Group Blog
All Blog
<<< " ความหลงของสัตว์โลก" >>>









“ความหลงของสัตว์โลก”

ธรรมะนี้ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของพวกเรา

ธรรมะทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงเอามาสั่งสอนพวกเรา

 ตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมบทนี้ ที่มีบรรจุในพระไตรปิฎกนี้

เชื่อไหมว่ามาจากใจของพระพุทธเจ้า

 อยู่ในใจของพระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ที่โน่นที่นี่

 ธรรมะนี้มันอยู่ในใจ ถ้าเราต้องการธรรมะ

 เราต้องเข้ามาที่ใจของเรา แต่ก่อนจะเข้ามาที่ใจได้

เราก็ต้องอาศัยธรรมะของคนอื่นสอนเราก่อน

 ต้องไปศึกษาไปฟังเทศน์ฟังธรรมจากผู้รู้ก่อน

 ผู้รู้ก็จะสอนว่าถ้าอยากจะเห็นธรรมแท้ธรรมจริง

 ธรรมที่จะทำให้เราได้หลุดพ้นจากกองทุกข์ต่างๆ

ต้องเป็นธรรมที่อยู่ในใจของเรา

 ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงหลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิด

ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา

ก็อยู่ในใจของพระพุทธเจ้านี่แหละ

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไม่ได้ตรัสรู้โดยที่ไปที่อินเดีย

หรือไปที่เนปาล หรือไปที่ดาวอังคารหรือโลกพระจันทร์

 พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมที่ในใจของท่าน

 ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าก็คือ

“พระอริยสัจ ๔” (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

อย่าไปหาทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคที่อื่น ไม่มี

 ไปที่สังเวชนียสถาน ๔ ก็ไม่มี ไปที่ไหนก็ไม่มี

 มันอยู่ที่ใจเรา ทุกข์อยู่ในใจเรา สมุทัยอยู่ในใจเรา

 นิโรธอยู่ในใจเรา มรรคอยู่ในใจเรา

ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากกองทุกข์

 ต้องดึงใจให้กลับเข้ามาข้างใน

ไม่ให้ออกไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ถ้าออกไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย จะไม่พบอริยสัจ ๔

 ถ้าพบก็เป็นอริยสัจ ๔ เป็นป้าย

 เป็นเหมือนกับเป็นป้ายบอกทาง

 แต่ไม่ใช่เป็นอริยสัจ ๔ ที่แท้จริง

เช่น เราไปอ่านหนังสือธรรมะ

เราก็จะอ่านเกี่ยวกับอริยสัจ ๔

 แต่อันนั้นเป็นเหมือนกับเป็นป้ายโฆษณา

 ไม่ใช่เป็นตัวสินค้า เวลาเรานั่งรถไปตามถนนหนทาง

เรามักจะเห็นเขาติดป้ายโฆษณาต่างๆ

 โฆษณาสินค้าต่างๆ โฆษณารถยนต์ โฆษณาบ้าน

 โฆษณาอะไรต่างๆ สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงป้ายโฆษณา

ไม่ได้เป็นของจริง ของจริงนี้ต้องไปที่บริษัทที่เขาขาย

 เช่น เขาขายรถนี้ พอเราเห็นป้ายโฆษณาเห็นป้ายรถ

เราก็อยากได้ เห็นแล้วสวย เราก็ต้องไปที่บริษัทขายรถ

เราถึงจะได้รถยนต์ที่เราต้องการ

 ถ้าเราไปยืนอยู่ที่ป้ายยังไงก็ไม่ได้รถยนต์ ได้แต่ป้าย

ดังนั้นธรรมะที่เราศึกษากันนี้จากแหล่งต่างๆ

จากสื่อต่างๆ จากหนังสือก็ดี จากครูบาอาจารย์ก็ดี

 เป็นเหมือนป้ายโฆษณาไม่ใช่เป็นสินค้า

 ตัวสินค้านั้นอยู่ในใจของพวกเรา

 ถ้าไปศึกษากับหนังสือธรรมะ

หรือศึกษากับครูบาอาจารย์

ท่านก็จะสอนให้เรากลับมาภาวนานั่นเอง

ให้เราถือศีล ถือศีลก็ปิดประตู ปิดตาหูจมูกลิ้นกาย

 ถือศีลของนักบวช ศีล ๘ ขึ้นไป

 ให้ปิดตาหูจมูกลิ้นกาย

 ปิดประตูจะได้ไม่ออกไป เพราะนี่ไปผิดทาง

ธรรมะไม่ได้อยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ธรรมะอยู่ในใจ ดังนั้นถ้ายังเปิดประตูทั้ง ๕ อยู่

 เปิดตาหูจมูกลิ้นกาย ก็จะไม่ได้เข้าไปข้างใน

ก็จะออกไปข้างนอก ทำไมถึงออกไปข้างนอก

 เพราะใจเรามีความหลงคอยผลักดัน

ที่เรียกว่า “อวิชชา” อวิชชาคือความโง่ ความหลง

ความเห็นผิดเป็นชอบ

 เห็นว่าธรรมะอยู่ที่ข้างนอก

 เห็นว่าความสุขอยู่ที่ข้างนอก

 เห็นว่าการดับทุกข์อยู่ที่ข้างนอก

เห็นว่าอยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 เวลามีความทุกข์ก็ไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะกัน

