อย คู้ เหยียด เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ตาม ท่านสอนให้มีสติรู้อย่างนี้นี่เอง

จึงมีวิธีทำ เพราะคนเราระดับสติปัญญาไม่เหมือนกัน การกระทำแบบนี้คนแก่ก็ทำได้ พ่อบ้านแม่เรือนก็ทำได้ คนหนุ่มคนสาวก็ทำได้ เด็กนักเรียนก็ทำได้
เพียงเรานั่งเก้าอี้ก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ ที่สุด นอนก็ทำได้
เราพลิกมือขึ้นรู้สึกตัว มีจังหวะท่าที่ทำ คว่ำมือลง ให้รู้สึกตัว แต่ไม่ใช่(พูดในใจ)ว่ารู้พลิกมือ คว่ำมือ ไม่ใช่รู้อย่างนั้น เพียงรู้น้อยๆ ว่า เราพลิกมือขึ้น รู้มันไหวขึ้นไป คว่ำมือลง รู้มันไหวลงมา ให้มันรูเหมือนกะพริบตา รู้เหมือนหายใจ เรากะพริบตา เราหายใจ มันเป็นอย่างนี้ตลอดมา(แต่)เราไม่เคยรู้มัน






การเคลื่อนการไหวของ(กาย)ภายนอกนี่ มันเคลื่อนไหวไปมาอยู่อย่างนั้น เราไม่เคยรู้ ดังนั้นจึงว่า กลับมาศึกษาที่ตัวจริงของมัน (ซึ่ง)เป็นธรรมชาติ ศึกษาธรรมะกับธรรมชาติของมันจริงๆ

จึงมีวิธีทำ มีวิธีสร้างจังหวะ พลิกมือขึ้น รู้สึกตัว ยกมือขึ้น รู้สึกตัว เอามือเข้ามาหาสะดือของเรา รู้สึกตัว เลื่อนมือที่สะดือขึ้นมาไว้ที่หน้าอก รู้สึกตัว เอามือออกจากหน้าอกไปไว้ตรงข้าง รู้สึกตัว ลดมือลงที่ขาเรา หรือเอาไว้ที่ไหนก็ตามแหละ ถึงที่แล้วก็รู้สึก คว่ำลง (รู้สึก)ทำกันอยู่อย่างนั้น

เรื่องนี้ไม่นาน ถ้าทำจริงทำจังแล้ว ไม่เกิน ๓ ปี เพราะในตำรามีอยู่ว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานสี่อย่างถูกต้อง ให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ ท่านว่าอย่างนั้น อย่างนาน ๗ ปี อย่างกลาง ๗ เดือน อย่างเร็วที่สุดนับตั้งแต่ ๑ วัน ถึง ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน มีอานิสงส์ ๒ ประการ

๑.เป็นพระอรหันต์ได้ในปัจจุบันชาตินี้ หรือภพนี้ ท่านว่าอย่างนั้น
๒.ถ้าหากไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องได้เป็นพระอนาคามี แน่นอนที่สุดท่านว่าอย่างนั้น


แต่ทีนี้ไม่ต้องเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องเป็นพระอนาคามี ทุกข์นั้นจะลดน้อยไป ความสงสัย กังวลใจจะลดน้อยไป ความขัดแย้งทางจิตใจก็จะลดน้อยไป ปัญหาต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น เอาเพียงอานิสงส์อย่างนี้

ดังนั้นการกระทำอย่างนี้ จึงไม่ขึ้นอยู่กับใครทั้งหมด จึงว่ารับรองได้ อย่างนาน ๓ ปี อย่างกลาง ๑ ปี อย่างเร็วที่สุดนับตั้งแต่ ๑ วัน ถึง ๙๐ วัน รับรองได้ นี่...ความจริงมันต้อง รับรองได้
ถ้าคนรู้จริง เห็นจริง ตาม(ความเป็น)จริง มันต้องรู้สึกได้ นี่ศึกษากับธรรมชาติ เพราะการเคลื่อนการไหว วิธีใดก็ต้องรู้ อย่าไปฝืนธรรมชาติมัน

ธรรมดาตามันอยากมอง ให้มันมอง แต่ให้รู้ (ว่า)มันมอง มัน(กะ)พริบตา มันเหลือบซ้าย มันแลขวา ให้รู้ มันอยากเหลียวหน้าเหลียวหลัง ก็ให้รู้ นี่...ท่านว่าอย่างนั้น
คนโบราณท่านจึงสอนว่า ไปไหนมาไหน ต้องมองหน้ามองหลัง ท่านว่าอย่างนี้ อย่าไปมองแต่ข้างหน้าอย่างเดียว ท่านว่าอย่างนี้ ทีนี้เราไม่ฟัง เราแก้ปัญหาตรงนี้แหละไม่ได้ ฟังคำพูดเหล่านี้แหละไม่เป็น...






