HR Management and Self Leadership
<<
ธันวาคม 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
17 ธันวาคม 2553

สิ่งที่บริษัทส่วนใหญ่ลืม ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือน

เรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนพนักงานนั้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การให้เงินเดือนมากๆ เพื่อให้พนักงานรู้สึกพอใจ และได้รับแรงจูงใจในการทำงาน แต่ที่บริษัทคำนึงถึงประเด็นนี้มากก็เพราะเป็นประเด็นที่เห็นได้อย่างชัดเจน และพนักงานเองก็เรียกร้องอยู่เป็นประจำ ผมได้รวบรวมเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จากการที่ได้ไปวางระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือนให้กับบริษัทต่างๆ และจากการที่ได้ดำเนินการทำการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนมาเป็นเวลากว่า 10 ปีนั้น ก็มีข้อสังเกตเรื่องของสิ่งที่บริษัทส่วนใหญ่มักจะลืม หรือไม่คำนึงถึงในการบริหารค่าจ้างเงินเดือน มีดังนี้ครับ

- ลืมเรื่องของความเป็นธรรมภายใน หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Internal Equity ซึ่งจริงๆ แล้วประเด็นนี้เป็นประเด็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนให้กับพนักงาน หรือพูดกันอีกนัยหนึ่งก็คือ เราจะจ่ายเงินเดือนให้กับแต่ละตำแหน่งในองค์กรของเราอย่างไร ตำแหน่งใดควรจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าตำแหน่งใดบ้าง ประเด็นเรื่องของ Internal Equity นี้ส่งผลอย่างใหญ่หลวงมากสำหรับการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัท เพราะถ้าขาดเรื่องนี้ไป พนักงานจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมในการจ่ายค้าจ้างเงินเดือน แม้ว่าบริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้พนักงานในอัตราที่สูงมากก็ตาม แต่เพราะพนักงานเปรียบเทียบกับตำแหน่งงานอื่นๆ แล้วเขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม อาจจะเป็นเพราะงานที่เขาทำยากกว่า มีความรับผิดชอบที่สูงกว่าในบางตำแหน่ง แต่กลับได้รับเงินเดือนที่พอๆ กัน หรือน้อยกว่าตำแหน่งที่ทำงานง่ายกว่า และรับผิดชอบน้อยกว่า วิธีการแก้ไขก็คือจะต้องมีการประเมินค่างานเพื่อจะได้จัดระดับงานออกมาตามคุณค่าของงาน และนำเอาคุณค่าของงานที่แตกต่างกันนี้ ไปเปรียบเทียบกับตลาด เพื่อที่จะได้เข้าสู่เรื่องของ การแข่งขันได้กับตลาด (External Competitiveness) สิ่งสำคัญก็คือ ถ้าเราไม่มีการสร้างความเป็นธรรมภายในให้เกิดขึ้นก่อน ไม่ว่าเราจะไปเปรียบเทียบกับตลาดได้ดีสักเท่าไร พนักงานเองก็ยังคงรู้สึกว่า บริษัทจ่ายค่าจ้างให้เขาอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ดีครับ

- ลืมไปว่า เงินเดือนไม่ใช่แค่ปัจจัยสุดท้ายที่จะใช้ในการธำรงรักษาพนักงานไว้กับองค์กร หลายบริษัทพยายามที่จะใช้เงินเดือนในการรักษา และจูงใจพนักงาน เมื่อพนักงานจะลาออก ก็ขึ้นเงินเดือนให้เยอะหน่อย จากนั้นก็เกิดกรณีแบบนี้ตามมาอีกมากมาย เพราะพนักงานก็จะใช้เหตุผลว่าจะลาออก เพื่อให้ได้เงินเดือนมากขึ้น จริงๆ แล้วยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถใช้ในการรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรได้ โดยเฉพาะเรื่องของรางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการ บรรยากาศในการทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

- ลืมเรื่องของการให้รางวัลผลงาน บางบริษัทขึ้นเงินเดือนให้พนักงานแบบเท่าๆ กัน หรือไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างพนักงานที่ผลงานดี กับพนักงานที่ผลงานไม่ดี โดยเชื่อว่าถ้าเราขึ้นเงินเดือนให้แบบไม่แตกต่างกันมาก จะทำให้เกิดทีมงานที่ดี โดยลืมไปว่าการทำเช่นนี้นั้นจะทำให้พนักงานที่มีผลงานที่ดี ลดความพยายามสร้างผลงานที่ดีลง และจะเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีของพนักงาน เพราะทำดีแล้วไม่ได้ดี ก็เลยทำไม่ดีมันซะเลย เพราะทำไม่ดีก็ได้ขึ้นเงินเดือนไม่ต่างจากการที่ทำดีนั่นเองครับ

- ลืมไปว่าผลงานสำคัญกว่าอายุงาน ก็เลยทำให้พนักงานที่อยู่ทำงานมานานกว่า ได้รางวัลในการทำงานที่เยอะกว่าทั้งๆ ที่ผลงานก็ไม่ได้ดีกว่าเลย อาทิ โบนัส ก็ให้พนักงานที่อยู่มานานได้รับโบนัสเยอะกว่า ซึ่งผลก็คือ ผลงานไม่ออก แต่อยู่นาน บริษัทก็ไม่ได้รับผลงานที่ดีจากพนักงาน แต่กลับต้องจ่ายค่าตอบแทนให้สูงว่าปกติ


เท่าที่ผมสังเกตก็มีอยู่ 4 ประเด็นนี้แหละครับ ที่บริษัทส่วนใหญ่มักจะลืม ถ้าจะถามว่าแนวทางแก้ไขจะต้องทำอย่างไรบ้าง คำตอบก็คือ ต้องใช้หลักในการบริหารค่าจ้างที่ถูกต้องเข้ามาช่วยแก้ไขครับ ลองค้นดูจากบทความเก่าๆ ของผมก็ได้ครับ มีเขียนเรื่องของหลักการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ดีไว้ครับ เผื่อจะช่วยได้ครับผม




 

Create Date : 17 ธันวาคม 2553
1 comments
Last Update : 17 ธันวาคม 2553 6:28:57 น.
Counter : 1102 Pageviews.

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ นะครับ

 

โดย: byonya 17 ธันวาคม 2553 19:55:06 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]