ด้วยจิตวิญญาณของคนเป็น "ครู"
Group Blog
 
All blogs
 

ชีวิตนี้ไม่มีสิทธิ์ซ้อม




ชีวิตนี้ไม่มีสิทธิ์ซ้อม
เจิง เสี่ยวเกอ / เขียน
อนุรักษ์ กิจไพบูลย์ทวี / แปล
พิมพ์คำสำนักพิมพ์ / จัดพิมพ์ ธันวาคม 2550



จากคำนำสำนักพิมพ์

มีคำเปรียบเปรยไว้ว่า ชีวิตคนเราก็เหมือนละครเรื่องหนึ่ง ที่มีครบรสชาติ ตัวละครต้องพานพบอุปสรรคสารพัดกว่าจะพิชิตความสำเร็จ และจบท้ายด้วยความสุข

แต่ชีวิตจริงแตกต่างจากละครตรงที่ไม่มีบท และไม่มีโอกาสให้ซ้อม

ชีวิตจริง "เล่น" ได้ครั้งเดียวไม่มีเทก พลาดแล้วพลาดเลย และก็ไม่แน่เสมอไปว่าชีวิตของเราจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งอย่างตัวเอกในละครหลังข่าว ดังนั้นการดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวัง มีสติ และยึดผู้อื่นเป็นบทเรียน ย่อมดีกว่าปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม

หนังสือเล่มนี้จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อเป็นคู่มือการดำเนินชีวิตสำหรับทุกคน โดยให้ข้อคิดผ่านนิทาน เรื่องเล่า เหตุการณ์ในชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ซึ่งทุกเรื่องล้วน "โดนใจ" เป็นที่สุด

เป็นหนังสือ Best Seller ของไต้หวันที่สร้างแรงบันดาลใจในหมู่ผู้อ่านมากมาย


**********



ตัวอย่างเรื่องเล่า

ผู้เฒ่าวัยเจ็ดสิบกว่าคนหนึ่งไปพบแพทย์
เขาเล่าให้แพทย์ฟังว่ากระเพาะลำไส้ของเขาไม่ค่อยดี

“คุณลุงขับถ่ายทุกวันสม่ำเสมอหรือเปล่าครับ” แพทย์ถาม
ผู้เฒ่าตอบว่า “สม่ำเสมอดี ต้องถ่ายเวลาหกโมงเช้าทุกวัน”
แพทย์พูดว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ดีนี่ครับ แล้วยังมีปัญหาตรงไหนอีก”
ผู้เฒ่าบอกว่า “ปัญหาคือ ลุงจะตื่นเจ็ดโมงเช้านะสิ”

เมื่อผิดเวลา แม้การกระทำจะถูกต้อง ก็ถือเป็นความผิด
เวลา มันก็มีระเบียบปฏิบัติของตัวมันเอง



**********



ตกผลึกความคิด

เวลานั้นสำคัญมาก เพราะมันเป็นก้อนอิฐที่ก่อเรียงขึ้นเป็นชีวิต เคยมีนิทานพังเพยเรื่องหนึ่งเล่าว่า
นาฬิกาปลุกทนดูท่าทางเงียบขรึมของนาฬิกาข้อมือไม่ไหว จึงตะโกนใส่นาฬิกาข้อมือว่า “นี่แนะ เจ้าทำตัวเงียบเฉยอย่างนั้นได้อย่างไร หากเจ้าไม่ส่งเสียงเตือน ผู้คนจะรู้ได้อย่างไรว่านี่เป็นเวลาอะไรแล้ว”
คำตอบของนาฬิกาข้อมือ ชวนให้ขบคิด “คนที่รู้คุณค่าของเวลา ไม่ต้องคอยให้ข้าไปเรียก เขาจะมาดูข้าเอง”











 

Create Date : 27 มิถุนายน 2551    
Last Update : 27 มิถุนายน 2551 14:51:12 น.
Counter : 1433 Pageviews.  

