Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ... ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี





ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า


ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี
ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองและศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านไวรัสสัตว์สู่คน
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

https://www.facebook.com/thiravat.hemachudha/posts/10155094201361518


สัตว์นำโรค


• คิดว่าลูกสุนัขและแมว ไม่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า

จริงๆแล้ว.....สุนัขและแมวอายุเท่าใดก็ตามแพร่โรคได้ แม้จะมีอายุเพียง 1 เดือน


• คิดว่าสุนัขและแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น

จริงๆแล้ว.....เป็นได้ทุกฤดูกาลฉะนั้นการฉีดวัคซีนในสัตว์ไม่จำเป็นต้องรอฤดูกาล และคนเมื่อถูกกัดไม่ว่าฤดูไหนก็ตามต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน


• คิดว่าหากถูกสุนัขหรือแมวกัดโดยอาการของสัตว์ปกติดีก็ไม่น่าจะเป็นบ้า

จริงๆแล้ว.....สุนัขและแมวสามารถแพร่เชื้อโรคได้ถึง 10 วัน ก่อนจะแสดงอาการ หากถูกสุนัขหรือแมวกัด ถ้าสัตว์ดูยังปกติอย่านิ่งนอนใจต้องได้รับการฉีดยาป้องกัน และจับแยกและกักขังสุนัขและแมวนั้นๆ หากแสดงอาการผิดปกติต้องตัดหัวนำไปส่งตรวจทันที ถ้าผ่าน 10 วันไปแล้วไม่มีอาการผิดปกติแสดงว่าไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า


• คิดว่าการฉีดวัคซีนในสุนัขหรือแมวจะป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้100%

จริงๆแล้ว.....หากสัตว์ติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าแล้วและอยู่ในระยะฟักตัวการฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผล ดังนั้นการนำสุนัขและแมวมาเลี้ยงต้องรู้ประวัติพ่อแม่และการเลี้ยงดูที่ผ่านมาอย่างชัดเจน


• คิดว่าสุนัขหรือแมวที่ได้รับวัคซีน 1ครั้งจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตไม่มีโอกาสเป็นบ้า

จริงๆแล้ว.....ยังมีโอกาสเป็นบ้าได้ดังนั้นสุนัขและแมวต้องได้รับวัคซีน 2 ครั้งในปีแรก และ 1 เข็มต่อปี มิฉะนั้นยังมีโอกาสเป็นบ้าได้เมื่อได้รับเชื้อทั้งนี้อาจต่างจากบางประเทศที่เจริญแล้วที่สุนัขและแมวหลังจากที่ได้รับการฉีดครั้งแรกแล้วไม่ต้องฉีดประจำทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากโอกาสที่สุนัขและแมวจะได้รับเชื้อมีน้อยมากเหลือเกินและจะทำการฉีดกระตุ้นต่อเมื่อมีการสัมผัสโรคจริงๆ เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่เป็นประเทศที่ชุกชุมด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะได้รับเชื้อค่อนข้างมีสูง


• คิดว่าสุนัขและแมวที่เราเลี้ยงและเคยได้รับวัคซีนมาก่อนถูกสุนัขบ้ากัดก็ไม่เสี่ยงต่อการติดโรค

จริงๆแล้ว.....ต้องได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำและกักขังดูอาการอย่างน้อย 45 วันแต่ถ้าสุนัขและแมวนั้นไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนเมื่อถูกสุนัขบ้ากัดองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทำลายเพราะมีโอกาสติดเชื้อสูง แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ให้ฉีดวัคซีนทันทีและกักขังดูอาการ 6 เดือนและฉีดวัคซีนซ้ำ 1เดือนก่อนปล่อย


