Group Blog
All Blog
<<< "ปัญญาในพระพุทธศาสนา" >>>









“ปัญญาในพระพุทธศาสนา”

คนทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้

มีความปรารถนาอยากจะเป็นคนฉลาด

 เป็นคนมีความรู้มีปัญญาด้วยกันทุกคน

 แต่ความฉลาดความรู้มีปัญญา

ไม่ได้เกิดจากความปรารถนาโดยถ่ายเดียว

 แต่เกิดจากการกระทำของแต่ละคน

 เกิดจากความขยันหมั่นเพียร ความอดทน

 ความใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษาหาความรู้ต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้

 ถ้ามีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทน

มีความใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา พยายามแสวงหา

ความรู้จากผู้รู้ทั้งหลายแล้ว

ในที่สุดก็จะเป็นคนฉลาดได้ 

ความรู้ที่มีในโลกนี้แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ

 คือความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรม

 ความรู้ทางโลกได้แก่เรื่องราวต่างๆ ภายนอกตัวเรา

 เช่นวิชาวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ พาณิชยศาสตร์

 หรือความรู้อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ

เรื่องราวภายนอกทั้งหลายเรียกว่าวิชาทางโลก

 ส่วนวิชาทางธรรมจะเกี่ยวข้องกับ

ความรู้ทั้งสองประเภท

 คือทั้งเรื่องในตัวเราและเรื่องนอกตัวเรา

 เรื่องราวอะไรก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตใจ

 มาสัมผัสกับจิตใจ และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ

 เช่น สุขทุกข์เป็นต้น เรียกว่าวิชาทางธรรม

ถึงแม้จะได้ศึกษาวิชาทางโลกมามากมายเพียงไรก็ตาม

 แต่ความรู้ทางโลกกลับไม่สามารถใช้

เป็นเครื่องดับความทุกข์ในจิตใจได้เลย

สังเกตดูได้กับคนบางคนที่ได้เรียนสูงๆ

จนสำเร็จปริญญาตรี โท เอก เวลามีความทุกข์ขึ้นมา

กลับไม่รู้จักวิธีระงับดับความทุกข์นั้นๆ มักจะใช้วิธีผิดๆ

 เช่นฆ่าตัวตายเป็นต้น โดยคิดว่าการฆ่าตัวตายนั้น

เป็นการดับทุกข์ ถ้าหากได้ศึกษาวิชาทางธรรม

จะรู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ ไม่ได้เกิดที่ร่างกาย

ทำลายร่างกายไม่ได้ดับทุกข์ในจิตใจไปด้วย

 จิตใจก็ยังทุกข์อยู่ เพราะว่าร่างกายและจิตใจ

เป็นคนละอย่างกัน ร่างกายเป็นอย่างหนึ่ง

 จิตใจเป็นอย่างหนึ่ง จิตใจเป็นนาย ร่างกายเป็นบ่าว

จิตใจเป็นผู้สั่งการให้ร่างกายไปกระทำสิ่งต่างๆ

 ให้พูดก็ดี ให้เดินก็ดี จิตใจเป็นผู้สั่งงาน

และเป็นผู้รับผล ถ้าทำในสิ่งที่ดีงามก็เกิดความสุขใจ

ถ้าทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามก็เกิดความทุกข์ใจ

การที่จะแก้ปัญหาความทุกข์ของจิตใจ

จึงต้องหาสาเหตุว่า ความทุกข์ของจิตใจ

เกิดขึ้นมาจากอะไร ร่างกายไม่ใช่ต้นเหตุ

ของความทุกข์ทางจิตใจ หลักธรรมแสดงไว้ว่า

ความทุกข์ของจิตใจเกิดจากตัณหาความอยากทั้งหลาย

 ตัณหามีอยู่ ๓ ประเภท

 คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 กามตัณหาคือความอยากในกาม

หมายถึงกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 เป็นสิ่งที่จิตใจปรารถนาอยากที่จะได้สัมผัสอยู่เสมอๆ

 ถ้าไม่ได้สัมผัสจะเกิดอาการทุกข์ใจขึ้นมา

 อย่างเวลาที่อยู่บ้านเฉยๆ จิตใจจะมีความหงุดหงิด

 มีความกระวนกระวาย ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร

แต่ถ้าได้ออกไปนอกบ้าน ได้ไปดู ได้ไปฟัง

ได้ไปดมกลิ่น ได้ไปลิ้มรส ได้ไปสัมผัสกับอะไรต่างๆ

 จิตใจจะมีความเบิกบาน มีความสุขใจ

เป็นการติดกามสุข มีกามตัณหาเป็นต้นเหตุ

 ถ้าไม่ได้สัมผัสก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา

ต่างกับคนที่ไม่มีความอยากในกาม

ไม่มีกามตัณหา สามารถอยู่บ้านได้ อยู่เฉยๆได้

 ไม่ต้องดูหนังดูละคร ไม่ต้องฟังเพลงก็มีความสุขได้

 เพราะจิตใจไม่มีความอยากในเรื่องกามทั้งหลาย

 ไม่มีกามตัณหาก็ไม่มีความทุกข์

 ถ้ามีกามตัณหาก็ต้องมีความทุกข์

วิชาทางธรรมสอนว่า

 ความสุขความทุกข์ที่แท้จริงอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ภายนอก

