##### ชุมชนบ้านบางพลับ จ.สมุทรสงคราม ชุมชนต้นแบบตอนที่ 1 #####







สวัสดีค่ะ





เอนทรี่ล่าสุด รีวิว Thames Valley เขาใหญ่ ตอนที่ 3 Afternoon Tea at Clotted Cream Tea Room (คลิกเพื่ออ่าน)





สำหรับวันนี้สาวไกด์ฯ จะพาทุกท่านไปสัมผัสกับอีกบรรยากาศหนึ่งนะคะ ซึ่งบอกได้เลยว่าสำหรับตัวเองแล้ว ชอบการได้เขียน การได้เก็บข้อมูลงานลักษณะสไตล์นี้มาก แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเท่าไหร่ (ทั้งเรื่องเวลาว่างเอย และหาคนที่จะชอบสไตล์นี้ด้วยกันไปเอย ) จนวันหนึ่งมีโอกาสได้รับงานจากททท.ผ่านทางว่านน้ำ เรื่องของการเขียนถึงชุมชนต่างๆ ซึ่งพอได้รู้ลักษณะงานปุ๊บนี่ ข้าพเจ้าก็หูผึ่งเลยฮ่ะ รีบตกปากรับคำ แถมยังขออนุญาตไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพราะไม่อยากแค่เขียนเฉยๆ แต่อยากไปเก็บภาพและสัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วย (เลือด jounalism สมัยเรียนปอตรีเข้าสิงกันเลยทีเดียว เอิ๊กๆ ) โดยโทร.ไปติดต่อกับทางชุมชนเอง ซึ่งทางชุมชนก็ยินดีค่ะ ก็เลยไปที่ชุมชนมาเมื่อวันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมานี่เองหละค่ะ


ซึ่งชุมชนที่เราเลือกที่จะไป (ที่จริงอีกสองชุมชนก็น่าสนใจค่ะ แต่ไกลเกินกว่าเราจะไปเก็บข้อมูลได้ด้วยตนเอง เลยขอเลือกอันนี้ดีกว่า แฮ่...) ก็คือ ชุมชนบ้านบางพลับ อ.บางคนที จ.สมุทรสงครามนั่นเองค่าา

ซึ่งก่อนที่จะไป เราก็ได้ลองค้นหาคนที่เคยเขียนๆ ถึงชุมชนแห่งนี้ดู ก็พบว่ามีหลายงานเขียนที่น่าสนใจนะคะ เลยขอแปะลิงก์เอาไว้เผื่อใครจะไปอ่านกันเนาะ

ปั่นเที่ยวชมสวนเเบบมีสไตล์ ไม่ไร้สาระ ณ บ้านบางพลับ จ.สมุทรสงคราม (คลิกเพื่ออ่าน)

เที่ยวบ้านบางพลับ สมุทรสงคราม สัมผัสวิถีชุมชนต้นแบบ (คลิกเพื่ออ่าน)








สำหรับการเดินทางไปยังชุมชนบ้านบางพลับนะคะ ดังนี้เลยค่ะ


การเดินทางโดยรถประจำทาง จากสถานีขนส่งสายใต้สาย 996 (กรุงเทพฯ-สมุทรสงคราม –อัมพวา-ดำเนินสะดวก) รถตู้ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (กรุงเทพฯ-แม่กลอง)

การเดินทางโดยรถยนต์ ใช้เส้นทางถนนพระราม2 (ธนบุรี- ปากท่อ )เลี้ยวเข้าตัวเมืองสมุทรสงครามมุ่งหน้าเข้าสู่อุทยาน ร. 2 (หมู่บ้านบางพลับ อยู่ถัดจากอุทยาน ร.2 ประมาณ 3 กิโลเมตรแยกขวามือประมาณ 300 เมตร)

วิธีการสังเกตคือ พอข้ามสะพาน (ข้ามตลาดน้ำอัมพวา) ไป ขับผ่านอุทยานร.๒ ทางซ้ายมือไป ก็วิ่งตรงไปยาวๆ เลยค่ะ จนกระทั่งเห็นซุ้มประตูเหมือนประตูวัดตามภาพ (อันนี้เราถ่ายย้อนตอนออกมานะคะ แต่หน้าตาสองฝั่งไม่ต่างกันค่ะ) ลอดซุ้มไปก็เลี้ยวขวาเข้าไปในถนนเล็กๆ เลยค่ะ (ตรงหน้าปากซอยนี้ที่ฝั่งตรงข้ามจะมีโรงพยาบาลสุขภาพชุมชนตามภาพอยู่นะคะ) วิ่งไปสักสามร้อยเมตรก็จะเจอบ้านของครูสมทรงอยู่ทางขวามือแล้วค่ะ


















ซึ่งขอปูพื้นก่อนว่า สำหรับชุมชนบ้านบางพลับเองนั้น ที่จริงโดยตัวชัยภูมิแล้วถือได้ว่าเป็นชุมชนที่มีพื้นฐานที่ค่อนข้างแข็งแกร่งนะคะ กล่าวคือด้วยความที่มีลำคลองต่างๆ รายล้อม รวมทั้งมีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ก็เลยทำให้ชุมชนนี้อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การปลูกผลไม้และพืชผลต่างๆ จนเรียกได้ว่า สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้สบายๆ อุดมสมบูรณ์แบบแทบไม่ต้องซื้อหาอาหารที่ไหนเลยหละค่ะ แต่ในอดีต คนที่นี่ก็ค่อนข้างต่างคนต่างอยู่ ดูแลสวนเฉพาะของตนเอง ทำให้ไม่มีความเข้มแข็งของชุมชนเท่าไหร่นัก และองค์ความรู้ในการพัฒนาผลผลิตก็จะอยู่ที่แต่ละคนไป ไม่ได้เอามาเผยแพร่ให้กับชุมชน จนกระทั่งครูสมทรง แสงตะวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านบ้านบางพลับ ได้รวบรวมคนในชุมชนให้ใครที่มีความรู้ความสามารถด้านไหน ก็ให้มาแบ่งปันความรู้ให้คนอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ การปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ การแปรรูปผลไม้ จนท้ายที่สุดก็กลายเป็นการตั้ง "ศูนย์เรียนรู้มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม" กลายเป็นชุมชนต้นแบบ และได้รับรางวัลชุมชนสีเขียวและรางวัลอื่นๆ อีกมากมายค่ะ ได้แก่

1. รางวัลชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยวในปี 2550
2. รางวัลยอดเยี่ยม ประเภทองค์กรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคกลางในปี 2551
3. รางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวชุมชนภาคกลางในปี 2553
4. รางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภาคกลางในปี 2556 ในการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย














สำหรับการที่ทำให้ชุมชนนี้มารวมตัวกันได้ ก็คงต้องให้เครดิตกับท่านนี้เลยค่ะ ครูสมทรง แสงตะวัน ซึ่งเป็นคนที่คิดริเริ่มที่จะสร้างความเข้มแข็ง และให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของคนในชุมชน ซึ่งครูเองก็ได้รับการอบรมเป็นครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่สองนะคะ



ซึ่งที่มาที่ไป กว่าครูสมทรงจะทำได้สำเร็จจนชุมชนกลายเป็นชุมชนต้นแบบอย่างทุกวันนี้ มีรายละเอียดอย่างไร อ่านได้ท้ายบล็อกในช่วงคุยกันท้ายเรื่องนะคะ













