Group Blog
All Blog
<<< "วัฎฎะของธรรมชาติทั้งหลาย" >>>









“วัฏฏะของธรรมชาติทั้งหลาย”

ศีล ก็คือการประพฤติที่ดีงามทางกาย ทางวาจา

ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตนเอง

 เช่น ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์

 ประพฤติผิดประเวณี โกหกหลอกลวง

 เสพสุรายาเมา นี่คือศีล ถ้าเป็นศีลของนักบวช

ก็มีละเอียดเข้าไปถึง ๒๒๗ ข้อ

 แต่ศีลข้อใหญ่ๆ ก็อยู่ที่ศีล ๕ เป็นหลัก

ถ้าเป็นนักบวชแล้วละเมิดศีล ๕

ซึ่งถือว่าเป็นศีลที่ร้ายแรง เช่น การฆ่ามนุษย์

ก็จะต้องถือว่าเป็นผู้ที่สิ้นจากความเป็นพระไปทันที

 นี่คือศีลที่นักบวชต้องรักษากัน

หรือนักปฏิบัติธรรมจะต้องรักษา

 เพราะศีลเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติ

ศีลเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดสมาธิ

เพราะผู้ที่มีศีลย่อมสงบกาย สงบวาจา

 เมื่อกายวาจาสงบ ใจก็สงบตามไปด้วย

ทำให้การทำจิตให้สงบที่เรียกว่าสมถภาวนา

หรือการเจริญสมาธิ ก็จะเป็นไปได้อย่างง่ายดาย

ต่างจากคนที่ไม่มีศีล 

คนที่ไม่มีศีล กายวาจาจะไม่สงบ

 เมื่อกายวาจาไม่สงบ ใจก็จะไม่สงบ

 เพราะใจเป็นตัวที่ต้องทำงานนั่นเอง

เวลาจะเคลื่อนไหวทางกายทางวาจา

 ต้องใช้ใจเป็นผู้สั่งการ ใจต้องคิดก่อน

 เช่นจะไปขโมย ก็ต้องวางแผนก่อน

จะไปทำอะไรก็ต้องใช้ใจเป็นผู้กระทำ

ผู้ที่ไม่มีศีลจึงมีความยากลำบาก

ในการทำจิตใจให้สงบ

สังเกตดูคนที่เป็นมิจฉาชีพ

คนที่ชอบประพฤติตนผิดศีลผิดธรรม

 จะไม่ชอบความสงบ

 จะไม่สามารถทำจิตใจของตนให้สงบได้

เพราะจิตของตนเป็นเหมือนกับก้อนหิน

ที่กลิ้งลงมาจากภูเขา

 มันจะกลิ้งไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด

 แต่ถ้าเป็นคนที่มีศีล มีความสงบกาย สงบวาจา

ก็เปรียบเหมือนกับมีเบรก

 หรือมีเครื่องกีดขวางก้อนหินที่ไหลลงมาจากภูเขา

ให้หยุดได้นั่นเอง ถ้ามีศีลคือความสงบ

ทางกายทางวาจาแล้ว

 ความสงบทางใจก็จะตามมาต่อไป

และเมื่อได้ใช้สติควบคุมกำหนดบังคับ

ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ

 แต่ให้คิดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเครื่องล่อ

 เป็นเครื่องดึงจิตให้รวมเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง

 เมื่อสามารถดึงเข้าไปสู่ความเป็นหนึ่งได้

 จิตก็จะสงบตัวนิ่งลง แล้วก็จะไม่คิด

ไม่ปรุงอะไรชั่วขณะหนึ่ง หรือนานกว่านั้น

ก็สุดแท้แต่กำลังของสติที่จะดึงจิตไว้

ถ้าสติมีกำลังมากก็จะสามารถดึงจิต

ให้อยู่ในความสงบเป็นเวลานาน 

เมื่อจิตมีความสงบแล้ว

 กิเลสตัณหาที่อาศัยการทำงานของจิต

ก็ไม่สามารถทำงานได้

กิเลสตัณหาก็เปรียบเหมือนกับ

คนที่อาศัยรถยนต์ไปไหนมาไหน

 ถ้ารถยนต์จอดนิ่งอยู่ไม่ไปไหนมาไหน

 คนที่นั่งอยู่ในรถก็ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้

 ก็ต้องนั่งรออยู่ในรถจนกว่ารถจะขับเคลื่อนต่อไป

 ถึงจะไปไหนมาไหนได้ กิเลสความโลภ

 ความโกรธ ความหลงก็เช่นกัน

 ในขณะที่จิตรวมตัวลง สงบตัวลง

ก็จะไม่สามารถทำงานได้

ไม่สามารถไปโลภไปโกรธได้

 เมื่อไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ

 ความหลงอยู่ภายในใจ ใจก็ว่าง ใจก็มีความสุข

 แต่จะเป็นความว่างชั่วคราว

ไม่ถาวร เพราะสมาธิโดยลำพัง

ไม่สามารถทำลายหรือถอดถอนกิเลสตัณหา

ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยาก

ห้ออกไปจากจิตจากใจได้

จำต้องอาศัยเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าปัญญา

 คือความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริง

ของสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย ที่จิตยังไม่เห็น

 เพราะถูกความหลงครอบงำอยู่

ทำให้เห็นกลับตาลปัตร เห็นตรงกันข้าม

 เช่น เห็นความเที่ยงแท้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้

 เห็นความสุขในกองทุกข์ เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน

 นี่คือความเห็นของจิตที่มีความหลงครอบงำอยู่

แต่ถ้านำ ปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว

แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับพวกเรา

 ทรงสอนให้เราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่จิตไปยึดไปติดอยู่ เช่น ร่างกายของเรา

 หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น

คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด ไม่มีตัวไม่มีตน

 นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ผู้ที่มีสมาธิแล้ว

ให้เจริญปัญญาต่อไป ให้พิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ นี้

คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ให้ปล่อยวาง อย่าไปยึดอย่าไปติด

 ให้มองขันธ์ ๕ นี้เป็นเหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง

หรือเมฆก้อนหนึ่งที่ไหลมาไหลไป

 มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

 เมฆก็เกิดขึ้นจากการรวมตัวของไอน้ำ

 เมื่อก้อนเมฆมีน้ำหนักมากก็ตกลงมาเป็นน้ำฝน

 น้ำฝนก็จะระเหยกลับกลายเป็นก้อนเมฆอีก

 นี่คือวัฏฏะของธรรมชาติทั้งหลาย

ร่างกายหรือขันธ์ ๕ ก็เป็นเช่นนั้น

 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 ก็เป็นคล้ายๆ กับเมฆ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

 ร่างกายก็มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

สลายกลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ เวทนา

 ความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์

ก็หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมา

 เดี๋ยวสุขบ้าง เดี๋ยวทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง

 สังขาร ความคิดปรุง ก็คิดไป คิดไปแล้วก็ดับไป

 แล้วก็คิดใหม่อีก หมุนเวียนไป

ไม่มีตัวตนในสิ่งเหล่านี้ เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยง

 ไม่มีตัวตน จิตก็จะปล่อยวาง

 แล้วก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...................................

กำลังใจ ๑๓, กัณฑ์ที่ ๑๘๔

วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 12 ตุลาคม 2561
Last Update : 12 ตุลาคม 2561 4:21:07 น.
Counter : 844 Pageviews.

0 comment
<<< "ไม่ควรสงสัยในคำสอนแต่ควรน้อมเข้ามาสู่ใจ" >>>









“ไม่ควรสงสัยในคำสอน

    แต่ควรน้อมเข้ามาสู่ใจ”

