'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

~ กำบ่ะเก่า บ่เล่าอาจลืม (กำอิแม่สอน) ~




สมัยเด็ก ๆ ที่บ้านเราค่อนข้างมีฐานะ (เมื่อเทียบกับบ้านอื่น ๆ ในหมู่บ้านหลังดอยเล็ก ๆ นี่)
แม่ก็จะคอยเตือนพวกเรา ไม่ให้เห่อเหิมไปกับความมั่งมีที่อาจจะดูว่าเหนือคนอื่น...

แม่สอนว่า...

“ถึงเป๋นเจ้าจ๊าง มหาเศรษฐี จื้อเสียงบ่ดี ไผบ่อวดอ้าง
จื้อเสียงเฮาดี ถึงต๋ายกระด้าง ก็ยังมีคนอวดไว้”


ศัพท์ :


เจ้าจ๊าง = เป็นเจ้าของช้าง
จื้อเสียง = ชื่อเสียง
ไผบ่อวดอ้าง = ไม่มีคนนับถือยกย่อง
ต๋ายกระด้าง = เสียชีวิตไปนานแล้ว

คำแปล :

ถึงจะร่ำรวยเป็นเจ้าของช้าง เป็นมหาเศรษฐี แต่หากชื่อเสียงไม่ดีก็ไม่มีคนเขายกย่องพูดถึง
แต่หากเราเป็นคนดีมีชื่อเสียง(ในทางดี) แม้ตายไปเนิ่นนานก็ยังมีคนเขากล่าวขวัญถึง

ขยายความ :

ทางภาคเหนือเรา สมัยก่อนถ้าใครมีช้างเลี้ยงไว้ในครอบครอง เขาจะเรียกว่า"พ่อเลี้ยง"เลยแหละ
เพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีค่า ราคาแพงท่านก็เลยเอามาเปรียบเปรยไว้ใน"กำบ่ะเก่า"บทนี้ว่า
ถึงจะร่ำรวยแค่ไหน แต่หากทำตัวไม่ดี มีแต่ชื่อเสีย ก็ไม่มีใครเขายกย่อง
ในทางกลับกัน คนยากจนแต่ทำตัวดี แม้ตายจากไปผู้คนก็ยังพูดถึง





กับอีกบทหนึ่ง แม่สอนให้รู้จักประมาณตัว...

"ก้อยอยู่ไปต๋ามน้ำ ทำไปต๋ามตั๋ว น้ำเปียงใด ดอกบัวเปียงอั้น"

ศัพท์ :


ก้อย = ค่อย
ต๋ามน้ำ = ตามน้ำ
ต๋ามตั๋ว = ตามตัว
เปียง = เพียง
เปียงอั้น = เพียงนั้น


คำแปล :

ค่อย ๆ ใช้ชีวิตตามธรรมดา ทำอะไรตามอัตภาพของตัว
เหมือนดอกบัวที่ลอยปริ่มเหนือน้ำ

ขยายความ :

เป็นคำสอนที่เตือนให้เรารู้จะประมาณตน ไม่ทำอะไรเกินตัว
ทำตัวเหมือนดอกบัวที่ลอยเรี่ยน้ำ จะไม่มีวันหักหรือจมนั่นเอง










 

Create Date : 27 สิงหาคม 2557    
Last Update : 22 สิงหาคม 2560 15:04:47 น.
Counter : 3621 Pageviews.  

~ กำบ่ะเก่า บ่เล่าอาจลืม (กำอิแม่สอน)~





บางครั้งแม่ก็สอนให้เรียนรู้ทีจะปล่อยวาง และยอมรับในชะตาชีวิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
ด้วย"กำบ่ะเก่า"ที่ว่า...

