- ล่องเรือยอชท์ สุดยอดจริงๆ เลยจอร์จ

ล่องเรือยอชท์ สุดยอดจริงๆ เลยจอร์จ


ยอชท์
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ฉันไปล่องเรือยอชท์ที่ภูเก็ตมา 7 วันเต็มๆ

ฟังเผินๆ แล้วน่าหมั่นไส้มิใช่เล่น หากนึกภาพแบบผาดๆ เห็นเรือหรูลำสวยสีขาว ขึงใบโต้ลม แล่นบนท้องทะเลฟ้า ใต้ท้องฟ้าสีคราม สาวหุ่นสวยใส่บิกินียืนโต้ลมทะเล ผมสะบัดไหว หนุ่มหล่อร่างกำยำใส่แว่นตาดำอยู่ที่คันบังคับเรือ ดังที่เห็นกันเจนตาในภาพโฆษณาเรือแบบนี้บนหน้านิตยสาร

แต่เบื้องหลังภาพงามๆ ชวนอิจฉานั้น มีความจริงเบื้องหลังอันแสนทรหดที่เอามาเล่าสู่กันฟัง เพื่อคลายความร้อนที่ดวงตาของคนที่เผลอคลิกเข้ามาอ่าน

๑. นั่งเรือยอชท์ ภาพจากภายนอกสวยเก๋ แต่อุณหภูมิในภาพนั้น "ร้อนนนน" (ทำเสียงแหบๆ ต่ำๆ เพื่อให้ได้อารมณ์) ยิ่งน้ำสีสวย ท้องฟ้าใสกระจ่าง อากาศยิ่งร้อน ร้อนชนิดลองซูมเข้าไปใกล้ๆ แม่สาวหุ่นดีในชุดปิดห่มน้อยชิ้นอีกนิดจะเห็นเหงื่อออกพราวเต็มหลัง เห็นผิวหนังไหม้เตรียมลอกเป็นหย่อมๆ

ร้อนเกรียม ร้อนแห้ง ร้อนอบอ้าว ร้อนชิบหาย คือความรู้สึกส่วนใหญ่ตลอดระยะเวลาพักร้อน (ไปเจอร้อนตับแตก) ในการล่องเรือยอชท์ เฮ่อ ดันไปเล่นตอนเดือนเมษาเอง ช่วยไม่ได้ ก็จะให้ช่วยยังไงได้ล่ะ เพราะช่วงเมษาเป็นช่วงปิดเทอมของเด็กๆ นี่นา ไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องทนร้อนไปตลอดเส้นทาง

๒. อยากนั่งเรือยอชท์อย่างมีความสุข ต้องไม่ห่วงสวย ถ้าไม่รักกันจริง อย่าไปกับแฟนที่เพิ่งคบกันใหม่ๆ แบบที่ยังต้องให้เห็นแต่ด้านสวยๆ หล่อๆ (แต่ถ้าอยากพิสูจน์ความรักแท้หรืออยากจะมีเหตุผลในการเลิกกัน ก็เชิญตามสบาย)

การอยู่บนเรือตลอดเจ็ดวันเจ็ดคืน ในภาวะจำกัดจำเขี่ยคับแคบโคลงเคลง เนื้อตัวเหนียวเหนอะเกรียมไหม้ อาบน้ำได้ไม่เต็มที่เพราะต้องประหยัดน้ำจืดในเรือ โรลออนดับกลิ่นกายธรรมดาอาจเอาไม่อยู่ กลิ่นตัวตุๆ อาจจะโชยได้ง่าย ผมที่เคยสวยสยายเรียบเนียนจะโดนแดดโดนลมกระเซิงทุกวินาที

ดังนั้น สาวๆ ที่ต้องแต่งหน้าตลอดเวลา แนะนำว่าอย่าไป เพราะเครื่องสำอางจะละลายภายในไม่กี่วินาที ลองนึกภาพมาสคาราที่ไหลย้อย แก้มที่นวลเนียนมีคราบมันประปราย ลิปสติกแห้งกรังแตกเป็นขุย ส่วนหนุ่มๆ ที่คิดว่าจะได้รวบหัวรวบหางจุ๊กจิ๊กกรุ๊กกริ๊ก ขอให้เลิกคิดไปเลยเพราะความร้อนอบอ้าวจะทำให้อารมณ์ทางเพศหดหายไปกว่าครึ่งค่อน ถึงจะจุดไฟสิเหน่หาได้ ตอนเข้าด้ายเข้าเข็ม ประตูห้องก็อาจจะเปิดผางด้วยแรงกระแทกจากคลื่น





๓.เรือยอชท์จะลดทอนระดับความสามารถในทุกด้านเหลือครึ่งนึง ถ้าไม่เคยทำครัวบนบก อย่าหาญอาสาทำครัวในเรือ ใครที่คิดกอบกู้คะแนนความงามภายนอกที่เสียไป ด้วยการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส อยากอวดความงามภายในด้วยการลงมือเข้าครัวทำอาหารแสดงสเน่ห์ปลายจวัก ขอยกนิ้วให้ว่าเป็นคนมองโลกในแง่ดี แต่ระวังอย่าประเมินความสามารถของตัวเองสูงเกินไป โอกาสที่ว่านี้ก็มีความเสี่ยงสูง ถ้าไม่แน่ใจว่าสามารถทำอาหารแบบต้องอาศัยทักษะการบริหารจัดการเรียกร้องการปรับตัวขั้นสูงเนื่องจากมีทรัพยากรทุกอย่างจำกัด ถ้าไม่แน่ใจว่าจะอึดหน้ามันอยู่หน้าเตาไฟในเรือที่ร้อนแทบคลั่งอยู่แล้วได้ แนะนำให้ปล่อยวิกฤตินั้นเป็นวิกฤติต่อไป อย่าทำให้มันเลวร้ายลงไปอีกเลย

๔. เรือยอชท์เพิ่มดีกรีความเห็นแก่ตัว และขาดคุณสมบัติในการเข้าประกวดนางงาม เพราะเอาตัวเองให้รอดก่อน อย่าหาเรื่องใส่ตัวด้วยการกระเตงความรับผิดชอบคนอื่นๆ โดยเฉพาะเด็ก อย่าเอาเด็กๆ ไป ถ้าเป็นคนรักเด็กจะสงสารเด็กตลอดเวลา ถ้าเป็นคนไม่รักเด็กจะรำคาญเด็กบ่นตลอดเวลาแล้วอาจจะพาลถึงขั้นเกลียดเด็ก