 ภายนอกนั้นเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความทุกข์

หรือความสุขขึ้นมาภายในใจ ถ้าใจไม่อยาก ใจก็สุข

ถ้าใจอยาก ใจก็ทุกข์ วิชาทางโลกเป็นความรู้

ที่ใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

 เพราะว่าร่างกายต้องอาศัยปัจจัย ๔ คืออาหาร

 เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

 ถ้าขาดปัจจัย ๔ ร่างกายก็อยู่ไม่ได้

 เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องศึกษาวิชาทางโลก

เพื่อจะได้มีวิชาไว้ใช้ประกอบสัมมาอาชีพ

 อาชีพที่สุจริต เพื่อจะได้มีปัจจัย ๔

ไว้เยียวยาดูแลร่างกาย แต่วิชาทางโลกโดยลำพัง

ไม่เพียงพอกับการดูแลรักษาจิตใจ

 จึงต้องศึกษาวิชาทางธรรมด้วย

 โดยเข้าหาพระพุทธศาสนาเพื่อศึกษาให้เกิดปัญญา

ปัญญาทางพระพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ระดับ คือ

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง

 เช่นการฟังเทศน์ฟังธรรม เรื่องเหตุเรื่องผล

 เรื่องบาปเรื่องบุญ เรื่องคุณเรื่องโทษ

 เรื่องนรกเรื่องสวรรค์ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด

 เรื่องกรรมเรื่องวิบาก เป็นปัญญาความรู้

 เมื่อเกิดความเข้าใจขึ้นมา

ก็สามารถใช้แก้ปัญหาระงับดับทุกข์ได้ในระดับหนึ่ง

๒. จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจาก

การคิดพิจารณาไตร่ตรอง เช่นเวลาไปทำอะไรไม่ดีมา

 ไปพูดโกหกหลอกลวง ก็เกิดรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมา

เลยนั่งคิดว่าวันนี้ไม่สบายใจเพราะอะไร

ที่ไม่สบายใจเพราะไปพูดโกหกหลอกลวง

 เลยเกิดความกังวลว่าจะถูกเขาจับได้

ก็เลยเกิดความไม่สบายใจ เมื่อพิจารณาดูแล้ว

เห็นว่าการโกหกหลอกลวงเป็นการกระทำที่ไม่ดี

 เพื่อเป็นการระงับดับความไม่สบายใจ

 จึงต้องไปสารภาพบาป เมื่อได้สารภาพขออภัยแล้ว

ใจก็สบายเพราะไม่มีความกังวลอีกต่อไป

การคิดพิจารณาว่าการกระทำทางกายวาจาใจ

เป็นเหตุของความสุขความทุกข์ในจิตใจ

 เรียกว่าจินตามยปัญญา คือคิดไปในทางเหตุทางผล

 เป็นปัญญาใช้ระงับดับทุกข์ภัยในใจได้

๓. ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจาก

การปฏิบัติจิตตภาวนา

 เป็นปัญญาที่ระงับดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

 ปัญญาระดับนี้ต้องมีความสงบเป็นพื้นฐาน

เพราะว่าความสงบเป็นที่ปลง ที่ปล่อยวาง

ที่ดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง ถ้าไม่มีความสงบ

 ก็จะไม่สามารถปลงและปล่อยวางได้อย่างสิ้นเชิง

 ภาวนามยปัญญาจะต้องเกิดจากการปฏิบัติ

โดยอาศัยการได้ยินได้ฟังมาก่อน

ให้รู้จักว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกที่ผิด อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่ชั่ว

 เมื่อรู้แล้วก็เอามาสั่งสอนจิตใจด้วยการใคร่ครวญ

คิดพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เช่นการไปโกหกหลอกลวง

ไปคดไปโกงเป็นสิ่งที่ไม่ดี

ทำไปแล้วก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 จึงพยายามละเสียด้วยการทำจิตใจให้สงบ