พวกเรามีทางเลือก จะไปทางไหน

 จะลงต่ำหรือจะขึ้นสูงก็ได้

ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา

 ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระพุทธเจ้า

ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระรูปหนึ่งรูปใด

 พระพุทธเจ้ากับพระนั้น

มีหน้าที่สอนบอกเราเท่านั้น

ว่าทางที่จะไปสู่ความสุขความเจริญนั้น

อยู่ในทิศทางใด ทางที่จะพาเราไปสู่ความต่ำ

 ความเสื่อมเสีย ความหายนะนั้นอยู่ทิศทางไหน

ท่านเพียงมีแต่หน้าที่บอกเราเท่านั้น

 ถ้าเรารู้แล้วเชื่อแล้วปฏิบัติตาม

ก็จะเป็นบุญของเรา ถ้าไม่เชื่อไม่ปฏิบัติตาม

 ก็จะเป็นโทษกับเรา ไม่ได้เป็นโทษกับผู้บอกทาง

เพราะผู้บอกทางได้ไปถึงที่ต้องการจะไปแล้ว

 เขารู้อยู่แก่ใจของเขาแล้ว

แต่ไม่สามารถที่จะทำให้เราเชื่อได้

 เราต้องเสี่ยงดูเอา

 ว่าสิ่งที่เขาบอกเรานั้น จริงหรือไม่จริง

ถ้าเราลองทำตามที่เขาบอก

 เราก็จะรู้ว่าสิ่งที่เขาบอกนั้น

จริงหรือไม่จริงอย่างไร

ถ้าไม่ลองดู ก็จะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เขาบอกนั้น

 จริงหรือไม่จริงอย่างไร

 เหมือนกับเวลาไปหาหมอ

 แล้วหมอให้ยามารับประทาน

 ถ้าไม่รับประทานยา ก็ไม่รู้ว่า

ยานั้นรักษาโรคให้หายไปได้หรือเปล่า

 ถ้ารับประทานอย่างน้อยก็จะรู้ว่า

ยารักษาโรคได้หรือไม่

ถ้ารักษาไม่ได้ ก็ไปขอให้หมอเปลี่ยนยาได้

 อย่างน้อยก็ได้รู้ว่ายาที่หมอให้มานั้น

เป็นยาที่ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ 

ฉันใด คำสอนของพระพุทธเจ้า

ก็เป็นเหมือนยารักษาโรคใจ

 คือรักษาโรคของความทุกข์

รักษาโรคของการเวียนว่ายตายเกิด

 เกิดแก่เจ็บตายของเราได้

ถ้านำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาศึกษา

มาพินิจพิจารณา แล้วนำไปปฏิบัติ

 เราจะรู้ถึงผลที่จะปรากฏขึ้นมา

ไม่ต้องรอถึงเวลาที่ตายไป

 ถึงจะรู้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า

 มีผลหรือไม่อย่างไร

 เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าสามารถพิสูจน์ได้

ในภพนี้ในชาตินี้ ถ้าทำความดี

รักษาศีลปฏิบัติธรรมแล้ว ความสุขภายในใจ

จะมีมากขึ้นหรือน้อยลง จะเห็นได้ทันที

และเมื่อปฏิบัติธรรมมากยิ่งๆ ขึ้นไป

จะเริ่มเห็นตัวจิต ตัวที่ไปเวียนว่ายตายเกิด

ตัวที่มาเกิดและตัวที่จะไปเกิดใหม่

 เมื่อปฏิบัติธรรมจนเห็นตัวจิตแล้ว

 ต่อไปจะไม่สงสัยเลยว่ากรรมมีจริงหรือไม่

 การเวียนว่ายตายเกิดมีจริงหรือไม่

 เพราะมันเห็นที่ตัวจิตนี่แหละ

ในขณะนี้เรามีจิตอยู่กับเรา แต่เราไม่เห็นจิต

 เห็นเพียงแต่ร่างกาย

ทั้งๆ ผู้ที่เห็นร่างกายนี้ก็คือตัวจิตเอง

 แต่ตัวจิตไม่สามารถมองเห็นตัวเองได้

เหมือนกับเราไม่สามารถมองเห็นหน้าของเราได้

 ต้องอาศัยกระจกส่องหน้าจึงจะเห็นได้

การที่จะเห็นตัวจิตก็ต้องอาศัยการปฏิบัติธรรม

 คือการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาเท่านั้น

จึงจะทำให้เห็นตัวจิตได้ ถ้าปฏิบัติแล้ว

รับรองได้ว่าจะเห็นตัวจิต

 เหมือนกับเห็นหน้าตาของเรา

ถ้ามีกระจกส่องหน้าเรา แต่ถ้าไม่มีกระจกส่องหน้า

 เราจะไม่รู้ว่าหน้าตาของเราเป็นอย่างไร

ใครจะบอกว่าหน้าตาเราสวยหรือไม่สวย

 เราก็จะไม่รู้ เพราะไม่มีกระจกส่องดู

 ฉันใดเราก็จะไม่เห็นตัวจิต

ผู้ที่จะไปเวียนว่ายตายเกิด

 เพราะไม่มีกระจกส่องดูตัวจิต

กระจกที่ส่องดูตัวจิตนี้เรียกว่าธรรมะ

 แว่นส่องใจ แว่นส่องจิต

ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม

โดยอาศัยการทำบุญรักษาศีลเป็นเครื่องสนับสนุน

 ให้เข้าสู่การปฏิบัติธรรม ถ้ายังไม่ทำบุญทำทาน

ยังไม่รักษาศีล การนั่งสมาธิกับการเจริญวิปัสสนา

จะเป็นสิ่งที่ยากมาก เหมือนกับการสร้างบ้าน

 ถ้าไม่มีเสาจะสร้างให้บ้านสูงขึ้นไปหลายชั้น

ย่อมเป็นไปไม่ได้

 อย่างศาลาหลังนี้ถ้าไม่มีเสาค้ำเพดานค้ำหลังคาไว้

ก็ไม่สามารถสร้างศาลาหลังนี้ได้

ฉันใด การปฏิบัติธรรมเพื่อให้มีแว่นส่องจิตแว่นส่องใจ

เพื่อจะได้เห็นตัวจิต ก็ต้องอาศัยการทำบุญทำทาน

 การรักษาศีล เป็นเครื่องสนับสนุนก่อน

 เมื่อได้ทำบุญทำทานรักษาศีลอยู่เป็นประจำ

 ต่อไปจิตก็จะเกิดความยินดีที่จะปฏิบัติธรรม

 อยากจะมาอยู่วัด อยู่จำศีลสัก ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน

ไหว้พระสวดมนต์นั่งทำสมาธิ เจริญวิปัสสนา

 ให้เห็นถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย

ว่าเป็นอย่างไร ว่าการเวียนว่ายตายเกิดเป็นอย่างไร

 ว่ากรรมเป็นอย่างไร

นี่แหละคือเรื่องราวของพระพุทธศาสนา

 เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาสั่งสอนพวกเรา

 เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงเห็นจิตของพระองค์แล้ว

 ทรงรู้แล้วว่าตัวที่จะไปเกิดก็คือตัวจิต

 และตัวที่จะส่งจิตไปเกิด ก็คือตัวกิเลสตัณหา

 โมหะอวิชชา และตัวที่จะทำให้จิต

ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป

 ก็คือตัวสมาธิและวิปัสสนาปัญญา

 เราจึงไม่ควรสงสัยในพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้า

 แต่ควรน้อมเข้ามาสู่ใจ

 เพื่อประโยชน์สุขอันสูงสุด

ที่จะเป็นผลตามมาต่อไป คือวิมุตติ

ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.................................

กำลังใจ ๑๒, กัณฑ์ที่ ๑๖๖

วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๖






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 11 ตุลาคม 2561
Last Update : 11 ตุลาคม 2561 6:49:41 น.
Counter : 355 Pageviews.

0 comment
<<< "สร้างบุญบารมี สร้างพลังจิต สร้างปัญญา" >>>









“สร้างบุญบารมี

 สร้างพลังจิต สร้างปัญญา”

เมื่อท่านทั้งหลายได้ฟังเทศน์ฟังธรรมในวันนี้แล้ว

ได้ยินได้ฟังแล้วเกี่ยวกับเรื่องของความจริงว่า

 คนเรานั้นเมื่อเกิดมาแล้ว ต้องมีความแก่ มีความเจ็บ

 มีความตาย เป็นธรรมดา

 มีการพลัดพรากจากของรักเป็นธรรมดา

 มีการพบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาเป็นธรรมดา

 เช่นพบกับความผิดหวัง

พบกับความเลวร้ายทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา

 ถ้าได้ยินได้ฟังเรื่องเหล่านี้แล้วยังทำใจไม่ได้

 ก็แสดงว่าใจยังไม่มีกำลังพอ กำลังใจของเรา

พลังจิตของเรายังไม่มีพลัง พอที่จะรับความจริง

 ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น

 แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับพวกเราได้

 เราจึงต้องสร้างกำลังจิต พลังจิตขึ้นมาก่อน

 ด้วยการเจริญสมาธิ เพราะสมาธินี่แหละ

คือตัวพลังของจิต ถ้าจิตมีสมาธิแล้ว

 จิตจะเป็นเหมือนกับก้อนหิน

ก้อนหินนี้ต่อให้ลมพายุพัดมา

ก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนขยับ

ให้ก้อนหินเคลื่อนไหวได้

 ในทางตรงกันข้ามถ้าจิตยังไม่มีสมาธิ

 จิตก็จะเป็นเหมือนกับนุ่น เวลาลมเบาๆ

 พัดแผ่วมาเพียงนิดเดียว

 ก็ทำให้นุ่นลอยไปได้แล้ว

 ขยับขับเคลื่อนไปได้แล้ว

จิตของผู้ที่ยังไม่มีสมาธิ

ก็จะเป็นเหมือนกับนุ่นนั่นเอง

เวลามีอารมณ์อะไรมากระทบ

เพียงเล็กน้อยก็เสียหลักแล้ว

 เวลาใครพูดอะไรไม่ถูกใจก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว

 เวลาเห็นอะไร ใครทำอะไรไม่ถูกอกถูกใจ

 ก็เกิดความไม่สบายใจขึ้นมาแล้ว

เวลาอะไรเกิดขึ้นกับตัวเองเพียงเล็กๆน้อยๆ

 เจ็บตรงนั้นนิดปวดตรงนี้หน่อย

ก็เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมาแล้ว

 นั่นก็เป็นเพราะว่าใจไม่มีสมาธิ

ไม่มีความหนักแน่น ไม่มีความตั้งมั่นนั่นเอง

 จึงไม่สามารถนำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้า

คือปัญญามาใช้กับตนเองได้

ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังได้ศึกษามา

เป็นเวลาหลายๆ ปีด้วยกัน

 เพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรมนั่นเอง ไม่ได้เจริญสมาธิ