ด้วยปีก...และถั่วพู : รมณา โรชา (หนังสือรางวัลแว่นแก้ว ปี ๒๕๕๐)





ด้วยปีก...และถั่วพู
รมณา โรชา
นานมีบุ้คส์ / พิมพ์ มิ.ย. ๒๕๕๐






เรื่องย่อ: เรื่องราวแสนน่ารักและอบอุ่นของพู่กัน
เด็กหญิงวัย ๕ ขวบ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านชนบทกับพ่อแม่
แวดล้อมด้วยต้นไม้ ดอกไม้ และสัตว์นานาชนิด

พู่กันเติบโตท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม
บวกกับคำสอนของพ่อที่เลี้ยงดูเธอให้เป็นเด็กมีเหตุผล
เชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อใจพ่อ

จนกระทั่งวันหนึ่ง พ่อบอกพู่กันว่า
ตุ่มเล็กๆ บนหลังของเธอ เป็นปีกที่กำลังงอกขึ้นมา!
นี่เองคือจุดเริ่มต้นการค้นหาความจริงของพู่กัน
ปีกมาจากไหน และมันจะงอกได้อย่างไร

ติดตามพู่กันไปเรียนรู้ชีวิตและธรรมชาติ
ผ่านจินตนาการไร้เดียงสาของเธอ
ทำความรู้จักกับ “พี่สาวต้นน้อยหน่า”
“น้องชายต้นโมก” รวมทั้งเหล่าพี่น้องผองสัตว์ในป่าหลังบ้าน
ที่จะช่วยพู่กันค้นหาความจริง...

แล้วก็ต้นถั่วพู ที่มาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“ด้วยปีกและถั่วพู” จะทำให้คุณอมยิ้มและชื่นใจไปทุกตัวอักษร













 

Create Date : 27 มิถุนายน 2551    
Last Update : 27 มิถุนายน 2551 14:22:03 น.
Counter : 2178 Pageviews.  

วรรณกรรมเยาวชนชุด Magical Children Book




เด็กชายบินได้ (The Boy Who Could Fly)
เด็กชายล่องหน (The Invisible Boy)
เด็กชายลูกเตะสายฟ้า
(The Boy With the Lightning Feet)


Sally Gardner / เขียน
ม.ย.ร. มะลิ / แปล
สนพ.วงกลม / จัดพิมพ์ มีนาคม 2550
บ.อมรินทร์บุ้คเซ็นเตอร์ / จัดจำหน่าย






เรื่องย่อ "เด็กชายบินได้ "

โธมัส ท็อป ได้รับพรวิเศษจากนางฟ้าอ้วน

เขาขอให้บินได้...เขากลายเป็นคนดังในหมู่เพื่อนฝูง
ขณะที่ครูทำเหมือนไม่ยอมเห็น

ซ้ำร้ายพ่อของเขายังไม่สนใจ
และดุว่าเขาทำเรื่องเหลวไหล ฟุ่มเฟือยจินตนาการ

ทำไมผู้ใหญ่จึงไม่ยอมรับ
สิ่งที่ตนไม่อยากเห็นทั้งที่คือความจริง
นี่คือสิ่งที่โธมัสไม่เข้าใจ

จนกระทั่งเขาได้พบกับนายวินนีผู้ใหญ่ใจดีที่บินได้...

โลกของโธมัสจึงเปลี่ยนไปอีกครั้ง



*****



เรื่องย่อ "เด็กชายล่องหน "

แซม เรย์กำลังทุกข์ใจอย่างหนัก
กระสวยอวกาศที่พาพ่อกับแม่ไปดวงจันทร์
เกิดหายไปโดยไร้ร่องรอย
ตอนนี้เขาอยู่ในความดูแลของฮิลด้า ฮาร์ดบอทท่อม
เพื่อนบ้านใจโฉด

วันมหัศจรรย์ของแซมเริ่มขึ้น
เมื่อเขาได้เจอเพื่อนตัวเล็กจากต่างดาว
ชื่อสปลอดจ์ ที่ทำให้เขาล่องหนได้....