 ไหว้พระสวดมนต์ บริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ

 โดยมีสติระลึกรู้อยู่อย่างต่อเนื่อง

 ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องอื่น

ให้อยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ อย่างเดียว

 ถ้าดูลมหายใจเข้าออก

 ก็ให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว

 อย่าไปคิดเรื่องอื่น ถ้าไปคิดเรื่องอื่นจิตจะไม่สงบ

 นั่งไปนานสักเท่าไรก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา

 ผลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสติควบคุมใจ

ให้รู้อยู่กับงานที่ทำอยู่เท่านั้น

 ถ้ากำหนดรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก

ก็ให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว

ถ้าใช้คำบริกรรมพุทโธ ก็กำหนดรู้

อยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ อย่างเดียว

 อย่าไปคิดเรื่องอื่น ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้แล้ว

 ไม่ช้าก็เร็ว จิตจะรวมลงเป็นสมาธิ จิตจะตั้งมั่น

 ไม่ลอยไปไหน มีความสงบ มีความนิ่ง มีความอิ่ม

 มีความพอ มีความสุข เมื่อมีความสุขแล้ว

 เวลาจิตจะไปทำอะไรในทางที่ไม่ดีไม่ชอบ

จะเห็นความทุกข์ใจเกิดขึ้นมาทันที

เมื่อเห็นทุกข์ก็จะละการกระทำที่ไม่ดีนั้นทันที

 นี่คือการทำงานของภาวนามยปัญญา

เวลาจิตมีความสงบจิตจะไม่ไปก่อกรรมก่อเวรกับใคร

 เพราะจิตมีความสุข

เป็นความสุขที่เหนือความสุขทั้งหลาย

เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่มีอยู่ในจิตที่สงบ

 ไม่เหมือนกับความสุขที่เกิดจากการได้รับ

 ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

 ซึ่งเป็นความสุขที่ปนไปด้วยความทุกข์

 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ไม่น่าพิศวาส ไม่น่าปรารถนา

 จึงควรตัดความยินดี ความอยาก

ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ให้หมดไป

ด้วยการเจริญจิตตภาวนา จะได้อยู่เย็นเป็นสุข

หมดเวรหมดกรรม

เพราะไม่ก่อเวรก่อกรรมกับใครอีกต่อไป

ดำรงชีวิตอยู่ในศีลในธรรม

 ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นโดยถ่ายเดียว

 ดังพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญประโยชน์

ให้กับโลกตลอดเวลา ๔๕ พรรษา

 โดยการประกาศพระศาสนาให้กับสัตว์โลกทั้งหลาย

 เป็นคุณเป็นประโยชน์ให้กับโลกมาจนถึงทุกวันนี้

 นี่คือปัญญาในพระพุทธศาสนา

 สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา

 เป็นธรรมอันประเสริฐที่ได้รับการสืบทอดกันมายาวนาน

 ขอให้ทุ่มเทชีวิตจิตใจสร้างปัญญานี้ให้เกิดขึ้นเถิด

 เพราะปัญญานี่แหละคือสรณะที่แท้จริง

 เป็นที่พึ่งที่แท้จริง จะพ้นทุกข์ได้ด้วยปัญญา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................................

กำลังใจ ๓, กัณฑ์ที่ ๓๙

วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๔






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 30 มกราคม 2562
Last Update : 30 มกราคม 2562 8:21:58 น.
Counter : 414 Pageviews.

0 comment
<<< "เวลา" >>>










“เวลา”

การปฏิบัติสำหรับผู้ที่ยังมีคู่ครอง

 ควรรักษาศีล ๘ อย่างน้อยก็อาทิตย์ละ ๑ ครั้ง

 แล้วค่อยเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ

เวลารักษาศีล ๘ ก็ต้องภาวนาให้มากกว่าวันที่ไม่ได้รักษา

 เช่นวันที่ต้องไปทำมาหากินทำงานทำการ

ก็จะมีเวลาเฉพาะตอนเช้าและตอนค่ำก่อนหลับนอน

 ก็นั่งสมาธิ สัก ๓๐ นาที สัก ๑ ชั่วโมง

ถ้าจะอ้างว่าไม่มีเวลา ก็ต้องหาเวลา

เพราะเวลามีเท่ากัน วันละ ๒๔ ชั่วโมง

 ถ้าไม่มีเวลาภาวนาก็แสดงว่าเอาเวลาไปทำอย่างอื่น

 ก็ต้องสำรวจดูว่าเอาไปทำอะไรบ้าง

ถ้าไปทำกับแสงสีเสียงก็ควรลดลงมา

เช่นดูหนังดูละคร แทนที่จะดู ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง

 ก็ดู ๑ ชั่วโมง ดูสิ่งที่มีประโยชน์

 เช่นข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ ตัดเรื่องบันเทิงไป

จะได้มีเวลาภาวนามากขึ้น ถ้าเป็นวันหยุดทำงาน

ก็ถือศีล ๘ ตัดไปหมดเลย เรื่องข่าวสารเรื่องบันเทิง

 ดูหนังสือธรรมะแทน ฟังเทศน์ฟังธรรมแทน

 เดินจงกรมนั่งสมาธิ สลับกับการทำภารกิจที่จำเป็น

กวาดบ้านถูบ้าน ทำอาหารรับประทานอาหาร

ทำตารางขึ้นมาว่าวันหยุดนี้

 จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับจิตใจ

 ถ้าไม่ทำตารางพอถึงเวลาก็จะไม่ได้ทำ

 เช่นตื่นขึ้นมาก็นั่งปฏิบัติธรรม ๑ ชั่วโมง

 หลังจากนั้นก็ดูแลรักษาร่างกาย อาบน้ำแปรงฟัน

 รับประทานอาหาร เสร็จแล้วก็เดินจงกรม

 พอเมื่อยก็นั่งสมาธิ ออกจากสมาธิก็ดูหนังสือธรรมะ

 หรือฟังเทศน์ฟังธรรม เวลาก่อนเที่ยง

ก็รับประทานอาหาร หลังจากเที่ยงวัน

ก็จะไม่รับประทานอาหาร ต่อจากนั้นก็เดินจงกรม

 เสร็จแล้วก็พักสัก ๑ ชั่วโมง ทำตารางไว้เลย

ถ้าทำตามได้ก็จะก้าวไปข้างหน้า

 ก้าวไปด้วยการปฏิบัติ ด้วยการกระทำ

 จึงต้องคอยดูการกระทำอยู่เสมอ

ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่

กำลังทำประโยชน์ให้กับใจหรือเปล่า

 ถ้าไม่ทำตารางการปฏิบัติ ปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์

รับรองได้ว่าจะไม่ได้ปฏิบัติ จะไปเปิดตู้เย็นเสียมากกว่า

 เปิดตู้เย็นแล้วก็ไปเปิดทีวี เปิดทีวีแล้วก็ไปหาหมอน

 ตื่นขึ้นมาก็เปิดตู้เย็นใหม่เปิดทีวีใหม่

 ต้องบังคับตัวเอง ต้องมีวินัย

 ถ้าไม่มีวินัยจะไม่เจริญก้าวหน้า

ต้องคำนึงถึงผลที่จะได้รับจากการควบคุมบังคับตน

 ก็คือมรรคผลนิพพาน ไม่มีอะไรจะวิเศษ

เท่ากับมรรคผลนิพพาน ทำงานนี้เสร็จแล้ว

จะสบายไปตลอดอนันตกาล ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป

 ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่ ไม่ต้องกลับมาดิ้นรน

ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

หาเงินหาทองมาซื้อความสุข

ไม่ต้องทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย

 มีแต่ความสุขตลอดเวลา ไม่มีความทุกข์เลย

 ถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะมีกำลังใจ มีความกล้าหาญ

 มีความเข้มแข็ง มีความพากเพียร มีความอดทน

 ที่จะพาไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์

ไปสู่ความสุขที่ถาวรที่ยั่งยืน เริ่มจากการปฏิบัติที่บ้าน

 เพราะอยู่บ้านตลอดเวลา ถ้าจะไปปฏิบัติที่วัด

 พอไปถึงวัดก็หมดแรงแล้ว

พอปฏิบัติเข้าร่องเข้ารอยก็ต้องกลับบ้าน

 เหมือนกับรถพอวิ่งได้หน่อยหนึ่งก็ต้องจอด

 ต้องกลับบ้าน จึงควรปฏิบัติที่บ้านไปก่อน

ไม่อย่างนั้นจะไม่มีเวลาปฏิบัติ

เอาเวลาที่ใช้ไปกับพวกบันเทิง

 ถ้าเอามาไม่ได้หมดก็แบ่งมาสักครึ่งก่อน

สละละครไปสัก ๑ หรือ ๒ เรื่อง

ละครน้ำเน่าดูไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

เรื่องโลภโกรธหลง อิจฉาริษยา อาฆาตพยาบาท

ผิดศีลผิดธรรม ดูไปทำไม ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา

 เกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวช

ดูธรรมะอ่านหนังสือธรรมะดีกว่า ภาวนาดีกว่า

 ถ้าทำแล้วก็จะเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ

ต่อไปถ้าปฏิบัติที่บ้านแล้วรู้สึกว่ามีอุปสรรคมาก

 ก็ต้องไปอยู่ที่วัดบ้าง เพราะอยู่ที่บ้านจะมีธุระนั้นธุระนี้

 มีเรื่องนั้นเรื่องนี้มารบกวน มาคอยแย่งเวลาไป

 ถ้าปฏิบัติได้ผลบ้างแล้วจะเห็นคุณค่าของการปฏิบัติ

และเห็นโทษของการทำภารกิจที่ไม่จำเป็น

 เช่นการหาเงินหาทองมากเกินความจำเป็นก็เป็นโทษ

ไม่ได้เป็นประโยชน์ เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ

ถ้าเอาไปเที่ยว เอาไปซื้อความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็เหมือนไปซื้อยาเสพติด

 น้อยนักที่จะเอาไปทำประโยชน์

 เช่นเอาไปทำบุญ ถ้าไม่มีเงินจะทำบุญก็ไม่ต้องทำ

ไม่ต้องเสียเวลาไปทำบุญ เอาเวลามาภาวนา

เพื่อบุญที่ใหญ่กว่า

มากกว่าบุญที่ได้จากการทำบุญให้ทาน

 เอาเวลามารักษาศีล ๘ ดีกว่า มาภาวนากันดีกว่า

 ตัดเวลาหาเงินให้น้อยลงไป อย่ามีเงินมาก

มีเวลามากจะดีกว่า เวลามีคุณค่ากว่าเงินทอง

 ถ้ารู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์นี้

เวลามีคุณค่ากว่าเงินทองเป็นหมื่นล้านแสนล้าน

 เพราะเงินทองหมื่นล้านแสนล้านดับความทุกข์ไม่ได้

แต่เวลาที่ใช้ปฏิบัติธรรมนี้ดับความทุกข์ได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..................................

กำลังใจ ๖๐, กัณฑ์ที่ ๔๕๒

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 มกราคม 2562
Last Update : 28 มกราคม 2562 8:39:59 น.
Counter : 335 Pageviews.