“พระจั๋นทร์อยู่ฟ้า เป๋นเหยื่อราหู ปล๋าเหยี่ยนอยู่ฮู ยังต๋ายถูกส้อม


ศัพท์ :



ปล๋าเหยี่ยน = ปลาไหล
ฮู = รู
ส้อม = เหล็ก(หรือไม้)ปลายแหลม


คำแปล :

ดวงจันทร์แม้จะลอยอยู่สูงบนฟ้า ยังถูกราหูมาบดบังเป็นบางคราว
ปลาไหลขนาดซุกซ่อนตัวอยู่ในรู ยังอาจถูกแทงด้วยส้อม

ขยายความ :

ในการดำเนินชีวิต ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน
ดังนั้นเมื่อจะทำอะไรเราจึงไม่ควรคาดหวังในผลเลิศจนเกินไป
เพราะบางทีเหตุไม่คาดฝันอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ซึ่งเราต้องรู้จักวางใจยอมรับในเหตุไม่คาดฝันนั้น ๆ





และบางคราว แม่ก็จะปรารภให้ฟังถึงความเป็นธรรมชาติ-ธรรมดาของสรรพสิ่งในโลก
ด้วยคำกล่าวที่คล้องจองแบบนี้...

“มดง่ามมักมันหมู ศัตตู๋มักใส่โต้ด คนขี้โขดจั้งเสียของ คนจ๋องหองบ่มีเปื้อน
คนบ่โล่งบ่เลื่อนจังสลิด คนทำผิดแป๋งหน้าเศร้า ขี้เหล้ามักจิ้นปล๋าอาหาร
แม่มานจั้งหุมส้ม คนเฒ่าขี้จ่มลูกหลานจัง คนขี้จิ๊ขี้จ๋ำ บ่มีบริวารเปื้อนป๊อง
คนมักนุ่งมักหย้อง บ่มีเงิน ต้านบ่เจิน บ่ดีไปร่วมแหล่”



ศัพท์ :


มดง่าม = มดดำชนิดหนึ่ง ตัวเล็กกัดเจ็บ
มัก = ชอบ
มันหมู = น้ำมันหมู (คนสมัยก่อนไม่มีน้ำมันพืชใช้ จึงใช้น้ำมันหมูในการปรุงอาหารประเภทผัดหรือทอด)
ศัตตู๋ = ศตรู คู่อริ (อาจหมายรวมถึงคนที่ไม่ชอบหน้ากัน)
โต้ด = โทษ
คนขี้โขด = คนขี้โกรธ
จั้ง = ช่าง ,มักจะ
คนจ๋องหอง = คนจองหอง,คนหยิ่ง
เปื้อน, เปื้อนป๊อง = เพื่อน ,เพื่อนพ้อง
คนบ่โล่งบ่เลื่อน = คนไม่โปร่งใส ไม่ซื่อ
สลิด = ดัดจริต เสแสร้ง
แป๋งหน้า = ทำหน้า
แม่มาน = หญิงตั้งครรภ์
หุม = ชอบ
ส้ม = ของรสเปรี้ยว
ขี้จ่ม = ชี้บ่น
จัง = ชัง
คนขี้จิ๊ขี้จ๋ำ = คนตระหนี่
คนมักนุ่งมักหย้อง = คนช่างแต่งตัว
ต้าน = ท่าน
เจิน = เชิญ
บ่ดีไป = อย่าไป


คำแปล :

“มดดำมักชอบมันหมู ศัตรูมักให้โทษ คนขี้โกรธมักเสียของ คนจองหองมักไม่มีเพื่อน คนไม่ซื่อใสมักเสแสร้ง คนทำผิดมักทำหน้าเศร้า คนดื่มเหล้าชอบอาหารกับแกล้ม หญิงตั้งครรภ์ชอบกินของเปรี้ยว คนแก่ขี้บ่นลูกหลานไม่ชอบ คนดระหนี่ไม่มีบริวารเพื่อนฝูง คนชอบแต่งตัวมักไม่มีเงิน งานใด ๆ หากไม่ได้รับเชิญก็ไม่สมควรไปร่วม”


ขยายความ :

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การจะอยู่ร่วมกันจึงต้องมีระบบระเบียบ
เป็นกรอบในการปฏิบัติตัว เพื่อจะได้เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของผู้อื่น
และเป็นการระมัดระวังไม่ให้ไปก้าวก่ายหรือกระทบกระทั่งกับผู้ใด

ทั้งยังเป็นการสอนให้เข้าใจและยอมรับในธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ
เพื่อที่เราจะได้ไม่รู้สึกขัดแย้งเมื่อต้องพบเจอกับอะไร ๆ
ที่อาจจะดูแปลกและแตกต่างจากความคิดความเห็นหรือประสบการณ์ของเรา












 

Create Date : 25 สิงหาคม 2557    
Last Update : 22 สิงหาคม 2560 15:12:36 น.
Counter : 1803 Pageviews.  