คำว่าเหลียวหน้าเหลียวหลัง ก็ต้องหมายถึง มองไปข้างหน้า มองไปข้างหลัง ให้มันเห็น แล้วมามองดูตัวเอง ให้มันเห็น ท่านว่าอย่างนั้น
อันนี้เรามองไปแต่ข้างหน้า คิดไปแต่ข้างหน้า คิดไปเรื่องทำดี คิดไปเรื่องทำไม่ดี คิดไปเรื่องสวรรค์ คิดไปเรื่องนิพพาน เราคิดไปอย่างนั้น

อันสวรรค์นิพพานนั่นน่ะ มันอยู่ในกำมือของเรานี้เอง ถ้าหากเราไม่รู้ จะเรียกว่าสวรรค์ มันก็ไม่รู้ จะเรียกว่านิพพาน มันก็ไม่รู้ ถ้าเรารู้แล้ว มัน(แค่)เอื้อมมือเดียวเท่านั้นเอง เพราะมันอยู่ในตัวเรา

คนโบราณท่านจึงสอนเอาไว้ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พระนิพพานก็อยู่ที่ใจ นี่ มันอยู่ที่ใจทั้งนั้น

เมื่อใดจิตใจหมกมุ่น หดหู่ หมักดองอยู่กับสิ่งที่สกปรก จิตใจเศร้าหมอง จิตใจหดหู่ จิตใจหงอยเหงา จิตใจขุ่นมัว จิตใจเฉื่อยชา ในขณะนั้นเรียกว่าจิตใจเป็นทุกข์ จิตใจผิดปกติ ท่านสอนให้เรารู้อย่างนี้

อันนั้นมันเป็นหน้าที่ของคนหรือเป็นหน้าที่ของสัตว์ แต่หน้าตา แข้งขา มือเท้าเป็นคน แต่จิตใจมันทำเป็น(ทำ)ได้เหมือนสัตว์ เป็นอย่างนั้น

ดังนั้น สัตว์กับคนมันจึงอยู่ในตระกูลเดียวกัน สวรรค์กับนรกมันอยู่ในตระกูลเดียวกัน เขาเรียกว่า โลกียธรรม (หรือจะว่า)โลกุตรธรรมก็ได้ สวรรค์นิพพานก็ได้ แล้วแต่จะสมมติพูดขึ้นมาให้มันรู้เรื่องกันเท่านั้นเอง








**เชิญอ่านประวัติโดยสังเขปของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภได้ที่บล็อกนี้ค่ะ









 

Create Date : 11 มีนาคม 2554    
Last Update : 11 มีนาคม 2554 11:43:57 น.
Counter : 841 Pageviews.  

~ อุดมการณ์ฝากไว้ในปฏิปทา ของ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (๓)




อุดมการณ์ฝากไว้ในปฏิปทา
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

(๓)







ผู้ให้ความสำคัญต่อทุกคนเสมอหน้า



...ครั้งหนึ่งหลังจากการผ่าตัด (ในระยะปี พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๓๑ ท่านได้เข้ารับการผ่าตัดหลายครั้ง) หลวงพ่อกลับไปพักที่ทับมิ่งขวัญ ทุกคนเข้ามารวมกันเพื่อเยี่ยมและฟังธรรม

หลวงพ่อกล่าวว่า ...

“หลวงพ่อจะขอพรจากเพื่อนๆ(ในที่ประชุม) ขอไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดกีดกันผู้ที่จะมาเยี่ยมเยียนหลวงพ่อ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

หลวงพ่อจะพิจารณาเองว่า หลวงพ่อจะรับได้แค่ไหน”


เพราะสำหรับท่าน มนุษย์ทุกคนเป็นตัวศาสนา

..............