0 comment
<<< " เชื่อกรรมและผลของกรรม" >>>










“เชื่อกรรมและผลของกรรม”

มนุษย์เป็นมนุษย์ได้เพราะมีศีลมีธรรม

 มีระเบียบมีวินัย ผู้ใดก็ตาม

 ถึงแม้จะมีรูปร่างเป็นมนุษย์

 แต่ถ้าจิตใจขาดศีลขาดธรรม ขาดวินัย

 ก็ไม่ต่างกับเดรัจฉาน

 นึกอยากจะทำอะไรก็ทำตามอำเภอใจ

 จะสร้างความเดือดร้อน เบียดเบียนผู้อื่นสักเท่าไหร่

ก็ไม่สนใจ จึงควรทำความเข้าใจว่า

 ถึงแม้จะเกิดมามีรูปร่างเป็นมนุษย์

 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมนุษย์เสมอไป

 ถ้าต้องการจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 ก็ต้องมีศีล ๕ เป็นอย่างน้อย และปฏิบัติตามกฎ

 ตามระเบียบที่ดีที่งาม เพราะถ้าไม่มีศีล ๕ แล้ว

 จิตก็จะตกลงไปสู่ที่ต่ำ เป็นจิตของเดรัจฉาน

 ของเปรต ของอสุรกาย ของสัตว์นรก

ถ้าต้องการที่จะรักษาความเป็นมนุษย์

รักษาความเป็นผู้ประเสริฐ เป็นคนดี

ก็ต้องรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อไว้ให้ดี

คือ ต้องละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ละเว้นจากการลักทรัพย์

ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี

ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ

และละเว้นจากการเสพสุรายาเมา

 ถ้ารักษาศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ได้แล้ว

ถือได้ว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

 คือเป็นมนุษย์ทั้งกาย และเป็นมนุษย์ทั้งใจ

 และเมื่อถึงเวลาที่ร่างกายนี้จะแตกดับจะสลายไป

 ใจก็ยังรักษาความเป็นมนุษย์ได้อยู่

ใจที่รักษาความเป็นมนุษย์ได้

ก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

 แต่ถ้าไม่สามารถรักษาความเป็นมนุษย์ได้

 ก็จะต้องไปเกิดในอบาย ภูมิใดภูมิหนึ่ง

ขึ้นอยู่กับศีลที่ขาดไปนั้น มีมากน้อยแค่ไหน

จึงขอให้พวกเราทั้งหลายจงเชื่อเวรเชื่อกรรม

นี่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้

ที่สอนเกี่ยวกับเรื่องเวรเรื่องกรรม

 กรรมคือการกระทำของเราในปัจจุบันนี้

 และในอดีตที่ผ่านมา เมื่อทำไปแล้วก็จะมีผล

คือวิบากตามมา ผลจะดีจะชั่ว จะสุขจะเจริญ

 จะทุกข์จะเสื่อม จะเกิดในสุคติหรือจะเกิดในอบาย

 ก็ขึ้นอยู่กับกรรมที่เราทำกันไว้

ทั้งในปัจจุบันและในอดีตที่ผ่านมา

 เพราะกรรมที่ทำไว้ในอดีต

 อาจจะยังไม่มีโอกาสได้ส่งผล

 เพราะยังไม่สุกงอมพอ เมื่อถึงเวลาถึงกาลของเขา

 ก็จะส่งผลตามมา ถ้าทำดี รักษาศีลรักษาธรรม

 ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

 มีความเมตตากรุณา มีจิตที่สงบระงับ

 ดับกิเลสและตัณหาอยู่เสมอๆ ไม่ปล่อยให้ใจ

ถูกอำนาจของกิเลสตัณหาครอบงำพาไป

 ก็จะเป็นจิตที่ดี เมื่อตายไปก็จะได้ไปสู่สุคติ

 คือจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

 หรือไม่เช่นนั้นก็จะได้เป็นเทวดา เป็นพรหม

 เป็นพระอริยบุคคลอย่างพระพุทธเจ้า

 และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ท่านเหล่านี้ล้วนทำแต่สิ่งที่ดีที่งามทั้งสิ้น

ท่านมีความเชื่อในกรรม ท่านรู้ท่านเห็นว่า

ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว นี่เป็นหลักตายตัว

 จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม

 ก็ไม่สามารถปฏิเสธหลักกรรม

 สัจธรรมความจริงอันนี้ได้

เมื่อได้ทำกรรมอันใดไว้แล้ว ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว

 จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

เราจึงไม่ควรประมาทในเรื่องกรรมเป็นอันขาด

 ควรเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ขอให้เชื่อพระพุทธเจ้า

เหมือนกับเชื่อบิดามารดาของเรา

ที่สอนเราด้วยความเมตตา ด้วยความกรุณา

 ด้วยความปรารถนาดี ต้องการให้เรามีแต่ความสุข

 มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง

ฉันใดพระพุทธเจ้าก็เปรียบเหมือน

กับเป็นบิดามารดาของพวกเรา

 พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเรากระทำความดี

 ไม่ให้กระทำความชั่ว ให้ละกิเลสทั้งหลาย

คือความโลภ ความโกรธ ความหลง

ให้ออกไปจากจิตจากใจ เพราะเมื่อทำไปแล้ว

จะนำมาซึ่งความสุขและความเจริญอย่างแท้จริง

 พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว

ได้เห็นผลมาแล้วอย่างประจักษ์ ไม่สงสัยเลย

 จึงได้นำมาประกาศสอนให้กับพวกเราทั้งหลาย

 ผู้ใดที่มีความศรัทธา มีความเชื่อแล้ว

ผู้นั้นย่อมจะได้รับประโยชน์โดยถ่ายเดียว

จะไม่มีโทษตามมาเลย ถึงแม้ว่า

เราจะไม่สามารถเห็นถึงอดีตชาติที่ผ่านมา

 หรืออนาคตชาติที่จะตามมาก็ตาม

 แต่อย่างน้อยที่สุด ในปัจจุบัน เราก็เห็นกันแล้วว่า

 คนที่ทำดี มีศีลมีธรรม

 ย่อมอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุข

ไม่มีทุกข์ไม่มีภัย ไม่มีความเสื่อมเสียตามมา

 อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้เรามองปัจจุบันชาตินี้

 และเชื่อในการกระทำความดี

ถึงแม้ว่าการกระทำความดีของเรา

จะไม่ทำให้เราร่ำรวยหรือเจริญด้วย

ยศถาบรรดาศักดิ์อย่างรวดเร็ว

แต่ขอให้ทำความเข้าใจว่า ความร่ำรวยก็ดี

 ยศถาบรรดาศักดิ์ก็ดี ไม่ใช่สรณะ ที่พึ่งของใจ

 เพราะไม่สามารถดับทุกข์ ดับความกังวลใจได้

 แต่ความดีต่างหาก ถ้าทำไปแล้ว

จะทำให้จิตของเรามีแต่ความสงบ มีแต่ความสุข

 มีแต่ความสบายใจ เพราะนี่คือธรรมชาติ

ของความดีกับใจ เปรียบเหมือนกับอาหารกับร่างกาย

 เวลารับประทานอาหารเข้าไปในร่างกาย

ก็จะทำให้ร่างกายมีความอิ่มหนำสำราญ

สบายกายสบายใจตามมาด้วย

ซึ่งต่างกับยาพิษ ที่รับประทานเข้าไปแล้ว

 ก็จะต้องไปทำลายร่างกาย

ฉันใดการกระทำความชั่ว ก็เปรียบเหมือนกับยาพิษ

 ที่จะสร้างความวุ่นวาย สร้างความทุกข์ให้กับเรา

 สังเกตดู คนที่ทำบาปทำกรรม

 จะไม่ค่อยมีความสุขเลย มีแต่ความวุ่นวาย

 มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความเสื่อมเสียตามมา

 นี่เป็นเหตุ เป็นผล ที่เราเห็นได้ในปัจจุบันชาตินี้

 เหตุผลก็คือกรรมและวิบากนั่นเอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

กำลังใจ ๗, กัณฑ์ที่ ๑๒๕

วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๕







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 มกราคม 2562
Last Update : 28 มกราคม 2562 8:21:55 น.
Counter : 428 Pageviews.

0 comment
<<< "อานิสงส์ที่จะได้รับจากการฟังธรรม" >>>










“อานิสงส์ที่จะได้รับจากการฟังธรรม”

มีนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง ในสมัยพระพุทธกาล

มีเศรษฐีอยู่คนหนึ่ง มีมิจฉาทิฐิ

ไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วไปเกิดใหม่ จึงไม่ชอบทำบุญ

 ไม่ชอบรักษาศีล มีเงินมากน้อยเพียงไรก็ไม่ให้ใคร

 แม้แต่ลูกหลานก็ไม่ยอมให้เอาไปฝังไว้ในดินหมด

 เวลาตายไป เพราะความห่วงใย

ความเสียดายในสมบัติของตน

จึงทำให้กลับมาเกิดเป็นสุนัขในบ้าน

พยายามบอกลูกว่าตนเองเป็นพ่อ แต่พูดกันไม่รู้เรื่อง

 ลูกก็ไม่รู้ว่าเป็นพ่อ แล้วลูกก็เกลียดหมาตัวนี้ด้วย

 ชอบตีมัน ชอบกลั่นแกล้งมัน

 โชคดีวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเสด็จผ่านมาเห็นเข้า

 ทรงทราบว่าเป็นพ่อ จึงบอกให้คนในบ้านทราบ

 ว่าหมาตัวนี้เป็นพ่อ ถ้าอยากจะรู้ว่าจริงหรือไม่จริง

ลองบอกให้มันไปขุดสมบัติที่พ่อฝังไว้

 หมาก็ไปขุดสมบัติต่างๆที่เศรษฐีได้ฝังไว้

 ลูกก็เลยเชื่อว่าเป็นพ่อจริงๆ

 นี่เป็นเพราะพ่อมีมิจฉาทิฐิ ไม่ชอบเข้าวัด

 ไม่ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ชอบรักษาศีล

 ไม่ชอบทำบุญให้ทาน

คิดว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ

 เป็นเรื่องหลอกเอาเงิน ก็เลยไม่ทำตาม

 พอตายไปก็ต้องไปเกิดเป็นสุนัข

เป็นเรื่องในพระไตรปิฎก จึงควรพิจารณาให้ดี

ว่าสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น

 เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เพียงแต่จะพิสูจน์หรือไม่

 เพราะต้องปฏิบัติถึงจะพิสูจน์ได้

ต้องทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 เช่นทรงสอนให้สละสมบัติ