อย่าเอาเด็กไป ถ้าไม่แน่ใจว่า เด็กที่เอาขึ้นเรือไปจะติดเกมบนไอโฟนจนสามารถจดจ่อกับเกมเพื่อฆ่าเวลาได้โดยไม่เมาคลื่นได้ ถ้าไม่แน่ใจว่าเด็กชอบเล่นน้ำมากจนสามารถอดใจรอจนถึงตอนแดดร่มลมตกแล้วลืมความร้อนที่เจอมาตลอดวันได้ชะงัด ถ้าไม่แน่ใจว่าเด็กจะสามารถกินไส้กรอกเป็นอาหารเช้าติดต่อกันเจ็ดวันได้ ถ้าไม่แน่ใจว่าจะตื่นขึ้นมากลางดึกรินน้ำให้เด็กดื่ม ทาแป้งเย็นให้แล้วไล่กลับไปนอนต่อได้ ถ้าไม่แน่ใจว่าจะสามารถโบ้ยให้พ่อเด็กลุกขึ้นไปจัดการเด็กๆ กลางดึกแทนได้

๕. เรือยอชท์ไม่รักธรรมชาติ ใบเรือสวยๆ ที่มีหลักการสวยหรูให้ใช่แรงลมในการขับเคลื่อน พอเอาเข้าจริงๆ แล้ว ลมอาจจะไม่พัดไปในทิศทางที่เราต้องการ หรือที่ร้ายกว่านั้นคือไม่มีลมเลย ทำให้ต้องเดินเครื่องด้วยมอเตอร์แทบจะตลอดเวลา ถ้าเป็นคนอ่อนไหวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่อยากเห็นภาพบาดตาว่าทะเลกลายเป็นที่ทิ้งขยะ เห็นสิ่งที่ติดมากับเบ็ดตกปลาเก้าในสิบเป็นถุงพลาสติกขนาดต่างๆ ... อย่าไป


๖. เรือยอชท์จะทำให้คนที่ปากไม่ค่อยดีอยู่แล้ว กลายเป็นคนปากหมา เข้าตำราเรือไม่พายเอาเท้าราน้ำ เอาเบื้องหลังมาบ่นทำลายภาพลวงตาของคนที่ไม่มีโอกาสได้ไปเจอด้วยตัวเอง อย่างตัวฉันเองนี้ เป็นต้น








 

Create Date : 13 เมษายน 2553    
Last Update : 13 เมษายน 2553 20:12:19 น.
Counter : 859 Pageviews.  

- ตลุยบูร์โกญ ๔ - จิบไวน์แบบมาราธอน

ตลุยบูร์โกญ ๔ - จิบไวน์แบบมาราธอน

คลิกตามไปอ่านความเดิมตอนที่แล้ว --> - ทำความรู้จักไวน์บูร์โกญ กับ Domaine Leflaive





     หลังจากฟังคำบรรยายทั้งนอกและในร่มเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็กลับเข้าอาคารที่ทำการของ Table (โต๊ะอาหาร) และ Maison (บ้านพัก) ของ โดเมน Olivier Leflaive ที่จตุรัสโมนูมองต์ (Momument)กลางหมู่บ้านปูลิญนี มงต์ทราเชต์ เพื่อเข้าร่วมรับประสบการณ์กับกิจกรรมชิมไวน์อันเลื่องลือของที่นี่

     การจิบไวน์จัดขึ้นในห้องที่ตั้งโต๊ะอาหารหน้าตาคล้ายๆร้านอาหารทั่วไป เมื่อเราไปถึงมีคนนั่งตามโต๊ะแล้วครึ่งห้อง บนโต๊ะอาหารหน้าเก้าอี้ของแต่ละคนจะมีแก้วไวน์วางอยู่คนละ 3 ใบ พร้อมแก้วป้อมๆแบบแก้วบรั่นดีอีกหนึ่งใบ (แก้วรูปร่างแบบนี้ ที่แคว้นบูร์โกญเขาเอาไว้ใส่น้ำดื่ม) มีจานพิมพ์ลายเป็นรูปจุกค๊อกประทับชื่อ Olivier Leflaive รอบๆเป็นชื่อโดแมนและพันธุ์ไวน์ต่างๆในบูร์โกญด้วยสีน้ำเงิน

     นอกจากนั้นก็มีแผ่นกระดาษขนาดเอสี่หนึ่งใบวางอยู่เพื่อแจ้งรายการเมนูอาหาร และรายการไวน์ที่จะเสิร์ฟให้ชิมกันในมื้อนี้จำนวน 14 รายการ ไวน์ทั้งหมดเป็นไวน์ที่คุณโอลิวิเยร์ผลิตทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นไวน์ขาว (11 ชนิด) ส่วนไวน์แดงมีแค่ 3 ชนิด

     อุ่นเครื่อง เริ่มต้นด้วยไวน์ขาวสามชนิด อะลิโกเต้ (Bourgogne Aligoté)ออกเปรี้ยวๆสำหรับผสมกับครีมผลไม้เป็นเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อย ต่อด้วยชาบลิส (Chablis) ไวน์ขาวที่ให้รสหวานสดชื่นแบบตรงๆไม่ซับซ้อนมาก ให้เปรียบเทียบกับ แซ็งต์โตแบ็ง (Saint Aubin)ที่มีรสชาติกลมกล่อมซับซ้อนกว่า แต่สำหรับฉัน ฉันชอบความสดชื่นเรียบง่ายของชาบลิสมากกว่า ไวน์สามตัวนี้กินกับขนมอบจืดๆพองๆเหมือนขนมไข่นกกระทาทอดบ้านเรา


     ลำดับต่อไปถ้าจำไม่ผิดเป็น เป็นไวน์ซองต์เนต์ (Santenay) กับรูลยี่ (Rully) ไวน์สำหรับดื่มกับอาหารเรียกน้ำย่อยคอร์สแรก คือ แฮมก้อนใส่เจลลี่แปร์ซิล อาหารประจำแคว้น กับเนื้อบดแตรินที่ทางร้านทำเอง เข้าใจว่าไวน์สองตัวนี้สำหรับให้ชิมเปรียบเทียบไวน์แบบองุ่นเดี่ยวคือซองต์เนต์กับรุลยี่ ไวน์ผสมองุ่นสองชนิด และความแตกต่างเมื่อดื่มกับอาหาร

