 |
 |
|
ไวรัสตับอักเสบชนิด บี
ไวรัสตับอักเสบชนิด บี ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการที่อาจแตกต่างกันได้ โดยอาจแบ่งออกเป็น
ตับอักเสบเฉียบพลัน
ในประเทศไทยผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันราว 1/3 เกิดจากไวรัสตับอักเสบ บี
ผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจมีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร แน่นท้อง ท้องอืด อาจจุกแน่น หรือเจ็บที่บริเวณชายโครงขวาจากตับที่ โต เมื่อไข้ลดบางรายอาจจะมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม หรือ ที่เรียกว่า "ดีซ่าน" บางครั้งอาจท้องเดินได้ ผิวหนังอาจคัน ตับและม้ามโตได้เล็กน้อย
โดยทั่วๆ ไป อาการของโรคอาจปรากฏอยู่ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ทุเลาลงจนสามารถ ทำงานได้ตามปกติในเวลา 4-6 สัปดาห์
ในผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบบี ร้อยละ 90-95 จะหายเป็นปกติและร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี แต่มีเพียง ร้อยละ 5-10 เท่านั้น ที่ไม่สามารถกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายได้กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในระยะหลัง และน้อยกว่าร้อยละ 1 อาจเกิดอาการตับวาย ท้องมาน อาเจียน หรือ อุจจาระเป็นเลือด ไม่รู้สึกตัวหรือโคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุด
อาการของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน แบ่งได้เป็น 3 ระยะดังนี้
1. ระยะอาการนำ มีอาการอ่อนเพลียมีไข้ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการคล้าย ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เบื่ออาหารมก คลื่นไส้ อาเจียน อาจปวดท้องบริเวณชายโครงขวา มีท้องเสียได้ ปัสสาวะสีเหลืองเข้มผิดปกติ ฯลฯ อาการนำเป็นอยู่นาน 4 - 5 วัน จนถึง 1 - 2 สัปดาห์
2. ระยะอาการเหลือง ดีซ่าน ผู้ป่วยมีตาเหลือง ตัวเหลือง อาการทั่วไปดีขึ้น แต่ยังอ่อนเพลียคล้ายหมดแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสพบว่า มีอาการดีซ่านเพียงครึ่งหนึ่งหรือน้อยกว่า
3. ระยะฟื้นตัว อาจยังอ่อนเพลียอยู่ อาการข้างต้นหายไป หายเหลืองโดยทั่วไป ระยะเวลาของการป่วยนาน 2 - 4 สัปดาห์ จนถึง 8 - 12 สัปดาห์
ตับอักเสบเรื้อรัง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี พบความผิดปกติในการทำงานของตับ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่มีการอักเสบ และการทำลาย เซลล์ตับมากๆ โรคจะดำเนินต่อไป ทำให้ตับเสื่อมสมรรถภาพลง จนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด นอกจากนี้ยังอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้ด้วย โดยพบว่าในคนที่เป็นพาหะเรื้อรังของไวรัสตับ อักเสบชนิดบี มีโอกาสเกิดมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติถึง 200 เท่า
การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบ บี
1. การตรวจการทำงานของตับ
โดยการหาเอนไซม์ที่ปล่อยออกมาจากเซลล์ตับที่อักเสบคือ SGOT(AST) และ SGPT (ALT) ปกติระดับเอนไซม์สองตัวนี้จะน้อยกว่า 40 ถ้าสูงผิดปกติบ่งบอกถึงการอักเสบของ ตับ แต่ไม่ได้จำเพาะกับไวรัสตับอักเสบบี เพราะอาจพบได้ในการอักเสบจากไวรัสตัวอื่นๆ หรือ ผลของยาต่างๆ และแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นในกรณีที่เจาะตอนมีไข้ พบว่า ค่าต่างๆ เหล่า นี้อาจผิดปกติโดยผู้ป่วยไม่ได้มีตับอักเสบ
ดังนั้นถ้าพบว่าเอนไซม์ผิดปกติ ต้องปรึกษาแพทย์ ก่อน ซึ่งแพทย์มักเจาะซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ถ้ายังผิดปกติจึงหาสาเหตุต่อไป
2. การตรวจหาหลักฐานการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
ซึ่งมีการตรวจทั้งการหาแอนติเจนของไวรัส และการตรวจทางน้ำเหลือง
การตรวจหาแอนติเจน ที่สำคัญคือหาค่าแอนติเจนส่วนผิวของไวรัส(HBsAg) ซึ่งถ้าพบแสดงถึงกำลังมีการ ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี แพทย์อาจตรวจหาแอนติเจนอีกตัว คือ HBcAg ซึ่งถ้าให้ผลบวก แสดงถึงการติดเชื้อที่มีการแบ่งตัวของไวรัสอย่างรวดเร็ว มีปริมาณไวรัสมาก
การตรวจทางน้ำเหลือง ที่สำคัญคือการตรวจหาภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบี (Anti HBs) ถ้าให้ผลบวก แสดงว่าร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งอาจเกิดจากการรับวัคซีน หรือเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแต่หายแล้ว การตรวจทางน้ำเหลืองอีกตัว คือ Anti HBc เป็นตัวบ่งว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งอาจจะหายไปแล้ว หรือกำลังติดเชื้ออยู่ก็ได้ ไม่ ใช่ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อ
นอกจากนี้อาจมีการตรวจหาไวรัสด้วยวิธีอื่น เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในเลือด ซึ่งให้ผลแม่นยำกว่า และสามารถบอกปริมาณจากไวรัสได้
3. การตรวจพยาธิสภาพของตับ
โดยการใช้เข็มเล็กๆ เจาะดูดเอาเนื้อตับชิ้นเล็กๆ ออกมาตรวจ การตรวจนี้จะมีประโยชน์ มากในการประเมินความรุนแรงของตับอักเสบ เพื่อประโยชน์ในการรักษา และพยากรณ์โรค
4. การตรวจทางรังสีวิทยา
เช่น การตรวจด้วยคลื่นเสียง (ultrasound) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อาจ ได้ประโยชน์ในการประเมินว่ามีตับแข็ง หรือก้อนผิดปกติในตับหรือไม่
แนวทางการรักษา
1. ระยะตับอักเสบเฉียบพลัน
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส การรักษาโดยทั่วไปเป็นการรักษาตามอาการ ปกติผู้ป่วยจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองอยู่แล้ว ควรพักผ่อนให้เต็มที่ในระยะที่มีอาการ ตาและตัวเหลืองมาก รับประทานอาหารให้เพียงพอ ควรรับประทานอาหารอ่อน และย่อยง่าย งดอาหารมัน งดดื่มสุรา และงดบุหรี่ การรับประทานของหวาน หรือดื่มน้ำหวานมากกว่าปกติ ไม่ได้ช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น แต่น้ำตาลที่ดื่มเข้าไปมาก ๆ จะเปลี่ยนเป็น ไขมันไปสะสมในตับ อาจทำให้ตับโต จุกแน่นนานกว่าปกติได้ ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการมาก แพทย์จะรับไว้รักษาใน โรงพยาบาล และ ให้การรักษาเพื่อทุเลาอาการ หรือประคับประคองให้พ้นระยะอันตราย และป้องกันโรคแทรกซ้อน
2. ระยะตับอักเสบเรื้อรัง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการจึงสามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติไม่ต้องหยุดงาน ถ้ามี อาการของโรคตับอักเสบเล็กน้อยให้พักผ่อนให้เพียงพอ ไปทำงานได้ตามปกติ แต่อย่าออก กำลังกาย หรือทำงานหนัก จนกว่าอาการของโรคตับอักเสบจะหายแล้ว แต่เมื่ออาการของโรค ตับอักเสบหายแล้ว ควรออกกำลังกายแต่พอดีอย่างสม่ำเสมอ
การรับประทานยาบำรุงตับ หรือวิตามิน ไม่มีหลักฐานว่าช่วยลดการอักเสบของตับหรือลดปริมาณไวรัส
ยาที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ในปัจจุบันมีเพียงการใช้อินเตอร์เฟียรอน(interfe ron) เท่านั้น ซึ่งเป็นยาฉีดต้องใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 เดือน จึงจะได้ประโยชน์ ซึ่งราว ร้อยละ 30-40 จะทำให้การอักเสบของตับลดลง พร้อมกับปริมาณของไวรัสลดลงด้วย เนื่องจากยาอินเตอร์เฟียรอนมีราคาแพง และมีฤทธิ์ข้างเคียงมาก การใช้จึงควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ระบบทางเดินอาหารเท่านั้น