 พอได้เสพก็มีความสุขขึ้นมา ความทุกข์ก็หายไป

 แต่เป็นการหายไปชั่วคราว เดี๋ยวพอความสุข

จากรูปเสียงกลิ่นรสหมดไป

ความทุกข์ก็ปรากฎขึ้นมาใหม่ ใช่ไหม

 เวลาทุกข์ก็สูบบุหรี่กัน คลายเครียดก็สูบบุหรี่กัน

หรือกินเหล้ากัน พอได้สูบบุหรี่ได้กินเหล้า

ความเครียดก็หายไป

เดี๋ยวพอฤทธิ์บุหรี่ฤทธิ์สุราหมดไป

 ความเครียดก็โผล่ขึ้นมาใหม่ ความอยากดื่มสุรา

 ความอยากสูบบุหรี่ก็โผล่ขึ้นมาใหม่

ก็ต้องออกไปหาบุหรี่หาสุราใหม่

 หากี่รอบกี่ครั้งความทุกข์ก็ไม่หายไปไม่หมดไป

 หายไปเพียงชั่วคราว

นี่แหละเป็นความหลงของสัตว์โลก

ที่ไม่ได้เห็นอริยสัจ ๔ ไม่รู้ว่าความทุกข์นี้อยู่ในใจ

และไม่รู้ว่าต้นเหตุของความทุกข์นี้คือความอยากต่างๆ

 และไม่รู้ว่าการจะกำจัดความทุกข์นี้กำจัดด้วยอะไร

ถ้ามาศึกษาจากพระพุทธเจ้าจากพระอริยสาวก

 ถึงจะรู้ว่าเวลาทุกข์อย่าไปสูบบุหรี่ อย่าไปดื่มกาแฟ

 อย่าไปดื่มสุรา อย่าไปดูหนังฟังเพลง อย่าไปเที่ยว

 อย่าไปซื้อของไม่จำเป็นต่างๆ อย่าไปช็อปปิ้ง

 ให้มาหยุดความอยากกัน

 และธรรมที่จะหยุดความอยากได้

ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา

คือมรรค มรรคคือศีล สมาธิ ปัญญา

ต้องมาสร้างศีล สมาธิ ปัญญา

 เพราะตอนนี้เราไม่มีศีล สมาธิ ปัญญากัน

 เราเลยไม่สามารถไปละความอยาก

ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ได้

ทุกครั้งที่เกิดความทุกข์ก็จะถูกความหลงหลอก

ให้ไปทำตามความอยากแทน

 พออยากดื่มสุราก็ให้ไปดื่มสุรา

อยากเที่ยวก็ให้ไปเที่ยว

 อยากจะทำอะไรก็ให้ไปทำ

 ความทุกข์ก็หายไปเดี๋ยวเดียว

แล้วเดี๋ยวความทุกข์ก็กลับมาใหม่

ไปเที่ยวกลับมาเดี๋ยวความทุกข์ก็กลับมาหาใหม่

 อยู่บ้านก็ทุกข์ พอออกไปเที่ยวก็หายทุกข์

 เรากลับมาบ้านก็เจอทุกข์อีกแล้ว ทุกข์ก็รอเราอยู่อีก

นี่เราจะไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ถ้าเราไม่มี

 มรรค คือไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้าเรามีศีลเราก็จะปิดประตู

ไม่ให้จิตออกไปแก้ปัญหาภายนอก

 เวลาทุกข์ไม่ให้ไปหารูปเสียงกลิ่นรส ไม่ให้ไปเที่ยว

 ไม่ให้ไปดูไปฟังไปกินไปดื่มอะไร

ให้กลับเข้ามาข้างในมาทำใจให้สงบให้ได้

 เพราะถ้าใจสงบแล้วความทุกข์จะหายไป

เพราะเวลาใจสงบความอยากก็หยุดทำงาน

 ความอยากนี้ต้องอาศัยความคิดปรุงแต่ง

พอคิดถึงขนมก็อยากกินขึ้นมา

 คิดถึงของที่อยากจะซื้อก็อยากจะซื้อขึ้นมา

แต่ถ้าหยุดความคิดได้ อย่างตอนนี้เราไม่ได้คิดอะไร

 นั่งฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ ความอยากที่จะทำอะไร

อยากจะดูอะไร อยากจะซื้ออะไรตอนนี้ก็ไม่มี

เพราะเราไม่ได้คิดถึงเรื่องราวต่างๆ

 เรากำลังคิดถึงเรื่องธรรมที่เรากำลังฟังอยู่

มันก็เลยทำให้เราลืมเรื่องต่างๆ

แล้วก็ทำให้เราไม่ได้มีความอยาก

กับสิ่งต่างๆได้ชั่วคราว นี่คือวิธีเบื้องต้น

คือ เราต้องมาควบคุมความคิด

หยุดความคิดกันให้ได้

 เพราะถ้าเราหยุดความคิดได้

เราก็จะหยุดความอยากได้

 เช่น เวลาเราทุกข์ ทุกข์เพราะเรื่องนั้นเรื่องนี้

 เราก็ลองไปนั่งสมาธิดู หยุดความคิดให้ได้

 ถ้าหยุดความคิดได้ความทุกข์จากเรื่องต่างๆจะหายไป

 เพราะความอยากที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้น

มันหยุดทำงานชั่วคราว แต่มันไม่ได้ตายอย่างถาวร

 การนั่งสมาธิ การใช้สติควบคุมความคิด

ควบคุมความอยากนี้ ยังไม่สามารถกำจัด

ความอยากให้หมดไปจากใจได้

 การกำจัดความอยากให้หมดไปจากใจได้นี้

ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้ปัญญาที่พระพุทธเจ้า

ทรงค้นพบว่า ถ้าอยากจะให้ทุกข์ดับไปอย่างถาวร

ก็ต้องหยุดความอยากอย่างถาวร

ทุกครั้งที่อยากก็ต้องไม่ทำตามความอยาก

 เมื่อเราไม่ทำตามความอยาก

 ต่อไปความอยากก็จะหมดกำลังไป

 แล้วการที่เราจะหยุดการทำตามความอยากได้

เราก็ต้องเห็นว่าสิ่งที่เราอยากได้นั้นมันจะทำให้เราทุกข์

 ได้มาแล้วเดี๋ยวมันจะทำให้เราทุกข์

เพราะอะไร ได้มาแล้วเดี๋ยวมันหายไป

มันจากเราไป มันหมดไป พอมันหมดเราก็เศร้า

 เคยมีความสุขกับสิ่งที่ได้มา

 พอสิ่งที่ได้มาหายไปหรือหมดไป

ความสุขนั้นก็หายไป พอความสุขหายไป

 ความเศร้าก็เข้ามาแทนที่ ความทุกข์ก็เข้ามาแทนที่

 อันนี้เราต้องพิจารณาด้วยปัญญาถึงจะเห็นว่า

ทุกสิ่งที่เราอยากนี้มันเป็นอย่างนี้

 มันเป็นของชั่วคราว มันได้ความสุขชั่วคราว

 เดี๋ยวพอมันหมดฤทธิ์ ความสุขนั้นก็หายไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 13 มกราคม 2562
Last Update : 13 มกราคม 2562 8:58:48 น.
Counter : 476 Pageviews.

0 comment
<<< " ไตรลักษณ์" >>>











“ไตรลักษณ์”

“อนิจจัง” ก็คือชั่วคราว เกิดแล้วก็ดับ

ได้มาแล้วเดี๋ยวก็หมดไป อนิจจัง “อนัตตา” ก็คือ

ควบคุมบังคับมันไม่ได้

 สั่งให้มันอยู่กับเราไปตลอดไม่ได้

 สั่งให้มันให้ความสุขกับเราไปตลอดไม่ได้

 ไม่ช้าก็เร็วมันต้องให้ความทุกข์กับเรา

 นี่คือเห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 เห็นภัยเห็นโทษของสิ่งที่เราอยากได้