• คิดว่าสุนัขและแมว เท่านั้นที่แพร่เชื้อสู่คนได้

จริงๆแล้ว.....สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดเป็นโรคและแพร่โรคได้เช่นกัน ทั้งนี้แม้แต่ลิง หนู และกระต่าย อย่างไรก็ดีในกรณีของหนูและกระต่ายเมื่อติดเชื้อและเกิดโรคความสามารถในการแพร่โรคกระจายในหมู่พวกเดียวกันเองต่ำมาก และไม่ถือว่าเป็นตัวการสำคัญในการแพร่โรคแต่ถ้าคนถูกหนู หรือกระต่ายกัดให้พิจารณาเป็นรายๆไป การตรวจหาเชื้อในสมองสัตว์จะช่วยตัดสินได้เด็ดขาดว่าควรต้องให้การรักษาแก่คนที่ถูกกัดหรือไม่ อนึ่ง ระยะเวลา 10 วัน ที่ใช้ในการจับแยกและกักขังเพื่อดูอาการว่าเป็นบ้าหรือไม่ ใช้ได้กับสุนัขและแมวเท่านั้น


การติดเชื้อในคนและการป้องกันโรค


• คิดว่าการกัดคนทั้งๆที่ไม่ได้ถูกแหย่เป็นเครื่องแสดงว่าสุนัขแมวนั้นๆเป็นบ้า

จริงๆแล้ว.....สุนัขแมวที่เป็นบ้า กัดคนโดยที่แหย่หรือไม่ได้แหย่ก็ได้ เมื่อถูกกัดต้องไปรับการรักษาเช่นกัน


• คิดว่าการข่วนจากสุนัขหรือแมวไม่น่าจะติดโรคพิษสุนัขบ้าได้

จริงๆแล้ว.....การข่วนด้วยเล็บก็ทำให้ติดโรคและตายได้ เนื่องจากสุนัข/แมวเลียอุ้งตีนและเล็บ อาจมีไวรัสจากน้ำลายติดค้างอยู่ที่เล็บและแพร่เชื้อได้หากแผลมีเลือดออกแม้เพียงซิบซิบ


• เมื่อถูกสุนัขกัดคิดว่าเอารองเท้าตบหรือราดด้วยน้ำปลาจะช่วยฆ่าเชื้อได้

จริงๆแล้ว.....เมื่อถูกกัดต้องล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นพบแพทย์ทันที เพื่อล้างแผลอีกครั้ง และฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาไอโอดีน ควรหลีกเลี่ยงการเย็บแผล ถ้าจำเป็นเย็บได้หลวมๆการเย็บปิดแผลจะส่งเสริมให้เชื้อเข้าเส้นประสาทได้ไวและเร็วขึ้นการปฎิบัติตามความเชื่อผิดๆเหล่านี้ทำให้มีคนเสียชีวิตมานักต่อนัก


• เมื่อถูกสุนัขหรือแมวที่มีเชื้อกัดคิดว่ามีโอกาสรอดแม้ไม่ได้รับการรักษา

จริงๆแล้ว.....ถ้าคนถูกกัดแล้วมีอาการจะเสียชีวิตทุกรายภายใน5-11 วัน แต่คนที่รอด ไม่ได้หมายความว่าคาถาดี ทั้งนี้เพราะ ไม่มีไวรัสในน้ำลายตลอดเวลา ซึ่งพบได้ 30-80% หรือเฉลี่ยครึ่งต่อครึ่ง


• คิดว่ารอให้สุนัข/แมว ที่กัดแสดงอาการหรือตายก่อนจึงค่อยพาคนที่ถูกกัดไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน

จริงๆแล้ว.....การฉีดยาป้องกันที่ได้ผลสูงสุดอยู่ในช่วง 48 ชั่วโมงหลังถูกกัด และถ้าแผลมีเลือดออกไม่ว่าตำแหน่งใดของร่างกายต้องได้เซรุ่ม(อิมมูโนโกลบูลิน)ชนิดสกัดบริสุทธิ์ ฉีดที่แผล


เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า


• จากการประชุมองค์การอนามัยโลก เดือนตุลาคม 2547 และ ตุลาคม 2553 และการประชุมนานาชาติ เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน2548 มีหลักฐานชัดเจนว่าถึงแม้จะรักษาทันท่วงทีก็อาจเสียชีวิตได้แม้ว่าจะเกิดได้น้อยมากๆก็ตาม ในประเทศไทยศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปี 2542 รายงานผู้ป่วยตาย2 ราย และในปี พ.ศ.2552 รายงานผู้ป่วย1ราย แม้ได้รับการรักษาด้วยวัคซีนและเซรุ่มและมีผู้ป่วยตายในประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอื่นๆในทำนองเดียวกัน


• ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมสัตว์นำโรคโดยเฉพาะสุนัขและแมว และคนที่มีโอกาสถูกสุนัขหรือแมวกัดบ่อยๆควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า ซึ่งฉีดเพียง 3 เข็มโดยที่แม้ว่าจะถูกกัดในอนาคต 10-20 ปีก็ตามเพียงได้รับวัคซีนกระตุ้น 2 เข็มโดยไม่ต้องฉีดเซรุ่มก็ปลอดภัยแล้ว


• โรคพิษสุนัขบ้าในคนมีอาการซับซ้อนและไม่จำเป็นต้องมีอาการกลัวน้ำกลัวลม หรือมีน้ำลายมาก แต่มีอาการคล้ายโรคทางสมองทั่วไป หรืออาการอัมพาตแขนขาอ่อนแรง และ10%ของผู้ป่วยไม่มีประวัติถูกสัตว์กัดหรือถูกกัดบ่อยมากจนคิดว่าไม่สำคัญ

ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้พัฒนาวิธีการวินิจฉัย โดยใช้รูปแบบที่ปรากฏในคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้าของสมอง และวิธีทางอณูชีววิทยา โดยตรวจหา RNA ของไวรัสในน้ำลาย น้ำไขสันหลัง ปมรากผม ปัสสาวะ จนถึงปัจจุบันได้ทำการตรวจยืนยันให้กระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ปีพ.ศ.2560 เป็นจำนวนมากกว่า 80 รายและวิธีการทั้งหมดได้รับการบรรจุในคู่มือขององค์การอนามัยโลก


• ถึงแม้ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย แต่การวินิจฉัยยืนยันที่ถูกต้องจะนำไปสู่การค้นหาต้นตอของโรคโดยพุ่งเป้าไปยังกลุ่มสุนัขที่กัดผู้ป่วย ทั้งนี้เนื่องจาก สุนัขตัวการนอกจากจะแพร่โรคให้ผู้ป่วยแล้วยังมีโอกาสแพร่โรคไปยังสุนัขใกล้เคียงและสุนัขเหล่านั้นเท่ากับเป็นระเบิดเวลาเคลื่อนที่พร้อมที่จะแพร่โรคต่อไปใน อนาคตและต้องไม่ลืมว่าคนที่สัมผัสผู้ป่วยก็มีโอกาสติดเชื้อได้จึงต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม


:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

ThiravatHemachudha

24 กันยายน เวลา 20:50 น. ·

https://www.facebook.com/thiravat.h/posts/1685826414784239

ข้อกังวลของการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเรื่องของชนิดของวัคซีนและวิธีการฉีด

ในการให้การป้องกันผู้ที่ถูกสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าไม่ว่าจะเป็นสุนัขแมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือการล้างแผลโดยน้ำและสบู่และหลังจากนั้นไปยังสถานพยาบาลเพื่อทำการล้างแผลและให้ยาเฉพาะที่ๆทำลายไวรัสได้เช่นโพวิดีน

ในกรณีที่แผลลึกหรือแผลไม่ลึกมากก็ตามแต่มีเลือดออกต้องฉีดสารสกัดน้ำเหลืองหรือที่เรียกว่าอิมมูโนกลอบูลินเข้าในและรอบแผลด้วย

วิธีการฉีดจะเหมือนกับที่ฉีดยาชาเวลาจะทำการเย็บแผลคือยอนเข็มเข้าไปทางด้านหนึ่งจนสุดและค่อยๆถอยเข็มพร้อมกับเดินยาไปพร้อมๆกันโดยหลีกเลี่ยงการที่ต้องจิ้มหลายๆรู ซึ่งอาจจะทำให้เส้นประสาทบาดเจ็บและไวรัสอาจเข้าตรงไปที่เส้นประสาท โดยไม่พักตัวในกล้ามเนื้อก่อน