~ กำบ่ะเก่า บ่เล่าอาจลืม (กำอิแม่สอน)~



กำอิแม่สอน..."กำบ่ะเก่า"วันนี้ขออนุญาตมาแบบสั้น ๆ สองบทค่ะ

“ถึงจะอยู่ขวงเงินขวงคำ บ่เต้าฝนฮำแสนห่า”

ศัพท์ :


ขวง = กรง
บ่เต้า = ไม่เท่า
ฝนฮำ = ฝนพรำ(กรำฝน)

คำแปล :

แม้จะอยู่ในกรงเงินกรงทอง ก็ไม่เป็นสุขเท่าอยู่ข้างนอกแต่ถูกฝนพรำสักแสนห่า

ขยายความ :

มนุษย์เราไมว่าจะยากดีมีจน หรือแม้กระทั่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย
สิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิตอย่างหนึ่งคืออิสรภาพ เสรีภาพ
ดังนั้นต่อให้ได้อยู่ในกรงทองคำ แต่หากไร้อิสรภาพก็ไม่มีความหมาย





“นกบ่บิน จะไปก๋ำปีกมันอ้า งัวควายบ่กิ๋นหญ้า จะไปเต็กเขามันลง”

ศัพท์ :


จะไป = อย่า (จะไปยะ = อย่าทำ, จะไปอู้ = อย่าพูด)
ก๋ำ = กำ,จับ
เต็ก = กด , ข่ม

คำแปล :

ถ้านกไม่บินอย่าพยายามไปจับปีกมันให้กาง
วัวควายไม่กินหญ้าก็อย่าไปพยายามกดเขามันลง

ขยายความ :

เปรียบได้กับสำนวนไทยที่ว่า"อย่าข่มเขาโคขืนให้กลืนหญ้า" นั่นเอง
เป็นคำเตือนไม่ให้เราไปละเมิดหรือก้าวก่ายในสิทธิส่วนตัวของผู้อื่น
แม้จะด้วยหวังดีก็ตาม เพราะไม่ว่าใครย่อมไม่ชอบการถูกบังคับ
ขืนใจให้กระทำในสิ่งที่ตนเองไม่อยากทำ











 

Create Date : 23 สิงหาคม 2557    
Last Update : 22 สิงหาคม 2560 15:16:39 น.
Counter : 1182 Pageviews.  

~กำบ่ะเก่า บ่เล่าอาจลืม (ตอน...กำอิแม่สอน)~



สรีสวัสดีเจ้า...

แล้วก็ได้ฤกษ์เบิกดิถี ปัดฝุ่นบล็อกกลุ่มนี้เสียที ในช่วงเดือนอันเป็นมงคลนี้
(แม้จะล่วงเลยมาจนจวนเจียนจะหมดเดือนเข้านี่แล้วก็ตามทีเถอะ...แหะ ๆ )
ขออนุญาตหยิบยกเอา"กำบ่ะเก่า"มาเล่าต่อ ก่อนที่จะเลือนหายไปกับกาลเวลา...

กำบ่าเก่าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเก็บรวบรวมมาจากกำอู้กำเอิ้นของแม่
เพราะแม่ฉันเขาเป็นคนโบราณ ที่มักจะเกรงใจลูก ๆ หลาน ๆ
โดยแม่มักจะปรารภเสมอว่า...
"ละอ่อนบ่าเดี่ยวนี้เปิ้นฮ่ำเฮียนมานัก ความฮู้เปิ้นสูงล้ำเฮาก่อน..."
(เด็กสมัยนี้เค้าเรียนมาเยอะ ความรู้เค้าสูงกว่าเราอีก...)

ดังนั้น แม่จึงไม่ใคร่ได้สอนอะไรพวกเราตรง ๆ สักเท่าไหร่
เวลามีปัญหา หรือมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น เขามักจะหยิบยกเอา"กำบ่าเก่า" (ที่สอดคล้องกับสถานการณ์)
พวกนี้แหละมาพูดลอย ๆ แล้วก็เน้นย้ำว่า...คนบ่าเก่าเปิ้นว่าไว้ไม่ผิดหรอก...

