เปิดห้องใหม่ Translation Project “À la recherche du temps perdu”

เปิดห้องใหม่ Translation Project “À la recherche du temps perdu”

Et si l'on traduit “À la recherche du temps perdu” en thailandais...

ในบทสนทนาระหว่างฉันกับหวานใจ บ่อยครั้งเราจะวนกลับมาคุยเรื่องหนังสือ และทุกครั้งที่พูดเรื่องหนังสือ หวานใจจะวนกลับมาพูดเรื่องมาร์แซล พรูตส์ นักเขียนยิ่งใหญ่ในดวงใจของเขา วนบ่อยๆ เข้า ฉันเริ่มหันมาให้ความสนใจ À la recherche du temps perdu งานเขียนมาสเตอร์พีซของนักเขียนฝรั่งเศสผู้ลือเลื่องคนนี้ทีละน้อย และค่อยๆ ก่อเป็นความคิดคร่าวๆ แต่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานสุดๆ สำหรับนักแปลภาษาฝรั่งเศสทั่วโลก

เปล่าหรอก ฉันไม่ได้หลงตัวเอง คิดว่าตนเก่งกาจมากฝีมือจนหาญจะแปลงานเขียนที่ “มิอาจแปลได้” นี้ แต่เป็นเพราะฉันเชื่อว่าในชีวิตหนึ่ง คนเราควรมีโครงการใหญ่ที่ดูหมือน “เป็นไปไม่ได้” สักโครงการหนึ่งให้ลองทำดู เพราะโลกของเราก้าวหน้าด้วยความพยายามของบรรดาคนที่เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้น เราคงไม่มีหลอดไฟกับอินเตอร์เน็ตไวไฟให้ใช้กัน

ดังนี้เอง หลายเดือนก่อน เมื่อมีนิตยสารติดต่อมาแจ้งว่าต้องการงานแปลที่แสดงด้านดีๆ ของชีวิต ฉันจึงไม่รีรอจะเสนอบทแปลที่ตัดตอนจากหนังสือชุดนี้ เพราะนอกจากเนื้อหาในตอนที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ ตอนที่ผู้บรรยายซาบซึ้ง รู้สึกถึงความสุขลึกๆ ด้วยวิธีการง่ายๆ ขณะดื่มน้ำชากับขนมไข่มาเดอเลนจะสื่อถึงด้านดีอย่างหนึ่งในชีวิตแล้ว ในส่วนของผู้แปล การมีโอกาสทดลองทำในสิ่งที่มาดหมายไว้ ถือเป็นหนึ่งในแง่งามของชีวิตเช่นกัน

“ในการค้นหาเวลาที่หายไป” เป็นนิยายจากปลายปากกาของ มาร์แซล พรูสต์ (Marcel PROUST) (10 กรกฎาคม ค.ศ.1871 – 18 ธันวาคม ค.ศ.1922) นักเขียนผู้ได้ชื่อว่ามีผลงานได้รับการแปลและเผยแพร่ทั่วโลกมากที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส โดยเขียนขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1908-1909 ต่อด้วย ปี ค.ศ. 1922 รวมทั้งสิ้นเจ็ดเล่ม โดยแต่ละเล่มคล้ายจะเกี่ยวเนื่องแต่ก็ไม่เกี่ยวเนื่องกันเสียทีเดียว อันได้แก่

1. Du côté de chez Swann (สนพ. Grasset, ค.ศ. 1913 - / สนพ. Gallimard, ค.ศ. 1919)

2. À l'ombre des jeunes filles en fleurs (สนพ.Gallimard , ค.ศ. 1 919 ได้รับรางวัล Goncourt ในปีเดียวกัน)

3. Le côté de Guermantes ( 2 เล่ม สนพ.Gallimard, ค.ศ. 1921-1922)

4. Sodome et Gomorrhe I และ II (สนพ.Gallimard, ค.ศ.1922-1923)

5. La prisonnière (ตีพิมพ์หลังการเสียชีวิตของผู้เขียน - ค.ศ.1925)

6. Albertine disparue (ตีพิมพ์หลังการเสียชีวิตของผู้เขียน - ค.ศ.1927)

7. Le Temps retrouvé (ตีพิมพ์หลังการเสียชีวิตของผู้เขียน - ค.ศ.1927)


บทแปลที่คัดตัดตอนแปลให้อ่านกันที่นี่ มาจากตอนที่หนึ่งของหนังสือเล่มแรก ซึ่งเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปพิจารณาช่วงเวลาระหว่างการนอนหลับ และประสบการณ์การนอนในสมัยเด็กๆ ที่ฝังใจ เพื่อเกริ่นเรียกน้ำย่อยให้ผู้อ่านชาวไทยได้สัมผัสวิถีการดำเนินเรื่องและเนื้อหาของหนังสือชุดนี้พอสังเขป ก่อนจะข้ามไปยังช่วง “มาเดอเลน” ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายความรู้สึกของตัวละครผู้มีจิตใจอ่อนไหวอย่างละเอียดละออ ด้วยประโยคที่ยืดยาว แวะเวียนเพียรขยายสิ่งที่กำลังพูดถึงอยู่นานกว่าจะถึงเส้นชัย