ได้มาแล้วสุขเดี๋ยวเดียวเดี๋ยวก็ทุกข์

 เช่นอยากจะได้แฟน พอได้แฟนมาใหม่ๆก็สุข

 เดี๋ยวอยู่ไปสักพักเดี๋ยวก็ทะเลาะกัน

 เดี๋ยวก็มีความเห็นไม่ตรงกัน

 หรือเดี๋ยวเขาไปคุยกับคนนั้นคนนี้

 ไม่สนใจเรา เบื่อเรา ไปเกี่ยวข้องกับคนอื่น

 ทีนี้ ความสุขที่ได้จากเขา

ก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา

 นี่คือปัญญา ต้องเห็นว่า

สิ่งที่เราคิดว่าจะให้ความสุขกับเรา

 จะมาดับความทุกข์ให้กับเรานี้ไม่เป็นความจริง

 ความจริงมันจะมาให้ความทุกข์กับเราเพิ่มมากขึ้นไป

 ด้วยการหลอกเราให้ได้รับความสุขตอนต้น

 เหมือนเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด เห็นไหม

ปลาเห็นเหยื่อมันก็น้ำลายไหล

เห็นไหม ตะครุบเหยื่อ

 พอตะครุบแล้วทีนี้ก็ตะขอเบ็ดก็เกี่ยวปาก

นั่นแหละ สิ่งต่างๆในโลกนี้

เป็นเหมือนเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด

 อย่าไปคิดว่ามันสุข มันจะกลายเป็นความทุกข์

 พอไปยุ่งกับมันแล้วทุกข์ทันที

 พอไปยุ่งเกี่ยวกับอะไร

มีอะไรขึ้นมานี้ต้องทุกข์ทันที

มีแฟนก็ต้องทุกข์กับแฟน

มีครอบครัวก็ต้องทุกข์กับครอบครัว

 มีลูกมีเต้าก็ต้องทุกข์กับลูก

มีสมบัติก็ต้องทุกข์กับสมบัติ

 มียศก็ต้องทุกข์กับยศ

 มีสรรเสริญก็ต้องทุกข์กับการนินทา

 โลกนี้สิ่งต่างๆเป็นทุกข์ทั้งนั้น

 แต่เรามองไม่เห็นกัน

 เราไม่มีปัญญา เราเห็นลาภนี้

 โอ้โห ดีใจอยากได้กัน

เห็นว่าเป็นสุขกัน

เห็นยศเห็นตำแหน่งนี่อยากได้กัน

 เห็นแล้วแหมน้ำลายไหล

เห็นการสรรเสริญได้รับรางวี่รางวัล

เห็น ไหมแข่งบอลโลก ได้รางวัลที่ ๑ นี้

โอ้โห ดีอกดีใจกัน

 แต่เดี๋ยวเดียวมันก็จางหายไป

 ตอนนี้ดีใจหายไปไหนหมดแล้ว

 แชมป์โลกที่ได้มาตอนนี้หายแล้ว

ที่นี้หิวกับรางวัลใหม่แล้ว

รางวัลเก่าหมดความหมายแล้ว

ทีนี้ก็ต้องไปล่ารางวัลใหม่

 เดี๋ยวถ้าไม่ได้ก็เสียใจแล้วซิ

 ใครจะไปได้ทุกครั้งทุกปีทุกรอบ

 มันก็ต้องมีแพ้มีชนะ ผลัดกันไป

ทุกอย่างในโลกนี้มันต้องมีขึ้นมีลง มีได้มีเสีย

ไม่มีใครที่จะได้ไปตลอด ได้ไปตลอด

ก็ต้องมาเสียดายตอนตายอยู่ดี

ถ้าไม่เสียดายตอนเป็นก็ต้องเสียดายตอนตาย

 บางคนได้ตำแหน่งไปตลอดชีวิต

แต่พอถึงเวลาตายก็ต้องเสียหมด

 เพราะฉะนั้นของทุกอย่างในโลกนี้

ท่านให้พิจารณาว่ามันไม่เที่ยง

 มันเป็นของชั่วคราว มันไม่สามารถดับความทุกข์

 มันไม่สามารถให้ความสุขกับเราไปได้ตลอด

 สิ่งที่จะทำให้เราดับความทุกข์ไปได้ตลอดก็คือ

การไม่ทำตามความอยากเท่านั้น

การหยุดความอยาก

อยากสูบบุหรี่ก็อย่าไปสูบมัน

เดี๋ยวความอยากสูบบุหรี่ก็จะหายไป

ความทุกข์ที่เกี่ยวกับบุหรี่ก็หายไป

ความอยากได้อะไรก็อย่าไปมีมัน

มีมันแล้วเดี๋ยวก็ต้องทุกข์กับสิ่งที่เราได้มา

พอไม่มีแล้วสบาย

 มีอะไรแล้วมันจะต้องทำให้เราทุกข์

 เพราะเราจะรักจะหวงจะห่วง

จะเสียดายเวลาที่มันเป็นอะไรไป

จะจากเราไป แล้วเราก็ห้ามมันไม่ได้

มันเป็นอนัตตา

 อนัตตาคือไม่อยู่ภายใต้อำนาจของเรา

 อนัตตาก็คือเป็นของธรรมชาติ

เป็นเหมือนดินฟ้าอากาศ อย่างฝนฟ้าอากาศนี้

เราไปควบคุมบังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้

 สั่งให้ฝนตกหรือห้ามไม่ให้ฝนตกนี้ทำไม่ได้

 ฝนมันจะตกก็ตก จะไม่ตกก็ไม่ตก

 ลาภยศสรรเสริญ

 ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายก็เหมือนกัน

 ไปสั่งให้มันให้ความสุขกับเราไปตลอดไม่ได้

บางเวลาก็สุขบางเวลาก็ไม่สุข

แล้วแต่ มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา นี่คือปัญญา

ที่จะทำให้เรากำจัดความทุกข์ได้หมดสิ้นไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 12 มกราคม 2562
Last Update : 12 มกราคม 2562 8:12:44 น.
Counter : 357 Pageviews.

0 comment
<<< "ความอยากไม่มีขอบเขต" >>>









“ความอยากไม่มีขอบเขต”