…ทุกครั้งที่มีคนไหว้ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส หลวงพ่อจะยกมือไหว้ตอบเสมอ บางคนสงสัย อดไม่ไหวถามไป ท่านให้คำตอบว่า
“เขาทำดี เราทำดี” หรือ ...
“ไหว้ตัวเอง ที่มีคุณงามความดี จนสามารถยกมือไหว้ตนเองได้”

สมัยหลวงพ่อยังอยู่นั้น วัดสนามในยังไม่มีรั้วรอบวัด ดังนั้นชาวบ้านแถวนั้น จะเดินตัดผ่านวัดเป็นปกติ ทุกวันตอนโรงเรียนเปิดเทอมจะมียายคนหนึ่งพาหลานสาวอายุประมาณ ๔ - ๕ ขวบ ไปเรียนที่โรงเรียนวัดสนามนอก ทุกครั้งที่เดินผ่านหน้ากุฏิหลวงพ่อ เด็กคนนั้นจะยกมือไหว้มาทางกุฏิ และหากตอนนั้นหลวงพ่ออยู่ตรงนั้น หลวงพ่อก็จะยกมือไหว้ตอบ เป็นเช่นนี้เสมอมา...

...หลวงพ่อให้ความสำคัญกับนักปฏิบัติที่เป็นผู้หญิงเสมอ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ผู้หญิงก็สามารถบรรลุธรรมได้ และต้องการให้ผู้หญิงสามารถพึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งให้กันและกันได้

การสร้าง “ทับมิ่งขวัญ” ขึ้นมาแต่แรกนั้นก็เจตนาให้เป็นสถานที่สำหรับนักปฏิบัติธรรมหญิง...







ผู้ไม่แสวงหาบริวาร



เมื่อยังแข็งแรงอยู่ ไม่ว่าจะไปที่ไหน หลวงพ่อไม่เคยต้องให้ใครไปเป็นหมู่ เป็นเพื่อน เว้นแต่ว่าคนผู้นั้นเองก็มีเหตุต้องไปด้วยเท่านั้น

ต่อมาเมื่อเจ็บป่วยต้องเข้า - ออกโรงพยาบาลบ่อยๆ หลวงพ่อผ่ายผอมลงไปมาก จำเป็นต้องมีผู้ติดตามและขับรถรับ - ส่ง ก็จะมีเพียง ๑ - ๒ คน เพื่อไปรับฟังคำอธิบายจากแพทย์ว่า จะต้องดูแลตัวเองอย่างไร ฉันยาอย่างไรให้ถูกต้อง…

หลวงพ่อเคยกล่าวว่า...

“ใครจะนับถือหลวงพ่อว่าเป็นครูหรือไม่ มันก็อยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ หลวงพ่อก็ทำหน้าที่ของหลวงพ่อ ส่วนใครจะทำหน้าที่ของลูกศิษย์ ก็ทำไป มันอยู่ที่หน้าที่”

...ครูก็ไม่มี ศิษย์ก็ไม่มี มีแต่หน้าที่...


นอกจากท่านจะไม่เคยใช้คำว่า"ลูกศิษย์"กับผู้ใดแล้ว ท่านยังปฏิเสธอีกด้วย
เมื่อมีใครถามหลวงพ่อว่า

“...เขาเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อด้วยหรือ”
ท่านตอบว่า “หลวงพ่อไม่มีลูกศิษย์ แต่หลวงพ่อ เคยพูดให้เขาฟัง”

ตอนที่อาพาธหนัก ผู้คนที่เคารพรักท่านทั้งพระและที่เป็นฆราวาสมาแวดล้อม บ้างก็ร้องไห้ บ้างก็อ้อนวอนให้ท่านอยู่ต่อ หลวงพ่อตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า...

“เพื่อนๆ ให้อยู่ต่อก็จะอยู่ต่อ...เจ็บ...เจ็บมาก”







ผู้ข้ามพ้นพิธีรีตอง(สมมติ)



เราทุกคนอยู่ในวงล้อมหรือกรอบของวัฒนธรรม วิถีชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้องกับพิธีรีตองมากมาย ส่วนใหญ่ก็ทำตามๆ กันมา

หลวงพ่อเทียนกล้าหาญที่จะออกนอกกรอบ ก้าวข้ามพิธีรีตองต่างๆ เจาะเข้าหาแก่นธรรมโดยตรง

อย่างที่เจ้าของบ้านคู่หนึ่งซึ่งคุ้นเคยกับท่านดีเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยนิมนต์หลวงพ่อให้มาทำพิธีให้ที่ทำงาน...