ในบริเวณบ้านของครูสมทรง ก็จะมีการจำหน่ายส้มโอปลอดสารพิษพันธุ์ขาวใหญ่ มีร้านกาแฟ (ซึ่งน่าจะเป็นร้านเครือญาติกันแหละค่ะ เพราะใช้ชื่อนามสกุลแสงตะวัน) มีผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาจำหน่าย รวมทั้งมีโฮมสเตย์ให้ได้พักอาศัยกันด้วยค่ะ

นอกจากนั้นที่นี่เองก็เป็นที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้ฯ ด้วย ซึ่งทางอบต.เองก็ได้มาสร้างโรงเรือนให้ตามภาพ ทำให้ถ้ามีหน่วยงานไหน ไม่ว่าจะสถาบันการศึกษาหรืออื่นๆ จะมาศึกษาก็สามารถที่จะมาที่นี่ได้นะคะ แต่ครูสมทรงบอกว่า เพื่อการเรียนรู้ที่ทั่วถึง จะรับต่อครั้งไม่เกิน 100 คนค่ะ แล้วก็ที่นี่เองก็มีการจัดการประชุมของชุมชนเดือนละครั้งด้วยนะคะ โดยครูสมทรงเองก็ไม่ได้คิดค่าน้ำไฟแต่อย่างใด เรื่องของอาหารก็ต่างคนต่างนำกันมาเองค่ะ เพื่อจะเป็นการพูดคุยบอกเล่าปัญหาต่างๆ และแลกเปลี่ยนความรู้กันด้วยค่ะ







ซึ่งถ้าจะว่ากันไปที่นี่ก็มีหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่น่าสนใจนะคะ เดี๋ยวเราจะพาไปชมกันผ่านบล็อกเนาะ ซึ่งก็คงได้แค่บางส่วนเท่าที่เวลาเอื้ออำนวยนะคะ เพราะเรามีเวลาไปแค่วันกว่าๆ กับอีกหนึ่งคืนค่ะ รวมทั้งบางประเพณีก็ไม่ได้ตรงกับวันที่เราไป อย่างการตักบาตรขนมครกที่มีที่นี่ที่เดียว แต่จะจัดเฉพาะวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ เท่านั้นด้วยค่ะ (เอาไว้ถ้ามีโอกาสไปปีหน้าจะไปเก็บภาพมาฝากนะฮับ)















หนึ่งสิ่งที่น่าสนใจอันเป็นองค์ความรู้ของชุมชนนี้นั่นก็คือ "ผลไม้กลับชาติ"นั่นเองค่ะ ซึ่งมีสโลแกนโปรยเอาไว้ว่า จากเคยเปรี้ยวหรือขม กลับลืมรสตนกลายเป็นรสหวานนะคะ ซึ่งในวันนั้นที่มีการอบรม ก็มีการนำมาจำหน่ายด้วยค่ะ แพ็คเก็จก็ตามภาพเลย แต่นอกจากผลไม้กลับชาติแล้ว ก็ยังมีผลไม้แห้งและไข่เค็มพอกดินขี้เถ้าด้วยนะคะ

















นอกจากนั้นก็ยังมีขนมสำปันนี (ที่ไม่ยักเหมือนที่เพชรบุรี) ซึ่งมีอีกสองชื่อคือพระยาเสวยหรือจ่ามงกุฎ (ที่ไม่เหมือนจ่ามงกุฎที่เพชรบุรีอีกเหมือนกัน) ค่ะ หน้าตาก็ตามภาพเลย ซึ่งที่มาของเจ้าขนมชนิดนี้ก็เนื่องจากราวสองปีที่แล้วค่ะ ที่อุทยานร.๒ มีการจัดงานโดยมีคอนเซปต์ว่าเรื่องกล้วยๆ คือให้นำกล้วยมาแปรเป็นผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้ ซึ่งชุมชนนี้ก็ได้ทำการนำกล้วยมาใช้แทนแป้งข้าวเหนียวค่ะ แล้วก็ทำเจ้านี่ประกวด ซึ่งก็ได้รับรางวัลชนะเลิศมานะคะ เก่งป๊ะละ

วิธีการคือต้องใช้กล้วยน้ำว้าดิบ ปอกเปลือก ล้างยางออก แล้วใช้มีดตัดเป็นแว่นกลมๆ จากนั้นนำลงกระด้งตากให้แห้งกรอบ แล้วก็นำไปปั่นให้ละเอียดก่อนจะร่อนให้ละเอียดอีกทีค่ะ ซึ่งที่นี่นอกจากนำแป้งตัวนี้มาทำสำปันนีแล้วก็ยังขายเป็นแป้งอย่างเดียวนะคะ ราคากิโลกรัมละ 300 บาทค่ะ สามารถใช้แทนแป้งข้าวเหนียวหรือชงน้ำอุ่นดื่มรักษาแผลในกระเพาะได้ด้วยค่ะ


สำหรับรสชาติของเจ้าสำปันนี ณ อัมพวานี่ก็คล้ายๆ อะลัวเปลือกบางนิ่มค่ะ แต่ความเป็นกล้วยจะชัดกว่าอะลัว เราว่าอร่อยแบบนวลๆ ดีค่ะ
















กลับมาที่ตัวเอกของเรากันอีกทีนะคะ สำหรับผลไม้กลับชาตินี่บอกได้เลยว่า แต่เดิมเป็นสูตรลับซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษกว่า 160 ปีของครอบครัวคุณฉวีวรรณ หัตถกรรมนะคะ





ซึ่ง "ผลไม้กลับชาติ" นั้นก็คือการนำผักหรือผลไม้ที่มีรสชาติขมอย่างบอระเพ็ด มะกรูด มาแช่อิ่มกลายเป็นของหวานแบบไทยโบราณ ซึ่งสูตรนี้ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของครอบครัวหัตถกรรม ซึ่งปัจจุบันเองก็มีการนำผักผลไม้ที่ขึ้นริมรั้วบ้านอย่างมะระขี้นก พริก มะนาว ผลส้มโออ่อน มะละกอ แตงกวา มาแช่อิ่มเพื่อให้มีรสชาติหวาน กินได้ง่าย จึงเป็นที่มาของชื่อ "ผลไม้กลับชาติ" นี่แหละค่ะ จนต่อมานี่ก็ได้มีการจัดตั้ง "กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้กลับชาติ" ขึ้นมาแล้วค่ะ ทำให้มีการเผยแพร่การทำผักผลไม้แช่อิ่มและเป็นการอนุรักษ์ความรู้นี้ต่อไปด้วยค่ะ


โดยคุณฉวีวรรณเองก็ได้เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ นั้นคุณยายสงวนเป็นสนมในวังค่ะ ซึ่งท่านก็มีพี่น้องอยู่ทางนี้ เวลามาเยี่ยมพี่น้องก็เอาวิชาในวังมาถ่ายทอด ซึ่งจริงๆ วิชาความรู้นี้ก็เป็นของในวังมาก่อนแหละค่ะ แล้วในตระกูลนี้เองนอกจากความรู้ตัวนี้แล้วก็ยังมีความรู้ในเรื่องของการปลูกบ้านและแทงหยวกด้วยนะคะ แต่คุณฉวีวรรณบอกว่า คนรู้เรื่องแทงหยวกนี่เสียชีวิตกันไปหมดแล้วค่ะ