     ต่อไปเป็นการเปรียบเทียบไวน์ระดับที่ต่างกัน พื้นที่และปีที่ต่างกัน โดยให้ดื่มไวน์มงต์ทราเชต์ Montrachet ประเภทธรรมดาที่เรียกว่าวิลลาจ (Village) ก่อนสามชนิด แต่ละชนิดปลูกในพื้นที่ต่างกันบ้าง ในปีที่ต่างกันบ้าง ดื่มกับไก่อบ กินเคียงกับข้าวสวยที่หุงกับก้อนซุปไก่ รสชาติเลยออกมาคล้ายๆกับข้าวมันไก่

     หลังจากนั้นคือไฮไลท์ของรายการ คือ มงต์ทราเชต์ กรองด์ครู (Grand Cru) สามตัว เพื่อเปรียบเทียบกับแบบวิลลาจ และเปรียบเทียบกันเองในแต่ละชนิดและปีที่แตกต่างกัน

     การจัดระดับกรองครูที่บูร์โกญจะไม่เหมือนกับที่บอร์โดซ์ การจัดกรองด์ครูที่บอร์โดซ์จัดลำดับกันมาตั้งแต่ปี 1855 และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนของบูร์โกญจะมีองค์กรไวน์ในยุคหลังคอยกำหนดแบ่งตามพื้นที่ ส่วนใหญ่กรองด์ครูของบูรโกญจะอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดมากกว่า ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่อยู่ตามลาดเขาที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และทำตามข้อกำหนดอื่นๆ ที่ฉันจำไม่ได้แล้ว ..แฮ่

     ระดับไวน์ที่ถัดลงมาจากกรองด์ครูคือ เพรอมิเยร์ครู (Premier Cru) เป็นไวน์ที่จัดว่าดี แต่ยังไม่ดีเท่ากรองด์ครู ลำดับสุดท้ายคือ วิลลาจ อันเป็นไวน์อื่นๆ ที่มีรสชาติเฉพาะตัว


     ตลอดทั้งรายการชิมไวน์นี้จะมีเจ้าหน้าที่มาคอยแนะนำ อธิบายให้คอยสังเกตความแตกต่างของไวน์แต่ละตัว นอกจากนั้นยังมีการอธิบายถึงพัฒนาการด้านจุกค๊อก ซึ่งนับวันจะมีการเปลี่ยนมาใช้จุกพลาสติกมากขึ้น


     โดเมนเลอเฟรฟ เป็นโดเมนสมัยใหม่ที่ไม่ได้ยึดติดว่าจุกไม้ค๊อกตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิมจะต้องดีกว่าจุกพลาสติกแบบไม่ลืมหูลืมตา ในขณะที่พวกโดเมนของไวน์ดังๆจะไม่ยอมเปลี่ยนจุกไม้ค๊อกเด็ดขาดเพื่อรักษาภาพลักษณ์ แม้ว่าจุกไม้ค๊อกที่ดูแลรักษาไม่ดีหรือคุณภาพเลวจะทำให้ไวน์เสียมากกว่าจุกพลาสติกก็ตาม

     อย่างไรก็ดี จุกพลาสติกที่กำลังเป็นที่นิยมในไวน์ของ "โลกใหม่" อย่างออสเตรเลียและอเมริกามีข้อเสียคืออากาศไม่สามารถผ่านได้เลย ไม่เหมาะกับไวน์ที่ต้องเก็บนานเป็นสิบๆปีพอๆกับจุกไม้ค๊อก ดังนั้นจึงมีการคิดค้นจุกลูกผสมระหว่างไม้ก๊อกกับพลาสติกขึ้นมา ที่นี่จะใช้จุกที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดของไวน์ ถ้าเป็นไวน์ชั้นดีราคาแพงเก็บนานๆ จะใช้จุกลูกผสมนี้ ถ้าเป็นไวน์แบบดื่มในเร็ววันจะใช้จุกพลาสติกหรือจุกไม้ค๊อกแล้วแต่ชนิดและราคาของไวน์



     กลับมาที่การชิมไวน์มาราธอนของเราต่อ -- เมื่อพระเอกคือไวน์ขาวมงต์ทราเชต์ กรองครู ออกโรงไปแล้ว ก็เหลือพระรองของที่นี่ คือ ไวน์แดง เสิร์ฟให้ดื่มแกล้มเนยแข็งอันเลื่องชื่อประจำแคว้นบูร์โกญ 5 ชนิด วินาทีนั้นจำไม่ได้แน่ชัดแล้วว่าอะไรเป็นอะไร เนยแข็งชื่ออะไรไม่เข้าหัวเลยสักนิด ส่วนไวน์พอจำได้ลางๆ คือ โวลเนย์ (Volnay) นุยต์ส์แซ็ง-จอร์จ (Nuits-Saint-Georges) กับอะไรอีกตัวนะ ป็อมมาร์ด์(Pommard)กระมัง (เดี๋ยวคืนนี้จะเช็คกับหวานใจอีกที)


     ปิดคอร์สด้วยน้ำเชื่อมผลไม้รสหวานจัดผลิตภัณฑ์ประจำแคว้น -- แหะๆ และที่คำบรรยายเรื่องรสชาติของไวน์ละเอียดน้อยลงทุกทีนั้น ก็ไม่ต้องประหลาดใจหรอกนะคะ เพราะปกติแล้วการชิมไวน์เนี่ย เขาจะมีถังรอถุยไวน์เอาไว้ข้างๆ เขาตั้งใจแค่ให้ชิมๆพอรู้รสชาติ พอถึงไวน์ลำดับหลังๆจะได้คงสติสัมปะชัญญะแยกแยะความแตกต่างได้

     แต่ไวน์กับคนอย่างดิฉัน เปรียบเหมือนช้างที่มีอ้อยเข้าปาก เข้าแล้วคายคืนน่ะหรือ



     ฝันไปเถอะฮ่ะ



ป.ล. ภาพประกอบสไลด์ตัวที่สอง เป็นเหตุการณ์หลังจากการชิมไวน์มาราธอน บ่ายนั้นอากาศดี ฟ้าเป็นสีครามสวยอย่างประหลาด ทั้งที่คืนก่อนฝนตกอากาศห่วยแตก หวานใจกับฉันเลยโดดขึ้นจิ๊บจิ๊บ เปิดหลังคา เปลี่ยนเป็นเกียร์ขับเคลื่อนสี่ล้อไต่ไปบนทางดินขึ้นไปบนเนินเขาที่เขาใช้ปลูกองุ่น ก่อนจะเลยไปที่หมู่บ้าน โวลเนย์ (Volnay) เพื่อชิมไวน์ของผู้ผลิตคนอื่นอีกตัวสองตัว


--- กำลังเขียนอย่างขมักเขม้น ---

- เลาะไปในทุ่งไวน์ระดับโลก Domaine de la Romanée-Conti






>> ฝากข้อความ เชิญคลิกที่นี่






 

Create Date : 22 เมษายน 2551    
Last Update : 25 มกราคม 2552 14:51:08 น.
Counter : 807 Pageviews.  