การทำบุญให้ทานเป็นวิธีที่จะช่วย

ตัดความอยากความต้องการต่างๆได้

ทำให้จิตใจเกิดความอิ่ม เกิดความสุขขึ้นมา

ถึงแม้จะไม่ได้มากมายก่ายกอง

 แต่อย่างน้อยก็จะช่วยดับ

หรือต้านความอยากได้ในระดับหนึ่ง

 เช่นเรามีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง

วันนี้เรามาทำบุญกัน ๕๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาท

 เงินก้อนนี้เราสามารถเลือกได้ว่าจะเอาไปทำอะไร

 จะเอาไปซื้อของตามความอยากก็ได้

 ซื้อเสื้อผ้าสักชุดหนึ่งก็ได้

ซื้อไปแล้วก็มีความสุขชั่วขณะที่ได้ของนั้นมา

 แต่ความอิ่มความพอมันไม่มี

 แต่จะมีความอยากเพิ่มขึ้นอีก

 พอได้ชุดนี้มาแล้ว เดี๋ยวไปเห็นชุดใหม่แขวนอยู่ในตู้

 เห็นว่าสวยก็อยากจะได้อีก

ถ้าเอาเงิน ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ บาทนี้มาทำบุญ

 แทนที่จะไปซื้อสิ่งที่เราอยากจะได้

ก็ทำให้เราตัดความอยากได้ในระดับหนึ่ง

 ทำให้จิตใจของเรามีความสุข

 เพราะว่าเวลาได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์

เป็นความสุขกับผู้อื่น เราจะมีความสุขใจ

 มีความอิ่มใจ แล้วเราจะทำไปเรื่อยๆ

เพราะเห็นว่าการทำบุญทำให้เรามีความสุขใจอิ่มใจ

 เพราะบุญเป็นอาหารของจิตใจนั่นเอง

ส่วนการกระทำตามความอยากนี้

เป็นเหมือนตัวพยาธิ

 ที่จะคอยทำให้เรามีความหิวอยู่เรื่อยๆ

ทำตามความอยากมากน้อยเพียงไรก็ไม่พอสักที

 คนบางคนที่หาเงินมาได้เป็นหมื่นล้านแสนล้าน

ก็ยังไม่พอ ยังอยู่เฉยๆไม่ได้

 เพราะการทำตามความอยาก

ไม่ได้ทำให้จิตใจอิ่มนั่นเอง

 แต่คนที่ทำบุญให้ทานอยู่เรื่อยๆ

จะไม่ค่อยมีความอยากเท่าไร

 มีแต่ความสุข ความสบายใจ ไม่มีอะไรก็อยู่ได้

 เพราะธรรมชาติของใจเป็นอย่างนี้

ยิ่งได้มามากเท่าไรตามความอยาก

ยิ่งมีความอยากความต้องการเพิ่มมากขึ้นไป

 ยิ่งตัดความอยากด้วยการเสียสละ

สิ่งที่ตนเองมีอยู่ไปได้เท่าไร

 ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

 แทนที่จะไปซื้อของ ไปทำตามความอยาก

 ความอยากนั้นก็จะถูกตัดไป

เมื่อถูกตัดไปกำลังของความอยาก

ก็จะอ่อนลงไปเรื่อยๆ

 ทุกครั้งที่อยากจะทำอะไรแล้ว

ไม่ทำตามความอยากนั้น

ครั้งต่อไปความอยากนั้นก็จะเบาลงไป

 เช่นอยากจะเสพสุรายาเมา

แต่ตัดสินใจว่าวันนี้จะไม่เสพ

จะไม่ดื่มวันหนึ่ง พอพรุ่งนี้

ความอยากจะดื่มก็จะเบาลงไป

 ถ้าไม่เสพไปสักระยะหนึ่ง ก็จะรู้สึกเฉยๆ

ธรรมชาติของความอยากเป็นอย่างนี้

 ยิ่งทำตามความอยากมากน้อยเพียงไร

 มันจะยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นเพียงนั้น

สังเกตดูสมัยที่เราเป็นเด็กๆ

ความอยากของเด็กๆก็เป็นระดับหนึ่ง

ได้สตางค์ไปซื้อขนมก็มีความสุขแล้ว

 แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็ต้องซื้อของที่แพงขึ้น

 ต้องใช้เงินมากขึ้น เมื่อโตเป็นหนุ่มเป็นสาว

ก็ยิ่งใช้เงินมากขึ้นไปใหญ่

พวกเราทุกคนไม่เคยมีความพอ

กับการใช้เงินใช้ทอง

 หามาได้มากน้อยเพียงไร

ก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยพอใช้

 เพราะจะมีรายจ่ายเพิ่มตามมากับรายรับเสมอ

เพราะความอยากของเรา

จะขยายแผ่วงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ

 แต่ถ้าเคยฝึกหัดใช้เงินใช้ทองตามความจำเป็น

 ก็จะมีเหลือใช้ เช่นมีเสื้อผ้าสักสองสามชุดเอาไว้ใส่

เอาไว้เปลี่ยน มีรองเท้าสักคู่สองคู่ไว้ใช้เท่าที่จำเป็น

 ก็พอแล้ว ถึงแม้จะมีเงินมีรายได้มากขึ้น

ก็ไม่ใช้เงินนั้น ก็จะมีเหลือใช้

เพราะสามารถควบคุมความอยากได้

ไม่ให้ฉุดลากให้เราไปทำตามความต้องการ

 ตามความอยากต่างๆ

เพราะความอยากไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบ ไม่มีเขต

 ถ้ามีเงินมากเราก็จะซื้อของแพงๆมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 เมื่อก่อนขับรถคันละห้าแสน