อ่านแล้วก็อยากรู้แล้วใช่ม้าาา ว่าเค้าทำกันยังไง มามะ มาบอกสูตรการทำให้ค่าา


ขั้นตอนการทำมะละกอกลับชาติ




๑. เลือกมะละกอแก่ มีสีส้มแต่เนื้อยังแข็งอยู่
๒. หั่นแล้วพับเป็นรังแตน
๓. แช่น้ำปูนใส ๑ คืน
๔. ล้างน้ำให้สะอาด
๕. ต้มน้ำเดือด ๑๕ นาที
๖. ใช้สัดส่วนมะละกอ ๑ กิโลกรัม น้ำตาลทราย ๒ กิโลกรัม น้ำสะอาด ๑ ลิตร โดยต้มน้ำกับน้ำตาลก่อน ใส่น้ำตาลทีละครึ่งกิโลกรัม ต้มให้เดือด พักไว้ให้เย็น จากนั้นใส่มะละกอลงไป แช่ทิ้งไว้ ๑ คืน
๗. ตักมะละกอออก ใส่น้ำตาลเพิ่มครึ่งกิโลกรัม ต้มให้เดือด ทิ้งให้เย็น จึงใส่มะละกอลงไป ทิ้งไว้ ๑ คืน ทำเช่นนี้จนน้ำตาลครบ ๒ กิโลกรัม จากนั้นในครั้งสุดท้ายแช่มะละกอทิ้งไว้ ๕ ถึง ๗ วัน ดูจากสีจะสวยใส



มาดูวิดีโอวิธีการทำมะละกอให้เป็นรูปรังแตนว่าทำยังไงนะคะ









ส่วนถ้าใครอยากได้การแกะเป็นรูปอื่นที่ไม่ใช่รูปแตน อันนี้คือวิธีการทำให้เป็นรูปผีเสื้อค่ะ






ส่วนอันนี้เป็นวิดีโออธิบายการทำผลไม้กลับชาติค่ะ เผื่อใครไม่ถนัดอ่าน ฮาา









ขั้นตอนการทำบอระเพ็ดกลับชาติ

๑. ลอกผิวบอระเพ็ดออก
๒. แช่น้ำเกลือ ๒ คืน
๓. นำมาลอกไส้ออก
๔. แช่น้ำเกลือต่ออีก โดยเปลี่ยนน้ำเกลือทุกวันจนครบ ๑๕ วัน เพื่อคลายความขม
๕. แช่น้ำเปล่า ๑ คืนเพื่อคลายความเค็ม
๖. แช่น้ำปูนใส ๑ คืนให้กรอบ
๗. ล้างน้ำปูนใสออก
๘. นำไปต้มให้เดือด ๑๕ นาที ตักออก
๙. บอระเพ็ด ๑ กิโลกรัม น้ำตาลทราย ๓ กิโลกรัม น้ำสะอาด ๑ ลิตร โดยต้มน้ำกับน้ำตาลก่อน ใส่น้ำตาลทีละครึ่งกิโลกรัม ต้มให้เดือด พักไว้ให้เย็น จากนั้นใส่บอระเพ็ดลงไป แช่ทิ้งไว้ ๑ คืน
๑๐. ตักบอระเพ็ดออก ใส่น้ำตาลเพิ่มครึ่งกิโลกรัม ต้มให้เดือด ทิ้งให้เย็น จึงใส่บอระเพ็ดลงไป ทิ้งไว้ ๑ คืน ทำเช่นนี้จนน้ำตาลครบ ๓ กิโลกรัม จากนั้นในครั้งสุดท้ายแช่บอระเพ็ดทิ้งไว้ ๗ วัน โดยดูจากสีเช่นเดียวกับมะละกอ















สิ่งหนึ่งที่ใครที่มาที่นี่ก็มักจะพูดถึงเสมอๆ ก็คือ น้ำตาลมะพร้าวของที่นีค่ะ เพราะน้ำตาลมะพร้าวของที่นี่ทำจากน้ำตาลสดร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใส่สารกันบูด และขึ้นชื่อเรื่องความหอมหวานอร่อย ซึ่งที่นี่ก็จะมีการเก็บน้ำตาลสดวันละสองเวลานะคะ คือ ช่วงเช้าตรู่และช่วงบ่ายค่ะ

เรามาตามครูสมทรงไปสวนกันค่ะ เย้ๆ















สำหรับวิธีการเก็บน้ำตาลสดของที่นี่ จะปาดช่อดอกมะพร้าวออกประมาณครึ่งเซนติเมตร จากนั้นก็นำกระบอกมัดไว้กับตัวช่อ ปล่อยให้น้ำตาลสดไหลเข้ากระบอก ซึ่งภายในกระบอกก็จะมีไม้พะยอมด้วยค่ะ ใช้เป็นสารกันบูดตามธรรมชาติ (เหมือนตาลโตนดที่เพชรบุรีค่ะ ใช้สูตรเดียวกันเลย)

















ครูสมทรงก็ได้ทำการปาดช่อดอกมะพร้าวให้เราดูนะคะ จะเห็นว่ามีบางอันทำท่าจะเป็นลูกแล้วด้วยค่ะ แล้วก็มีรูปช่อดอกที่ทำการปาดเอาน้ำตาลจนเหลือแต่โคนด้วยค่ะ เห็นในรูปมั้ยเอ่ย?
















พอน้ำตาลสดเต็มก็นำไปใส่กระทะเคี่ยวให้เป็นน้ำตาลมะพร้าวตามภาพนะคะ โดยเตาที่บ้านครูจะเป็นตามภาพ มีฝั่งที่ใส่ฟืน แล้วก็มีสองกระทะ แต่วันนั้นเคี่ยวน้ำตาลกระทะเดียวค่ะ อีกกระทะก็ใส่น้ำเปล่าไว้นะคะ

จะเห็นว่า มีช่วงที่ฟองของน้ำตาลจะปุดขึ้นสูงมากจนเกือบล้นออกมานอกกระทะเลยค่ะ ซึ่งครูบอกว่าเค้าเรียกกันว่าช่วง "บ้าไฟ" ซึ่งเราต้องคอยกวนๆ ให้ฟองยุบอยู่สักพักค่ะ แล้วมันก็จะเลิกบ้า (เอ่อ..ฟังถึงตรงนี้ตัวเองก็สะดุ้งเล็กน้อย เมื่อไหร่ป้าจะเลิกบ้าคะ นานแล้วนะนี่ แหะๆ)















หลังจากนั้นก็มีการนำกระทะลงมาตั้งค่ะ แล้วก็ใช้เจ้าอุปกรณ์หน้าตาตามภาพทำการกวนอีกครั้งเพื่อให้หนืดได้ที่พอที่จะหยอดนะคะ เราก็ถามครูว่าแล้วเมื่อก่อนไม่มีเจ้านี่ ใช้อะไรคะครู (มีใครไม่รู้เหมือนเรามั้ยคะ หรือเราไม่รู้คนเดียวหว่า ฮา ) คำตอบคือ...พายค่ะ แฮ่...