- ตลุยบูร์โกญ ๓ - มาทำความรู้จักไวน์บูร์โกญ กับ Domaine Leflaive

ตลุยบูร์โกญ ๓ - มาทำความรู้จักไวน์บูร์โกญ กับ Domaine Leflaive

คลิกตามไปอ่านความเดิมตอนที่แล้ว --> - จากโรงเตี๊ยมไปรษณีย์ สู่ โรงแรมหรูสี่ดาว ณ เมืองโบน





     วันเสาร์ - ตื่นมาตั้งแต่แปดโมง คืนก่อนนอนหลับสบาย ก่อนนอนเปิดน้ำใส่อ่าง เทสบู่เหลวทิ้งไว้ กลับเข้าไปดูอีกทีฟองฟูฟ่องล้นอ่าง สองสามีภรรยากรี๊ดกร๊าดกันใหญ่ ก่อนจะค่อยๆประคองกันลงแช่ร่างที่อ่อนเพลียจากการเดินทางมาทั้งวัน

     วันนี้ต้องตื่นเช้า กินอาหารเช้า เช็คเอาท์จากโรงแรมไปรษณีย์ก่อนเก้าโมง เพราะว่าตอนสิบโมง เราลงทะเบียนเข้าฟังการบรรยายเรื่องไวน์บูร์โกญตอนสิบโมง ที่ปุลิญนี-มงต์ทราเชต์ (Puligny-Montrachet)ชื่อหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากเมืองโบนออกไปประมาณ 11 กิโลเมตร

     ที่นี่เป็นเขตปลูกองุ่นสำหรับทำไวน์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะไวน์ขาวที่ใช้ชื่อเดียวกันติดอันดับไวน์ขาวที่ดีและแพงที่สุด

     ขับจิ๊บจิ๊บออกจากโบน ผ่านทุ่งองุ่นที่กำลังหลับไหลในตอสีดำๆ รอตื่นแตกใบออกดอกให้ผลในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ไปตามเส้นทาง Routes des grands crus (เส้นทางกรองด์ครู)ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อตัดผ่านหมู่บ้านผู้ผลิตไวน์และพื้นที่ปลูกองุ่นที่ได้รับการจัดอันดับเป็นไวน์ระดับดี

     ขับตามจีพีเอสไปเรื่อยๆ จนถึงหมู่บ้าน ปุลิญนี-มงต์ทราเชต์ หลังจากแวะเข้าโรงแรมผิด โผล่ไปที่โรงแรมเลอ มงต์ทราเชต์(Le Montrachet)โรงแรมหรูเครือเดียวกับโรงแรมไปรษณีย์ที่โบน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจาก La Maison d'Oliveir Leflaive (บ้านพักของโอลิวิเยร์ เลอเฟลฟ)ที่หวานใจจองห้องและแพ็คเกจกิจกรรมออนไลน์เอาไว้ล่วงหน้า

     โอลิวิเยร์ เลอเฟลฟ เป็นชื่อของนักทำไวน์บูร์โกญรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง ไวน์ที่เขาผลิตส่งออกไปขายทั่วโลก นอกจากกิจกรรมผลิตไวน์แล้ว เขายังเปิดกิจกรรมการชิมไวน์ (wine tasting)และห้องพักแบบเกสต์เฮ้าส์ที่มงต์ทราเชต์ด้วย

     เมื่อฉันกับหวานใจเข้าไปรายงานตัวถูกที่แล้ว การบรรยายเรื่องไวน์บูรโกญก็เริ่มต้นขึ้นด้วยการเดินไปที่ทุ่งองุ่น เจ้าหน้าที่ผู้บรรยายในวันนี้ชื่อกิโยม ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายมีทั้งหมด 6 คน ผู้ใหญ่ 4 เด็ก 2 คือ หวานใจ ฉัน สองสามีภรรยาที่มาจากแคว้นอัลซัค และลูกสาววัยประมาณ 5 ขวบ ชื่อหลุยส์ กับลูกชายวัยประมาณ 2 ขวบชื่อแว็งซองต์ซึ่งแอบหลับระหว่างการบรรยาย



     กิโยมเริ่มต้นอธิบายถึงลักษณะเฉพาะตัวของไวน์บูร์โกญไปเรื่อยๆ ฉันฟังบ้างถ่ายรูปบ้าง จับความแว่วๆได้ว่า ไวน์บูรโกญทำจากองุ่นสี่พันธุ์หลัก คือ

     -ปิโนต์ นัวร์ (Pinot noir) กับ กาเมย์ (Gamay) สำหรับไวน์แดง

     -ชาร์ดอนเนย์ (Chardonnay)กับ อะลิโกเต (Aligoté)สำหรับไวน์ขาว

     นอกจากนั้นวิธีการการแบ่งพื้นที่จะไม่ได้เป็นไร่องุ่นใหญ่ของชาโตซ์ต่างๆเหมือนบอร์โดซ์ แต่จะแบ่งตามโดแมน (Domaine) ซึ่งอาจจะเป็นชื่อที่ดินผืนเล็กๆหรือชื่อผู้ผลิต โดยผู้ผลิตหนึ่งรายสามารถทำไวน์จากหลายๆพื้นที่ในชื่อเดียวกัน เรียกชื่อแยกประเภทไวน์ตามพื้นที่ปลูกองุ่น หรือผสมองุ่นจากหลายๆพื้นที่ได้

     ไวน์ของบูร์โกญส่วนใหญ่จะเป็นไวน์ที่ทำจากองุ่นพันธุ์เดียว ไม่เหมือนบอร์โดซ์ที่เป็นไวน์ผสมองุ่นหลายพันธุ์ ดังนั้น ไวน์บูรโกญในแต่ละปีจึงมีรสชาติที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพดินฟ้าอากาศกับสุขภาพขององุ่นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ไวน์บอร์โดซ์จะพยายามคงรสชาติในแต่ละปีให้สม่ำเสมอไว้ด้วยการเพิ่มหรือลดส่วนอัตราส่วนผสมของไวน์จากองุ่นพันธุ์ต่างๆ