แม้แต่ในภาษาฝรั่งเศสเอง สไตล์การเขียนของพรูตส์มีความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ประกอบกับขนาดความยาวของประโยคและเนื้อหาส่วนตั๊วส่วนตัวที่ลึกล้ำตีความยากและตีได้หลายแบบนี้เองที่ทำให้งานชิ้นนี้เป็นที่เข็ดขยาดในวงการแปล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลเป็นภาษาไทยที่มีโครงสร้างทางภาษาแตกต่างจากภาษาต้นทางคือภาษาฝรั่งเศสในหลายๆ ประการ ที่เห็นชัดๆ คือ เรื่องเครื่องหมายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดปิดท้ายประโยค

แปลกแต่จริง พอลงมือแปลงานชิ้นนี้ ฉันกลับคิดว่า การที่ภาษาไทยของเราไม่มีจุดปิดท้ายประโยคทำให้การแปลงานของพรูตส์ง่ายขึ้น เพราะช่วยคงความ “เรื่อยเจื้อย” ในงานเขียนแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าในตอนแรกๆ คนอ่านอาจะจะรู้สึกติดขัดหายใจไม่ทันอยู่บ้าง เพราะมันดูวนเวียนๆ แต่เชื่อเถอะค่ะ อ่านๆ ไปแล้วจะชิน และขอให้รับรู้ว่าคนแปลนั้นพยายามรักษา “คุณสมบัติ” ของต้นฉบับอย่างดีที่สุด เนื่องจากคนฝรั่งเศสที่อ่านต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสต้องอาศัยความเคยชิน และลมหายใจยาวๆ มาช่วยสร้างความรู้สึกประทับใจในงานเขียนชิ้นนี้พอๆ กัน

À la recherche du temps perdu ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าเป็น “หนึ่งในหนังสือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 19” มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกเปิดสอนวิชาที่เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะในฐานะหนึ่งในหนังสือสำคัญของค่ายอิมเพรสชั่นนิสต์ กลุ่มเดียวกับ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia WOOLF) เจมส์ จอยซ์ (James JOYCE) และวิลเลียม โฟล์คเนอร์ (William FAULKNER)

ไม่ว่าจะมีนักวิจารณ์ นักวรรณคดีพยายามตีความปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือชุดนี้มากมายขนาดไหน หากมีคนกล่าวกันว่า ที่จริงแล้วหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นบทความที่เขียนถึงช่วงเวลาเฉพาะของเหตุการณ์ต่างๆ และไม่ได้ให้ความสนใจกับความทรงจำของผู้บรรยายในเรื่องอย่างที่พูดๆ กันหรอก หากเป็นการสะท้อนแวดวงวรรณกรรม โดยพรูตซ์เคยกล่าวว่า

“ผมมันซวยเองที่เริ่มเขียนหนังสือด้วยการขึ้นต้นประโยคว่า “ผม” และในทันใด ใครต่อใครก็พากันเชื่อว่าผมกำลังวิเคราะห์ตัวเองในความหมายของคนๆ หนึ่งและคำที่น่าเกลียดชังคำนี้ แทนที่จะเป็นการค้นหากฎอะไรทั่วๆ ไปเฉยๆ ”

อ่านให้สนุกนะคะ ---> คลิกไปอ่าน





ป.ล. ขอขอบคุณอาจารย์ ดร. สิริวรรณ จุฬากรณ์ ภาควิชาภาษาตะวันตก สาขาวิชาภาษาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่กรุณารับเป็นผู้ตรวจทานต้นฉบับ ถึงแม้สุดท้ายต้นฉบับนี้จะไม่ได้รับการตีพิมพ์ แต่ฉันก็อยากนำมาอัพไว้ที่นี่ เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นกำลังให้ทำงานชิ้นนี้ต่อไปให้จบทั้ง 7 เล่ม





ฝากข้อความ เชิญคลิกที่นี่






Create Date : 07 ตุลาคม 2551
Last Update : 7 ตุลาคม 2551 13:31:50 น. 0 comments
Counter : 2297 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.