จากนั้นพอหนืดได้ที่ ก็ย้ายใส่กาละมัง ก่อนจะนำไปหยอดบนภาชนะแบบหลุมๆ แล้วก็ปล่อยให้เย็นก่อนบรรจุไปขายค่ะ

















นอกจากนั้นมีอีกสิ่งที่มาที่นี่แล้วห้ามพลาดที่จะชิมนั่นก็คือส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ปลอดสารพิษนั่นเองค่ะ ซึ่งครูสมทรงก็เป็นเกษตรกรผู้บุกเบิกในเรื่องของส้มโอพันธุ์นี้แบบปลอดสารพิษของอำเภอบางคนทีเลยค่ะ ส้มโอพันธุ์นี้ข้อดีคือ รสชาติหวาน เก็บไว้ได้นาน ไม่โอ่ (เด็กสมัยนี้รู้จักศัพท์คำนี้กันมะคะ ฮา) เพราะเนื้อแห้งกำลังดี แต่เดิมนี่ให้ผลผลิตแค่ปีละครั้งเท่านั้นค่ะ แต่ปัจจุบันครูสมทรงทำให้มีผลผลิตได้ถึงปีละ 4 ครั้งเลยทีเดียว ว้าวว (อ่านรายละเอียดที่มาที่ไปของการมาปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ได้ที่คุยกันท้ายเรื่องเช่นกันนะคะ)





สำหรับวิธีการในการเลือกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ก็มีดังต่อไปนี้ค่ะ

1. สังเกตต่อมน้ำมันที่ที่ผิวของส้มจะต้องห่างกัน แสดงว่าส้มโอแก่ได้ที่
2. ระหว่างต่อมน้ำมันจะมีพื้นผิวสีเหลืองกระดังงา
3. ชั่งน้ำหนักส้มโอด้วยมือ ยิ่งหนักแสดงว่ายิ่งดีค่ะ
4. ใช้นิ้วกดที่ก้นผลส้มโอ ถ้านิ่ม แสดงว่าไส้ด้านในเป็นโพรง นั่นคือแก่เต็มที่ รสชาติอร่อยค่ะ


ป.ล. แต่พอลงพื้นที่จริง กลับได้ความรู้เพิ่มเติมค่ะว่าตัวพื้นผิวสีเหลืองกระดังงานี่บางฤดูก็จะรอจนเหลืองไม่ได้ค่ะ เพราะอย่างฤดูนี้ ถ้ารอตัดตอนแก่จัดๆ ตอนสีเหลืองเลยนี่จะเน่าซะก่อนค่ะ จะตัดตอนประมาณ 80-85% นะคะ ตัวตาน้ำมันเปิดสักแค่ครึ่งหนึ่งแล้วใช้ผึ่ง (วางทิ้ง) นานเอาแทนค่ะ แล้วส้มโอหลังฤดูฝน เปลือกจะค่อนข้างหนา เพราะได้น้ำเยอะ (ถ้าไม่ใส่ปุ๋ยเคมีบังคับเรื่องเปลือก คือปล่อยให้เป็นตามธรรมชาตินะคะ) แต่ถ้ามาช่วงเดือนเมษา เพิ่งพ้นแล้ง ลูกก็จะเล็ก เปลือกจะบางกว่า หรืออย่างข้อสี่ที่บอกว่า กดที่ก้นส้มโอ ต้องนิ่มไส้ในเป็นโพรงคือแก่เต็มที่ แต่ภรรยาคุณสมทรงก็ปอกให้ดูอันหนึ่งว่า อย่างอันนี้กดไม่ลง แต่แก่แล้ว เพราะเป็นลูกที่ไส้มันตันน่ะค่ะ แหะๆ

แล้วส้มโอแต่ละฤดูก็มีการทิ้งระยะที่ต่างกันด้วยค่ะ อย่างถ้าเป็นส้มโอที่เก็บในฤดูช่วงมีนาถึงพฤษภา วางทิ้งไว้แค่อาทิตย์เดียวก็ปอกได้ แต่ถ้าเป็นส้มโอฤดูนี้ควรวางทิ้งไว้ราว 2 สัปดาห์ค่ะถึงค่อยปอก เพราะตัวเนื้อข้างในจะเป็นสีน้ำผึ้งฉ่ำกำลังอร่อยพอดีค่ะ

แล้วยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยค่ะว่า ส้มโอนี่ห้ามวางกับปูนเด็ดขาด เพราะถ้าวางกับปูน มันจะดูดก้นส้มโอ ทำให้ก้นมันเน่าค่ะ












ซึ่งจุดแข็งมากๆ ของที่นี่ก็เรื่องของผลผลิตที่ปลอดสารเคมีนี่แหละค่ะ ที่นี่จะมีการทำปุ๋ยจุลินทรีย์หมัก เพื่อจะนำไปทำเป็นน้ำจุลินทรีย์เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปด้วยนะคะ อย่างเช่น เอาไปปรับสภาพดิน ใช้ในการบำบัดน้ำ ใช้ย่อยซากพืชซากสัตว์ รวมทั้งมีการคิดค้นสูตรน้ำสมุนไพรที่มีส่วนผสมจากน้ำหมักจุลินทรีย์นี่ไปใช้ฉีดไล่หนอนหรือแมลง ซึ่งทำให้พืชผัก ผลไม้ของที่นี่สะอาด แล้วก็ปลอดภัยด้วยหละค่ะ













สำหรับท่านใดที่สนใจ ทางชุมชนก็มีสูตรไล่หนอนและแมลงมาฝากกันด้วยดังนี้นะคะ

สูตรสมุนไพรไล่หนอนและแมลง

เหล้าขาว 35-40 ดีกรี : 1 ส่วน
น้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ : 1 ส่วน
กากน้ำตาล : 1 ส่วน
น้ำ : 6 ส่วน
น้ำหมักจุลินทรีย์ : 1 ส่วน
ยาเส้น

วิธีทำ


นำส่วนผสมทั้งหมดไปหมักไว้ 7 วัน เมื่อครบ 7 วันแล้ว เขย่าให้เข้ากัน กรอกกากออก นำกากไปใช้ประโยชน์ในการฝังรอบโคนต้นไม้ ส่วนน้ำที่ได้จากการกรองแล้ว ให้ใช้ครั้งละ 5 ช้อนแกง ผสมน้ำ 7 ลิตร เพื่อฉีดพ่นพืชเช้า-เย็น












สำหรับเอนทรี่นี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะคะ (ต้องขอแบ่งเป็นสองตอน เพราะไม่งั้นจะยาวเกินค่ะ แค่นี้ก็ไม่รู้ว่าจะอ่านกันครบจริงๆ กี่คนเล้ยยย) เอนทรี่หน้าเราจะพาไปดูการทำถ่านผลไม้ การปลูกเห็ดโอ่ง และการทำนาเกลือรวมถึงตัวขี้แดดนาเกลือที่ทำให้ส้มโอหวานด้วยค่ะ ติดตามกันในเอนทรี่หน้านะคะ