*****



เรื่องย่อ "เด็กชายลูกเตะสายฟ้า"

ความฝันสูงสุดของทิมมี ทวิงเคิลคือเป็นนักฟุตบอล
แต่ปัญหาก็คือ แค่วิ่ง เขาก็เหนื่อยแฮ่กเสียแล้ว
นักฟุตบอลที่ไหนจะตัวอ้วนแบบเขา
ทิมมีจึงกลายเป็นตัวตลกและถูกเพื่อนแกล้งเป็นประจำ

วันหนึ่งเขาพบว่า ตัวเองมีความสามารถพิเศษ
ยิงลูกจากระยะไกลเข้าประตูได้แม่นยำ
ราวกับเดวิด เบคแฮม

แต่ก่อนอื่นเขาต้องวิ่งไล่ลูกบอลให้ได้เสียก่อน....



*****


จากคำนำสำนักพิมพ์ :

เราหวังว่าวรรณกรรมเยาวชนแปลชุดนี้จะช่วยให้ความฝันของเด็ก ๆ เติบโต งดงาม และช่วยเปิดดวงตาดวงใจของผู้ใหญ่(ที่ได้อ่าน) ให้กลับไปสู่ความทรงจำวัยเยาว์ของตัวเอง
และเข้าใจเด็ก ๆ มากขึ้น













 

Create Date : 27 มิถุนายน 2551    
Last Update : 27 มิถุนายน 2551 14:01:46 น.
Counter : 949 Pageviews.  

"แม่เล่าให้ฟัง" & "เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์"



"แม่เล่าให้ฟัง" & "เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์"
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
จัดพิมพ์โดย สนพ.ซิลค์เวอร์ม



บางส่วนจากคำนำสำนักพิมพ์ หนังสือ "เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์" :

นับแต่พ.ศ. 2523 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงพระนิพนธ์หนังสือหลายเล่ม 2 เล่มในจำนวนนั้นเป็นหนังสือที่มีความสำคัญยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ และในด้านจิตใจแก่ชาวไทย ได้แก่ "แม่เล่าให้ฟัง" พระราชประวัติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ. 2443 - 2481 และ "เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์" พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อทรงพระเยาว์ พ.ศ. 2468 - 2489

ในพระนิพนธ์ "แม่เล่าให้ฟัง" ทรงปรารภไว้ในหน้า "คำปรารภ"ว่า

"หนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าคิดจะทำขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515 ในโอกาสที่แม่ครบ 72 พรรษา อันที่จริงในเวลานั้นตั้งใจจะให้มีแต่ส่วนที่เป็นภาค 2 ในเล่มนี้เท่านั้น จะให้ผู้อ่านเข้าใจนิสัยใจคอของแม่ โดยทำความรู้จักกับ 'เพื่อน อาจารย์ของแม่และผู้ที่แม่นับถือ' โดยอ่านคำแปลจากข้อความสั้น ๆ ที่ตัดมาจากผลงานของท่านเหล่านี้ ส่วนประวัติของแม่นั้นก็จะมีเพียงเล็กน้อย...ระหว่างนั้นข้าพเจ้าก็บันทึกเรื่องแม่เมื่อเด็ก ๆ ไว้เพื่อมิให้ลืมและเพื่อให้ถูกต้องโดยมิได้มีเจตนาอื่น ต่อมาแม่ได้ยกอัลบั้มเก่า ๆ ของแม่เมื่อยังสาวให้ จึงเกิดความประสงค์ที่จะเขียนประวัติเมื่อแม่เด็ก ๆ อย่างถูกต้องประกอบด้วยภาพ...
แต่ความตั้งใจเดิมนั้นมิได้เปลี่ยน คือข้าพเจ้ามิได้ออกความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับแม่ข้าพเจ้าเพียงแต่เล่าเหตุการณ์และนำข้อเท็จจริงที่ได้มาจากแม่หรือจากหลักฐานที่แน่นอน...ในหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าจึงเพียงนำข้อมูลต่าง ๆ มาให้ผู้อ่านพิจารณาและให้ผู้อ่านตีความเอาเองจากทั้งสองภาค โดยหวังว่าจะได้รับความรู้(หรือทวนความจำ)และความเพลิดเพลินบ้าง..."


ในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" ทรงเล่าถึงความทรงจำที่ทรงมีต่อพระอนุชาพระองค์แรกไว้ว่า

"ข้าพเจ้าเองจำเหตุการณ์สำคัญนี้ไม่ได้เลย เพราะอายุเพียง 2 ขวบ 4 เดือน แต่คงยินดีอย่างมากที่ได้น้อง ซึ่งคงไม่เป็นเรื่องธรรมดานัก
เพราะในหลายครอบครัวลูกคนโตมักจะอิจฉาน้องที่อ่อนกว่าไม่มากนัก เพราะพ่อแม่มักให้ความสำคัญแก่ลูกคนใหม่
แต่ทูลหม่อมฯ แม่ และแหนน (พระพี่เลี้ยง) คงได้อธิบายเรื่องน้องที่จะเกิดไว้อย่างดี ข้าพเจ้าจึงรู้สึกรักและอยากช่วยเลี้ยงน้อง"

(หน้า 26)



เมื่อพระอนุชาองค์ที่สองเสด็จพระราชสมภพ พระองค์ทรงบันทึกความทรงจำที่ทรงมีต่อพระอนุชาพระองค์เล็กไว้ว่า...

"...ข้าพเจ้าอยากเห็นน้องใกล้ๆ และอยากแตะต้อง แต่ที่โรงพยาบาลเขาก็ให้ดูเพียงหลังกระจกที่กั้นห้องเด็กไว้
เมื่อกลับมาบ้านแล้วข้าพเจ้าได้ถามแหนนว่า "น้องคนใหม่นี้พูดไทยได้หรือเปล่า"
ในที่สุดหลังจากที่ได้ไปพักผ่อนประมาณ 1 สัปดาห์ แม่และน้องก็กลับมาบ้าน คราวนี้ข้าพเจ้าก็สนุกใหญ่ แหนนจะอาบนํ้า แต่งตัวหรือทำอะไรให้น้อง ข้าพเจ้าต้องเข้าไปยุ่งอยู่ด้วยเสมอ จนแหนนทนไม่ไหว ต้องไปฟ้องแม่ ข้าพเจ้าเลยถูกห้ามไม่ให้เข้าไปยุ่งในเวลาเหล่านั้น"

(หน้า 63)




เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชชนกทรงพาครอบครัวเสด็จกลับเมืองไทยในปี พ.ศ.2471 นั้น เจ้านายเล็กๆ แห่งราชสกุลมหิดลทั้ง 3 พระองค์ได้เจริญพระชันษาขึ้นโดยลำดับ แต่ละพระองค์ทรงแยกย้ายไปทรงศึกษาในโรงเรียนต่างๆ
ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" ว่า

"ข้าพเจ้าคงได้เข้าโรงเรียนราชินีเมื่อปลายปี 2471 หรือเดือนพฤษภาคม ปี 2472 ปีนี้น้องทั้งสองยังไม่ได้เข้าโรงเรียน
พอถึงปี 2473 พระองค์ชายก็ได้เข้าเรียนในชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย พระองค์เล็กถึงแม้ว่ายังไม่ได้เข้าโรงเรียน มักจะติดรถไปส่งพี่ๆ...
เมื่อถึงปี 2474 ข้าพเจ้าขึ้นชั้นประถมปีที่ 2 ที่โรงเรียนราชินี พระองค์ชายก็ขึ้นอนุบาล 2 ที่โรงเรียนมาแตร์ ส่วนพระองค์เล็กก็เข้าโรงเรียนอนุบาลที่ครูพิเศษภาษาอังกฤษของข้าพเจ้าชื่อมิสซิสเดวีส (Mrs.Davies) เปิดที่บ้าน...
เมื่อปี 2475 มิสซิสเดวีสและครอบครัวกลับประเทศของเขา โรงเรียนอนุบาลเล็ก ๆ ก็ต้องปิดไป พระองค์เล็กจึงย้ายมาโรงเรียนมาแตร์ ฯ
ส่วนพระองค์ชายก็เข้าชั้นประถมปีที่หนึ่งที่โรงเรียนเทพศิรินทร์..."

