กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
พฤษภาคม 2565
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
18 พฤษภาคม 2565
space
space
space

พระพุทธศาสนา กับ อภิปรัชญา(จบ)



   ในคำสอนของพระพุทธศาสนาปรากฏชัดเจนว่า ความคิดทางอภิปรัชญาแบบตะวันตกนั้น พระพุทธศาสนาปฏิเสธที่จะอธิบาย หรือกล่าวถึง เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ ไม่นำไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริง และไม่นำไปสู่การดับทุกข์ดับปัญหาของชีวิต นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผลอีกหลายประการที่พระพุทธศาสนาไม่สนใจปัญหาทางอภิปรัชญา คือ


   ๑.ปัญหาทางอภิปรัชญา เป็นเรื่องที่เกิดจากความคิดที่ผิดของผู้ถามปัญหา เมื่อมีผู้ถามปัญหาเหล่านี้ พระพุทธเจ้าจะตรัสว่า ตั้งปัญหาไม่ถูก คือ ถามเรื่องที่ไม่มี หรือ เรื่องที่ไม่จริงนั่นเอง ฉะนั้น การถกเถียงกันในเรื่องที่ไม่มีหรือไม่จริง (อภูตํ อตจฺฉํ) จึงไม่อาจหาความจริงอะไรได้ และเป็นการพูดถึงสิ่งที่ว่างเปล่า ไร้ประโยชน์  (อนตฺถสญฺหิตํ - ที.ปา.11/119/148)


   ๒. ปัญหาทางอภิปรัชญา ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของผู้ถามปัญหาประเภทนี้ และเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งเกินกว่าที่จะคิดด้วยเหตุผล หรือ หยั่งถึงได้ด้วยเหตุผล ฉะนั้น ปัญหาประเภทนี้ จึงยากที่จะหาข้อยุติได้ด้วยการใช้เหตุผล (อตกฺกาวจโร)


   ๓.ปัญหาทางอภิปรัชญานั้น  ล้วนเป็นความคิดของผู้ที่ไม่รู้จริง   แต่คิดถึงปัญหาเหล่านี้ด้วยความยึดมั่นหรือเชื่อมั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง   ฉะนั้น   การโต้เถียงกันด้วยเรื่องเหล่านี้ จึงเป็นการโต้เถียงกันด้วยความยึดมั่นหรือด้วยทิฏฐิ จึงยากที่จะหาข้อยุติร่วมกันได้ มีแต่จะวิวาทกันและเพิ่มความยึดมั่นของแต่ละฝ่ายให้รุนแรงยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการโต้เถียงปัญหาเหล่านี้ โดยการนิ่งหรือไม่ทรงตอบปัญหาเหล่านี้ที่เรียกว่า ไม่ทรงพยากรณ์


   ๔.ประการสำคัญ ก็คือ ปัญหาเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดการประพฤติธรรม หรือ ไม่ใช่เรื่องจะก่อให้เกิดความคิดริเริ่มในทางศีลธรรม  ดังพุทธพจน์ที่ว่า "นาทิพฺรหมจริยกํ คือไม่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์"  เพราะปัญหาทางอภิปรัชญานั้นมิใช่เป็นการเถียงกันเพื่อการเว้นชั่ว ทำดี หรือเพื่อความบริสุทธิ์ของชีวิต  แต่เป็นการถกเถียงกันเพื่อเอาชนะกัน หรือ ว่าเพื่อยืนยันความคิดของตนว่าถูกและปฏิเสธความคิดของคนอื่นว่าผิดเท่านั้น


   เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงจัดให้เรื่องเหล่านี้เป็น อัพยากตปัญหา คือ ปัญหาที่พระพุทธศาสนาไม่ตอบ หรือ ไม่พูดถึงเพราะไร้สาระ ไร้คุณค่าทางศีลธรรม คุณธรรม และไร้คุณค่าทางปฏิบัติ คือ ไม่นำไปสู่การแก้ทุกข์แก้ปัญหาของชีวิต และสังคม (ม.ม.13/151-2/150-3)


   เรื่องที่พระพุทธศาสนา ไม่ตอบหรือไม่พูดถึง ที่เรียกว่า อัพยากตปัญหา ก็คือ

- โลกเที่ยง หรือไม่เที่ยง (เป็นนิรันดรหรือไม่)

- โลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด

- ชีวะกับสรีระ เป็นอันเดียวกันหรือต่างกัน

- สัตว์ หลังจากตายแล้วยังมีอยู่หรือสูญ หรือว่าทั้งมีอยู่และทั้งสูญ หรือว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่


   ปัญหาเหล่านี้ โดยเนื้อหา ก็คือพูดถึงเรื่องสำคัญ ๓ เรื่อง ได้แก่ (๑) เรื่องโลก (๒) เรื่องชีวะ กับ สรีระ หรือว่า จิตกับกาย (๓) เรื่องภาวะหลังความตายของมนุษย์ และใน ๓ เรื่องสำคัญดังกล่าวนี้ ก็มีประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ ๒ ประเด็น คือ มี หรือ สูญ เรื่องเหล่านี้ เป็นปัญหาทางอภิปรัชญาที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลจนกระทั่งปัจจุบัน และก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ในเชิงปรัชญา


  ความคิดเรื่อง ความมี กับ ความไม่มี หรือ ว่าความมี กับ ความสูญนี้ พระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ว่าเกิดจากความไม่รู้จริง ถ้ารู้ความเกิดขึ้นของโลกตามเป็นจริง คือ ตามหลักปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตาแล้ว ความคิดเรื่องโลกไม่มี หรือโลกสูญ ก็จะไม่เกิดขึ้น และถ้ารู้ความดับของโลกตามเป็นจริง คือ ตามหลักปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตาแล้ว ความคิดเรื่องโลกมีอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ ก็จะไม่เกิดขึ้น (สํ.นิ.16/43/21)


   ฉะนั้น ความคิดเรื่อง อะไรมี อะไรสูญ หรือว่า โลกมีอยู่ หรือ โลกสูญนั้น พระพุทธศาสนาแสดงว่า เกิดจากการคิดคะเนเอา (ตกฺกี วีมํสี) ฉะนั้น จึงเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น  (เกวลํ สทฺธามตฺเกน - ม.ม.13/737/669) ไม่ใช่ความจริง


   พระพุทธศาสนาถือว่า ปัญหาทางอภิปรัชญาเป็นปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจผิด ซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกว่า "ตั้งปัญหาผิด" เช่น ถามว่า ใครเกิด ใครตาย ชีวะกับสรีระเป็นอันเดียวกันหรือเป็นคนละอย่าง เป็นต้น  (สํ.นิ.16/129/72) ในพรหมชาลสูตรแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ปัญหาทางอภิปรัชญานั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจเอาเอง (เอวํ ทิฏฺฐิ) ของสมณพราหมณ์บางคนเท่านั้น และที่มาของความคิด ความเข้าใจเหล่านี้ คือ ผัสสะหรือประสบการณ์นั่นเอง มิใช่เกิดจากความรู้จริง เห็นจริง (อชานตํ อปสฺสตํ เวทยิตํ...ผสฺสปจฺจยา  (ที.สี.9/63/-64/53)  ถ้ารู้กระบวนการเกิด และดับของโลกตามเป็นจริง คือ ตามหลักปฏิจจสมุปบาทแล้ว  ความเข้าใจผิดในเรื่องเหล่านี้  ย่อมไม่เกิดขึ้น (ที.สี.9/90/58)


  สิ่งที่มี คือ ธาตุ ได้แก่   สภาวธรรมที่มีอยู่ ทรงอยู่ ตามสภาวะของมันเอง

  ธาตุ - บางอย่างเป็นรูป คือ สสาร เรียก รูปธาตุ บางอย่างเป็นอรูป คือ อสสาร เรียก อรูปธาตุ, ธรรมธาตุ

   รูป - ใช้ใน ๒ ความหมาย คือ (๑) รูปคือสสาร เช่น ธาตุ ๔ (๒) รูป คือ อาการของสสาร เช่น วิญญัติรูป ลักขณรูป

   อรูป - ใช้ในความหมาย คือ นามธรรม หรือ ธรรมธาตุ เช่น มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ


 


Create Date : 18 พฤษภาคม 2565
Last Update : 18 พฤษภาคม 2565 22:10:32 น. 0 comments
Counter : 232 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space