คุยกันท้ายเรื่อง


ครูสมทรง แสงตะวัน




ครูสมทรง เป็นคนที่นี่โดยกำเนิด เมื่อเรียนจบก็มาบรรจุเป็นครูที่นี่ค่ะ แล้วก็เห็นว่า คนที่นี่นั้น คนรวยก็รวยไปเลย คนจนก็จนแบบไม่รู้อะไรเลยเหมือนกันค่ะ คนที่รู้ก็ไม่ยอมถ่ายทอดความรู้ กระทั่งปุ๋ย ยา ยังต้องลอกฉลากเพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ ซึ่งพ่อแม่ของครูเองก็รับจ้างทำสวน ซึ่งครูเองมองว่า ที่จริงแล้วถ้าชุมชนเรารวมตัวกันจริงๆ ทำไปในทิศทางเดียวกัน ชุมชนจะเข้มแข็ง แต่ครูเองในตอนนั้นพูด ให้ความรู้อยู่ 6 ปีก็ไม่มีใครทำ มาฟังกันอย่างเดียว เพราะไม่มีใครทำเป็นตัวอย่าง

ครูเองก็เลยตัดสินใจเป็นหนี้ ซื้อที่ของตัวเองแปลงหนึ่งเมื่อปี 2520 หละค่ะ โดยเลือกที่จะปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ก่อน ซึ่งเมื่อก่อนส้มโอพันธุ์นี้ไม่เป็นที่นิยมเลยค่ะ เพราะลูกไม่ดก ปีหนึ่งได้ราว 20 ลูกต่อปี และออกแค่ปีละครั้ง ปลูกไม่คุ้มทุน ลูกหนึ่งก็ได้ราวลูกละ 50 สตางค์ถึง 1 บาท (สมัยที่ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์ค่ะ อย่าตกใจไป แหะๆ) ก็จะไปปลูกเน้นเป็นพันธุ์อื่นกันแทน

คราวนี้ครูมาดูว่าที่จริงส้มโอพันธุ์นี้มันมีข้อดีของมันค่ะ นั่นก็คือลูกใหญ่ เก็บจากต้นแล้วเอาไว้สองเดือนก็ยังไม่เสีย (ความรู้ใหม่อิชั้นนนนนนนน ) แกะแล้วเนื้อล่อนไม่ติดเปลือก ไม่มีเมล็ด รสชาติดีเปรี้ยวอมหวาน (เป็นพันธุ์ที่แม่อิชั้นชอบรสชาติมันที่สุดแล้วด้วยค่ะ แฮ่...)

ครูก็เลยเริ่มปลูกที่ 300 ต้น กับพื้นที่ 7 ไร่กว่าๆ พอปลูกได้ 4 ปีก็เริ่มออกลูก ที่จริงออกตั้งแต่ปีที่สาม แต่ครูยังไม่เอา เพราะกลัวต้นจะเฉา เนื่องจากเห็นว่ามันยังเล็กอยู่ ก็ปลิดดอกออกก่อน (อย่าใจเร็วด่วนได้ค่ะเด็กๆ เก็บเปรี้ยวไว้กินหวานดีกว่ากันเยอะ เห็นมั้ยคะ) พอปีที่สี่ก็ได้สิบกว่าลูก แล้วก็เพิ่มเป็นห้าสิบ หนึ่งร้อย

หรืออย่างการออกลูก ซึ่งปกติจะออกแค่ปีละครั้งในช่วงเดือนเมษายน ครูก็มาดูว่าเป็นเพราะอะไรก็สงเกตว่า พออากาศแห้ง เฉา ฝนไม่ตก ใบของต้นจะเหลืองร่วง พอกรกฎาคม สิงหาคม ฝนตก ออกใบอ่อน ก็จะเริ่มมีดอก พอครบ 8 เดือนก็เก็บได้ ครูก็สังเกตเห็นวัฏจักรของมันตามนี้นะคะ


ครูก็เลยทดลองทำค่ะ ด้วยการไม่รดน้ำ ไม่ให้น้ำเข้าร่องสวนเลย 3-4 สัปดาห์ ให้ดินแตก รากฝอยขาดออกจากกัน ต้นก็จะเฉา จนพอใบร่วงราวๆ 30% อย่าให้เกิน 50% นะคะ ก็เปิดน้ำเข้าไปให้เต็ม ให้เจิ่งทิ้งไว้ และรดน้ำทุกวันซ่กๆ ต้นก็จะเริ่มออกรากอ่อน ใบอ่อนสักสองสามคู่ก็จะมีดอกตาม จากนั้นอีกแปดเดือนก็เก็บเกี่ยวได้เลยเหมือนกัน แล้วครูก็วางแพลนให้ออกในช่วงเทศกาลพอดี ไม่ว่าจะเป็นตรุษจีน สารทจีน สงกรานต์ ปีใหม่ ซึ่งก็ทำให้ผลผลิตขายได้ดีด้วยค่ะ




credit ภาพ : จากไฟล์ที่ททท.ส่งมานะคะ






แต่คราวนี้มีอีกสิ่งหนึ่งที่ครูต้องการคือ ครูต้องการให้ปลอดสารพิษค่ะ ซึ่ง ณ ตอนนั้นรอบข้างก็ใช้ยากันหมดแหละนะคะ เรื่องของปุ๋ยครูก็ใช้พวกขยะเปียก อาหารสด หมักเป็นปุ๋ยให้เป็นอาหารดิน ส่วนเรื่องแมลง ครูเล่าว่ามีนักศึกษามาเรียนรู้ที่นี่ครูเองก็ได้ความรู้จากนักศึกษาเหมือนกันว่า ที่เวลาส้มโอแตกใบอ่อนแล้วแมลงจะมาวางไข่ เพราะมันมีกลิ่นหอมของใบอ่อนค่ะ (แกเป็นโคแก่หรือไง ถึงชอบกินของอ่อน ชิส์ )

ครูก็เลยคอยสังเกต พอเห็นว่าส้มโอเริ่มแตกใบอ่อนปุ๊บ ตัวเองก็ตัดหญ้าให้เป็นจุดๆ ให้หญ้าได้แตกใบอ่อน เพื่อให้แมลงไปวางไข่ที่หญ้าแทนค่ะ แต่คราวนี้ด้วยความที่รอบๆ เค้าใช้ยาหมด พวกแมลงก็มาอาศัยที่สวนครูแทนหมดเลยค่ะ ทั้งตัวห้ำ ตัวเบียน มด แมลงเต่าทอง เพลี้ย มารุมที่สวนครูหมดเลย ครูก็ทำใจกับความเสียหายอยู่เกือบสองปี

จนพอดี ดร.เทวินทร์ กุลปิยะวัฒน์และอาจารย์วิภาดา วังศิลาบัตร กองกีฏวิทยา กรมวิชาการเกษตร พานักศึกษามาที่นี่ มาวิจัยแมงมุมในสวนส้มโอให้ ซึ่งก็ค้นพบว่าที่นี่มีแมงมุมอยู่ถึง 80 กว่าชนิด (รอน วีสลีย์แห่งแฮร์รี่ พอตเตอร์คงกรี๊ดกระจาย ) จากที่ทั่วประเทศไทยมีอยู่ร้อยกว่าชนิด ซึ่งมีทั้งแมงมุมที่หากินตอนกลางวันและกลางคืน ซึ่งแมงมุมเหล่านี้ก็จะกินพวกไรแดง หนอนชอนใบ ซึ่งเป็นศัตรูกับพืชพันธุ์ของชาวสวนชาวไร่อยู่แล้ว เพียงแต่เจ้าแมงมุมนี่อ่อนแอต่อสารเคมี พอครูเป็นสวนไร้สาร แมงมุมก็เลยมาอยู่ได้ ก็เลยลงตัวได้พอดีค่ะ