(หน้า 136 - 144)




ในช่วงนี้ พระองค์ทรงเล่าถึงความใกล้ชิดผูกพันฉัน "พี่น้อง" เช่น เมื่อทรงเข้าโรงเรียนกันหมดทุกพระองค์แล้ว จะเสด็จไปโรงเรียนพร้อมกันโดยรถยนต์พระที่นั่งตระเวนส่งพระอนุชาองค์โตก่อน จากนั้นจึงส่งพระองค์ที่โรงเรียนราชินี เมื่อเสด็จกลับจะไม่กลับพร้อมกัน พระอนุชาองค์เล็กก็ติดรถไปรับด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงยกตัวอย่าง "ไปไหนไปด้วยกัน" ไว้ในพระราชนิพนธ์เดียวกันนี้ว่า

"ทุกเช้าพี่น้องสามคนจะต้องออกไปโรงเรียนด้วยกันรถยนต์จะแวะส่งพระองค์เจ้าภูมิพลฯ ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีก่อน แล้วจะแล่นไปที่โรงเรียนเทพศิรินทร์เพื่อส่งพระองค์เจ้าอานันทฯ
และในที่สุดก็จะพาข้าพเจ้าไปที่โรงเรียนราชินี"


เมื่อทรงว่างจากการศึกษาเล่าเรียนเจ้านายเล็กๆ ทั้งสามพระองค์ก็จะทรงเล่นด้วยกันในหมู่พี่น้องภายในวังสระปทุม
ในหนังสือจะมีมีพระบรมฉายาลักษณ์ทรงเล่นซนเช่นเด็กสามัญทั่วไป ด้วยความสำราญพระหฤทัย เช่น ทรงเล่นรถเข็น เล่นปั้นดินนํ้ามัน เล่นนํ้า เล่นทราย และเล่นโกนจุก ตามที่ทรงเห็นพิธีโกนจุกที่ตำหนักของสมเด็จฯ พระพัน วัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งทรงจำมาเล่น เป็นต้น

ในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงพาพระโอรสธิดาไปประทับยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เจ้านายเล็กๆ ทั้งสามพระองค์เจริญพระชันษาขึ้นโดยลำดับ
ความผูกพันใกล้ชิดจากเดิมที่เคยทรงเล่นแบบเด็กๆ ได้เปลี่ยนมาเป็นการเล่นที่มีประโยชน์ต่อการศึกษา ทรงเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

"พี่น้องก็ช่วยกันหาความรู้โดยการเล่นต่างๆ เช่น เวลารับประทานอาหารจะเล่นทายอะไรกันต่างๆ บางพักจะเป็นเกมภูมิศาสตร์ บางพักก็จะเป็นเกมประวัติศาสตร์ แต่พระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาจะเล่นอะไรหลายอย่าง ซึ่งจะนำประโยชน์มาได้ภายหลัง..."

(หน้า 258)



ในฐานะที่ทรงเป็นพระเชษฐภคินี จึงทรงช่วยเหลือพระอนุชาในด้านต่างๆ ที่ยังไม่ทรงถนัด เช่น ทรงรับหน้าที่อ่านหนังสือพิมพ์ที่มาจากเมืองไทยให้พระอนุชาฟัง
รวมทั้งทรงเป็นผู้ถวายคำแนะนำพระอนุชาให้ทรงเขียนไปรษณียบัตรส่งไปถวายสมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ความผูกพันรักใคร่ของเจ้านายเล็กๆ แห่งราชสกุลมหิดลจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในดวงพระหฤทัยของทุกพระองค์ นับตั้งแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เสื่อมคลายตลอดมา


การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของครอบครัวราชสกุลมหิดลนับตั้งแต่สูญเสียสมเด็จพระบรมราชชนก หัวหน้าครอบครัว เมื่อ พ.ศ.2472
ได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2477
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ทรงอยู่ในลำดับแรกแห่งพระราชวงศ์ซึ่งสมควรจะทรงสืบราชสันตติวงศ์

รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระอนุชาพระองค์ใหญ่ขึ้นครองราชย์
เมื่อพระอนุชาขึ้นครองราชสมบัติ พระอิสริยยศของสมาชิกในราชสกุลมหิดลได้เปลี่ยนแปลงด้วย
"แม่" ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
"พี่สาว" ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
และ "น้องชาย" ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
แต่สมาชิกในครอบครัวราชสกุลมหิดลทุกพระองค์ยังคงปฏิบัติพระองค์เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" ว่า
ได้กราบทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวว่าทรงมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อพระเชษฐาเสด็จขึ้นครองราชย์ มีรับสั่งว่า

"ไม่มีความรู้สึกอะไร ไม่ได้มีความตื่นเต้นอะไรเป็นพิเศษ ทรงจำได้ว่า สององค์พี่น้องทรงเห็นว่าตลกดีที่ผู้ที่เข้าเฝ้าวางท่าสง่าผ่าเผยอย่างทางการเหลือเกิน"

(หน้า 239)



ในปี พ.ศ.2481 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรก
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้โดยเสด็จฯ ด้วย
ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลประทับทรงงานอยู่ในประเทศไทย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้โดยเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีและพระอนุชาไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเคียงข้างยุวกษัตริย์พระองค์น้อยเสมอ เช่น เสด็จในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์

การเสด็จนิวัติพระนครครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.2488 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มิได้โดยเสด็จเช่นครั้งแรก แต่ก็ทรงติดตามพระราชกรณียกิจต่างๆ จากพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึงกันตลอดการเดินทาง เช่น ก่อนที่จะเสด็จฯ ถึงประเทศไทยทรงได้รับพระราชหัตถเลขาที่ทรงเล่าเรื่องจากที่ต่างๆ
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลยังทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทรงอธิบายเกี่ยวกับการประทับที่พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง
พระราชหัตถเลขาลำดับท้ายๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลที่ทรงมีมาพระราชทานล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดและความไว้วางพระราชหฤทัยสมเด็จพระเชษฐภคินี

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าถึง "อุปสรรคในนาทีสุดท้าย" ว่า

" มีขึ้นมาได้จริงๆ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 เวลาใกล้ 9 นาฬิกา"... คือการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอนุชาธิราชซึ่งทรงเป็นที่รักยิ่ง การสูญเสียในครั้งนี้นำความโศกเศร้าครั้งยิ่งใหญ่มาสู่ครอบครัวราชสกุลมหิดลอีกครั้ง

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า


"ยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จสวรรคตไป
ยุวกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อไป"







นี่ไม่ใช่การรีวิวหนังสือ หากแต่เป็นการอัญเชิญพระนิพนธ์อันล้ำค่ามาบอกเล่าด้วยความประทับใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์พระนิพนธ์หนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นล้นพ้น











 

Create Date : 09 มิถุนายน 2551    
Last Update : 9 มิถุนายน 2551 10:22:42 น.
Counter : 21189 Pageviews.  


เมณี
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เป็นครูคนหนึ่งที่มุ่งมั่นในการสอนด้วยจิตและวิญญาณของความเป็นครู



หนังสือทุกเล่มที่นำมาอ่านผ่านบล็อกนี้ เป็นหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุดโรงเรียนแม่ทะวิทยา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง จึงขออนุญาตใช้พื้นที่นี้เชิญชวนครู อาจารย์ บุคลากรทุกระดับชั้นในโรงเรียน และนักเรียนทุกคน มาหยิบยืมไปอ่านได้ตามระเบียบการยืมหนังสือของห้องสมุดได้ตลอดเวลาราชการค่ะ
Friends' blogs
[Add เมณี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.