3. การปฏิบัติตัวอื่น ๆ
- งดดื่มสุรา ทั้งในตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง พบว่าการดื่มสุราจะเสริมทำให้โรครุนแรงขึ้น ในตับ อักเสบเรื้อรังยังทำให้ตับเสื่อมสมรรถภาพ จนเป็นตับแข็งและมะเร็งตับเร็วขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น เพราะยาเกือบทุกตัวจะถูกทำลายที่ตับ การใช้ยาต่าง ๆ จึงควรระมัดระวัง และควรแจ้ง ให้แพทย์ทราบด้วยว่าเป็นตับอักเสบอยู่ การใช้ยาสมุนไพร หรือ ยาสามัญประจำบ้านต่างๆ อาจทำให้โรคลดลงได้
- หมั่นตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ แม้แต่ในผู้ป่วยที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี ก็ควรได้รับการตรวจเป็นระยะๆ อย่าง น้อยทุก 4-6 เดือน เพราะบางครั้งจะมีการอักเสบเกิดขึ้นได้ ในผู้ป่วยที่เป็นชายอายุมาก หรือมีตับแข็งร่วมด้วยควรติดตามเป็นระยะๆ เพื่อตรวจหามะเร็งตับระยะแรกเริ่มต้น
4. การดูแลป้องกันการติดเชื้อ
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย สารเหลวที่หลั่งจากร่างกาย การใช้ ของมีคม หรือของที่อาจปนเปื้อนเลือด น้ำเหลือง ร่วมกับผู้อื่น เช่น มีดโกน หวี แปรงสีฟัน การใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด การเจาะหู การสัก ฝังเข็ม ทำฟัน การรับประทานอาหารร่วมกับ ผู้ป่วยโดยมีช้อนกลางน่าจะเป็นวิธีลดการติดโรคลงได้
***การทำลายเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถทำได้โดย การต้มให้เดือด อย่างน้อย 5 นาที สารเคมีที่ทำลายเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อย่างได้ผล คือ โซเดียมไฮโดรคลอไรท์ หรือที่รู้จักกันในนามของ คลอรอกซ์ โดยแช่ในความเข้ม 0.5-2.0% สารเคมีกลุ่มฟอร์มาลินก็สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ดีเช่นกัน***
2. งดการสำส่อนทางเพศ
3. ถ้าพบว่าเป็นพาหะของโรค ควรระมัดระวังไม่ให้เชื้อแพร่ไปสู่ผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ใกล้ชิด
4. ฉีดวัคซีนป้องกัน ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนมากที่สุด คือ เด็กแรกเกิด ในเด็กโตและผู้ใหญ่ โดยทั่วไปมีความจำเป็นน้อยที่จะฉีดวัคซีน เพราะส่วนใหญ่ติดเชื้อแล้ว หรือมีภูมิต้านทานต่อ การติดเชื้อแล้ว แต่ถ้าต้องการจะฉีดวัคซีนควรจะได้รับการตรวจเลือด เพื่อให้ทราบว่ากำลัง มี หรือเคยมีการติดเชื้ออยู่แล้ว หรือมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นแล้วหรือยัง ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว หรือมีภูมิต้านทานแล้วไม่ต้องฉีดวัคซีน
ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบอาจไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน แต่ถ้า เป็นผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่เป็นพาหะก็ควรจะตรวจเลือด เพื่อทราบถึงสภาวะของการติดเชื้อ ก่อนการฉีดวัคซีน
***การฉีดวัคซีนต้องฉีดให้ครบชุด ควรปรึกษาแพทย์***
วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ จากไวรัสตับอักเสบชนิด บี
ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบไวรัส บี ที่มีขายอยู่ทั่วไป แบ่งตามวิธีการผลิต ได้ 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำจากพลาสมา (น้ำเลือด) ของคนที่เป็นพาหะ และ ชนิดที่ผลิตโดยวิธี พันธุวิศวกรรม วัคซีนทั้งสองชนิดเป็นวัคซีนที่ให้ความปลอดภัย และให้ประสิทธิภาพในการ ป้องกันโรคได้ดี โดยใช้ตามขนาดที่ระบุไว้ของแต่ละชนิด ซึ่งชนิดที่สองได้รับความนิยม มากกว่า พบว่าการฉีดวัคซีน 3 เข็มที่บริเวณต้นแขนที่ระยะเวลา 0 , 1 และ 6 เดือน ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ จะก่อให้เกิดภูมิต้านทานได้ร้อยละ 90-95