คราวนี้พอครูทำได้ดี คนในชุมชนก็มาขอซื้อกิ่งพันธุ์ไปปลูก ครูก็เรียกเข้ากลุ่ม ให้ร่วมกันใช้ปุ๋ยชีวภาพ ไม่ใช้เคมี ซึ่งกลุ่มแรกมีกันอยู่ 57 คน เมื่อปี 2524 รวมกันราว 300 กว่าไร่ค่ะ ปัจจุบันมีทั้งหมด 18 กลุ่มพื้นที่รวม 15000 กว่าไร่ ซึ่งทุกวันนี้กลุ่มก็มาประชุมกันที่บ้านของครูทุกจันทร์สิ้นเดือนนะคะ เวลาหกโมงเย็นเป็นต้นไปค่ะ ซึ่งบ่างครั้งครูก็จะเชิญเกษตรจังหวัดมาให้ความรู้ด้วยนะคะ



่ครูบอกว่า สำหรับคนที่เข้ากลุ่ม ครูจะเน้นว่าต้องมีสามอย่างคือ คุณภาพ คุณธรรมและคุณประโยชน์ค่ะ ถึงจะเข้ากลุ่มได้ แล้วครูก็อธิบายต่อว่า

คุณภาพก็คือ ต้องเก็บผลผลิตให้ตามกำหนด ต่อให้ช่วงไหนราคาในตลาดสูงก็ห้ามเก็บก่อนที่ผลผลิตควรจะเก็บ เพราะจะได้รสชาติที่ไม่ดีค่ะ

คุณธรรมคือ กรณีที่ผู้บริโภคได้ไปแล้วเกิดกินไม่ได้ มีปัญหาหนอนข้างในหรืออื่นๆ จะต้องรับคืนเสมอ ไม่มีการปฏิเสธ ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีสติกเกอร์ติดบอกว่าเป็นของใคร

คุณประโยชน์คือ ไม่มีสารพิษ และไม่ใช้สารเคมีค่ะ












credit ภาพ : จากไฟล์ที่ททท.ส่งมานะคะ


จากนั้นครูก็เล่าให้ฟังต่อเรื่องการปลูกส้มโอของครูถึงการเพิ่มความหวานของส้มโอด้วยขี้แดดนาเกลือค่ะ (ขี้แดดนาเกลือมีโปแตสเซียมสูงค่ะ เลยทำให้ส้มโอหวานได้) ครูเล่าว่าตอนเด็กๆ เคยเห็นพ่อใช้เกลือติดดินดำๆ ซึ่งจะมีคนพายเรือมาขาย พ่อก็จะซื้อใส่มะพร้าว ส้มโอ ถังละราวๆ 50 สตางค์ถึง 1 บาท ใส่ให้ดก ใส่ให้ส้มโอไม่ขม

ส่วนตัวขี้แดดนาเกลือ ตามธรรมชาติของการทำนาเกลือ พอฤดูฝน จะทำนาเกลือไม่ได้ น้ำมันจะขึ้นเข้ามาจะมีพวกแพลงตอน กุ้ง ฯลฯ มาในนา พอหมดฝน ดินก็จะแห้งเป็นสะเก็ด ก็ต้องขูดทิ้ง ต้องไปจ้างคนมาขูดทิ้งไร่ละ 500 บาท ก่อนจะบดดินแล้วเอาน้ำทะเลเข้ามาเพื่อเริ่มทำนาเกลือต่อไป

คราวนี้ครูก็คิดว่าเจ้าขี้แดดนาเกลือนี่น่าจะทำได้ เพราะมีความกร่อย ก็ได้มาจากเจ้าของนาเกลือ 20 กระสอบ ครูก็ใส่ต้นเดียวเลย 3 กระสอบ รดน้ำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ปรากฏว่าส้มโอออกมาหวานเจี๊ยบ จนลือทั้งจังหวัด ประจวบเหมาะกับที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรมีประกวด ครูก็คัดส่งไปประกวด 3 ลูก ของครูได้รางวัลยอดเยี่ยม ได้โล่พระราชทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ โด่งดังมีคนมาทำรายการด้วยนะคะ

แต่ปรากฏว่า...สองเดือนกว่าต่อมา ต้นส้มโอต้นนั้นดันตายค่ะ เพราะใส่เยอะไป 3 กระสอบ 60 กิโลกรัมน่ะค่ะ ต่อมาทางสกว. (สำนักงานวิจัยแห่งชาติ)มาทำวิจัยเรื่องขี้แดดนาเกลือ ก็คุยกับทางครูสมทรง ทำวิจัยกับส้มโอ 100 ต้น โดยแบ่งออกเป็น 5 โซนๆ ละ 20 ต้น ใส่ต้นละ 1 2 3 4 และโซนสุดท้ายคือ 5 กิโลกรัม ถ้าตายทางสกว.จะรับผิดชอบ ก็จะทำการใส่ในเดือนที่หก รดน้ำอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง มีเครื่องมือบันทึกความหวาน โดยทางครูก็จะจดให้ค่ะ สรุปได้ผลว่าใส่ต้นละ 2-3 กิโลกรัมจะหวานกำลังดี หวานยังพอเป็นผลไม้อยู่ และต้นไม่เฉา

ปัจจุบันนี้ขี้แดดนาเกลือขายได้ที่กิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งสามารถนำไปใส่มะพร้าวน้ำหอม มะนาว (ทำให้เปลือกบาง) แก้วมังกร ปาล์ม (ทำให้งามและดก) ตอนนี้กาญจนบุรีก็กำลังจะเอาไปใส่ไร่อ้อยด้วยค่ะ



สำหรับเรื่องขี้แดดนาเกลือ เอนทรี่หน้าจะมีภาพและรายละเอียดเพิ่มเติมให้อ่านนะคะ









นอกจากนั้นครูยังเล่าช่วงแมลงวันทองระบาด ชาวบ้านในกลุ่มก็มาร้องเรียนกัน ก็ไปติดต่อเกษตรจังหวัด ได้น้ำยาเมทิลอเทนอล (สะกดผิดขออภัยนะคะ) ซึ่งจะเป็นกลิ่นตัวเมีย จะเรียกให้ตัวผู้เข้ามา ครูก็เรียกประชุม ให้เอาขวดน้ำพลาสติกกรีดเป็ฯประตูประมาณ 3-4 บาน ใช้ลวดทิ่มที่ฝาขวด เอาสำลีชุบน้ำยาพันลวดด้านใน ล่อแมลง แขวนให้เก็บแมลงเพื่อเอามาแลกปุ๋ยบ้าง แลกรางวัลบ้าง สำคัญเลยครูบอกว่า ให้ทำด้วยกันพร้อมๆ กัน เพราะถ้าทำแค่บางคนมันจะไม่ได้ผล แล้วก็เปลี่ยนอุปกรณ์ทุกอาทิตย์ ทำอยู่หลายเดือนค่ะ ในที่สุดแมลงวันทองก็หายไป คือ มีบ้าง แต่ไม่ได้ทำความเสียหาย