 ไม่ได้ฝึกฝนทำจิตใจให้สงบ ให้ตั้งมั่น

จิตจึงลอยไปลอยมาตามกระแสอารมณ์ต่างๆ

 ที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าจะมาผ่านทางรูป

 ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส ก็จะเกิดอาการดีอกดีใจ

 เสียอกเสียใจทันทีทันใด ตามเรื่องราวที่มากระทบ

แต่ถ้าได้ฝึกทำใจทำจิตให้สงบ ให้ตั้งมั่น

 ให้เป็นเหมือนกับก้อนหินแล้ว

 เวลามีอารมณ์อะไรต่างๆ มากระทบ

ผ่านทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางเวทนา

สัญญา สังขาร วิญญาณ

ก็จะไม่มีอาการสะทกสะท้าน

 ไม่มีอาการยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมากนัก

 อาจจะมีบ้าง เพราะยังไม่มีปัญญารู้เท่าทันนั่นเอง

 แต่จะไม่เหมือนกับในขณะที่ไม่มีสมาธิ

แต่ถ้ามีปัญญารู้เท่าทันแล้ว รับรองได้ว่า

ไม่ว่าอะไรก็ตามที่มากระทบกับจิต

จะไม่ทำให้จิตมีอารมณ์ตอบโต้

 มีความทุกข์เกิดขึ้นมาได้ เพราะมีปัญญารู้ทัน

รู้ว่าเป็นไตรลักษณ์นั่นเอง รู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง

 รู้ว่าเป็นของที่ควบคุมไม่ได้

บังคับไม่ได้ รู้ว่าถ้าไปยินดียินร้าย

ก็จะต้องทุกข์กับสิ่งนั้นๆ

ดังนั้นเวลามีอารมณ์อะไรมากระทบกับจิต

 จะเป็นด้านที่ชอบ หรือด้านที่ไม่ชอบก็ตาม

 ถ้ามีปัญญาแล้วจะไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย

จะเพียงแต่รับรู้เฉยๆ คือจะไม่ไปมีปฏิกิริยา

ยินดียินร้ายตอบโต้ด้วย ใครจะพูดอะไร

ใครจะทำอะไรก็รู้ว่าเดี๋ยวก็ผ่านไป

 เขาพูดเสร็จ เขาทำอะไรเสร็จ เดี๋ยวเขาก็ผ่านไป

สิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาทำ เราก็ไปห้ามเขาไม่ได้

ถ้าเรารู้อย่างนี้แล้ว เราปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา

 เขาจะดีก็เรื่องของเขา เขาจะร้ายก็เรื่องของเขา

แต่เราจะไม่ดีไม่ร้ายตามเขา เพราะเรารู้ทัน

ถ้าเรารู้ทันอย่างนี้ ใจของเราก็จะนิ่งเฉยอยู่

เป็นเหมือนก้อนหิน ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว

ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิดขึ้นมา

นี่แหละคืออานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม

การเจริญสมาธิ การมีปัญญา

เมื่อมีทั้ง ๒ อย่างแล้ว

รับรองได้ว่าความทุกข์ภายในใจ

จะไม่ปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอน

 เหมือนกับใจของพระพุทธเจ้า

 ใจของพระอรหันต์ทั้งหลาย

 ท่านมีปัญญา ท่านมีสมาธิ

 ท่านจึงหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย

 ที่เข้ามากระทบผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

 ผ่านทางรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส

 ผ่านทางรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 ท่านรู้ทันสภาวธรรมเหล่านี้ทั้งหมดแล้ว

ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ท่านไม่ยึดไม่ติด ไม่มีความปรารถนา