“...เมื่อหลวงพ่อมาถึง ท่านดูกระฉับกระเฉงและว่องไว นั่งในที่ที่จัดไว้ให้ แล้วเรียกญาติๆ และคนงานหลายสิบคนมาถามว่า รู้จักความรู้สึกไหม?

คนงานไม่เข้าใจที่ท่านถาม ท่านเลยสอน โดยทำตัวอย่างให้ดูแล้วบอกว่า...
การมีสติเป็นสิ่งสำคัญมาก และยังถามต่อว่า รู้เรื่องการทำบุญไหม บุญแปลว่าอะไร

แล้วท่านก็อธิบายให้ฟังว่า บุญก็คือ สิ่งที่กำลังทำให้ดูนี้แหละ เราจะมาเอาบุญแต่กับพระ ไม่รู้จักทำบุญด้วยตัวเอง คนไม่รู้จักบุญ จะเอาบุญไม่ได้

ขณะนั้นสังเกตดู หลวงพ่อไม่สนใจอย่างอื่นเลย ท่านไม่ได้ฉันน้ำที่จัดถวายเลยแม้แต่น้อย มุ่งมั่นจะสั่งสอนให้คนมีปัญญา รู้จักทำบุญให้เป็นเท่านั้น
เมื่อถึงเวลากลับ ท่านไม่ได้ให้พร เพียงแต่บอกว่า
“พรก็ทำอันนี้แหละ ต้องทำเอาเอง"







ของจริง คือ ความ“เป็น” ที่ไม่ใช่แค่ “ความรู้”




หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ สอนให้เราเจริญสติ เพื่อให้จิตใจเปลี่ยนสภาวะจากทุกข์ “เป็น” ไม่ทุกข์

...เรื่องที่หลวงพ่อท้าทายคนให้มาปฏิบัติวิธีนี้ คนที่อ่านหนังสือ ฟังเทปหรือซีดีของหลวงพ่อ ต้องเคยผ่านตา ผ่านหู มาแล้ว ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะท่านมั่นใจว่าสิ่งที่ท่านพูดเป็น “ของจริง”
ถึงขนาดจ้างให้มาปฏิบัติและกล้ารับรองผลชนิด “เอาชีวิตเป็นเดิมพัน” อีกเสียด้วย

“คุณทำงานอะไร มาปฏิบัติธรรมะ ลองไหมๆ รับรองเห็นผลจริงๆ มาลองอยู่ดู เคยได้เงินเดือนๆ ละเท่าไหร่ หลวงพ่อจะให้ ว่าแต่เอาจริงๆ นะ”

.................

…พระบวชใหม่รูปหนึ่งกำลังอ่านต้นฉบับหนังสือ “มาทางนี้” ซึ่งกำลังจะเอาเข้าโรงพิมพ์ ท่านอ่านให้หลวงพ่อฟัง เพื่อตรวจสอบว่าเนื้อหาถูกต้องหรือไม่ อ่านไป อ่านไป หลวงพ่อซึ่งนอนฟังอยู่...หลับไปและกรนเบาๆ พระรูปนั้นตั้งใจอ่านข้ามไป ความหมายก็เลยเพี้ยนไป หลวงพ่อก็ลืมตาขึ้น แล้วบอกว่า...
“คุณ...มันข้ามไป”
ต้องเติมข้อความ “.......”
ซึ่งเป็นข้อความเดียวกันกับที่พระรูปนั้นจงใจอ่านข้ามไปนั่นเอง...

.............

เมื่อถูกถามว่ารู้อะไร หลวงพ่อจะตอบว่า
“หลวงพ่อรู้แต่ตัวหลวงพ่อเอง”







* (คัดจาก หนังสือ "การเห็นตัวเอง : รำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาลหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๕๕๔)

**เชิญอ่านประวัติโดยสังเขปของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภได้ที่บล็อกนี้ค่ะ















 

Create Date : 04 มีนาคม 2554    
Last Update : 11 มีนาคม 2554 12:07:04 น.
Counter : 918 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.