ข้าวของเงินทองต่างๆ ก็ต้องสละ อย่าไปเสียดาย

 เก็บเอาไว้เท่าที่จำเป็น ทรงสอนให้รักษาศีล

ก็ต้องรักษาศีล ให้สวดมนต์ไหว้พระทำสมาธิ

ทำจิตใจให้สงบ ก็ต้องทำให้ได้

 ให้เจริญปัญญาอยู่เสมอว่า

 เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

 ล่วงพ้นจากการแก่การเจ็บการตาย

 การพลัดพรากจากกันไม่ได้ ต้องปฏิบัติตาม

 ถ้าปฏิบัติแล้วก็จะมีแสงสว่างแห่งธรรมปรากฏขึ้นมา

 มีดวงตาเห็นธรรม มีตาทิพย์ ทำให้เห็นใจ

 รู้ว่าใจเป็นสิ่งที่ไม่ตาย หลังจากที่ร่างกายตายไปแล้ว

 ใจยังต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีก

นี่คือการเข้าวัด เพื่อมาฟังเทศน์ฟังธรรม

 มาปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน

 ทำบุญให้ทาน รักษาศีล นั่งสมาธิ เจริญปัญญา

 ถ้าทำอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้ว ใจจะเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

จะสว่างขึ้นไปเรื่อยๆ จะเห็นสิ่งต่างๆได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

 จะเห็นเหตุ คือกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง

ที่สร้างผลคือความทุกข์ความวุ่นวายใจ

จะเห็นธรรมะ คือวิธีดับกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ

ด้วยการศึกษาและการปฏิบัติเท่านั้น

 ไม่ได้เกิดจากการขอพรจากพระพุทธเจ้า

 ขอให้มีความสุข มีความเจริญ ไม่มีความทุกข์

 ความเสื่อมเสีย ขอไปจนวันตายก็ขอไม่ได้

ถ้าได้ศึกษาแล้วนำมาปฏิบัติกับกายวาจาใจแล้ว

 รับรองได้ว่าความทุกข์ ความวุ่นวายใจต่างๆ

 จะเบาบางลงไป จนหมดสิ้นไป

จะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ไม่ทุกข์ ไม่กังวล

 ไม่หวาดกลัวเลย ไม่ว่าจะเป็นจะตาย

 จะจากใครไป หรือใครจะจากเราไป

จะไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศกเสียใจเลย

นี่คืออานิสงส์ที่จะได้รับจากการฟังเทศน์ฟังธรรม

จากการนำเอาไปประพฤติไปปฏิบัติ

เราจึงควรเข้าวัดกันอย่างสม่ำเสมอ

 อย่างน้อยก็อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง

ถ้าไม่ได้เข้าวัดก็เอาวัดไปที่บ้าน

 เปิดธรรมะฟัง เปิดหนังสือธรรมะอ่านที่บ้าน

 ถ้าอยากจะทำบุญทำทาน

 ก็หากระปุกใส่เงินทองที่จะทำบุญไว้

 พอไปวัดก็ค่อยเอาไปถวายวัด

เราสามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

 ไม่จำเป็นต้องมาวัดเสมอไป

มาวัดไม่ได้ก็เอาวัดไปที่บ้าน เอาวัดไปที่ใจของเรา

 ด้วยการคิดดีพูดดีทำดี

เพื่อความสุขและความเจริญที่จะตามมาต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

กำลังใจ ๔๑, กัณฑ์ที่ ๓๕๙

วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๐








ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 มกราคม 2562
Last Update : 26 มกราคม 2562 20:11:56 น.
Counter : 510 Pageviews.

0 comment
<<< "อุตุสัปปายะ" >>>








“อุตุสัปปายะ”

เวลาจะบวชจะปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังแล้ว

ผู้ปฏิบัติต้องใช้ปัญญาพิจารณาถึงสถานที่

ว่าเป็นสัปปายะหรือไม่ สถานที่ที่เป็นสัปปายะนั้น

 พระพุทธเจ้าทรงแนะว่าต้องเป็นสถานที่วิเวกสงบสงัด

 ห่างไกลจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย

 ที่เป็นเครื่องยั่วยวนกวนใจให้เกิดกิเลสตัณหา

 ความว้าวุ่นขุ่นมัวต่างๆ จำต้องหลีกเลี่ยงสถานที่เหล่านั้น

 เช่นพระบวชใหม่ทรงสอน

ไม่ให้ไปอยู่ตามวัดที่มีการก่อการสร้าง

 ไม่ไปปักกลดอยู่ตามสี่แยกไฟแดง

 สถานที่มีคนพลุกพล่านสัญจรไปมา

 ให้ไปปลีกวิเวกตามสถานที่สงบ เช่นในป่าช้า

 ในป่าในเขา ตามเรือนร้างที่ไม่มีคนอยู่

 ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะเอื้ออำนวยต่อการบำเพ็ญบุญบารมี

