วิถีธรรมใน 'กำบ่ะเก่า'(๓)
ฮิบุญ ก็ต้องหาบ ฮิบาป ก็ต้องหาม
คำแปล : แสวงบุญก็ต้องหาบ แสวงบาปก็ต้องหาม (ฮิ = แสวง, เพียร, ริ) ขยายความ : คล้ายกับของไทยกลางที่ว่า รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา
โดยทั่วไปมักเข้าใจผิดไปว่า จั่ว เบากว่า เสา โดยทำนองเดียวกัน หาบ ก็น่าจะเบากว่า หาม นี่ว่าตามความหมายหนึ่งของปุถุชนหรือโลกียชนที่ตัดสินอะไรด้วยอคติ มิใช่ด้วยสติ
แต่อริยชนหรือโลกุตตรชนผู้อยู่เหนือโลก เหนือสมมุติ ท่านอาจตีความอีกอย่างหนึ่งว่า บุญ (ความดี) แม้ว่าเป็นจั่วถึงจะเบามันก็ยังมีน้ำหนัก ซ้ำยังทุลักทุเลในการแบกยิ่งกว่าเสา โดยสรุปก็คือบุญก็หนัก แต่คนแบกอาจยึดว่าเบาเหมือนลูกโป่ง บาปก็หนักเหมือนลูกหิน ซึ่งความจริงลูกโป่งนั้นหนักขึ้นข้างบน แต่คนถือไปติดใจความสวยงามของมันจึงลืมรู้สึกหนัก ส่วนลูกหินหนักลงข้างล่างแต่คนไม่ชอบลูกหิน เพราะไม่สวย
คนดีก็ยังทุกข์แบบคนดี เช่นเดียวกับคนชั่วก็ทุกข์แบบคนชั่ว ความดีเป็นกิเลสสีขาวความชั่วเป็นกิเลสสีดำ ถ้าใจจะอยู่ในภาวะเหมือนมนุษย์อวกาศไร้น้ำหนักก็ต้องอยู่เหนือโลก (โลกุตตระ) คือเหนือดีเหนือชั่ว หรือ เหนือบุญเหนือบาป หากอยู่เหนือบุญหรือบาป ก็ต้องเลิกทำกรรมชั่วไม่มั่วกรรมดี แล้วทำแต่หน้าที่อย่างเดียวเพราะการทำหน้าที่ (เพื่อหน้าที่) เท่านั้นจึงทำให้จิตผ่องใส เพราะการยึดทั้งชั่วและดีนั้นยังเป็นกรรมที่นำมาซึ่งเวรหรือวิบากเช่นกัน
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าบุญนั้นเบา และทำให้ไปสู่สวรรรค์ชั้นฟ้าที่ลอยฟ่องเป็นที่อยู่ของเทพเทวดา จึงเกิดประเพณีทำบุญแบบทุ่มเทหรือหลับหูหลับตา เพราะปรารถนาอานิสงส์ว่าตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์
นักบวชทุศีลที่ฉวยโอกาสจึงโฆษณาชวนเชื่อขายใบเบิกทางไปสวรรค์ ส่วนนิพพานที่สูงส่งกว่าสวรรค์โดยไม่ต้องเสียเงินกลับถูกเมินเพราะสูงเกินการโฆษณานั่นเอง...
อ้างอิง : ภูมิปัญญาล้านนาชน อ.มานิต สุทธจิตต์

Create Date : 28 พฤศจิกายน 2550 |
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2550 15:25:32 น. |
|
1 comments
|
Counter : 1065 Pageviews. |
 |
|
|
เห็นภาพเลย
และได้ความรู้ภาษาเหนือด้วย
ขอบคุณนะคะ