กำบ่ะเก่า...บ่เล่าอาจจะลืม(๓)
๑. "พิกมีบ้านเหนือ เกื๋อมีบ้านใต้"
คำแปล : พริกมีบ้านเหนือ เกลือมีบ้านใต้
ขยายความ : ในสังคมยุคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสังคมแห่งการแข่งขันที่ผู้คนไม่มีเวลาไปมาหาสู่กันระหว่างเพื่อนบ้าน ก็น่าเป็นห่วงว่าวัฒนธรรม บ้านเหนือ-บ้านใต้ จะไร้ความหมาย กลายเป็นวัฒนธรรม บ้านใคร ๆ อยู่ อู่ใคร ๆ นอน หรือวัฒนธรรม ตัวใครตัวมัน
โบราณท่านกล่าวเป็นปริศนาว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่แม้เก่งเพียงไรก็ไม่อาจอยู่โดยโดดเดี่ยวในสังคมได้ พระเจ้า (ธรรมชาติ) สร้างโลกมาให้มีดิน ฟ้า อากาศ ต่างกัน และแต่ละภูมิภาคก็มีทรัพยากรธรรมชาติต่างกัน เพื่อให้มนุษย์ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกันและแบ่งปันกันใช้
เช่น บางประเทศก็อุดมด้วยข้าวปลาอาหาร แต่บางประเทศมีน้ำมันในที่กันดาร หากทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนกันก็จะอยู่ได้โดยสงบสุขไม่ทุกข์ร้อน แต่ถ้า กลุ่มน้ำมันรวมตัวกันฉกฉวยโอกาสขูดรีดราคา กลุ่มปลูกข้าวก็โก่งราคาข้าว ชาวโลกก็เดือดร้อน วุ่นวายกันไปทั่วถ้วน
หากถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบ แกงหมูไป แกงไก่มา หรือพริกอยู่บ้านเหนือเอามาแลกเกลือซึ่งมีอยู่บ้านใต้ สังคมก็จะน่ารื่นรมย์สมสุขได้

๒."ไม้ต้นเดียวบ่เป๋นก๋อ ป๋อต้นเดียวบ่เป๋นเหล่า"
คำแปล : ไม้ต้นเดียวไม่เรียกว่ากอ ปอต้นเดียวไม่เรียกเป็นป่า
ขยายความ : มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่สามารถที่จะอยู่ตามลำพังเพียงคนเดียวได้
เราต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นชุมชน และต้องพึ่งพาอาศัยกัน สมัครสมานสามัคคีกัน ไม่มีใครจะสามารถทำงานใหญ่ให้สำเร็จลงได้ตามลำพัง ต้องอาศัยการประสานสอดคล้องกันของคนเป็นหมู่เหล่า จึงจะทำงานใหญ่ดังกล่าวให้ลุล่วงสำเร็จลงได้

๓. "ดำน้ำหื้อหันทราย นอนหงายหื้อหันฟ้า"
คำแปล : ดำน้ำให้เห็นทราย นอนหงายให้เห็นฟ้า
ขยายความ : น้ำทีละหยดที่ไหลลงมิหยุดหย่อนสามารถทำให้น้ำเต็มตุ่มฉันใด ความพยายามที่ไม่ขาดระยะก็จะพาเจ้าของบรรลุความสำเร็จได้ในที่สุดฉันนั้น...
เพียรเถิดแล้วจะเกิดผลโดยยลเป้าหมายข้างหน้าประดุจว่าเป็นกำลังใจ ประดุจว่ามีธงชัยให้เห็นไว ๆ นำไปข้างหน้า
เต่าเดินช้า ทว่าชนะกระต่ายวิ่งไวแต่ไร้จิตที่แน่วแน่
ปู่ย่าตาทวดของเราเปรียบเปรยว่า ถ้าเราจะคิดการใดก็ตามพึงทำให้ถึงที่สุด อย่าทำ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือสะเปะสะปะ หรือที่เรียกว่า ทำส่งเดช อย่าโลเล เหลาะแหละ เหลวไหล ที่สุดไม่อาจบรรลุอะไรสักอย่าง ดูเป็นคนจับจดเพราะขาดซึ่งความทรหดอดทนนั่นเอง
พุทธภาษิตชี้ว่า ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใจถึงหรือใจเอาจริงเอาจัง กายก็ย่อมตอบสนองประกอบกรรมตามประกาศิตของจิตจนสัมฤทธิ์ผล
บุคคลจึงพึงมีอธิษฐานหรือปณิธาน ได้แก่ความแน่วแน่ของจิตที่จะพิชิตกิจกรรมให้สำเร็จ
น้ำทีละหยดที่ไม่ยอมหยุดก็เติมเต็มตุ่มใหญ่ได้เสมอ แต่น้ำที่คนเทกระแทกกระทั้นน้ำก็กระฉอกออกหมด.....เพราะคนเทยังไม่ทันดำน้ำก็อยากเห็นทราย ยังไม่ทันนอนหงายก็อยากเห็นฟ้า
อ้างอิง : ภูมิปัญญาล้านนาชน อ.มานิต สุทธจิตต์

Create Date : 12 ธันวาคม 2550 |
Last Update : 23 มกราคม 2551 15:37:40 น. |
|
3 comments
|
Counter : 1909 Pageviews. |
 |
|
|
คนเหนือเหมือนกั๋นเจ้า