จากที่คุยกับครูสมทรงด้านบนนะคะ จะเห็นว่า กว่าชุมชนนี้จะเข้มแข็ง กลายเป็นชุมชนต้นแบบได้นี่ มีองค์ประกอบด้วยกันหลายอย่างเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการต้องมีคนลุกขึ้นมาคิด มาทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง คนที่ทำต้องมีความรู้เพียงพอ (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องเรียนจบสูงนะคะ) ไขว่คว้าหาความรู้ พร้อมจะแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่นๆ (อย่างที่ครูเล่าเรื่องที่ได้ความรู้จากนักศึกษาเพิ่มเองเช่นกัน) ไม่ท้อถอยต่อปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น (ตัวเองไม่ใช้สารเคมีอยู่คนเดียวจนแมลงมาลงสวนครูคนเดียวอยู่สองปี) และความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนทุกๆ คน (อย่างกรณีแมลงวันทอง) ซึ่งถ้าไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้ทั้งหมด ชุมชนนี้ก็คงไม่ได้เข้มแข็งจนเป็นชุมชนต้นแบบได้อย่างทุกวันนี้น่ะค่ะ









ปฏิทินธรรม








วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม 2557

1. ตักบาตรพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น วัดพุทธบูชา (ทุกวันเสาร์แรกของเดือน)




วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม 2557 (กิจกรรมจัดทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน)

1.ทำบุญกับพระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ณ มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถ.จรัญสนิทวงศ์ซอย 37
เวลา 06.30-10.30 น.


ดูรายละเอียดพระที่มารับบาตรและแผนที่ได้ที่
//www.watpa.com/board_detail.asp?board_id=3447



วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม 2557

1. ฟังธรรมจากพระอาจารย์มานพ อุปสโม
ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ราชนครินทร์ เขาดินหนองแสง จ.จันทบุรี
เวลา 9.30 - 15.00 น.

ณ ศาลาไตรสิกขา บ้านจิตสบาย พุทธมณฑลสาย 2

รถประจำทางที่ผ่าน สาย 123, ปอ.พ.79
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ 02-448-3392 เวลาทำการ 9.00 – 18.00 น.


//www.jitsabuy.com/calender.html




วันอาทิตย์ที่ 14 และ 28 ธันวาคม 2557 (กิจกรรมจัดทุกๆ วันอาทิตย์ที่ ๒ และ ๔ ของเดือน)

1. ทำบุญ ฟังธรรม จากครูบาอาจารย์พระป่าสายกัมมฐาน ณ ศาลาลุงชิน แจ้งวัฒนะ 14
กิจกรรมจะเริ่มจากการถวายภัตตาหารร่วมกันเวลา ๘:oo น. สำหรับท่านที่สนใจนำอาหารมาร่วมทำบุญ แนะนำให้มาก่อนเวลาเพื่อจัดเตรียมอาหารใส่ภาชนะ ซึ่งจะเริ่มลำเลียงถาดอาหารเพื่อเตรียมประเคนเวลาประมาณ ๗:๔๕ น.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
https://www.facebook.com/SalaLungChin?fref=ts






วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม 2557 (กิจกรรมจัดทุกวันอาทิตย์ที่สามของเดือน)

1. ตักบาตรพระกรรมฐาน (นิมนต์พระสายหลวงปู่มั่น) ที่วัดบรมนิวาส (ไม่มีรายละเอียดอย่างอื่นค่ะ)

ที่จอดรถค่อนข้างหายาก ไม่ควรนำรถส่วนตัวไปค่ะ





วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม 2557 (จัดทุกวันเสาร์ที่สี่ของเดือน)

1. เชิญทุกท่านร่วมทำบุญตักบาตร สดับธรรม พระเถระวัดป่ากรรมฐาน เมตตารับบาตร โดย
พระราชภาวนาพินิจ (หลวงพ่อสนธิ์ อนาลโย)
วัดพุทธบูชา กรุงเทพฯ
พระพุทธิสารเถร (หลวงบุญกู้ อนวฑฺฒโน)
วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ
พระครูเกษมวรกิจ (หลวงพ่อวิชัย เขมิโย)
วัดถ้ำผาจม จ. เชียงราย

เว็บไซต์บ้านอารีย์
//www.baanaree.net

















ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาค่ะ

1,469,696+2016674=3486370/11081/916




Create Date : 08 ธันวาคม 2557
Last Update : 8 ธันวาคม 2557 8:50:58 น. 21 comments
Counter : 12173 Pageviews.

 
หวัดดีค่าพี่เต้ย

ชอบที่สุดวิถีชีวิตขุมชนดั้งเดิมนี่แหละคะ
ที่เราไม่ค่อยมีโอกาสได้มาเห็นบ่อยนัก
และของกินเน้นเลยค่ะว่าของกินนี่อร่อยมากกก อิอิ

เห็นส้มโอแกะมาอย่างดีชอบมากๆ เลยพี่เต้ย

คนรุ่นหลังมาเห็นต้องทึ่งวิถีชีวิตและการประดิษฐ์ประดอยงานฝีมือต่างๆ ได้สวยด้วยน้า



โหวตค่า

บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
ฟ้าใสวันใหม่ Home & Garden Blog ดู Blog
ไวน์กับสายน้ำ Diarist ดู Blog
สาวไกด์ใจซื่อ Travel Blog ดู Blog






โดย: Rinsa Yoyolive วันที่: 8 ธันวาคม 2557 เวลา:11:51:35 น.  

 
เห็นบล็อกคุณเต้ยแล้วนึกอะไรได้อย่างนึงขึ้นมาทันที
นั่นคือ อยากให้ชุมชนและโรงเรียนร่วมมือกัน
พาเด็กนักเรียนเข้าไปเรียนรู้ภูมิปัญญาจากชาวบ้าน
เชื่อแน่ว่าเด็กๆจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลเลยครับ




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 8 ธันวาคม 2557 เวลา:13:50:10 น.  

 
thx u crab


โดย: Kavanich96 วันที่: 9 ธันวาคม 2557 เวลา:3:56:33 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณเต้ย



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 9 ธันวาคม 2557 เวลา:6:07:56 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณเต้ย
ชอบบล็อกนี้จังเลยค่ะ ได้เที่ยวและได้ความรู้ด้วยพร้อมกันเลย
เรื่องชื่อขนมก็เคยอ่านผ่านตามาบ้างว่าชื่อเดียวกันแต่หน้าตาแตกต่างกัน ^__^
ไว้พี่มาใหม่อีกทีนะคะ วันนี้หมดตัวแย้วววววว


โดย: เนินน้ำ วันที่: 9 ธันวาคม 2557 เวลา:12:11:41 น.  

 
บล็อคดีมีประโยชน์โหวตจ้า


โดย: บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน วันที่: 9 ธันวาคม 2557 เวลา:13:27:33 น.  

 
อ่านแล้วตาโตเท่าไข่ห่าน
น่าสนใจทุกเรื่องเลยค่ะ โดยเฉพาะน้ำตาลมะพร้าว เพราะชอบมากกก อยากเอามาทำขนม

เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและน่าเอาแบบอย่างจริงๆค่ะ


โดย: AdrenalineRush วันที่: 9 ธันวาคม 2557 เวลา:15:39:57 น.  