สำหรับการฉีดวัคซีนนั้นวัคซีนที่ใช้อยู่ขณะนี้ มีคุณภาพและความปลอดภัยทัดเทียมกันทั้งสิ้นทำจากเซลล์เพาะเลี้ยงและทำให้บริสุทธิ์ อาจจะมีชื่อต่างๆกันแล้วแต่บริษัทที่นำเข้า

ในกรณีที่เริ่มเข็มแรกด้วยวัคซีนชนิดหนึ่งแต่เข็มต่อๆไปถ้าไม่สามารถหาวัคซีนชนิดแรกได้ก็สามารถใช้วัคซีนอื่นได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปเพราะชาวต่างประเทศถ้าได้วัคซีนเข็มแรกในประเทศไทยเป็นวัคซีนวีโรแรบ เมื่อกลับไปยังประเทศตนเองก็สามารถใช้วัคซีนอีกชนิดหนึ่งได้

ยกตัวอย่างเช่นเข็มแรกเป็นวีโรแรบต่อมาจะเป็น สปีดา และเข็มที่สาม จะเป็น วีโรแรบก็ได้

หลักที่สำคัญไม่ใช่เรื่องของชนิดของวัคซีนแต่เป็นวิธีการฉีด ถ้าเริ่มต้นด้วยการฉีดเข้าชั้นผิวหนังควรจะต่อไปด้วยการฉีดวิธีเดียวกัน

เช่นเดียวกับถ้าเริ่มต้นด้วยการฉีดเข้ากล้ามก็ต่อด้วยการฉีดเข้ากล้ามให้ครบ

อย่างไรก็ตามในกรณีที่เป็นนักท่องเที่ยวและได้รับเข็มแรกเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนังเมื่อกลับไปประเทศตนเองซึ่งไม่ชำนาญในการฉีดก็อาจสามารถที่จะอนุโลมเป็นฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อต่อไปจนครบ


:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

Drama-addict

24 กันยายน 2560
https://www.facebook.com/DramaAdd/photos/a.411063588290.186101.141108613290/10155899708853291/?type=3&theater

อันนี้น้องหมอที่ รพแห่งนึง แถวๆภาคกลางนี่ล่ะ

บอกว่าเขากำลังจะโดนฟ้องเพราะว่าคนไข้โดนหมากัด

ก็ไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้ายี่ห้อVerorab ที่ รพ อีกแห่ง

แล้วมาฉีดวัคซีนต่อที่รพ เขา ที่ รพ เขาไม่มี Verorab

แต่มีวัคซีนอีกยี่ห้อคือSpeeda เขาก็ฉีดตัวนี้ให้คนไข้คนไข้ไปปรึกษาหมอที่ รพ แรก เขาบอกว่าใช้แทนกันไม่ได้เขาเลยตัดสินใจจะฟ้องหมอคนนี้เพราะเชื่อที่หมอ รพ นั้นบอก

น้องหมอคนนี้ก็ฝากจ่าโพสหน่อยเถอะว่าวัคซีนตัวนี้มันเป็นยังไงจริงๆแล้วมันใช้แทนกันได้มั้ยตอบว่า ได้นะครับ

คือตัว Verorabกับ Speeda มันผลิตคนละวิธีกัน

คือ Verorabผลิตด้วยการเลี้ยงเชื้อสายพันธ์ PMWI138-1503-3M แต่ Speeda ใช้สายพันธ์ L.Pasteur PV 2061

แต่ถามว่าใช้แทนกันได้มั้ยได้ครับผม

ในกรณีที่ฉีดวัคซีนตัวนึงมาแต่ของหมด ก็สามารถเอาอีกตัวมาฉีดต่อได้ แต่วิธีการฉีดมันต้องเหมือนกันนะและประสิทธิภาพก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย

ดังนัน้ฝากวอนถึงคนไข้ท่านนี้อย่าไปเชื่อไอ้หมอคนที่บอกว่าใช้ร่วมกันไม่ได้ครับถ้าไม่เชื่อมีอาจารย์แพทย์ที่ชำนาญด้านนี้หลายๆท่านให้อ้างอิงอย่าฟ้องน้องมันด้วยเรื่องนี้เลยครับ คือมันไม่ได้ทำอะไรผิดเลยนะนั่นถ้าหมอโดนฟ้องด้วยเหตุผลนี้กันเยอะๆกลัวมันจะเสียกำลังใจกันหมด

อ้างอิง
แนวทางปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้า

//www.skko.moph.go.th/dward/document_file/cdc/common_form_upload_file/20140313192304_1741768127.pdf

//drug.pharmacy.psu.ac.th/Question.asp?ID=14761&gid=7





ลิงค์บทความ

" โรคพิษสุนัขบ้า  " 
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=20-03-2008&group=4&gblog=23

สุนัขจรจัด ปัญหาสังคม ระดับประเทศ ...สาเหตุและแนวทางแก้ปัญหา (นำมาฝาก)    //www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=03-02-2017&group=15&gblog=78




Create Date : 15 สิงหาคม 2555
Last Update : 26 กันยายน 2560 15:35:35 น. 2 comments
Counter : 18436 Pageviews.  

 
ได้ความรู้มากครับ

ขอบคุณครับ


โดย: navagan วันที่: 15 สิงหาคม 2555 เวลา:20:02:39 น.  

 
Thiravat Hemachudha ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ 2 ภาพ
https://www.facebook.com/thiravat.hemachudha/posts/10155522936846518

นับเป็นก้าวใหม่ของ สำนักอาหารและยา หรือ อย ของประเทศไทย ที่อิงบนหลักฐานประสิทธิภาพและความปลอดภัย การทำหมันถาวรในสุนัขเพศผู้ หลังจากที่ถูก แช่แข็งมา 10 ปี
ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทั้งนี้ มีหลักฐานชัดเจนจาก อย สหรัฐและอีก ไม่ต่ำกว่าห้าถึงหกประเทศ
นอกจากนั้นในประเทศไทยเองคุณหมอสัตวแพทย์นัยนาและวีระยังได้ใช้ในการทำหมันเพศผู้ถาวรไปไม่ต่ำกว่า 3000 รายโดยที่มีการเฝ้าระวังดูแลจากชุมชน
การฉีดโดยสารใช้ zinc gluconate ต้องกระทำโดยสัตวแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมทั้งการวัดขนาดของไข่ปริมาตรของยาที่จะใช้และวิธีการฉีด
ไม่ใช่การฉีดตามใจโดยใช้สารที่ผลิตมาเอง ดังนั้นในระยะเวลา ที่ผ่านมามีการใช้สารไปทำการฉีดเองและเข้าใจผิดว่าทำให้เกิดผลแทรกซ้อนและเป็นการทารุณสุนัข
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วถ้ากระทำอย่างถูกวิธีใช้เวลาเพียง 2 นาทีโดยไม่ต้องฉีดยาซึมหรือยาสลบและปล่อยหมาได้ทันทีทั้งนี้จะเริ่มเห็นผลภายในสองถึงสามอาทิตย์โดยที่สเปิร์ม ไม่มีหางและภายในระยะเวลาสองเดือนจะเป็นหมันถาวรโดยที่ยังคงความเป็นเพศชายและทำให้เฝ้าเขตอาณาบริเวณของตนเองได้ทำให้ไม่มีการรุกล้ำของหมา อื่นๆข้ามถิ่นการลดประชากรสุนัข แม้จะเริ่มจากเพศผู้ก็ตามประสบผลสำเร็จในการลดประชากรใหม่ดังที่ได้ทำแล้วในที่ต่างๆและจะช่วยทำให้การควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าตามโครงการพระราชปณิธานพระเมตตาของฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ ที่ทรงห่วงใยปัญหา “โรคพิษสุนัขบ้า” ที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ
อนี่ง ราคาของยาฉีดทำหมันถาวรมีราคาเพียง 8 บาทต่อหนึ่งตัวเท่านั้นเมื่อทำเป็นสาธารณะกุศล



โดย: หมอหมู วันที่: 26 มิถุนายน 2560 เวลา:12:55:48 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]