|
สมัยเด็ก ๆ ที่บ้านเราค่อนข้างมีฐานะ (เมื่อเทียบกับบ้านอื่น ๆ ในหมู่บ้านหลังดอยเล็ก ๆ นี่) แม่ก็จะคอยเตือนพวกเรา ไม่ให้เห่อเหิมไปกับความมั่งมีที่อาจจะดูว่าเหนือคนอื่น...
แม่สอนว่า...
ถึงเป๋นเจ้าจ๊าง มหาเศรษฐี จื้อเสียงบ่ดี ไผบ่อวดอ้าง จื้อเสียงเฮาดี ถึงต๋ายกระด้าง ก็ยังมีคนอวดไว้
ศัพท์ :
เจ้าจ๊าง = เป็นเจ้าของช้าง จื้อเสียง = ชื่อเสียง ไผบ่อวดอ้าง = ไม่มีคนนับถือยกย่อง ต๋ายกระด้าง = เสียชีวิตไปนานแล้ว
คำแปล :
ถึงจะร่ำรวยเป็นเจ้าของช้าง เป็นมหาเศรษฐี แต่หากชื่อเสียงไม่ดีก็ไม่มีคนเขายกย่องพูดถึง แต่หากเราเป็นคนดีมีชื่อเสียง(ในทางดี) แม้ตายไปเนิ่นนานก็ยังมีคนเขากล่าวขวัญถึง
ขยายความ :
ทางภาคเหนือเรา สมัยก่อนถ้าใครมีช้างเลี้ยงไว้ในครอบครอง เขาจะเรียกว่า"พ่อเลี้ยง"เลยแหละ เพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีค่า ราคาแพงท่านก็เลยเอามาเปรียบเปรยไว้ใน"กำบ่ะเก่า"บทนี้ว่า ถึงจะร่ำรวยแค่ไหน แต่หากทำตัวไม่ดี มีแต่ชื่อเสีย ก็ไม่มีใครเขายกย่อง ในทางกลับกัน คนยากจนแต่ทำตัวดี แม้ตายจากไปผู้คนก็ยังพูดถึง
กับอีกบทหนึ่ง แม่สอนให้รู้จักประมาณตัว...
"ก้อยอยู่ไปต๋ามน้ำ ทำไปต๋ามตั๋ว น้ำเปียงใด ดอกบัวเปียงอั้น"
ศัพท์ :
ก้อย = ค่อย ต๋ามน้ำ = ตามน้ำ ต๋ามตั๋ว = ตามตัว เปียง = เพียง เปียงอั้น = เพียงนั้น
คำแปล :
ค่อย ๆ ใช้ชีวิตตามธรรมดา ทำอะไรตามอัตภาพของตัว เหมือนดอกบัวที่ลอยปริ่มเหนือน้ำ
ขยายความ :
เป็นคำสอนที่เตือนให้เรารู้จะประมาณตน ไม่ทำอะไรเกินตัว ทำตัวเหมือนดอกบัวที่ลอยเรี่ยน้ำ จะไม่มีวันหักหรือจมนั่นเอง

|
เห็นด้วยกับคำสอนของคนบะเก่าเลยครับ