 แม้แต่ในสถานที่เหล่านี้ก็ยังมีที่มีความแตกต่างกัน

 เพราะจริตนิสัยของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

บางคนชอบที่โล่ง ที่ไม่มีอะไรปิดกั้น

บางคนชอบที่ในถ้ำ ที่มีที่ปิดกั้น แล้วแต่จริตนิสัย

เมื่อเวลาไปบำเพ็ญ ก็ต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์ดูว่า

 สถานที่ที่ไปอยู่นั้น เวลาภาวนาเป็นอย่างไร

จิตเจริญรุ่งเรืองมากน้อยเพียงไร

มีความสงบมากน้อยเพียงไร

 มีความแยบคาย มีความฉลาด

รู้ทันกิเลสตัณหามากน้อยเพียงไร

ถ้าเป็นสถานที่ที่ได้รับประโยชน์

สถานที่นั้นก็ถือว่าเหมาะกับเรา

 แต่ถ้าไปอยู่แล้ว รู้สึกอึดอัดใจ

บำเพ็ญภาวนาไม่ไปไหนเลย ถ้าเป็นอย่างนั้น

ที่อย่างนั้นก็ไม่เหมาะกับเรา

จึงต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ว่า เป็นสัปปายะหรือไม่

 บางคนไปอยู่ในถ้ำ ก็มีความรู้สึกว่าอากาศหนัก

 แต่ถ้าออกไปอยู่ตามหน้าผา ก็รู้สึกว่าโล่งสบายดี

 นี่ก็สุดแล้วแต่จริตของแต่ละคน จะต้องรู้จักพิจารณา

นี่ก็คือความหมายของอุตุสัปปายะ

 นอกจากอากาศแล้ว สถานที่ที่จะไปอยู่

ก็ต้องคำนึงถึงว่าอาหารที่รับประทาน

เป็นสัปปายะหรือไม่ เพราะแต่ละที่แต่ละภูมิภาค

 อาหารก็ไม่เหมือนกัน

คนภาคกลางถ้าไปอยู่ทางภาคอีสาน

 จะรู้สึกว่าอาหารจะกินลำบากหน่อย

 เพราะไม่เคยปากนั่นเอง

หรือคนภาคอีสานถ้ามาอยู่ภาคกลาง

ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน

 แต่บางคนก็สามารถปรับตัวได้ ไม่มีปัญหาอะไร

 เรื่องอาหารนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า

 เมื่อรับประทานไปแล้ว

ไม่เกิดความบกพร่องทางร่างกาย

 คือไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ท้องไม่เสีย ท้องไม่อืด

 อย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้

 ไม่จำเป็นต้องถูกปากถูกใจเสมอไป

 อาหารอะไรก็ได้ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว

ทำให้มีความอิ่ม สามารถบำเพ็ญปฏิบัติธรรมไปได้

 โดยไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน

 อย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหาร

ที่ถูกปากถูกใจโดยถ่ายเดียว จึงจะถือว่าเป็นสัปปายะ

 แต่ถ้ารับประทานแล้วเกิดท้องเสีย ถ่ายอยู่เรื่อยๆ

 ก็จะไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีเวลา ไม่มีกำลัง

 ที่จะปฏิบัติธรรม มัวแต่มายุ่งกับการหายารักษาโรค

ที่เกิดจากอาการท้องเสีย

การปฏิบัติก็จะเป็นไปด้วยความลำบาก

 เพราะมีอุปสรรค  ดังนั้นเวลาไปอยู่ที่ใด

 รับประทานอาหารชนิดใด มีปัญหาหรือไม่อย่างไร

 ต้องรู้จักพิจารณาแยกแยะ

 ถ้าอาหารชนิดนี้กินเข้าไปแล้ว

ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยไม่ถูกกับเรา

ก็ต้องเลิกกินอาหารชนิดนั้น

ทั้งๆที่ถูกปากถูกใจ แต่เมื่อกินเข้าไปแล้ว

ทำให้เกิดการเจ็บไข้ขึ้นมา ก็ไม่ควรรับประทาน

 นี่ก็คือเรื่องของเหตุปัจจัยรอบข้าง

ที่จะเป็นเครื่องสนับสนุนหรือถ่วงรั้ง

 ให้การดำเนิน การปฏิบัติ

เป็นไปด้วยความรวดเร็วหรือเชื่องช้า

 ง่ายดายหรือยากเย็น เต็มไปด้วยอุปสรรค

ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน

 ผู้ปฏิบัติต้องวิเคราะห์ พิจารณาดูว่า

 คนที่อยู่ด้วยเป็นอย่างไร สถานที่ที่อยู่เป็นอย่างไร

 อากาศเป็นอย่างไร หนาวเกินไปหรือเปล่า

ร้อนเกินไปหรือเปล่า ชอบอากาศแบบไหน

 บางคนชอบอากาศหนาว

 ถึงแม้จะหนาวอย่างไรก็ไม่รู้สึกว่าหนาว

 บางคนชอบอากาศร้อน

 ถึงแม้จะร้อนอย่างไรก็ไม่รู้สึกว่าร้อน

 เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์พิจารณาดู

 พยายามหาความสัปปายะให้ได้

 ที่สำคัญที่สุดก็คือบุคคลสัปปายะ

 ครูบาอาจารย์ ผู้รู้จริงเห็นจริง ผู้ได้บรรลุธรรมแล้ว

ผู้มีความสนใจในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา

ให้ได้บรรลุธรรมอันประเสริฐ

 สัปปายะอื่นๆถือเป็นเรื่องรองลงมา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.................................

กำลังใจ๑๓, กัณฑ์ที่ ๑๗๘

วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๖







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 มกราคม 2562
Last Update : 25 มกราคม 2562 13:01:14 น.
Counter : 585 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