     กิโยมเล่าไปเรื่อยๆ เล่าถึงวิกฤติการณ์แมลงเจาะรากองุ่นที่ระบาดมาจากอเมริกา แล้วองุ่นพันธุ์ยุโรปไม่มีภูมิต้านทาน ล้มตายจนต้องถอนรากถอนโคนทั้งทวีป องุ่นในสมัยถัดมาจนถึงปัจจุบันเลยเป็นองุ่นที่มีรากเป็นพันธุ์จากอเมริกา แล้วทาบกิ่งด้วยองุ่นพันธุ์ยุโรปซึ่งให้ผลผลิตเหมาะกับการทำไวน์มากกว่า

     กิโยมพาเดินเลียบไร่องุ่น ชี้ให้ดูความแตกต่างของการดูแลไร่องุ่นของเจ้าของที่แบ่งพื้นที่กันไปคนละส่วนสองส่วน ต่อด้วยการเข้าไป "ย่ำชม" ต้นองุ่นที่เหลือแต่ตอ บางต้นเริ่มแตกปุ่มเตรียวตัวตื่นแล้ว กิโยมบอกว่า เขาชอบเปรียบเทียบต้นองุ่นเหมือนคน ต้นองุ่นที่อยู่ในสภาพที่ดีเลิศเหมาะสมแดดดีจะให้ผลผลิตของงานได้อย่างไม่ลำบากยากเย็น

     แต่ต้นองุ่นของบูร์โกญ เหมือนคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมแย่ๆ ปลูกอยู่ในพื้นที่ค่อนมาทางเหนือ พื้นที่ค่อนข้างราบ มีเนินเขาไม่สูงนัก เลยไม่ค่อยได้รับแดดอย่างเต็มที่ แต่ด้วยความบากบั่นทำงานหนักของเจ้าของโดแมน องุ่นเหล่านี้ก็ยังมีโอกาสจะให้ผลิตผลที่ดีเช่นกัน มันก็แค่ต้องเหนื่อยกว่า ต้องลุ้นกว่าที่อื่นเท่านั้นเอง

     องุ่น เหมือนคนอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นพืชที่ต้องมีการหยุดพักผ่อน องุ่นไม่สามารถออกผลผลิตที่ดีตลอดทั้งปีได้ องุ่นจำเป็นต้องพักผ่อน และผลผลิตขององุ่นนอกจากจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศแต่ละปีแล้ว ยังขึ้นอยู่กับอายุขององุ่นเองด้วย

     คร่าวๆ ประมาณนั้น รายละเอียดอื่นๆ ก็มีเรื่องปัญหาการใช้สารเคมีในไร่องุ่น ซึ่งกำลังลดลงแล้ว รวมทั้งปัญหาเรื่องโลกร้อนที่จะมีผลกระทบต่อไวน์บูร์โกญ ฯลฯ



     จบการบรรยาย "ภาคสนาม" แล้ว เราก็เดินเข้า "ภาคในร่ม" เข้าไปดูโรงบ่มไวน์ที่ปิดประตูใส่รหัสมีกล้องตรวจตราดูความปลอดภัยอย่างแน่นหนา เป็นอาคารหลังคาสูงก่ออิฐเหมือนอาคารโรงงานทั่วไป ภายในมีรางสายพานเครื่องมือสำหรับกรอกไวน์ใส่ขวด (2000 ขวด / ชั่วโมง) วันนี้ทุกอย่างนิ่งสงบรอวันกรอกขวดไวน์ปี 2006 ที่กำลังบ่มตัวอยู่ในถังไม้โอ๊ค

     ผ่านจุดกรอกขวด เข้าไปในส่วนผลิตไวน์ มีถังสแตนเลสขนาดใหญ่ตั้งอยู่มากมาย กิโยมเล่าขั้นตอนการทำไวน์ให้ฟัง ว่าจะบีบอัดไวน์ในถังแรก แล้วนำน้ำองุ่นที่ได้ไปใส่อีกถังหนึ่งรอการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอร์

     ปัญหาหนึ่งที่ไวน์บูร์โกญประสบคือ ปัญหาเรื่องสีของไวน์ เพราะปิโนต์ นัวร์ ไม่ได้นัวร์ (ดำ) สมชื่อ เป็นองุ่นที่ให้สีไวน์ค่อนข้างจาง และคนทั่วไปยังคงเชื่อมั่นฝังจิตว่าไวน์ที่ดีต้องเป็นไวน์ที่สีเข้ม ผู้ผลิคบูร์โกญจึงต้องมีขั้นตอนการเค้นสีจากผิวองุ่นเพิ่มเข้ามาอีกขั้นตอนหนึ่ง ในอดีตถึงกับต้องนำไวน์สีเข้มจากเสปนมาผสม เพื่อให้ได้สีที่ถูกใจตลาด


     ในเรื่องนี้ ฉันไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่ ถ้าไวน์สีจางอร่อยเหมือนไวน์สีเข้มจริง ก็น่าจะลงทุนทำประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ให้รู้กันโดยทั่วไป ปรับความคิดผู้บริโภคใหม่ ไม่ใช่ยอมเสียเงินเสียเวลาทำตามไปแบบนี้ นอกเสียจากว่าขั้นตอนที่เพิ่มเข้ามาจะช่วยเพิ่มรสชาติให้ไวน์จริงๆ ถ้าไม่ช่วยอะไรแถมยังทำให้รสชาติเพี้ยนไป น่าจะใช้วิธีการตลาดเข้ามาช่วย

     ปิดท้ายการบรรยายด้วยการเปิดห้องเก็บถังไม้โอ๊คให้ชม กิโยมเล่าเรื่องประวัติของถังไม้โอ๊คและคุณสมบัติที่ยังไม่มีภาชนะอื่นใดมาล้มล้างได้นับสองพันปี บลาๆๆๆ (ฉันเริ่มเบื่อฟังแล้ว เลยจับอะไรไม่ค่อยได้เสียเท่าไหร่)


     บรรยายเสร็จสิ้น เดินขบวนเกาะกลุ่มกลับมาที่ตึกบ้านพักอย่างแช่มชื่น เพราะ แฮ่ม...มีไวน์ 14 ชนิดกำลังรอให้เราลิ้มชิม




คลิกตามไปอ่านต่อ --> - จิบไวน์แบบมาราธอน





--- กำลังเขียนอย่างขมักเขม้น ---

- เลาะไปในทุ่งไวน์ระดับโลก Domaine de la Romanée-Conti






>> ฝากข้อความ เชิญคลิกที่นี่






 

Create Date : 22 เมษายน 2551    
Last Update : 25 มกราคม 2552 14:51:47 น.
Counter : 1206 Pageviews.  