ที่จะอยากให้เขาเป็นอย่างนั้น ให้เขาเป็นอย่างนี้

 เขาเป็นอย่างไร ก็ยอมรับความเป็นจริง

ตามสภาพของเขา อย่างพวกเรานี้

 บางสิ่งบางอย่างเราก็รับได้ เรายอมรับได้

ใจของเราก็ไม่ทุกข์

เช่นยอมรับกับสภาพดินฟ้าอากาศได้

เวลาพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก

 ก็ไม่ไปมีความอยากไม่ให้ขึ้นไม่ให้ตก

 เวลาฝนตก ก็ไม่ได้มีความอยากจะไม่ให้ฝนตก

 เขาจะเป็นอย่างไร ก็ยอมรับ

ตามความเป็นจริงของเขา อย่างนี้แสดงว่ามีปัญญา

 รู้ทันกับความเป็นจริง เมื่อรู้ทันแล้ว

ก็ไม่ไปฝืนความจริง เมื่อไม่ฝืนความจริง

 ความทุกข์ก็จะไม่มีในใจเรา

แต่ก็เป็นเพียงบางเรื่องเท่านั้น

 ยังมีอีกหลายเรื่องที่เรายังทำใจกันไม่ได้

 เช่นยังทำใจกับความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่ได้

ยังทำใจกับการพลัดพรากจากของรักไม่ได้

 ยังทำใจกับการประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบไม่ได้

 ยังทำใจกับความผิดหวังไม่ได้นั่นเอง

จึงยังมีความทุกข์อยู่ในใจ

แต่ถ้านำธรรมที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ไปปฏิบัติ

 ในเบื้องต้นฝึกทำสมาธิ ทำใจให้ตั้งมั่น

 ให้เป็นเหมือนกับหิน ซึ่งเราสามารถทำได้

ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ในเบื้องต้นก่อน

 หรือนั่งขัดสมาธิทำสมาธิ

กำหนดพุทโธๆๆไปในใจเลยก็ได้

สุดแท้แต่ความถนัด สุดแท้แต่ความสามารถ

 ผลที่ต้องการก็คือ ให้จิตหยุดคิด

 ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ

 บังคับจิตให้อยู่กับอารมณ์เดียว อารมณ์สวดมนต์

 อารมณ์พุทโธๆๆ จนจิตรวมลงเป็นสมาธิตั้งมั่น

 หลังจากนั้นแล้ว การสวดมนต์

หรือการบริกรรมพุทโธๆๆ ก็ไม่มีความจำเป็นต่อไป

 เพราะในขณะนั้นจิตจะไม่ไปไหน

จิตจะนิ่งเฉยตั้งมั่น มีความสุข

มีความสงบ มีความอิ่ม มีความพอ

ถ้าได้ทำให้จิตเป็นสมาธิแล้ว

หลังจากออกมาจากสมาธิ

 เราก็มาเจริญปัญญาต่อไป พิจารณาธรรม

ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณา

 คือเกิดมาแล้วต้องแก่

ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา

ต้องพลัดพรากจากของรักเป็นธรรมดา

 ต้องประสบกับของชังของไม่ชอบเป็นธรรมดา

 หลีกเลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น เป็นปกติ

 เป็นธรรมดาของโลกนี้

เมื่อรู้แล้วก็ฝึกทำใจให้ยอมรับ

 ค่อยๆฝึกไปทีละเล็กทีละน้อย

ในที่สุดก็จะยอมรับได้ เมื่อยอมรับได้แล้ว

 ความทุกข์ก็จะไม่มีปรากฏขึ้นมาภายในใจ

 เช่นเวลาสูญเสียอะไรไป

ก็ยอมรับว่าสูญเสียไปแล้ว เป็นเรื่องปกติ

เป็นเรื่องธรรมดา เอากลับมาไม่ได้

 ถึงแม้เอากลับมาได้ พรุ่งนี้หรือในอนาคตข้างหน้า

ก็ต้องสูญเสียไปอีกอยู่ดี เพราะเป็นอนิจจัง

เป็นของไม่เที่ยง ไม่พลัดพรากจากกันในวันนี้

 ก็ต้องพลัดพรากจากกันในวันหน้าอย่างแน่นอน

 เพราะนี่คือธรรมชาติของสภาวธรรมทั้งหลาย

 ของสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ เป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น

เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว

 ใจก็จะไม่ไปยึดไปติดกับอะไรอีกต่อไป

ถึงแม้จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ยึดไม่ติด

ไม่หวง ไม่ห่วง จะอยู่ก็อยู่ไป จะหมดก็หมดไป

แต่ในขณะที่อยู่ด้วยกัน

ก็นำมาใช้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์

 เช่นมีเงินทอง ข้าวของส่วนที่เกินต่อความจำเป็น

 ก็นำมาทำบุญทำทาน สร้างบุญบารมี

ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

อย่างนี้จะเป็นคุณเป็นประโยชน์

 เป็นการสะสมบุญบารมี

ที่จะส่งเสริมให้ได้มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรม

ได้มีปัญญาขึ้นมา เพื่อจะได้หลุดพ้น

จากกองทุกข์ในลำดับต่อไป

 ชีวิตของเราจะดำเนินไปด้วยความสะดวกราบรื่น

 สบายอกสบายใจ เพราะความกังวลต่างๆ

 จะไม่มีภายในใจ

นี่แหละคืออานิสงส์ของปัญญา

ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเราได้เจริญกัน

 ให้เจริญอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา

 แทนที่จะเอาเวลาไปคิดในเรื่องไร้สาระ

 หรือเรื่องที่จะสร้างให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

ให้นำมาคิดถึงเรื่องที่จะทำให้ใจสงบ ให้ใจสบาย

 ไม่ดีกว่าหรือ จึงควรใช้เวลาให้เกิดคุณเกิดประโยชน์

 ด้วยการสร้างบุญบารมี สร้างพลังจิต สร้างปัญญา

 เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย

ที่เกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่รู้จักจบจักสิ้น.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

กำลังใจ ๑๑, กัณฑ์ที่ ๑๖๔

วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๖







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 ตุลาคม 2561
Last Update : 10 ตุลาคม 2561 11:03:30 น.
Counter : 484 Pageviews.

0 comment
<<< "ความสุขที่แท้จริง" >>>








“ความสุขที่แท้จริง”

ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจของเรา

อยู่ที่การกระทำของเรา

 อยู่ที่ว่ารู้จักสร้างความสุขให้กับใจหรือไม่

 ส่วนใหญ่มักจะไปสร้างความทุกข์ให้กับใจ

ด้วยความหลง ทำให้เกิดความอยากความโลภ

 คิดว่าถ้ามีอะไรมากๆ แล้ว จะมีความสุขมาก

 แต่ไม่เคยหันมาดูที่ใจเลยว่า

วันๆ หนึ่งใจมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความกังวล

 มีแต่ความห่วงใย กินไม่ได้นอนไม่หลับ

 เศรษฐีบางคนมีเงินทองเยอะแยะ

สามารถซื้ออาหารราคาแพงๆ มารับประทานได้

 แต่ใจกลับไม่มีความสุข

กับการรับประทานอาหารนั้นเลย

 เพราะในขณะที่รับประทานไป

ก็มีแต่ความกังวล ห่วงเรื่องดอกเบี้ยบ้าง

 เรื่องหนี้ที่จะต้องจ่ายบ้าง

 เรื่องเงินลูกหนี้ที่จะต้องไปตามเก็บบ้าง

ล้วนแต่เป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ภายในใจ

 สู้คนยากจนอย่างพระพุทธเจ้า

พระอรหันตสาวกไม่ได้ ท่านไม่มีปัญหาเหล่านี้

อยู่ในใจของท่านเลย เพราะท่านไม่มีลูกหนี้

ไม่มีเจ้าหนี้ ไม่มีดอกเบี้ยที่จะต้องคอยมากังวล

 ที่จะต้องคอยผ่อนส่ง วันๆ หนึ่ง

ใจของท่านมีแต่ความว่าง เพราะไม่มีสมบัติอะไร

 ไม่มีเรื่องราวอะไร ที่จะต้องไปห่วง ไปกังวล

วันๆ หนึ่งก็เพียงแต่มีหน้าที่ดูแลร่างกาย

 ตอนเช้าก็ออกไปบิณฑบาตหาอาหารมา

 ตามมีตามเกิด ได้อะไรก็พอใจกับที่ได้มา

ก็รับประทานไป ก็อิ่มเหมือนกัน

แต่ใจของท่านซิเป็นใจที่เบา เป็นใจที่สุข

เป็นใจที่ว่างจากความทุกข์ทั้งปวง

 เพราะใจได้ถูกชำระด้วยปัญญาแล้ว

ปัญญานี้แหละคือสิ่งที่จะมาทำลายมลทิน

 ความสกปรก ความเศร้าหมอง

ที่เกิดจากกิเลสตัณหาทั้งหลาย

พวกเราแทนที่จะทำตาม

อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำ

 และได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว กลับไม่ได้ทำกัน

 กลับไปส่งเสริมความเศร้าหมอง

ส่งเสริมความสกปรกในใจให้มีมากยิ่งขึ้นไป

 ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ด้วยความอยากต่างๆ ขอให้จำไว้ว่า

 ทุกครั้งที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง

 มีความอยาก ไม่ว่าจะเป็นความอยากในกาม

 ความอยากมีอยากเป็น หรือความอยากไม่มี

อยากไม่เป็นก็ตาม ก็เท่ากับว่ากำลังสร้างขยะ

 สร้างความสกปรกให้มีมากขึ้นไปในใจ

ใจก็จะมีความทุกข์มีความเศร้าหมองเพิ่มมากขึ้นไป

 ทั้งๆ ที่ได้เงินเพิ่มขึ้นมาอีก ๑๐ ล้าน อีก ๑๐๐ ล้าน

 มีสามี มีภรรยาเพิ่มขึ้นอีก ๔-๕ คนก็ตาม

 แต่ใจกลับมีความเศร้าหมองเพิ่มมากขึ้นไปอีก

 มีความกังวล มีความวุ่นวายใจ

กินไม่ได้นอนไม่หลับเพิ่มมากขึ้นไปอีก

 เพราะกำลังสร้างความทุกข์ให้กับใจโดยไม่รู้สึกตัว

 ทั้งๆ ที่คิดว่ากำลังสร้างความสุขให้กับตน

 แต่กลับมีแต่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ

ถ้าไม่เชื่อ ลองเปรียบเทียบดู

ระหว่างเรากับพระพุทธเจ้า

พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านมีอะไรบ้าง

ท่านไม่มีอะไรเลย ในเรื่องสมบัติภายนอก

 ไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยา สมบัติต่างๆ ตำแหน่งต่างๆ