การติดต่อของไวรัสตับอักเสบ บี ที่สำคัญมี 3 ทาง คือ
1. การติดต่อจากมารดาสู่ทารก
หญิงมีครรภ์ที่เป็นพาหะหรือเป็นโรคจะถ่ายทอดเชื้อให้แก่ลูกทางสายสะดือ หรือระหว่าง คลอด เป็นการติดต่อที่สำคัญที่สุด
มีข้อมูลที่ได้จากการศึกษาใน ประเทศไทย พบว่าทารกมีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้สูงถึงร้อยละ 40-50 และร้อยละ 25 ของเด็กที่เป็นพาหะนี้ เมื่อโตขึ้นในชั่วชีวิตเขาจะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนในตับซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัสตับอักเสบบี
ทารกจะไม่มีอาการของตับอักเสบบีในระยะแรก แต่อาจสำแดง อาการเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และผู้ที่เป็นพาหะยังสามารถแพร่กระจายโรคได้อีกด้วย
การนำวัคซีนป้องกันตับอักเสบบีมาฉีดให้กับทารกแรกคลอดทุกคนจะลดอัตราการติดเชื้อในทารกลงได้มาก มีรายงานการพบไวรัสในน้ำนมมารดาที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี แต่การให้นมบุตรไม่เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทารก
2. การติดต่อโดยเลือด ส่วนประกอบของเลือด รวมถึงการใช้เข็มฉีดยา การ สัก การฝังเข็ม หรือการเจาะหู
ถ้าเลือดหรือเข็มเหล่านั้นปนเปื้อนด้วยไวรัสตับอักเสบ บี จะเป็นสาเหตุสำคัญในการติด เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าไวรัสเอดส์หลายเท่า
- โดยการได้รับถ่ายเลือด น้ำเลือด หรือส่วนประกอบของเลือด จากผู้ที่มีเชื้อไวรัสนี้อยู่
- โดยการใช้เข็มฉีดยาที่มีเชื้อปนเปื้อน การเจาะหู การสัก ทำฟันที่ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ทำลายเชื้อ-ไม่หมดร่วมกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสนี้อยู่
- โดยการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ที่มีเชื้อ เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บ และของมีคม อื่นๆ เพราะอาจปนเปื้อนเลือดของคนที่มีเชื้ออยู่ได้
- โดยเข้าทางบาดแผลถลอกที่ผิวหนังโดยไม่รู้ตัวเช่น การกอดรัดฟัดเหวี่ยงหรือการกัดกันเล่นของเด็ก
3. ทางเพศสัมพันธ์
โดยทั่วไป ถ้ามีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จะมีโอกาสต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ได้มากกว่าไวรัสเอดส์หลายเท่า
การรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีไม่เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แม้จะมีรายงานพบเชื้อไวรัสในน้ำลายแต่จากการทดลองต้องฉีดเข้าผิวหนังจึงจะก่อให้เกิดโรค***
Create Date : 03 เมษายน 2551 |
Last Update : 3 เมษายน 2551 18:16:48 น. |
|
2 comments
|
Counter : 7478 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: หมอหมู วันที่: 28 มีนาคม 2554 เวลา:0:34:26 น. |
|
|
|
โดย: หมอหมู วันที่: 28 มีนาคม 2554 เวลา:0:51:34 น. |
|
|
|
| |
|
 |
หมอหมู |
|
 |
|
Location :
กำแพงเพชร Thailand
[Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]

|
ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )
หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป ) นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ
ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ
นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )
ปล.
ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com
ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..
|
|
|
..........ไวรัสตับอักเสบ บี.............
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงชุติมา ประมูลสินทรัพย์หน่วยโรคทางเดินอาหารฯ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ไวรัสตับอักเสบ บี คืออะไร
ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่งที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีทั่วโลก ประมาณ 350-400 ล้านคน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสตับอักเสบบี สูง เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอัฟริกา ประมาณร้อยละ 6 -10 ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นจำนวน 6-7 ล้านคน
ในประเทศไทยการรับเชื้อส่วนใหญ่จาก มารดาเป็นพาหะติดต่อสู่ทารกตอนคลอด เนื่องจากในวัยเด็กภูมิคุ้มกัน ยังไม่ดีพอ โอกาสกำจัดเชื้อไวรัสได้ยาก
นอกจากนี้สามารถติดต่อได้ทางเลือด เช่น การรับเลือดและผลิตภัณฑ์ ของเลือด (การติดต่อทางเลือดนี้ลดลงมาก นับตั้งแต่มีการตรวจคัดกรองเมื่อบริจาคเลือด) จากเข็มฉีดยา การฝังเข็ม และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อ
เชื้อนี้สามารถตรวจพบได้ในน้ำตา น้ำมูกในโพรงจมูก น้ำอสุจิ เยื่อเมือกช่องคลอดเลือดประจำเดือน และน้ำคร่ำ ดังนั้นจึงสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์และเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ดังกล่าว
ไม่ติดต่อทางการรับประทานร่วมกัน โอกาสติดเชื้อได้น้อยมาก
เมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จะมีอาการอย่างไรและมีโอกาสหายหรือไม่
ระยะฟักตัวของโรคตับอักเสบไวรัส บี ประมาณ 50-180 โดยเฉลี่ย 90 วัน
หลังได้รับเชื้อบางท่านอาจไม่มีอาการผิดปกติอะไร แต่รู้ว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ บีจากการตรวจเช็คร่างกาย หรือบริจาคเลือด
บางรายมีอาการตับอักเสบ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดท้องเฟ้อ อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ และตามมาด้วยอาการตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะเข้ม อาการจะหายภายใน 1-4 สัปดาห์ บางรายอาจเป็นนานถึง 6 สัปดาห์
ภายใน 10 สัปดาห์การทำงานของตับส่วนใหญ่กลับสู่ปกติ และมีภูมิคุ้มกัน และส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรงจนตับวายและเสียชีวิต
ถ้าได้รับเชื้อในวัยเด็กโอกาสจะหายน้อย มีโอกาสกลายเป็นพาหะหรือตับอักเสบเรื้อรังได้ร้อยละ 50-90 เมื่อเทียบกับถ้าได้รับเชื้อในวัยผู้ใหญ่
ร้อยละ 5-10 ผู้ที่เป็นพาหะหรือตับอักเสบบีเรื้อรัง ส่วนหนึ่งจะมีการดำเนินโรคกลายเป็นโรคตับแข็ง เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆเช่น น้ำในช่องท้อง ตาเหลืองตัวเหลือง เลือดออกจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร มีอาการซึมสับสนทางสมอง ตับวาย รวมถึงมะเร็งตับ
การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ บี
การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ บี โดยการตรวจการทำงานของตับ (liver function test) โดยเฉพาะ AST, ALT และตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ (HBsAg)
ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ในผู้ที่เป็นไวรัสตับอักเสบบี เพื่อประเมินระยะ ความรุนแรงของไวรัสและภาวะแทรกซ้อน และวางแผนการรักษา ได้แก่