ในบล็อกนี้ วันนี้จะขอยกกำสอนอี่แม่มาเพียงหนึ่งบทก่อน...
(เพื่อจะได้เก็บที่เหลือไว้อัพบล็อกวันหลัง ๆ ซึ่งนับจากวันนี้ไป(บอกกับตัวเองว่า)
จะพยายามเขียนบล็อกกลุ่มนี้ให้ได้อย่างน้อยวันละบล็อก...เอ้า!)







'กำบ่ะเก่า'สำหรับวันนี้ เป็นประหนึ่งสุภาษิตสอนหญิง อาจจะเพราะแม่เขามีลูกสาวเยอะ
ก็เลยพร่ำกล่าว"ค่าวก้อม"บทนี้บ่อยเป็นพิเศษ...

“น้องเป๋นบุปผา มาลาดอกไม้ ไก๋สรเก้าแก้วคนธา
เผิ้งปู้มิ้นหากบินมาหา บ่ใจ้มาลาเซาะหาปู้เผิ้ง”



ศัพท์


บุปผามาลา = ดอกไม้
ไก๋สร = เกสรดอกไม้

เก้าแก้ว = แก้วเก้าประการ(นพรัตน์) เปรียบเทียบว่าเป็นของมีค่า

(สุ)คนธา = ส่งกลิ่นหอม

เผิ้ง-ปู้-มิ้น = ผึ้ง ภู่ มิ้น(แมลงให้น้ำหวานชนิดหนึ่งคล้ายผึ้งแต่ตัวเล็กกว่า)

บ่ใจ้ =ไม่ใช่

เซาะหา = เสาะหา ตามหา


คำแปล :

ผู้หญิงเปรียบเป็นเช่นดอกไม้ งดงามเลอค่าในตัว ส่งกลิ่นหอมจรุงไป
หมู่แมลงภู่ผึ้งย่อมบินมาหามาดอมดมเอง ไม่ใช่ดอกไม้ต้องไปแสวงหาแมลง

ขยายความ :

จากคำแปลด้านบนคงแทบจะไม่ต้องขยายความใด ๆ อีก
เป็นคำสอนลูกผูหญิงให้รักนวลสงวนตัว เมื่อถึงเวลามีคู่ ให้ฝ่ายชายเขามาหา
อย่าเที่ยวไปวิ่งไล่ตามผู้ชายนั่นเอง

จากคำสอนบทนี้ทำให้นึกถึงบทกลอนสุภาษิตสอนหญิงของท่านสุนทรภู่อยู่บทหนึ่ง
เนื้อหาใจความค่อนข้างใกล้เคียงกันทีเดียว...

เป็นสาวแส้แร่รวยสวยสะอาด
ก็หมายมาดเหมือนมณีอันมีค่า
แม้แตกร้าวรานร่อยถอยราคา
จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง

..........

อนึ่งเนตรอย่าสังเกตให้เกินนัก
จงรู้จักอาการประมาณหมาย
แม้ประสบพบเหล่าเจ้าชู้ชาย
อย่าชม้ายทำชม้อยตะบอยแล













 

Create Date : 22 สิงหาคม 2557    
Last Update : 22 สิงหาคม 2560 15:29:48 น.
Counter : 3696 Pageviews.  

~ กำบ่ะเก่า ...บ่เล่าอาจลืม (๒๓) "กำสอนอิแม่" ~




สวัสดีเจ้า...

อย่างที่เคยเล่าไว้ในบล็อกแม่วันก่อนว่าแม่เราเขาเป็นคนไม่ค่อยพูด
ไม่ค่อยฟู่เล่นเจรจากับลูก ๆ เท่าไหร่
แต่เวลาพวกเราดื้อหรือเกเร หรือทะเลาะกันตามประสาเด็ก ๆ
แม่เขาจะมีวิธีว่ากล่าวตักเตือนในแบบของเขา

แม่เป็น"คนบ่ะเก่า"ที่มักจดจำคำพูดคำสอนของคนบ่ะเก่าเอามาบอกเล่าต่อแก่พวกเราอยู่เป็นประจำ
เป็นกึ่ง ๆ บอกต่อ กึ่ง ๆ สั่งสอนอบรม
โดยไม่บอกว่ากำลังสอน เพราะแม่ไม่ใช่คนจ้ำจี้จ้ำไช