- ตลุยบูร์โกญ ๒ - จากโรงเตี๊ยมไปรษณีย์ สู่ โรงแรมหรูสี่ดาว ณ เมืองโบน (Beaune)

ตลุยบูร์โกญ ๒ - จากโรงเตี๊ยมไปรษณีย์ สู่ โรงแรมหรูสี่ดาว ณ เมืองโบน (Beaune)

คลิกตามไปอ่านความเดิมตอนที่แล้ว --> - ท่องโลกอิมเพรสชั่นนิสม์




     นั่งตาพร่ามัว หลับๆตื่นๆ (หลับเสียเป็นส่วนใหญ่)อยู่ข้างๆหวานใจที่กำลังขับจิ๊บจิ๊บอย่างระมัดระวังไปตามเส้นทางที่จีพีเอสบอก จนถึงด่านทางออกของเส้นทางด่วนเข้าสู่เมืองโบน (Beaune) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากปารีสไป 312 กิโลเมตร ปกติถ้าขับรถตรงดิ่งเลยจะใช้เวลาแค่ 3 ชั่วโมง แต่หวานใจกับฉันแวะลดเลี้ยวเข้าไปตามหมู่บ้านข้างทางเพื่อหาอาหารใส่ท้องกันอยู่นาน เลยใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงกว่าๆ เกือบๆหกโมงถึงจุดหมายปลายทาง

     จุดหมายปลายทางของเราคือ Hotel de la poste (โรงแรมไปรษณีย์)ซึ่งหวานใจจองออนไลน์เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

     โรงแรมแห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1660 แน่ะ เดิมเป็นโรงเตี๊ยมสำหรับพักม้าส่งจดหมาย หรือที่เรียกว่า เรอเลส์ (Relais) ต่อมาปรับเป็นโรงแรม และเพิ่งมีเครือบริษัทโรงแรมเข้ามารับช่วงบริหารปรับปรุงเป็นที่พักระดับหรูระดับสี่ดาวเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองโบนหรอก ตั้งถัดออกมารอบนอกนิดนึง ประมาณทางเข้าเมือง



     ส่วนเมืองโบน ถ้าเทียบตามการปกครองของไทยถือเป็นอำเภอ ตั้งอยู่ใจกลางจังหวัดโค๊ด ดอร์ (Côte-d'Or) แคว้นบูร์โกญ (Bourgogne) ถือเป็นเมืองที่เด่นด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองหลวงของการค้าไวน์ของแคว้น

     ตัวอำเภอโบนล้อมรอบด้วยหมู่บ้านที่ผลิตไวน์ชั้นนำมีชื่อเสียงระดับโลกมากมายเช่น Pommard, Meursault, Pernand-Vergelesses, Puligny-Montrachet (หมู่บ้านนี้แหล่ะที่ฉันกับหวานใจจะไปพักในวันรุ่งขึ้น)... ส่วนตัวเมืองโบนเองก็มีไวน์ของตัวเองเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นไวน์ที่ได้ชื่อว่าเป็นไวน์ชั้นดีประเภทกร็องครู (Grand Cru)

     แหล่งท่องเที่ยวและเป็นสัญลักษณ์สำคัญของโบนคือ โอสปิซส์ เดอ โบน (Hospices de Beaune) สถานพยาบาลเก่าแก่ ก่อสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 โดดเด่นด้วยลวดลายสวยงามของหลังคาและเป็นสถานที่จัดประมูลไวน์





     ฉันกับหวานใจไปถึงตอนเย็นแล้ว เช็คอินเข้าโรงแรม ขึ้นห้องพักซึ่งปรับปรุงใหม่ เพดานสูง ผนังและผ้าม่านผ้าปูติดลวดลายแบบโบราณนิดๆ ห้องน้ำปูหินอ่อน มีอ่างอาบน้ำแยกกับตู้อาบน้ำฝักบัว ห้องน้ำกับห้องส้วมแยกกัน ประตูตู้ใส่เสื้อผ้าเป็นเหมือนประตูบ้านแบบสองบาน ที่ชอบคือเครื่องรับโทรทัศน์ที่แขวนอยู่มุมห้องถูกเปิดด้วยประตูไม้แบบตู้ใส่เสื้อผ้า ไม่เกะกะสายตาดี

     ในห้องมีแอร์แบบแยกให้ปรับอุณหภูมิเองด้วย แต่แปลกดี ถึงจะปรับที่เครื่องแอร์ อุณหภูมิของห้องก็ยังอุ่นอยู่ หวานใจสันนิษฐานว่าเป็นระบบปรับอากาศรวมที่แผ่คลื่นความร้อนมาจากใต้พรม ระบบนี้ทำให้อุ่นสบายก็จริงแต่จะทำให้เท้าหนืดๆบวมๆ เหมือนเวลาอยู่ในเครื่องบิน

     ล้างหน้าล้างตา แล้วลงมาเจอฝนที่ยังตกปรอยๆไม่หยุด เราสองคนเลยได้แต่นั่งรถเข้าไปชมตัวเมืองกันเฉยๆ ตัวเมืองโบนยังคงเป็นอาคารเก่าแก่ บ้านเรือนก่อด้วยหิน ถนนแคบๆปูหินขรุขระ ในตัวเมืองมีร้านขายไวน์ตั้งอยู่ทั่วทั้งเมือง สมกับเป็นเมืองหลวงของการค้าขายไวน์ประจำแคว้นจริงๆ

     ทุ่มกว่าๆ กลับโรงแรม ขับจิ๊บจิ๊บเข้าไปจอดในโรงรถที่คาดว่าเป็นโรงม้าเก่าสมัยที่ยังเป็นโรงพักม้า ด้านในและด้านนอกของโรงรถมีรถเทียมม้าจอดอยู่ในเห็นพอให้บรรยากาศ ช่วยให้นึกภาพออก

     ทุ่มสี่สิบห้า ลงจากห้องพักเข้าร้านอาหารของโรงแรม ซึ่งหวานใจจองไว้ตั้งแต่ตอนเช็คอิน