ไม่มีอะไรเลย มีสมบัติอยู่เพียง ๘ ชิ้น

 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของสมณะเท่านั้น

 คือมีผ้าไตรจีวร ๓ ผืน บาตรใบหนึ่ง

ประคดเอว มีดโกน เข็มกับด้าย และที่กรองน้ำ

 นี่คือสมบัติที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของพระ

 เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ท่านอยู่ได้แล้ว

 ด้วยความสุข ด้วยความเบาใจ ด้วยความสบายใจ

 เพราะใจของท่านไม่มีภาระ

ไม่มีความผูกพันกับอะไรทั้งสิ้น

 เพราะไม่ว่าจะมีอะไร ในไม่ช้าก็เร็ว

ก็ต้องพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งสิ้น

 เพราะธรรมชาติของชีวิตเป็นอย่างนั้น

 เราก็เห็นกันอยู่ เวลาเกิด ก็มาตัวเปล่าๆ

เมื่อไปก็ไปตัวเปล่าๆ คือใจมาครอบครองร่างกาย

 เมื่อตายไปใจก็ทิ้งร่างกายนี้ไป

 ทิ้งสมบัติ ทิ้งบุคคลต่างๆ ไปหมด

 ไม่ได้เอาอะไรไปเลยนอกจากบุญกับบาปเท่านั้น

 บุญก็คือความฉลาดหรือปัญญา

บาปก็คือความโง่เขลาเบาปัญญานั่นเอง

ถ้ายังไม่เข้าใจหรือยังไม่เห็น

 ก็ต้องรีบขวนขวายศึกษา แล้วปฏิบัติตาม

 อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติมา

 คือพยายามลดละ ตัดกิเลสตัณหาทั้งหลาย

ให้เบาบางลงไป ให้หมดสิ้นไป

เมื่อทำได้แล้ว จะเห็นความสุขที่แท้จริง

ที่ปรากฏขึ้นมาภายในใจ เรียกว่าปัญญา

ความสว่าง ซึ่งจะเกิดขึ้น

ก็ต่อเมื่อนำธรรมไปปฏิบัติ

เพียงแต่ได้ยินได้ฟังอย่างวันนี้

แล้วก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติ

ก็ยังจะไม่เห็นผลของการเสียสละ

ของการปล่อยวาง ถ้าลองไปปฏิบัติดู

 ในเบื้องต้นอาจจะยากหน่อย

 เพราะเป็นสิ่งที่ฝืนกับนิสัยใจคอ แต่ไม่สุดวิสัย

 ถ้ามีความเข้มแข็ง

มีความอดทนต่อสู้ ในไม่ช้าก็เร็ว

 ก็จะสามารถปฏิบัติตาม

อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอน

ได้ทรงปฏิบัติมา เมื่อทำได้แล้วก็จะเห็นผล

 คือความสุข ความเบาใจที่จะปรากฏขึ้นมาในใจ

ก็จะรู้ทันทีเลยว่า เรานี้โง่เขลาเบาปัญญามาตั้งนาน

 มัวแต่หลงแบกกองทุกข์ แบบไม่รู้จักจบจักสิ้น

 แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ต้องการอะไรแล้ว

 ในเรื่องสมบัติภายนอก บุคคลภายนอก

 อยู่ได้โดยลำพัง แม้ไม่มีร่างกายนี้ ก็อยู่ได้

เพราะเห็นใจแล้ว รู้แล้วว่าใจกับร่างกาย

เป็นคนละส่วนกัน ต่างฝ่ายต่างจริง

 ใจไม่ต้องพึ่งอะไรเลย

จึงสละได้หมดแม้แต่ชีวิต.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................................

กำลังใจ ๑๐, กัณฑ์ที่ ๑๕๓

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 07 ตุลาคม 2561
Last Update : 7 ตุลาคม 2561 8:55:27 น.
Counter : 491 Pageviews.

0 comment
<<< "หน้าที่ของมนุษย์ที่แท้จริง" >>>









“หน้าที่ของมนุษย์ที่แท้จริง”

สิ่งที่เราควรให้ความสนใจมากๆ นั้น

 คือการชำระจิตใจของเรา ด้วยการศึกษา

ฟังเทศน์ฟังธรรม

แล้วก็นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปปฏิบัติ

เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า

เปรียบเหมือนกับผงซักฟอก เครื่องซักฟอกจิตใจ

 ถ้านำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า

เข้ามาชำระจิตใจแล้ว จิตใจก็จะสะอาดหมดจด

 เหมือนกับจิตใจของพระพุทธเจ้า

และสาวกอรหันต์ทั้งหลาย

 ที่ได้นำเอาธรรมของพระพุทธเจ้าเข้ามาชำระ

จนกลายเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์

ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง

 ปราศจากตัณหาความอยากทั้งหลาย

 ทำให้มีความสุขพร้อมบริบูรณ์อยู่ในตัวของท่าน

 โดยที่ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งภายนอก

 มาให้ความสุขเลยแม้แต่นิดเดียว

 เพราะทรงรู้ทรงเห็นแล้วว่าสิ่งต่างๆภายนอกนั้น

 ล้วนเป็นกองทุกข์ทั้งสิ้น

 มีอะไรก็จะต้องมีความทุกข์กับสิ่งนั้นๆ

 มีสามีก็ต้องทุกข์กับสามี

มีภรรยาก็ต้องทุกข์กับภรรยา

 มีลูกก็ต้องทุกข์กับลูก

 มีตำแหน่งหน้าที่ก็ต้องทุกข์กับตำแหน่งหน้าที่

มีสมบัติเงินทองก็ต้องทุกข์กับสมบัติเงินทอง

 เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 ไม่อยู่กับเราไปตลอด

 ในวันหนึ่งเราก็ต้องจากเขาไป

 เขาไม่จากเราไปก่อน เราก็ต้องจากเขาไปก่อน

นี่เป็นสัจธรรมความจริง
 ที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้พบได้เห็น