ต่อไปอาจจะขับรถคันละห้าล้านก็ได้

มันก็รถเหมือนกัน

 พาเราไปจุดสู่หมายปลายทางได้เหมือนกัน

 เพียงแต่ว่ามีรสนิยมสูงขึ้น มีราคาแพงขึ้นเท่านั้นเอง

 ปัญหาของคนเราจึงอยู่ที่การใช้เงินใช้ทอง

 ใช้ไปเท่าไรก็ไม่พอใช้เสมอ ถ้าใช้ไปตามความอยาก

 ตามความต้องการ แต่ถ้าใช้ไปตามความจำเป็น

จะมีเงินทองเหลือใช้ จะได้เอาไปทำประโยชน์

เอาไปช่วยเหลือคนอื่น เอาไปทำบุญทำทาน

ก็จะทำให้จิตใจมีความสุข มีความอิ่มมากขึ้น

 ทำให้ความอยากความต้องการสิ่งต่างๆน้อยลง

คนที่ทำบุญจริงๆจะเป็นคนสมถะ

ตัวเองจะไม่ค่อยมีสมบัติอะไรมาก

 อย่างครูบาอาจารย์ทั้งหลาย

ท่านเคยอยู่อย่างไรท่านก็อยู่อย่างนั้น

มีสมบัติแค่ ๘ ชิ้น คือบริขาร ๘ ได้แก่บาตรใบหนึ่ง

 ผ้าสามผืน มีดโกน ที่กรองน้ำ ประคดเอว ด้ายกับเข็ม

 นี่เป็นสมบัติ ๘ ชิ้นของท่าน

มีคนบริจาคมากี่ร้อยล้าน กี่พันล้าน

ท่านก็ไม่ได้เอามาซื้อข้าวของมาใช้กับตัวท่านเอง

 มีเท่าไรท่านก็เอาไปทำประโยชน์หมด

เวลาเราเห็นคนตกทุกข์ได้ยากแล้วได้รับการเยียวยา

 ได้รับความช่วยเหลือ ทำให้เรามีความสุขใจ

 พอเวลาเราตกทุกข์ได้ยาก

 แล้วมีคนยื่นมือมาช่วยเหลือ เราจะดีอกดีใจ

 มีความสุขมาก แล้วความสุขนั้น

ก็จะกลับมาหาเราเอง

ทำความสุขให้กับผู้อื่น สุขนั้นก็จะกลับมาหาเรา

 ทำความทุกข์ให้กับผู้อื่น ทุกข์นั้นก็จะกลับมาหาเรา

 ถ้าไปเบียดเบียนผู้อื่น ไปสร้างความทุกข์

 ความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับผู้อื่น

 ความทุกข์ความเจ็บช้ำน้ำใจนั้นก็จะกลับมาหาเรา

 เวลาเราไปทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

เราก็ไม่สบายใจ วิตกกังวล

 เพราะโดยธรรมชาติเมื่อเขาเจ็บ

เขาก็ต้องอยากทำให้เราเจ็บเหมือนกัน

 เมื่อเราไม่อยากจะเจ็บ ก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา

 เกิดความวิตกขึ้นมา เป็นความทุกข์ขึ้นมา

 ส่วนเวลาเราช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข

 เราก็รู้ว่าเขาจะไม่มาทำร้ายเรา

 เพราะเขามีความขอบอกขอบใจอยู่ในจิตในใจของเขา

 มีแต่คิดจะหาเวลา หาโอกาสที่จะตอบแทนบุญคุณ

 ทั้งๆที่เราก็ไม่ได้ไปหวังอะไรจากเขา

เพราะการทำบุญที่จะให้เกิดความสุขที่แท้จริง

 ต้องทำโดยปราศจากการหวังผลตอบแทน

 จากผู้ที่เราให้ความช่วยเหลือ

 เราช่วยเหลือด้วยความบริสุทธิ์ใจ

 เห็นเขาทุกข์ เห็นเขายาก เห็นเขาลำบาก

ก็อยากจะให้เขาได้พ้นจากความทุกข์

ความยากความลำบาก เราก็ทำไป

 ถ้าทำอย่างนั้นแล้วเราจะมีความสุข

 แต่ถ้าเราทำโดยหวังให้เขาสำนึกในบุญคุณ

 แต่เขากลับไม่สำนึก เราก็จะเสียใจ หรือไม่พอใจ

ถ้าทำแบบนั้นก็ไม่ได้เป็นการทำบุญ

 เป็นการค้าขายมากกว่า เป็นการแลกเปลี่ยน

 ฉันทำอย่างนี้ให้กับเธอๆจะต้องทำอย่างนี้ให้กับฉัน

เธอต้องขอบอกขอบใจ

สำนึกในบุญคุณที่ฉันได้ทำให้กับเธอ

 อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการทำบุญ

แต่เป็นการแลกเปลี่ยน ที่ไม่มีผลทางด้านจิตใจ

เหมือนกับเราทำมาค้าขาย คนมาซื้อของ

 เราก็ขายไป เราได้เงินมา ก็เท่านั้น

หรือเราไปซื้อของ เราได้ของมา เขาได้เงินไป

 ไม่มีความอิ่มเอิบใจแต่อย่างใด

แต่ถ้าเราเอาเงินนี้ไปแจกไปจ่าย

 โดยไม่ต้องการอะไรเป็นเครื่องตอบแทน

เราจะมีความสุขใจ

ได้คลายความยึดติดอยู่ในเงินก้อนนั้น

 เงินก้อนนั้นๆก็หมดภาระกับเราไป

 หมดห่วง หมดกังวล หมดความเสียดาย

 เงินก้อนเดียวกันนี้ถ้าให้ไปด้วยความสมัครใจ

ก็จะเป็นความสุข แต่ถ้าหลุดมือไป

โดยที่เรายังไม่พร้อม ไม่ได้ตั้งใจ

เช่นโดนขโมยไป หรือหายไป

 เราจะรู้สึกเสียใจและเสียดาย

 เงินก้อนเดียวกันแต่มีความแตกต่างกัน

 เพราะจิตเรายังไม่ได้คลายความยึดติดกับเงินก้อนนี้

 ยังถือว่าเป็นของฉัน พอหายไปก็วุ่นวายใจ

เสียใจและเสียดาย แต่ถ้าตั้งใจไว้แล้วว่า

จะเอาเงินก้อนนี้ไปทำบุญ ก็จะเป็นของบุญไปแล้ว

 ไม่ใช่เป็นของเรา พอหายไปก็จะไม่เสียใจอะไร

 เพราะตั้งใจเอาไปทำบุญอยู่แล้ว

 ถ้าหายไป ถูกขโมยไป ก็ถือว่าเป็นการทำบุญไป

 เราก็จะไม่เสียใจ

การทำบุญอยู่เรื่อยๆ ทำให้เราไม่ค่อยมีความทุกข์

กับการพลัดพราก จากวัตถุข้าวของต่างๆ

 เพราะเราให้อยู่อย่างสม่ำเสมอ

 พอมีขโมยขึ้นบ้านมาขโมยข้าวของไป ก็จะรู้สึกว่าดี

ไม่ต้องขนข้าวของไปทำบุญให้เสียเวลา

 มีคนมาขนให้เราถึงที่บ้านเลย

 แล้วเราก็มีโอกาสได้ซื้อของใหม่ๆมาใช้

เช่นเขายกเอาโทรทัศน์เครื่องเก่าไป

 เราก็จะได้ใช้เครื่องใหม่

 เพราะโดยปกติเราเป็นคนสมถะ

 ก็ไม่อยากจะใช้ของที่ไม่จำเป็น

 เงินที่จะซื้อเครื่องใหม่ก็มีอยู่

 แต่เมื่อเครื่องเก่ายังใช้ได้อยู่

 ก็ไม่อยากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์

แต่เมื่อถูกขโมยไปแล้ว ก็มีความจำเป็น

ให้เราซื้อเครื่องใหม่ ซื้อเครื่องใหม่แบบนี้

ไม่ได้ซื้อตามความอยาก ไม่เป็นกิเลส

ไม่เป็นความทุกข์ เพราะเป็นความจำเป็น

 อย่างนี้ก็เป็นความสุข คนที่ขโมยก็ได้เครื่องเก่าไป

เราก็ได้เครื่องใหม่มาดู

นี่คือความคิดของผู้ที่ทำบุญอยู่เรื่อยๆ

 จิตใจเขาเป็นอย่างนั้น

 เวลาสูญเสียอะไรจะไม่ร้องห่มร้องไห้

 ไม่โวยวาย ไม่วุ่นวายใจ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

 เพราะอยู่ในโลกของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่นี้

 เป็นสมบัติชั่วคราวเท่านั้นเอง

 ไม่ใช่สมบัติที่แท้จริงของเรา

 ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็จะต้องจากกันไป

 เป็นความจริงของโลก.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

กำลังใจ ๒๐, กัณฑ์ที่ ๒๓๔

วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๙






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 11 มกราคม 2562
Last Update : 11 มกราคม 2562 9:15:33 น.
Counter : 466 Pageviews.

1 comment
<<< "โชคดีที่ได้พบพระพุทธศาสนา" >>>









“โชคดีที่ได้พบพระพุทธศาสนา”

คนเรามีความแตกต่างกันที่ศีลธรรม

 วัดความสูงต่ำของคนด้วยศีลธรรม

 ผู้ที่มีศีลมากกว่าเป็นผู้ที่สูงกว่า

ผู้ที่มีศีลน้อยกว่าก็ให้ความเคารพ แม้จะเป็นพ่อแม่

 ถ้าลูกบวชเป็นพระพ่อแม่ก็จะกราบลูก

 กราบเพราะศีล ความสูงความประเสริฐของคน

ไม่ได้อยู่ที่ฐานะ ไม่ได้อยู่ที่อายุ ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง

 แต่ก็ให้เกียรติกันตามสมมุติ มีหัวหน้ามีลูกน้อง

 ลูกน้องก็ต้องเคารพหัวหน้า

เพราะหัวหน้าเป็นคนให้เงินเดือน

 ไม่ได้เคารพเพราะมีศีลมากกว่า

 เพราะไม่รู้ว่าใครมีศีลมากน้อยกว่ากัน

ถ้าหัวหน้าชอบกินเหล้าแต่ลูกน้องไม่ชอบ

 หัวหน้าชอบพูดปดมดเท็จแต่ลูกน้องไม่ชอบ

ถ้าวัดตามหลักศีลธรรมแล้ว

 ลูกน้องก็ต้องสูงกว่าหัวหน้า

แต่ในโลกสมมุติจะไม่ถือหลักนี้

 จะถือหลักว่าใครมีตำแหน่งสูงกว่า

ก็ต้องให้ความเคารพ เช่นทหารตำรวจ

จ่าก็ต้องเคารพนายร้อย

นายร้อยก็ต้องเคารพนายพัน

 นายพันก็ต้องเคารพนายพล

 แต่คนที่มียศสูงๆแต่ไม่มีศีลธรรมก็มีเยอะแยะไป

 ไม่น่าเคารพเลื่อมใส

 แต่ก็ต้องเคารพกันไปตามกฎของสมมุติ

 เป็นเหมือนโรงละคร

โลกเรานี้เป็นเหมือนโรงละครโรงใหญ่

 แต่ละคนก็มีบทบาทของตน

 เราจึงต้องแยกแยะความสูงต่ำไว้เป็น ๒ ส่วน

คือ ส่วนของสมมุติและส่วนของศีลธรรม

ส่วนของสมมุติก็แบ่งตามตำแหน่งตามยศต่างๆ

 ส่วนของศีลธรรม ก็แบ่งตามศีลตามคุณธรรม

ที่มากน้อยต่างกัน เช่นพระโสดาบัน

ก็ต่ำกว่าพระสกิทาคามี

 พระสกิทาคามีก็ต่ำกว่าพระอนาคามี

 พระอนาคามีก็ต่ำกว่าพระอรหันต์

ทางธรรมจะวัดกันอย่างนี้

ความสูงต่ำของทางโลกไม่จีรังถาวร

 ไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริง คุณค่าที่แท้จริง

อยู่ที่ความสูงต่ำในคุณธรรม

 ผู้ที่สูงในทางธรรมจะไม่ถือว่าตนสูง

ไม่ได้อยากให้ผู้อื่นแสดงความเคารพนับถือ

 ยิ่งสูงยิ่งไม่อยาก จนไม่มีความอยากเลย

 ต่างกับทางโลก ยิ่งสูงเท่าไหร่

ยิ่งอยากให้แสดงความเคารพนับถือมากยิ่งขึ้น

 เพราะทางโลกเป็นทางของกิเลส

ของความหลงในอัตตาตัวตน หารู้ไม่ว่าไม่มีตัวตน

ในทางธรรมนี้เมื่อปฏิบัติไป

ก็จะเข้าใจความเป็นตัวตนมากขึ้นไปเรื่อยๆ

จะรู้ว่าตัวตนเป็นความหลงที่ติดมากับความรู้สึกนึกคิด

 คิดว่าตัวรู้คือจิตนี้เป็นตัวเป็นตน

 แต่ความจริงจิตก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง

 เหมือนกับดินน้ำลมไฟ เมื่อมารวมกัน

ก็ปรากฏเป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา

สัตว์ก็มีธาตุ ๔ และธาตุรู้มารวมกัน

 มนุษย์ก็มีธาตุ ๔ และธาตุรู้มารวมกัน

 มนุษย์และสัตว์ต่างกันก็ตรงที่ศีลธรรม

 สัตว์แทบจะไม่มีศีลธรรมเลยคือศีล ๕

มนุษย์มีวิสัยที่จะรักษาศีล ๕ ได้

 เพราะมีสติปัญญาที่จะรู้ว่าศีล ๕ มีอะไรบ้าง

 มีความสำคัญอย่างไร แต่สัตว์เดรัจฉานไม่มีสติปัญญา

ที่จะรู้คุณค่าของศีล ๕ จึงต้องทำผิดศีล

เพราะคิดว่าเป็นการอยู่รอดของเขา

 เช่นเวลาหิวก็ต้องกินสัตว์เล็กสัตว์น้อย

สัตว์ใหญ่ก็กินสัตว์ที่เล็กกว่าเป็นอาหาร

 แต่มนุษย์สามารถแยกแยะได้

ว่าสามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ต้องฆ่าผู้อื่น

 อาหารของมนุษย์นี้ถ้าไม่ใช่เป็นสัตว์ที่ตายแล้ว

 ก็มีอย่างอื่นที่รับประทานได้

พวกผักพวกข้าวต่างก็เป็นอาหารได้

เรื่องทั้งหมดนี้อยู่ในธาตุรู้คือจิต ถ้ามีความหลง

ก็จะไม่รู้ว่าเป็นอะไร จะตกอยู่ภายใต้อำนาจ

ของความโลภของความอยาก

 อยากจะได้อะไรอยากจะทำอะไรอยากจะมีอะไร

ก็จะแสวงหามาด้วยวิธีการต่างๆ

ถ้าหามาโดยวิธีที่สุจริตไม่ได้

 ก็จะหามาโดยวิธีที่ทุจริต จิตที่มีความรู้สึกสำนึกคิด

ว่าการที่จะอยู่อย่างมีความสุข

อยู่อย่างเจริญก้าวหน้านั้น

 ต้องตั้งอยู่ในศีลในธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

 ก็จะบำเพ็ญรักษาศีล มีความเมตตากรุณา

 เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงสารผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก

 ถ้าพอจะช่วยเหลือกันได้ก็จะช่วย

เพราะทำแล้วมีความสุข จะพัฒนาตนไปเรื่อยๆ

จนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้า

ในบางภพบางชาติ
 ถ้าเป็นบุญเป็นกุศลเป็นโชควาสนา

 ก็จะได้พบกับพระพุทธเจ้าหรือได้พบกับพระพุทธศาสนา

 อย่างพวกเรา ชาตินี้เราก็โชคดี

 ที่ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

ได้พบกับพระสาวกของพระพุทธเจ้า

ที่สอนให้ไปในทางที่ถูกที่ชอบที่ควร

 ซึ่งเป็นทางที่เรากำลังไปอยู่แล้ว

เราชอบเรายินดีที่จะไปทางนี้อยู่แล้ว

 เพียงแต่ยังไปไม่ได้ไกล และยังไม่รู้วิธี

ที่จะพาให้ไปให้ไกลที่สุด พอได้เจอพระสาวก

เจอพระศาสนาของพระพุทธเจ้า

ก็ช่วยให้การปฏิบัติของเราก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

 ดีกว่าปฏิบัติไปตามความรู้ที่มีอยู่

 ที่ต้องค่อยๆคลำทางไปทีละเล็กทีละน้อย

 เหมือนกับมีคนขับรถผ่านมาแล้วจอดรับเรา

 ขึ้นมาซิ ไปด้วยกัน นั่งรถไปจะเร็วกว่าเดินไปเอง

 การได้พบกับพระพุทธศาสนาก็เหมือนได้พบคนที่ขับรถ

ที่มีความเมตตาสงสาร เห็นเราเดินแบกข้าวของ

 เดินกลางแดดกลางฝน เหนื่อยยากลำบากลำบน

 ก็ชวนให้นั่งรถไปกับเขา

นี่คือความเมตตาของพระพุทธเจ้า

 ที่ทรงเป็นเหมือนเจ้าของรถ

 เห็นพวกเราเดินอยู่กลางแดด ก็สงสาร ไม่ใจแคบ

 ก็จอดรถรับ แต่พวกเราไม่ค่อยชอบขึ้นกัน

 กลัวจะต้องเสียค่ารถ

 เพราะต้องถือศีล ๘ ต้องไปอยู่วัด

 ต้องจากสามีจากภรรยา ไม่ได้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่

 ไม่ได้ทำตามใจชอบ ต้องปรับตัวปรับใจ

ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

 จึงควรตักตวงโอกาสที่ดีนี้

 ไม่มีโอกาสอย่างนี้อีกแล้ว นานๆจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง

 ผ่านไปแล้วก็ต้องคลำทางไปเอง

พอโอกาสหน้าได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

 พระศาสนาก็อาจจะหมดไปแล้ว

 จะไม่มีใครรู้เรื่องพระศาสนา

 อาจจะมีแต่คัมภีร์เก็บไว้ในตู้

แต่ไม่มีใครอ่าน ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครอธิบาย

 ต้องคลำทางไปเอง ตอนนี้ยังมีโอกาสที่จะศึกษา

 จึงควรฟังเทศน์ฟังธรรมไปเรื่อยๆ

 ฟังแล้วก็นำเอาไปใคร่ครวญพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

 เพราะนี่คือบ่อเกิดของปัญญา

ที่จะพาเราไปสู่มรรคผลนิพพาน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...............................

กำลังใจ ๔๐,กัณฑ์ที่ ๓๘๑

วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๑







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 มกราคม 2562
Last Update : 10 มกราคม 2562 8:13:36 น.
Counter : 361 Pageviews.