     ตอนที่ลงจากห้องมา ตรงห้องโถงหน้าเคาน์เตอร์ต้อนรับข้างๆประตูร้านอาหารมีกลุ่มผู้หญิงญี่ปุ่นวัยประมาณ 50-60 ประมาณสิบกว่าคนนั่งบนโซฟาคุยเม้าท์กันจุ๊กจิ๊กๆ หวานใจหัวเราะบอกว่า เห็นแล้วเหมือนหนังเหนือจริงเลย ไอ้การมาเจอกลุ่มคนญี่ปุ่นกลางแคว้นบูร์โกญแบบนี้ -- แต่ฉันว่าไม่ค่อยแปลกเท่าไหร่ เพราะคนญี่ปุ่นชอบเที่ยวและชอบดื่มไวน์ ไปที่ไหนไม่เจอคนญี่ปุ่นสิ น่าประหลาดใจกว่า


     อาหารที่นี่เป็นอาหารฝรั่งเศสที่ปรุงจากเครื่องปรุงท้องถิ่น เริ่มต้นจากซุปนำร่องทำจากหน่อไม้ฝรั่ง หวานใจสั่งหอยทากป่าบูร์โกญมากินเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย เพื่อให้มื้อนี้ฝรั่งเศสจ๋าจนถึงที่สุด ฉันสั่งขากบทอดกระเทียมแช่ซุปผักเครซง มากินเป็นเพื่อน

     ไวน์ในมื้อนี้ คล้ายกับเป็นแมทช์บังคับ มาถึงเมืองโบน ไม่สั่งไวน์โบนก็จะยังไงอยู่นะ

     มื้อหลัก เราสั่งเหมือนๆกัน เป็นนกพิราบทอด เนื้อออกกลิ่นตับหอมหวน ไม่แน่ใจว่าเป็นกลิ่นสาบของเนื้อนกเองหรือพ่อครัวอบกับตับเสริมกลิ่น วางมาบนใบกะหล่ำดอก ดูแล้วไม่เยอะไม่ล้นหลาม แต่กินได้อิ่มท้องกำลังดี

     ก่อนจะถึงของหวานคือเครมบรุยเล่ มีคอร์สล้างปากนำทางมาด้วยครีมเจลลี่ราดคาราเมล ดื่มไวน์เน็คทาร์ (Nectar) ซึ่งทำจากองุ่นที่แก่จัดเจียนเน่าให้รสชาติหวานหอมเข้มข้นอยู่ในปาก

     เป็นอันจบมื้อแรกในแคว้นบูร์โกญ หนึ่งในแคว้นที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารและไวน์ของฝรั่งเศสแต่เพียงเท่านี้


คลิกตามไปอ่านตอนต่อ --> - ทำความรู้จักไวน์บูร์โกญ กับ Domaine Leflaive




--- กำลังเขียนอย่างขมักเขม้น ---

- เลาะไปในทุ่งไวน์ระดับโลก Domaine de la Romanée-Conti






>> ฝากข้อความ เชิญคลิกที่นี่






 

Create Date : 21 เมษายน 2551    
Last Update : 25 มกราคม 2552 14:52:27 น.
Counter : 862 Pageviews.  

- ตลุยบูร์โกญ ๑ - ท่องโลกอิมเพรสชันนิสต์

ตลุยบูร์โกญ ๑ - ที่มาของการท่องโลกอิมเพรสชันนิสต์

คลิกตามไปอ่านความเดิมตอนที่แล้ว --> - บูร์โกญ...ทำไต้องบูร์โกญ



      แม้ปากจะบอกว่ายังไงก็ได้ แต่ในใจฉันยังตื่นเต้นกระดี๊กระด๊ากับการไปเที่ยวครั้งนี้ไม่น้อยเลย วันศุกร์เช้า ฉันตื่นแต่หัววันตอนแปดโมงเช้า ปลุกหวานใจ เก็บเสื้อผ้าและข้าวของต่างๆที่จำเป็นใส่กระเป๋า อาบน้ำอาบท่า ดื่มกาแฟ เตรียมออกเดินทางเต็มที่

     สองคนสามีภรรยาถือกระเป๋าเดินทางลงจากชั้นสี่ แวะไปรับยาของหวานใจที่ร้านขายยาข้างๆบ้าน ฉันถือโอกาสเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หอมๆของล็อกซิตาน เป็นก้อนฟู่ใส่อ่างอาบน้ำกับสบู่เหลว เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ทางโรงแรมเตรียมไว้ให้ ถ้าไม่ได้เป็นโรงแรมที่ใส่ใจจริงๆ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ใช้แล้วขัดอกขัดใจ

     นานๆ ฉันจะได้ไปเที่ยวทีนึง ฉันก็อยากให้ตลอดทั้งการเดินทางมีความรื่นรมย์น่าประทับใจ รวมทั้งตอนที่แช่อ่างอาบน้ำอุ่นๆกับหวานใจด้วย

     สิบเอ็ดโมงกว่า กระโดดขึ้นจิ๊บจิ๊บ รถจี๊ปหน้าตาดีของเรา ติดเครื่องช่วยบอกทางจีพีเอสที่กระจกหน้ารถแล้วออกเดินทางจากเนยยี่ ขับเข้าถนนวงแหวนรอบนอก ออกเส้นทางด่วนข้ามเมืองสาย A6 Paris-Lyon มุ่งลงตะวันออกเฉียงใต้ บางช่วงระหว่างทางมีทุ่งดอกไม้สีเหลืองตระการตารับฤดูใบไม้ผลิ

     (ดอกอะไรหว่า ฉันถามหวานใจได้คำตอบมาแล้ว แต่จำไม่ได้ แหะๆ -- เท่าที่จำได้คือเป็นพืชเกษตร เอาไว้ทำน้ำมันพืชกับเป็นอาหารสัตว์)

     จิ๊บจิ๊บพุ่งทะยานไปบนถนนที่เริ่มมีรถราขวักไขว่ หวานใจบอกว่าโชคดีที่เราออกจากเมืองหลวงมาก่อน เพราะช่วงเย็นๆค่ำๆ รถจะติดมากกว่านี้ เนื่องจากเป็นช่วงหยุดพักร้อนเล็กช่วงหนึ่ง และคนฝรั่งเศสชอบไปเที่ยวทางใต้กัน ฉันนั่งนิ่งๆ คอยปรับคลื่นหาสถานีวิทยุที่เปลี่ยนความถี่ตอลดเวลา ทอดสายตามองวิวข้างทาง วันนี้ฉันใส่แว่นสายตามาดูวิวโดยเฉพาะเลยนะ ปกติแล้ว ถ้าไม่ทำงานหน้าจอคอมพิมเตอร์หรือหน้าจอทีวี ฉันไม่ค่อยใส่หรอกแว่นน่ะ แกะกะ ไม่ชิน