 จึงปล่อยวางในสิ่งเหล่านี้โดยสิ้นเชิง

เมื่อได้ปล่อยวางแล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์อยู่ในใจ

 เพราะความทุกข์เกิดจากการยึดมั่นถือมั่น

 ยึดติดอยู่ในสิ่งต่างๆ ภายนอกนั่นเอง

 เมื่อได้ปล่อยวางหมดแล้ว

ความทุกข์กับสิ่งต่างๆ ก็หมดไป

ถึงแม้จะสัมผัส จะมี ก็ไม่ได้คิดว่า

เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมี มีก็มีไป

 จะหมดไปเมื่อไรก็ไม่กังวล

 เพราะไม่ได้พึ่งพาอาศัยในสิ่งเหล่านั้น

 มีแต่จะนำสิ่งเหล่านั้นไปทำคุณทำประโยชน์

ช่วยเหลือผู้อื่นให้เขาได้มีความสุข

ได้ลดความทุกข์ ที่เกิดจากการขาดแคลน

สิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ

 จึงเป็นที่มาของการทำบุญให้ทานสงเคราะห์ผู้อื่น

 เรามีทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของเกินความจำเป็น

 เราก็นำไปแจกจ่าย ไปสงเคราะห์ผู้ที่เดือดร้อน

 ทำให้ผู้ที่เดือดร้อนเขามีความสุข

มีความสบายเพิ่มขึ้นมาบ้าง

ความทุกข์ความเดือดร้อนลดน้อยถอยลงไปบ้าง

ก็ทำให้เรามีความสุขขึ้นมา

 เพราะรู้ว่าได้ทำความดี ได้ช่วยเหลือผู้อื่น

เพราะรู้ว่าถ้าเราตกทุกข์ได้ยาก

 แล้วมีผู้อื่นมาช่วยเหลือ

 เราจะมีความรู้สึกมีความสุขมาก

 มีความรู้สึกปลาบปลื้ม

ในการกระทำของผู้ที่มาช่วยเหลือ

 เราคิดอย่างนี้ ก็ทำให้เรามีความสุข

 นี่แหละคือความสุขของใจ

 แทนที่จะเกิดจากการได้มา

 แต่กลับเกิดจากการให้ไปมากกว่า

 เพราะการได้มาเป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

 แล้วก็ทำให้อยากได้เพิ่มขึ้นไปอีก

 เวลาเจอคนที่เคยให้อะไรเรา

 ก็คิดอยากจะได้สิ่งที่เขาเคยให้เพิ่มขึ้นอีก

 ถ้าไม่ได้ก็จะเกิดความรู้สึกผิดหวัง

ไม่สบายใจขึ้นมา นี่แหละคือเรื่องราวของใจเรา

 ซึ่งกลับตาลปัตรกับความรู้สึกของเรา

 เพราะความรู้สึกของเรา เป็นความรู้สึกที่ผิด

 เป็นความเข้าใจผิด เราเข้าใจว่าถ้าได้มากๆ

 แล้ว ใจจะมีความสุข

 แต่ผลมันก็ปรากฏขึ้นอยู่ในใจแล้ว

 เพียงแต่เราไม่มองกันเท่านั้นเอง

 ว่าเรามีความทุกข์มากน้อยเพียงไรกับสิ่งที่ได้มา

 ในสมัยที่เราเป็นเด็กๆ เราไม่มีอะไรเลย

 เรามีความสบายอกสบายใจ อยู่ไปวันๆ หนึ่งได้

ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความกังวลกับเรื่องอะไร

 แต่พอเริ่มมีครอบครัว

 มีสามี มีภรรยา มีบุตร มีธิดา

 มีกิจการงานต่างๆ ก็มีความทุกข์ตามมา

 และจะมีต่อไปเรื่อยๆ จนวันตาย

ถ้าไม่ลดละความอยาก

ลดละความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้

ถ้าเราต้องทำมาหากิน

 ก็ขอให้ทำเพื่อดูแลรักษาอัตภาพร่างกาย

ถ้ามีกำไรส่วนเกิน

 เราก็นำไปสร้างบุญสร้างกุศลต่อไป

 เพราะว่าชีวิตของเราไม่ได้สิ้นสุดในโลกนี้

หลังจากที่ตายไปแล้ว

 จิตวิญญาณยังต้องเดินทางต่อไป

จะไปที่มั่งคั่งสมบูรณ์หรืออัตคัดขัดสน

ก็อยู่กับสิ่งที่เราทำในปัจจุบันนี้

 ถ้าสะสมบุญสะสมกุศลไว้

ไปข้างหน้าก็จะมีสิ่งต่างๆรองรับ

ถ้าทำแต่บาปแต่กรรม

ไปข้างหน้าก็จะไปมีแต่

ความเดือดร้อนวุ่นวายคอยเราอยู่

เราจึงต้องมองชีวิตให้ไกลกว่าโลกนี้

 ตราบใดใจของเรายังไม่ได้รับการขัดเกลา

ชำระจนสะอาดหมดจด

 เหมือนกับจิตใจของพระพุทธเจ้า

กับพระอรหันตสาวกแล้ว

 ใจของเรายังต้องไปเกิดใหม่

 ไปเกิดสูงหรือต่ำก็ขึ้นอยู่กับ

บุญกรรมที่ทำไว้ในแต่ละวัน

ถ้าทำบุญไว้มากๆ

โอกาสที่จะได้ไปเกิดที่สูงที่ดีก็มีมาก

 ถ้าทำน้อยโอกาสก็น้อย

 ถ้าทำบาปมาก โอกาสที่จะไปเกิดที่ต่ำ

 ที่มีแต่ความทุกข์ ความเสื่อมเสียก็จะมีมาก

ถ้าทำบาปน้อยโอกาสที่จะไปเกิดในที่ต่ำก็มีน้อย

หน้าที่ของมนุษย์ที่แท้จริงจึงอยู่ที่การกระทำ

ที่จะเกิดผลประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคต

 เราต้องแยกแยะว่า ปัจจุบันคือ

อัตภาพร่างกายของเรา

มีความจำเป็นมากน้อยเท่าไร

ถ้ามีเกินความจำเป็น

 แล้วไม่นำเอาไปทำบุญทำกุศล

แต่กลับนำไปสะสมกิเลสตัณหาให้มากขึ้นไป

ด้วยการใช้เงินทองตามความอยาก

 ตามความโลภ ก็จะเป็นการขาดทุน

เพราะจะสร้างมลทิน ความเศร้าหมองในจิตใจ

 ให้มีมากเพิ่มขึ้นไป แต่ถ้านำเงินทองส่วนเกินที่ได้

มานำไปใช้เพื่อชำระกิเลสตัณหา

 ความโลภ ความอยาก ด้วยการทำบุญให้ทาน

ก็จะเป็นการชำระจิตใจให้มีกิเลสตัณหา

 เครื่องเศร้าหมองน้อยลงไป ทำให้มีความสุข

 มีความอิ่ม มีความสบายใจ มีกำลังจิตกำลังใจ

ที่จะปฏิบัติคุณงามความดีเพิ่มมากขึ้น

ทำให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับความอยาก

บาปกรรมทั้งหลาย

ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเรื่อยๆ

 ในปัจจุบันชีวิตก็มีความสุข มีความสมบูรณ์

 มีความพอเพียง

 และเมื่อเดินทางต่อไปในภพหน้าชาติหน้า

 ก็จะไปสู่สุคติ ไปสู่ภพที่ดี

 ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์

 ได้สะสมบุญบารมีต่อไป

 ถ้าไปเกิดในสวรรค์ชั้นเทพ ชั้นพรหม

 ก็จะได้เสวยทิพยสุข เมื่อหมดทิพยสุขแล้ว

ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

แล้วก็มาทำอย่างที่เราทำอย่างนี้ต่อไปอีก

จนจิตใจของเราสะอาดหมดจด

 สิ้นความโลภ ความโกรธ ความหลง

ความอยากทั้งหลาย กลายเป็นจิตบริสุทธิ์

 เป็นจิตวิมุตติ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

เหมือนกับจิตของพระพุทธเจ้า

กับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

กำลังใจ ๑๐, กัณฑ์ที่ ๑๔๘

วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๕






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 06 ตุลาคม 2561
Last Update : 6 ตุลาคม 2561 10:31:01 น.
Counter : 378 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