0 comment
<<< "ความจริงของจิตใจ" >>>









“ความจริงของจิตใจ”

เวลาเห็นอะไรก็ให้รู้เฉยๆ ให้สักแต่ว่ารู้

แล้วอย่าไปยุ่งกับมัน

มันจะดีหรือไม่ดีก็ไม่มีปัญหา

 ที่เป็นปัญหาเพราะเราไปยุ่งกับมัน รู้เฉยๆ

 รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ รู้เฉยๆ

 แต่ถ้าอยากรู้ว่ามันเป็นอะไรก็ต้องไปค้นหาคำตอบ

 และคำตอบที่ได้ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง

 จะทำให้เป็นทุกข์ เช่น เห็นอะไรถ้าเขาบอกว่าดี

ก็อยากได้ พอได้มาก็ต้องคอยดูแลรักษามัน

 และถ้าหายไปก็เสียใจ สู้ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรดีกว่า

 จะได้ไม่ไปเอามัน พอได้มาแล้ว

มันก็ต้องเสียและจากเราไป เพราะของต่างๆ

ที่เราได้มาในโลกนี้ เราต้องทิ้งหมด

 ร่างกายก็เอาไปไม่ได้ เรามาก็มาตัวเปล่าๆ

ไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ เวลาอยู่ก็วุ่นวายอยากได้

 พอได้แล้วต้องจากก็เสียใจเศร้าใจ

 นี่เป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้อง

 ความรู้ที่ได้จากปู่ย่าตายาย

 จากโรงเรียน ให้ข้อมูลที่ผิด

 ที่จะทำให้เราวุ่นวายใจกัน

 มีที่เดียวในโลกที่ให้ข้อมูลที่สบายใจ

 แต่เรากลับไม่ชอบ

พระพระพุทธเจ้าทรงสอนตามจริง

 แต่เราไม่ชอบเรียนกับพระพุทธเจ้า

 แล้วก็ไม่สบายใจกัน

 ทรงบอกว่าของทุกอย่างไม่เที่ยง มาแล้วก็ไป

 เจริญแล้วก็เสื่อม เดี๋ยวดีเดี๋ยวไม่ดี แล้วก็หายไป

บังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ ทุกสิ่งในโลกนี้เป็นอย่างนี้

 นี่เป็นความรู้จริง ทำให้เราสบายใจ

 สู้ไม่มีอะไรดีกว่า ได้อะไรมาก็ต้องจากกัน

 แต่ไม่มีใครได้รับการสั่งสอนแต่เด็ก

 มีแต่สอนว่าเงินทองดี แต่งงานดี มีลูกมีเต้าดี

 สิ่งเหล่านี้มีแต่ทำให้เราไม่สบายใจ

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พระใช้ผ้าห่อศพ

 ผ้าบังสุกุลที่เขาทิ้งในป่าช้า

 เพราะไม่มีใครอยากได้

 ที่อยู่อาศัยก็อยู่ตามโคนไม้ อยู่ในป่าในถ้ำ

 ไม่ต้องกังวลกับสิ่งที่มี ต่อมามีคนบวชมากขึ้น

ผ้าในป่าไม่พอใช้ พระพุทธเจ้าจึงต้องสอน

ญาติโยมถวายผ้ากฐิน

 และทรงบอกว่ามีอานิสงส์ (ประโยชน์) มาก

 แต่คนคิดว่าได้บุญมาก ความจริงได้ประโยชน์มาก

สำหรับผู้ใช้ ผ้ากฐินต่างจากผ้าบังสุกุล

ที่เรียกว่า “ผ้าป่า”