     เที่ยงกว่าๆแล้ว ฉันเริ่มหิว หวานใจเลี้ยวรถออกจากเส้นทางด่วน กดดูข้อมูลในจีพีเอส หาร้านอาหารที่อยู่ใกล้ๆจุดที่เราอยู่ ได้ความว่าอีก 11 กิโลเมตร จะมีร้านอาหารชื่อ Domiane du Ronchemay เป็นร้านอาหารที่ใกล้ที่สุด ถ้าไม่อยากเข้าไปกินร้านอาหารริมทางด่วนที่เรียกว่า Autogrille


     ขับรถตามทางที่จีพีเอสบอก ผ่านทุ่งกว้าง เลาะหมู่บ้านเล็กๆ เข้าเส้นทางตัดป่า เข้าเส้นทางเล็กๆ จนถึง หน้า Domiane du Ronchemay

     ตอนที่เลือกร้านอาหารของ Domiane du Ronchemayเนี่ย ฉันนึกว่าเป็นร้านอาหารเล็กๆเสิร์ฟอาหารพื้นบ้านประจำถิ่นง่ายๆ สังหรณ์ใจว่ามาผิดที่ตอนเห็นป้ายกิจกรรมของบริษัทออดี้ตรงปากซอย ขับไปข้างหน้าเจอคำว่ากอล์ฟ เจอรถหรูๆจอดเรียงกันบนลานจอดรถ เห็นแขกของโรงแรมสะพายถุงกอล์ฟออกมา เราสองคนรีบเลี้ยวออกในทันที พร้อมกับหัวเราะก๊าก เออเนอะ ... ลืมไป สมัยนี้โดแมน (Domiane) หรือแหล่งผลิตสินค้าเกษตรตามชนบทต่างๆได้กลายสภาพเป็นโรงแรมหรูรอต้อนรับคนมีกะตังส์ไปหมดแล้ว

     เอ้า ... เลือกร้านใหม่ ขับตามเส้นทางที่จีพีเอสบอกอีกรอบ ผ่านหมู่บ้านต่างๆ เวลาล่วงเลยไปบ่ายกว่าๆ ฉันเริ่มกระสับกระส่ายหน้าซีดเพราะความหิว เราสองคนตกลงกันว่าระหว่างที่ไปร้านที่จีพีเอานำทาง ถ้าเจอร้านอาหารจะจอดแวะกินเลย เพราะถ้าฝืนขับหาต่อไป อาจจะไม่เหลืออะไรให้กิน เพราะร้านอาหารที่ฝรั่งเศสจะเริ่มเสิร์ฟตอนเที่ยงและส่วนใหญ่จะปิดตอนบ่ายสอง

     ยังไม่ทันถึงร้านอาหารปลายทาง เราก็เจอร้านอาหารประเภท Restaurant Routier ที่ฉันกับหวานใจชอบเข้าไปกินกัน ร้านอาหารประเภทนี้เปิดบริการคนขับรถบรรทุก อาหารที่เสิร์ฟจะเป็นแบบเหมาหัว ราคาไม่แพงนัก ตั้งแต่ 9-15 ยูโรแล้วแต่ร้านและทำเล

     อาหารจะประกอบด้วยอาหารเรียกน้ำย่อยแบบบุปเฟต์ให้บริการตัวเอง เป็นสลัด ไข่ต้ม ปลา มะเขือเทศราดน้ำสลัดแบบง่ายๆ จานที่สองเป็นจานร้อนมีให้เลือก 2 แบบ จะเป็นตุ๋นหรือเป็นสเต๊กเคียงมากับพาสต้า มันฝรั่งทอดหรือถั่วฝักต้มก็ได้แล้วแต่คนจะเลือก เครื่องดื่มจะมีไวน์พื้นๆให้หนึ่งเหยือก และมีของหวาน ตบท้ายด้วยกาแฟ

     ผู้หญิงเจ้าของร้านกำลังเก็บร้านอยู่ เห็นใจยอมเปิดครัวทำอาหารให้เราสองคนกินอิ่มอร่อย ถึงแม้ในร้านจะหนาวเย็นไม่ได้เปิดเครื่องทำความร้อนก็เถอะ

     ฉันดื่มไวน์มากเกินไปหน่อย เพราะหวานใจต้องขับรถดื่มไม่ได้มากนัก ผลก็คือ ตอนนั่งอยู่ในรถหลังออกจากร้าน ฉันเพิ่งรู้สึกตัวว่าฉันไม่ได้ใส่แว่น ด้วยความเมาจำไม่ได้ว่าถอดไว้ที่ไหน จำได้แค่ว่าตอนเข้าร้านใส่แว่นอยู่ หวานใจตีรถกลับไปที่ร้าน ปรากฎว่าร้านปิดแล้ว เราได้แต่จดที่อยู่ไว้ ตั้งใจกันว่าขากลับจะแวะมาดูเผื่อเจ้าของร้านจะเก็บไว้ให้

     ฮือ เสียดายแว่น แว่นใหม่ด้วย เพิ่งทำตอนกลับไปเมืองไทยเมื่อเดือนมกรา ทำตั้งแพงแน่ะ หวานใจปลอบว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวทำใหม่ได้ ฉันได้ทีรีบฉวยโอกาสอ้อน "อยากได้แว่นที่ออกแบบโดยฟิลิปป์ สตาร์ก จัง"

     กระนั้น ความเซ็งก็ยังไม่จางหาย ความเมาประกอบกับความสั้นของสายตาทำให้วิวที่มองเห็นหลังจากนั้นพร่ามัว ฉันได้แต่ปลอบตัวเองในใจ นึกเสียว่ากำลังเที่ยวอยู่ในโลกเบลอๆแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ก็แล้วกันนะ



คลิกตามไปอ่านต่อ --> - จากโรงเตี๊ยมไปรษณีย์ สู่ โรงแรมหรูสี่ดาว ณ เมืองโบน (Beaune)




--- กำลังเขียนอย่างขมักเขม้น ---

- เลาะไปในทุ่งไวน์ระดับโลก Domaine de la Romanée-Conti






>> ฝากข้อความ เชิญคลิกที่นี่






 

Create Date : 21 เมษายน 2551    
Last Update : 14 เมษายน 2553 11:30:36 น.
Counter : 668 Pageviews.  


Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.