'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)
ทางด่วนสู่ปัญญา ~ คำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (๑)

...

พระภิกษุทุกท่าน แล้วก็เจริญพรญาติโยมทุกๆ ท่านตั้งใจฟัง วันนี้ก็เป็นวันที่ ๑๘ หลังจากการทำวัตรเช้า ก็จะได้แนะแนววิธีปฏิบัติ เป็นการทบทวนการปฏิบัติ หรือเป็นการทบทวนอารมณ์ของพวกเรา ตั้งใจฟัง แล้วก็จดจำไว้ เราปฏิบัติเป็นอย่างนั้นแล้วหรือยัง หรือยังไม่ได้เป็น เราก็ต้องรู้ว่า เรายังไม่รู้ เรายังไม่เข้าใจ แต่เรารู้เพียงคำพูด เข้าใจเพียงคำพูด จิตใจเรายังไม่เป็น

อีกอย่างหนึ่ง บางทีรู้คำพูด เข้าใจคำพูด จิตใจก็เป็นด้วย ก็เป็น ดังนั้นจึงว่าให้ตั้งใจฟัง

การปฏิบัติแบบนี้ มันเป็นวิธีการ มันเข้ากันได้กับหลักสติปัฏฐานสี่ หรือมันเข้ากันได้กับอย่างที่ครูบาอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า พระพุทธเจ้าสอนให้มีสติกำหนดรู้ในอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน เท่านั้นก็ยังไม่พอ ท่านยังให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้ในอิริยาบถย่อย คู้ เหยียด เคลื่อนไหว โดยวิธีใดก็ให้รู้ ท่านสอนเอาไว้อย่างนั้น


บัดนี้ บางคนไม่มีวิธีการ ไม่เข้าใจในคำพูดคำสอนเหล่านั้น ก็เลยมาทำเป็นจังหวะ ให้เรานั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้ นอนก็ได้ อันนี้ก็ได้ แต่ว่าเวลาเดินนั้น เอามือกอดหน้าอกไว้ หรือเอามือไขว้หลังไว้ เวลานั่ง เราก็ต้องเอามือทั้งสองข้างวางไว้ที่บนขา

พลิกมือขวาตะแคงขึ้น..ให้รู้สึกตัว ยกมือขวาตะแคงขึ้น..ให้รู้สึกตัว เอามือขวาเข้ามาที่สะดือ..ให้รู้สึกตัว แล้วก็เอามือขวาแนบแน่นไปที่ตรงนั้น พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้น..ให้รู้สึกตัว ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว..ให้รู้สึกตัว เอามือซ้ายเข้ามาทับมือขวา..ให้รู้สึกตัว เอามือซ้ายทับมือขวาแนบไปที่ตรงนั้น

บัดนี้ เลื่อนมือขวาขึ้นหน้าอก..ให้รู้สึกตัว เอามือขวาออกมาตรงข้าง เอาออกมาตรงๆ ไม่ใช่พลิก เอาออกมาตรงๆ เอาไว้ตรงข้าง..ให้รู้สึกตัว ลดมือขวาลงที่ขาขวาตะแคงไว้..ให้รู้สึกตัว คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา..ให้รู้สึกตัว บัดนี้ ก็เลื่อนมือซ้ายขึ้นหน้าอก..ให้รู้สึกตัว เอามือซ้ายออกมาตรงข้าง..ให้รู้สึกตัว ลดมือซ้ายลงที่ขาซ้ายตะแคงไว้..ให้รู้สึกตัว คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย..ให้รู้สึกตัว

อันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติ มันเข้ากันกับหลักสติปัฏฐานสี่ หรืออริยาบถทั้งสี่นั่นเอง


พูดถึงสติปัฏฐานสี่ ท่านพูดว่า ให้มีสติกำหนดรู้...กายานุปัสสนา คือ สติปัฏฐานสี่ กายานุปัสสนา..ให้มีสติดูกายในกาย เวทนานุปัสสนา..ให้มีสติดูเวทนาในเวทนา จิตตานุปัสสนา..ให้มีสติดูจิตในจิต ธรรมานุปัสสนา ..ให้มีสติดูธรรมในธรรม เราไม่เข้าใจ..บางคน บางคนก็เข้าใจคำพูดอันนั้น ผู้มีปัญญา คุ้นกับการภาษา เรียน แปลนั้น อาจจะเข้าใจ แต่เข้าใจ..แต่จะยังไม่เป็นก็มี เป็นอย่างนั้น

บัดนี้ วิธีที่พวกเราทำเนี่ยะ เดินจงกรม เอามือกอดหน้าอกไว้ ทำจังหวะแล้ว เอียงซ้าย เอียงขวาก็ให้รู้ ก้มเงยก็ให้รู้ แต่ไม่ให้แกว่งแขนเวลาเดินจงกรม เอามือกอดหน้าอกไว้ หรือเอาไขว้หลังไว้..ให้รู้