 
น่าไปเที่ยวจังค่ะ เป็นชุมชนที่น่าชื่นชมนะคะ ร่วมด้วยช่วยกันแบบนี้เยี่ยมจริง ๆ ไม่น่าแปลกใจที่ได้เป็นชุมชนต้นแบบ


โดย: haiku วันที่: 9 ธันวาคม 2557 เวลา:23:21:14 น.  

 
ยาวมาก อ่านจบเหนื่อยเลย อิอิ

นึกถึงช่วงที่เค้ารณรงค์ คนแม่กลองไม่เอาโลตัส สุดท้ายก็ไม่อาจจะต้านกระแสทุนได้

แต่ถ้านับโดยรวมทั้งจังหวัดผมว่าเค้าน่าจะจัดเป็นชุมชนเข้มแข็งมาก ด้วยพื้นที่จังหวัดเล็ก
ไกลจากกรุงเทพ ความเจริญยังไม่รุกราน มีสมุทรสาครเป็นเมืองโรงงาน buffer ไว้

เพิ่งไปมาเหมือนกันครับ โครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา แต่ชื่อเรียกยากมาก อะไรอัมพวานุรักษ์นี่ล่ะ


โดย: ปลาทอง สมองน้อย วันที่: 9 ธันวาคม 2557 เวลา:23:56:18 น.  

 
น่าเที่ยวมากค่ะ แบบนี้ชอบ ๆๆๆ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 11 ธันวาคม 2557 เวลา:16:23:57 น.  

 
พี่ก็ชอบเที่ยวแบบนี้ ที่นี่ยังไม่เคยไปเลยจ้ะเต้ย

เต้ยเขียนละเอียดมาก....พี่ชอบล่ะ

ขอให้ชุมชนเข้มแข็ง อยู่กันเองได้ ไม่ต้องรอพึ่งพาจากภาครัฐมาก ช่วยตัวเองกันก่อน หน่วยงานไหนจะสนับสนุนค่อยว่ากันอีกทีเนาะ


โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 11 ธันวาคม 2557 เวลา:16:36:41 น.  

 
ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ โดยเฉพาะ..ขี้แดดนาเกลือ เพิ่งได้ยินชื่อค่ะ


ชอบเรื่องทำนองนี้ค่ะ ถ้ามีโอกาสอยากไปเยี่ยมชมค่ะ

ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ชอบมากกกกกกกกกกกกกกกกกก

ใช้สาขานี้ไปแล้ว จะมาใหม่นะคะ


โดย: ร่มไม้เย็น วันที่: 11 ธันวาคม 2557 เวลา:16:39:44 น.  

 
นั่นจิ มาแอบยกมือว่าเก๊าอ่านไม่จบค่ะ แฮ่ T.T


โดย: keigolin วันที่: 11 ธันวาคม 2557 เวลา:23:49:48 น.  

 
ตามมาส่งกำลังใจอีกรอบค่ะ
บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
สาวไกด์ใจซื่อ Travel Blog ดู Blog


โดย: เนินน้ำ วันที่: 12 ธันวาคม 2557 เวลา:4:12:07 น.  

 
สวัสดีจ้ะเต้ย


บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
mambymam Home & Garden Blog ดู Blog
สาวไกด์ใจซื่อ Travel Blog ดู Blog

ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น




โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 12 ธันวาคม 2557 เวลา:7:34:47 น.  

 
บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
newyorknurse Klaibann Blog ดู Blog
ชมพร About Weblog ดู Blog
foreverlovemom Art Blog ดู Blog
สาวไกด์ใจซื่อ Travel Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 5 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น


ชอบเอ็นทรีนี้มาก ๆ ๆ ๆ ๆ ค่ะพี่เต้ย
ได้เห็นภูมิปัญญาชาวบ้าน
ชอบผลไม้กลับชาติมากกกก
ยิ่งมะละกอกลับชาติ ปรบมือรัว ๆ ค่ะ
คนไทยเก่งจัง


โดย: Close To Heaven วันที่: 12 ธันวาคม 2557 เวลา:14:00:34 น.  

 
มาพร้อมโหวตค่ะ


สาวไกด์ใจซื่อ Travel Blog ดู Blog


โดย: ร่มไม้เย็น วันที่: 12 ธันวาคม 2557 เวลา:21:00:11 น.  

 
เมื่อวันก่อนลืมโหวต แหะๆๆแวะมาโหวตให้อีกรอบนึงค้าาา


โดย: touch the sky วันที่: 13 ธันวาคม 2557 เวลา:10:14:54 น.  

 
น่าสนใจครับ ผมว่าถ้าผมไปที่น่าจะได้ความรู้เยอะ ตอนที่เค้าบอกว่าลองได้ ไม่มีคนลองเลย ผมชอบลองนะ บางครั้งก็ทำได้บางครั้งก็ไม่ได้ (ฮา)

บางคนอาจพึ่งมามั้งเลยถามซ้ำที่วิทยากรพูด (เรียกวิทยากรเลย) จริงๆ เค้าบอกไปแล้วนะว่ากี่วัน

+


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 13 ธันวาคม 2557 เวลา:18:50:31 น.  

 
ชอบแนวคิดครูสมทรงจังค่ะ
ลองผิดลองถูก มาหลายวิธีจนกว่าจะสำเร็จได้นี่ เหนื่อยแทนเหมือนกันนะ (อย่างเรื่องแมลงทั้งหลายมารุมที่สวนครูฯอยู่คนเดียวเนี่ย)

ได้ศัพท์แปลกๆเยอะเลย "บ้าไฟ" "ขี้แดดนาเกลือ"
ชอบที่หลอกส้มโอให้ออกลูกค่ะสังเกตเก่งจริงๆ แถมวางส้มโอกับพื้นปูนไม่ได้นี่ ความรู้ใหม่


ชุมชนที่รวมตัวกันได้ ก็ส่งผลให้เข้มแข็งแล้วก็สร้างอาชีพได้ดีกว่าต่างคนต่างอยู่เยอะเลยค่ะ


โดย: กาบริเอล วันที่: 13 ธันวาคม 2557 เวลา:21:21:16 น.  

 

Like ให้เป็นคนที่ 3
พี่อุ้มล่ะชอบบรรยากาศแบบนี้
ชอบได้เจอหลายแบบ
หลายๆ ที่
หลายจังหวัด
จะได้ดูวิถีชีวิตแตกต่างจากบ้านเรา
ชอบใจน้องเต้ยที่นำมาฝาก
น้ำตาลมะพร้าวหาดูยากเน๊าะ


โดย: อุ้มสี วันที่: 14 ธันวาคม 2557 เวลา:7:03:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สาวไกด์ใจซื่อ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 203 คน [?]




ชอบอ่านหนังสือและดูหนังค่ะ ตอนนี้ทำงานด้านการท่องเที่ยวอยู่ นิสัยดีบ้างร้ายบ้าง แล้วแต่สภาวการณ์และคนที่เจอ


เนื้อหาและรูปภาพทั้งหมดในบล็อกสงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ไม่อนุญาตให้นำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบล็อก


ติดต่อเจ้าของบล็อกได้ที่ theworpor@yahoo.com
หรือ
https://www.facebook.com/saoguide






Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
8 ธันวาคม 2557
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สาวไกด์ใจซื่อ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.