 ผ้ากฐินเป็นผ้าขาวที่ยังไม่ได้ตัดเย็บเป็นจีวร

ให้พระท่านตัดเอง

เพราะญาติโยมไม่รู้วิธีตัดผ้าของพระ

 การถวายผ้าป่าผ้ากฐินได้บุญเหมือนกัน

 เหมือนการใส่บาตร แต่คนสมัยนี้แปลว่า

ถวายผ้ากฐินจะได้บุญมาก

 จะถวายผ้าอะไรได้บุญเท่ากัน

 บุญอยู่ที่ปริมาณของผู้ที่ได้เสียสละไป

เช่น ถวายผ้าห้าผืนได้บุญมากกว่าถวายสองผืน

 เพราะได้เสียสละมาก

พอรู้ว่าคนรับได้ประโยชน์ก็มีความสุขใจ ก็คือบุญ

 ให้มากก็สุขใจมาก ให้น้อยก็สุขใจน้อย

ไม่ได้อยู่ที่ว่าให้แบบไหน

 ว่าเป็นผ้าป่าหรือผ้ากฐิน เพราะจะได้ประโยชน์

 เพราะจะได้มีผ้าไว้เปลี่ยนเวลาฝนตก

 และไม่จำเป็นต้องรอปีหนึ่งถวายครั้งหนึ่ง

 เพราะคิดว่าเป็นบุญใหญ่ ถวายได้ตลอดปี

 เรื่องตักบาตรก็ไม่ต้องรอตักบาตรเทโวตอนออกพรรษา

 บางคนรอตักบาตรเทโวเพราะคิดว่า

ได้บุญมากกว่าใส่บาตรธรรมดา

ใส่บาตรพระองค์ไหนตอนไหนได้บุญเหมือนกัน

 แต่ต่างกันที่พระอรหันต์ความรู้มากกว่าพระทั่วไป

 เหมือนเด็กจบ ม. ๖ และจบปริญญา

 คนจบปริญญามีความรู้มากกว่าเด็กจบ ม. ๖

ประโยชน์ที่ผู้ทำบุญจะได้รับคือ

ได้ความรู้ทางธรรมต่างกัน

พระอรหันต์สามารถสอนธรรมะ

ให้เราใช้ปลดเปลื้องความทุกข์

ให้หมดไปจากใจของเราได้

ถ้าเลือกทำบุญกับพระที่มีความรู้

จะได้ยินได้ฟังคำสอนของท่าน

 บุญจากการใส่บาตรคือบุญจากการเสียสละ

 และถ้าฟังธรรมก็ได้บุญจากการฟังเทศน์ฟังธรรม

ถ้าอยากได้ธรรมะก็ต้องไปหาองค์ที่มีธรรมะ

และให้ธรรมะได้ ถ้าอยากได้รับผลมาก

ก็ต้องเลือกพระที่มีความรู้มาก จะได้สองต่อ

คือหนึ่งได้สละเงินทอง สองได้ความรู้ทางธรรม

 ถ้าเสียสละเงินทองจะทำกับใครก็ได้

ได้ความสุขใจอิ่มใจเหมือนกัน

ถ้าทำกับสุนัขอย่างมากก็เฝ้าบ้านให้เรา

 แต่ไม่ได้รับความรู้อะไร ถ้าทำบุญที่โรงเรียน

ครูก็อาจจะบอกวิชาความรู้

 ถ้าทำบุญกับโรงพยาบาล

หมอก็อาจคุยเรื่องวิธีรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

 แต่บุญได้เท่ากันถ้าเสียสละเงินทองเท่ากัน

 ความรู้สึกของผู้ให้เหมือนกัน

 แต่ประโยชน์อยู่ที่ผู้รับว่าเขาจะให้อะไรแก่เรา

ถ้าทำบุญกับพระที่มีความรู้ก็ได้ความรู้

 ก็ต้องหาพระที่มีความรู้มากก็จะได้ความรู้มาก

 ความรู้ทางศาสนาก็เหมือนกับความรู้ทางโลก

 มีระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา

ถ้าไปทำกับพระระดับประถมก็ได้ความรู้ระดับประถม

 คือทำบุญทำทาน บริจาคสร้างกุฎิ โบสถ์ เจดีย์

มีน้อยที่จะให้มารักษาศีลซึ่งจะเป็นระดับมัธยม

 แต่ไม่ได้สอนวิธีให้จิตรวมเป็นสมาธิ

นอกจากนี้ยังมีระดับปริญญา

 สอนว่าทำอย่างไรจึงจะได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล

 เป็นระดับอุดมศึกษา ถ้าบรรลุเป็นพระโสดาบัน

ก็เหมือนได้ปริญญาตรี ถ้าเป็นพระสกิทาคามี

พระอนาคามีก็เหมือนจบปริญญาโท

 เป็นพระอรหันต์ก็จบปริญญาเอก

 นี่คือสิ่งที่เราจะได้รับจากการทำบุญของเรา

จากผู้รับว่าเขามีอะไรเขาก็จะให้เรา

บางองค์ก็พูดสองสามคำ

 ให้ทำบุญ รักษาศีล ภาวนา

ถ้าอยากรู้ก็คุยต่อว่าทำทานทำอย่างไร

 รักษาศีลรักษาอย่างไร ภาวนาทำอย่างไร

บางคนไม่สนใจ ถวายอาหารเสร็จก็กลับ

 ท่านก็ไม่ต้องสอน บางคนไม่เข้าใจ

 ไม่อยู่ฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ถาม

 พอเฉย ท่านก็เฉย ที่บอกทำบุญกับพระอรหันต์

 ต้องไปขอธรรมะจากท่าน

 ต้องได้ยินได้ฟังคำสอนของท่าน

บางคนไม่เข้าใจ เดินทางไปไกล

ไปแค่ใส่บาตรแล้วก็กลับ จะได้บุญอีกต่อ

ก็ต้องฟังธรรมจากท่าน

 บุญที่ได้ความรู้จากการฟังธรรมสูงกว่า

บุญที่ได้จากการทำบุญทำทาน

 ทำทานอย่างเดียวแต่ไม่รักษาศีลก็ต้องไปอบาย

 ถ้ามีบุญติดตัวไปและถ้าไปเกิดเป็นเดรัจฉาน

 เช่น เกิดเป็นหมา ก็เป็นหมาที่น่ารักมีคนเลี้ยงดู

 ไม่อยู่แบบอนาถา นี่คืออานิสงส์ที่เราทำบุญกัน

 ถ้าจะไปสวรรค์ต้องรักษาศีลด้วย

 เพราะบาปที่ทำจะดึงไปอบายไปก่อน

บุญยังไม่ส่งผลหรือส่งผลก็เป็นหมา แมว ปลาสวยๆ

 ถ้าไม่ทำบุญเลยอาจจะไปเกิดเป็นหมาขี้เรื้อน

น่าเกลียดน่ากลัว

ถ้ารักษาศีลด้วยและมีบุญก็ไปเกิดเป็นเทวดา

 ชั้นสูงหรือชั้นต่ำก็ขึ้นอยู่กับบุญมากหรือน้อย

ชั้นสูงก็มีความสุขมากกว่าชั้นต่ำ

 เหมือนแทงลอตเตอรี่ แทงมากก็ได้รางวัลมาก

ทำบุญมากก็ได้มาก ไม่ต้องรอกฐิน

 ใครชวนทำผ้าป่าก็ทำไปเลย

นี่คือความรู้ทางศาสนาพุทธ แต่ที่เป็นแก่นจริงๆ

 คือทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา

ของดีของไม่ดีจะทำให้เราทุกข์ เสื้อผ้าราคาแพงๆ

 ชุดละหมื่นสองหมื่นจะทำให้ไม่สบายใจ

 เพราะต้องคอยดูแล

 นาฬิกาเรือนเป็นแสน ซ่อมทีเป็นหมื่น

ก็บอกเวลาได้เหมือนกับนาฬิการาคาสามสี่พัน

รถยนต์ก็เหมือนกัน ราคาหลายล้าน

 ซ่อมทีก็หลายแสน ยิ่งใช้ของดีของแพง

ยิ่งต้องวุ่นวายไปกับมัน ต้องดูการใช้งาน

 รถห้าแสนกับรถห้าล้านก็พาไปถึงได้เหมือนกัน

 ยิ่งของราคาแพงค่ารักษาค่าวิตกกังวลก็มีมากกว่า

 ใช้ของราคาถูกแต่ได้ประโยชน์เหมือนกันจะดีกว่า

 เพชรแท้กับเพชรเก๊มีใครรู้หรือเปล่า

ใช้ของไม่แพงจะทำให้สบายใจกว่า

 ความดิ้นรนจะน้อยกว่า

ไม่ต้องดิ้นรนและเสี่ยงกับการทำบาปด้วย

ทำบาปแล้วจะทำให้ไม่สบายใจในเบื้องต้น

 และต้องไปรับกรรมถ้าทำผิดกฎหมาย

 แม้ไม่ถูกจับก็ต้องไปติดคุกในอบาย

หนีไม่ได้ เป็นอัตโนมัติ คุกในปัจจุบันอาจหนีได้

แต่หนีอบายไม่ได้

 คนที่ทำบาปไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป

 คิดว่าตายแล้วก็จบ ร่างกายตายแล้วจบ

 แต่คนสั่งร่างกายคือเราไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 เราคือใจเป็นคนสั่งและรับผลจากการกระทำ

 ร่างกายไม่รู้เรื่อง เป็นเหมือนรถยนต์

 เวลาทำผิดเขาจับคนขับไม่ได้จับรถยนต์

 แต่เขาไม่รู้ก็จับร่างกายไปขังคุกตะราง

 แต่ความจริงร่างกายไม่ใช่คนที่รับผลจริงๆ

 คนที่ทำบาปก็ต้องไปรับผลต่อ

 แต่เราไม่มีตาที่จะเห็นได้

ก็คิดว่าทำดีทำชั่วขนาดไหน

ถ้าไม่ได้รับผลตอนมีชีวิตอยู่

พอตายไปแล้วก็ไม่ต้องรับผล

 แต่สิ่งที่ต้องไปรับคือความสุขและความทุกข์

ที่ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 เหมือนอยู่ในโลกของความฝัน

 จะฝันดีฝันร้าย ร่างกายนอนนิ่ง

แต่ใจไปต่อในรูปแบบของความฝัน

 ฝันดีเพราะทำบุญ ฝันไม่ดีเพราะทำบาป

 เป็นสภาพที่ร่างกายตายไปแล้ว

ใจจะอยู่ในโลกของความฝัน

ถ้ายังไม่ตายพอรู้สึกตัวก็ตื่นขึ้นมา

เช่น ตอนฝัน ฝันเป็นเศรษฐี

พอตื่นขึ้นมาเป็นแม่ค้าขายกับข้าว

 แล้วพอตอนตายไปก็ไปเป็นเศรษฐี

เพราะใส่บาตรทุกวัน

นี่คือความจริงของจิตใจของพวกเรา

 เวลานี้ร่างกายก็ไปตาม

ความสามารถของร่างกายที่ทำได้

 พอตายไป บุญจะทำให้ใจได้ฝันดี

 ถ้าทำบาปจะทำให้ใจฝันร้าย

 คนทำบาปจึงนอนไม่หลับเพราะกลัวฝันร้าย

 นอนไม่หลับก็ทุกข์อีก

 นี่คือเรื่องของบุญและบาปที่จะไปรับกัน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ ๒๕๖๑







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 09 มกราคม 2562
Last Update : 9 มกราคม 2562 8:28:11 น.
Counter : 475 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