ทำแล้วมันจะเป็นยังไง ทำแล้วมันเกิดปัญญา อันนี้เป็นวิธีทำให้เกิดปัญญา ข้อแรก รู้จักรูป-นามนี้เอง เกิดปัญญาขึ้นมาพอแล้ว รูป-นี่ก็ร่างกาย นาม-ที่มันรู้จัก รูปกับนาม มันอาศัยซึ่งกันและกัน การเคลื่อนไหว..ถ้าหากไม่มีจิตมีใจ คือ คนตายนี่ มันก็ไม่เคลื่อนไหว มันก็ไม่รู้ จึงว่า รูปกับนาม นามนั่นแหละมันเคลื่อนไหว รูปนั่นเคลื่อนไหวไม่ได้ จึงว่า รูปกับนาม จึงอาศัยซึ่งกันและกัน เรียกว่า รูป-นาม อันนี่


รูปทำ-นามทำ มันพลิกขึ้น รูปก็ทำ พลิกขึ้นมาเนี่ยะ..รูปทำแล้ว นามก็ทำไปด้วย รูปทำ-นามทำ รูปโรค-นามโรค เกิดมาแล้ว ก็ต้องเจ็บหัว ปวดท้อง เป็นไข้ เป็นหนาว เป็นอะไรก็ตามแหละ รูปเป็นแล้ว..ใจก็ไม่สบาย อันเนี่ยะ..รูปโรค-นามโรค

บัดนี้ นั่งสบาย นอนสบาย ไปไหนมาไหน ก็สบาย ไม่เจ็บหัว ไม่ปวดท้อง จิตใจมันคิดขึ้นมา..บัดนี่ มันคิดวูบขึ้นมา มันสอบ หรือ มันเปรียบ จิตวิญญาณเป็นโรค มันก็เป็นทุกข์ เรียกว่า ทุกข์ทั้งสองทาง อย่างเคลื่อนไหวไปมาก็เป็นทุกข์ เรียกว่า ทุกขัง ทุกข์เพราะมันติดอยู่กับรูปนี้นั่นเอง แยกออกจากกันไม่ได้ เนี่ยะ..ทุกขัง อนิจจัง นั่งนานๆ หรือไม่นานก็ได้ มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนในอิริยาบถนั่นเอง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา พริบตาหายใจ นึกคิด นี่...เป็นอนิจจัง

อนัตตา..บังคับบัญชาไม่ให้มันเคลื่อนมันไหว ไม่ให้มันแหนงมันติง...มันไม่ได้ จึงว่า พัฒนาไม่ได้..ตัวนี้ มันเป็นไปตามธรรมชาติ เราต้องพัฒนาตัวใจ (ท่านพูดเน้นเสียง) เรียกว่าอนัตตา..บังคับบัญชาไม่ได้


บัดนี้ จึงว่า ทุกข์..ต้องกำหนดรู้ สมุทัย..ต้องละ มรรค..ต้องเจริญ นิโรธ..ทำให้แจ้ง บัดนี้ ทุกข์..ต้องกำหนดรู้ คือ มันรู้ตัวเคลื่อนตัวไหวตัวนี้ สมุทัย..ต้องละ ตัวมันนึกมันคิดนั่นน่ะ เมื่อเรามาอยู่กับการเคลื่อนไหวตัวนี้ มันจะหยุดเองมัน สมุทัย..ต้องละ มรรค..ต้องเจริญ มรรคต้องทำให้มาก ทำบ่อยๆ ทำไม่หยุด มรรค..ต้องเจริญ

นิโรธ..ทำให้แจ้ง รู้แจ้ง รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง รู้เข้ารู้เข้าออก รู้สมมุติ สมมุตินี่รู้แจ้ง รู้สมมุติ รู้จริงๆ สมมุติผี สมมุติเทวดา สมมุติพระพุทธรูป หรือสมมุติเพื่อนฝูง อะไรก็ตามแหละ เงินทอง เสื้อผ้า ไร่นา เรือกสวน เหล่าเนี้ยะ เป็น..เป็นสมมุติขึ้นมา แต่..สมมุติบัญญัติ เช่น สมมุติบวช แล้วก็สึก สึกแล้วก็บวช นี่ก็เป็นสมมุติ ศีลห้า ศีลแปล ศีลสิบ ศีลสองร้อย ศีลสามร้อย เป็นศีลสมมุติ


สมมุติอยู่กับสังคม..ต้องให้รู้ นี่ว่า รู้ให้ครบ.ให้จบ..ให้ถ้วน ถ้าหากรู้น้อยๆ มันก็เกิดมีความสงสัย นี่ว่า รู้ให้ถึง..รู้ให้ถึงเนื้อแท้มันจริงๆ สิ่งที่สมมุตินี่ ท่านจึงเปรียบว่า ใบไม้ในป่า กับใบไม้แห้งในกำมือ แต่ว่าใบไม้แห้งในกำมือเนี่ยะ มันเป็นยา ใบไม้ในป่าก็เป็นยา แต่จะไปเลือกเอามาใช้ได้ทั้งหมดน่ะ..มันไม่ได้ เอาเฉพาะแต่เรารู้ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา รู้สมมุติ เท่านี้ก็ใช้ได้ แต่ว่าเราให้มัน..มีคนมาถามอะไรให้รู้ อันนั้นมันเป็นสมมุติ เรียกว่า สมมุติบัญญัติ ปรมัตถ์บัญญัติ อรรถบัญญัติ อริยะบัญญัติ