ปกติแล้วเขาจะใช้วิธี "ทำให้ดู อยู่ให้เห็น"มากกว่าที่จะ"พูดให้ฟัง"
(เพราะหน้าที่นั้นเขายกให้พ่อไปแล้ว)
แต่เวลาเขาเอ่ยปาก...พวกเราก็มักจะได้รับหลักคิดในการดำเนินชีวิตที่ลึกซึ้งและคมคายอยู่เสมอ

กำบ่ะเก่าที่รวบรวมมาในบล็อกนี้(และอีกหลาย ๆ สำนวนในบล็อกเก่า ๆ ก่อนหน้า)
ก็ได้มาจากคำบอกคำสอนของแม่ที่เราจำ ๆ จด ๆ ไว้เจ้า...


เวลาเห็นลูก ๆ กินอยู่ฟุ่มเฟือย หรือแต่งเนื้อแต่งตัวเกินพอดี
แม่เขาก็จะบอกว่า...

"กิ๋นหื้อปอต๊อง หย้องหื้อปอตั๋ว"

ความหมายก็คือ สอนให้เรานุ่งเจียมห่มเจียม กินอยู่ให้รู้ประมาณและความพอดี

หรือ...

"กิ๋นเข้าหื้อไว้ต่าน้ำ"

กินข้าวให้พอดี ๆ เหลือพื้นที่ในท้องสำหรับน้ำด้วย
เป็นคำสอนให้รู้จักแบ่งสัดส่วนของการกระทำอะไรก็ตามให้พอดี ๆ

และ...

"ยามป้อแม่มี กิ๋นขว้างโบ้ะขว้างบ้ะ กันป้อแม่ต๋ายละ เป๋นบ่ะห่อยนอยจา"

คำแปล : ตอนที่พ่อแม่ยังอยู่ก็กินทิ้งกินขว้าง แต่พอพ่อแม่เสียชีวิตแล้วนั่นแหละถึงค่อยรู้สำนึก
แต่ถึงตอนนั้น ทรัพย์สินเงินทองก็กระสานซ่านเซ็น ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เหมือน"บ่ะห่อยนอยจา"(มะระขี้นก)





บางทีแม่ก็สอนเราเรื่องของการพูดจา ว่า...

"กำเข้าหู จะไปฟั่งถูออกปาก จักยากใจ๋ปายลูน "

ความหมายก็ตรงตัวคือ...
เมื่อเราได้ยินได้ฟังอะไรมา ให้กลั่นกรองให้ดีก่อนจะตอบโต้หรือเอาไปบอกต่อคนอื่น
ไม่เช่นนั้น อาจจะมีผลกระทบตามมา สร้างความเสียหายให้ผู้อื่น
และทำให้เราต้องลำบากใจ

หรือ...

"กำติเตียนสำเนียงจ่มส้าม ย่อมจะมีมากู้ทิศ"

หมายถึง คำติฉินนินทานั้นเป็นเรื่องธรรมดาโลก ย่อมจะมีมาจากทั่วทุกสารทิศ
เพราะฉะนั้นไม่ควรถือสาใส่ใจ

และ...

"กำจ่มกำด่านั้นเป๋นกำดี ก๋อนฟังบ่ถี่มันตึงบ่ม่วนหู"

"กำจ่มกำด่า"ในที่นี้หมายถึงคำบ่นคำว่ากล่าวของคนแก่อาจจะฟังไม่เสนาะหูนัก
แต่ฟังให้ดีก็ล้วนเป็นข้อคิดที่ดีทั้งนั้น

กับ...

"กันว่าจะมัด บ่ต้องมัดด้วยป๋อ กำปากกำคอมัดกั๋นก่อได้"

นั่นคือคำสอนว่าด้วยการผูกใจคน ว่าหากจะมัดใจใครล่ะก็ ไม่ต้องใช้เชือก(ป๋อ=ปอ)หรอก
แค่ใช้คำพูดดี ๆ นี่แหละที่สามารถผูกใจคนได้





หลายครั้งแม่ก็จะสอนให้เรามีเมตตา รู้จักเอื้อเฟื้อผู้อื่นด้วยกำบ่ะเก่าที่ว่า...