การตรวจ HBeAg และ anti-HBe เพื่อดูการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส หรือการกลายพันธุ์
การตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส (HBV DNA) เพื่อประกอบการรักษา
การตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อบอกความรุนแรงของตับอักเสบ และมะเร็งตับจากการตรวจหาอัลฟาฟีโตโปรตีน (AFP) ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวน์ตับ เมื่อเป็นไวรัสตับอักเสบ บี
จะรักษาอย่างไร
การรักษาจะแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม
...- กลุ่มที่หนึ่ง
เป็นพาหะ ได้แก่ ผู้ที่ตรวจพบเชื้อไวรัส โดยไม่มีอาการและตรวจการทำงานของตับปกติ
ในกลุ่มนี้ความรุนแรงไม่มาก และโอกาสตอบสนองการให้ยาต้านไวรัสน้อย
ปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ยาต้านไวรัสในระยะนี้ ยกเว้นผู้ที่ตรวจชิ้นเนื้อตับมีพยาธิสภาพรุนแรง หรือผู้ที่ต้องได้ยากดภูมิคุ้มกัน
...- กลุ่มที่สอง
ได้แก่ ตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีอาการ ตรวจพบเชื้อไวรัส และตรวจการทำงานของตับ AST, ALT สูงกว่าค่าปกตินานกว่า 6 เดือน
กลุ่มนี้พิจารณาให้ยาต้านไวรัส เมื่อมีปริมาณไวรัสสูงมากกว่า 100,000 copies ต่อมิลลิลิตร และควรตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อบอกความรุนแรงและแยกจากโรคอื่น
ยาที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่
ยาฉีดอินเตอร์ฟิรอน (Interferon) มี 2 ชนิดได้แก่ conventional interferon (Intron A®) ฉีดทุกวันหรือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และ pegylated interferon (Pegasys® และ PegIntron®) ฉีดสัปดาห์ละครั้ง ระยะเวลาในการรักษา 6-12 เดือน
และยาชนิดกินมี 3 ชนิดได้แก่ ลามิวูดีน (zeffix®) อะดิโฟเวียร์ (Hepsera®) และเอ็นติคาเวียร์ (Baracude®) ระยะเวลาในการรักษาควรให้ไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่จะนานอย่างไร ยังไม่ทราบแน่ชัด
...- กลุ่มสาม
ที่เป็นระยะตับแข็ง ถ้าพบว่ามีเชื้อไวรัสในเลือด ใช้ยากิน และในรายที่ตับแข็ง ใช้ยากินต้านไวรัสในคนที่ยังไม่ติดเชื้อหรือยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เพราะผลข้างเคียงน้อยกว่ายาฉีด และพิจาณาผ่าตัดเปลี่ยนตับเมื่อมีข้อบ่งชี้และไม่มีข้อห้าม
ถึงแม้ว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสามารถลดการอักเสบและลดพังผืดในตับ แต่โอกาสหายขาดไม่มาก และมีผลข้างเคียง และค่าใช้จ่ายสูง
วิธีที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เป็นไวรัสตับอักเสบ บี ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 3 ครั้ง ที่ 0,1 และ 6 เดือน
.. จะปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าเป็นไวรัสตับอักเสบ บี..
- งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงยาที่ไม่จำเป็น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีเชื้อราปนเปื้อนซึ่งสร้างสาร Alphatoxin ที่เป็นพิษต่อตับได้ ·
- รับประทานอาหารเพียงพอ สุก และสะอาด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
- พบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อตรวจดูการทำหน้าที่ของตับและตรวจหาภาวะแทรกซ้อน
การตรวจเลือดหาระดับ AFP และทำอัลตราซาวนด์ช่องท้อง สม่ำเสมอทุกปีในกลุ่มเสี่ยงเช่น ระยะตับแข็ง เพศชาย อายุมากกว่า 45 ปี เพศหญิงอายุมากกว่า 50 ปี และและมีประวัติมะเร็งในครอบครัว เพื่อหามะเร็งตับในระยะเริ่มแรก
ที่มา:
//www.thailiverfoundation.org/th/cms/detail.php?id=32