สมมุติขึ้นมา ก็บัญญัติขึ้นมาเป็นตัวบทกฎหมาย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ตำรวจ ทหาร สิบตรี สิบโท สิบเอก นี่..เว่าไปอย่างนั้น พระสงฆ์ก็บวชเข้ามาแล้ว ก็ถูกสมมุติเช่นเดียวกัน สมมุติให้เป็นเจ้าอาวาส สมมุติให้เป็นเจ้าคณะตำบล สมมุติให้เป็นเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะแขวง ไปอย่างนั้น

สมมุติเท่านั้นก็ยังไม่พอ สมมุติเข้ามาอีกพักหนึ่ง ก็สมมุติให้เป็นพระครู เป็นเจ้าคุณ เป็นพระราช เป็นพระเทพ แล้วเป็นพระธรรม เป็นสมเด็จ อันนั้นก็สมมุติเหมือนกัน แต่สมมุติบัญญัติ...เราให้รู้จัก ถ้าเราไม่รู้จัก เราก็ไปติดสมมุติอันนั้นแหละ เพิ่นว่า อารมณ์มันหวั่นไหว


ถ้าเรารู้จัก...เรื่องสมมุติ เขาให้แล้ว เขาถอดก็ได้ เขาไม่ให้แล้ว ก็แล้วไป อันนี้เรียกว่า รู้จักเรื่องของคน เรื่องของคนมันเป็นอย่างซี้ แต่หน้าที่นั่น..ต้องปฏิบัติ แต่ให้เลือกเอา จึงว่า ให้รู้จักความเป็นคน เกิดมาจากพ่อจากแม่ก็เป็นคน จิตใจยังไม่รู้จะเป็นคนได้ทำไม เลือกเอามาใช้กับชีวิตตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ใช่คน แต่เป็นคน

แต่ให้รู้จักอันนี้แหละ เรียกว่า ความเป็นคน..โอ๊...มันอยู่ที่ตรงนี้ มันสับสนวุ่นวายสลับซับซ้อน เรียกว่า ความเป็นคน เรื่องของคน...เรื่องของคนมันเป็นอย่างนั้น ให้เราเห็น..ให้เรารู้..ให้เราเข้าใจ หน้าที่ของคน ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ เมื่อเขาสมมุติให้ ก็ต้องปฏิบัติไป เรียกว่า ให้รู้จักสมมุติ อย่า..อย่าไปติดสมมุติ ท่านว่าอย่างนั้น

เมื่อรู้จักสมมุติดีแล้ว ก็รู้จักศาสนา ศาสนาก็แปลว่า คำสั่งสอนของท่านผู้รู้ ใครรู้เรื่องอันใดก็ตาม มาสอนคน ให้คนละชั่วทำดี เรียกว่าศาสนา ศาสนาจึงแปลว่าคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ ตัวคนทุกคนก็เป็นตัวศาสนา เพราะสอนเข้าตา สอนเข้าหู ให้ตาเห็น หูฟัง จดจำเอามา..มาไว้ ทำดีแต่ไม่ทำชั่ว อันนี้เป็นศาสนา


พุทธศาสนา เรามาพลิกมือขึ้น คว่ำมือลง ยกมือไป เอามือมา เดินหน้าถอยหลัง เอียงซ้ายเอียงขวา ก้มเงย พริบตา อ้าปาก หายใจเข้า หายใจออก กลืนน้ำลายเข้าไปในลำคอนี่ มันรู้สึกตัว

เมื่อรู้สึกมากขึ้นๆ เกิดญาณปัญญา อันนี้แหละเรียกว่าเป็นพุทธศาสนา พุทธะจึงแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม บัดนี้เราไปไหนมาไหน นั่งไหนนอนไหน อยู่ที่ไหนก็ตาม ก็อยู่ด้วยธรรมะ เรียกว่า เห็นธรรมะ รู้ธรรมะ จึงว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเรา อันนี้ เห็นธรรมะ เห็นจริงๆ หลับตาก็รู้ ลืมตาก็รู้ เนี่ยะ..พุทธศาสนา ให้เราเข้าใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไป..อันนี้








Create Date : 26 ตุลาคม 2550
Last Update : 26 ตุลาคม 2550 9:49:31 น. 1 comments
Counter : 865 Pageviews.

 


โดย: ammataya วันที่: 27 ตุลาคม 2550 เวลา:4:16:53 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.