"คนขี้จิ๊ ไผบ่ถามหา คนมีเมตต๋า ไปไหนบ่กั้น"

คนขี้จิ๊ หมายถึงคนตระหนี่ ขี้เหนียว
บ่กั้น ก็คือไม่อดตาย
สำนวนนี้ก็หมายความว่าคนขี้เหนียวไม่มีใครเขาอยากพูดถึง
แต่คนใจดีมีเมตตาไปไหนก็ไม่มีวันอดตาย

หรือ ...

"ขี้โลภปันเสีย ขี้เหลือปันได้"

ขี้โลภ=มักได้ ตะกละ,
ขี้เหลือ =เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่





เรื่องของการวางตัว...

"จะนั่งหื้อผ่อตี้ จะหนีหื้อผ่อก้น"

ก่อนจะนั่งให้ดูที่นั่งว่าไม่มีอะไรเปรอะเปื้อนหรือมีของมีคมที่อาจจะเป็นอันตราย
พอจะลุกจากไปก็ต้องเหลียวดูข้างหลังว่าไม่ทิ้งร่องรอยหรือลืมอะไรไว้


"กิ๋นได้ไว้ในไห กิ๋นบ่ได้ไว้ในใจ๋"

เมื่อได้รับอะไรมา ไม่ว่าจะหามาเองหรือมีคนให้
ถ้าเป็นของกินก็ให้เก็บถนอมรักษาไว้(ในสมัยก่อนเขาจะเก็บของกินไว้ในไห)
แต่ถ้าเป็นของที่กินไม่ได้ก็ให้จดจำรำลึกไว้ในใจ(ให้สำนึกบุญคุณนั่นเอง)


"แป๋งเฮือไว้หลายต้า หม่าเข้าไว้หลายเมือง"

(สร้างเรือไว้หลายท่า(ท่าน้ำ) แช่ข้าวไว้หลายเมือง)

ให้ผูกมิตรไว้หลาย ๆ ที่ เผื่อวันใดเกิดพลาดพลั้งตกอับจะได้มีที่พึ่งพา


"จะไปดูหมิ่นเจ้า จะไปเล่าขวัญนาย
จะไปขายของฝาก จะไปปากบ่เป๋นธรรม"


จะไป = อย่า
ดูหมิ่น = ดูถูก
เล่าขวัญ=นินทา ว่าร้าย

จะไปดูหมิ่นเจ้า --
ก็คือให้มีความเคารพในผู้มีศักดิ์สูงเช่นเชื้อพระวงศ์ เป็นต้น

จะไปเล่าขวัญนาย
- - อย่านินทาเจ้านาย อย่านำเรื่องส่วนตัวของเจ้านายไปเปิดเผยหรือกล่าวประจาน

จะไปขายของฝาก -
- ของที่ผู้อื่นมอบให้หรือนำมาฝาก เป็นของที่มีค่าทางจิตใจ
ควรเก็บรักษาอย่าได้นำออกไปขายหรือจำหน่ายจ่ายแจกต่อ

จะไปปากบ่เป๋นธรรม.
-คำว่า'ปากบ่เป๋นธรรม' ก็หมายถึงการพูดปดมดเท็จ
การพูดจาหยาบคาย ส่อเสียด ยุให้รำตำให้รั่ว ชวนทะเลาะ...ฯลฯ
ให้งดเว้นการพูดเช่นนี้นั่นเอง





นี่คือแม่ของเราค่ะ...
พวกเรามักจะภาคภูมิใจเสมอเวลามีคนชมแม่ว่าหน้าตาผ่องใส...
เราก็มักจะบอกกันว่า...
ใช่สิ ก็แม่เขาถือคติที่ว่า...
"ใจ๋ใสเป๋นบุญ ใจ๋ขุ่นเป๋นบาป" นิ...


จริง ๆ แล้ว "กำสอนอิแม่" ยังมีอีกเยอะมาก...
ถ้าจะนำมาลงไว้ทั้งหมดในบล็อกเดียว
บล็อกก็คงจะยาวเป็นเป็นขบวนรถไฟสายเหนือเป็นแน่
ขออนุญาตเก็บไว้คราวต่อ ๆ ไปแล้วกันค่ะ

ฝากบล็อกนี้ไว้ส่งท้ายเดือนแห่งวันแม่เจ้า...









 

Create Date : 29 สิงหาคม 2555    
Last Update : 22 สิงหาคม 2560 15:35:40 น.
Counter : 11287 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.